--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ก.คลัง งัดเครดิตไลน์แบงก์รัฐ ช่องทางหาเงินกู้แก้ปัญหาเฉพาะหน้า.

เปิดเบื้องหลังแบงก์ออมสินปล่อยกู้ธ.ก.ส.วงเงิน2หมื่นล้านจ่ายโครงการจำนำข้าว

แผนการปล่อยกู้เงินของธนาคารออมสินให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ผ่านการกู้เงินระหว่างธนาคาร (อินเตอร์แบงก์) ไปเมื่อเร็วๆ นี้ ถือเป็นการปล่อยกู้ก้อนแรกเพื่อแก้ปัญหาการจ่ายหนี้ค่าข้าวให้กับชาวนาที่กำลังเป็นปัญหาจากโครงการรับจำนำข้าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่าขณะนี้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังได้ขอความร่วมมือไปยังสภาสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SSI) ประกอบด้วยธนาคารรัฐ 4-5 แห่ง อาทิเช่น ธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ธนาคารเพื่อพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอีแบงก์) ธนาคารออมสิน เป็นต้น ที่มีศักยภาพในการปล่อยกู้ให้แก่ ธ.ก.ส. ผ่านอินเตอร์แบงก์วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ย 1.78-2.5% ระยะเวลา 30 วัน โดยกระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าว เพื่อนำไปจ่ายหนี้ตามใบประทวนของชาวนาที่เข้าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2556/57

อย่างไรก็ตาม การกู้เงินของธ.ก.ส.ครั้งนี้ กระทรวงการคลังได้มีหนังสือยืนยันการค้ำประกันการกู้เงินให้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ผ่านอินเตอร์แบงก์ ที่เป็นเครดิตไลน์ของธนาคารรัฐ กรณีที่ธนาคารใดธนาคารหนึ่งต้องการความช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง ซึ่งกรณีของธ.ก.ส.แม้จะไม่มีปัญหาสภาพคล่อง แต่การกู้เงินครั้งนี้เพื่อต้องการนำไปใช้จ่ายหนี้ชาวนาซึ่งเป็นนโยบายรัฐบาลที่จะให้ดำเนินการลักษณ์ดังกล่าว

คลังงัด"เครดิตไลน์"หาเงินช่วยชาวนา

ทั้งนี้คณะอนุกรรมการฝ่ายกฎหมายของธ.ก.ส.ได้พิจารณาแล้ว เห็นว่าไม่ขัดต่อข้อกฎหมาย เนื่องจากกระทรวงการคลังได้ยืนยันว่าเป็นการปฏิบัติตามมติครม.เมื่อวันที่ 21 ม.ค.2557 ที่อนุมัติให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้แหล่งเงิน ที่จะนำมาใช้ในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งเป็นวงเงินก้อนใหม่ และยังมีความเห็นของสำนักงานกฤษฎีกาว่ากระทรวงการคลังสามารถดำเนินการได้

"แนวคิดในการกู้ผ่านเครดิตไลน์ เป็นข้อเสนอจากการหารือร่วมกับนายแบงก์ใหญ่ของรัฐแห่งหนึ่ง ที่เสนอให้ใช้แนวงทางดังกล่าว เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการต่อต้านและขัดหลักกฎหมาย เพราะถือเป็นการบริหารสภาพคล่องของธนาคารปกติ" แหล่งข่าว ระบุ

ทั้งนี้ธ.ก.ส.ได้รับเงินงวดแรกมาแล้ว 5,000 ล้านบาท ได้เตรียมทยอยจ่ายให้แก่ชาวนาพื้นที่ภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่างและภาคอีสานในสัปดาห์หน้า ซึ่งธ.ก.ส.ได้ทยอยจ่ายเงินค่าข้าวให้ชาวนาที่เข้าโครงการรับจำนำไปแล้วตั้งแต่ต้นฤดูผลิตปี 2556/57 ทั้งสิ้นจำนวน 6.5 หมื่นล้านบาท ปริมาณข้าว 3.6 ล้านตัน ชาวนา 5 แสนราย จากใบประทวนที่รับจำนำไว้ทั้งหมด 1.79 แสนล้านบาท จำนวนข้าว 10.8 ล้านตัน จำนวนชาวนา 1.4 ล้านราย โดยมีวงเงินที่ยังค้างจ่ายแก่ชาวนาทั่วประเทศขณะนี้อยู่ที่ 1.14 แสนล้านบาท ชาวนา 9 แสนราย

อ้างมติครม.ยันกู้ผ่านอินเตอร์แบงก์ได้

แหล่งข่าวกล่าวว่า การปล่อยกู้เงินผ่านอินเตอร์แบงก์ของธนาคารออมสินครั้งนี้ นายกิตติรัตน์ ยืนยันว่าสามารถดำเนินการได้ โดยอาศัยมติครม.เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2556 ที่อนุมัติให้ขยายกรอบวงเงินดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2556/2557 เพิ่มเติมอีก 1.3 แสนล้านบาท จากรอบวงเงินเดิม 5 แสนล้านบาท โดยให้กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงิน

"กระทรวงการคลังได้ขอความร่วมมือผ่านสภาสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ การปล่อยกู้ให้แก่ธ.ก.ส. โดยแต่ละสถาบันการเงินจะช่วยเหลือสภาพคล่องตามศักยภาพที่สามารถดำเนินการได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินของตัวเอง พร้อมกันนี้ก็ได้ขอความร่วมมือไปยังสมาคมธนาคารไทย เพื่อขอให้ธนาคารพาณิชย์เอกชนร่วมปล่อยกู้ด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาว่าจะมีธนาคารแห่งใดที่จะปล่อยกู้ให้ได้บ้าง "แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าว กล่าวอีกหลังจากธ.ก.ส.กู้เงินผ่านตลาดอินเตอร์แบงก์ ซึ่งเป็นตลาดเงินกู้ระยะสั้นแล้ว กระทรวงการคลังได้เตรียมแผนที่จะออกพันธบัตรรัฐบาล อายุระหว่าง 3-5 ปีจำหน่ายให้แก่ รัฐวิสาหกิจที่มีสภาพคล่องจำนวนมาก เพื่อระดมเงินมาชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นจากตลาดอินเตอร์แบงก์ที่จะครบกำหนดชำระคืนภายใน 30 วัน เบื้องต้นนายกิตติรัตน์ ได้ประสานกับรัฐวิสาหกิจบางแห่งไปบ้างแล้ว อาทิ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)

"ธีระชัย"เตือนธ.ก.ส.ซิกแซกส่อผิดอาญา

นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง ตั้งข้อสังเกตถึงการกู้เงินผ่านระบบอินเตอร์แบงก์ของธ.ก.ส.ว่าขณะนี้ ธ.ก.ส .มีสภาพคล่องสำหรับธุรกิจปกติอยู่หลายหมื่นล้านอยู่แล้ว การดิ้นรนไปกู้สภาพคล่องให้บานตะไทออกไปอีก ย่อมอยู่ในข่ายน่าสงสัย ธ.ก.ส. ดำเนินการโครงการนี้ ตามคำสั่งของรัฐบาล จึงต้องแยกบัญชีออก ต่างหากจากธุรกิจปกติอื่นๆ และการกู้ยืมเพื่อโครงการนี้ ก็โดยอนุมัติของกระทรวงการคลัง และมีคลังค้ำประกัน โดยจะมีการเสนอ ครม. เพื่ออนุมัติก่อนดำเนินการแต่ละครั้ง

ดังนั้น หาก ธ.ก.ส. จะใช้เงินสภาพคล่องที่ ธ.ก.ส. หาเอง ก็จะเป็นการเปลี่ยนวิธีไปจากเดิมและจะไม่แตกต่างจากกรณีก่อนหน้านี้ ที่รัฐมนตรีคลังเคยเรียกร้องให้ ธ.ก.ส. นำเอาสภาพคล่อง ที่มีไว้เพื่อรองรับธุรกิจอื่นๆ ให้เอามาใช้ในโครงการนี้ แต่สหภาพไม่ยอมและเนื่องจากจะไม่มีรัฐบาลค้ำประกัน (มีแต่จดหมายรับรู้การกู้เท่านั้น) ธ.ก.ส. จึงจะต้องเสี่ยงเอาเอง

"วิธีการ คือบอร์ดต้องอนุมัติ หากเกิดเสียหายบอร์ดและผจก. ก็ต้องร่วมกัน หารสั้น หารยาว เฉลี่ยความรับผิดชอบทางแพ่ง แต่ยังมีอีกปัญหา คือที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ไม่เคยมีการโอนรายการ ข้ามจากบัญชีปกติ ไปใช้ในบัญชีนโยบายทางการ ซึ่งแยกต่างหาก หากมีการทำอะไร ที่ผิดแผกแหวกแนวไปจากปกติเดิม ก็จะเข้าข่าย ถูกสงสัย ว่าร่วมมือกับรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดผลดีแก่พรรคร่วมรัฐบาล คราวนี้จะติดกันเป็นพรวน จะมีความผิดอาญาด้วยอีกโสดหนึ่ง"

"วรวิทย์"ปัดคลังค้ำประกัน

ด้านนายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ยืนยันว่า ธนาคารได้ปล่อยเงินกู้ในตลาดอินเตอร์แบงก์ ให้กับธ.ก.ส.ไปแล้ว 5,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยไม่ได้มีกระทรวงการคลังเข้ามาค้ำประกันแต่อย่างใด และการปล่อยกู้ครั้งนี้ธนาคารก็ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าว

“เราปล่อยกู้ระหว่างแบงก์กันเองไม่มีฝ่ายที่สามเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นการให้กู้ตามข้อตกลงระหว่างกลุ่มธนาคารรัฐว่า จะช่วยเหลือสภาพคล่องซึ่งกันและกัน โดยธนาคารออมสินเปิดวงเงินไว้ 2 หมื่นล้านบาท” นายวรวิทย์ กล่าว

แบงก์ออมสินยันคุยสหภาพฯแล้ว

ส่วนปัญหาการต่อต้านจากสหภาพแรงงานธนาคารออมสิน ต่อการปล่อยเงินกู้ให้โครงการรับจำนำข้าวนั้น นายวรวิทย์ กล่าวว่าได้คุยกับสหภาพแรงงานฯแล้ว ถึงการปล่อยกู้ครั้งนี้ โดยยืนยันว่าจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว แต่เมื่อธนาคารรัฐอื่น มีความเดือดร้อนเรื่องสภาพคล่องก็ต้องเข้าไปช่วยในตลาดอินเตอร์แบงก์

การปล่อยกู้ในอินเตอร์แบงก์นั้น คิดดอกเบี้ยตามตลาด อายุไม่เกิน 30 วัน ส่วนจะยืดอายุเงินกู้ออกไปหลายๆรอบหรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่ได้พิจารณา

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีข่าวว่านายกิตติรัตน์ ได้สั่งให้ธนาคารออมสินปล่อยกู้ธ.ก.ส. โดยกระทรวงการคลังค้ำในลักษณะ ออกเป็นหนังสือ Letter of comfort ซึ่งหนังสือดังกล่าวเป็นหนังสือที่แสดงความประสงค์ ที่กระทรวงการคลัง อยากจะค้ำประกัน แต่ยังไม่สามารถทำได้ก็จะพูดให้กำลังใจไว้ก่อน เอาไว้เมื่อพ้นสภาพรักษาการณ์ค่อยออกหนังสือค้ำประกันจริงๆ ภายหลัง

แหล่งข่าวจากธ.ก.ส. กล่าวว่า ในส่วนของธนาคารไม่ได้มีปัญหาขาดสภาพคล่อง ปัจจุบันมีสภาพคล่องส่วนเกิน 1.8 แสนล้านบาท หากต้องหักในส่วนของการดำรงค์เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง ตามกฎของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)แล้วทางธ.ก.ส.

ก็ยังมีสภาพคล่องส่วนเกินประมาณ 8-9 หมื่นล้านบาท ซึ่งเพียงพอที่จะนำมาปล่อยสินเชื่อปกติของธนาคาร

สหภาพธ.ก.ส.ชี้ผู้บริหารต้องรับผิดชอบผิดกม.

นายประสิทธิ์ พาโฮม ประธานสหภาพแรงงาน ธ.ก.ส.กล่าวว่า ทางสหภาพฯจะตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับกรณีที่มีกระแสข่าวว่า ธนาคารได้เข้าไปกู้เงินอินเตอร์แบงก์กับธนาคารออมสิน โดยคาดว่า จะทราบรายละเอียดที่แท้จริงวันจันทร์ที่ 17 ก.พ.นี้ เพราะเป็นเวลาทำการตามปกติ แต่เท่าที่ตรวจสอบขณะนี้ ยังไม่พบว่า มีเงินโอนเข้ามาหรือจ่ายออกไปสำหรับโครงการจำนำข้าวแต่อย่างใด

เขากล่าวว่า หากธนาคารดำเนินการกู้เงินดังกล่าวจริง จะต้องตรวจสอบว่า กู้ไปดำเนินงานด้านใด เนื่องจาก โดยหลักการของการกู้ลักษณะนี้ คือ กู้เพื่อเสริมสภาพคล่อง แต่ขณะนี้ ธนาคารไม่ได้มีปัญหาด้านสภาพคล่องแต่อย่างใด และ มีกฎหมายใดที่รองรับการกู้และใช้จ่ายเงินตัวนี้ หากมีปัญหาในทางปฏิบัติ ทางฝ่ายบริหารหรือผู้ที่เข้าไปดำเนินการกู้นั้น จะต้องรับผิดชอบ

"จะต้องดูว่า เงินกู้นี้ มีกฎหมายใดรองรับ และมีความเสี่ยงต่อธนาคารหรือไม่ เพราะการกู้ลักษณะนี้ ธนาคารต้องเสียดอกเบี้ยสูงกว่าปกติ ขณะเดียวกัน ก็ยังกระทบต่อสัดส่วนการกู้ในภาพรวมของธนาคารด้วย"

เสนอรวมใบประทวนทำซิเคียวริไทซ์

นายนิวัฒน์ กาญจนภูมินทร์ กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่าข้อเสนอการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (ซีเคียวริไทซ์) เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือชาวนาที่ได้รับความเดือนร้อน ถือเป็นข้อเสนอที่ดี ในความเห็นส่วนตัวแล้ว การทำซีเคียวริไทซ์ทำได้ เพียงแต่ไม่ควรนำสต็อกข้าวมาเป็นหลักทรัพย์ในการออกตราสาร แต่ควรใช้หนี้ที่รัฐบาลติดชาวนามาเป็นหลักประกันในการออก คือการนำเอาใบประทวนมาเป็นหลักทรัพย์ในการออกตราสาร

“ความจริงแล้วการที่ชาวนาเอาข้าวไปจำนำคือชาวนาขอกู้ โดยเอาใบประทวนเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ทำให้รัฐบาลหรือธ.ก.ส. เป็นเจ้าหนี้ชาวนา ดังนั้นธ.ก.ส.ควรขายหนี้ส่วนนี้ โดยอาจตั้งเป็นนิติบุคคล เพื่อทำซีเคียวริไทซ์ ถ้าทำแบบนี้ใบประทวนก็จะตามมาพูดง่ายๆคือเอาหนี้ที่อยู่ในรูปใบประทวนมาออกเป็นตราสารซีเคียวริไทซ์ ถ้าทำได้ชาวนาก็อยู่รอดได้”นายนิวัฒน์ กล่าว

ประเด็นสำคัญอยู่ที่การออกขายตราสารชนิดนี้ ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนทั่วไปว่า การทำลักษณะนี้ไม่ได้เป็นการช่วยรัฐบาลแต่เป็นการช่วยชาวนา โดยเปิดขายให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาซื้อลงทุนได้ หากทำเช่นนี้ได้สถาบันการเงินก็กล้าเข้ามาลงทุนโดยไม่ต้องกลัวความเสี่ยงว่าจะถูกประชาชนแห่ถอนเงิน

จริงๆแล้วสาเหตุที่แบงก์ไม่กล้าปล่อยกู้ให้รัฐบาลมี 2 เรื่องหลัก คือเกรงว่าจะมีความเสี่ยงในแง่กฎหมาย กับความกลัวเรื่องกระแสสังคม กลัวว่าคนจะแห่ถอนเงิน ดังนั้นต้องแก้ 2 ปัญหานี้ ให้ได้ถึงจะถึงให้สถาบันการเงินกล้ามาลงทุน เพราะหากดึงให้คนทั่วไปร่วมลงทุนโดยมองว่าเป็นการช่วยชาวนาที่ได้รับความเดือดร้อนไม่ได้ช่วยรัฐบาล ผมเชื่อว่าจะสร้างความเชื่อมั่นได้ดีขึ้น ประชาชนไม่ว่าจะอยู่สีเหลืองหรือสีแดงก็สามารถลงทุนเพื่อช่วยชาวนาได้

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
-------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น