--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

การเมืองหลังการเลือกตั้ง !!?

โดย. พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

เมื่อการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ผ่านไป สิ่งที่ตามมายังคงมีเรื่องที่จะต้องพิจารณากันอยู่หลายเรื่อง

เรื่องแรกคือการจัดการเลือกตั้งให้ครบในส่วนที่เหลือ ขณะที่ฝ่ายที่ไม่ต้องการการเลือกตั้งก็คงจะสร้างเงื่อนไขของการไม่ยินยอมพร้อมใจอยู่ในระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยที่ยึดโยงจากการเลือกตั้งต่อไป ทั้งการชุมนุมและการปิดกั้นหน่วยเลือกตั้ง และปิดกั้นการลำเลียงบัตรเลือกตั้ง หรือถ้าจะพูดให้ครบก็คือขัดขวางกระบวนการเลือกตั้งต่อไปเรื่อยๆ

สิ่งที่จะต้องตั้งข้อสังเกตเอาไว้ก็คือ การปฏิเสธการเลือกตั้งในครั้งนี้ มีลักษณะที่ลักลั่นและย้อนแย้งในตัวเอง ดังที่ผมได้เคยชี้แจงไปก่อนหน้านี้แล้ว นั่นก็คือ โดยทั่วไปการเลือกตั้งนั้นจะถูกปฏิเสธ เมื่อการเลือกตั้งนั้นมีลักษณะที่ฝ่ายที่ยึดกุมอำนาจรัฐมีแนวโน้มที่จะทุจริต หรือแทรกแซงกระบวนการเลือกตั้ง ซึ่งทำให้การยอมรับผลการเลือกตั้งของฝ่ายอื่นๆ นั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะตนก็เชื่อว่าตนจะต้องชนะแต่ถูกปล้นชัยชนะ

ขณะที่การต่อต้านการเลือกตั้งครั้งนี้ในประเทศไทยนั้นมีลักษณะที่ย้อนแย้งและลักลั่นมาก ด้วยว่าการปิดกั้นหน่วยเลือกตั้งเองนั้นเกิดขึ้นในพื้นที่ไม่กี่จังหวัด แต่มีลักษณะที่มีแบบแผนอย่างชัดเจน คือบางหน่วยของกรุงเทพฯ และบางจังหวัดในภาคใต้ ในขณะที่ภาพของการเคลื่อนไหวก่อนหน้านั้นคือการอ้างถึงจำนวนของมวลมหาประชาชนที่มากมายมหาศาล แต่เอาเข้าจริงเมื่อนับจำนวนมวลมหาประชาชนแล้ว ก็ไม่สามารถชนะด้วยจำนวนได้อยู่ดี

นอกจากนั้นแล้ว หากคิดดูอีกทีว่าถ้าฝ่ายที่แพ้เลือกตั้งคิดว่าตนไม่น่าจะแพ้ เพราะจำนวนก้ำกึ่งกัน (คราวที่แล้วพรรคฝ่ายค้านแพ้ของสองเก้าอี้ในแบบบัญชีรายชื่อ) ฝ่ายที่ค้านและต้านเลือกตั้งก็ควรจะส่งเสริมให้คนมาเลือกตั้ง ส่งเสริมให้คนมาสังเกตการณ์เลือกตั้ง และส่งเสริมให้หน่วยงานที่เป็นกลางน้ันทำงานในการจัดการกับการทุจริต หรือแม้แต่จะเรียกร้องให้มีองค์กรจากต่างประเทศเข้ามาสังเกตการณ์

การไม่พยายามกระทำสิ่งนี้เพราะอาจจะรู้จริงๆ ว่าสู้ไม่ได้ในเกมส์นี้เสียมากกว่า เพราะเกมส์การเลือกตั้งในวันนี้ไม่ใช่เรื่องการซื้อเสียงเท่านั้น (เพราะการซื้อเสียงจับได้ และจับได้ทุกฝ่าย) แต่เกมส์เลือกตั้งนั้นเรียกร้องให้มีการคิดค้นนโยบาย

ดังนั้น เรื่องที่ง่ายกว่าก็คือการลากสถานการณ์เลือกตั้งให้ยาวนาน เพื่อใช้เรื่องการคอร์รัปชั่นในการจัดการการเมืองแบบนโยบายด้วยองค์กรตุลาการ

นั่นก็คือใช้ข้อกฎหมาย และแนวโน้มของการผิดกฎระเบียบมาจัดการเรื่องนโยบาย และตีความกรอบการจัดทำนโยบายให้ตรงกับรัฐธรรมนูญที่ได้วางไว้หมดแล้ว

หมายถึงกระบวนการทำให้เรื่องนโยบาย "ไม่เป็นเรื่องการเมือง" ทั้งที่การลงโทษนั้นเป็นเรื่อง "การเมืองที่ไม่ตอบโจทย์ทางการเมือง" เป็นอย่างมาก

โดยสรุปปัญหาการเลือกตั้งในรอบนี้จึงไม่ได้มีการร้องเรียนเรื่องกระบวนการ ในแง่ของการทุจริตใน "กระบวนการเลือกตั้ง" แต่จะโดนดำเนินคดีแน่นอนเพราะไปขัดขวางกระบวนการเลือกตั้ง

และปัญหาใหญ่กลับอยู่ที่เรื่องของ "วิกฤตความชอบธรรมของการเลือกตั้ง" เสียมากกว่า เพราะฝ่ายหนึ่งไม่ยอมให้มีการเลือกตั้ง แต่อีกฝ่ายหนึ่งพยายามบอกว่าการเลือกต้ังนั้นเป็นที่มาของความชอบธรรมทั้งหมด

เรื่องที่จะต้องพิจารณาในเรื่องที่สองของการเมืองหลังการเลือกตั้ง ก็คือเรื่องของ "ความรุนแรงหลังจากการเลือกตั้ง" (post-electoral violence) ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใหญ่มากในการศึกษาและปฏิบัติจรรโลงประชาธิปไตยในโลก โดยเฉพาะในช่วงหลังนี้เรื่องสำคัญมักจะอยู่ในทวีปแอฟริกา โดยมีทั้งองค์กรอาสาสมัครที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือเหยื่อของความรุนแรงที่เกิดจากความรุนแรงหลังการเลือกตั้ง และการเข้าไปพยายามจัดการเลือกตั้งใหม่ หรือต่อรองกับแต่ละฝ่ายให้กระบวนการทางการเมืองและกระบวนการทางประชาธิปไตยได้มีโอกาสเดินหน้าในสังคมที่การเลือกตั้งไม่สามารถสร้างความเป็นปึกแผ่นได้

ผลการวิจัยและปฏิบัติการที่น่าสนใจของหน่วยงานด้านการพัฒนาของสหรัฐอเมริกา (USAID) ในปี ค.ศ.2010 ที่ชื่อว่า การป้องกันความรุนแรงหลังการเลือกตั้งในแอฟริกา (Preventing Postelection Violence in Africa) ให้ประเด็นที่น่าสนใจตรงที่ว่า สิ่งที่พบในสังคมที่มีความรุนแรงทั้งในช่วงก่อนเลือกตั้ง ช่วงที่มีการเลือกตั้ง และช่วงหลังการเลือกตั้งนั้น แม้ว่าเราจะเชื่อว่า ปัจจัยของความแตกแยกทางสังคมด้านชาติพันธุ์ ความต้องการประชาธิปไตย ระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และประวัติศาสตร์ทางการเมืองนั้นอาจจะดูเหมือนมีผลต่อการเลือกตั้ง แต่งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ว่า ความรุนแรงที่จะเกิดจากการเลือกตั้งนั้นไม่จำเป็นเสมอไปว่าจะต้องเกิดจากสังคมที่มีปัจจัยเช่นนั้น

แต่ปัจจัยที่จะส่งผลจริงๆ ต่อความรุนแรงหลังการเลือกตั้งก็คือการบริหารจัดการเลือกตั้งที่จะไม่ก่อให้เกิดการโกงการเลือกตั้ง และความรุนแรงจากการเลือกตั้ง หรือจะพูดอีกอย่างว่าการทำให้กระบวนการการเลือกตั้งนั้นเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะการที่กลุ่มหรือองค์กรต่างๆ ในประชาสังคมที่พยายามเข้ามาทำให้ฝ่ายต่างๆ ยอมรับการเลือกตั้ง และช่วยกันปกป้องให้องค์กรที่จัดการเลือกตั้งนั้นสามารถจัดการเลือกตั้งได้สำเร็จ

ลองคิดให้ดีถ้าเราลองย้อนพิจารณาปมปัญหาของการเลือกตั้งในครั้งนี้ของบ้านเรา สิ่งที่เราจะพบก็คือ องค์กรกลางที่เราเคยเชื่อว่ามีอำนาจจัดการเลือกตั้งนั้น ไม่สามารถทำงานได้ในหลายพื้นที่ (และตัวผู้บริหารเองก็พยายามทำให้พื้นที่เหล่านั้นมีภาพของพื้นที่ทั้งหมดอยู่บ่อยครั้ง) แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ได้สำเร็จในพื้นที่ส่วนมากนั้นเกิดจากการที่ประชาชนแสดงเจตจำนงในการไปเลือกตั้ง และแสดงเจตจำนงในการใช้การเลือกตั้งในการแก้ปัญหา และแสดงเจตจำนงให้เห็นถึงคุณค่าของการเลือกตั้งโดยการทำให้การเลือกตั้งนั้นเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกับการรักษาประชาธิปไตยเอาไว้ภายใต้เงื่อนไขของความสงบ สันติ

นี่คือความยิ่งใหญ่ของการส่งเสียงของประชาชนที่ไม่ต้องอ้างจำนวนแต่ไม่กล้าสู้ด้วยกฎของการนับเลขแห่งความเท่าเทียมง่ายๆ ผ่านการเลือกตั้ง และชี้ให้เห็นว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้นสำคัญต่อการป้องกันความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีนัยยะสำคัญ

เพียงแต่ว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งของเราไม่ได้มองสิ่งเหล่านี้เป็นโอกาสและพลังสำคัญในการขับเคลื่อนให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นได้ ขณะที่ภาพประชาสังคมที่เป็นทางการกลับแตกแยก หรือหันเหตัวเองออกจากกระบวนการเลือกตั้ง

อาจเป็นไปได้ว่าภาคประชาสังคมของเรานั้นเคยตัวกับการได้อำนาจจากเงื่อนไขนอกประชาธิปไตย หรือภายใต้โครงสร้างประชาธิปไตยที่ทำให้ไม่ต้องยึดโยงกับประชาชน แต่เป็นโครงสร้างอำนาจที่ยึดโยงกันเองผ่านเครือข่ายของการเสนอชื่อ และพิจารณากันภายในเครือข่าย (หรือเปล่า?)

ดังนั้น ภาคประชาสังคมของไทยนั้นจึงมีลักษณะพิเศษ เพราะเป็นภาคประชาสังคมที่สร้างความชอบธรรมผ่านการปฏิเสธการเลือกตั้งเสียมาก แทนที่จะทำงานคู่ขนานกับฝ่ายประชาธิปไตยเลือกตั้ง และต่อรองกับกระบวนการของการเลือกตั้ง

เรื่องสุดท้ายที่น่าตั้งคำถามในส่วนของการเมืองหลังการเลือกตั้งก็คือเรื่องของมุมมองอื่นๆ ที่แตกต่างไปจากเรื่องการปฏิวัติประชาชน และการปฏิรูปการเมือง

ผมนึกถึงคำสอนของครูบาอาจารย์ของผมทั้งหลายที่ครั้งนั้นพวกท่านเคยสมาทานแนวคิดเรื่องของ "การพัฒนาทางการเมือง" (political development) ที่สมัยหนึ่งเคยเป็นที่นิยม ขณะที่สมัยนี้อาจจะไม่มีคนสนใจสักเท่าไหร่

แนวคิดเรื่องการพัฒนาทางการเมืองนั้น เป็นแนวคิดที่มีอิทธิพลหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และเป็นแนวคิดที่ส่วนหนึ่งเป็นคู่ขนาน หรือเป็นการพัฒนาที่เป็นผลตามมาจากแนวคิดเรื่องการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

พูดง่ายๆ ก็คือ แนวคิดการพัฒนาทางการเมืองเชื่อว่าการพัฒนานั้นไม่ได้มีแค่การ (วางแผน) พัฒนาทางเศรษฐกิจ แต่การเมืองก็ต้องมีการวางแผนด้วยและจะต้องสามารถระดมสรรพกำลังต่างๆ มาร่วมกันได้

ในอีกด้านหนึ่งการพัฒนาทางการเมืองก็เป็นสิ่งที่จะต้องเตรียมการเอาไว้ เพราะว่าการพัฒนาทางเศรษฐกิจนั้นอาจจะส่งผลบางอย่างในสังคมที่ทำให้จำต้องร่วมกันดูแลจัดการและพัฒนาสังคมและการเมืองตามมาด้วย

ในอดีตนั้น คู่แข่งสำคัญของแนวคิดการพัฒนาทางการเมืองก็คือการเปลี่ยนผ่านสังคมไปสู่สังคมนิยมคอมมิวนิสต์ เพราะว่าเป็นตัวอย่างสำคัญที่เกิดการรวมศูนย์อำนาจและการทำงานที่แข็งแกร่งมั่นคงของรัฐอย่างจริงจัง ซึ่งโลกเสรีในช่วงแรกก็สั่นสะเทือนเป็นอย่างมากเพราะผลลัพธ์ทางการเมืองของประเทศที่เพิ่งหลุดออกจากอาณานิคม หรือประเทศที่ยากจนนั้นไม่สามารถสร้างผลลัพธ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจที่เป็นที่น่าพอใจได้

ดังนั้น การพัฒนาทางการเมืองจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยเฉพาะเมื่อเผชิญปัญหาว่าเกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ แล้วเกิดชนชั้นใหม่ๆ มีข้อเรียกร้องต่างๆ เข้าสู่ระบบการเมือง มีการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างมากมายมหาศาล (ทั้งการเลือกตั้ง หรือการชุมนุมประท้วง) แต่ผลลัพธ์ทางการเมืองที่ออกมานั้นจะพบว่ารัฐไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลายและรุมเร้าเข้ามาได้

ในอดีตนักรัฐศาสตร์จึงพยายามพัฒนาสถาบันทางการเมืองต่างๆ ขึ้นมาเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนเอาพลังแห่งความต้องการเหล่านี้สามารถเข้ามาอยู่ในระบบการเมืองร่วมกันได้ กล่าวคือการสร้างรัฐนั้นจะต้องกระทำกันเข้มแข็งเพื่อให้สามารถระดมสรรพกำลังต่างๆ มาร่วมกันมุ่งหมายไปสู่การพัฒนาทางการเมือง โดยมีความเชื่อถึงการเสริมสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย และเรื่องของการพัฒนาพรรคการเมืองและระบบเลือกตั้งให้ตอบสนองต่อความหลากหลายและสามารถมีสมรรถภาพในการขับเคลื่อนนโยบายได้ผ่านการออกแบบรัฐธรรมนูญให้สะท้อนความเป็นจริงทางการเมือง และชี้นำการเมืองไปยังทิศทางที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ไม่ให้พังทลายและเสื่อมถอยลงผ่านความรุนแรงและความไร้เสถียรภาพทางการเมือง

ความพยายามของครูบาอาจารย์ของผมหลายท่านนั้นสร้างคุณูปการให้กับการพัฒนาทางการเมืองอยู่มิใช่น้อย เช่นการศึกษาและตั้งคำถามกับระบบราชการ และทหารในฐานะสถาบันหลักที่อาจทำหน้าที่บางอย่างมากจนเกินตัว (การพัฒนาทางการเมืองจะต้องกระจายงานไปตามหน้าที่ที่สมควรทำ) ศึกษาวัฒนธรรมทางการเมืองและพฤติกรรมการเลือกตั้ง ศึกษาบทบาทของวัฒนธรรมและศาสนา ศึกษาการทำงานที่อ่อนแอของพรรคการเมืองและรัฐสภา ศึกษาถึงโครงสร้างของรัฐธรรมนูญ และการรัฐประหาร รวมทั้งในยุคหลังแนวคิดเรื่องของการพัฒนาทางการเมืองเริ่มมีการเสนอให้มองเรื่องของการสร้างสถาบันใหม่ๆ เช่น การประชาสังคม และการสร้างชาติที่รองรับความหลากหลายมากขึ้น เพื่อไม่ให้รัฐที่เป็นทางการนั้นทำงานโดยอาจจะละเลยความหลากหลายของสังคม

อย่างไรก็ตาม ต่อมาแนวคิดการพัฒนาการเมืองเหล่านี้อ่อนแรงลงไป และถูกบดบังโดยกระแส "การปฏิรูปการเมือง" ที่ถ้ามองให้ลึกๆ เป็นเรื่องของการตอบโจทย์ระยะสั้นๆ ของยุคสมัย เช่น การจำกัดอำนาจนักการเมือง การจัดการการคอร์รัปชั่น และทิ้งปมปัญหาในระยะยาวเอาไว้โดยตลอดโดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับอคติทางการเมืองระหว่างชนชั้นต่างๆ และสถาบันต่างๆ ที่ถูกสร้างขึ้น หรือเข้ามาเกี่ยวข้อง

ถ้าคิดว่าการปฏิรูปการเมืองนั้นเป็นเรื่องระดับโครงสร้างและเรื่องระยะยาวจริงทำไมการปฏิรูปที่ผ่านมาจึงไม่ประสบความสำเร็จ? และการอ้างว่าการไม่ประสบความสำเร็จนั้นเป็นเพราะปัจจัยภายนอกที่บ่อนทำลายการปฏิรูปนั้นเป็นการอ้างอิงที่ไร้ความผิดชอบเป็นอย่างยิ่ง หรือมองว่าเพราะคนที่เราต้องการปฏิรูปนั้นยังไม่มีคุณสมบัติพอ (คือโทษว่าคนที่เป็นเหยื่อของระบบเก่า - blaming the victim) ทั้งที่การปฏิรูปการเมืองแบบที่พูดกันนั้นไม่สามารถพิสูจน์ได้จริงว่าการปฏิรูปจะรองรับอำนาจและเปิดให้คนมีส่วนร่วมอย่างไรในระบบการเมือง ขณะที่ทุกคนตื่นตัวเช่นนี้ เว้นแต่จะคิดว่าต้องมีสถาบันอื่นมาทำงานแทนรัฐและมองรัฐเป็นผู้ร้าย?

ดังนั้น แทนที่การปฏิรูปการเมืองจะได้มาซึ่งสถาบันทางการเมืองที่เข้มแข็งที่โอบรับ/รองรับความต้องการที่หลากหลายของสังคมตามจิตวิญญาณของการพัฒนาทางการเมือง การปฏิรูปการเมืองที่พูดๆ กันกลับกลายเป็นถ้อยคำที่นำมาซึ่งความขัดแย้งและแฝงฝังไปด้วยอคติทางชนชั้นของผู้เสนอโดยที่ไม่รู้ตัว และเป็นความพยายามในการช่วงชิงอำนาจของสถาบันและกลุ่มที่ไม่สามารถสร้างความชอบธรรมทางการเมืองได้ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง

ดังนั้น อาจเป็นไปได้ที่แนวคิดเรื่องการพัฒนาทางการเมืองที่ยืดหยุ่นขึ้นจะกลับมาอีกครั้ง และเป็นทางเลือกจากกระแสการปฏิรูปทางเมือง แต่หากการพัฒนาทางการเมืองจะกลับมาอีกครั้งก็คงจะต้องปรับปรุงให้ควบคู่กับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจในโลกที่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพทั้งจากความต้องการและจากความหวาดกลัวด้วย

ไม่ใช่สร้างแต่ความต้องการเทียมๆ ในบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความน่าหวาดกลัวจริงๆ เหมือนอย่างที่เป็นอยู่ (ซึ่งเป็นบรรยากาศความกลัวที่สร้างขึ้นมาเองเสียด้วย)

ที่มา:มติชน
------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น