--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

5 พรรคประชัน นโยบายปากท้อง ใครของจริง ใครขายฝัน !!!?

ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ จัดสัมมนาเรื่อง "ท้าความคิด...ประชันนโยบายปากท้องกับ 5 พรรคการเมือง" ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โดยตั้งประเด็นว่า "หากพรรคได้รับเลือกเข้ามาบริหารประเทศ 90 วันแรกของการเป็นรัฐบาล จะแก้ไขปัญหาปากท้องอย่างไร"

 พิชัย นริพทะพันธุ์ ทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย

สิ่งแรกที่พรรคจะทำใน 90 วัน คือโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกร หรือเครดิตการ์ดชาวนา ควบคู่กับโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตันละ 15,000 บาท และข้าวหอมมะลิตันละ 20,000 บาท โดยชาวนาจะต้องลงทะเบียนข้อมูลพื้นฐาน เช่น จำนวนพื้นที่เพาะปลูก จากนั้นสามารถมากู้เงินจากสถาบันการเงินของรัฐ อัตราดอกเบี้ย 0% เพื่อนำไปลงทุนด้านการผลิตก่อน เช่น ซื้อปุ๋ย ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยเเพงเหมือนสินเชื่อนอกระบบ ช่วยลดต้นทุนได้ 20-40% และเมื่อชาวนาได้ผลผลิตมาจำหน่าย ก็จะได้ส่วนต่างที่เหลือจากการกู้กลับไป ทำให้ไม่เกิดปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)

 "พรรคจะต้องทำให้เศรษฐกิจประเทศโตไม่ต่ำกว่า 5% ต่อปี เพราะมีเป้าหมายต้องเติบโตให้ทันตามประเทศจีนและอินเดียที่โตเฉลี่ย 8-10% ต่อปี ขณะเดียวกัน ไทยต้องไม่มีภาวะการตกงาน พร้อมทั้งยกระดับคนระดับล่างให้มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยจะต้องจัดการต้นทุนภาคการขนส่งให้ต่ำลง พัฒนากิจการรถไฟและรถไฟฟ้าทั้ง 10 สาย เพราะปัจจุบันระบบรางของไทยยังมีปัญหา

พร้อมทั้งสร้างเมืองเศรษฐกิจใหม่ ให้เป็นศูนย์กลางในด้านต่างๆ เเทนพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ในอนาคตมองว่ามีปัญหาน้ำท่วม และรถติดรุนเเรงมากขึ้น โดยรัฐจะเปิดประมูลขายที่ดิน เป็นช่องทางรายได้ให้รัฐ เพื่อนำไปสร้างเขื่อนป้องกันปัญหาน้ำท่วม รวมถึงใช้ในระบบชลประทาน ทำท่อเชื่อมต่อทั้ง 25 ลุ่มเเม่น้ำ ทำให้ชาวนาสามารถปลูกข้าวได้มากขึ้นเป็น 3-4 ฤดูกาล จากปัจจุบัน 2-3 ฤดูกาล นอกจากนี้ พรรคยังขึ้นค่าเเรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน โดยการลดเก็บภาษีนิติบุคคล เหลือ 20% ในปี 2556 เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับเพิ่มรายได้ให้เเรงงาน รวมทั้งผู้ที่จบวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ต้องได้เงินเดือนขั้นต่ำ 15,000 บาท

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายกองทุนมหาวิทยาลัย โดยให้มหาวิทยาลัยละ 1,000 ล้านบาท ปล่อยกู้ให้นักศึกษาไปสร้างรายได้ระหว่างเรียน รวมถึงโครงการพักชำระหนี้ โดยประชาชนที่มีหนี้ต่ำกว่า 5 แสนบาท จะได้รับการพักชำระหนี้ 3 ปี ส่วนรายใดที่มีหนี้เกิน 5 แสนบาท จะเข้าสู่การปรับโครงสร้างหนี้

"กรณ์ จาติกวณิช" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์

ทันทีที่ได้เป็นรัฐบาลมาบริหารประเทศ พรรคจะมุ่งเน้นเรื่องรายได้ประชาชนเป็นหลัก โดยเฉพาะการดูแลค่าใช้จ่ายของเกษตรกร ด้วยการเพิ่มกำไรการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวสำหรับการทำข้าวนาปีเป็น 50% จากเดิมกำหนดไว้ที่ 40% เพื่อให้เกษตรกรมีกำไรจากการขายสินค้าเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังขยายอัตราต้นทุนค่าขนส่งแบบเหมาจ่าย 200 บาทต่อตัน เหมือนกันทั่วประเทศ เป็นเหมาจ่ายตามระยะทางโดยนับจุดเริ่มต้นที่กรุงเทพฯ ศูนย์กลางการค้า ดังนี้ ระยะทาง 0-300 กิโลเมตร อยู่ที่ 200 บาทต่อตัน ระยะทาง 301-600 กิโลเมตร อยู่ที่ 400 บาทต่อตัน และ 601 กิโลเมตรขึ้นไป อยู่ที่ 600 บาทต่อตัน สานต่อเรื่องปัจจัยการผลิตในส่วนของการชดเชยปุ๋ยต้นทุนต่ำตันละ 1,500 บาท การเข้าไปดูแลระบบประกันภัยนาล่ม กรณีที่เกิดภัยธรรมชาติที่ไม่คาดคิด การปรับฐานค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 25% ภายใน 2 ปี

"กรพจน์ อัศวินวิจิตร" ทีมเศรษฐกิจพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน

พรรคจะดำเนินนโยบายเรื่องยกเว้นภาษีเงินได้ให้กับบัณฑิตจบใหม่ 5 ปี เพื่อให้มีเวลาสร้างรายได้ ความมั่นคงในอาชีพ ทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น รวมถึงปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพให้คนพิการและผู้สูงอายุ 1,000 บาทต่อเดือน จากปัจจุบันอยู่ที่ 500 บาทต่อเดือน ให้ประชาชนสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลในทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยไม่จำเป็นเฉพาะโรงพยาบาลที่มีชื่อสังกัดเท่านั้น รวมถึงดูแลปรับลดปลดหนี้ให้เกษตรกร

นอกจากนี้ พรรคจะเพิ่มวงเงินสินเชื่อให้ภาคการผลิตดอกเบี้ย 0% เป็นเวลา 3 ปี วงเงินสินเชื่อสูงสุด 1 ล้านบาทต่อราย ปรับระบบบัตรโดยสารใบเดียวใช้ได้ทั้งรถเมล์ รถไฟฟ้า หรือแม้แต่เรือ นอกจากนี้ พรรคยังมีนโยบายเรื่องอัตราค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 350 บาทต่อวัน ภายใน 3 ปี เพราะมองว่าหากเศรษฐกิจดี ระบบการทำงานดี การปรับค่าครองชีพให้สูงย่อมสามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับนโยบายด้านรับซื้อข้าว พรรคจะเปิดโอกาสให้เกษตรกรสามารถเลือกว่าจะเข้าระบบประกันรายได้เกษตรกรหรือระบบรับจำนำ เพราะไม่ว่าจะเป็นระบบใดก็ต้องใช้กลไกตลาดเป็นตัวชี้นำราคา เป็นการให้โอกาสประชาชนมากขึ้น

"สรยุทธ เพ็ชรตระกูล" ทีมเศรษฐกิจพรรคภูมิใจไทย

 ภายใน 90 วัน หลังได้รับเลือกเป็นรัฐบาล พรรคมีนโยบายจะประกันราคาข้าวหอมมะลิตันละ 20,000 บาท รวมถึงพัฒนาภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน เพื่อให้สามารถแข่งขันระหว่างประเทศได้ รวมทั้งแจกพันธุ์ข้าว พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว โดยมีระบบบริหารจัดการที่ดี รวมถึงบริหารด้านการตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจัดสรรงบประมาณให้จังหวัดละ 100 ล้านบาท จัดโครงการทำดีมีรางวัล โดยเฉพาะกลุ่มอาสาสมัครกู้ชีพต่างๆ กรณีที่ประสบอุบัติเหตุ โดยชดเชยให้วันละ 600 บาทต่อคน กรณีที่ต้องเข้ารับการรักษาตัว

พรรคจะเน้นนโยบายเศรษฐกิจระดับรากหญ้า เพราะมองว่าเศรษฐกิจเดินหน้าได้ ต้องพัฒนาจากฐานระดับล่างให้แข็งแกร่งก่อน โดยเฉพาะด้านเกษตรกร เรื่องข้าวเป็นสินค้าที่ราคายังต่ำ เมื่อเทียบกับสินค้าเกษตรชนิดอื่นที่ราคาต่างปรับขึ้นสูง ขณะที่สัดส่วนชาวนาสูงถึง 60% นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการพัฒนาระบบชลประทานให้มีศักยภาพมากขึ้น เพราะปัจจุบันมีอยู่ 2 ล้านไร่ จากระบบชลประทานทั่วประเทศ 28 ล้านไร่ มองว่ายังน้อยมาก ถ้าเทียบกับพื้นที่เกษตรกว่า 57 ล้านไร่"

"เกษมสันต์ วีระกุล" ทีมเศรษฐกิจพรรคชาติไทยพัฒนา

นโยบายเร่งด่วนของพรรคที่ต้องทำเลยก็คือประกาศนโยบายปรองดองแห่งชาติ เพราะมองว่าถ้าไม่เริ่มต้นด้วยการปรองดองจากทุกฝ่าย การต่อยอดพัฒนาด้านต่างๆ ก็จะไม่สามารถทำได้ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังมุ่งให้บรรดาคณะรัฐมนตรีต้องซื่อสัตย์ในหน้าที่ หยุดการโกง ทุจริตในเรื่องต่างๆ ต้องตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อให้รู้ว่า ประเทศไทยในปัจจุบันเป็นอย่างไร และต้องปรับปรุงแก้ไขตรงไหน รวมถึงจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อรวบรวมข้อมูล แนวทาง และข้อได้เปรียบ ข้อเสียเปรียบ ทิศทางการกำหนดอัตราภาษีให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศคู่ค้ารองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558

"ไทยต้องปรับภาษีบุคคลต้องไม่ต่างจากประเทศคู่แข่งเกิน 10% จึงจะสามารถสู้ได้ในเวทีเออีซี นอกจากนี้ พรรคยังมีนโยบายลงทุนระบบสาธารณูปโภควงเงิน 5.5 ล้านล้านบาท โดยวงเงินดังกล่าวเป็นการลงทุนพัฒนาแหล่งน้ำ 1.7 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีนโยบายประกันราคาข้าวเปลือกตันละ 15,000 บาท ข้าวหอมมะลิตันละ 20,000 บาท ช่วยเหลือค่าเช่านาไร่ละ 500 บาท มีการสนับสนุนลงทุนปัจจัยการผลิตภาคการเกษตร ฟรีดอกเบี้ย 1 ปี วงเงินสูงสุด 5 แสนบาท จัดตั้งกองทุนสวัสดิการเกษตรกร 2 หมื่นล้านบาท รวมทั้งมีการปรับโครงสร้างภาษีอย่างเป็นธรรม"

 ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
********************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น