ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตอย่างไร บ้านเมืองก็ต้องเดินไปข้างหน้า หากอยู่นิ่งหรืออยู่กับที่ บ้านเมืองก็จะเสียหาย ยิ่งถอยหลังบ้านเมืองยิ่งไปไม่รอดหรือหายนะ ในที่สุดประเทศจะถูกแบ่งแยกออกเป็นเสี่ยงๆ หรืออยู่ในภาวะสงครามที่ในที่สุดจะเหลือเพียงซากปรักหักพังสำหรับชัยชนะ
โดยเฉพาะเหตุการณ์เมษาวิปโยคและพฤษภามหาวิปโยค ถือเป็นวิกฤตที่รุนแรงและร้าวลึกมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย บางคนเห็นว่ารุนแรงและโหดร้ายกว่าเหตุการณ์ 6 ตุลา, 14 ตุลา และพฤษภาทมิฬ เพราะไม่มีใครคาดคิดว่าในยุคที่บ้านเมืองมีความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและมีบทเรียนทางการเมืองมากมายยังเกิดแหตุการณ์โหดร้ายเช่นนี้ เช่นเดียวกับรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549
ภาพของประเทศไทยในสายตาประชาคมโลกจึงไม่ได้แตกต่างจากอดีตมากนัก ยุคที่ทหารหรือกองทัพมีอำนาจอยู่เหนือการเมือง นักการเมืองจึงยังแยกไม่ออกจากกองทัพ หรือกองทัพไม่ยอมแยกออกจากการเมืองก็ตาม ทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยไม่ใช่ประเทศประชาธิปไตยอย่างแท้จริง คือประชาธิปไตยที่มาจากประชาชนและเพื่อประชาชน
หลังเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน และ 19 พฤษภาคม สิ่งสำคัญที่สุดของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ขณะนี้คือจะรับผิดชอบกับการเสียชีวิตและการบาดเจ็บของประชาชนและทหารจำนวนมากอย่างไร จะลาออกหรือยุบสภา หรือดื้อแพ่งอยู่ในอำนาจต่อไปโดยอ้างความชอบธรรม อ้างรัฐธรรมนูญ อ้างนิติรัฐ
ไม่ว่านายอภิสิทธิ์เลือกทางไหน สังคมไทยจะต้องร่วมกันแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ฝังลึกในสังคมไทยให้หมดไปโดยเร็วที่สุด
ต้องร่วมกันกอบกู้ความรักและความปรองดองกลับมา ไม่ใช่พูดถึงแต่ความเสียหายทางเศรษฐกิจ หรือปล่อยให้นักการเมืองน้ำเน่าออกมาปลุกระดมใส่ร้ายป้ายสีให้คนไทยเกิดความเกลียดชังและแตกแยกกันอีกต่อไป
การยุบสภาและการเลือกตั้งแม้ไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่ก็เป็นการคืนอำนาจให้กับประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่าจะเลือกรัฐบาลหรือนักการเมืองที่เป็นตัวแทนของประชาชนมาแก้ปัญหาอะไรและอย่างไร
ไม่ใช่การแก้รัฐธรรมนูญไม่กี่ประเด็น ซึ่งเป็นการเกื้อกูลผลประโยชน์ของนักการเมืองบางคนบางกลุ่มเท่านั้น
วันนี้ทุกฝ่ายในสังคมจึงต้องร่วมกันปฏิรูปประเทศและปฏิรูปสังคมไทยให้กลับมาเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง
ไม่ใช่อำนาจของนักการเมือง กองทัพ หรือกลุ่มอำนาจใดอำนาจหนึ่ง
จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้
**********************************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น