--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอาทิตย์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

"เจรจา" หรือ "กลียุค" ทางสองแพร่งที่รัฐต้องเลือก

สมมติว่ารัฐบาลใช้กำลังสลาย ม็อบก็กระเจิงไป แต่ถามว่าจบไหม เพราะทุกอย่างจะลงไปใต้ดิน แล้วเราจะอยู่กันอย่างไร

สถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ณ วันนี้ กำลังอยู่ในจังหวะ "หาทางลง" แต่ไม่ใช่การ "ลง" อย่างพ่ายแพ้ เพราะกระแส "คนเสื้อแดง" ไม่ได้จำกัดอยู่ที่สี่แยกราชประสงค์ หรือถนนพระรามที่ 1 ซึ่งใช้เป็นนิวาสสถานหลับนอนอีกต่อไปแล้ว แต่มันได้แทรกซึมไปแทบทุกอณูของสังคมไทย

โดยเฉพาะผู้คนมากมายในแถบภาคเหนือและอีสาน

จุดนี้เองที่ทำให้การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลยากยิ่งกว่ายาก โดยเฉพาะหากจะเลือกแนวทางสลายการชุมนุม เพราะจำนวนผู้ชุมนุมไม่ได้มีแค่ที่เห็น หรือแค่ตัวเลขที่หน่วยข่าวรายงานเข้าไป แต่ยังมีเสื้อแดงแอบแฝงอยู่อีกมากมาย ที่พร้อมจะลุกฮือเมื่อรัฐบาลใช้ความรุนแรง

พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ถึงกับออกปากว่า การตัดสินใจเลือกวิธีแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของรัฐบาล ถือว่าสำคัญที่สุดในขณะนี้ และจะเป็นตัวกำหนดอนาคตของประเทศไทยในทศวรรษต่อไปเลยทีเดียว

พล.อ.เอกชัย หรือที่คนใกล้ชิดและลูกศิษย์ลูกหาเรียกกันติดปากว่า "ลุงเอก" นักยุทธศาสตร์นอกกองทัพ ที่เคยผ่านงานมาแล้วทั้งบุ๋นและบู๊

นอกจากภารกิจปัจจุบันที่พยายามเป็นตัวกลางเชื่อมประสานทุกระดับให้เกิดการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มคนเสื้อแดงแล้ว เขายังเป็นอดีตนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 10 รุ่นเดียวกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีด้วย

ทัศนะของ "ลุงเอก" จึงมิอาจปล่อยผ่านให้ลอยไปกับสายลม...

สลายม็อบ..."กลียุค"

พล.อ.เอกชัย เริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์สถานการณ์เฉพาะหน้า คือ การเผชิญหน้าของกลุ่มคนเสื้อแดงกับรัฐบาล

"เฉพาะหน้าขณะนี้ ผมคิดว่าโอกาสที่ทั้งสองฝ่ายจะใช้ความรุนแรงต่อกันมีมากขึ้น รัฐบาลมีโอกาสสูงที่จะใช้วิธีสลายม็อบ แต่ถ้าทำแล้วมีความรุนแรงจะเกิดกลียุคไปทั่วประเทศ แต่ถ้าไม่ทำอะไร สมมติ นปช.อยู่อีก 3 เดือน ถามว่าอยู่ได้ไหม ก็คงอยู่ได้ แต่เศรษฐกิจก็ต้องล่มสลาย"

ในฐานะที่รับราชการทหารมาเกือบทั้งชีวิต พล.อ.เอกชัย มองว่า รัฐบาลมีศักยภาพพอที่จะปราบม็อบได้ภายใน 1-2 วัน แต่นั่นย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงความรุนแรง

"สมมติว่ารัฐบาลทำอย่างนั้น ม็อบก็กระเจิงไป แต่ถามว่าจบไหม เราจะอยู่กันอย่างไร เพราะทุกอย่างจะลงไปใต้ดิน หลายประเทศก็มีประสบการณ์แบบนี้แล้วมันไม่จบ แต่มันจะรบกันต่อไปอีก 1 ปี 2 ปี 3 ปี เราจะเลือกทางเดินอย่างไรในการแก้ปัญหา ผมคิดว่าระยะสั้นตรงนี้สำคัญที่สุด ก่อนจะไปคิดถึงระยะยาว จุดนี้ต้องเปิดช่องทางพูดคุยกันให้ได้"

เจรจา...ยังไม่สาย

เมื่อเอ่ยถึงการพูดคุย-เจรจา หลายคนอาจจะมองว่าสถานการณ์ ณ วันนี้ ล่วงเลยจุดนั้นมามากแล้ว แต่ พล.อ.เอกชัย ไม่ได้คิดเช่นนั้น

"โดยหลักแล้วการเจรจาสามารถทำได้ทุกขั้นตอนของความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่ยังไม่เกิดความขัดแย้ง หรือเมื่อความขัดแย้งเกิดไปแล้ว รวมไปถึงความขัดแย้งจบแล้วก็ยังต้องคุยกัน สรุปก็คือการเจรจาสามารถป้องกันความขัดแย้ง แก้ไขความขัดแย้งได้ และเยียวยาให้เกิดการปรองดองกันได้ในที่สุด"

"ฉะนั้นเรื่องเจรจาไม่มีคำว่าสาย ในภาวะสงครามก็ยังมีการพูดคุยกัน ไม่มีหยุด ในมินดาเนา (ประเทศ)

อย่างไรก็ดี ยังมีเสียงทักท้วงจากบางฝ่ายที่หวั่นเกรงว่าการเปิดเจรจาจะทำให้เรื่องผิดกฎหมายกลายเป็นความถูกต้อง แต่ประเด็นนี้ พล.อ.เอกชัย อธิบายว่า การเจรจาต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย จะมาเจรจาเพื่อขอทำสิ่งผิดกฎหมายไม่ได้ ยกเว้นสิ่งที่กฎหมายเปิดให้ทำได้ เช่น การนิรโทษกรรม แต่ทั้งนี้ ไม่ใช่ไปยกเลิกความผิดทั้งหมด เพราะไม่อย่างนั้นต่อไปก็จะมีการกระทำแบบเดิมอีก

"หลักการก็เหมือนกับในศาสนาพุทธ คือ ใครทำกรรมชั่วแล้ว ไม่สามารถทำดีมาล้างความชั่วได้ กรรมชั่วยังมีอยู่ เช่นเดียวกันไม่ใช่ทำผิดกฎหมายแล้วจบ การนิรโทษกรรมอาจทำเฉพาะเรื่องได้ เหมือนกับในกฎหมายความมั่นคง (พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551) มาตรา 21 ที่เปิดช่องให้ผู้หลงผิดเข้ารับการอบรมของทางราชการ ก็จะไม่ถูกดำเนินคดีอาญา ลักษณะนี้ก็คล้ายๆ กับการนิรโทษกรรมเหมือนกัน"

กระนั้นก็ตาม ยังมีอีกหนึ่งปัญหาที่กดดันการเจรจา คือ คนไทยส่วนใหญ่มักเชื่อว่าคนที่ขอเจรจา คือ คนที่กำลังจะพ่ายแพ้ แต่ พล.อ.เอกชัย แย้งแนวคิดนี้แบบ 360 องศา

"หลักการเจรจาเราต้องเจรจาตอนได้เปรียบ ไม่ใช่ตอนเสียเปรียบ เพราะเวลาเรากำลังได้เปรียบเราต่อรองได้มาก แต่ถ้ากำลังเสียเปรียบ เราจะเรียกร้องอะไรก็ยาก ตอนนี้ผมมองว่ารัฐบาลได้เปรียบอยู่ มีคนสนับสนุนรัฐบาลเยอะ รัฐบาลน่าจะริเริ่มเจรจาโดยไม่ต้องรอให้ฝ่ายเสื้อแดงขอเจรจา รัฐบาลต้องใช้เกมรุกเปิดช่องเลยว่าพร้อมจะพูดคุยแล้ว"

ติดที่นายกฯ

นอกจากจะเสนอให้เปิดการเจรจาแล้ว พล.อ.เอกชัย ยังทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมประสานให้เกิดการเจรจาทุกระดับ ทั้งกับฝ่ายรัฐบาล และ นปช.

"เท่าที่คุยมาก็มีช่องทางไปได้ ผมได้คุยกับรัฐมนตรีประชาธิปัตย์มากกว่า 4 คน ซึ่งเป็นระดับที่ตัดสินใจได้ ได้คุยกับ ส.ส.ประชาธิปัตย์และพรรคร่วมรัฐบาล รวมทั้งรัฐมนตรีของพรรคร่วมรัฐบาล ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าอยากให้เจรจา แต่เสียงของทุกคนยังไม่หนักแน่นพอ ไม่กล้าพูดกับผู้นำรัฐบาล ในการพูดคุยกันหลายๆ ครั้งจึงพยายามพึ่งเราให้ช่วยสื่อสารแทนด้วย"

"ส่วนฝ่ายเสื้อแดง ก็คุยกับทั้งแกนนำที่ราชประสงค์และกลุ่มที่ร่วมวางแผน ได้คุยกันนับสิบคน ฝ่าย นปช.จุดยืนก็ชัด คือ บอกว่าเมื่อไรรัฐบาลพร้อมคุยก็มาเจรจากันได้เลย ฉะนั้นขณะนี้ ระดับล่างเปิดหมดแล้ว แต่ระดับบนยังไม่มีสัญญาณ เท่าที่ผมทราบบางครั้งบางระดับยังมีการสั่งห้ามพูดคุยเจรจาด้วย อย่างกรณีของคุณสุขุมพันธุ์ (ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร) ผมจึงอยากขอว่าน่าจะปล่อยให้เป็นธรรมชาติ อย่าไปห้าม เพราะนักการเมืองก็รู้จักกันอยู่แล้ว"

จากประสบการณ์การเจรจามานับครั้งไม่ถ้วน พล.อ.เอกชัย บอกยิ้มๆ ว่า พอเจรจาเข้าจริงๆ ข้อเรียกร้องเรื่องยุบสภาอาจจะหายไปเลยก็ได้

"การคุยกันไม่จำเป็นต้องตกลงกันได้ เมื่อไรเห็นตรงกันในเรื่องไหนค่อยตกลงกันในบางเรื่อง แต่สิ่งที่ควรเกิดขึ้นคือคุยกันดีๆ และค่อยๆ แก้ปัญหาไป สุดท้ายคุยไปคุยมาข้อเรียกร้องอาจจะไม่ใช่ยุบสภา แต่อาจจะให้อยู่ต่อจนครบวาระ ภายใต้เงื่อนไขว่ารัฐบาลต้องทำอะไรบ้างก็ได้ ถ้าทำไม่สำเร็จแล้วเข้าสู่สนามเลือกตั้งคุณก็พ่ายแพ้ไป...อะไรอย่างนี้"

อย่าผลัก "แดง" เข้ามุม
การที่ "ลุงเอก" พยายามตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการพูดคุยเจรจา ก็เพราะประเมินแล้วเห็นว่า สถานการณ์ของกลุ่มเสื้อแดงในขณะนี้ ไม่ใช่จะจบลงง่ายๆ แค่การสลายม็อบที่ราชประสงค์ และแม้ข่าวลือการป่วยหนักหรือเสียชีวิตของ พ.ต.ท.ทักษิณ จะเป็นความจริง ก็ไม่อาจหยุดวงจรการเคลื่อนไหวได้อีกต่อไป

"แม้กระทั่งคุณทักษิณตายผมก็ไม่เชื่อว่าจะจบ แน่นอนว่า ช่วงเริ่มการเคลื่อนไหว คุณทักษิณเป็นตัวละครสำคัญตัวหนึ่งที่ใช้ปลุกกระแส แต่ต่อมาเมื่อมีประเด็นตอกย้ำเรื่องชนชั้น เรื่องสองมาตรฐาน เรื่องการเลือกปฏิบัติ และคนเสื้อแดงในชนบทส่วนใหญ่ก็เข้าไม่ถึงอำนาจและทรัพยากรในประเทศจริงๆ ประเด็นเหล่านี้มันจึงชี้ให้เห็นได้ชัดเจน มันจึงโดนใจ และฝากรากในจิตใจไปแล้ว ทั้งความต่ำต้อยเอย การไม่ได้รับความยุติธรรมเอย"

"ที่สำคัญ เท่าที่ผมสังเกต มีคนแก่มาร่วมชุมนุมเยอะมาก แล้วคนอีสานนั้นจะเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่ มีระบบเจ้าโคตร ฉะนั้นรัฐบาลจะทำอะไรต้องระวัง จะกล่าวหาอะไรต้องคิดให้ถี่ถ้วนถึงผลกระทบที่จะตามมา โดยเฉพาะการกล่าวหาเรื่องล้มเจ้า หมิ่นสถาบัน เป็นเรื่องอันตรายมาก เพราะชาวบ้านรากหญ้าเหล่านี้ เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ยิ่งชีวิตทุกคน"

พล.อ.เอกชัย ชี้ว่า รัฐบาลอาจมองประโยชน์ด้านการปลุกกระแสสังคม จึงพูดเรื่องก่อการร้าย หรือขบวนการล้มเจ้า แต่หากมองอีกแง่หนึ่งจะพบว่า การที่เราไม่ได้มีข้อมูลชัดเจนแล้วไปชี้นิ้วว่ากลุ่มต่างๆ เป็นพวกก่อการร้าย เป็นพวกล้มสถาบัน แล้วพูดผ่านสื่อบ่อยๆ จนเข้าใจว่าเสื้อแดงทั้งหมดเป็นก่อการร้าย และพวกล้มสถาบัน สุดท้ายคนเหล่านั้นจะถูกผลักออกไป และจะส่งผลร้ายย้อนกลับมาสู่รัฐบาลเอง รวมถึงรัฐบาลต่อๆ ไปในอนาคตด้วย เนื่องจากปัญหาจะกินลึกและแก้ยากมาก

ใครจัดฉาก "คอกวัว"
ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล ยังวิเคราะห์ว่า สถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในขณะนี้ มีปมเงื่อนที่ซับซ้อนมากกว่าการเผชิญหน้าระหว่างคนเสื้อแดงกับรัฐบาล

"ที่เห็นได้ชัด คือ เหตุการณ์วันที่ 10 เมษาฯ ทหารไม่ได้วางแผนมาให้เกิดเหตุการณ์อย่างนั้นแน่นอน เพราะทหารเองก็สูญเสีย ขณะที่เสื้อแดงก็มาจากราชประสงค์ และเข้ามาที่สี่แยกคอกวัวอย่างปัจจุบันทันด่วน จึงไม่น่าจะวางแผนมาเช่นกัน แต่มีกลุ่มที่มีการวางแผนเตรียมการมาเป็นอย่างดี ล่อให้ทั้งสองฝ่ายเข้าไปตรงจุดนั้นที่เรียกว่าเป็น คิลลิ่ง โซน (Killing Zone) แล้วใช้ปืน ระเบิด ทำลายทั้งสองฝ่าย"

"ฉะนั้นเราต้องช่วยกันค้นหาว่าใครทำ อย่าโทษกันอีกเลย หาความจริงกันดีกว่า เพราะถ้าไม่ได้ความจริงหรือข้อมูลที่แท้จริงแล้ว เวลาตัดสินใจทำอะไรก็จะผิดไปหมด เช่น การที่รัฐบาลกล่าวหาเรื่องก่อการร้าย จริงๆ อาจไม่ได้เป็นอย่างนั้นก็ได้ เป็นต้น และนี่คือ อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่ายมีความจำเป็นอย่างมาก"

สับสวิตช์ "วิกฤติเป็นโอกาส"
แต่ไม่ว่าสถานการณ์บ้านเมืองจะย่ำแย่อย่างไร สัจธรรมข้อที่ว่า "ในวิกฤติ มีโอกาส" ยังใช้ได้เสมอ กรณีนี้ก็เช่นกัน

"ผมคิดว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านหลายๆ เรื่องด้วยกัน โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านความคิดคน ไม่มีอะไรเป็นแบบเดิมแล้ว การเมืองภาคพลเมืองมีบทบาทมากขึ้นกว่าเดิมมาก อย่าคิดว่าประชาชนไม่รู้เรื่องการเมือง เพราะประชาชนสนใจการเมือง โดยเฉพาะหลังจากเกิดปรากฏการณ์ของคนเสื้อแดงในครั้งนี้"

พล.อ.เอกชัย ชี้ว่า ปัจจุบันชาวบ้านเห็นภาพชัดเจนว่าการเมืองเกี่ยวข้องกับชีวิตของตนเอง และเป็นเรื่องปากท้องโดยตรง แต่ความแตกแยกในลักษณะภูมิภาคนิยมก็เป็นสิ่งที่น่าวิตก และต้องรีบแก้ไขโดยด่วน

"หลังจากนี้ การใช้เวลาเยียวยาคงยาวนานเป็นสิบปี โดยเฉพาะการทำความแตกแยกของคนระหว่างภูมิภาคให้ยอมรับกันให้ได้ เรื่องนี้ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาลจะละเลยไม่ได้เลย"

"ประเทศไทยขาดการมองไกลมาตลอด มีแต่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ฉะนั้นต้องเริ่มวางแผนเพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่จุดหมาย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ทำวิกฤติตรงนี้ให้เป็นโอกาสที่มากกว่าการแก้ปัญหาไปวันๆ หรือเอาความรู้จากที่อื่นมาแต่งเติมแล้วก็ใช้ประโยชน์ไม่ได้ เราต้องใช้ภูมิปัญญาไทยวางรากฐานใหม่ทั้งหมด"

และสุดท้าย ที่ต้องไม่ลืมก็คือทุกคนในบริบทความขัดแย้งนี้เป็นคนไทยด้วยกัน ต้องช่วยกันหาทางออกให้กับประเทศ!
โดย : ปกรณ์ พึ่งเนตร
-----------------------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น