บรรยากาศการเมืองหลังประเทศ เข้าสู่หลักชัยประชาธิปไตยในการเลือกตั้ง ที่จะอุบัติขึ้นในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 เริ่มร้อนระอุขึ้นทุกขณะ พรรคการเมืองน้อยใหญ่ ต่างงัดกลเม็ดเด็ดพรายกันขึ้น มาเป็นแคมเปญในการหาเสียงครั้งนี้ เพื่อช่วงชิงคะแนนนิยมจากประชาชนทุกระดับชั้น
อย่างไรก็ดี ภายใต้เกมการแข่งขันย่อมมีกติกาควบคุม โดยเฉพาะการหาเสียง ในพื้นที่สื่อที่มีกฎเหล็กคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. วางเป็นบรรทัดฐานเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม โดยเฉพาะความ เหลื่อมล้ำของเงินทุนในการจัดแคมเปญหา เสียงของแต่ละพรรคการเมือง
สังเกตได้ว่าที่ผ่านๆ มาพรรคการเมือง ใหญ่ มักจะได้เปรียบในการหาเสียงเพราะ มีกระสุนดินดำอยู่เต็มกระเป๋า ฉะนั้น การควบคุมงบการหาเสียงจึงเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้นักการเมืองต้องสกรีนตัวเอง และพรรคต้องสกรีนนักการเมืองมากขึ้น โดยคำนึงถึงเม็ดเงินที่จะทุ่มลงสนามให้น้อยลง
ขณะที่ในมุมมองของนักการเมืองเองกลับเห็นว่า การออกกฎเหล็กในครั้งนี้ ทำให้การจัดแคมเปญหาเสียงทำได้ยากขึ้น เพราะภายใต้คำสั่ง กกต.นั้นมีกฎละเอียด แยกย่อยไปอีกมากมายชนิดที่นักการเมือง ถึงกับต้องออกปากว่า..“สมัยก่อนในการหาเสียงจะต้องถาม ว่าอะไรที่ถือเป็นความผิดไม่สามารถทำได้ แต่กฎหมายเลือกตั้งของ กกต. รอบนี้นัก การเมืองต้องถามกลับกันว่าอะไรที่ทำได้และไม่ถือเป็นความผิด”
มุมนี้ต้องถือว่าน่าเห็นใจด้วยกันทั้ง 2 ฝ่ายเพราะต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลของตัวเอง ในการทำงาน อีกมิติของแคมเปญการหาเสียงที่ใกล้ตัวที่สุด และถือเป็นสื่อที่น่าสนใจคือ “ป้ายหาเสียง” หรือที่รู้จักกันว่า “ป้ายตัด 1 ขนาด 1.3 x 2.45 เมตร” ซึ่งเป็นป้ายบังคับตามกฎหมายเลือกตั้ง ในเรื่องดังกล่าว “ยุวพล พรประทานเวช” นายกสมาคมป้ายและโฆษณา (ASPA) ให้ความเห็นผ่าน “สยามธุรกิจ” ไว้ได้อย่างน่าสนใจยิ่ง
l ธุรกิจป้ายหาเสียงสะพัด 600 ล้าน
“ความเข้มงวดของกฎหมายเลือกตั้ง ครั้งนี้ ถือว่าเข้มงวดพอสมควรเพราะเท่าที่ผมทราบเขากำหนดให้ผู้หาเสียงใช้งบประมาณรายบุคคลได้ไม่เกิน 1.5 ล้านบาทเท่านั้น คิดแล้วแค่เอามาทำป้ายตัด 1 ขนาด 1.2 x 2.4 เมตร ก็ได้ไม่เท่าไหร่ สมมติว่าทำป้ายเสีย 7 แสนบาทก็หมดไปเกือบครึ่ง แล้ว และก็ได้ไม่กี่ร้อยป้ายด้วยซ้ำ แต่เท่าที่ ทราบอีกอย่าง คือเขามีการกำหนดจำนวน ป้ายด้วย ไหนยังคิดค่าใช้จ่ายปลีกย่อยใน สื่อด้านอื่นๆ อีก รวมถึงการใช้นักแสดงผู้มีชื่อเสียงในการร่วมรณรงค์หาเสียงด้วย ต้องยอมรับว่างบที่ตั้งมาน้อยมาก แต่ หากมองจากภาพรวม ถ้าผู้สมัคร 4,000 คน เงินหมุนเวียนก็น่าจะอยู่ประมาณ 600,000,000 บาท”
l คัตเอาต์ “ชูวิทย์” โดนใจเด็กแนว
“สำหรับการสื่อความหมายของป้าย แต่ละพรรคจะขึ้นอยู่กับนโยบายของผู้บริหาร ที่ส่งผ่านมาทางครีเอทีฟ เพื่อออกแบบ สร้างสรรค์ป้ายหาเสียงออกมาเป็นชิ้นงาน แต่ถ้าจะให้บอกว่าป้ายไหนดีกว่าป้ายไหน มันก็ขึ้นอยู่กับการวางแผนของแต่ละที่ แต่ในฐานะของคนที่อยู่ในวงการโฆษณาก็ชอบ ที่จะเห็นอะไรแปลกใหม่ อย่างของคุณชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ผมชอบเพราะเหมาะสมกับคน กรุงเทพฯ โดยเฉพาะวัยรุ่น ภาพที่ออกมา จะสื่อออกไปในเรื่องเซ็งกับการเมือง ซึ่งก็ น่าจะโดนใจของใครหลายๆ คนที่มีความรู้สึก ตรงกับอารมณ์นี้”
l ปชป.สื่อถึงความสุขุมนุ่มลึกแสนอบอุ่น
“ส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ท่านนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ท่านได้ให้ สโลแกนไว้น่าสนใจเช่นกัน คือเหมือนกับพร้อมที่จะเดินหน้าต่อไปได้ทันที ส่วนในเรื่องของรูปภาพประกอบจะเห็นถึงภาพท่าน นายกฯ อภิสิทธิ์ ถ่ายคู่กับประชาชน ชาวนาบ้าง ผู้ใช้แรงงานบ้าง ในส่วนนี้จะให้อารมณ์ ภาพที่ดูสนิทสนมระหว่างผู้นำกับประชาชน ทำให้ดูมีเสน่ห์ที่อบอุ่นของสุภาพบุรุษ ซึ่งจะ สอดรับกับภาพที่เราเห็นเวลาท่านลงหาเสียง จะพยายามใกล้ชิดชาวบ้าน ป้ายก็จะสะท้อน ออกมาเช่นนั้นเหมือนกัน”
l พท.ชูภาพ “ยิ่งลักษณ์” ตัวแทน “WORKING WOMAN”
“หรือในส่วนของพรรคเพื่อไทย ที่ใช้ สโลแกน คิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อไทยทุกคน ก็ถือเป็นสิ่งจูงใจดี และถ้าดูจากป้ายจะเน้น ไปที่ตัวบุคคล คือคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ ถูกวางตัวเป็นนายกฯ หญิงคนแรกตามแผน การหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ซึ่งถ้าดูตามภาพลักษณะการแต่งตัว ทรงผม จะออกไป ในทางผู้หญิงทำงาน หรือพร้อมที่จะทำงาน ได้ตลอดเวลา ส่วนทรงผมที่ในภาพจะมีการดัดปลายให้สวอน อันนี้สื่อถึงความมีเสน่ห์ อ่อนโยนของผู้หญิง เท่าที่ทราบป้ายใหม่ของ พรรคเพื่อไทยที่ออกมาจะเป็นทรงผมอีกแบบที่ปลายผมจะตรงเหมือนที่เราเห็นเธอ อยู่เป็นประจำ ซึ่งป้ายนี้จะสื่อถึงความสบายๆ ในการทำงาน และดูซอฟต์กว่าภาพแรก ซึ่งน่าจะเกี่ยวกับการวางแผนการปล่อยป้าย ออกมาในช่วงระยะที่ห่างกันเล็กน้อย แต่ยังได้อารมณ์ต่อเนื่องซึ่งคนทั่วไปอาจไม่ได้ สังเกตแต่ก็มีผลในด้านอารมณ์ของความคุ้นเคยในตัวบุคคล
l “ปุ” ขายฝันไม้บรรทัดขจัดคอร์รัปชั่น
“สำหรับป้ายของอาจารย์ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ก็ตรงใจคนกรุงตรงคอนเซปต์ที่ว่า สามัคคีประเทศไทย เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยเราก็แย่ เพราะเรื่องความสามัคคี ซึ่งถ้าถามคนไทยจริงๆ แล้ว ก็คงไม่มีใครอยากให้แบ่งสี แบ่งฝ่ายกันหรอกครับ อีกอย่างด้วยรูปลักษณ์การทำ งานของท่านตลอดมา ซึ่งป้ายได้สะท้อนออกมาในรูปสเกล หรือไม่บรรทัดเพื่ออธิบายความเป็นตัวตนของท่าน น่าจะสื่อ ถึงความหมายที่มุ่งจะขจัดการคอร์รัปชั่นให้หมดไปด้วย”
l ป้ายเหลืองตัดแดง “กิจสังคม” ตรงใจประชาชน
“และหากจะพูดถึงเรื่องของความ สามัคคี อีกป้ายที่ชัดเจนที่สุดในเรื่องของการใช้สัญลักษณ์ คงเป็นป้ายของคุณสุวิทย์ คุณกิตติ แต่ป้ายนี้มีข้อเสียตรงที่มีตัวหนังสือเล็กไปหน่อย การมองจากที่ไกลๆ หรือบนรถเมล์คงจะลำบาก ส่วนเรื่องของ การใช้สีนี่ถือว่าชัดเจนมาก เพราะใส่มาทั้ง แดง ทั้งเหลืองตัดกัน ซึ่งตรงใจผม อย่างหนึ่งคือเรื่องของการแบ่งขั้ว สังคมไทยคง ไม่มีใครอยากเห็นภาพแบบนั้นอีกแล้วเพราะสังคมเราบอบช้ำมามากพอแล้วกับเรื่องนี้”
l สะกิด “ภูมิใจไทย” ปูพรมป้ายไม่ทั่วถึง
“สำหรับภูมิใจไทยที่เน้นมาทาง นโยบายก็ถือว่าดีไปอีกรูปแบบหนึ่ง แต่เท่า ที่เห็นตอนนี้ ผมว่ายังน้อย ที่ดังๆ ก็คงเป็น ป้ายที่มีปัญหาในเรื่องของป้ายส่งเสริมการ กีฬา ที่ติดโลโก้ของเครื่องดื่มชนิดหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าเดี๋ยวเขาก็คงต้องแก้ไข แต่ต้องขอสารภาพตามตรงว่า ป้ายของภูมิใจไทยนี่ ผมมีโอกาสที่จะได้เห็นน้อยมาก คือน้อยกว่า 2 พรรคใหญ่ จึงไม่สามารถจะพูดอะไรได้มาก แต่ก็เชื่อว่าน่าจะมีออกมาเพิ่มขึ้นในอีกไม่นาน ซึ่งตอนนี้ในส่วนของบริษัทที่รับทำป้ายก็เร่งทำงานกันทั้งวันทั้งคืนเพราะติดขัดในเงื่อนเวลา เมื่อได้เบอร์ผู้สมัครมาก็ต้องรีบติดรีบทำกัน เห็นว่าตอน นี้ยุ่งกันน่าดู”
l ม็อตโต้หาเสียงต้องกระชับเข้าใจง่าย
“แต่โดยรวมๆ แล้ว ไม่ว่าจะเป็น การสื่อความหมายของรูป ขนาดของทั้งรูปและตัวอักษร ล้วนมีความหมายทั้งสิ้น และผ่านกระบวนการคิดของครีเอทีฟมาแล้วทั้งนั้น โดยเฉพาะสโลแกนนี่มีส่วนสำคัญมากเพราะต้องกระชับ ได้ใจความ และตรงกับนโยบายของพรรค ซึ่งตรงนี้เราต้องเข้าใจอยู่อย่างหนึ่งว่า สังคมบ้านเราไม่ใช่วอล์คกิ้งสตรีต เราไม่มีเวลาจะมา มัวเดินอ่านมากมาย ถ้าตัวหนัวสือเยอะเกิน ไป นอกจากชั่วโมงพักผ่อนอย่างการเดินจับจ่ายซื้อสินค้า ป้ายส่วนใหญ่จึงถูกมองออกมาจากในรถ ฉะนั้น ความชัดเจน กระชับ ได้ใจความจึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่ก็ต้องอยู่บนเงื่อนไขของการดึงดูด ความน่า สนใจ ผมถึงบอกว่าป้ายคุณชูวิทย์ โดนใจผมที่สุด เพราะมีครบรสในการเสพสื่อป้าย โฆษณา”
l ฟันธงแคมเปญโฆษณาหาเสียงแข่งเดือด
สำหรับเรื่องของการจัดวางทุกป้าย ถือว่าทำออกมาได้ดีทุกป้าย เรื่องของสโลแกน ก็งัดกันออกมาใช้เต็มที่ ผมว่าปีนี้การแข่งขันของพรรคการเมืองในการโฆษณาสูงมาก แต่ก็ดีที่ กกต.ออกกฎมาเพื่อควบคุมการได้เปรียบในเรื่องของทุน ทำให้ทุกพรรคมีเสรีแบบเท่าเทียมกัน เพราะต้องอยู่ในกฎ และคงหวาดเกรงเรื่องของการยุบพรรคอยู่พอสมควรแต่โดยส่วนตัวหากจะถ้าว่าผมชอบป้ายไหนมากที่สุด คงต้องบอกว่าเป็นของคุณชูวิทย์ ก็ด้วยเหตุผลที่กล่าวไปแล้ว ในเรื่องของความแปลก และสร้างสรรค์ แต่ในเรื่องของนโยบายก็จะชอบของพรรคประชาธิปัตย์ แต่ถ้าเป็นเรื่องตัวบุคคลก็ชอบเพื่อไทยเหมือนกัน”
l ทำลายป้ายหาเสียงคนดีๆ ไม่ทำกัน
“อีกประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ เรื่องการทำลายป้ายหาเสียง คือเท่าที่ผมเห็นแล้วป้ายที่มีปัญหาเรื่องนี้มักจะเป็นของพรรคประชาธิปัตย์ และเชื่อว่าน่าจะเป็นปัญหาของคนแค่กลุ่มกลุ่มหนึ่ง ซึ่งไม่ชอบ นายกฯ แต่ไม่คิดว่าจะเป็นการกระทำของ พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม มีบ้างเหมือน กันที่มีคนตั้งข้อสงสัยว่า จะทำตัวเองเพื่อเรียกคะแนนสงสารหรือไม่ ในเรื่องนี้คิดว่าไม่น่าเป็นไปได้เพราะเงินทุนที่นำมาใช้ตรงนี้ก็ถือว่า สูงพอสมควรตามที่เรียนมาแล้ว คนดีๆ คงไม่ทำอะไรแบบสิ้นคิดแบบ นั้น แต่โดยภาพรวมที่สะท้อนออกมาคือความรุนแรงทางวัฒนธรรมที่ส่อไปในทาง เสื่อมเสียของประเทศไทย ตรงนี้ถือว่าน่าเสียดายมาก”
l เรียกร้องประชาชนแห่ใช้สิทธิ์ ลดความขัดแย้ง
“สุดท้ายไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออก มาเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ ก็ขอให้คำนึงถึงผล ประโยชน์ของชาติ ความสามัคคีเป็นสำคัญ เพราะในฐานะที่ผมเป็นนักธุรกิจต้องยอมรับ ว่าเบื่อมาก อยากให้มันดีและประชาธิปไตย ก็ต้องดำเนินต่อไป แต่ถึงอย่างไรเราก็ต้อง เป็นคนที่จะออกไปใช้สิทธิ์เลือกผู้ที่จะมา บริหารประเทศของเราเอง ผมก็อยากจะให้คนออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งกันให้มากๆ และเชื่อว่าปีนี้น่าจะมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ถึงกว่า 60% เป็นอย่างน้อย เพราะนั่นจะเป็นหนทาง ที่จะลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมได้ดี ที่สุด”
คงไม่ต้องอรรถาธิบายเพิ่มเติมว่า ในสนามเลือกตั้ง ป้ายหาเสียงที่โดนใจนั้นมีผลในทางจิตวิทยาที่เกี่ยวเนื่องไปถึงคะแนนนิยมที่จะไหลกลับมามากมายเพียงใด เมื่อสืบจากป้ายจนรู้แจ้งเห็นจริง โปรดอย่าลืมไปใช้สิทธิ์..เลือกคนดีเข้าสภา!!!
ที่มา.สยามธุรกิจ
+++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น