ทั้งฝ่ายเสื้อแดง-ฝ่ายรัฐบาล ต่างแสวงหา "ทางลง"
ฝ่ายแกนนำเสื้อแดง-นปช.นั้น ทั้งเหนื่อย ทั้งหมดกำลังต้องการ "จบ" ให้ได้ก่อนเทศกาลสงกรานต์
ฝ่ายเพื่อไทยบางส่วน ก็ต้องการจบเกม "ข้างถนน" แล้วเข้าสู่โหมดการอภิปราย ไม่ไว้วางใจในสภาผู้แทนราษฎร และยัง ไม่พร้อมสำหรับการลงสนามเลือกตั้ง ก่อนเวลาอันควร
เช่นเดียวกับฝ่ายรัฐบาล 6 พรรค ที่ไม่ต้องการลงสนาม ในบรรยากาศแดง ทั้ง แผ่นดิน
ข้อเสนอที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ "ผู้จัดการรัฐบาล" ประกาศในนามพรรคร่วมรัฐบาล "ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วยุบสภาปลายปี เลือกตั้งต้นปี 2554" จึงเป็นข้อเสนอที่ไม่มีพรรคไหนอยาก ปฏิเสธ
แกนนำพรรคระดับ "ตัวแปร" ทาง การเมือง อย่างพรรคภูมิใจไทย (ภท.) โดย "กลุ่มเพื่อนเนวิน" จึงเป็นผู้กำหนดวาระพรรคร่วม นำเสนอ "โรดแมป" การกลับไปสู่การเลือกตั้ง
เนวิน ชิดชอบ จึงเสนอทางลงว่า "ถ้าเสื้อแดงต้องการประชาธิปไตย ความเสมอภาค ความยุติธรรม ทั้งหมดทุกฝ่ายต้อง เข้าสู่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ...จะใช้วิธีตั้งกรรมการร่วมกันกี่ฝ่ายก็ได้ จากนั้นก็ทำประชามติ และยุบสภา แยกย้ายกันไปลงสมัครรับเลือกตั้ง"
แต่ข้อเสนอนี้จะไม่มีทางบรรลุเป้าหมาย หาก "เพื่อไทย" ไม่ถอนกำลังเสื้อแดงออกจากเวที นปช.
พรรคร่วมรัฐบาลจึงเสนอให้ทุกพรรค ทั้งฝ่ายค้าน รัฐบาล เห็นพ้องกัน ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากนั้นพรรคเพื่อไทยก็ต้องทิ้งเวที นปช. แล้วกลับเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร เพื่อร่วมในกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ
ขั้นตอนหลังจากนั้นคือ มีการตั้ง คณะกรรมการร่วมกันเพื่อยกร่างแก้ไข เมื่อยกร่างเรียบร้อยแล้วนำไปลงประชามติ จากนั้นรัฐบาลจึงประกาศยุบสภา เลือกตั้งใหม่
ข้อเสนอนี้ถูกสนองจากมังกรการเมือง หลังเสียงระเบิดการเมืองย่านจรัญสนิทวงศ์ เงียบลงไม่ถึง 24 ชั่วโมง
"ต้องบอกว่าจะแก้กติกาเมื่อไหร่ ภายในเวลาเท่าไหร่ แล้วยุบสภาเมื่อไหร่ อาจจะยุบสภาสิ้นปีนี้ แต่ถ้าให้ยุบใน 15 วัน ทำไม่ได้ ความเสียหายเกิดขึ้น เพราะเศรษฐกิจกำลังดี ไม่ใช่ว่ารัฐซื้อเวลา ตอนนี้การลงทุนไหลเข้ามามากมาย" นายบรรหาร ศิลปอาชา จากพรรคชาติไทยพัฒนา ขีดเส้น-นับถอยหลังรัฐบาล
เพราะ "บรรหาร" และแกนนำอีก 4 พรรคร่วมรัฐบาล ต้องการร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบกระชับ-รวดเร็ว- ปราศจากอุบัติเหตุการเมือง เพียง 2 มาตรา คือเลือกตั้งเขตเดียว เบอร์เดียว และมาตราที่ว่าด้วยอำนาจในการลงนามสนธิสัญญาระหว่างประเทศเท่านั้น
"บรรหาร" จึงเห็นต่างประเด็นเดียวคือเรื่อง "ประชาพิจารณ์" ที่อ้างว่าอาจไม่มีเวลามากพอ
ฝ่ายเสื้อแดง-นปช.นั้นแม้ไม่เห็นด้วย แต่ก็ไม่ปฏิเสธ
ข้อเสนอของ "จตุพร พรหมพันธุ์" จึง "ตามน้ำ" กับเงื่อนไขการยุบสภา แต่ "ขีดเส้น" กรอบเวลาไว้ "ต่อรอง"
"ทุกฝ่ายเสนอโดยมีแนวทางเดียวกันคือการยุบสภานั้น ด้วยระยะเวลา 2 สัปดาห์นั้นถือว่าเพียงพอ เพราะว่ารัฐบาลยังสามารถทำหน้าที่รักษาการต่ออีก 45 วัน รวมระยะเวลาทั้งหมดแล้วก็คือ 2 เดือน"
มรรควิธีไปสู่เป้าหมายของฝ่ายเสื้อแดง คือ "สัตยาบัน" ระหว่าง "ตัวแทน" สีเหลือง-สีแดงและสีน้ำเงิน
"กลุ่มสีน้ำเงินของพรรคภูมิใจไทย กลุ่มสีเหลืองจากพรรคการเมืองใหม่และพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มเสื้อแดงจากพรรคเพื่อไทย ให้ทุกฝ่ายมาร่วมลงสัตยาบัน ให้นายโคทม อารียา เป็นสักขีพยาน" นายจตุพร-ยื่นเงื่อนไข
ส่วนญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฝ่ายเสื้อแดงเห็นว่าควรยุบสภาไปเสียก่อน แล้วค่อยกลับมาตั้งหลัก-จัดวาระ
ข้อเสนอที่ "สวนทาง" กับฝ่ายรัฐบาลนี้ ถูกสวนหมัดจากฝ่ายรัฐบาลว่า ฝ่ายค้าน-เพื่อไทย-ไม่ต้องการ "กติกา" แต่ต้องการเพียง "อำนาจ"
ม็อบเสื้อแดงจึงไม่ใช่ม็อบเพื่อประชาธิปไตย แต่กลายเป็นม็อบเพื่อไทย
เมื่อจะหาทางลง จึงต้องมีท่วงทำนอง-ลีลาที่เสียหน้าน้อยที่สุด
แม้ว่ามติของแกนนำ นปช.ส่วนใหญ่ต้องการ "จบ-แตกหัก" แต่เงื่อนไขไม่สุกงอม ทำให้ขบวนของ "ยงยุทธ ติยะไพรัช" ถอนตัวออกไปก่อนเวลาอันควร
แม้ว่าแนวร่วม 111 และ 37 อดีตกรรมการบริหารไทยรักไทยและพลังประชาชน ร่วมขึ้นเวที เพื่อดึงอำนาจนำมาจาก 3 เกลอ
การชิงการนำจึงเกิดขึ้น
การไปเปิดวงเจรจาโดย "วีระ-น.พ.เหวง-จตุพร" จึงถูกแนวร่วมวิพากษ์ว่า พ่ายแพ้-ล้มเหลว และโดน "ข้อหา" อยากจบ-แม้ศพไม่สวย
ญัตติที่จะดึง "ม.ล.ปลื้ม เทวกุล" มาขึ้นเวทีเรียกแขก ชนชั้นกลางในเมือง เข้าเป็นแนวร่วม "เสื้อแดง" จึงถูกโหวตตกจากที่ประชุม "วอร์รูม-นปช."
การปรับเนื้อหา (content) ในการอภิปราย ภายใต้การให้การสนับสนุนของกลุ่มนักวิชาการ-คนเดือนตุลา ทั้งจาตุรนต์ ฉายแสง-น.พ.เหวง โตจิราการ-จรัล ดิษฐาอภิชัย-ธเนศวร์ เจริญเมือง และสหายที่ ไม่ปรากฏตัวบนเวทีอีกจำนวนหนึ่ง จึงถูกแตะเบรกจากแกนนำสาย "ฮาร์ดคอร์"
ส่วนการขับเคลื่อน-จรยุทธ์ในเมือง ใช้ทีมงานที่เรียกกันภายใต้รหัสทีม 66/23 ซึ่งเป็นเครือข่ายของ "บิ๊กจิ๋ว" เป็นมือทำงาน ร่วมกับอดีต "ผู้ร่วม พัฒนาชาติไทย" ก็ต้องหยุดปฏิบัติการชั่วคราว
เพราะนักวิเคราะห์ปรากฏการณ์ทางการเมืองชี้ว่า เนื้อหาที่มุ่งโจมตีสถาบัน และบี้-ขยี้-ขยายประเด็นเรื่องชนชั้น ในระยะยาวจะถูกจริตกับแนวร่วมที่ไม่ได้ "จัดตั้ง" ในม็อบเสื้อแดง
ประกอบกับความไม่ชัดเจนเรื่อง "แนวทาง" การเคลื่อนไหว เช่น การ ชูประเด็น "ล้มอำมาตย์" แต่ก็มีการจุดเทียนชัย ทำให้แนวร่วมกลุ่ม"คนเดือนตุลา" ไม่เห็นด้วย
นับวันยิ่งยาก ยิ่งกว่ายาก ในการบริหารแกนนำและควบคุมมวลชนเสื้อแดง
การแตกในแนวร่วมจึงเกิดขึ้นเป็นระยะ
การหาทางลงของฝ่ายเสื้อแดง และ การหาทางออกของฝ่ายรัฐบาล อาจบรรลุผลเร็วกว่าเวลาอันควร
ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น