--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

"ดร.ชัยวัฒน์ "เตือน อย่าดูถูก"ประชาธิปไตย4วินาที "ทำอย่างไรไม่ให้การรณรงค์หาเสียงเป็นที่ผลิตความเกลียดชัง

ถ้าไม่มี อุบัติเหตุทางการเมือง คนไทยน่าจะได้เลือกตั้ง ต้นกรกฎาคม 2554
แต่ใครอีกหลายคน เหลียวดู เหตุการณ์ใน อียิปต์ ตูนีเซีย เยเมน บาห์เรน แล้วนอนไม่ค่อยหลับ เพราะอดคิดไม่ได้ว่า สักวันอาจเกิดขึ้นในกรุงเทพ

ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธี นั่งสนทนากับนักข่าว ก่อนประเทศไทยปรับเข้าสู่โหมดเลือกตั้งในอีกไม่กี่วัน


สถานการณ์การเมืองไทยมีแนวโน้มจะเกิดสถานการณ์จลาจลแบบประเทศในตะวันออกกลางหรือไม่

ก่อนอื่นผมไม่อยากให้เรียกเหตุการณ์ในตะวันออกกลางว่าเป็นเหตุจลาจลเพราะคำเรียกก็มีความสำคัญ ผมจะเรียกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอียิปต์ ตูนีเซีย เยเมน บาห์เรน เหล่านี้ ว่าเป็นการลุกขึ้นเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชน ซึ่งเกือบจะทั้งหมด ยกเว้นกรณีของลิเบีย เป็นการลุกขึ้นสู้ โดยใช้สันติวิธีเป็นแกนกลางในการรณรงค์ เปลี่ยนแปลงทางการเมืองทั้งสิ้น

ประเด็นที่ 2 เวลาเรามองกรณีเหล่านี้ ต้องตระหนักว่าแต่ละกรณีไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น คงไม่สามารถกล่าวเป็นการทั่วไปว่าทั้งหมดที่เกิดในตะวันออกกลาง เป็นก้อนเดียวกัน เช่น สิ่งที่เกิดขึ้นในอียิปต์ กับลิเบีย เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ เพราะมีความแตกต่างภายในระหว่างอียิปต์กับลิเบีย อย่างเห็นได้ชัดหลายประการ

เช่น ความยากจนกับความร่ำรวย ความใหญ่โตกับความเล็ก การมีหรือไม่มีทรัพยากร สถานะเหล่านี้เกี่ยวข้องกับเหตุที่เกิดขึ้น เช่น อียิปต์ มีประชากร 82 ล้านคน เป็นคนจนประมาณครึ่งประเทศ ขณะที่ลิเบียประชากรประมาณ 6.5 ล้าน เท่านั้น และสถานะชีวิตความเป็นอยู่ก็ดีทัดเทียมกับประเทศในโลกซีกเหนือ หรือความแตกต่างเรื่องน้ำมัน ลิเบียมีน้ำมัน แต่อียิปต์ไม่มีขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรและยากจน

ที่น่าสนใจต่อไปคือ ทหารมีความสำคัญในอียิปต์ เพราะฉะนั้น ตัวตัดสินประการสำคัญคือทหาร ฉะนั้นทหารที่ยึดอำนาจมาตั้งแต่สมัยก่อนประธานาธิบดี ฮอสนี มูบารัค ก็เป็นนายทหารที่ยึดอำนาจขึ้นมาก่อน มีบทบาทสำคัญ และอยู่ในอำนาจยาวนาน ส่วนกรณีของมูอัมมาร์ กัดดาฟี ถึงจะเป็นทหาร แต่ทหารในประเทศ ไม่มีคุณลักษณ์เป็นสถาบัน ฉะนั้น จึงต่างกันมาก

ยกตัวอย่าง 2ประเทศนี้ยังต้องดูด้วยว่า ผูกโยงแค่ไหนกับจักรวรรดิอเมริกัน ถ้าผูกโยงใกล้ชิด กับจักรวรรดิอเมริกันมาก โอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจนเป็นไปอย่างที่โลกประชาธิปไตยอยากจะเห็น อาจจะเป็นไปได้เร็วและชัดขึ้นอย่างในอียิปต์ แต่ก็ไม่แน่ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในอียิปต์ จะเป็นภาพของประชาธิปไตยจริงๆ เพราะว่าสถาบันทหาร ซึ่ง เคยรับผิดชอบต่อการดูแลเสถียรภาพของอียิปต์ ยังดำรงอยู่ตลอด ส่วนที่หายไปก็มีเพียงครอบครัวและอาจจะพรรคพวกบางส่วนของมูบารัคเท่านั้น

ในขณะที่ลิเบีย ไม่ได้อยู่ในขอบวงอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาหรืออังกฤษ อะไรทั้งสิ้น แต่ถูกจัดเป็นประเทศรอบนอกถูกสหรัฐฯและมิตรประเทศจัดมานานแล้วว่าเป็นรัฐที่สนับสนุนการก่อการร้าย ด้วยเหตุนี้โลกฝรั่งก็ไม่มีอิทธิพลต่อลิเบียมากนัก ยิ่งกว่านั้น ขณะนี้การต่อสู้ในลิเบีย ก็เป็นกองกำลังติดอาวุธ ต่อสู้กับรัฐบาล และนาโต้ก็ตัดสินใจกระโดดเข้าไป ก็เป็นอีกเรื่องจนทำให้มีผู้คนล้มตายกว่าหมื่นคนแล้ว ผมพูดเพื่อจะบอกว่าลักษณะ ทั้งหมดมีความหลากหลาย และเมื่อลงรายละเอียดเฉพาะ ก็จะมีลักษณะแตกต่างจากประเทศไทยอยู่มาก

ประเด็นที่ 3 คือ เราดูโลกรอบๆ ตัวได้ในแง่ขวัญกำลังใจการเปลี่ยนแปลงสู่เส้นทางประชาธิปไตย เพราะสิ่งที่กำลังเห็นขณะนี้คือ ไม่ว่าจะอย่างไร ประเทศเหล่านี้ซึ่งมีระบอบการปกครอง อยู่ภายใต้พรรคเดียว หรือทหารกลุ่มเดียว หรือฝ่ายราชาธิปไตยกลุ่มเดียว มาเป็นเวลานานกำลังเผชิญ กระแสประชาธิปไตย ที่เข้มแข็งขึ้น ซึ่งคงนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองได้

 สถานะของไทยเป็นอย่างไรในกระแสโลก

 ถ้าพูดถึงประเทศไทยในบริบทของกระแสประชาธิปไตย ก็อาจจะพูดแบบนั้นได้ แต่ก็ต้องย้อนกลับไปคิดปัญหาทางทฤษฎีบางประการ มีคนเชื่อว่าในที่สุดการต่อสู้ทางความคิด ระหว่างรูปแบบการเมืองการปกครอง ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 หรือศตวรรษที่แล้ว เป็นยุคสมัยของชัยชนะของระบอบประชาธิปไตย เพราะฉะนั้น ความคิดอื่นก็จะพ่ายแพ้ไปในที่สุด ถึงแม้ยังมีระบอบเผด็จการ หรือประชาธิปไตยจำแลงรูปบางแบบ แต่ระบอบเหล่านั้นก็ไม่เที่ยงแท้ไม่คงทนและถูกความคิดประชาธิปไตยเอาชนะในที่สุด บางคนโดยเฉพาะ Francis Fukuyama ถึงกับบอกว่าเป็นจุดจบประวัติศาสตร์ไปแล้ว

 ฉะนั้น หมายความว่าถ้า ประเทศไทยอยู่ในกระแสนี้ ต้องแยกของ 2 อย่างระหว่าง ทิศทางของโลก กับสภาพเฉพาะของแต่ละสังคม แม้ทิศทางอาจจะไปในเส้นทางใกล้เคียงกัน แต่ลักษณะเฉพาะที่หน้าตา ท่าทาง สีสัน อาจจะไม่เหมือนกันก็ได้

 การเลือกตั้งจะตกอยู่ในฐานะอะไรในอนาคตเพราะมีกลุ่มที่ไม่ต้องการเลือกตั้งและกลุ่มที่พร้อมจะบอกว่าหากแพ้เลือกตั้งแปลว่าถูกโกง
ก่อนอื่นคงต้องกล่าวว่านิยามของประชาธิปไตยมีอย่างน้อย 300 กว่านิยาม แต่ไม่ว่าคุณจะนิยามอย่างไร การเลือกตั้ง ก็อยู่คู่กับระบอบประชาธิปไตย มองในมุมของคนที่สนใจความรุนแรงและความขัดแย้ง ผมคิดว่าการเลือกตั้งเป็น นวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่

เพราะตอบปัญหาความขัดแย้งใหญ่ว่าใครจะเป็นคนครองอำนาจรัฐ สมัยก่อนเวลามีปัญหานี้ก็ดูว่าใครมีกำลังมากกกว่ากัน ใครมีทหารมากกว่ากัน ใครมีอาวุธมากกว่ากัน ที่พูดนี่หมายถึงระบอบอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะราชาธิปไตย อภิชนาธิปไตย คณาธิปไตย หรือแม้กระทั่งระบบทหาร สมมุติว่าทหารซึ่งเคยคุมอำนาจเผด็จการในประเทศนั้นตายไป

ปัญหาคือใครในประเทศจะขึ้นมาแทน สมัยก่อนเมื่อไม่มีการเลือกตั้งก็ต่อสู้ฆ่ากันเพื่อตอบโจทย์ว่าใครจะเป็นผู้ครองรัฐ แม้ไม่ใช่ทุกครั้งต้องรบราฆ่าฟันกัน แต่ทุกครั้งก็ดูว่าใครมีกำลังมากกว่ากัน เหตุผลที่ไม่รบก็อาจจะเพราะเห็นว่าอีกฝ่ายยิ่งใหญ่กว่า มีกำลังมากกว่า ไม่รู้จะรบยังไง ก็ยอม หรือบางทีก็มีอำนาจประเพณีมากำกับเอาไว้ คุณูปการทางการเมืองของการเลือกตั้งคือย้ายการต่อสู้เพื่อตอบปัญหาการครองอำนาจรัฐด้วยกำลังด้วยความรุนแรง มาเป็นการตัดสินใจด้วยบัตรเลือกตั้ง

คือจาก bullets เป็น ballots กล่าวอีกอย่างหนึ่ง การเลือกตั้ง สามารถตอบคำถามว่า ใครจะครองอำนาจรัฐโดยไม่ต้องตัดสินกันด้วยกระสุนปืน แต่โดยบัตรเลือกตั้ง คำตอบนี้เป็นคำตอบยิ่งใหญ่ทางรัฐศาสตร์ ในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยสันติวิธี ฉะนั้น การเลือกตั้งจึงสำคัญอย่างยิ่งต่อประชาธิปไตยในความหมายนี้

ถ้าอยากให้เป็นสันติ ก็หมายความต่อไปว่า ต้องยอมรับ สิ่งที่จะได้จากการเลือกตั้ง โดยมีเกณฑ์ กระบวนการเลือกตั้งอย่าง free and fair เสรีและยุติธรรม คนมาลงคะแนนเสียงลงโดยไม่มีใครมาบังคับ ยิ่งกว่านั้นกระบวนการเลือกตั้งก็ต้องยุติธรรมไม่มีอำนาจภายนอกมาบงการ

นักการเมืองทุกฝ่ายมักนำสถาบันไปกล่าวอ้างทางการเมือง
ระบอบที่สังคมไทยเป็นในประวัติศาสตร์การเมืองระยะใกล้ คือประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัติริย์เป็นประมุข ซึ่งหมายความว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ โดยพระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์พระประมุขของรัฐ แต่ไม่ใช่หัวหน้ารัฐบาลซึ่งอันนี้ใครๆ ก็ทราบ และการเมืองแบบที่มีการเลือกตั้ง ในที่สุดก็มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เพราะต้องยอมรับว่าประชาธิปไตยเป็นการเมืองของการอยู่กับความขัดแย้ง
 แต่สถาบันพระมหากษัติย์ อยู่เหนือความขัดแย้ง หรือควรจะอยู่เหนือความขัดแย้ง ซึ่งหมายความว่าพระมหากษัติย์หรือสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ของทุกฝ่าย ไม่ว่าเขาจะอยู่ฝ่ายไหนขัดแย้งกับใครสีอะไร ถืออุดมการณ์ใด จะเห็นได้ว่าในหลายประเทศประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ (head of state)

อย่างอังกฤษหรือสวีเดนหรือญี่ปุ่น อนุญาตให้มีพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการมีพระมหากษัตริย์ แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ก็ทำหน้าที่เป็นประมุขคือเป็นพระมหากษัตริย์ของทุกคนไม่ว่าประชาชนในรัฐนั้นจะสังกัดพรรคการเมืองใด ด้วยอุดมการณ์ใด ในความหมายนี้ก็หมายความว่าอำนาจบารมีปกแผ่ไปทั่วโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง

กล่าวอีกอย่างหนึ่งในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อาจมีผู้คนหรือพรรคการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับสถาบันกษัตริย์ แต่สถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ต้อง มีพื้นที่อันปลอดภัยให้กับทุกคนทุกฝ่าย

ถ้าระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบของความขัดแย้ง จัดการความขัดแย้งด้วยการแบ่งเป็นพวกเป็นเหล่า ดำเนินชีวิตทางการเมืองอย่างขัดแย้งกัน แต่ไม่ต้องฆ่าฟันกัน การมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข แปลว่าทรงเป็นพระประมุขของทุกฝ่ายที่ขัดแย้งกันทั้งหมด นี่คือความหมายของการที่มักถือกันว่าทรงอยู่เหนือการเมือง

การเคลื่อนไหวในกลุ่มมวลชนที่เปรียบเปรยว่ารักลูกไม่เท่ากัน จะนำไปสู่ความไม่พอใจที่รุนแรงหรือไม่
ผมคิดว่าสังคมไทยก็ได้เดินมาถึงจุดหนึ่งซึ่งแต่ละคนก็มีความรู้สึกต่อเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นไม่เหมือนกัน ผมยังคิดแบบนี้ว่า สมมุติในครอบครัว ลูกน้อยใจพ่อแม่แล้วก็บอกว่า พ่อแม่ไม่เห็นรักลูกเท่ากันเลย ผมยังรู้สึกว่าเป็นสัญญาณ(sign)ที่ดีนะ เพราะแปลว่าลูกรักพ่อรักแม่เขานะ และเขาอยากให้พ่อแม่รักลูกให้เท่ากัน แต่สัญญาณที่ไม่ดีในครอบครัวก็คือว่า ลูกบอกว่าไม่สนใจแล้ว ไม่เอาด้วยแล้ว ไม่นับว่าตัวเองเป็นลูกแล้ว อันนั้นอันตรายกว่า
ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขมีปริศนาสองเรื่อง เรื่องแรกคือ ทำอย่างไรให้คนยังมามีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตย และเรื่องที่สองคือ ทำอย่างไรให้สายสัมพันธ์ระหว่างประชาชนในรัฐกับสถาบันสูงสุดดำรงอยู่ ถึงแม้จะมีความรู้สึกในใจต่อสายสัมพันธ์ที่แตกต่างหลากหลายผันแปรไป ถึงจะเป็นสายสัมพันธ์แบบน้อยใจ ก็ยังแปลว่ามีความสัมพันธ์ แปลว่ามีความรักอยู่ ทำอย่างไรจะทะนุถนอมรักษาสายสัมพันธ์นี้ให้เหนียวแน่นยั่งยืนสืบไป เพราะหากสายสัมพันธ์นี้อ่อนแอลงเมื่อใดก็ย่อมเป็นปัญหาต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นมุข
               
มีอีกคำที่บ่งบอกความรู้สึกบางอย่างของกลุ่มชุมนุมคือ ตาสว่าง
ทั้งหมดนี้ยังเป็นวาทกรรมในเชิงอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนบางส่วน ที่การเมืองซับซ้อนน่าสนใจเพราะ การเมืองไม่ใช่ระบบเหตุผลทั้งหมดแต่กอปรขึ้นด้วยอารมณ์มนุษย์ซึ่งกำกับความสัมพันธ์ที่เรามีต่อหน่วยต่างๆ(unit)ของสังคม ที่อารมณ์เช่นนี้ดำรงอยู่อาจแสดงให้เห็นความรู้สึกที่ผูกพันกันอยู่ แต่ความผูกพันนี้ถูกกระทบกระเทือน เหมือนกับผู้หญิงโกรธแฟนเพราะไปทำไม่ถูกใจเขา มีคนอธิบายว่าถ้าเขายังโกรธอยู่ แปลว่าไม่เป็นไรนะ เพราะวันหนึ่งก็หายโกรธได้ ความสัมพันธ์ยังอยู่ ยังปรับปรุงได้ แต่ถ้าเธอคนนั้นไม่รู้สึกอะไรแล้ว ไม่มีเยื่อใยกันแล้ว นั่นย่อมเป็นปัญหาใหญ่หลวงต่อความสัมพันธ์

ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เป็นระบอบที่มีสถาบันกลไก 2 อย่างที่ทำงานอยู่ด้วยกัน สถาบันการเมืองประชาธิปไตย เป็นกลไกการตัดสินว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล แต่การมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แปลว่าในรัฐ มีสายสัมพันธ์อีกอันหนึ่งซึ่งยังอยู่ แต่ก็อาจผันแปรแตกต่างเป็นธรรมดา เช่น ก็เหมือนในครอบครัวผู้คนปรกติ คงน้อยครับที่จะมีครอบครัวซึ่งรักกันยิ้มแย้มแจ่มใสตลอดปีตลอดชาติแบบครอบครัวพลาสติก น่าจะมีแต่ในโฆษณาทีวีเท่านั้น ไม่ใช่ในชีวิตจริง

ความน้อยใจหรือรู้สึกในทางลบขณะนี้ยังไงก็ยังห่างไกลจากสถานการณ์ในตะวันออกกลาง
อย่างที่เรียนไปว่า กรณีอียิปต์ ตูนีเซียอะไรทั้งหลาย เป็นการลุกฮือของประชาชน มาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในการที่เขาเป็นพลเมืองของรัฐ แต่ของเรามีประวัติศาสตร์ในการต่อสู้เพื่อเป็นประชาธิปไตยตลอดเวลา เป็นคนละโจทย์กัน เพียงแต่ตอนนี้เป็นประชาธิปไตยในบริบทที่ขัดแย้งกันมากในเรื่องเป้าหมายและวิธีการตัดสินปัญหาในสังคมการเมือง

บางคนคิดว่ากลัวการเลือกตั้ง บางคนคิดว่าพอผลการเลือกตั้งออกมา จะได้คนที่ตัวเองไม่ปรารถนาขึ้นมาเป็นรัฐบาล แล้วคนจำนวนหนึ่งก็จะทนไม่ได้ในสิ่งเหล่านี้ นี่ก็จำเป็นต้องหาวีธีเข้าใจให้ได้ เพราะถ้าพูดอย่างนี้ก็คือไม่ยอมรับกลไกสำคัญที่สุดในแง่การแก้ปัญหาใหญ่ที่สุดทางการเมือง แล้วคุณจะเอาอย่างไรในแง่การแก้ปัญหาความขัดแย้งเรื่องการครองอำนาจรัฐ ถ้าคุณไม่ยอมรับอันนี้ ก็แปลว่า คุณต้องยอมรับพลังอื่นที่เป็นตัวกำหนด ขณะนี้ก็มีพลังอื่นมากหลายที่ขัดแย้งกันอยู่ในสังคมไทย


หลังรัฐประหารปี49 รัฐบาลคมช.ระบุว่าตัวเองมีเนื้อหาเป็นประชาธิปไตยมากกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างพรรคไทยรักไทย ในอนาคตเราจะอยู่กับปมความขัดแย้งทางความเชื่อแบบนี้อย่างไร
ประชาธิปไตยเป็นระบอบที่อยู่กันด้วยความขัดแย้ง คือต้องเข้าใจให้ได้ว่า ความขัดแย้งเป็นลมหายใจแห่งชีวิตของประชาธิปไตย


ตราบเท่าที่ยังไม่เอาปืนมายิงกันงั้นหรือ
ใช่ ผมมีสิทธิ์ ที่จะแสดงความคิดเห็นซึ่งแตกต่างจากคุณ ผมมีสิทธิ์ที่จะเลือกคนที่ผมชอบ มาดำเนินกิจการทางการเมืองแทนตัวผม ทีนี้คำถามมีว่า คนอีกส่วนหนึ่งกำลังบอกว่า ผมโง่เลยตัดสินใจผิด ถ้าคุณเริ่มแบบนี้ ก็เป็นการเริ่มจากหลักการที่คุณไม่ยอมรับประชาธิปไตยตั้งแต่ต้น คือคุณไปคิดว่าคนไม่เท่ากัน ที่จริงประชาธิปไตยมีพัฒนาการมานานพอสมควร แต่ก่อนก็อธิบายว่า คนไม่เท่ากันจึงไม่มีสิทธิทางการเมืองเท่ากัน

เช่นในสมัยหนึ่งกระทั่งเชื่อว่าคนสีผิวหนึ่งไม่มีสิทธิในการเลือกตั้ง เพราะคนสีผิวนี้ เป็นคนโง่เขลา ไม่มีความรู้ เป็นทาส เป็นคนต่ำ เป็นคนไม่มีภูมิปัญญา แม้กระทั่งผู้หญิง ในสมัยก่อนก็ถูกตัดสินว่าไม่มีสิทธิ์ในการเลือกตั้ง เพราะเคยคิดกันว่าผู้หญิงไม่ใช่คน หรือเป็นคนก็ไม่เท่ากับผู้ชาย แม้สตรีในสหรัฐฯก็มีสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเสมอกันทั่วประเทศในช่วงปี ค.ศ.1920 นี้เอง
กล่าวได้ว่านี่เป็นการเดินทางของประชาธิปไตย ซึ่งในที่สุดถือว่าเมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์ จะมากจะน้อย ก็ตัดสินชีวิตของตนได้ หรือควรจะเป็นสิทธิ์ที่บอกว่าในที่สุด อยากได้ใคร มาทำหน้าที่ทางการเมืองแทนตัว ผมว่าเรื่องนี้เป็นส่วนสำคัญของประชาธิปไตยเพื่อแก้ปัญหาแรกที่ว่า พอเราเชื่อว่า แต่ละคนสามารถที่จะตัดสิน ชะตากรรมของตัวเองได้

ดังนั้น เราก็นับเสียงที่คนเหล่านี้ตัดสิน ฉะนั้น เวลาคนเดินเข้าไปในคูหาเลือกตั้งที่มักเรียกกันว่า “ประชาธิปไตย 4 วินาที” แต่ที่สำคัญคือควรเข้าใจว่า เวลานั้นเป็นช่วงขณะที่ยิ่งใหญ่มาก เพราะมนุษย์ในคูหาเลือกตั้งกลายเป็น Autonomous being เป็นปัจเจกชนที่มีอำนาจเต็มตัว

ด้วยเหตุนี้ คูหาเลือกตั้งจึงเป็นเรื่องส่วนตัว ณ เวลานั้นไม่ต้องสัมพันธ์กับคนอื่น แต่ให้คิดในฐานะที่ตัวคุณ เป็นปัจเจกบุคคลมีสติปัญญาและกำลังตัดสินใจในเรื่องสำคัญที่จะส่งผลต่อชีวิตทางสังคมการเมืองของตนไปอีกนาน ตามกฎหมายก็ประมาณ 4 ปี ว่าใครจะเป็นคนใช้อำนาจอธิปไตยแทนคุณ ใครที่ดูเบาการเลือกตั้งคงไม่ได้เข้าใจว่า การใช้อำนาจของบุคคลในฐานะมนุษย์ที่เป็นอิสระกำหนดชะตากรรมทางการเมืองของตนสำคัญอย่างไร ในฐานะสมาชิกของประชาคมที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่เพราะระบอบประชาธิปไตย

เอาเข้าจริง ต้องอยู่บนฐานของการเคารพอีกคนหนึ่ง แต่การเคารพนี้ซับซ้อนพอควรเพราะต้องเคารพ 2 เรื่องคือ 1 เคารพคุณเพราะคุณเหมือนผมและ 2 เคารพคุณเพราะคุณก็ต่างจากผม
ปรากฎการณ์ 4-5ปีที่ผ่านมา ทั้ง 2 ขั้วในการเมืองไทย มีเครื่องมือทั้งรูปแบบที่เป็นพรรคการเมืองและอีกเครื่องมือคือกลุ่มผู้ชุมนุม สามารถสั่นคลอนฝ่ายบริหารได้ทุกรัฐบาลทำให้การเลือกตั้งแทบไม่มีความหมายหรือเปล่า
นี่เป็นมายาคติที่ประหลาดๆ อยู่ ถ้าจะบอกว่าการเลือกตั้งไม่มีความหมาย คุณก็ต้องอธิบายว่า แล้วทำไมแต่ละคนดิ้นรนจะกระโดดเข้ามาในการเลือกตั้ง เข้ามาตั้งพรรคการเมือง ย้ายพรรคโยกพวกกันเยอะแยะ นัดกินหูฉลาม รวมตัวกัน ยังอยากเป็นนายกฯ อยากเป็นรัฐบาล ซึ่งก็หมายความว่ามันสำคัญ ไม่ว่าจะมีพลังอะไรทำงานอย่างไรอยู่ภายนอกก็ตาม

ยิ่งกว่านั้น อาจกล่าวได้ว่า ที่มวลชนเสื้อเหลืองออกมาบนถนนในตอนแรกก็ด้วยไม่พอใจให้ผลการเลือกตั้งในครั้งนั้น ขณะที่มวลชนเสื้อแดงก็ออกมาบนถนนเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ กล่าวได้ว่า ทั้งสองเรื่องสะท้อนความสำคัญของการเลือกตั้งทั้งคู่
เกรงว่าการเลือกตั้งรอบใหม่จะเปิดเกมใหม่เริ่มความรุนแรงระหว่างรัฐกับประชาชน
ก็ถ้าฝ่ายรัฐมาจากประชาชนจริง ก็อาจจะไม่ขัดกัน หมายความต่อไปว่า ใครก็ตามที่ดูเหตุการณ์เหล่านี้อยู่ภายนอก แล้วไม่กระโดดเข้ามาเล่นในกติกาการเลือกตั้ง ก็ไม่ควรมีบทบาทกำกับทิศทางว่าสังคมการเมืองควรจะไปทางไหน อาจจะมีบทบาทให้คำแนะนำสังคมได้บ้าง แต่ว่าคำแนะนำเหล่านั้น

ถ้าคนเขามาจากการเลือกตั้งผ่านระบบมาอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม ถ้าเขาขึ้นมาได้ เขาก็มีสิทธิ ที่จะฟังหรือไม่ฟังคุณก็ได้ คือคำแนะนำก็ควรจะมี ข้อวิพากษ์วิจารณ์ก็ควรจะมี ข้อที่บอกว่าไม่เห็นด้วยกับจุดอ่อนของการเลือกตั้งก็ควรปรากฎให้เห็น ไม่ได้หมายความว่าต้องโยนมันทิ้งไป
สิ่งที่ยังหักล้างอำนาจจากการเลือกตั้งคือการรัฐประหาร แล้วประเทศไทยมีวิธีการวัดกำลังนอกจากโหวตแล้วยังมีอำนาจจากรถถัง ซึ่งไม่มีอำนาจเด็ดขาดเลยสักฝ่าย
ที่น่าสนใจคือว่าอำนาจที่มาจากรถถังก็ไม่เด็ดขาดอีกเหมือนกัน ข้อดีของสังคมไทยคือไม่มีอะไรเด็ดขาด แม้แต่รัฐประหารคราวที่แล้ว ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ ฝ่ายที่สนับสนุนรัฐประหารหรือทำรัฐประหาร ไม่ได้อยากให้พรรคพลังประชาชนชนะ แต่พรรคนั้นก็ชนะได้ แล้วจะอธิบายมันว่าอะไร

 สิ่งที่น่าสนใจคือ ตัวสังคมไทยมันเปลี่ยนไปแล้วหรือยังและเมื่อเปิดให้มีการเลือกตั้ง ตัวระบบเลือกตั้งก็มีกระบวนการมีลักษณะอำนาจของมันเอง เมื่อเลือกตั้ง ก็นับโหวตย้ายการสู้รบมาที่บัตรเลือกตั้ง แต่ประธิปไตยยังมีอย่างอื่นนอกจากเลือกตั้งคือ การมีรัฐบาลที่ ไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จ การมีรัฐบาลที่มีอำนาจจำกัด การมีรัฐบาลซึ่งในที่สุดสิทธิเสรีภาพเห็นต่างยังมีอย่างจริงจัง ปัญหาคือ จะสร้างพื้นที่ซึ่งปลอดภัยให้กับผู้คนที่เห็นต่างไปจากเสียงส่วนใหญ่ได้อย่างไร
ปัญหาการยอมรับผลการเลือกตั้ง ขณะที่พรรคใหญ่พร้อมโหมกระแสว่าถูกโกงเลือกตั้ง
ด้วยเหตุนี้ระบบประจักษ์พยาน (witnessing) จึงสำคัญทั้งพยานจากภายในและจากต่างประเทศ เพื่อยกสถานะการเลือกตั้ง ผู้ที่ผ่านการเลือกตั้งจะได้มีความชอบธรรมสูง ความมั่นคงของรัฐบาลก็อาจจะสูงตาม ลดปัญหาเงื่อนไขให้คนวิ่งออกไปข้างนอก(สภา) เพราะเรื่องความชอบธรรม ซึ่งมีหลายสาเหตุรวมทั้งเรื่องที่มาของรัฐบาลด้วย และผมกำลังคิดว่าฝ่ายประชาสังคมก็ดี ฝ่ายรัฐเองก็ดีคงไม่อยากเห็นความขัดแย้งดำรงอยู่โดยไม่มีที่ยุติ เพราะต้นทุนของประเทศก็สูงแต่ละปีผู้คนก็บาดเจ็บล้มตาย

แต่ปัญหาที่ผมเตือนตั้งแต่ปีกลายคือ เมื่อรัฐตัดสินใจใช้ความรุนแรงไปครั้งหนึ่ง ความรุนแรงเหมือนพันธนาการที่มีชีวิตของมันเอง มันจะมัดมือคุณ เค้นคอคุณ ทำให้อึดอัดขัดข้อง กลัวว่าเมื่อผลการเลือกตั้งไปอีกทางหนึ่ง กลุ่มคนที่เคยเกี่ยวข้องกับความรุนแรง เคยใช้ความรุนแรงกับคนอื่น ก็จมอยู่กับเงาแห่งความเดือนร้อนที่รออยู่ อันนี้ก็เป็นปัญหาสำคัญ
มีทางออกอย่างไร
บางทีสังคมไทยต้องคิดเรื่อง ทำอย่างไรถึงจะมีความปรองดองในสังคมอย่างจริงจังกับใคร่ครวญถึงผลที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวได้
หมายถึงนิรโทษกรรมหรืออภัยโทษ
ผมไม่ได้พูดว่านิรโทษกรรมหรืออภัยโทษ การปรองดองสมานฉันท์ไม่ได้เริ่มต้นจากการนิรโทษกรรมหรือให้อภัย แต่เริ่มต้นจากคำถามว่า อนาคตของสังคมไทยที่เรามีร่วมกันจะเป็นอย่างไร ทำอย่างไรจะเป็นอิสระจากกับดักแห่งอดีตจัดการกับความทรงจำที่เจ็บปวดได้พอจะกำหนดชีวิตของสังคมการเมืองไทยได้
จะให้ความสำคัญกับอะไรระหว่างการให้อภัยกับการหาความจริง
การให้อภัยเช่นที่ผมเคยเขียนไว้ใน อภัยวิถีไม่ได้หมายความว่าจะไม่รื้อฟื้นไม่ทำความจริงให้ปรากฎ แต่มีเรื่องหนึ่งที่ต้องคิดคือ การให้อภัยอาจจะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่พาเราหลุดจากปมแบบนี้ เพราะถ้าเราไม่ทำเช่นนั้น ในที่สุดเราจะอยู่กับอดีตไม่ได้
ถ้าเรารู้ความจริงแล้วจะให้อภัยกันไหวหรือเปล่า
ผมตอบไม่ได้... แต่ในหลายๆ กรณี บางทีเหยื่อของความรุนแรงตัวจริง เขาพร้อมที่จะให้อภัยยิ่งกว่าคนซึ่งไม่ได้สูญเสียจริงๆ แต่อยู่ในฟากฝ่ายเดียวกัน ผมว่าน่าสนใจที่จะลองฟังเสียงของคนเหล่านั้นดู ในฐานะที่เขาสูญเสียมาแล้วจริงๆ สิ่งที่สำคัญคือ เขาอยากเห็นความจริงปรากฎ เขาอยากเห็นว่าเกิดอะไรขึ้นจริงๆ ในปีที่แล้ว แต่ขณะเดียวกัน ผมคิดว่าคนจำนวนหนึ่งก็น่าจะรู้สึกเช่นเดียวกันว่าชะตากรรมที่เขาพบ เขาอาจจะไม่อยากให้เกิดกับคนอื่น แล้วผมคิดว่าสังคมไทยต้องเก็บบทเรียนพวกนั้นมาไม่ใช่เพื่อชำระความแค้น แต่เพื่อหาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดแบบนี้กับคนอื่น
การจับมือของนักการเมืองต่างขั้ว เป็นสัญญาณที่ดีหรือแย่เหมือนไม่มีหลักการที่แน่นอน
ทำอย่างไรจะใช้จังหวะการเลือกตั้งคราวนี้สะท้อนความคิดที่แตกต่างในสังคมไทยแต่หาทางเอาความเกลียดชังออกไป คือการต่อสู้ทางการเมืองที่เราดูถูกดูแคลนคำกล่าวว่า “ไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร” แต่ ความน่าสนใจคือ คนที่ไม่เห็นด้วยในวันนี้ ต่อไปก็เป็นเพื่อนกันได้ ก็แปลว่าเราสู้กันแต่ไม่ต้องเกลียดกันเพราะวันหนึ่งเราจะกลับมาเป็นเพื่อนกันได้อีก ผมว่าอันนั้นน่าสนใจ เป็นอีกสาระของประชาธิปไตย
ความเป็นมิตรจะแปลว่ากลับกลอกไม่มีอุดมการณ์ที่แท้จริงหรือเปล่า
แล้วคำว่า “อุดมการณ์ที่แท้จริง” คืออะไร เวลาเรามีพรรคการเมืองที่รวมตัวของกลุ่มคนซึ่งในที่สุดเป็นการรวมตัวด้วยผลประโยชน์ด้วยความคิดความอ่านของเขา แล้วถามว่าทำไมเป็นพรรคการเมือง คำตอบที่ซื่อสัตย์คือก็เพราะอยากเป็นรัฐบาล แล้วถ้าการเป็นรัฐบาลหมายถึงการจับมืออีกฝ่ายหนึ่ง ถ้าเขารู้สึกว่าอยู่ในหนทางที่พอจะจับกันได้ เขาก็จับเพื่อทำให้นโยบายนั้นเป็นจริง แต่ถ้าเขารู้สึกว่านโยบายเป็นไปไม่ได้ เขาก็ไม่จับ

ฉะนั้น การเมือง เป็นสิ่งซึ่งอยู่ในบริบทที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติ เพราะเป็นศาสตร์แห่งการปฏิบัติ เป็น practical science ไม่ใช่เห็นต่างแล้วจะเห็นต่างไปจนสุดลิ่มทิ่มประตู ไม่ถึงขนาดนั้น
ถามว่ามีอุดมการณ์ไหม ก็มี แต่กระบวนการประชาธิปไตยในรูปแบบรัฐสภานี้เมื่อคุณเข้าไปในสภา คุณก็ต้องเคารพอีกฝ่ายหนึ่งในฐานะที่เขาเป็นสมาชิกสภาเหมือนกับคุณ แต่อยู่ตรงข้ามกับคุณ ดังนั้น สภาจึงเป็นที่พูดกันไม่ใช่แทงกัน เวลาคุณเข้าสภา เขาไม่อนุญาตให้เอาอาวุธเข้าสภา กฎระเบียบพวกนี้จะผลักของบางอย่างออกไป การเป็นสมาชิกสภาบังคับคุณให้ไปนั่งอยู่ในห้องเดียวกันกับคนที่คุณไมเห็นด้วย

ทั้งหมดนี้เป็นอำนาจวาทกรรมรัฐสภาที่น่าสนใจและกำหนดบังคับคุณ แม้เมื่อสมาชิกสภาฯจะกล่าวอะไรก็ต้องพูดผ่านประธานสภาฯ โดยเริ่มต้นคำพูดว่า “ท่านประธานที่เคารพ...” พิธีกรรมและแบบปฏิบัติพวกนี้อาจจะดูเหมือนว่าไม่สำคัญ แต่สิ่งเหล่านี้คือวาทกรรมที่กำกับคุณ ถ้าคุณชี้หน้าด่าหรือพูดหยาบคาย เขาก็ปิดไมโครโฟนคุณ พาคุณออกจากห้อง เพื่อบังคับให้พื้นที่นี้ เป็นพื้นที่อีกแบบหนึ่ง

มีการปลุกประเด็นให้เกลียดชังมือที่มองไม่เห็น ปรากฎการณ์นี้จะเป็นอันตรายถึงฝ่ายใดหรือไม่
การวิเคราะห์ว่ามีพลังอำนาจอะไรทำงานในสังคมไทยก็วิเคราะห์ไปเป็นเรื่องธรรมดา แต่การบอกว่าเราต้องเกลียดชังอีกฝ่ายจะสะสมความรุนแรงที่ตามมา แล้วที่สุดก็จะกลายเป็นปัญหากับทุกฝ่าย
ถ้าไม่จำแนกความเป็นฝ่ายด้วยความเกลียดชังฝั่งตรงข้าม แล้วจะหาวิธีการจำแนกความแตกต่างยังไง
ผมว่าความเกลียดเป็นปัญหาสำคัญ ทำอย่างไรไม่ให้การรณรงค์หาเสียงเป็นที่ผลิตความเกลียดชัง ทำอย่างไรเราถึงจะเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ กระทั่งเรียกร้องความยุติธรรมแต่ไม่อยู่บนพื้นฐานของความเกลียดชัง เรื่องนี้น่าจะเป็นโจทย์สำหรับผู้คนที่กระโดดเข้ามารณรงค์ผ่านการเลือกตั้งในคราวนี้ ถ้าเราเห็นแก่อนาคตของสังคมไทย.
ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น