--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

เปิดวิสัยทัศน์ 11 กสทช. นับหนึ่งกุมบังเหียน ทีวี-วิทยุ-สื่อสาร.!!?

แม้จะเลือก 11 กสทช.ได้แล้วเรียบร้อย แต่ดูเหมือนว่าหนทางของ "กสทช." ชุดแรกของไทยจะยังเต็มไปด้วยขวากหนาม ยังไม่นับคดีความที่ค้างคาอยู่ในศาลก่อนหน้านี้ ล่าสุดยังชุลมุนไม่เลิก เมื่อ "ดีเอสไอ" โดดรับลูกเตรียมชงบอร์ด กคพ. (คณะกรรมการคดีพิเศษ) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเพื่อพิจารณารับคดีไว้สอบสวนตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ กรณีการสรรหา กสทช.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ก่อนที่จะไปกันใหญ่ ในระหว่างนี้ หยิบวิสัยทัศน์ 11 กสทช.ที่แสดงต่อคณะกรรมาธิการวุฒิสภา เป็นการทบทวนความจำและคำมั่นสัญญาของ "กสทช." แต่ละท่านเคยพูดไว้ว่า จะทำอะไรบ้าง เมื่อได้รับคัดเลือก

เริ่มจากตัวเต็งประธาน กสทช. "พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี" กล่าวว่า คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสาธารณะที่มีจำกัด ที่ผ่านมายังจัดสรรไม่ทั่วถึง และความถี่ส่วนใหญ่อยู่ในมือภาครัฐ จึงต้องเร่งจัดทำแผนแม่บทบริหารจัดการคลื่นความถี่และตารางคลื่นความถี่แห่งชาติให้เสร็จภายใน 6 เดือน ก่อนนำมารับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเพื่อแก้ไขและประกาศใช้โดยเร็ว พร้อมทั้งเปลี่ยนผ่านกิจการโทรทัศน์ไปยังระบบดิจิทัลให้เสร็จในปี 2558 รวมถึงจัดให้มีบริการ 3G อย่างเสรีและเป็นธรรมอย่างรวดเร็ว

ด้าน "พลโทพีระพงษ์ มานะกิจ" กสทช.ด้านโทรทัศน์ กล่าวว่า แม้เป็นคนมาจากภาคความมั่นคง แต่เป็นความมั่นคงที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด เพราะปัญหา ทุกวันนี้เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างอำนาจ โดยมี "สื่อ" เป็นผู้ผลิตซ้ำทางความคิด จึงอย่ามองสื่อแยกจากอำนาจ และอย่าให้ใครครอบงำอำนาจสื่อไว้แต่เพียงผู้เดียว การครองสื่อไขว้ข้ามกันระหว่างอำนาจ เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ ขณะที่คลื่นควรกระจายตัว อย่าไปกลัวกลุ่มทุน เพราะในประเทศที่ศึกษามา อย่างเยอรมนี ทุนใหญ่และทุนเล็กอยู่ด้วยกันได้

กสทช.ด้านโทรคมนาคม "พ.อ. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ" กล่าวว่า 3 แผนแม่บทคือเสาหลักของอุตสาหกรรม ต้องพัฒนาและใช้ทรัพยากรเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสังคม และใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างประหยัด รวมถึงการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค ทั้งเชิงรุกและเชิงรับ โดยเน้นคุ้มครองคุณภาพบริการตั้งแต่ต้นทาง พร้อมสร้างกลไกเยียวยา ผู้ถูกละเมิดสิทธิ

อีกหนึ่ง กสทช.ด้านโทรคมนาคม "พ.อ.นที ศุกลรัตน์" กล่าวว่า โอกาสในชีวิตได้มาจากภาษีของประชาชน จึงตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่าต้องทดแทนด้วยการนำความรู้ความสามารถมาพัฒนาประเทศ ซึ่งจะนำพาความต่อเนื่องจากยุค กทช.ไปสู่ กสทช. ที่ดีได้ จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความวิริยะ อุตสาหะ โปร่งใส เป็นกลางต่อทุกภาคส่วน เพื่อประโยชน์ต่อคนไทยทุกคน

ฟากอดีตเลขาธิการ กกต. "สุทธิพล ทวีชัยการ" กสทช.ด้านกฎหมาย กล่าว ว่า สิ่งที่จะเร่งดำเนินการ คือสร้างศรัทธาให้ประชาชน คำวินิจฉัยทุกเรื่องต้องอธิบายได้ สร้างบรรทัดฐานในการทำงาน การบังคับใช้กฎหมายในการ ส่งเสริม ไม่ใช่บังคับผู้ประกอบการส่งเสริมทั้งรายเก่ารายใหม่ ผลักดันให้มีการออกใบอนุญาตแบบรวมรับกับยุคเทคโนโลยีหลอมรวม รวมถึงการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้ประชาชนรู้สิทธิของตัวเอง และใช้ประโยชน์จากเงินกองทุนทุกบาททุกสตางค์อย่างคุ้มค่า

กสทช.ด้านกฎหมายอีกคน "พ.ต.อ. ทวีศักดิ์ งามสง่า" กล่าวว่า คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสำคัญของชาติ ฉะนั้น เพื่อประโยชน์สาธารณะ ต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน ทั้งในระดับชาติ และท้องถิ่น มีมาตรการป้องกันการควบรวม และการครองสิทธิข้ามสื่อ การครอบงำสื่อ

อดีตอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย "ผศ.ธวัชชัย จิตร ภาษ์นันท์" กสทช.ด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า จะกระจายการเข้าถึงเทคโนโลยีสื่อสารให้ทั่วประเทศใช้เทคโนโลยีหลากหลาย เพื่อการเข้าถึงของประชาชนในราคาที่ไม่แพง ลดความไม่เท่าเทียมกันของการพัฒนา และให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศรองรับการเปิดประชาคมอาเซียน

ด้าน "รศ.ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์" กสทช.ด้านเศรษฐศาสตร์ อดีตผู้จัดการกองทุน "ยูเอสโอ" ของ กทช.ระบุว่า เรื่องเร่งด่วน 3 อย่าง คือ 3G, วิทยุชุมชน และสรรหาเลขาธิการ กสทช. โดยใช้หลักเศรษฐศาสตร์ดูแลค่าธรรมเนียมใบอนุญาตไม่ให้ผู้บริโภครับภาระมากเกินไป และจัดหาอุปกรณ์เพื่อตรวจสอบคุณภาพบริการที่จำเป็น และกระจายศูนย์ไปปฏิบัติงานให้ทั่วประเทศ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคเชิงรุก และมีข้อมูลเผยแพร่ประกอบการตัดสินใจของประชาชน รวมถึงสร้างสมดุลในการใช้งบประมาณของสำนักงาน

กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภค "น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์" กล่าวว่า จากการทำงานภาคประชาชนมา 18 ปี มีภาระผูกพันและถูกตรวจสอบจากเครือข่ายภาคประชาชนที่จะผลักดันการปฏิรูปสื่อ โดยคานดุลระหว่างสื่อบริการสาธารณะภาครัฐ สื่อธุรกิจที่มีการแข่งขันเสรีและเป็นธรรมรวมถึงสื่อภาคประชาชน

ด‰าน "นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา" กสทช.คุ้มครองผู้บริโภคด้านโทรคมนาคม กล่าวว่า จะวางแผนรับมือกับการเปลี่ยนผ่านระบบสัมปทานสู่ใบอนุญาต และแผนรองรับการสิ้นสุดสัมปทาน รวมถึงการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีความซับซ้อนมากขึ้น โดยสร้างความร่วมมือเพื่อบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกัน ไม่ใช่ใช้แต่กฎหมายอย่างเดียว

คนสุดท้าย "พลเอก สุกิจ ขมะสุนทร" กสทช.ด้านพัฒนาสังคม กล่าวว่า กสทช.ต้องรู้ให้ทันความเปลี่ยน แปลง ต้องให้คำตอบให้ความรู้ต่อประชาชนให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่จะกระจายเข้าไปโดยสนับสนุนให้เกิดองค์ความรู้ผ่านงานวิจัย

ที่มา:ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น