--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

Social Network กับการเมือง กรณีศึกษา อำมาตย์กินเบียร์ !!?

วิวาทะระหว่างกรณ์ จาติกวณิช และณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา สอดแทรกไปกับข่าวการเลือกตั้งที่แต่ละพรรคต่างเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส. ออกมาเรื่อยๆ
เรื่องเริ่มมาจากนายกรณ์ ในฐานะ รมว. คลัง โพสต์ข้อความผ่าน Facebook ว่ามีคนเล่าให้ฟังว่าไปรับประทานอาหารที่ร้านเดียวกับนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำเสื้อแดง โดยมีข้อความดังนี้
“เมื่อสักครู่ ได้มาทานข้าวกับภรรยาที่ร้านอาหารแถวๆ ทองหล่อ คนที่นั่งอยู่โต๊ะข้างๆบอกว่า ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ กับครอบครัวเพิ่งลุกไปจากโต๊ะที่ผมนั่งอยู่ไม่ถึง 5 นาทีที่ผ่านมานี้เอง ทำให้เราอดนึกขำไม่ได้ว่า คนที่เรียกตัวเองว่า ′ไพร่′ ก็ไม่ได้ใช้ชีวิตแตกต่างไปจากคนที่เขาเรียกว่าเป็นพวก ′อำมาตย์′ สักเท่าใดนัก”
จากนั้นนายณัฐวุฒิก็ตอบโต้ผ่าน Facebook ของตัวเองเช่นกันว่า
“เพราะประเทศนี้มีคนคิดอย่างคุณ การกดขี่จึงดำรงอยู่…ทำไมไพร่มันจะกินข้าวร้านเดียวกับนายทุนไม่ได้…”
เท่านั้นยังไม่พอ เพราะภรรยาของกรณ์ “วรกร จาติกวณิช” ก็โพสต์ข้อความลงใน Facebook ของตัวเองเช่นกัน
“ณ ร้านอาหาร ในซอยทองหล่อคืนนี้ อำมาตย์และอำมาตย์หญิงแชร์เบียร์ไทย 1 ขวด ส่วน “ไพร่กับภรรยา” ดื่มไวน์ราคาแพง และมีพยาบาลตามมาดูแลลูก”
จากนั้นวิวาทะเรื่องชนชั้น ไพร่ vs อำมาตย์ และ เบียร์ vs ไวน์ ก็ปะทุขึ้นราวกับภูเขาไฟระเบิด จากผู้สนับสนุนทั้งสองฝ่าย แน่นอนว่า “พื้นที่” ของวิวาทะเหล่านี้ก็ย่อมเกิดใน Facebook อีกนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นในหน้าของกรณ์ วรกร ณัฐวุฒิ หรือพื้นที่ของผู้ใช้ Facebook แต่ละคนที่สามารถกด “แชร์” ข้อความต้นเรื่องมาบนหน้าวอลล์ของตัวเอง

ปก มติชน สุดสัปดาห์ กรณ์ ณัฐวุฒิ

ที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ วิวาทะครั้งนี้ถูกนำไปเป็นประเด็นข่าวลงในนิตยสารการเมืองอย่าง “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับล่าสุด ซึ่งนำภาพของกรณ์และณัฐวุฒิมาขึ้นปก พร้อมกับพาดหัวว่า “คนชั้นสูงดื่มเบียร์”
ในเล่มยังประกอบด้วยคอลัมน์ “จัดหนัก” ต้อนรับสถานะ Facebook ของนายกรณ์ถึง 3 คอลัมน์ (ซึ่งสามารถอ่านได้จากบนเว็บไซต์ของมติชน) ดังนี้
เมื่อเทียบ “โทน” ของเนื้อหาที่ตีพิมพ์ ก็ต้องบอกว่าเป็นผลเสียต่อคะแนนนิยมของนายกรณ์ไม่น้อย เมื่อพิจารณาจากอิทธิพลของ “มติชนสุดสัปดาห์” ในฐานะนิตยสารวิจารณ์การเมืองที่ขายดีเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ

เราคงยกเรื่องการวิจารณ์เนื้อหาทั้งฝั่งนายกรณ์และณัฐวุฒิให้กับนักเขียนของ “มติชนสุดสัปดาห์” ส่วนประเด็นที่ SIU อยากนำเสนอในวันนี้คือ “พื้นที่” ของวิวาทะทางการเมืองที่เกิดขึ้นบน Social Network ยอดนิยมอย่าง Facebook

กรณี “อำมาตย์กินเบียร์” ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ถ้ามองด้วยกรอบของ “พื้นที่” ทั้งในโลกไซเบอร์สเปซและโลกความเป็นจริง ก็มีประเด็นที่น่าสนใจหลายข้อดังนี้

1) Social Network ในฐานะ “ช่องทางการสื่อสารโดยตรง” ของนักการเมือง
การที่นักการเมืองถกเถียงกันแล้วเป็นข่าวตามหน้าสื่อ เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นมาช้านานในสังคมไทย
เพียงแต่ที่ผ่านมา การถกเถียงของนักการเมืองจะใช้สื่อกลางคือ “การให้สัมภาษณ์” ผ่านสื่อมวลชนแขนงต่างๆ จากนั้นนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามจะตอบโต้ด้วยกระบวนการเดียวกัน ส่วนบรรดา “แฟนคลับ” ก็มีหน้าที่รออ่าน-ชมวิวาทะตามหน้าสื่อ แล้วค่อยวิจารณ์กันเองในภายหลัง

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ คือ นักการเมืองทั้งสองฝ่าย ต่าง “โพสต์ข้อความ” ลงในพื้นที่ Facebook ส่วนตัวของตัวเอง จากนั้นสื่อมวลชนถึงนำมาเล่นเป็นประเด็นข่าวในภายหลัง ส่วน “แฟนคลับ” กลับเป็นผู้ที่เห็นข้อความเหล่านี้ก่อนใคร และสร้างบทสนทนาขึ้นรายล้อมในพื้นที่ Facebook ของนักการเมืองเหล่านั้น
เราปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งกรณ์และณัฐวุฒิ ต่างก็มี “แฟนคลับ” ที่เหนียวแน่นอยู่มาก และการ “โพสต์ข้อความ” ของทั้งคู่ ก็มุ่งเน้นการสื่อสารกับแฟนคลับเป็นหลัก มากกว่าจะสร้างประเด็นให้สื่อกระแสหลักนำไปเล่นเหมือนกับการให้สัมภาษณ์แบบเดิม ๆ (นายกรณ์ในฐานะต้นเรื่อง ก็คงไม่คิดว่าเพียงข้อความสถานะเดียวของตนเอง ถึงกับทำให้มติชนนำไปลงเป็นเรื่องปก)

กรณีที่คล้ายๆ กันเมื่อไม่นานที่ผ่านมา ก็คือ Twitter ของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (@pm_abhisit) ทักไปถึง @thaksinlive อดีตนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในแดนไกลว่า “ขอให้ท่านเห็นดวงตาธรรม” ในวันเด็ก จนเป็นประเด็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ

กรณี “อำมาตย์กินเบียร์” ก็คล้ายๆ กัน เพียงแต่เปลี่ยนจาก Twitter เป็น Facebook และเปลี่ยนคู่สนทนาจากนายกรัฐมนตรีสองคน มาเป็น รมว. คลังกับแกนนำเสื้อแดงเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ด้วยกระแสความนิยมของ Facebook ที่เพิ่มขึ้นสูงมากในรอบ 1-2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ดีกรีของวิวาทะแรงกว่าเดิมหลายเท่า และรูปแบบการสนทนาของ Facebook ที่รวมศูนย์กว่า Twitter ก็ทำให้บรรดาแฟนคลับเข้ามาวิพากษ์กันได้โดยง่ายมากขึ้น

ต่อจากนี้ไป Facebook ของนักการเมืองทั้งหลายจะถูกจับตาอย่างใกล้ชิดจากสื่อมวลชนกระแสหลัก เนื่องเพราะ “ข่าวเด็ด” เริ่มย้ายตัวเองจากปลายไมโครโฟนที่สื่อเคยเป็นคนควบคุมเบ็ดเสร็จ มาเป็น “วอลล์” บน Social Network ที่สื่อได้แต่เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ ดังเช่นประชาชนทั่วไป

2) ความเร็วในการกระจายสารของ Social Network

ลักษณะเฉพาะของ Social Network คือการ “แชร์” ข้อมูลไปให้ “เพื่อน” อ่านต่อ ไม่ว่าจะผ่านปุ่ม Like/Share ใน Facebook หรือวิธีการ Retweet ใน Twitter

เมื่อเจอข้อความที่โดนใจ ธรรมชาติของผู้ใช้ Social Network ก็มักจะแชร์ข้อความหรือรูปภาพไปให้เพื่อนๆ ได้อ่านกัน

ณ เวลาที่เขียนบทความนี้ Facebook ระบุว่ามีผู้ใช้ที่บอกว่า “อาศัยอยู่ในประเทศไทย” (ไม่รวมคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศ และอาจรวมชาวต่างชาติที่อยู่ในไทย) จำนวน 9.3 ล้านคน (ประมาณ 1 ใน 7 ของประชากรทั้งประเทศ)

พฤติกรรมของผู้ใช้ Facebook มักจะติดตามอ่านสถานะและข้อความของเพื่อนๆ ตลอดเวลา ถ้าแอบดูจอมอนิเตอร์ของพนักงานกินเงินเดือนทั่วไป เรามักจะเห็น Facebook ถูกเปิดอยู่บนหน้าจอ (ถ้าไม่โดนบริษัทบล็อคเสียก่อน) นอกจากนี้ยังใช้ Facebook ผ่านทางมือถือเกือบทุกยี่ห้อได้ทุกที่ตลอดเวลา
ตัวเลข 9.3 ล้านคน (และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ) บวกด้วยธรรมชาติของการแชร์ และพฤติกรรมการตามอ่านข้อความตลอดเวลา รวมๆ แล้วเป็น “สื่ออันทรงพลัง” เป็นอย่างยิ่ง

ประเด็นร้อนอย่างวิวาทะของกรณ์กับณัฐวุฒิ, คลิปสงกรานต์ที่สีลม, เรยาและดอกส้มสีทอง สามารถส่งต่อและแพร่กระจายไปยังชนชั้นกลางจำนวนมากได้ในเวลาอันรวดเร็วเป็นหลักนาที หรืออย่างมากก็หลักชั่วโมงเท่านั้น

ถ้าเป็นข่าวลบ ก็รับรองได้ว่านักการเมืองจะโดนรุมอัดเละชนิดตั้งตัวไม่ทัน ในทางกลับกัน ถ้าเป็นข่าวบวก กระแสอาจดีขึ้นผิดหูผิดตาโดยไม่รู้ว่าทำอะไรลงไปด้วยซ้ำ

นักการเมืองที่เคยสร้างปรากฏการณ์ระดับนี้ได้มีเพียง “ทักษิณ” กับบัญชี @thaksinlive ใน Twitter
แต่นั่นต้องไม่ลืมว่าเขาเป็น “ทักษิณ” ผู้ที่ใครๆ ก็สนใจ และเป็นผู้อยู่แดนไกลที่สื่อกระแสหลักไทยเข้าถึงตัวได้ยาก (หรือถ้าเข้าถึงได้ก็อาจจะโดนปลดจากสถานีแบบกรณีของจอม เพชรประดับกับช่อง 11) ทุกข้อความที่ทักษิณโพสต์จึงถูกจับตาจากสื่อ

แต่วิวาทะของนักการเมืองระดับรองๆ ลงมาอย่างกรณ์และณัฐวุฒิ ก็เปิดโอกาสกว้างให้กับนักการเมืองรุ่นใกล้เคียงกัน มาใช้ประโยชน์จาก Social Network กันได้มากขึ้น

ดังนั้นอีกไม่นาน เราคงได้เห็นนักการเมืองที่เข้าใจถึงธรรมชาติของ Social Network อย่างถ่องแท้ และสามารถสร้างประเด็นข่าว (set agenda) ด้วยเพียงข้อความไม่กี่บรรทัดใน Social Network ส่งผลสะเทือนกับเกมการเมืองของประเทศ

3) การเปลี่ยนพื้นที่ไซเบอร์ให้เป็นพื้นที่จริง ด้วย “เทศกาลอาหารไพร่ทองหล่อ”

วิวาทะของกรณ์และณัฐวุฒิ เป็นการเปลี่ยนเหตุการณ์บนโลกจริง (ร้านอาหารที่ซอยทองหล่อ) ที่มีคนอยู่ในเหตุการณ์เพียงหลักสิบ ให้เป็นเหตุการณ์เล่าซ้ำบนโลกไซเบอร์ (เล่าถึงทองหล่อบน Facebook) ที่มีผู้รับรู้จำนวนมหาศาล และผลิตซ้ำได้ตลอดเวลา (เป็นสัปดาห์แล้วกระแสยังไม่หมด)

แต่จุดที่น่าสนใจที่สุดในวิวาทะครั้งนี้ คือการเปลี่ยนวิวาทะบนพื้นที่ไซเบอร์ ให้กลับมาอยู่บนโลกจริงอีกครั้ง ด้วยตัวเชื่อมคือ “ซอยทองหล่อ” ซึ่งมีสถานะเป็นทั้งสถานที่จริง และสถานที่ในข้อความของกรณ์-ณัฐวุฒิ

ผู้ที่เปลี่ยนโลกไซเบอร์กลับมาเป็นโลกจริง ก็คือ “บก. ลายจุด” สมบัติ บุญงามอนงค์ นักกิจกรรมชื่อดังจาก “แกนนอนเสื้อแดง”

บก. ลายจุด กับ "เทศกาลอาหารไพร่" ที่ทองหล่อ (ภาพจากมติชน)

หลังจากข่าววิวาทะ “อำมาตย์กินเบียร์” แพร่กระจายออกไป บก. ลายจุดก็เสนอไอเดีย “ชวนไพร่ไปกินอาหารที่ทองหล่อ” ซึ่งมีภาพลักษณ์เสมอมาว่าเป็นพื้นที่ของคนชั้นสูง (หรือ “อำมาตย์” ถ้าจะใช้คำนิยามของกรณ์)

เท่านั้นยังไม่พอ บก. ลายจุด ยังเสนอว่า “อาหาร” ที่ไพร่ควรไปกินที่ทองหล่อ ไม่ควรเป็นร้านอาหารหรู สถานที่สร้างวิวาทะไซเบอร์ แต่เป็น “อาหารไพร่” อย่างหาบเร่แผงลอย ซึ่งมีผู้ประกอบการที่สนับสนุนเสื้อแดงอาสาไปขายทันทีที่ทราบข่าว

ถือเป็นการ “ท้าทาย” การแบ่งแยกทางชนชั้นอย่างแหลมคมยิ่ง เพราะเป็นการนำ “ไพร่เสื้อแดง” (ตามความหมายของสมบัติ) ไปบุก “พื้นที่อำมาตย์” อย่างซอยทองหล่อ ถือเป็นการแสดงออกสัญลักษณ์ด้วยการใช้พื้นที่อย่างน่าสนใจ

ถึงแม้วันที่จัดงานจริง (14 พ.ค. 54) จะประสบปัญหาฝนตกจนผู้ร่วมงานลดลงก็ตาม (ข่าวจากมติชน) แต่ทีมของ บก.ลายจุด ก็ประสบความสำเร็จในการ “ช่วงชิงพื้นที่” ซอยทองหล่อให้มาเป็น “พื้นที่ที่ไพร่ก็สามารถเข้าถึงได้”

น่าเสียดายว่า วิวาทะเรื่องชนชั้นแบบนี้ ฝ่ายอำมาตย์มีทางเลือกน้อยมากในการตอบโต้ (เพราะถือว่ามีฐานะทางสังคมเพียบพร้อมกว่า) มิฉะนั้นเราอาจได้เห็น “เทศกาลอาหารอำมาตย์” บุกไปยัง “พื้นที่ไพร่ๆ” บ้างเสียแล้ว และจะยิ่งทำให้พัฒนาการของโลกไซเบอร์-โลกจริง น่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีก

ที่มา.Siam Intelligence Unit
/////////////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น