นายกล้านรงค์ จันทิก โฆษกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สนามบินน้ำ เมื่อวันที่ 27 กันยายน ถึงเรื่องกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (ซีซีทีวี) ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ว่า ป.ป.ช.ให้สำนักการข่าวและกิจการพิเศษไปรวบรวมข้อมูลจากสื่อมวลชนและข้อมูลเบื้องต้นที่มีผู้ส่งมาให้ โดยได้สรุปเรื่องส่งให้ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่ากรณีนี้มีเหตุอันควรสงสัย ว่าการจัดซื้อกล้องโทรทัศน์วงจรปิดของ กทม.จะมีการทุจริตหรือไม่ และจะเป็นกล้องจริงหรือเป็นกล่องเปล่าจริงหรือไม่ ราคาจะแพงจริงหรือไม่
ดังนั้น จึงมีมติรับไว้พิจารณาและมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ไปดำเนินการหาข้อเท็จจริงและรวบรวมเอกสารหลักฐานทั้งหลายให้ชัดเจนว่ามีบุคคลใดบ้างที่มีส่วนเกี่ยวพันกับเรื่องนี้และมีส่วนเกี่ยวพันอย่างไร เพื่อนำมาเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการต่อไป" โฆษก ป.ป.ช.ระบุ
นายกล้านรงค์ยังแถลงถึงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ.2554 ในมาตรา 103/9 ได้บัญญัติให้ ป.ป.ช.เปิดเผยกระบวนการและขั้นตอนการไต่สวนข้อเท็จจริงของคดีที่อยู่ระหว่างการไต่สวนเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้โดยได้จัดทำข้อมูลดังกล่าวในลักษณะระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงาน ป.ป.ช. ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความคุ้มครองสิทธิของบุคคลและผลกระทบต่อรูปคดีด้วย ซึ่งขณะนี้ ป.ป.ช.ได้จัดทำเว็บไซต์ขึ้นแล้ว โดยได้นำข้อมูลขึ้นในเว็บไซต์ www.nacc.go.th ไปในวันที่ 27 กันยายนไปแล้วประมาณ 200-300 เรื่อง จาก 1,000 กว่าเรื่องและจะทยอยนำขึ้นเว็บไซต์ไปเรื่อยๆ เพื่อให้รู้ว่าการไต่สวนที่อยู่ใน ป.ป.ช.นั้นอยู่ในขั้นตอนใด
นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยหลังจาก ป.ป.ช.มีมติรับคดีโครงการติดตั้งกล้องวงจรปิดของ กทม.ว่า การรับคดีไว้พิจารณาของ ป.ป.ช.ยังไม่กระทบการสืบสวนรวบรวมหลักฐานและข้อเท็จจริงเบื้องต้น เพราะขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนมีการกระทำผิดหรือไม่ หากมีการกระทำผิดจะเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐหรือเป็นความผิดของภาคเอกชน ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจสอบสวนของ ป.ป.ช. ดังนั้น ดีเอสไอจะตรวจสอบกรณีดังกล่าวต่อไป หากพบมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงเข้าไปเกี่ยวข้องกระทำความผิดจะส่งสำนวนพร้อมหลักฐานให้ ป.ป.ช.ดำเนินการต่อไป
ดีเอสไอส่งเจ้าหน้าที่ที่มีความชำนาญเรื่องคดีฮั้วประมูล ตรวจสอบอย่างละเอียด ตรงไปตรงมา ไม่มีการกลั่นแกล้งแน่นอน คาดใช้เวลาสอบข้อเท็จจริงไม่นาน อยากให้ กทม.ส่งเอกสารที่ดีเอสไอขอตรวจสอบให้ครบ จะทำให้การตรวจสอบชัดเจนขึ้น" อธิบดีดีเอสไอระบุ
ขณะที่ พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ ดีเอสไอ กล่าวถึงการขอข้อมูลโครงการติดตั้งกล้องวงจรปิด (ซีซีทีวี) ของ กทม.ว่า ให้เวลา กทม. 3 วัน ในการส่งเอกสารให้ตรวจสอบ ข้อมูลที่ขอเกี่ยวข้องกับการจัดทำโครงการตั้งแต่เริ่มต้นถึงการติดตั้งกล้องทั้งหมด มีเอกสารที่เกี่ยวข้องจำนวนมากทั้งใบวางเงิน หนังสือขอความเห็นชอบ ใบประกวดราคา ใบตรวจรับ การติดตั้ง การเบิกครุภัณฑ์ ทั้งนี้ ได้ขอข้อมูลระหว่างปี 2550-2554 ซึ่งในปี 2554 พบว่ามีโครงการติดตั้งกล้องซีซีทีวี 20,000 ชุด จึงขอให้ส่งมาตรวจสอบพร้อมกัน
ดีเอสไออาจจำเป็นต้องขอสำเนาข้อมูลเรื่องดังกล่าวที่ กทม.ได้ส่งให้กับสำนักงานตรวจการเงินแผ่นดิน (สตง.) มาตรวจสอบ ในกรณีที่อาจมีข้อมูลบางส่วนขาดหาย เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลที่ได้จาก กทม. ซึ่ง กทม.ให้ความร่วมมือจัดหาเอกสารอย่างดี" พ.ต.ท.พงศ์พรกล่าว
วันเดียวกัน ที่รัฐสภา นายโสภณ ศรีมาเหล็ก ส.ว.น่าน ประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาและติดตามระบบเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศการสื่อสารเพื่อความปลอดภัยของบ้านเมือง ใน กมธ.วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการสื่อสารและโทรคมนาคม วุฒิสภา ได้ประชุมพิจารณาข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีการติดกล้องซีซีทีวีในพื้นที่ กทม. มีนายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯ กทม.และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจง
ทั้งนี้ นายธีระชนยืนยันว่าการจัดซื้อกล้องซีซีทีวีของ กทม.โปร่งใส ส่วนประเด็นที่เป็นข่าวเข้าใจว่ามีความพยายามโยงเป็นเรื่องการเมือง เพราะใกล้ถึงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.แล้ว ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ได้กำชับให้ฝ่ายข้าราชการประจำ และ กทม.งดตอบโต้ เพียงแต่ให้ชี้แจงในข้อเท็จจริงเท่านั้น ส่วนสาเหตุที่ กทม.ต้องมีกล้องดัมมี่ เพราะก่อนหน้านี้มีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณจัดซื้อ จึงต้องจัดซื้อกล้องดัมมี่ในราคาตัวละ 1,000 บาทเพื่อป้องปราม อีกทั้งในการชุมนุมทางการเมืองช่วงที่ผ่านมา มีการทำลายกล้องซีซีทีวีจำนวนมาก มูลค่าเสียหายกว่า 33 ล้านบาท
นายธีระชนกล่าวว่า แต่ในช่วงทำโครงการกล้องซีซีทีวี 10,000 ตัวนั้น ยืนยันไม่มีการจัดซื้อกล้องหลอก แต่ที่ยังคงค้างอยู่เป็นของเก่าที่ติดตั้งไว้เพื่อป้องปราม ที่จริงแล้วในหลักสากลหน่วยงานไม่ควรเปิดเผย แต่เมื่อเรื่องถูกยกมาเป็นประเด็นจึงจำเป็นต้องเปิดเผย
หลังที่ปรากฏเป็นประเด็นในเว็บไซต์พันทิป ทาง กทม.เชิญกลุ่มที่โพสต์ข้อความมารับฟังข้อเท็จจริง อีกทั้ง กทม.ได้ติดตามบุคคลที่เป็นผู้ถ่ายรูปกล้องซีซีทีวีดัมมี่มาด้วย โดยการติดตามจากกล้องซีซีทีวีที่ใช้งานได้จริงในพื้นที่ใกล้เคียง ดังนั้นจึงพิสูจน์ได้ว่าในพื้นที่ที่ติดตั้งกล้องดัมมี่ ยังมีกล้องสามารถทำงานได้จริง สำหรับการตั้งข้อสังเกตจากบุคคลภายนอกซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายกับองค์กรของ กทม. เป็นเรื่องที่ข้าราชการประจำมีสิทธิจะปกป้องศักดิ์ศรีขององค์กร ด้วยการชี้แจงหรือหากกลายเป็นประเด็นโจมตีเพื่อหวังผลการเมือง เป็นสิทธิ กทม.ดำเนินการใดๆ เพื่อรักษาชื่อเสียงด้วย"รองผู้ว่าฯ กทม.ระบุ
ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) เวลา 15.00 น. นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พท. ในฐานะคณะกรรมการตรวจสอบความไม่โปร่งใส 172 โครงการที่พรรคได้รับการร้องเรียน นำเอกสารการทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างในโครงการติดตั้งกล้องทีวีวงจรปิด (ซีซีทีวี) ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รายงานการตรวจสอบของสำนักงานตรวจการเงินแผ่นเดิน (สตง.) และรายงานผลการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายเจะอามิง โตะตาหยง ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เป็นประธาน มาประกอบการแถลงข่าว โดยยืนยันว่าโครงการติดตั้งกล้องทีวีวงจรปิดใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ได้ริเริ่มในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตามที่ ปชป.บิดเบือนข้อมูลและสาดโคลน
เพราะจากหลักฐานโครงการติดตั้งกล้องทีวีวงจรปิดเริ่มในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี โดยมีมติ ครม.เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2550 อนุมัติโครงการจัดซื้อ พร้อมติดตั้งระบบกล้องทีวีวงจรปิดในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ทำสัญญากับบริษัท ดิจิตอล รีเสิร์ชแอนด์คอนซัลติ้ง จำกัด ผู้ชนะการประมูล ตามสัญญาเลขที่ 101/2550 ภายใต้งบประมาณ 969 ล้านบาท" นายยุทธพงศ์ระบุ
นายยุทธพงศ์กล่าวว่า แต่หลักฐานชิ้นสำคัญและเพิ่งได้รับมาล่าสุดคือ รายงานของ สตง. เลขที่ ตผ0016/290 ลงวันที่ 5 กันยายน 2554 ซึ่งส่งถึงนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยแนบสำเนาการสืบสวนสอบสวน จำนวน 58 แผ่น พบว่าการจัดซื้อจัดจ้างติดตั้งกล้องทีวีวงจรปิดโดยวิธีพิเศษนั้น เกิดความไม่โปร่งใสในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างของบริษัทผู้ได้รับงาน และ สตง.เห็นควรให้ดำเนินคดีอาญากับข้าราชการหลายราย รวมถึงอดีตปลัดกระทรวงมหาดไทยรายหนึ่ง ลงชื่อนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าการ สตง. รักษาราชการแทนผู้ว่าการ สตง.
หลังจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะตั้งกรรมการสอบทั้งความผิดทางอาญาและทางวินัย แม้บางคนเกษียณราชการไปแล้วก็สามารถดำเนินการเอาผิดได้ นอกจากนี้ยังมีข้าราชการบางรายมีความผิดฐานละเมิด สร้างความเสียหายต่อรัฐ คิดเป็นเงิน 87.5 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงมหาดไทยต้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากข้าราชการกระทรวงมหาดไทยรายดังกล่าว แต่ทั้งนี้รายงาน สตง.ไม่พบว่ามีนักการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย" นายยุทธพงศ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เอกสารของ สตง.ระบุว่า ควรดำเนินการทางอาญาและทางวินัยกับนายพงศธร สัจจชลพันธ์ พ.อ.ชาญวิทย์ ภัสสรโยธิน นายเสฎฐสิร สินธุวงศานนท์ นายชัยวัฒน์ วงษ์วานิช และนายสมนึก สองเมือง ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 และความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ กรณีกำหนดคุณสมบัติสายใยแก้วนำแสงไม่ตรงตามสเปก 2.ควรดำเนินการทางอาญา แพ่ง และวินัยกับนายพงศ์โพยม วาศภูติ นายประจักษ์ สุวรรณภักดี นายพงศธร สัจจชลพันธ์ นายชัยวัฒน์ วงษ์วานิช และนายสมนึก สองเมือง พ.อ.ประจิตร อ่ำพันธุ์ และนายกฤษฎิ์พงษ์ หริ่มเจริญ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 มาตรา 46 กรณีกระทำการแก้ไขทีโออาร์ โดยปรับลดรายการก่อสร้างอาคาร และการปรับลดรายการ/ราคาอุปกรณ์ติดตั้งแต่คงราคามาตรฐานรวมไว้ตามเดิม
เอกสารของ สตง.ระบุอีกว่า 3.ให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการทางละเมิดตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2529 กับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการปรับลดเนื้องาน และราคามาตรฐานเป็นเหตุให้ทางราชการเสียหายเป็นเงิน 87,548,000 บาท ทั้งนี้ ให้แจ้งผลการดำเนินการดังกล่าวกลับไปให้ สตง.ทราบภายใน 90 วัน
ที่มา: มติชนออนไลน์
***********************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น