สภาสหภาพครูแห่งชาติโวยเออร์ลี่รีไทร์ขรก.ที่เหลืออายุราชการ 2 ปี เสียสิทธิเข้าร่วมโครงการอื้อ แนะใช้เกณฑ์เดิมให้ลดเงินขวัญถุง ระบุให้ออกตอนอายุ 58 ปี ไม่มีแรงไปทำมาหากินอย่างอื่น
จากกรณีที่คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) มีมติที่จะลดจำนวนข้าราชการลง 30% หรือประมาณ 6 แสนคน ภายใน 3 ปี และเปลี่ยนหลักเกณฑ์การเกษียณก่อน 60 ปี (เออร์ลี่รีไทร์) จากปัจจุบันที่ต้องมีอายุ 50 ปีขึ้นไป หรือรับราชการมาไม่น้อยกว่า 25 ปี เป็นผู้ที่อายุราชการไม่เกิน 2 ปีเท่านั้น
เมื่อวันที่ 24 เมษายน นายพิษณุ ตุลสุข ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ (สพร.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า ตามขั้นตอนการปฏิบัติ หลังจากที่ คปร.มีมติเรื่องนี้ออกมาแล้ว จะต้องมีมติของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ตามมาเพื่อกำหนดรายละเอียดหลักเกณฑ์ของโครงการ ซึ่งหน่วยงานราชการที่มีอัตราข้าราชการจำนวนมาก จะมีรายละเอียดหลักเกณฑ์ที่แตกต่างจากหน่วยงานราชการที่มีอัตราข้าราชการน้อย ในส่วนของ สพฐ. ซึ่งมีอัตรากำลังข้าราชการมาก จึงขอรอดูมติ ก.พ.ก่อนว่าจะกำหนดรายละเอียดอย่างไรบ้าง
นายพิษณุกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาตามเงื่อนไขเดิมของปีที่ผ่านมาที่กำหนดให้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการเออร์ลี่รีไทร์ได้ จะต้องมีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปหรือทำงานราชการมาแล้ว 25 ปีนั้น จะมีข้าราชการสังกัด สพฐ.ที่มีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์สามารถเข้าร่วมโครงการได้ ประมาณ 15,000 คน แต่หากปรับเปลี่ยนเกณฑ์ใหม่ว่าให้มีอายุราชการเหลืออยู่ไม่เกิน 2 ปีเท่านั้น จึงจะเข้าร่วมโครงการได้ สพฐ.ก็คงต้องมาคำนวณไล่อายุกันใหม่ว่าผู้ที่มีอายุ 58-59 ปีจะมีจำนวนเท่าใด ซึ่งไม่มั่นใจว่าจะลดลงเท่าใด ขณะที่รัฐบาลต้องลดอัตรากำลังข้าราชการถึง 6 แสนคน ภายใน 3 ปี ดังนั้น ต้องดูรายละเอียดของมติ ก.พ.อีกครั้ง จากนั้นตนจึงจะมอบหมายให้เจ้าหน้าที่สำรวจว่าจะมีข้าราชการสังกัด สพฐ.ที่ตรงตามหลักเกณฑ์ของ ก.พ.และสามารถเข้าร่วมโครงการได้สักกี่ราย
ด้านนายมานะ สุดสงวน ประธานสภาสหภาพครูแห่งชาติ กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ดังกล่าว เนื่องจากจะส่งผลให้ผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการเออร์ลี่รีไทร์ได้ จะต้องมีอายุ 58-59 ปีเท่านั้น ซึ่งช่วงอายุดังกล่าวไม่สามารถออกไปประกอบอาชีพอื่นได้แล้ว ต่างกับอายุ 50 ปีตามหลักเกณฑ์เดิม เมื่อออกจากราชการในช่วงอายุ 50 ไป ยังพอจะทำงานอื่นได้ ซึ่งจะสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว และเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจประเทศได้ ดังนั้น ส่วนตัวมองว่าควรจะคงตามหลักเกณฑ์เดิม เพียงแต่อาจจะลดเงินขวัญถุงที่จากเดิมให้ผู้ที่เออร์ลี่รีไทร์ คนละ 15 เท่าของเงินเดือน ก็อาจจะปรับลดลงบ้าง แต่ไม่ควรน้อยกว่า 12 เท่าของเงินเดือน ก็จะช่วยลดงบประมาณตามที่รัฐบาลต้องการได้
นายมานะกล่าวว่า แต่ขอฝากถึงรัฐบาลว่าอย่าไปเสียดายเงินที่จะจ่ายให้กับข้าราชการเหล่านี้ โดยเฉพาะกับข้าราชการครู เพราะกลุ่มนี้ได้ช่วยราชการมาถึง 25 ปีแล้ว ทางที่ดีควรลดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นมากกว่า รัฐบาลก็จะมีเงินมากมายที่จะจ่ายให้กับข้าราชการที่เออร์ลี่รีไทร์ได้โดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ และยังเหลือเงินเป็นจำนวนมากสำหรับการพัฒนาประเทศอีกด้วย แต่ปัญหาคือ ทุกรัฐบาลที่ผ่านมามีการทุจริตคอร์รัปชั่น
"หลังจากมีข่าวปรับเปลี่ยนเกณฑ์ว่าต้องมีอายุราชการเหลืออยู่ไม่เกิน 2 ปีเท่านั้น ถึงจะเข้าร่วมโครงการเออร์ลี่รีไทร์ได้ ส่งผลให้มีครูจำนวนมากโวยวายกับผมถึงความเสียเปรียบเพราะพวกเขามีอายุ 52-53 ปี ทำให้ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการในปีงบประมาณ 2554 ได้ ต้องรอไปอีก 4-5 ปี ถึงตอนนั้นก็ไม่รู้ว่าสภาพเศรษฐกิจจะรอดหรือไม่" นายมานะกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากมีข่าว คปร.มีมติปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์โครงการเออร์ลี่รีไทร์ ทำให้มีข้าราชการจำนวนมากไม่พอใจ อาทิ มีข้าราชการสังกัด สพฐ.โทรศัพท์มาร้องเรียนกับ "มติชน" ว่าเสียสิทธิที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ ซึ่งปีที่ผ่านมาได้ยื่นความจำนงขอเข้าร่วมโครงการกับ สพฐ. แต่เพราะมีผู้เข้าร่วมโครงการมาก จึงไม่ได้รับการอนุมัติและได้รับการแจ้งว่าให้รอเข้าร่วมโครงการในปีงบประมาณ 2554 แต่เมื่อถึงเวลารัฐบาลกลับมาปรับเปลี่ยนเกณฑ์ดังกล่าว ส่งผลให้ไม่สามารถเข้าโครงการได้
ที่มา.มติชนออนไลน์
***********************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น