--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2554

คนโขน : ทำลายอารยะ ทำลายวัฒนธรรม !!?

โดย : ชญานิน เตียงพิทยากร

คนโขน

ถ้าจะลองคิดไปพลางๆ แบบไม่ได้นึกจะหาสาเหตุจริงจังว่าทำไม ‘คนโขน’ ถึงได้เป็นตัวเลือกสุดท้ายของผู้ชมชาวไทยที่คิดจะเข้าไปชมภาพยนตร์ในช่วงที่หนังลงโรงฉาย (ซึ่งไม่ได้ชนกับหนังฮอลลีวูดหุ่นยนต์ยอดมนุษย์ฟอร์มยักษ์ใดๆ) เราไม่อาจทิ้ง ‘โหมโรง’ จากหนึ่งในโมเดล “หนังวัฒนธรรม” ที่ประสบความสำเร็จเพราะแรงเชียร์ที่ช่วยขุดขึ้นมาจากปลักตม ที่อาจทำให้เห็นว่าสำหรับผู้ชมชาวไทยที่ไปดูหนังในโรงภาพยนตร์ (ต้องชี้เฉพาะว่าในกรุงเทพและปริมณฑล เพราะตัวเลขที่ใช้ตัดสินการอยู่รอดนั้นไม่นับการฉายหนังในต่างจังหวัดที่ขายสิทธิ์ขาดต่อให้สายหนังของแต่ละภูมิภาคเอาไปจัดการโรงฉายกันเอง) คำว่า “วัฒนธรรม” แบบใดที่พวกเขาโปรดปรานและยอมรับได้ ทั้งยังยอมรับว่าเป็นหนังดีควรค่าแก่การรับชม
ถึงแม้ผู้คนส่วนใหญ่จะตั้งป้อมรังเกียจกระทรวงวัฒนธรรม และสิ่งที่กระทรวงนี้สั่งให้ทำ/มีอิทธิพลบีบบังคับกลายๆ ให้ต้องทำก็เป็นที่รังเกียจ ไม่ว่าจะเป็นการเซ็นเซอร์อย่างบ้าคลั่งในรายการโทรทัศน์ การแบนภาพยนตร์ หรือการสนับสนุนวัฒนธรรมแบบแบนราบไร้มิติ ทั้งเรื่องสาวสีลม ดอกส้มเรยา หรือบทความ ‘เลี้ยงลูกอย่างไรให้มีวัฒนธรรม’ ก็ถูกประณามหยามเหยียดแทบไม่มีชิ้นดี ไม่ว่าจะจากกลุ่มคนที่มีความคิดแบบใด

อย่างไรก็ดี เมื่อพูดถึง ‘วัฒนธรรม’ แล้ว เราพบว่าคำนี้สำหรับคนหมู่มากก็คือสิ่งที่มาคู่กับคุณค่า ความงาม ความสูงส่ง ควรค่าแก่การอนุรักษ์ – หนังอย่าง ‘โหมโรง’ จึงได้รับการต่อยอดลมหายใจช่วยเหลือทั้งจากสังคมออนไลน์และสื่อมวลชนกระแสหลักอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง (รวมถึงในเวทีรางวัลต่างๆ หลังจากนั้น) แม้จะมีการประชันขันแข่ง ก็เป็นไปรูปแบบของศิษย์อาจารย์ที่เคารพซึ่งกันและกัน ไม่ได้คิดหักหาญทำร้ายทำลายกันแบบ ‘คนโขน’ ที่ก่อให้เกิดด้านมืดและเรื่องราวที่สกปรกเปื้อนเปรอะวัฒนธรรมอันสูงส่งของคนไทยไปอย่างช่วยไม่ได้ เพราะนอกจากการมุ่งทำร้ายกันถึงขั้นทำลายอาชีพและเอาชีวิต ยังมีพล็อตส่วนที่ว่าด้วยหญิงสาวที่ต้องการขืนใจชายหนุ่ม (ทั้งที่ตัวเองมีผัวแล้ว) อีกต่างหาก

ความสกปรก ชั่วร้าย วิปริต ในวงการโขนไทยที่ปรากฏใน ‘คนโขน’ นั้นซับซ้อนเหลือประมาณ และยิ่งใหญ่เหลือประมาณ (เคสนี้ละครช่อง 7 แพ้ยับเยิน) แน่นอนว่าเมื่อมีสิ่งนี้ปรากฏ นั่นย่อมไม่ใช่สิ่งส่งเสริมวัฒนธรรมในความรับรู้ของสังคมไทยโดยรวม นั่นทำให้จวบจนลมหายใจสุดท้าย โขนคณะนี้จึงไม่มีใครเข้ามาช่วยบรรเลงเพลงโหมโรงให้

เรียกได้ว่าศรัณยูคิดผิดอย่างแรง ถ้าคิดจะสร้างสถานะให้หนังเรื่องนี้ออกมาเป็น ‘หนังส่งเสริมวัฒนธรรม’

คนโขน นิรุตติ์ ศิริจรรยา

อย่างไรก็ดี ก็ต้องขอแสดงความยินดีอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ทางผู้ใหญ่ผู้ทรงคุณวุฒิและทรงเกียรติแห่งสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ ได้ลงมติเลือก ‘คนโขน’ เป็นตัวแทนหนังไทยไปประกวดในสาขา
ภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศของรางวัลออสการ์ครั้งที่จะถึงนี้

ด้วยเหตุผลกำกับจากสมาพันธ์ฯ ผ่านผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (ที่กำลังจะได้เป็นอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรมในอีกไม่ช้าไม่นาน) มาให้สัมภาษณ์ว่า ‘คนโขน’ “เป็นภาพยนตร์ตลาดแล้วยังมีเอกลักษณ์ความเป็นไทย ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทย มีเนื้อหาสอดแทรกด้วยละครชีวิต และเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับการอุดหนุนจากโครงการไทยเข้มแข็งของรัฐบาลด้วย” พร้อมบอกสำทับว่าคราวก่อนส่งหนังปาล์มทองคำไปก็ไม่ถูก taste ออสการ์ คราวนี้เลยขอเปลี่ยนวิธีการดูสักหน่อย เลือกหนังตลาดขึ้น ไม่เอาหนังอาร์ต หนังเทศกาล

จากข่าวที่ทราบมา ได้ยินว่า ‘คนโขน’ แทบจะเป็นตัวเลือกเพียงหนึ่งเดียวในการคัดเลือกตัวแทนคราวนี้ ได้ยินว่าไม่มีภาพยนตร์เรื่องอื่นได้รับการพูดถึงในที่ประชุมมากเท่ากับ ‘คนโขน’ ท่านว่า ‘คนโขน’ นี้เท่านั้นคือตัวแทนที่เหมาะสมในการพรีเซนต์ความเป็นไทยต่อสายตาชาวโลก และโดดเด่นพอที่จะไปแข่งขันกับภาพยนตร์ระดับโลกเรื่องอื่นๆ

ต้องประชันทั้งกับ Nader and Simin: A Separation (อัชกาห์ร ฟาร์ฮาดี) หนังอิหร่านเจ้าของรางวัลหมีทองคำ จากเทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลิน / Le Havre ของปรมาจารย์ชาวฟินแลนด์ อากิ เคาริสมากิ / The Turin Horse ของ เบล่า ทาร์ อันเป็นตัวแทนของประเทศฮังการี / จางอี้โหมว กับ War of Flowers ในฐานะตัวแทนจากจีนแผ่นดินใหญ่ / ตัวแทนญี่ปุ่น ชินโด คาเนะโตะ ผู้กำกับคลาสสิกรุ่นลายครามอายุเหยียบร้อยกับหนังเรื่องใหม่ชื่อ Postcard / แอนน์ ฮุย เจ้าแม่หนังชีวิตแห่งวงการหนังฮ่องกง กับ A Simple Life หรือ วิม เวนเดอร์ส กับ Pina หนังสามมิติสุดบรรเจิดที่แหวกม่านของขอบเขตแห่งภาษาภาพยนตร์ออกไปอีกขั้นหนึ่ง

คงจะพอลดความอัดอั้นตันใจของศรัณยูที่หนังขาดทุนย่อยยับในประเทศบ้านเกิดไปได้พอสมควร เพราะจากนี้ไปคงนับได้ว่า ศรัณยู วงษ์กระจ่าง จะได้จารึกชื่อเป็นผู้กำกับชาวไทยที่ได้ร่วมออกรบประชันกับผู้กำกับแนวหน้าของโลกอย่างเต็มภาคภูมิ! ประชาคมภาพยนตร์โลกจะต้องจดจำเขาไปอีกนานแสนนาน!
น่าสนใจดีที่ ‘คนโขน’ ฝ่าด่าน ‘ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช’ ภาค 3 และ 4 ขึ้นมาเป็นตัวแทนได้ เล่นเอาปากกาเซียนหักกันไปเป็นลัง เพราะเหล่าผู้ติดตามวงการหนังไทยพากันเดาให้หนาหูว่าภาคสามหรือสี่จะได้ไปออสการ์กันแน่หนอ หลังจากที่สมาพันธ์ฯ ฝากความหวังไว้กับ ‘สุริโยไท’ และ ‘ภาค 2’ ไว้ก่อนหน้านี้

บางทีสมาพันธ์ฯ คงตระหนักได้แล้วว่าเรื่องประวัติศาสตร์สมัย prehistoric ที่เพิ่งสร้างของชาติเล็กๆ รูปขวานบิ่นในเซาท์อีสเอเชีย ไม่ได้ exotic พอจะให้ใครต่อใครในออสการ์หันมาชื่นชมยกย่อง คราวนี้เลยหวังว่าเขาจะ exotic กับศิลปวัฒนธรรมอันงดงาม สูงส่ง ทรงคุณค่า น่าปลาบปลื้ม ของประเทศนี้แทน
อารมณ์ว่าไหนๆ เขาก็เคยชอบงิ้วจีนใน Farewell My Concubine กันมาทั้งโลกแล้ว ทำไมจะชอบโขนไทยไม่ได้ – ดิส อิส ไทย โอเปร่า!

เรื่องราวความสัมพันธ์เชือดเฉือนใน ‘คนโขน’ ก็น่าจะดราม่าถูกใจออสการ์ไม่น้อย มีทั้งเรื่องของศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าแสน exotic และชีวิตความเป็นมนุษย์ ความดี ความเลว ที่ปะทะสังสรรค์กันอย่างเปี่ยมมิติลึกซึ้งทางศิลป์ ผ่านตัวละครที่ว่ายเวียนอยู่ในแวดวงแห่งนาฏมายาที่กำลังจะสูญพันธ์ลงช้าๆ อย่างโขน – ออสการ์คงจะชอบจนถอนตัวไม่ขึ้นทีเดียว

คนโขน พิมลรัตน์ พิศลยบุตร

ทำไมออสการ์ถึงจะชอบ? ก็เพราะมีทั้งการปะทะสังสรรค์อย่างหฤหรรษ์ของสองคณะโขน คณะโขนรวยๆ ใหญ่ๆ ของครูเสก (นิรุตติ์ ศิริจรรยา) กับคณะโขนจนๆ เล็กๆ ของครูหยด (สรพงษ์ ชาตรี) ที่ถูกฝ่ายแรกหาเรื่องท้าตีท้าต่อยตลอดมา แถมยังมีมิติซับซ้อนขึ้นไปอีกเมื่อสองคนนี้เคยเป็นศิษย์อาจารย์เดียวกัน (โอ้! ดราม่า) ที่คนหนึ่งเชื่อมั่นในความจงรักภักดี ส่วนอีกคนเชื่อในชื่อเสียงลาภยศ ไม่อยากติดอยู่กับคณะโขนบ้านนอก เลยแยกตัวไป รับไม่ได้! ไอ้ศิษย์คิดล้างครู! – พล็อตแบบนี้หนังอเมริกันรักมาหลายทศวรรษแล้ว ทำไมจะไม่ชอบล่ะครับ แค่เปลี่ยนจากคณะโขนตีกันเป็นบริษัทอะไรสักอย่างมุ่งมาดจะทำลายร้านเล็กๆ เพื่อขยายกิจการตัวเองก็แทบจะสอดรับกันได้พอดี

ไม่ใช่แค่เรื่องใหญ่โตอย่างคนเขาจะแย่งชิงอำนาจในวงการกัน เหล่าลูกศิษย์ลูกหาเองก็มีเรื่องบาดหมางกันมาตั้งแต่สมัยเด็กที่ไปชกมวยตับจาก พระเอกไปผลักเจ้าตัวร้าย(ในอนาคต)จนหน้าบากเป็นแผลอัปลักษณ์ ความแค้นนี้ฝังลึกอยู่ในจิตใจมานานนับทศวรรษ และเมื่อพระเอกของเราได้ไปที่โรงละครแห่งชาติ ก็ประสบพบเหมาะที่แค้นนี้จะได้ชำระเสียที ว่าที่ตัวพระจึงถูกดักทำร้าย รุมซ้อม ทุบตีต่างๆ นานา แถมผู้หญิงที่เหมือนจะมีเพียงคนเดียวในเรื่องก็ถูกจ้องจะแย่งไปอีก (แถมการณ์กลับกลายเป็นว่าผู้หญิงนางนี้จะทำให้พระเอกของเราต้องบาดหมางกับเพื่อนซี้จิตรกรไปด้วย มันซับซ้อนและมีมิติมากๆ!)

ไม่พอ ยังไม่พอ ครูหยดซึ่งเป็นครูของพระเอก มีเมียเด็กอยู่คนหนึ่งชื่อรำไพ (พิมลรัตน์ พิศลยบุตร) นางรำไพนี้ก็อยากได้พระเอกมากๆ ถึงขั้นจะปลุกปล้ำขืนใจอยู่ที่ชายหาด กลับมาที่บ้านโขนก็ยังไม่เว้น ยิ่งทำให้ชะตาชีวิตของพระเอกเราต้องประสบเคราะห์กรรมจากความเข้าใจผิดไปอีกเป็นเท่าทวี แถมยังทำให้ครูหยดช็อคสิ้นสติกลายเป็นอัมพาต ซ้ำเติมเคราะห์จากเดิมที่คณะโขนล่มสลายไปแล้วก่อนหน้า – ตัวละครรำไพนี้ซับซ้อนอย่างยิ่ง เพราะนอกจากเธอจะเต็มไปด้วยประเด็นทางจิตวิทยาแบบตัวละครหญิงในหนังฝรั่งเศส (เธอเป็นหญิงร่านแต่ยังจงรักภักดีต่อผัว ซับซ้อนขนาดนี้จะหาที่ไหนได้อีก) เธอยังมีญาณวิเศษรับรู้เหตุเภทภัยล่วงหน้าได้อีกด้วย เมื่อเกิดอภิมหาเพลิงโหมลุกไหม้บ้านครูหยดจนวอดวาย เพราะนกซีจีสองตัวบินมาชนเทียนร่วงลงจากโต๊ะ

ไม่เพียงเท่านั้น การเล่าเรื่องโดยให้หญิงสาวสูงวัยนางหนึ่ง เป็นผู้เล่าเรื่อง (narrator) สาธยายเหตุวิปลาสนาฏกรรมทั้งหมดของเรื่องกลางงานนิทานในสวน (ไม่รู้สวนรถไฟ สวนเบญจสิริ หรือที่ไหน ต้องขออภัยในความอ่อนด้อยด้านภูมิศาสตร์กรุงเทพมหานครของผู้เขียน) และมีส่วนร่วมกับเรื่องมากกว่าการเป็นเพียง narrator ด้วยการที่อยู่ดีๆ เธอก็ร้องเพลงประกอบด้วยท่วงท่าลีลาแบบมิวสิคัลออกมาประกอบเหตุการณ์ชวนตื่นเต้นของอดีต ก็เป็นเทคนิคชั้นเชิงทางภาษาศิลป์ที่หาได้ยากยิ่งในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของโลกภาพยนตร์ เท่าที่จำความได้ ไม่มีผู้กำกับคนไหนไม่ว่าจะแมสจะอาร์ตกล้าใช้เทคนิคนี้ ซึ่งทำให้ฉากดังกล่าวเล่าเรื่องอย่างเวรี่ทะเยอทะยาน เพราะมันข้ามมิติของสังคม วัฒนธรรม ทัศนคติ และเวลาไปพร้อมๆ กันได้อย่างน่าตกตะลึง

แถมประเด็นอันเป็นแก่นเป็นธีมของเรื่องก็สดใหม่ น่าทึ่ง ทะเยอทะยาน ชนิดที่ไม่มีศิลปินผู้สรรค์สร้างศิลปะภาพยนตร์ร่วมสมัยที่ใดบนโลกจะนึกถึงแน่นอน นั่นคือ “ศิลปะต้องรับใช้และจรรโลงคุณธรรม ศีลธรรม จริยธรรม” หาใช่รับใช้หรือสร้างขึ้นเพื่อสนอง “ลาภยศ ชื่อเสียง เงินทอง การสรรเสริญแซ่ซ้อง” จากมวลประชา – ไม่เรียกว่าเป็นการก้าวกระโดดของวงการแล้วจะให้เรียกว่าอะไรได้อีก

สมแล้วที่เป็นหนังระดับส่งไปให้ออสการ์ดู แต่เหมือนว่ารอบแรกของออสการ์เขาไม่ได้ดูหนังทุกเรื่องอย่างพินิจ บางเรื่องไม่ได้ผ่านสายตาใครก็ถูกเขี่ยตกรอบไปก่อนแล้วด้วยโปรไฟล์ต่างๆ ที่แนบไปให้พร้อมกับตัวหนัง

คนโขน ฉากจบ

เมื่อ ‘คนโขน’ ได้รับใช้คุณธรรม ศีลธรรม จริยธรรม (คนชั่วต้องได้รับผลกรรมตามสนองทันท่วงทีในชาตินี้ ไม่ว่าจะครูหยด ครูเสก อีรำไพ ไอ้คม ไอ้นู่น ไอ้นี่ ไอ้นั่น) รายได้ที่ไม่เข้าเป้านั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญใดๆ เลย เพราะหนังเรื่องนี้มิได้สร้างขึ้นเพื่อลาภยศ ชื่อเสียง เงินทอง และการสรรเสริญแซ่ซ้องจากผู้ใด เพราะเมื่อหนังได้ทำหน้าที่ส่งเสริม ธำรงรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามของไทยที่กำลังจะล่มสลายไปตามกาลเวลา เพียงเท่านี้ศรัณยูก็ตายตาหลับ

น่าเสียดายที่ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่กลับไม่เห็นคุณงามความดีของภาพยนตร์เรื่อง ‘คนโขน’ และคุณูปการของสิ่งที่ศรัณยู วงษ์กระจ่าง ได้เพียรสร้างขึ้นตลอดระยะเวลาสองปีที่ปลุกปั้นภาพยนตร์จนออกมาสำเร็จเป็นรูปร่าง (และยังถ่ายด้วยฟิล์ม 35 ม.ม. ในยุคที่อำนาจและอิทธิพลของกล้องดิจิตอลแทบจะครอบงำวงการภาพยนตร์ไปแล้ว) จนทำให้ภาพยนตร์ต้องขาดทุนย่อยยับอย่างน่าอดสูใจ เพราะไม่มีใครดู ไม่มีใครชื่นชม ไม่มีการสรรเสริญแซ่ซ้องใดๆ

แต่แหม… ก็ “ปาฏิหาริย์ไม่มีจริง ทุกสรรพสิ่งมีผลมาจากเหตุและปัจจัย” น่ะครับ ไม่ใช่อะไรที่จะโวยวายแค่ว่า “กาลเวลาทำลายทุกสิ่ง ทำลายอารยะ ทำลายวัฒนธรรม” แล้วต้องตาลีตาเหลือกช่วยกันปกป้องแบบไม่ดูตาม้าตาเรือ

ที่มา:Siam Intelligence Unit *************************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น