--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

อาถรรพ์ ณ ป้อมเพชร

ไม่น่าเชื่อ ว่า สามสตรีหลังบ้านผู้นำประเทศไทย 3 คน จะเกี่ยวดองหนองยุ่ง(สำนวนคุณหมู นิติภูมิ) กันได้ แถมบุคลิกใกล้เคียงกันเสียอีก ต่างกันที่ว่า 2 คนแรกนั้น หนักแน่นมั่นคงในระบอบประชาธิปไตย ส่วนคนล่าสุดกลับหนักแน่นมั่นคงในระบอบอำมาตย์ทราราชย์แผ่นดิน

***********************

สตรีแกร่งแห่ง 'ณ ป้อมเพชร'

เปิดหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย ในทำเนียบภริยานายกรัฐมนตรี มี “หลังบ้านผู้นำ” และ “อดีตหลังบ้านผู้นำ” ผู้ซึ่งเดินเคียงข้างและอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของอดีตนายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันมาถึง 3 ยุค 3 สมัย ที่มีความเชื่อมโยงเกี่ยวพันกันทางเชื้อสายสกุลนั่นคือ สกุล “ณ ป้อมเพชร”

ท่านแรกคือ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ (สกุลเดิม ณ ป้อมเพชร) ภริยา ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม รัฐบุรุษอาวุโสและอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 7 ของประเทศไทย ในช่วงยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง

ท่านผู้หญิงพูนศุข เกิดเมื่อวันที่ 2 ม.ค. พ.ศ. 2455 ในสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นธิดาคนที่ 5 ในบรรดาบุตร-ธิดา 12 คน ของ มหาอำมาตย์ตรี พระยาชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดา (พระสมุทบุรานุรักษ์ หรือ ขำ ณ ป้อมเพชร) อธิบดีกรมราชทัณฑ์คนแรกของประเทศ และ คุณหญิงชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดา (เพ็ง สุวรรณศร) และหนึ่งในจำนวนน้องสาวคนถัดมาของท่านผู้หญิงพูนศุข คือ นางอัมพา สุวรรณศร (สมรสกับ ศ.ประมูล สุวรรณศร) มีสถานภาพเป็นยายแท้ ๆ ของ ผศ.ดร. พิมพ์เพ็ญ เวชชาชีวะ ภริยา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันนั่นเอง

ชีวิตสมรสระหว่างท่านผู้หญิงพูนศุขและศ.ดร. ปรีดี เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2471 หลังจากสมรสได้ 4 ปี ประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย มรสุมทางการเมืองจึงทำให้ทั้งสองถูกพลัดพรากออกจากกัน ศ.ดร.ปรีดีลี้ภัยทางการเมืองไปพำนักอยู่ต่างประเทศ ขณะที่ท่านผู้หญิงพูนศุขเป็นสตรีที่แข็งแกร่ง ทำหน้าที่ทั้งพ่อและแม่ไปพร้อม ๆ กัน เมื่อ ศ.ดร.ปรีดีเดินทางกลับมาได้ทำหน้าที่เคียงบ่าเคียงไหล่สามีจนเกิดมรสุมครั้งใหญ่อีกครั้งในชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2490 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ศ.ดร.ปรีดีหนีตายไปต่างประเทศจากพิษการเมือง กระทั่งปี พ.ศ. 2495 ท่านผู้หญิงพูนศุขและบุตรชาย (ปาล พนมยงค์) ถูกจับคุมขังในฐานะกบฏอยู่นาน 84 วัน

เมื่อได้รับการปล่อยตัวออกมา ท่านผู้หญิงพูนศุขได้ตามสามีไปอยู่ด้วยกันที่ประเทศจีน จากนั้นจึงย้ายไปอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสและใช้ชีวิตที่บ้านอองโตนีเป็นบ้านหลังสุดท้ายสำหรับชีวิตคู่ร่วมกัน ท่านผู้หญิงพูนศุขใช้ชีวิตในช่วงบั้นปลายเคียงข้างสามีอันเป็นที่รักยิ่ง ที่ชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส กระทั่งลมหายใจสุดท้ายของ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ ในปี พ.ศ. 2526 ท่านผู้หญิงพูนศุขเดินทางกลับสู่มาตุภูมิอีกครั้งพร้อมด้วยอัฐิของสามีในปี พ.ศ. 2530 และได้ใช้ชีวิตในช่วงบั้นปลาย สุดท้ายที่บ้านเกิดเมืองนอน กระทั่งวันที่ 12 พ.ค. พ.ศ. 2550 ถึงแก่อนิจกรรมโดยสงบสิริอายุรวม 95 ปี 4 เดือน 9 วัน

ในช่วงที่มีชีวิตอยู่ท่านผู้หญิงพูนศุขชื่นชอบการทำอาหารฝรั่ง ทำเค้ก ขณะเดียวกันมีคุณงามความดีที่ลือลั่นว่าเป็นสตรีที่รักประชาธิปไตย รักความสมถะและเรียบง่าย เป็นศรีภรรยาที่เสียสละทุกอย่างเพื่อสามี เรียนรู้เรื่องการเมืองจากสามีจนกลายเป็นสตรีที่รักประชาธิปไตย และต่อสู้อย่างเด็ดเดี่ยวกล้าหาญเคียงบ่าเคียงไหล่สามี แม้ได้รับมรสุมทางการเมืองพัดกระหน่ำอยู่หลายต่อหลายครั้ง

หนึ่งในสาย ณ ป้อมเพชร ที่มีบทบาทในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยในเวลาต่อมาคือ คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร หรือ “คุณหญิงอ้อ” สมรสกับ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศไทย มีบุตร-ธิดา 3 คน คือ นายพานทองแท้-น.ส.แพทองธาร และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร ปัจจุบันคุณหญิงพจมานเลือกกลับมาใช้นามสกุล “ณ ป้อมเพชร” ของมารดา (นางพจนีย์ ณ ป้อมเพชร) แทนการใช้นามสกุล “ดามาพงศ์” ของฝ่ายบิดา (พล.ต.ท.เสมอ ดามาพงศ์) หลังจากหย่าขาดจาก พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ในปี พ.ศ. 2551

เมื่อครั้งเดินเคียงข้าง (อดีต) สามี คุณหญิงพจมานไม่เพียงแค่เป็นผู้หญิงที่มีอิทธิพลต่ออดีตผู้นำประเทศเท่านั้น นับตั้งแต่การวางรากฐานทางการเมืองให้แก่ (อดีต) สามีตั้งแต่เริ่มสร้าง พรรคไทยรักไทย แต่ยังเคียงบ่าเคียงไหล่กันมาตั้งแต่สมัยก่อร่างสร้างธุรกิจด้วยกันมา จึงเรียกได้ว่าทรงอิทธิพลในแง่ธุรกิจของครอบครัวตระกูล ชินวัตรเป็นอย่างมาก

บุคลิกลักษณะอันโดดเด่นของคุณหญิงพจมานเป็นที่รู้กันดีในเรื่องของความเงียบขรึม ไม่มีคำเอื้อนเอ่ยใดหรืออาจมีเพียงคำตอบชนิดถามคำตอบครึ่งคำ พร้อมรอยยิ้มเปื้อนบนใบหน้ายามที่ถูกสัมภาษณ์ เป็นคนมีระเบียบ ใจกว้าง ใจนักเลง และเป็นนักวางแผนที่ลึกล้ำที่สุด ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ของผู้เป็นแม่ได้อย่างไม่มีที่ติในการเลี้ยงดูลูก ๆ ทั้งสามคน

และหนึ่งในสตรีเชื้อสายสกุล ณ ป้อมเพชร ที่เป็นหลังบ้านนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของประเทศไทยในปัจจุบันคือ ผศ.ดร.ทพญ.พิมพ์เพ็ญ เวชชาชีวะ (ศกุนตาภัย) หรือ “คุณแตง” ที่เรียกสั้น ๆ มาจาก“แตงโม” เป็นบุตรสาวของ ศ.(พิเศษ)พงศ์เพ็ญ-นางประพาพิมพ์ ศกุนตาภัย (สุวรรณศร) อดีตผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ความเกี่ยวโยงกับสายสกุล ณ ป้อมเพชร สืบเนื่องจากคุณยายของคุณแตงโมคือน้องสาวแท้ ๆ ของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ (ณ ป้อมเพชร)
สตรีหมายเลข 1 คนปัจจุบันของประเทศไทย มีบทบาทแนวหน้าและโดดเด่นในฐานะนักวิชาการ ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขาคณิตศาสตร์ ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แม้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ แต่ใจรักวิชาคณิตศาสตร์เป็นอย่างมาก จึงเข้าศึกษาต่อปริญญาโทและเอกจากคณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาคณิตศาสตร์ จากจุฬาฯ สถาบัน ที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาสถาบันเดิม ภายหลังสมรสแล้วมีธิดาและบุตร 2 คน คือ น.ส.ปราง และ นายปัณณสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ในฐานะภริยาของ ฯพณฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คุณแตงโมเป็นหลังบ้านที่สุขุม จริงจัง ตามลักษณะอาจารย์นักวิชาการ ไม่ใช่ผู้หญิงหวาน ไม่นิยมออกสื่อใด ๆ หากไม่จำเป็น เพราะต้องการใช้ชีวิตครอบครัวด้วยความเป็นส่วนตัว แต่เป็นที่รู้กันว่านายกฯ อภิสิทธิ์ รักและเคารพศรีภริยามาก ขณะเดียวกันคุณแตงโมคอยเป็นกำลังใจให้แก่สามีอยู่ไม่ห่างอย่างเงียบ ๆ และเป็นศรีภริยาคู่คิดที่มีแนวคิดและมุมมองในเรื่องต่าง ๆ ใกล้เคียงกัน

นอกจากมาจากสายสกุลเดียวกัน สิ่งที่เหมือนกันของนางพญาทั้งสามคน คือ ความเยือกเย็น สุขุม และอยู่ข้างหลังบัลลังก์ผู้นำ ซึ่งเป็นจุดเด่นสายสกุลนี้มาเนิ่นนาน.

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม สกุล “ณ ป้อมเพชร” ให้แก่ พระสมุทบุรานุรักษ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองสมุทรปราการ ต่อมาได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดา”( ขำ ณ ป้อมเพชร) โดยสกุล ณ ป้อมเพชร นับว่าได้สร้างสตรีหมายเลข 1 ที่เปรียบเสมือนหลังบ้านผู้ซึ่งเดินเคียงข้างอดีตนายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีไทยถึง 3 คน ใน 3 ยุค 3 สมัย ซึ่งแต่ละยุคสมัยเป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของการเมืองไทย
**************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น