--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ศาลอาญา ระหว่างประเทศ

สัปดาห์ที่ผ่านมา "ศูนย์สิทธิมนุษยชนเอเชีย" (เอซีเอชอาร์) ออกแถลงการณ์เตือนรัฐบาลไทย ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่า

แม้รัฐบาลไทยยังไม่ได้ให้ "สัตยาบัน" ใน "ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยการจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ" (ไอซีซี)

แต่กลไกสิทธิมนุษยชนทั้งระดับในประเทศและนานาชาติสามารถยื่นเรื่องต่อไอซีซี ขอให้เปิดการพิจารณาคดีรัฐบาลใช้กำลังทหารยิงปราบปรามประชาชนได้เช่นกัน

ศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ "ไอซีซี" (International Criminal Court) มีสถานะเป็น "องค์การระหว่างประเทศ" ที่ถือกำเนิดขึ้นโดยธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2545 ตั้งอยู่ ณ นครเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์

โดยมีเจตนารมณ์ตั้งขึ้นเพื่อจะนำตัว "ผู้กระทำความผิดทางอาญาระหว่างประเทศมาลงโทษ" ด้วยความร่วมมือกันของประชาคมระหว่างประเทศ

ซึ่งไทยได้ลงนามรับรองธรรมนูญกรุงโรมฯ ดังกล่าวแล้ว แต่ยังไม่ได้ให้ "สัตยาบัน" เพื่อผูกพันเป็นภาคีอย่างเป็นทางการ

เกรียงศักดิ์ แจ้งสว่าง นบ.นม. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขากฎหมายระหว่างประเทศ อธิบายถึงหลักการสำคัญของไอซีซี ว่า

ไอซีซีมีอำนาจพิจารณาคดีเฉพาะปัจเจกบุคคลกระทำความผิด ซึ่งไม่ใช่การกระทำของรัฐ ได้แก่ อาชญากรรมร้ายแรงที่สุดที่สังคมระหว่างประเทศได้กำหนดห้ามไว้ และเกิดขึ้นภายหลังวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2545 เป็นต้นไป อันได้แก่

- การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หมายถึง การกระทำที่มีเจตนาทำ ลายล้างทั้งหมด หรือบางส่วนของกลุ่มชนชาติ ชาติพันธุ์ เชื้อชาติ หรือกลุ่มทางศาสนา

- อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ หมายถึง การกระทำใดๆ ที่เป็นการโจมตีอย่างกว้างขวาง หรือเป็นระบบที่มีเป้าหมายโดยตรงต่อประชาชนพลเรือน เช่น การฆาตกรรม การทำลายล้าง การเนรเทศ หรือการบังคับพลเรือนให้โยกย้าย การทรมาน ข่มขืนกระชำเรา ฯลฯ

- อาชญากรรมสงคราม ได้แก่ ทั้งสงครามระหว่างประเทศและสงครามกลางเมือง รวมถึงการดำเนินคดีกับผู้ที่มีส่วนร่วมในการวางแผน หรือการกระทำที่ส่งผลต่อทหารและพลเรือนจำนวนมาก เช่น การปฏิบัติอย่างไร้มนุษย ธรรมต่อเชลยศึก การใช้แก๊สพิษ การโจมตีเป้าหมายพลเรือน เป็นต้น

- ความผิดฐานการรุกราน ซึ่งหลายประเทศคัดค้าน รวมถึงรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เพราะเกรงว่าจะไปผูกโยงกับปฏิบัติการทางทหารในต่างประเทศของตน

อำนาจของไอซีซีข้างต้นต้องตั้งอยู่บนหลักการพื้นฐาน 3 ประการคือ

1.ไม่มีผลย้อนหลังของความผิด

2.ไม่ปล่อยให้ผู้กระทำความผิดลอยนวล เพราะหลายต่อหลายเหตุการณ์ที่ผู้กระทำความผิดต่อมวลมนุษยชาติไม่ได้รับการลงโทษ เช่น กรณีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในหลายประเทศในทวีปแอฟริกา หรือการเข่นฆ่าประชาชนในภาวะความขัดแย้งทางการเมือง

3.การพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม

ธรรมนูญกรุงโรมฯ กำหนดเงื่อนไขในการที่ไอซีซีจะพิจารณาคดีเบื้องต้น คือ รัฐนั้นๆ ต้องให้สัตยาบันแก่ธรรมนูญศาล นอกจากนี้ ยังมีเงื่อนไขอื่นๆ เช่น คู่กรณีที่เกี่ยวข้องฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นรัฐคู่สัญญา ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้มีสัญชาติของรัฐคู่สัญญา อาชญากรรมได้กระทำบนดินแดนของรัฐคู่สัญญา เป็นต้น

นอกจากนี้ รัฐที่ไม่ใช่รัฐคู่สัญญา อาจตกลงยอมรับเขตอำนาจศาลในคดีอาชญากรรมที่กระทำบนดินแดนของตน หรือโดยคนสัญชาติตนก็ได้

รัฐบาลไทยเข้าข่ายหรือไม่เข้าข่ายกับหลักเกณฑ์ใดบ้าง?

ข่าวสดรายวัน
คอลัมน์ คอลัมน์ที่13
*****************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น