สองวันหลังเมษาฯวิปโยค ผมพาครอบครัวไปโรงหมอที่เพื่อนอาจารย์แนะนำแถวสุขุมวิทตรวจรักษาเสร็จแล้วก็ชวนกันไปทานเที่ยงที่ร้านอาหารอินเดียมีชื่อย่านนั้น
ระหว่างทางเพื่อนอาจารย์ชี้ให้ดูบ้านพักของนายกฯซึ่งอยู่เยื้องร้านอาหารไปไม่กี่มากน้อย มีตาข่ายโลหะเสริมกำแพงบ้านกั้นสูงขึ้นไปและเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจเฝ้าระวังรักษาการณ์หลายนาย
ร้านค่อนข้างโล่งว่าง อาหารรสเข้มข้นถูกปาก เมื่ออิ่มหนำเช็คบิลเสร็จสรรพก็พบว่าไม่สามารถขับรถกลับออกไป
ด้วยสาเหตุที่น่าจะคาดเดาได้ล่วงหน้า
ผมออกไปยืนดูขบวนคนเสื้อแดงหน้าร้านริมถนนข้างๆ พนักงานเสิร์ฟของร้าน ทั้งรถทั้งคนและตีนตบแดงเถือกละลานตาแน่นขนัดซอยไปหมด มีคนขี่มอเตอร์ไซค์ว่อนไปมาคอยโบกรถจัดแถวเคลื่อนขบวน เสียงเพลงจากลำโพงเสียงแตรเสียงตะโกนและปรบมือโห่ร้องสนั่นอื้ออึงดึงดูดพนักงานออฟฟิศและชาวบ้านแถวนั้นออกมายืนดูบนทางเท้ากันสลอน
รถส่วนใหญ่เป็นปิคอัพเปิดประทุนติดทะเบียนต่างจังหวัดบรรทุกคนทุกเพศทุกวัยใส่เสื้อแดง แต่ก็มีรถเก๋งติดทะเบียน กทม.ประดับธง-สติ๊กเกอร์-สัญลักษณ์สีแดงแซมผสมพอควร บรรยากาศค่อนข้างอึกทึกครึกโครม คึกคักฮึกเหิม เปล่งมวลพลังเร่าร้อนระอุตัว เหมือนขบวนฉิ่งฉับทัวร์ผสมพาเหรดประกาศสัจธรรมและชัยชนะ มากกว่าขบวนแห่ศพผู้เสียสละอย่างโศกสลดเคร่งขรึม
มันชวนให้นึกถึงเต๊นท์ผู้ชุมนุมเสื้อแดงจากจังหวัดอำเภอต่างๆ และส้วมชั่วคราวตั้งเรียงรายยาวเหยียดตลอดย่านผ่านฟ้า-ราชดำเนินจรดลานพระบรมรูปทรงม้าที่ผมไปเดินตระเวนสำรวจมาไม่กี่วันก่อน
นอกจากแผ่นผ้าและป้ายคำขวัญติดเต๊นท์ที่สู้รบดุเดือดเป็นพิเศษแล้ว มันให้ความรู้สึกเหมือน เต๊นท์สมัชชาคนจนของพ่อใหญ่แม่ใหญ่ที่นั่งๆ นอนๆ พัดวีหุงข้าวตำน้ำพริกข้างทำเนียบรัฐบาลหลายปีก่อนโน้นมาก
"บ้านนายกฯอยู่เหิงบ่?" น้าผู้หญิงวัยราว 50 ต้นๆ ในชุดเสื้อแดงหยุดถาม
"บ่เหิงปานใด๋ดอก อยู่พุ่นแหละ"
ผมชี้มือไปทางขวาพลางตอบเสียงแปร่งเพราะบ่ได้เว้าลาวมาโดนเติบหลังออกจากป่า
"นายกฯบ่ควรสิเฮ็ดจังซี่...ดูสิ ประชาชนตายหลายคน" เธอสลับภาษาจากลาวเป็นไทยกลางคันพลางคลี่ภาพถ่ายศพผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่ถูกยิงเสียชีวิตสองสามใบในมือให้ดู ผมก้มลงมองครู่หนึ่งแล้วเงยหน้าขึ้นมาสบตาเธออย่างใส่ใจ
"อภิสิทธิ์เป็นทรราช อภิสิทธิ์เป็นฆาตกร!" เธอเน้นเสียง
ผมนิ่งฟัง มันมีช่วงจังหวะขึงเครียดสองสามวินาทีเมื่อเธอเหมือนรอปฏิกิริยาเห็นชอบตอบรับ ขณะผมเพียงแต่ครุ่นคิดใคร่ครวญคำพูดของเธออยู่เงียบๆ...และแล้วเธอก็เบือนหน้าเดินจากไป
ผมควรบอกด้วยว่าในที่สุดเราก็หาทางขับรถลอดผ่านขบวนแห่ศพเสื้อแดงมาได้โดยอาศัยใบบุญแล่นตามหลวงพ่อรูปหนึ่งซึ่งท่านนั่งรถเข็นผูกติดอยู่บนหลังคารถแวน แล่นตระเวนวนเวียนประพรมน้ำพระพุทธมนต์ให้ชาวเสื้อแดงและชาวบ้านสองข้างทาง
มันคงไม่ง่ายที่จะให้ชาวบ้านผู้อยู่ในธรรมเนียม "เฮ็ดอีหยังเฮ็ดนำกัน เว้าอีหยังเว้านำกัน" และคาดหวังความเห็นอกเห็นใจ-เห็นชอบตอบรับโดยธรรมชาติจากพวกพ้องหมู่เฮายามคับขันเดือดร้อน-มาเข้าใจอาการนิ่งงันลังเลในทำนองขอคิดตรึกตรองดูก่อนของอินดิวิด้วน บางกอกเกี้ยนส์ (individualistic Bangkokians) ทั้งหลายเมื่อได้ยินคำกล่าวหาฉกาจฉกรรจ์ที่ว่านั้น
มันอาจจะดูเย็นชา-ไม่ไยดี-เพิกเฉยในสายตาพวกเขาไม่เบาทีเดียว
ทำให้ผมนึกถึงตอนเข้าป่าใหม่ๆ ที่ท่าเดินลากเท้าประสาคนกรุงฟุตปาธเรียบของผมพาเท้าให้เตะตอป้าบ หนังหัวแม่ตีนเปิด เลือดไหลซิบเป็นประจำ ข้างสหายชาวนาก็เอาแต่หัวร่อคิกคักก่อนเข้ามาช่วยทำแผลให้
ที่ทำแผลให้นั้นซึ้งใจอยู่ดอก แต่ทำไมต้องหัวร่อล้อด้วยล่ะ ปัดโธ่
ยังไม่ต้องพูดถึงเวลาดำนาแล้วแนวต้นกล้าของผมโค้งไปมาเหมือนงูขณะของสหายชาวนาตรงแน่ว, หรือเวลาไปเลี้ยงควายแล้วผมต้อนฝูงควายเข้านาข้าวหน้าตาเฉยเพราะแยกแยะต้นกล้าอ่อนกับต้นหญ้าไม่ออก, หรือหน้าฝนน้ำมาทำนบทรุด แล้วเราระดมกำลังกันไปขุดดินซ่อมเสริมทำนบไม่หยุดตลอดวันตลอดคืนเพื่อไม่ให้ต้นกล้าในนาที่เพิ่งปักดำถูกน้ำท่วมตาย ขณะผมนึกอยากชวนสหายนำที่เป็นชาวนาอภิปรายแผนซ่อมทำนบโดยรวมก่อน ฯลฯ
เป็นไปได้ว่ากล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว มันคงมีเรื่องของถูก/ผิดประกอบอยู่ด้วยด้านหนึ่งแต่ก่อนอื่น มันเป็นเรื่องของการไม่คุ้นชิน-ไม่เข้าใจ-และปะทะทางวัฒนธรรมมากมายทีเดียว
เรื่องทำนองนี้ต้องอาศัยความเยือกเย็น อดกลั้น เข้าใจและให้อภัย
และก็คงเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องมีการกระทบกระทั่งและว่ากล่าวโต้แย้งกันบ้างเป็นธรรมดา
มันไม่ง่ายหรอกครับและต้องผ่านการค่อยๆ เรียนรู้ ปรับตัว ปรับพฤติกรรมกันทั้งสองฝ่าย เหมือนที่สมัยนั้นกว่าผมจะเล่าข่าวต่างประเทศและสถานการณ์สากลให้พ่อใหญ่แม่ใหญ่ฟังเข้าใจตามที่จัดตั้งมอบหมายได้ ก็ต้องหัดเว้าลาวอยู่นานสองนานและเริ่มต้นจากอธิบายภูมิศาสตร์พื้นๆ เรื่องสัณฐานทรงกลมของโลก, แผนที่, ทวีป, ภูมิภาค, ประเทศ ขึ้นมาเป็นลำดับกว่าจะถึงสงครามเย็น, จักรพรรดินิยมอเมริกา, สังคมจักรพรรดินิยมโซเวียต, สังคมนิยมจีน ฯลฯลฯ
ผมได้เรียนรู้ว่าการไม่อ่อนไหวไม่พยายามเข้าใจหรือสดับปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมท้องที่พื้นถิ่น, หากเอาแต่ดื้อรั้นยืนกรานยัดเยียดความคิดความเชื่อของตนซึ่งเป็นคนต่างถิ่นต่างวัฒนธรรมให้ ตามแบบแผนวิธีการอันคุ้นชินของตัวโดยถือดีว่ากูถูกและไม่รับฟังชาวบ้านเขาเลยนั้น, มันช่างเป็นความอ่อนหัดโง่เขลาไร้เดียงสาทางวัฒนธรรม
ซึ่งมีต้นทุนทางการเมืองที่จะต้องจ่ายออกไป
การปะทะทางวัฒนธรรมเกิดขึ้นเมื่อจู่ๆ ผู้คนที่ปกติดำเนินชีวิตอยู่ต่างเวลา ต่างสถานที่ ต่างข่ายใยความสัมพันธ์ทางสังคมกัน กลับเข้ามาอยู่ร่วมเวลาและสถานที่เดียวกัน และในกรณีที่เรากำลังกล่าวถึงนี้ ก็ยังดำเนินกิจกรรมอยู่ในพื้นที่การเมืองบนท้องถนนสายเดียวกันอีกด้วย
สภาพที่ว่านี้ดูจะเกิดขึ้นตั้งแต่ 12 มีนาคมเป็นต้นมา ที่ใจกลางกรุงเทพมหานคร
การยึดพื้นที่-เคลื่อนขบวนใหญ่ทั้งรถยนต์และเดินเท้าของคนเสื้อแดงแต่ละครั้งสร้างความโกลาหลอลหม่านให้วิถีชีวิตที่กำกับด้วยจังหวะอันเป็นระเบียบประจำสม่ำเสมอและคาดการณ์ได้ของคนกรุงยิ่ง
เพราะชีวิตเมืองสมัยใหม่ที่เป็นระเบียบนั้นเอาเข้าจริงเปราะบางมาก มันดำเนินระเบียบของมันไปได้ก็โดยอาศัยระบบรองรับสนับสนุน (supporting systems) ที่ประสานงานกันอย่างสลับซับซ้อนจำนวนมาก หากระบบเหล่านี้อันหนึ่งอันใดสะดุดหยุดลง ระเบียบชีวิตเมืองทั้งหมดก็จะพลอยชะงักติดขัดตีรวนต่อเนื่องจนเป็นอัมพาตไปด้วย ไม่ว่าระบบไฟฟ้า ประปา จราจร รถเมล์ รถไฟฟ้า สื่อสาร เป็นต้น
เช่น เกิดน้ำประปาไม่ไหล ไฟดับ หรือถนนถูกปิด รถเมล์รถไฟฟ้าหยุดวิ่ง ก็อาจไม่ได้อาบน้ำ ซักผ้า ไม่มีเสื้อผ้าใหม่ใส่ไปทำงานเรียนหนังสือ ไม่ได้หุงข้าว ไม่ได้กินข้าวเช้า ไปทำงานสาย งานลูกค้าชะงักต้องเลื่อนประชุม มติไม่ออก เปิดคอมพิวเตอร์ดูไฟล์ไม่ได้ งานไม่เดิน ครูมาสอนไม่ทัน นักเรียนไม่ได้เรียนหนังสือ หมอไม่ได้มาออกตรวจ คนไข้ไม่ได้รับการรักษา พ่อแม่ไปรับลูกไม่ทัน ลูกรอเคว้งไม่รู้จะไปไหน โทร.มือถือต่อไม่ติด ขับรถพาลูกที่กำลังป่วยไปหาหมอไม่ได้เพราะติดขบวนชุมนุม ฯลฯ
ขณะเดียวกันความสัมพันธ์เกาะกลุ่มเคลื่อนไหวที่ตั้งอยู่บนความคุ้นชินกันเองเป็นส่วนตัวของเครือข่ายชุมชน-อิทธิพลอุปถัมภ์ในชนบทและเมืองกึ่งชนบทก็แตกต่างแปลกแยกและเข้าใจยากสำหรับปัจเจกชนคนกรุงที่ยึดบรรทัดฐานความสัมพันธ์ฉันคนแปลกหน้าอย่างเป็นทางการ อิงกฎกติกาและหลักเหตุผลที่ไม่เป็นส่วนตัว
ในระยะเดือนกว่าที่ผ่านมา คนกรุงจำนวนไม่น้อยจึงรู้สึกชีวิตไม่เป็นไปตามปกติ เหมือนถูกข่มขู่คุกคามกีดขวางล่วงล้ำอยู่เสมอ คล้ายๆ ความรู้สึกปีละหนที่ไม่อยากออกจากบ้านเลยช่วงสงกรานต์ เพราะเบื่อ/กลัว/รำคาญที่จะถูกสาดน้ำประแป้งจนแปดเปื้อนเปียกปอนหรือกระทั่งถูกมือบอนถือวิสาสะลูบไล้ลวนลามทั้งที่ไม่สมัครใจเล่นด้วยจากแก๊งใหญ่น้อยที่ปิดถนนหรือขึ้นปิคอัพตระเวนอาละวาดไล่สาดน้ำอย่างคึกคะนองเมามันไปทั่วกรุงเทพมหานคร
ลองจินตนาการว่าแทนที่จะต้องทนเจอสภาพ "สงกรานต์ภาคบังคับ" อย่างนั้นปีละสี่ซ้าห้าวัน กลับกลายเป็นต้องเจอทุกวี่ทุกวันตลอดทั้งปี คนกรุงจะรู้สึกอึดอัดคับข้องใจเพียงใด?
ผมเกรงว่าสิ่งที่คนกรุงกำลังจะเจอต่อไปเบื้องหน้าก็คืออะไรบางอย่างที่คล้ายๆ "สงกรานต์การเมือง" ปีละ 365 วันนั่นแหละครับ
ด้วยเหตุผลที่ว่าในเมื่ออำนาจรวมศูนย์อยู่ที่ กทม.นี่ และทรัพยากรของชาติก็ถูกรวบสูบมาสั่งสมกันไว้ที่นี่หนาแน่นกว่าที่อื่น ไม่ว่าสาธารณูปโภคไฟฟ้าประปา งบประมาณ สื่อสารมวลชน แรงงานฝีมือ บริการการแพทย์ ฯลฯ การต่อสู้เพื่อเปลี่ยนย้ายจัดสรรอำนาจและแบ่งสันปันส่วนทรัพยากรกันใหม่ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะประดังมาระเบิดที่นี่เช่นกัน
และมันมาในนาม "ประชาธิปไตย"
สภาพ "สงกรานต์การเมือง" ที่บรรยายมาข้างต้นไม่หน่อมแน้มน่ารัก เป็นระเบียบเรียบร้อย เข้าแถวตรงร้องเพลงเคารพธงชาติพร้อมกันตอน 8 นาฬิกาแล้วแยกย้ายกันไปทำงานตามหน้าที่ของตัว เหมือนในอุดมคติ "ความเป็นไทย" หรือ "ประชาธิปไตยแบบไทย" อย่างที่เราคุ้นชิน
แต่มันเป็นผลทางการเมืองโดยตรงของ [ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-ความเติบโตตื่นตัวทางชนชั้น-ความไม่เสมอภาคทางอำนาจ] ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นหากอยู่ในระบอบประชาธิปไตย
อันเป็นระบอบที่ผม-น้าผู้หญิงเสื้อแดงคนนั้น-ท่านผู้อ่าน-แกนนำประท้วงที่ก้าวร้าวดุดันที่สุดและนุ่มนวลมีเหตุผลที่สุด-ขบวนการเสื้อสีที่เรารักชอบที่สุดและเสื้อสีที่เราเกลียดชังที่สุด-ไม่ว่าคนดีหรือคนไม่ดี มีความเป็นไทยมากหรือน้อยหรือต่อให้ไม่มี ฯลฯ ต่างมีหนึ่งคน-หนึ่งเสียงเท่ากันในการเลือกตั้ง ตราบที่เป็นพลเมืองไทยอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป
เมื่อคนเราเท่ากัน อำนาจย่อมเกิดจากตัวเลข
ใครได้เสียงเลือกตั้งมากกว่า คนนั้นชนะ
ตัวเลขมากกว่ามีอำนาจมากกว่า ตัวเลขน้อยกว่ามีอำนาจน้อยกว่า แต่ทุกคนมีสิทธิเท่ากัน รวมทั้งสิทธิของเสียงข้างน้อยที่เห็นต่างออกไป
หากเรายังเลือกที่จะอยู่ในระบอบนี้ ก็คงต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับ "สงกรานต์การเมือง" ดังกล่าว ไม่จำต้องรักชอบ-สามัคคี-สมานฉันท์กับมันดอกเพียงแค่ทนมันได้ และหาทางต่อสู้ผลักดันปรับปรุงให้พลังการเมืองทุกฝ่ายทุกสีทั้งที่เป็นรัฐบาลและฝ่ายค้านค่อยๆ "อารยะ" ขึ้น อยู่ในกรอบในร่องในรอยของระบอบอารยะประชาธิปไตยมากขึ้น
มิฉะนั้น ก็ควรซื่อตรงต่อตัวเองแล้วยอมรับเสียเถิดว่าเอาเข้าจริงเราต้องการระบอบอื่นที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย และกระทั่งพร้อมจะเข่นฆ่าทำลายล้างกำราบปราบปรามคนต่างวัฒนธรรมเหล่านั้นให้ราบคาบเพื่อให้ได้ระบอบไม่ประชาธิปไตยมา
นั่นใช่ไหมที่เราต้องการ?
ที่มา.มติชนออนไลน์
โดย เกษียร เตชะพีระ
**********************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น