ซึ่งตามแนวคิดนี้โดยทั่วไปมีหลักคิดว่าหากสังคมจะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ทุกคนต้องมาตกลงร่วมกันในการยอมรับกติกาของสังคม หากมีปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ก็ต้องหาทางแก้ปัญหาความขัดแย้งนั้น ด้วยการทำข้อตกลงร่วมกัน แต่หากคนในสังคมไม่อาจตกลงกันได้ ความขัดแย้งก็อาจนำไปสู่สงครามหรือความรุนแรง
แน่นอนว่าเรื่องสัญญาประชาคมเป็นแนวคิดของฝรั่ง และเราก็ไม่ได้คาดหวังว่าการมาทำความตกลงกันนั้นจะเห็นได้บ่อยครั้ง ซึ่งการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) สองครั้งที่ผ่านมา ก็สะท้อนความพยายามที่มาตกลงในกติกาเพื่อยุติความขัดแย้งตามแนวคิดนี้ ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกที่หลักการของสัญญาประชาคมยังยืนยงอยู่จนทุกวันนี้ แต่น่าเสียดายที่ว่าการเจรจาไม่อาจหาข้อตกลงกันได้
อันที่จริง สังคมไทยในอดีต เมื่อมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนสองกลุ่ม ก็มักจะมีการเจรจาไกล่เกลี่ยกัน ซึ่งเราจะเห็นว่าสังคมไทยมีคนไกล่เกลี่ยหรือมาตรการไกล่เกลี่ยตั้งแต่ระดับเล็กๆ จนถึงระดับชาติ และความขัดแย้งที่ผ่านมา สังคมก็จะหาคนกลางเข้ามาช่วยเจรจา และบัดนี้ก็ได้สูญหายไปหมดแล้ว อันเนื่องมาจากสถานการณ์การเมืองที่ผ่านมา แต่การทำความตกลงกันกำลังเริ่มขึ้นจากกลุ่มที่มีความขัดแย้งกันเอง นั่นคือ ในส่วนของภาคการเมือง
กลุ่ม นปช. ยังยืนยันจุดยืนเดิม เรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาภายใน 15 วัน และประกาศเคลื่อนไหวด้วยการชุมนุมใหญ่อีกครั้งหนึ่งในวันเสาร์ที่ 3 เมษายน นี้ ด้วยเหตุผลสนับสนุนการเรียกร้อง และความเคลื่อนไหวยังเป็นประเด็นเดิม กล่าวคือ รัฐบาลหมดความชอบธรรมในการบริหารประเทศ และทางออกของการเมืองก็คือการยุบสภาคืนอำนาจให้แก่ประชาชน ซึ่งเป็นจุดยืนที่ฝ่ายรัฐบาลปฏิเสธ แต่เห็นด้วยจะให้ยุบสภาใน 9 เดือน หลังจากแก้ไขกติกาการเมืองของประเทศ
ภายหลังการเจรจาเสร็จสิ้น แม้ว่าจะล้มเหลว เราได้ยินได้ฟังความคิดเห็นจากคนหลายกลุ่มต่อสถานการณ์ทางการเมือง มีมุมมองทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับทั้งสองฝ่าย ซึ่งหากมองในแง่ดีก็สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยยังมีคนอื่นๆ อีกมากมายที่พยายามหาทางออกให้แก่สถานการณ์การเมือง และต้องการจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการทำสัญญาประชาคมของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น หากเป็นเช่นนั้นก็น่าจะมีทางออกอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนกว่าจะตกลงกันได้
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวล ก็คือ ความขัดแย้งไม่อาจตกลงกันได้ และในทางทฤษฎีแล้วย่อมนำไปสู่ความรุนแรง ทั้งๆ ที่ หากดูการเจรจาทั้งสองครั้ง และแรงสนับสนุนจากกลุ่มอื่นๆ ในสังคมแล้วก็น่าจะจบลงไม่ยาก เนื่องจากประเด็นยุบสภาได้ข้อสรุปตรงกัน เพียงแต่เรื่องกรอบเวลาเท่านั้น ซึ่งหากกลุ่ม นปช. ยังยืนกรานในเงื่อนไขเดิม เราเห็นว่าการเจรจาและยื่นข้อเสนอเช่นนั้น ไม่ถือว่าเป็นลักษณะของสัญญาประชาคม แต่เป็นเงื่อนไขแบบภาวะสงคราม
เราไม่ได้สนับสนุนข้อเสนอของรัฐบาล ที่ต้องการยุบสภาใน 9 เดือน แต่เราสนับสนุนความตกลง ที่ทุกฝ่ายเห็นร่วมกันและเป็นข้อตกลงที่จะยุติความขัดแย้งได้ อย่างไรก็ตาม เราเห็นว่าลักษณะของสัญญาประชาคม ก็คือ ไม่ได้เป็นข้อเสนอจากฝ่ายเดียว เพราะข้อเสนอเช่นนั้นมีแต่จะนำไปสู่ความรุนแรง และขณะนี้ทางออกสำหรับความขัดแย้งเริ่มเปิดขึ้นแล้ว คนในสังคมจะช่วยกันอย่างไร แต่ทุกคนพึงตระหนักว่าหากไร้ซึ่งสัญญาประชาคม ก็ถึงคราวที่คนไทยจะต้องฆ่ากันตาย
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น