--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554

เปิดโฉมหน้ากุนซือบ้านพิษยุค ยิ่งลักษณ์ ..!!?


บ้านพิษณุโลกถูกปัดกวาดเป็นที่อยู่ของ "กุนซือ" การเมืองที่ หวือหวาอีกครั้งในยุค "น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร"

หลังจากก่อสร้างมาครบ 111 ปี (2443-2554) เพื่อเป็นที่พำนักของข้าราชบริพาร ของพลตรี พระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.ฟื้น พึ่งบุญ) ทหารมหาดเล็กส่วนพระองค์ ที่รับใช้ใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

บ้านอันเป็นตำนานแห่งทีมที่ปรึกษาข้อราชการแผ่นดินนานถึง 4 รัชสมัย

เมื่อ 23 ปีก่อน ยุคอดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่บ้านพิษณุโลกคลาคล่ำไปด้วยขุนพลเศรษฐกิจ-นักกฎหมาย-การต่างประเทศ-นักกลยุทธ์การเมือง อย่างนายพันศักดิ์ วิญญรัตน์, ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร, ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี, ดร.ชวนชัย อัชนันท์, ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย และนาย ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ

ย้อนไปเมื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ยุคนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี เคยใช้บ้านแห่งนี้พำนักเป็นช่วงสั้น ๆ

เมื่อคราว พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี มีการประชุม "ลับ" เพื่อเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาท แล้วเกิดปรากฏการณ์ "ข่าวรั่ว" ไปถึงหูนักธุรกิจ-การเมืองระดับ 7 หมื่นล้าน ก็มาจากห้องประชุมในบ้านพิษณุโลก

บ้านพิษณุโลกแห่งนี้มีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้งเมื่อ 10 ปีก่อน ยุคที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อ คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร์ อดีต ภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ปัดฝุ่นปรับปรุงบ้านหลังนี้ให้เป็นที่รับรองแขกต่างประเทศ และใช้เป็นห้องประชุมนัดสำคัญ

การประชุมที่ พ.ต.ท.ทักษิณนั่งหัวโต๊ะ แล้วออกมติทางการเมืองที่สำคัญเป็นจุดเปลี่ยนพรรคไทยรักไทยยุค 377 เสียง ให้แกนนำพรรค "กางมุ้ง" ในพรรคได้ ก็มาจากการประชุมในบ้านหลังนี้

ยุคที่บ้านพิษณุโลกบรรจุปัญญาชนไว้มากที่สุดเป็นยุค อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่แห่งนี้เป็นห้องทำงาน ห้องประชุมของอดีตนายกรัฐมนตรี นายอานันท์ ปันยารชุน ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย และสมัชชาปฏิรูปประเทศที่ น.พ.ประเวศ วะสี เป็นหัวขบวน

ยุค น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แม้มีการประกาศแต่งตั้งข้าราชการการเมืองไปแล้ว 32 ราย เฉพาะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีมี 4 ราย ทั้ง พลเอกพัลลภ ปิ่นมณี, นายโอฬาร ไชยประวัติ, นายสุชน ชาลีเครือ และ พลเอกชัยสิทธิ์ ชินวัตร

ยังมีนักการเมืองอกหัก-สอบตกขุนพลเสื้อแดง และที่ พ.ต.ท.ทักษิณต้องใช้หนี้บุญคุณทางการเมืองอีก 13 ราย ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อาทิ นางไพจิตร อักษรณรงค์, นายวรวุฒิ วิชัยดิษฐ และ นายอรรถชัย อนันตเมฆ เป็นต้น

บรรดาทีมที่ปรึกษาทั้ง 1 โหลกว่ายังไม่มี Job description และอำนาจหน้าที่ที่ชัดเจน อีกทั้งยังไม่มีที่นั่งประจำการ ประจำตำแหน่ง

ต่างจากนักการเมืองบ้านเลขที่ 111 และ 109 จำนวนนับ 10 คน ที่ได้รับ คำสั่งเป็นการภายในพรรคเพื่อไทย ให้ประจำการเป็น "ทีมงานบ้านพิษณุโลก" ประจำรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไปเรียบร้อยแล้ว

บุคคลมีตำแหน่งหมายเลข 1 นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานทีมที่ปรึกษาชื่อ นาย นพดล ปัทมะ มีความสามารถพิเศษโดดเด่นเรื่องกฎหมาย ทนายความประจำตระกูลชินวัตร เคยปฏิบัติหน้าที่โฆษกตอบโต้ ชี้แจงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณในต่างประเทศ และแถลงเรื่องคดีความของอดีตภริยาอดีตนายกรัฐมนตรีสม่ำเสมอ

บุคคลที่อยู่ในแถวที่ 2 ชื่อ นายภูมิธรรม เวชยชัย อดีตรองเลขาธิการพรรคไทยรักไทย ที่หายตัวไปในช่วงที่เพื่อไทยต้องต่อสู้ทางการเมืองจากรอบทิศทาง แต่เขาไปปรากฏตัวร่วมทีมกับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เพื่อแถลงข่าวส่วนตัวเรื่องที่พัวกันกับการจงรักภักดี

บุคคลที่อยู่ในลำดับที่ 3 ชื่อ นาย พงศ์เทพ เทพกาญจนา ตำแหน่งทางการเมืองที่ปรากฏหลังถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง คือ โฆษกส่วนตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ

นอกจากนี้ยังมีนักการเมือง ทีมงาน การเมืองอีกนับ 10 คน ร่วมเป็นทีมงานยุทธศาสตร์การเมือง

คำสั่ง "ลับ" ภายในพรรคเพื่อไทยครั้งนี้มาจากกรอบแนวคิด-ข้อเสนอของนักการเมืองฝ่ายซ้าย อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวงที่เสนอขึ้นในช่วงหลังชนะเลือกตั้งว่า "รัฐบาลควรมีทีมที่ปรึกษาพิเศษ เพราะมีภารกิจหลายอย่างที่ต้องนำนโยบายไปปฏิบัติ และยากมากที่จะขับเคลื่อนได้ด้วยฝ่ายรัฐมนตรีฝ่ายเดียว"

ข้อเสนอมีหลักการ-เหตุผลแนบท้ายว่า นโยบายหลายข้อจาก 16 ข้อเร่งด่วนที่ต้องทำทันที จำเป็นต้องมีทีมที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์การเป็นรัฐมนตรี รอบรู้เรื่องกฎหมาย รู้ขั้นตอนในการขับเคลื่อนเข้ามาช่วยเสริมจึงจะทำงานได้ราบรื่น

โมเดลในการทำงานของทีม "ที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก" จะรวบรวมข้อมูลการขับเคลื่อนนโยบาย แล้วส่งผ่านไปที่ทีม "เลขาธิการนายกรัฐมนตรี" นำไปประสานสั่งการระดับกระทรวง

วาระและประเด็นที่อยู่ในมือของทีมงานบ้านพิษณุโลกยุค "111+109" มีวาระร้อน 2 ประเด็นด่วน คือ 1.ขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ 2.ขับเคลื่อนแนว ทางปรองดอง ด้วยโรดแมปที่ชัดเจน โดยมีทีมงานระดับ "ทีมเนติบริกร" ระดับนักกฎหมายมหาชน-นักกฎหมายเอกชน และผู้เชี่ยวชาญกฎหมายธุรกิจร่วมขบวน

จังหวะการทำงานจะคล้ายกับยุค "พ.ต.ท.ทักษิณ-ไทยรักไทย" คือขับเคลื่อนควบคู่ระหว่างการทำงานการ เมือง-มวลชนของพรรค แล้วส่งต่อไป เป็นนโยบาย มาตรการของรัฐบาล ซึ่ง มีทีมงานสนับสนุนทั้งสายข้าราชการ และสายของการปฏิบัติการระดับทีมงานของพรรค

โปรดรอคอยติดตามการปฏิบัติหน้าที่ของทีมกุนซือบ้านพิษณุโลกยุคยิ่งลักษณ์ที่หวือหวาด้วยความระทึก
ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น