กลายเป็นข้อถกเถียงในแวดวงนักกฎหมายอย่างกว้างขวางที่สุดอีกครั้งหนึ่ง สำหรับข้อเสนอสุดร้อนของ "คณะนิติราษฎร์" ซึ่งเป็นอาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลุ่มหนึ่ง นำโดย นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ กระทั่งล่าสุดบานปลายกลายสร้างวาทกรรม ตอบโต้กัน "หมัดต่อหมัด-ประโยคต่อประโยค-วาทกรรมต่อวาทกรรม" ของกลุ่มที่เป็นต้นตอและผู้สนับสนุน
หนำซ้ำหลายประเด็นยิ่งชวนมึนงงและลากเป็นประเด็นการเมืองจนประชาชนที่เฝ้ามองอย่างเราๆ ท่านๆ คิดว่าเป็นศึก "นิติเรด" กับ "ทนาย คมช." กันไปแล้ว
ขอลำดับเหตุการณ์และสรุปประเด็นทางความคิดของแต่ละฝ่าย โดยยังมองหาทางออกไม่เห็น ดังนี้
เริ่มจากข้อเสนอ 4 ข้อของ "นิติราษฎร์" เมื่อวันที่ 18 ก.ย.ที่ให้ล้างผลพวงจากการรัฐประหารเมื่อปี 2549 ทุกด้าน ได้แก่
1.ให้มีการการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 โดยประกาศให้รัฐประหารและการกระทำใดๆ ที่มุ่งต่อผลในทางกฎหมายของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ตั้งแต่วันที่ 19-30 ก.ย.2549 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 มาตรา 36 และมาตรา 37 ถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย
และประกาศให้คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่อาศัยอำนาจตามประกาศ คปค. และที่เป็นผลต่อเนื่องจากรัฐประหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาคำวินิจฉัยและคำพิพากษาที่เกิดจากการเริ่มกระบวนการโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดย คปค. ถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย แต่ไม่ใช่การนิรโทษกรรมหรืออภัยโทษหรือล้างมลทิน โดยสามารถเริ่มดำเนินคดีกับบุคคลที่ถูกกล่าวหาได้ทันทีตามกระบวนการทางกฎหมายปกติ
2.การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในประเด็นเรื่องความสมดุลระหว่างความร้ายแรงของการกระทำอันเป็นความผิด กับโทษที่ผู้กระทำความผิดนั้นควรได้รับ
3.ไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรมที่มีเป้าหมายแอบแฝงเพื่อยุติกระบวนการพิสูจน์ความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร แต่ให้สิทธิการประกันตัวของผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดโดยมีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองต้องได้รับการประกันตามกระบวนการที่ถูกต้องและเป็นธรรม ไม่แตกต่างจากผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในกรณีทั่วไป พร้อมทั้งให้รัฐบาลเดินหน้าเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายอย่างไม่เลือกปฏิบัติ
4.ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พร้อมจัดทำ “คำประกาศว่าด้วยคุณค่าอันเป็นรากฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตย”
พท.เฮลั่น-ปชป.ต้านหนัก-ทหารชี้ทำแตกแยก
หันไปดูฝ่ายการเมือง ข้างพรรคเพื่อไทยออกมาขานรับคึกคักอย่างไม่ต้องสงสัย โดย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พูดในฐานะคนเรียนกฎหมาย อาจารย์กลุ่มนี้ก็เป็นอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถ โดยความเป็นจริงไม่มีครูบาอาจารย์ที่ไหนเห็นด้วยกับการปฏิวัติ และการปฏิวัติเป็นผลพวงให้เกิดความยุ่งยากของบ้านเมือง ถ้าพูดในนามส่วนตัวมองว่าอาจารย์มีเหตุผล แต่ยอมรับว่าเกิดขึ้นจริงยาก เพราะเรื่องมันแล้วไปแล้ว อาจจะเป็นความคิดเห็นเชิงวิชาการ แต่ทุกอย่างมันเกิดขึ้นได้ทั้งนั้นถ้าพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเห็นด้วย
นางฐิติมา ฉายแสง โฆษกรัฐบาล บอกว่า ข้อเสนอของนิติราษฎร์ถือเป็นงานวิชาการที่มีมุมมองที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ข้อเสนอทั้งหมดมุ่งสู่การวางรากฐานของการเป็นประชาธิปไตยให้กับบ้านเมือง คือการไม่ยอมรับการทำปฏิวัติรัฐประหาร ซึ่งงานทางวิชาการชิ้นนี้ควรได้รับการเผยแพร่ให้คนได้รู้และเข้าใจ โดยควรจะมีการแลกเปลี่ยนความคิดของคนในสังคมอย่างกว้างขวางต่อไป มุมมองของคณะนิติราษฎร์ตรงกับรัฐบาลชุดนี้ คือเราคัดค้านการทำรัฐประหารและเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ขณะที่ นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเงา กล่าวว่า พื้นฐานของอาจารย์บางคนในคณะนิติราษฎร์เอื้อต่อระบอบทักษิณมาโดยตลอด และไม่เห็นด้วยกับการกวาดล้างการทุจริตในเชิงนโยบาย มีการเคลื่อนไหวโดยไม่คำนึงถึงความจริงของบ้านเมือง ซึ่งมองเห็นได้ชัดว่าการเคลื่อนไหวในครั้งนี้รัฐบาลหรือคนของรัฐบาลอยู่เบื้องหลังเพื่อช่วยเหลือ "นายใหญ่" ไม่ให้ถูกยึดทรัพย์และไม่ต้องติดคุก
ขอร้องว่าโปรดยุติการอ้างเอาหลักวิชาการบริสุทธิ์มาใช้เพื่อช่วยเหลือคนคนเดียว และขอเรียกร้องประชาชนทุกภาคส่วนถ้าต้องการเห็นบ้านเมืองเดินไปข้างหน้า อะไรที่จบไปแล้วและทุกฝ่ายยอมรับ ก็ขอให้ออกมาเคลื่อนไหว แต่ไม่ได้เห็นด้วยกับการรัฐประหาร"
ส่วนความเห็นของหัวขบวนกองทัพอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) หลายคนคงเดาได้ไม่ยาก เขากล่าวว่า เป็นแนวคิดของบรรดานักวิชาการ เพราะท่านมีเสรีในการคิด แต่เวลาจะพูดหรือทำอะไรก็ตามต้องระวังว่าจะทำให้เกิดความแตกแยกขึ้นมาหรือไม่
"นิติราษฎร์"แจงทุกประเด็น
หลังถูกวิจารณ์หนักมาตลอดสัปดาห์ คณะนิติราษฎร์ได้เปิดแถลงข่าวเรื่อง "กรณีข้อเสนอให้ลบล้างผลพวงจากการรัฐประหาร” ที่ห้องจี๊ดเศรษฐบุตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยตั้งประเด็นว่าสื่อมวลชนจำนวนมากเสนอข่าวในลักษณะผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากข้อเสนอ จนสร้างความเข้าใจผิดต่อสาธารณชน และมีผู้ตั้งคำาถาม วิพากษ์วิจารณ์โดยไม่ได้ศึกษารายละเอียดของข้อเสนอดังกล่าวให้เข้าใจอย่างเพียงพอ
ประเด็นชี้แจงมีดังนี้ 1.นิติราษฎร์เสนอ 4 ประเด็น แต่สื่อมวลชน นักการเมือง และบุคคลทั่วไปกลับมุ่งความสนใจไปในประเด็นแรกเรื่องการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 เป็นพิเศษ ทั้งเจตนาและไม่เจตนา
2.คณะนิติราษฎร์ขอยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่าข้อเสนอเรื่องการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 ไม่ใช่เป็นการนิรโทษกรรม หรือการอภัยโทษ หรือการล้างมลทินแก่บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด และไม่ใช่เป็นการลบล้างการกระทำทั้งหลายทั้งปวงของผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ดังนั้นหากจะเริ่มดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวใหม่ก็สามารถกระทำไปตามกระบวนการทางกฎหมายปกติได้
3.เหตุที่คณะนิติราษฎร์เสนอให้ประกาศลบล้างคำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญและคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็เนื่องจากคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำารงตำาแหน่งทางการเมือง ได้นำเอาประกาศ คปค.มาใช้บังคับแก่คดี จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าคำวินิจฉัยและคำพิพากษาเหล่านั้นเป็นผลจากรัฐประหาร
ยก"นาซี"ย้ำล้างผลพวงเผด็จการทำได้
4.คณะนิติราษฎร์ยืนยันว่าผลพวงของรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 ต้องถูกลบล้าง แต่เนื่องจากการกระทำที่เป็นผลต่อเนื่องจากรัฐประหารมีหลายรูปแบบ ก่อตั้งสิทธิและหน้าที่และส่งผลกระทบต่อบุคคลจำนวนมาก เพื่อรักษาความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะและคุ้มครองความเชื่อถือไว้วางใจการลบล้างผลพวงของรัฐประหารดังกล่าว จึงต้องกระทำาโดยคำนึงถึงบุคคลผู้สุจริตด้วย
ด้วยเหตุนี้ ในหลักการคณะนิติราษฎร์จึงไม่ได้เสนอให้ลบล้างรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 และรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เป็นการทั่วไป แต่เสนอให้ลบล้างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2549 เฉพาะมาตรา 36 และ 37 เนื่องจากบทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าวเป็นการนิรโทษกรรมการรัฐประหารและรับรองการกระทำใดๆ ของคณะรัฐประหารให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
5.การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 สามารถทำได้ในทางกฎหมาย ดังตัวอย่างที่ปรากฏให้เห็นในนานาอารยประเทศ ได้แก่ การประกาศความเสียเปล่าของคำพิพากษาสมัยนาซีในเยอรมนี, การประกาศความเสียเปล่าของการกระทำใดๆ สมัยระบอบวิชี่ในฝรั่งเศส, การประกาศความเสียเปล่าของคำพิพากษาที่ลงโทษบุคคลที่ให้ความช่วยเหลือผู้หลบหนีลี้ภัยจากนาซีในสวิตเซอร์แลนด์, การประกาศความเสียเปล่าของการกระทำาใดๆ ของรัฐบาลเผด็จการทหารตั้งแต่รัฐประหาร 21 เม.ย.1967 ถึง 25 พ.ย.1973 ในกรีซ ฯลฯ
6.ต่อข้อสงสัยที่ว่าเหตุใดคณะนิติราษฎร์จึงเสนอให้ลบล้างผลพวงของรัฐประหารเฉพาะ 19 ก.ย.2549 เท่านั้น ทั้งๆ ที่จริงๆ ปฏิเสธการรัฐประหารทุกครั้ง ก็เพราะว่าผลพวงของรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 ยังคงดำรงอยู่ และเป็นต้นตอของความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยในขณะนี้
7.ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์นี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการไม่ยอมรับรัฐประหาร เมื่อระบบกฎหมาย-การเมืองเข้าสู่ปกติ อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ (Pouvoir constituant) เป็นของประชาชน ประชาชนในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ในระบอบประชาธิปไตยย่อมมีความชอบธรรมอย่างเต็มที่ในการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร
“สภาทนาย”ออกแถลงการณ์ค้าน
นายสัก กอแสงเรือง นายกสภาทนายความ พร้อมคณะ ได้ออกแถลงการณ์สภาทนายความ กรณีคณะนิติราษฎร์ที่ประกอบด้วยอาจารย์สาขากฎหมายมหาชน 7 คนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 18 ก.ย. หัวข้อ “การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 49”
แถลงการณ์ของสภาทนายความตั้งข้อสังเกตว่า กลุ่มนิติราษฎร์เสนอให้ส่วนที่เป็นผลร้ายต่อนักการเมืองในอดีตเป็นอันสูญเปล่าเสียไป แต่กลับเป็นประโยชน์ต่ออดีตนักการเมืองมากกว่าการแสวงหาความยุติธรรมให้แก่สังคม การฉ้อราษฎร์บังหลวงเป็นอาชญากรรมระหว่างประเทศซึ่งไม่มีนักการเมืองคนใดที่จะทำให้สังคมไทยรับรู้ว่าโกงบ้านโกงเมืองนั้นเลวร้ายยิ่งกว่าการรัฐประหารที่มุ่งทำลายความเลวของนักการเมืองบางคนและกระทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริงที่ประชาชนให้การรับรอง ซึ่งประชาชนควรต้องติดตามตรวจสอบพฤติการณ์ของกลุ่มนิติราษฎร์อย่างใกล้ชิดต่อไป
นายสัก กล่าวเสริมว่า สภาทนายความไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารที่ล้มล้างรัฐบาลที่ใช้อำนาจบริหารโดยชอบธรรม เนื่องจากเป็นการทำให้ระบบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยต้องสะดุดและต้องเริ่มต้นใหม่ถึง 17 ครั้ง แต่สภาทนายความไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่ใช้อำนาจเงินครอบงำพรรคการเมืองอื่นจนเป็นพรรคการเมืองที่มีอำนาจเด็ดขาดในรัฐสภา และใช้อำนาจบริหาร อำนาจเงินครอบงำสื่อสารมวลชนและองค์กรอิสระจนสามารถรวมเป็นพรรคการเมืองที่มีอำนาจเด็ดขาดในรัฐสภา ทำให้การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐไม่บรรลุผล มีการทุจริตประพฤติมิชอบเพื่อหาประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้อง จนกระทั่งเป็นเหตุให้มีการรัฐประหาร
ขณะที่การใช้อำนาจตุลาการที่ดำเนินการหลังรัฐประหารมีส่วนสร้างสรรค์ความสงบสุขแก่สังคมและการตรากฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน จึงไม่ควรให้ตกเป็นการเสียเปล่าหรือไม่มีผลทางกฎหมาย ซึ่งรวมถึงรัฐบาลและรัฐสภาในปัจจุบันต่างมีที่มาจากกระบวนการที่ต่อเนื่องจากการรัฐประหารทั้งสิ้น อันไม่สมควรให้สิ้นผลตามข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์
นักกฎหมายนิติฯมธ.วิวาทะ-สมคิดถาม 15 ข้อ
หลังจากนั้นได้มีความเห็นของนักกฎหมายทั้งต่อต้านและสนับสนุนนิติราษฎร์ทะยอยกันออกมาเป็นจำนวนมาก เริ่มจาก ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ตั้งคำถาม 15 ข้อต่อข้อเรียกร้องของกลุ่มนิติราษฎร์ ทางเฟซบุ๊ค ระบุว่า “ในฐานะนักกฎหมายช่วยตอบคำถามเหล่านี้ด้วย
1.เราสามารถยกเลิกกฎหมายที่ถูกยกเลิกไปแล้วได้หรือไม่ เช่นการยกเลิก รธน. 2549
2.ถ้าตำรวจจับคนร้ายที่ทำผิดจริงมาแต่ไม่ได้สอบสวนโดยละเอียด ต่อมาคนร้ายถูกฟ้องศาล มีการโต้แย้งว่ากระบวนการของตำรวจไม่ค่อยถูกต้อง แต่ศาลเห็นว่าไม่เป็นไร ศาลก็พิพากษาไป ตกลงคำพิพากษาของศาลใช้ได้หรือไม่
3.ถ้ามีคนเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมในช่วง คมช.ไม่ถูกต้อง ก็ให้ดำเนินการใหม่ คนอีกกลุ่มเห็นว่าการตัดสินคดีซุกหุ้น ศาลตัดสินผิดโดยสิ้นเชิง คนกลุ่มหลังจะขอให้ยกเลิกรธน. ๒๕๔๐ ตั้งศาลรธน.ใหม่ แล้วพิพากษาคดีซุกหุ้นใหม่ จะได้หรือไม่
4.ประชาชนจะลงมติแก้ รธน.ที่ถูกยกเลิกไปแล้วได้หรือไม่
5.รธน.2550 ได้รับการลงประชามติโดยประชาชน ในทางกฎหมายเราจะพูดได้หรือไม่ว่าประชาชนลงมติโดยไม่ถูกต้อง หรือรธน.2550 ไม่ได้ผ่านความเห็นชอบของประชาชน?
6.คตส.ตั้งโดยคมช. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ตั้งโดย คมช. ใช่หรือไม่
7.การดำเนินการตามแนวคิดของนิติราษฎร์ไม่มีผลทางกฎหมายต่อนายกทักษิณเลยใช่หรือไม่
8.มาตรา 112 ขัดแย้งกับ รธน .จริงหรือ และขัดกับรธน.2550 ที่จะถูกยกเลิกใช่หรือไม่
9.ประเทศทั้งหลายในโลกรวมทั้งเยอรมัน เขาไม่คุ้มครองประมุขของประเทศเป็นพิเศษแตกต่างไปจากประชาชนใช่หรือไม่
10.ถ้ามีคนไปโต้แย้งนิติราษฎร์ในที่สาธารณะเขาจะไม่ถูกขว้างปาและโห่ฮาเหมือนกับหมอตุลย์ใช่หรือไม่
11.ถ้าเรายกเลิกกฎหมายที่ถูกยกเลิกไปแล้วได้ เราจะล้มเลิกการกระทำทั้งหลายและลงโทษคณะรัฐประหารกี่ชุด สุจินดา ถนอม ประภาศ สฤษฎ์ จอมพล ป. อ.ปรีดี หรือจะลงโทษเฉพาะคณะรัฐประหารที่กระทำต่อนายกทักษิณ
12.ความเห็นของนักกฎหมายที่เห็นไม่ตรงกับนิติราษฎร์แต่ดีกว่านิติราษฎร์ รัฐบาลนี้จะรับไปใช่หรือไม่
13.ศาลรธน.ช่วยนายกทักษิณคดีซุกหุ้นถือว่าใช้ได้ แต่ไม่ช่วยคดียึดทรัพย์ถือว่าใช้ไม่ได้ เป็นตุลาการภิวัตน์ใช่หรือไม่
14.บทบัญญัติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรธน.2550 แย่กว่า รธน.2540, 2475 ที่นิติราษฎร์จะนำมาใช้ใช่หรือไม่
15.คมช. เลว สสร.ที่มาจาก คมช.ก็เลว รธน.2550 ที่มาจาก สสร.ก็เลว แต่รัฐบาลที่มาจาก รธน.เลว เป็นรัฐบาลดีใช่หรือไม่ สสร.ที่มาจากรัฐบาลชุดนี้และที่ อ.วรเจตน์จะเข้าร่วม ก็เป็น สสร.ที่ดีใช่หรือไม่”
พนัสชี้ คตส.-ศาลฎีกานักการเมืองไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ต่อมา นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ฉบับปี 2540 ได้เขียนข้อความในเฟซบุ๊คส่วนตัวตอบคำถาม 15 ประเด็นที่ ศ.สมคิด ตั้งคำถามถึงคณะนิติราษฎร์เอาไว้
ทั้งนี้ ในประเด็นที่ ศ.สมคิด ถามว่า สามารถยกเลิกกฎหมายที่ถูกยกเลิกไปแล้ว คือรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับปี 2549 ได้หรือไม่ และประชาชนลงมติให้แก้รัฐธรรมนูญที่ถูกยกเลิกไปแล้วได้หรือไม่ นายพนัส ตอบว่า นิติราษฎร์ไม่ได้เสนอให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2549 แต่ให้ถือว่าการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ทำรัฐประหารตามมาตรา 37 ไม่เกิดผลตามกฎหมาย ส่วนการลงประชามติรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 นายพนัส เห็นว่าสามารถพูดได้ว่าเป็นประชามติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมีการหลอกลวงขู่เข็ญบังคับให้ประชาชนลงมติ
ส่วนประเด็นที่ ศ.สมคิด ถามว่า คตส. (คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ) ตั้งโดย คมช. (คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ) ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตั้งโดย คมช.ใช่หรือไม่ นายพนัส ตอบว่า คตส.นั้นตั้งโดย คมช.แน่นอน ส่วนศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็เกิดจากรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่ง คมช.เป็นผู้ให้กำเนิดเช่นกัน ดังนั้นทั้งคตส.และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯจึงเป็นองค์กรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
อีกประเด็นหนึ่ง ศ.สมคิด ถามว่าศาลรัฐธรรมนูญช่วยนายกฯทักษิณคดีซุกหุ้นถือว่าใช้ได้ แต่ไม่ช่วยคดียึดทรัพย์ถือว่าใช้ไม่ได้ เป็นตุลาการภิวัตน์ใช่หรือไม่ นายพนัส ระบุว่า ตุลาการภิวัตน์คือตุลาการที่ยอมตนเป็นเครื่องมือและอาวุธให้แก่ผู้มีอำนาจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ใช้เพื่อประหัตประหารและทำลายล้างศัตรูของตน ตุลาการศาลทั้งในคดีซุกหุ้นและคดียึดทรัพย์ทักษิณจึงเป็นตุลาการภิวัฒน์ด้วยกันทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าในคดีซุกหุ้นตุลาการภิวัตน์เป็นฝ่ายแพ้
ส่วนในประเด็นที่ว่าถ้าตำรวจจับคนร้ายที่ทำผิดจริงมา แต่ไม่ได้สอบสวนโดยละเอียด ต่อมาคนร้ายถูกฟ้องศาล มีการโต้แย้งว่ากระบวนการของตำรวจไม่ค่อยถูกต้อง แต่ศาลเห็นว่าไม่เป็นไร ศาลก็พิพากษาไป ตกลงคำพิพากษาของศาลใช้ได้หรือไม่ นายพนัส ตอบว่า โดยหลักถ้าการสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมมีผลทำให้การฟ้องคดีของอัยการไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย การพิจารณาคดีก็ต้องถือว่าไม่ชอบทั้งหมด แต่ศาลไทยบอกไม่เป็นไร หากพิจารณาว่าจำเลยกระทำผิดจริง ก็ลงโทษจำเลยได้ ซึ่งก็เหมือนกับการยอมรับว่าการรัฐประหาร (การกระทำความผิดฐานกบฎ) เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหากทำสำเร็จนั่นเอง
"กิตติศักดิ์ ปรกติ"สางปมศาลนาซี
อีกด้านหนึ่ง ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนบทความชื่อ "สิ่งที่คล้ายกันพึงได้รับการปฏิบัติอย่างเดียวกัน แต่ไม่พึงปฏิบัติอย่างเดียวกันกับสิ่งที่ต่างกัน" สรุปประเด็นได้ดังนี้
- ใช่ว่าวงการตุลาการไทยเป็นสถาบันที่แตะต้องวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ แต่กระนั้น เราก็ยังต้องถือเป็นหลักว่า คำพิพากษาที่ไม่เป็นธรรมย่อมต้องได้รับการแก้ไขจากอำนาจตุลาการด้วยกัน การปล่อยให้อำนาจนิติบัญญัติอ้างอำนาจประชาชนเข้าแทรกแซง ถึงขั้นเปลี่ยนแปลงหรือลบล้างคำพิพากษานั้น ย่อมขัดต่อหลักความเป็นอิสระของอำนาจตุลาการ เว้นแต่สิ่งที่อ้างว่าควรลบล้างไปนั้น แท้จริงมิได้มีฐานะหรือมีค่าเป็นคำพิพากษาแต่อย่างใด เมื่อไม่มีค่าพอที่จะนับถือเป็นคำพิพากษาแล้ว การจะลบล้างโดยใช้อำนาจนิติบัญญัติย่อมพอจะฟังได้ ไม่ต่างอะไรกับการแก้ไขกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมนั่นเอง
- กรณีคำพิพากษาของ "ศาลประชาชนในยุคนาซี" ที่รัฐสภาเยอรมันได้ตรากฎหมายลบล้างไปเมื่อปี 2002 นั้น เป็นคนละเรื่องกับศาลไทย เพราะ "ศาลประชาชนยุคนาซี" ไม่ใช่่ศาลยุติธรรมตามความหมายที่เข้าใจกันในประเทศไทย แต่เป็นศาลพิเศษที่ฮิตเลอร์ตรากฎหมายตั้งขึ้น ผู้ใช้อำนาจตัดสินนอกจากเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเมืองของนาซีเป็นเสียงข้างมากแล้ว ศาลประชาชนนาซียังไม่อนุญาตให้ผู้ต้องหาเลือกทนายความได้อย่างอิสระอีกด้วย ผู้ต้องหามีสิทธิแค่เสนอชื่อผู้ที่ตนเห็นควรเป็นทนาย และบุคคลดังกล่าวจะเป็นทนายให้ได้ก็ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากศาลนาซีเสียก่อนเท่านั้น
จากตัวเลขทางการเยอรมัน ในปี 1944 ศาลประชาชนของฮิตเลอร์มีผูู้พิพากษาอาชีพราว 1 ใน 4 ของผู้พิพากษาที่ได้รับแต่งตั้งมาจากเจ้าหน้าที่พรรคนาซี และนับแต่มีการตั้งศาลแห่งนี้ขึ้นจนสิ้นสุดสงครามโลกนั้น ศาลนี้ได้พิพากษาตัดสินประหารชีวิตคนไปราว 7,000 คน
ดร.กิตติศักดิ์ ตั้งคำถามทิ้งท้ายว่า คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองของไทยเรา ซึ่งมีผู้พิพากษาเป็นผู้พิพากษาอาชีพทั้งหมด และมีกระบวนการพิจารณาที่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาต่อสู้ได้เต็มที่ตามกฎหมาย เลือกทนายความของตนเองได้อย่างอิสระ จะไปเทียบกับการตัดสินขององค์การก่อการร้ายที่แฝงอยู่ในรูปของศาลนาซีได้อย่างไร?
ถามกลับ คมช.ชอบธรรมในทาง ปชต.หรือ
ต่อมาได้มีผู้เขียนบทความคัดค้านบทความของ ดร.กิตติศักดิ์ หลายคน โดยมีสาระสำคัญเช่น อำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญ กับอำนาจนิติบัญญัติ เป็นคนละเรื่องกัน แต่ ดร.กิตติศักดิ์ นำมาปนกัน
ส่วนประเด็นเรื่องศาลที่ประกอบด้วยผู้พิพากษาอาชีพหรือไม่ หาได้เกี่ยวข้องกับ legitimacy (ความชอบด้วยกฎหมาย) ของคำพิพากษาแต่อย่างใด เพราะขึ้นอยู่กับ "มาตร" ว่าคุณยืนอยู่บนฐานของหลักคิดนิติรัฐแบบเสรีประชาธิปไตย หรือ นิติรัฐแบบนาซี
บทความยังตั้งคำถามว่า การที่ คตส.ทำหน้าที่ตามความเข้าใจว่ามีสถานะอย่าง "ศาลไต่สวน" เท่ากับ คตส.ไปเป็นหน่วยหนึ่งของกระบวนการชั้นศาลใช่หรือไม่ แล้วจะย้อนกลับไปยังตรรกะฮิตเลอร์ของ ดร.กิตติศักดิ์ ว่าใช้อำนาจแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ ซึ่งจะหมายรวมต่อไปว่า คมช. รัฐประหาร เป็นการใช้อำนาจเผด็จการแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งในกระบวนการชั้นศาลใช่หรือไม่? หรือ คมช. มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยในมุมมองกิตติศักดิ์?
----------------
คณะนิติราษฎร์ แถลงครั้งสองเมื่อ 25ก.ย. http://bit.ly/n21cIy
ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมธ.ตั้งคำถาม 15ข้อ http://bit.ly/odGLJv
กิตติศักดิ์ ปรกติ เขียนบทความวิพากษ์คณะนิติราษฎร์ http://bit.ly/mUXtC2
ท่าทีสภาทนายความ http://bit.ly/nHDAIW
นิติราษฎร์ส่งสารน้อมรับทุกความเห็น ยัน'ไม่ก้มหัวต่อรัฐประหาร' http://bit.ly/qg3har
ที่มา:กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
***********************************************************