--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2554

อัยการไม่ยอมฎีกาคดีอ้อ-บรรณพจน์ !!?

เลี่ยงภาษีโอนหุ้นชินเห็นพ้องศาลอุทธรณ์

อัยการแถลง ยืนยันไม่ยื่นฎีกา คดีพจมาน-บรรณพจน์ เลี่ยงภาษี ซุกหุ้นชินคอร์ป แจงเหตุผลศาลอุทธรณ์ลงโทษเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว ชี้ในการพิจารณาคดี ไม่พบพฤติกรรมที่ส่อเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี ส่วนข้อหาให้การเท็จ เจ้าหน้าที่สรรพากรเองก็ไม่ยืนยันว่าเป็นความเท็จ ปฏิเสธคดีใหญ่ ไม่มีใครกล้าวิ่งเต้น

ที่สำนักงานอัยการสูงสุด รัชดาฯ เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 26 ก.ย. นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ และโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงข่าวความคืบหน้าการพิจารณาฎีกา คดีหลีกเลี่ยงภาษีหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ตามที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ อดีตประธาน บมจ.ชินคอร์ปฯ คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานร่วมกันหลีกเลี่ยงภาษีอากร โดยความเท็จฯ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 คดีนี้ศาล ชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกนายบรรณพจน์ และคุณหญิงพจมาน เป็นเวลา 3 ปี จำคุกนางกาญจนภา เป็นเวลา 2 ปี จำเลยทั้ง 3 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า นายบรรณพจน์ มีความผิด ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (2) ลงโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 100,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษเป็นเวลา 1 ปี ส่วนคุณหญิงพจมานและนางกาญจนาภาให้ยกฟ้อง

โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ระบุว่า สำนักงานอัยการสูงสุด พิจารณาแล้ว มีความเห็นดังนี้ 1.ประเด็นความผิดของนายบรรณพจน์ จำเลยที่ 1 ในข้อหาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (2) นั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามฟ้องแล้ว เพียงแต่ใช้ดุลพินิจกำหนดโทษใหม่ และให้รอการลงโทษ เห็นว่าเป็นการใช้ดุลพินิจเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว เนื่องจากความรับผิดในทางอาญา ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร เป็นเพียงมาตรการที่ใช้เสริมการจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะลงโทษจำคุก ผู้ที่ไม่ยอมชำระภาษี หรือชำระไว้ไม่ถูกต้อง อันมีพื้นฐานมาจากความรับผิดทางแพ่งแต่อย่างใด จึงเห็นว่า กรณีไม่มีเหตุที่จะฎีกาในประเด็นนี้อีก

2.ประเด็นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง คุณหญิงพจมาน จำเลยที่ 2 และนางกาญจนาภา จำเลยที่ 3 ความผิดฐานร่วมกับจำเลยที่ 1 หลีกเลี่ยงการเสียภาษีตามประมวล รัษฎากร มาตรา 37 (2) นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 2 ประสงค์จะยกหุ้นของตนในบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีชื่อ น.ส.ดวงตา วงศ์ภักดี เป็นผู้ครอบครองอยู่ ให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพี่ชายจำนวน 4,500,000 หุ้น โดยทำเป็นการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ แม้ศาลชั้นต้นเห็นว่า เป็นการอำพรางเพื่อไม่ต้องชำระภาษี แต่ในชั้นพิจารณา พยานโจทก์ปากนายสุวิทย์ มาไพศาลสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด ได้เบิกความว่า ในตลาดหลักทรัพย์มีตัวแทนถือหุ้นแทนเจ้าของที่แท้จริงเป็นจำนวนมาก เนื่องจากไม่มีกฎหมายห้าม และได้ให้คำแนะนำว่าหากต้องการโอนหุ้นที่ตัวแทนถืออยู่ให้แก่บุคคลอื่น ต้องทำเป็นการซื้อขายหุ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์

นอกจากนี้ ในชั้นพิจารณายังได้ความอีกว่า จำเลยที่ 1 และ น.ส.ดวงตาได้เปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ไว้ก่อนเกิดเหตุนานแล้ว และบัญชีดังกล่าวมีการเคลื่อนไหวซื้อขายหุ้นมาโดยตลอด เจือสมกับการนำสืบของจำเลยที่ 2 และ 3 ที่ต่อสู้ว่า ตนเข้าใจว่าการยกหุ้นให้ต้องทำเป็นการซื้อขาย เพราะหุ้นดังกล่าวเป็นหุ้นที่ดำเนินการซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยทำเช่นนั้นมาแล้ว และไม่มีฝ่ายใดทักท้วง อีกทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอื่นว่า จำเลยที่ 2 และ 3 มีพฤติการณ์ใดๆ ที่ส่อให้เห็นว่ามีเจตนาร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 ในการหลีกเลี่ยงภาษี การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าพยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 และ 3 จึงชอบด้วยเหตุผลแล้ว

3.ประเด็นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องนายบรรณพจน์ จำเลยที่ 1 และคุณหญิงพจมาน จำเลยที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันแจ้งข้อความเท็จ หรือถ้อยคำเท็จตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (1) นั้น เนื่องจากศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีนี้เจ้าพนักงานประเมินไม่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติและขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 และ 2 ได้ให้ถ้อยคำกับเจ้าพนักงานที่กระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (1)

นอกจากนั้น ศาลอุทธรณ์ยังวินิจฉัยในเนื้อหาคดีว่า การที่จำเลยที่ 1 และ 2 ได้ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานประเมินว่า จำเลยที่ 2 โอนหุ้นให้จำเลยที่ 1 แต่ทำเป็นซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้น เป็นการให้ถ้อยคำตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและมีอยู่จริง เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมายืนยันให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า ถ้อยคำที่จำเลยที่ 1 และ 2 ให้แก่เจ้าพนักงานประเมินนั้น เป็นความเท็จอย่างแน่ชัด เพราะไม่เคยมีอยู่จริง และไม่เคยเกิดขึ้นจริง แต่เป็นการเสกสรรปั้นแต่งข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ จึงยังไม่อาจฟังยุติว่าเป็นความเท็จ เพียงแต่มีน้ำหนักเชื่อถือได้น้อยเท่านั้น ประกอบกับพยานโจทก์ปาก นาย ช.นันท์ เพ็ชญไพศิษฐ์ และนางเบ็ญจา หลุยเจริญ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีของกรมสรรพากร ผู้ที่จำเลยที่ 1 และ 2 เคยให้ถ้อยคำไว้ และศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นการให้ถ้อยคำเท็จนั้น ต่างก็ไม่ได้เบิกความยืนยันข้อเท็จจริงเลยว่า ถ้อยคำที่จำเลยที่ 1 และ 2 ให้ไว้แก่ตนนั้นเป็นเท็จ จึงเห็นว่าไม่มีเหตุอันควรฎีกา ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในประเด็นนี้เช่นกัน สำนักงานอัยการสูงสุดจึงเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด จึงมีคำสั่งไม่ฎีกาจำเลยทั้งสามในทุกประเด็น

นายธนพิชญ์ โฆษกอัยการสูงสุดกล่าวว่า ในการพิจารณาฎีกานั้นได้นำความเห็นแย้งของประธานศาลอุทธรณ์ ที่มีความเห็นว่าไม่สมควรรอลงอาญานายบรรณ–พจน์มาพิจารณาแล้ว โดยอัยการเห็นว่ามาตรการกฎหมายสรรพากรต้องการภาษี ซึ่งจำเลยได้เสียภาษีถูกต้องทุกอย่าง ขณะที่มาตรการลงโทษคดีอาญาเป็นมาตรการเสริม การพิจารณายื่นฎีกาหรือไม่นั้น อัยการมีหน้าที่ตรวจสอบคำพิพากษาของศาล ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์อยู่แล้ว ถ้าถูกต้องเราก็เห็นด้วย หากไม่ถูกต้องก็ดำเนินการอุทธรณ์หรือฎีกาต่อไป เรื่องนี้เป็นการตรวจสอบตามดุลพินิจธรรมดาว่าทำไมศาลอุทธรณ์จึงพิพากษากลับจากศาลชั้นต้น หรือทำไมศาลฎีกากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เมื่อพิจารณาแล้วว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์มีเหตุมีผล อัยการสูงสุดจึงเห็นด้วย ไม่ใช่ว่าอัยการต้องไม่ฎีกา หรือไม่อุทธรณ์ทุกเรื่อง มีหลายคดีที่อัยการเห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้น หรือศาลอุทธรณ์ ต่อข้อถามว่ามีกระแสข่าวเรื่องการวิ่งเต้นเพื่อไม่ให้อัยการยื่นฎีกาในคดีนี้ นายธนพิชญ์ตอบว่า เรื่องวิ่งเต้นนั้นถ้าเป็นเรื่องใหญ่ๆอย่างนี้ มันเป็นเรื่องยาก ขอยืนยันว่าไม่มีการวิ่งเต้น โดยตลอดเวลาการทำงานของอัยการ พิจารณาที่พยานหลักฐาน เหตุผล และข้อเท็จจริงต่างๆ ที่ปรากฏในสำนวน ไม่ใช่ปรากฏนอกสำนวน

ผู้สื่อข่าวถามถึงการติดตามตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ยังหลบหนีคดีอยู่นั้น โฆษกอัยการสูงสุดตอบว่า ต้องมีต้นเรื่องส่งมาที่สำนักงานอัยการสูงสุด จากหน่วยงานที่มีอำนาจจับกุม ออกหมายว่าผู้ที่จะติดตามมีที่อยู่ที่ไหน อย่างไร อัยการไม่ใช่ต้นเรื่อง เพราะอัยการสูงสุดเป็นแค่ผู้ประสานงานกลางเท่านั้น

ในวันเดียวกัน นายเมธา ธรรมวิหาร ทนายความของนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ กล่าวว่า ในส่วนของนายบรรณพจน์นั้น ที่ผ่านมาทนายความได้ยื่นคำร้องขอขยายเวลาการยื่นฎีกา ศาลอนุญาตให้ขยายเวลาจนถึง 25 ต.ค.นี้ แต่เมื่ออัยการสูงสุด มีความเห็นไม่ฎีกาคดี ก็ต้องแจ้งให้นายบรรณพจน์ และผู้ใหญ่ที่ร่วมดูแลคดีนี้ทราบ เพื่อพิจารณาต่อไปว่า ในส่วนของนายบรรณพจน์นั้นควรยื่นฎีกาต่อไปหรือไม่ เมื่ออัยการสูงสุดและโจทก์มีความเห็นไม่ฎีกาแล้ว คดีจึงมีผลเป็นที่สุดตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ดังนั้น ต่อจากนี้เป็นเรื่องที่นายบรรณพจน์ต้องพิจารณาว่าจะค้าความต่อไปหรือไม่ การต่อสู้คดีที่ผ่านมา นายบรรณพจน์ยืนยันไม่มีเจตนาตามฟ้อง ส่วนที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำคุกแต่ให้รอลงอาญานั้น นายบรรณพจน์จะยอมรับได้หรือไม่เป็นอีกเรื่อง ถ้ายอมรับผลคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ ประกอบกับอัยการไม่ฎีกาต่อทำให้คดีถึงที่สุด หากนายบรรณพจน์จะยื่นฎีกาคดี ต้องให้ศาลฎีกาชี้ขาดมีคำพิพากษาต่อไป

ต้นฉบับ: http://www.thairath.co.th/today/view/204805
ที่มา: ไทยรัฐ
******************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น