ภารกิจของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลังจากการสลายกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่ราชประสงค์ซึ่งปรากฏเป็นข่าวครึกโครมต่อเนื่องกันมานานนับสัปดาห์มีอยู่ด้วยกัน 2 เรื่องหลัก
หนึ่ง การฟื้นฟูเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การการชุมนุมและภายหลังการก่อจลาจลเผาบ้านเผาเมืองซึ่งรัฐบาลได้พยายามทุ่มงบประมาณและออกมาตรการต่างๆขึ้นมาช่วยเหลือนักธุรกิจ พ่อค้าแม่ค้ารายย่อย ตลอดจนพนักงานของบริษัทห้างร้านที่มีจำนวนมากซึ่งไม่อาจปฏิเสธว่า เป็นเรื่องเร่งด่วน มิเช่นนั้นแล้วอาจส่งผลรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างกว้างขวาง
สอง การดำเนินคดีกลับกลุ่มแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)หรือกลุ่มเสื้อแดงและการไล่ล่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่รัฐบาลตั้งข้อหา"ก่อการร้าย"ในฐานะผู้บงการเผากรุงทเพมหานครจนราบพนาสูร
ในส่วนนี้ยังรวมถึงการไล่าล่าแกนนำ นปช.ที่ยังหลบหนีอยู่และกลุ่ม"คนชุดดำ"ที่รัฐบาลอ้างว่า อยู่เบื้องหลังในการต่อสู้กับกองกำลังทหารจนเกิดความสูญเสียอย่างมาก
แต่ประเด็นที่สาธารณชนยังตั้งเป็นคำถามอยู่คือ ภายหลังการสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช.แล้ว "คนชุดดำ"ล่องหนหายตัวไปไหนหมด เพราะตราบใดถ้ารัฐบาลยังไม่สามารถจับตัวคนชุดดำมาแถลงให้ประชาชนเห็นกันอย่างจะจะแล้ว จะกลายเป็นว่า รัฐบาลกุเรื่อง"คนชุดดำ"ขึ้นมาเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ตนเอง
เรื่องที่เร่งด่วนและใหญ่ไม่แพ้ 2 เรื่องดังกล่าวข้างต้น แต่ไม่ปรากฏบเป็นข่าวว่า ที่แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลได้ดำเนินการใดๆในการฟื้นฟูเยียวยาอย่างจริงจังคือ การที่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์การชุมนุมตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม-20 พฤาภาคม จำนวน 86 ศพ บาดเจ็บ 1,407 คน(ข้อมูลจากศูนย์เอราวัณ)
ในจำนวนผู้เสียชีวิต 86 ศพนั้น แบ่งเป็นพลเรือน 75 ศพ ทหาร/ตำรวจ 11 ศพ ผู้บาดเจ็บ 1,407 คน แบ่งเป็นพลเรือน 994 คน ทหาร/ตำรวจ 413 คน
ก่อนอื่นต้องยอมรับกันว่า แม้เสื้อแดงได้สลายการชุมนุมไปแล้วก็ตาม แต่กลุ่มเสื้อแดงจำนวนมากเ(ไม่ใช่กลุ่มแกนนำ)ซึ่งเป็นชาวบ้านในต่างจังหวัดต่างกลับบ้านดวยจิตใจที่พ่ายแพ้ บอบช้ำ เคียดแค้น ชิงชัง รวมถึงญาติพี่น้องของผู้สูญเสียชีวิตอีกเป็นจำนวนมากที่น่าจะมีความรู้สึกที่ไม่แตกต่างกัน(ตัวอย่างดูจากการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อต่างๆและการพูดคุยโดยตรง)
ในการฟื้นฟูเยียวยาคนกลุ่มนี้ต้องแยกแยะเป็นกลุ่มๆด้วยวิธีการที่หลากหลาย เริ่มจากผู้เสียชีวิต 86 ศพ ในจำนวนนี้เป็นทหาร/ตำรวจ 11 ศพ ซึ่งหน่วยงานต้นสังกัดดูแลอยู่แล้ว แต่รัฐบาลอาจต้องให้สิทธิพิเศษเพิ่มเติม
ในขณะที่อีก 75 ศพซึ่งเป็นพลเรือน นอกจากการช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตในทางเศรษฐกิจและสังคมแล้ว ในด้านกฎหมายต้องมีการสอบสวนให้กระจ่างว่า แต่ละศพเสียชีวิตอย่างไร และดำเนินการตามกฎหมายอย่างจริงจังเพื่อคืนความยุติธรรมให้แก่ผู้เสียชีวิตเพราะต้องยอมรับว่า ในจำนวนนี้ผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่ง เป็นผู้บริสุทธิ์ พวกที่โดนลูกหลง รวมถึงที่มีการอ้างว่า เป็นฝีมือของ"คนชุดดำ"
อย่าให้เรื่องนี้เงียบหายไป และทำให้สังคมเข้าใจว่า ผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็น"ผู้ก่อการร้าย" เช่นเดียวกับผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ที่ อำเภอตากใบ จังหวัดนคราธิวาส 78 ศพในยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทั้งๆที่บุคคลเหล่านี้อยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะจะกลายเป็นแผลที่บาดลึกยากที่เยียวยาและทำให้เหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
ความจริงในเรื่องดังกล่าว มีองค์กรช่วยเหลืออยู่แล้ว เช่น ศูนย์รับแจ้งเหตุและการช่วยเหลือทางกฎหมายแก่กลุ่มชาวบ้านที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา กระทรวงสาธารณสุขมีศูนย์ช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิต, ผู้บาดเจ็บ และผู้สูญหาย เพียงแต่รัฐบาลสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้อย่างจริงจังเท่านั้นก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก
นอกจากนั้นแล้ว ต้องเข้าไปฟื้นฟูเยียวยาผู้บาดเจ็บและชาวบ้านที่ถูกส่งตัวกลับ 3,650 คนมิให้เกิดความระแวงหรือเกิดความหวาดกลัวว่า จะถูกเหวี่ยงแหดำเนินคดีเพราะยิ่งจะเป็นการผลักให้ชาวบ้านกลุ่มนี้โกรธแค้นและเกลียดชังรัฐบาลมากยิ่งขึ้น และอาจเป็นชนวนเหตุรุนแรงขึ้นอีกได้
ขณะเดียวกันในภาพรวม รัฐบาลต้องแสดงให้เห็นความจริงใจในการผลักดันให้เป็นไปตามแผนปรองดองด้วย เช่น การแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระซึ่งเป็นที่ยอมรับขึ้นมาสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด(นายกรัฐมนตรีพูดในทำนองว่า ได้ตัวประธานคณะกรรมการแล้ว) ไม่ปล่อยให้คนบางกลุ่มใช้สื่อของรัฐยุยงให้เกิดความเกลียดชังมากยิ่งขึ้น การดำเนินการเพื่อปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆโดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งเป็นองค์กรที่ช่วยซ้ำเติมปัญหาให้ร้ายแรงมากยิ่งขึ้น
โดย ประสงค์ วิสุทธิ์
ที่มา.มติชนออนไลน์
.........................................................
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น