--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

วิเคราะห์ : เลือกตั้ง 2 ก.พ.57

โดย. วีรพงษ์ รามางกูร

เช้าวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ ตื่นแต่เช้าเพื่อเตรียมตัวไปหย่อนบัตรเลือกตั้ง ก่อนเข้านอนใจระทึกว่าจะมีการเลือกตั้งหรือไม่ เพราะแกนนำประชาธิปัตย์มากหน้าหลายตาจัดการชุมนุมปลุกกระแสให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งรณรงค์ปฏิรูปหลังเลือกตั้ง หรือพร้อมๆ กับการเลือกตั้ง วาทกรรมปฏิรูปก่อนเลือกตั้งที่สื่อมวลชนก็ดี ผู้นำองค์กรต่างๆ ก็ดี นักวิชาการก็ดี หลงประเด็นพากันไปตามกระแส

ที่ใจระทึกก็เพราะว่า ถ้าเกิดไม่มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ตามที่เครือข่ายคนชั้นสูงและประชาธิปัตย์ร่วมกันกระพือ ก็หมายความว่าจะต้องมีรัฐประหาร แล้วคณะรัฐประหารก็จะดำเนินการตามที่แกนนำม็อบผู้ชุมนุมเสนอ คือตั้งสภาประชาชนหรือสภาปฏิรูป แล้วก็ตั้งนายกรัฐมนตรี "คนกลาง" ซึ่งเป็น "คนดี" ซึ่งยังไม่ทราบว่าหน้าตาเป็นอย่างไร มาดำเนินการปฏิรูป ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปขึ้นมาใหม่ การเรียกร้อง "ปฏิรูป" นั้นเกิดขึ้นทุกครั้งที่มีความวุ่นวายทางการเมือง แล้วเราก็ได้รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปมาหลายฉบับแล้ว

นอกจากไม่แน่ใจว่าจะได้ไปเลือกตั้งแล้ว ยังระทึกใจว่าจะมีความรุนแรงอย่างที่กรรมการเลือกตั้งขู่ไว้หรือไม่ เพราะมีกรรมการเลือกตั้งคนหนึ่งเดินสายขู่ว่าจะต้องมีความรุนแรงถึงขั้นเลือดตกยางออกในหน่วยเลือกตั้ง ถ้าเกิดมีกรณีอย่างนั้นก็จะได้ไม่ไป เพราะอาจารย์ป๋วยเคยเขียนไว้ในหนังสือ "จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน" ว่า "ถ้าจะตายก็ขออย่าตายอย่างโง่ๆ เพราะความขัดแย้งทางการเมือง" ก่อนไปจึงเปิดโทรทัศน์ดูว่าไม่มีเหตุการณ์อะไรรุนแรงแล้วจึงขับรถออกจากบ้าน เพื่อจะไปหย่อนบัตรเลือกตั้ง

เมื่อไปถึงหน่วยเลือกตั้งที่ 13 เขตดินแดง ประมาณ 09.00 น. เห็นจักรยานยนต์รับจ้างจอดเรียงรายอยู่เต็มหน้าหน่วยเลือกตั้ง มีกระดานปิดใบสมัครรับเลือกตั้ง ปิดรูปผู้สมัครและบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แต่หน่วยเลือกตั้งปิด ไม่มีกรรมการประจำหน่วย ไม่มีเจ้าหน้าที่หน่วย ทีแรกคิดว่ามีการย้ายหน่วยเลือกตั้ง เพราะหน่วยเลือกตั้งตั้งอยู่ในที่ของเอกชน เมื่อถามผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างจึงทราบว่าหน่วยเลือกตั้งทั้งหมดในเขตดินแดงไม่เปิดให้เข้าไปเลือกตั้ง เพราะไม่สามารถนำหีบบัตรเลือกตั้งและอุปกรณ์การเลือกตั้งออกมาจากเขตดินแดงได้

ทันทีที่ทราบว่าหน่วยเลือกตั้งปิด ไม่ให้เลือกตั้ง ความรู้สึกแรกก็คือรู้สึกว่าตนเองถูก "ปล้น" ความเป็นเจ้าของประเทศไปเสียแล้ว รู้สึกว่าเราเป็นเพียง "คนอาศัย" อยู่ในประเทศนี้ เหมือนๆ กับชาวต่างประเทศที่เข้ามารับจ้างทำงานที่บ้านหรือที่อื่นในประเทศนี้เท่านั้น ไม่ได้แคร์ว่าใครจะชนะหรือแพ้การเลือกตั้งเหมือนคราวก่อนๆ

สิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองทุกคน ที่มีสัญชาติไทย เมื่อมีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ หากสิทธิอันนี้ถูก "ปล้น" เอาไป ก็เท่ากับปล้นความเป็นพลเมืองของเราไปด้วย เป็นการก่ออาชญากรรมทางการเมือง เท่าๆ กับการทำรัฐประหารโดยทหารเช่นเดียวกัน

เมื่อกลับมานั่งสงบสติอารมณ์อยู่ที่บ้าน เปิดโทรทัศน์ดูข่าวจึงทราบว่ามีหน่วยเลือกตั้งที่ประชาชนไม่สามารถเข้าไปเลือกตั้ง 10 เปอร์เซ็นต์ แต่อีก 90 เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่คิดทั่วประเทศและในกรุงเทพฯ ยังสามารถเปิดให้ประชาชนเข้าไปลงคะแนนได้

เมื่อทราบว่ามีประชาชนในเขตดินแดงรวมตัวกันไปที่สำนักงานเขตดินแดง เพื่อขอพบผู้อำนวยการเขต จึงทราบว่าบัดนี้คนไทยทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดต่างก็หวงแหนสิทธิในการมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ ไม่เหมือนสมัยที่เรามีประชาธิปไตยครึ่งใบที่คนกรุงเทพฯไม่ค่อยสนใจการเลือกตั้งนัก ไม่เหมือนกับคนต่างจังหวัดที่เขาสนใจการเลือกตั้งมานานแล้ว

ที่แปลกใจก็คือภาพของผู้นำเหล่าทัพทั้งหมดไม่ว่า ผบ.ทบ. ผบ.ทร. ผบ.ทอ. ผบ.สส. ทุกคนไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งอย่างเปิดเผยสง่างาม ไม่เกรงใจผู้ชุมนุมที่เขาชุมนุมเพื่อปูทางให้ทหารทำการปฏิวัติรัฐประหารเลย ที่แปลกใจก็เพราะคิดว่าแม่ทัพนายกองคงจะไม่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ตามที่แกนนำการชุมนุมประกาศ

แต่ขณะเดียวกัน ผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการในเขตทหาร เช่น เขตดุสิต บางเขน พญาไท ทหารระดับล่างกลับไปลงคะแนนเสียงให้พรรคเพื่อไทย ผลออกมาอย่างนี้ผู้บังคับบัญชาก็คงจะต้องเก็บเอาไปคิดเหมือนกัน หากจะทำรัฐประหารตามเสียงเรียกร้องของกลุ่มคนชั้นสูงในวงการต่างๆ ในกรุงเทพฯ

เสียดายอยู่อย่างหนึ่งก็คือ หน่วยเลือกตั้งที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์จะไม่ไปหย่อนบัตรเลือกตั้งไม่เปิด เพราะกรรมการเลือกตั้งประจำหน่วยมาไม่ครบ มิฉะนั้นก็จะได้เห็นคนได้รับรางวัลจาก ม.ล.มิ่งมงคล โสณกุล และได้ไปรับประทานอาหารกับเธอในภัตตาคารหรูที่สุดในเอเชีย ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

ที่ผิดหวังรองลงมาจากกลุ่มผู้ชุมนุมที่จัดโดยแกนนำประชาธิปัตย์ ก็คงจะเป็นเครือข่ายผู้กุมอำนาจรัฐต่างๆ เช่น กกต. ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และ ป.ป.ช. ที่พยายามสกัดกั้นพรรคเพื่อไทย พยายามขัดขวางการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาธิปัตย์เกลียดที่สุด แต่โทรทัศน์ก็ไม่ได้เสนอภาพประธานและตุลาการศาลต่างๆ เหล่านั้นไปหย่อนบัตรเลือกตั้งกับเขาหรือไม่ เลือกตั้งคราวหน้าสื่อมวลชนน่าจะติดตามแบบเดียวกับติดตามนักการเมือง ผู้นำทหาร เพราะบัดนี้ท่านเหล่านั้นล้วนมีบทบาททางการเมืองไม่น้อยเหมือนกัน

ต่อไปนี้ก็คงจะต้องปรึกษากันว่า จะโยนให้ศาลที่เกี่ยวข้องหรือองค์กรอิสระอื่นวินิจฉัยว่า การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เป็นโมฆะได้อย่างไร ซึ่งก็คงทำได้ไม่ยาก เพราะเรื่องที่ยากกว่านี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์มามากกว่านี้ก็ยังทำได้ แต่ขอให้เขียนคำวินิจฉัยให้มีเหตุผล ให้มีตรรกะดีกว่านิสิตนิติศาสตร์ปีที่ 1 เขียนคำตอบในการสอบหน่อยก็จะดี

ที่ฝ่ายสนับสนุนการเลือกตั้ง นิยมระบอบประชาธิปไตย เตรียมฝันหวานว่าจะมีการเลือกตั้งซ่อมอีก ในเขตและหน่วยที่มีปัญหา คงจะเป็นการฝันกลางวัน เมื่อประชาธิปัตย์ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาเป็นโมฆะ ศาลรัฐธรรมนูญก็คงจะรับลูกวินิจฉัยว่า การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เป็นโมฆะอย่างไม่ต้องสงสัย รัฐบาลคงต้องออกพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งใหม่ คราวนี้ประชาธิปัตย์ ก็คงจะลงเลือกตั้ง และก็แพ้เลือกตั้งอีก และก็จะทำอย่างเดิมอีกคือต่อต้านการเลือกตั้งไปเรื่อยๆ

มีพรรคพวกหลายคนที่เป็นนักคิด พยายามหาคำตอบทุกทฤษฎีทางรัฐศาสตร์ที่สลับซับซ้อน แต่ก็มาฉุกคิดว่า บางทีสำหรับประเทศที่ยังอ่อนด้อยในการพัฒนาความคิดในทางการเมือง ที่ไม่ใช่เป็นรูปธรรมอย่างเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องผังเมืองหรือเรื่องอื่นๆ สำหรับประเทศที่ความคิดทางการเมืองยังล้าหลังอยู่นี้ ความยึดถือในตัว "บุคคล" หรือ "บุคลาธิษฐาน" หรือที่ฝรั่งเขาเรียกว่า "personality cult" ยังมีความสำคัญยิ่งกว่าความรู้สึกเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ภราดรภาพ ความเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นพื้นฐานของความคิดในเรื่องประชาธิปไตย

ประชาชนที่ถูกครอบงำด้วยความคิดในเรื่อง "บุคคล" ไม่ว่าด้วยกระแสของสังคม ด้วยการอบรมสั่งสอนหรือด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ อย่างที่เราเห็นในประเทศค่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์เมื่อไม่นานมานี้ ย่อมจะมีความรู้สึก "เกลียด" และรู้สึก "รัก" อย่างรุนแรง แต่เมื่อค่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ล่มสลายไป ยังคงเหลือแต่เกาหลีเหนือและคิวบาเท่านั้นที่ยังใช้ระบบบูชาผู้นำหรือ "บุคลาธิษฐาน" อยู่ นอกนั้นก็เปลี่ยนมาเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบหลายพรรคแล้ว จะคงเหลือก็แต่ประเทศจีน เวียดนาม คิวบา เกาหลีเหนือ และประเทศเล็กอื่นๆ ไม่กี่ประเทศ แต่ก็มีการปฏิรูป มีการปรับปรุงให้เกิดการแข่งขัน หรือระบอบประชาธิปไตยภายในพรรคทั้งนั้น "ลัทธิบุคลาธิษฐาน" ค่อยๆ ละลายหายไปกลายเป็นการยึดถือ "ระบอบ" แทน

ถ้ามองว่าขณะนี้ประเทศของเรากำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ประชาชนแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายอนุรักษนิยม คนชั้นกลางและคนชั้นสูงในเมือง ฝ่ายหนึ่งเป็นคนชั้นล่างในต่างจังหวัด ระยะเวลาของการเปลี่ยนผ่านคงจะไม่ยาวมากนัก สงครามกลางเมืองในประเทศอังกฤษใช้เวลา 8 ปี สหรัฐอเมริกากินเวลา 4 ปี ของเราคงจะไม่ถึงอย่างนั้น ขอเพียงอย่ามีความรุนแรงบาดเจ็บล้มตาย

เมื่อไปลงคะแนนเสียงที่หน่วยเลือกตั้งไม่ได้ และได้ยินว่าจะมีเลือกตั้งใหม่ในหน่วยเลือกตั้งที่ปิด ก็เข้าใจว่าอารมณ์ความเกลียดของผู้คนที่ยังยึดตัวบุคคลยังรุนแรงอยู่ ก็ไม่เป็นไร เมื่อเวลาผ่านไป ตัวบุคคลในองค์กรอิสระเช่นศาลรัฐธรรมนูญเปลี่ยนไป มีการเลือกตั้งบ่อยๆ เข้า วันหนึ่งสถานการณ์ก็คงจะเข้ารูปเข้ารอยเอง ไม่ต้องใจร้อนใช้ความรุนแรงให้เสียเลือดเสียเนื้อ

แม้แต่รัฐธรรมนูญ คมช.ฉบับปี 2550 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่มีบทบัญญัติที่ไม่เป็นธรรมชาติอยู่หลายบทหลายตอน และต้องการการแก้ไขหรือยกร่างทั้งฉบับ วันหนึ่งการแก้ไขหรือการยกร่างทั้งฉบับก็คงจะเกิดขึ้น เมื่อเวลาอันเหมาะสมเกิดขึ้น กงล้อประวัติศาสตร์ย่อมหมุนไปข้างหน้าไม่หยุดหย่อน

ความสับสนทางความคิดที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยในช่วงเปลี่ยนผ่าน ก็แสดงอาการของมันออกมาจากความวุ่นวาย เละเทะ ไม่มีกฎเกณฑ์ ไม่เคารพกฎหมายในวันเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ ต้องถือว่าเป็นของธรรมดา อย่าไปตื่นเต้น เมื่อเวลาผ่านไป 10-20 ปี แล้วหันกลับมาดูก็จะมีความรู้สึกอีกอย่างหนึ่ง

ให้เวลาเป็นตัวแก้ปัญหาทางอารมณ์ไป เมื่ออารมณ์ผ่อนคลายลง เหตุผลก็จะกลับเข้ามาแทนที่ สมกับคำว่า "น้ำเชี่ยวอย่าเรือขวาง"

กำลังรอฟังว่าเขาจะให้ไปเลือกตั้งใหม่วันไหน หรือศาลรัฐธรรมนูญจะประกาศให้การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะ หรือใครจะออกมาปฏิวัติ จะได้ปฏิบัติตัวให้ถูกในฐานะ "คนอาศัย" ของประเทศนี้

จะเอาอย่างไรก็บอกมา


ที่มา:มติชน
--------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น