--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2554

โค้งอันตราย 5 พรรค พท.-ปชป.เหยียบคันเร่ง พรรคเล็กเจรจาลับก่อน เดดล็อก..!!?

คอลัมน์ เลือกตั้งรัฐบาล 2554



เพราะปลายสัปดาห์ วันที่ 26 มิถุนายน 2554 คือวันเลือกตั้งล่วงหน้า

เพราะผลโพลของ 2 พรรคใหญ่ อยู่ในระดับแพ้-ชนะไม่เกิน 10 เสียง

เพราะผลโพลของ 3 พรรคเล็ก เริ่มมีตัวเลขที่เพิ่มขึ้น อย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งประชาธิปัตย์และเพื่อไทยจึงจงใจเหยียบคันเร่ง เพื่อข้ามโค้งอันตราย เข้าสู่โค้งสุดท้าย ชิงชัยเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล

ฝ่ายประชาธิปัตย์มีเสียงเดิม 172 เสียง ตั้งเป้ากลับเข้าทำเนียบ ด้วยตัวเลข "สุเทพโพล" โดยการเหยียบคันเร่งเพิ่มระดับความเร็วให้ได้ไม่น้อยกว่า 210 เสียง

ผลโพลประวัติศาสตร์ของ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" ยังยืนยัน "จะชนะ"ฝ่ายเพื่อไทยถึง 10 เสียง ดังนั้น หากเอาจำนวน 400 ส.ส. จาก 2 พรรค เป็นตัวตั้ง

ตัวเลขที่เป็นไปได้ในสายตาประชาธิปัตย์ คือหากเพื่อไทยได้ 190-200 เสียง เท่ากับประชาธิปัตย์ได้ 210 เสียงโดยปริยาย

เสียงชี้ขาดเป็นเสียงจากสวรรค์ของทั้ง 2 พรรคใหญ่ จึงอยู่ในตารางคะแนนระบบปาร์ตี้ลิสต์ที่มียอดรวม 125 คน

2 พรรคแบ่งกันฝ่ายละ 50 คน ที่เหลือ 25 คน แบ่งกระจายไปตามพรรคขนาดกลางและขนาดเล็ก จนถึงพรรค 1-3 เสียง

แต่หากประชาธิปัตย์ หรือเพื่อไทย ทำคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ทะลุเกิน 50% เกินฝ่ายละ 50 คน ถือว่าได้ครอบครองชัยชนะอย่างแน่นอน

การออกตัว-กดคันเร่ง ในโค้งอันตรายของฝ่ายประชาธิปัตย์ จึงต้องเล่นบทบู๊-ล้างผลาญ ตีโอบเอาคะแนนทั้งในป่าและในเมือง

โดยแบ่งบทให้ "นายชวน หลีกภัย" ประธานที่ปรึกษาพรรค ลงพื้นที่รอบนอกทั้งพื้นที่สีแดง-สีเขียว เน้นชิงคะแนนพื้นที่สุ่มเสี่ยง-หวังเติมคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ให้เต็มจำนวน

ควบคู่กับบทจรยุทธ์ในเมืองของ "นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" หัวหน้าพรรค ที่ทั้งลงพื้นที่-เดินสาย-ตั้งเวทีปราศรัย เน้นโจมตีจุดอ่อนฝ่ายตรงข้ามแบบชอตต่อชอต ประเด็นต่อประเด็น นโยบายต่อนโยบาย เติมคะแนนระบบเขตให้แน่นตาราง

<><><><> <><><><> <><><><>



แผนงาน-กำหนดการหาเสียงประจำวันของ "อภิสิทธิ์" จึงแน่นตารางไปจนถึงวันเลือกตั้ง ด้วยการปราศรัยในเมืองใหญ่ ๆ สลับกับการปราศรัยในใจกลางเมืองกรุงเทพฯ 2 สัปดาห์สุดท้าย

นอกจากเวทีใหญ่ใจกลาง "ราชประสงค์" ในวันที่ 23 มิถุนายน 2554 แล้ว ยังมีเวทีย่อย ๆ ย่านชานเมือง สลับฉาก

ยังมีเวทีเก็บตกใน "พื้นที่เสี่ยง" ที่ต้องอาศัยวิชาประชาธิปัตย์ ความสามารถเฉพาะตัว ของทั้ง "ชวน" และ "อภิสิทธิ์" อย่างพื้นที่ในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ต้อง "ลงแรง" กันทั้งพรรค

ในช่วง 10 วันก่อนลงคะแนนพร้อมกันทั่วประเทศ ขุนพลประชาธิปัตย์จะลงสนามแบบเต็มทีม

ทั้งเวทีราชประสงค์-และเวทีใหญ่ ก่อนปิดโหวตวันที่ 1 กรกฎาคม ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ประชาธิปัตย์จงใจจัดเต็ม ทั้งทีมการเมือง-เศรษฐกิจ หวังโกยแต้มทั้งในป่าและในเมือง

ในช่วงโค้งอันตรายของฝ่ายเพื่อไทย ยังคงใช้ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" และขุนพลการเมือง บ้านเลขที่ 111 และอดีตกรรมการบริหารพลังประชาชนชุด 39 คน เป็น "ตัวช่วย" ลงพื้นที่ร่วม

แบ่งขุนพลใหญ่ไปจรยุทธ์พื้นที่หัวเมืองทั้งเหนือ-อีสาน และเจาะพื้นที่อีสานใต้บางจังหวัด

ทั้ง จาตุรนต์ ฉายแสง และ ยงยุทธ ติยะไพรัช, วราเทพ รัตนากร ออกจากห้องประชุมลับในตึกชินวัตร ลงเดินดินในสนามจริงในเขตอีสาน ที่มีคู่แข่งอีก 3 พรรคเล็กรุมสกรัม

กลยุทธ์ลงพื้นที่ "ซ้อน-ซ้ำ" กับประชาธิปัตย์ ยังคงเป็นปฏิบัติการของฝ่ายเพื่อไทย อาทิ ทันทีที่ประชาธิปัตย์ปราศรัยในเขตวงเวียนใหญ่จบ 72 ชั่วโมงถัดมา ก็ซ้ำ-ซ้อนด้วยเวทีปราศรัยของฝ่ายเพื่อไทย ในเวทีเดิม

ตั้งแต่โค้งอันตรายถึงโค้งสุดท้าย ฝ่ายเพื่อไทยยังต้องวน-เวียนขึ้น-ลงพื้นที่อีสาน ควบคู่-ตีโอบในเมืองหลวง

พร้อม ๆ กับการเลี้ยงกระแส-ตอกย้ำความคิดผู้บริโภค-โหวตเตอร์ ไม่ให้ชื่อ "ยิ่งลักษณ์" หล่นจากพื้นที่ข่าวทั้งในสื่อทีวี และหนังสือพิมพ์ไทย-เทศ

เพิ่มดีกรีด้วยการ "โฟนอิน" และ "สไกป์" ในเวทีปราศรัยจากดูไบ ใช้เสียงและภาพของ "ทักษิณ" เป็นตัวช่วยเพิ่มแต้ม

อุณหภูมิการแข่งขันในโค้งอันตราย ไม่ใช่เพียงการเสียดสีของ 2 พรรคใหญ่ แต่ 3 พรรคเล็กก็ได้รับกลิ่นอายของ สงครามเลือกตั้ง

ทำให้ตัวแทน-หัวคะแนนของพรรคเล็ก คู่แข่ง-คู่แค้นในสนามเลือกตั้ง ถูกสังเวยด้วยชีวิต เพื่อชิงเก้าอี้ ส.ส. เมืองลพบุรี

เพียงเพราะ "ผลโพล" ตัวเลขผู้สมัครของพรรคภูมิใจไทย นำไปไกลกว่า 100%

ขณะที่ผลโพลโดยรวมของพรรคที่ทำการสำรวจถึง 3 ครั้งติดต่อกัน ปรากฏผลว่าผู้สมัครของพรรคภูมิใจไทยมีแต้มเพิ่มขึ้นทุกครั้ง

ระหว่างที่รอผลสำรวจครั้งสุดท้าย วันที่ 23 มิถุนายน ผลปรากฏว่า ภูมิใจไทยยังมีแต้มอยู่ในระดับที่ผู้บริหารพรรค "พอใจ"

ตัวเลขที่อยู่ในมือผู้มีบารมีในพรรคภูมิใจไทย มี 3 ระดับ คือ 1.กรณีเลวร้ายที่สุดได้ ส.ส.เขต+ปาร์ตี้ลิสต์ 55 คน

กรณีที่ 2 ระดับกลางได้ ส.ส.เขต+ ปาร์ตี้ลิสต์ 65 คน และกรณีสุดท้ายเหนือความคาดหมาย ตัวเลขรวมอยู่ในระดับ 75 คน ทั้งระบบเขตและปาร์ตี้ลิสต์

สมมติฐาน-ตัวเลขดังกล่าว ทำให้ "เนวิน ชิดชอบ" ประกาศในโค้งอันตรายของฝ่ายภูมิใจไทย ว่าต้องไม่มีใครตายฟรี

เมื่อตัวเลขของฝ่ายภูมิใจไทย ไปรวมกับตัวเลขของฝ่าย "บรรหาร ศิลปอาชา" ตัวเลขการเมือง สมการรัฐบาล จึงอยู่ในระดับปลอดภัยในกรอบ 100 เสียง

หากเสียงของฝ่ายภูมิใจไทยอยู่ในระดับ 55-65 เสียง ย่อมส่งผลให้เพื่อไทย ไปไม่ถึงแลนด์สไลด์ 270-300 เสียง

การพบกัน-ในพื้นที่ปิดลับ ระหว่างแกนนำฝ่ายภูมิใจไทย กับฝ่ายพรรคชาติไทยพัฒนา จึงมีการกางบัญชีตัวเลข 2 พรรคขนาดกลาง-เล็กรวมกัน ประเมินผลครั้งสุดท้ายปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

ตัวเลขที่ผู้มีบารมีทั้ง 2 ฝ่ายพยักหน้า ยอมรับ และมีท่าทีผ่อนคลาย สบายใจ คือฝ่ายชาติไทยพัฒนายังยืนตัวเลข ส.ส.อยู่ในระดับ 30 คน

ขณะที่ฝ่ายภูมิใจไทยเปิดโผ ระบุชื่อผู้สมัครที่คาดว่าจะได้ในระดับเพลย์เซฟที่ 65 คน

บันทึกข้อตกลงระหว่าง 2 พรรค ที่จะจับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน ในการร่วมรัฐบาล จึงอยู่ที่ตัวเลขเดิมคือ 2 พรรค อยู่ในระดับ 90-100 เสียง

สมมติฐานนี้จะทำให้พรรคใหญ่เข้าสู่โหมด "เดดล็อก" ไม่สามารถขยับเขยื้อน จัดตัวเลขรัฐบาลได้

ตัวเลข 95-100 เสียง นอกจากทำให้พรรคใหญ่ขยับไม่ได้ ยังใช้เป็นหอก-ดาบที่ภูมิใจไทย นำไปย้อนศร- แทงคืนพรรคเพื่อไทย โทษฐานที่ใช้แถลงการณ์ "ไม่เอาภูมิใจไทย" ได้อีก 1 ดอก

สถานการณ์ที่ส่อเค้ารุนแรง-เดดล็อก หลังเลือกตั้ง ทำให้พรรคขนาดเล็กอีก 1 พรรค ที่หวัง ส.ส. 20 เสียง เป็นแกนตามในการจัดรัฐบาลแบบ "หินเขียวรองแจกัน" ที่มีครบทั้งดอกไม้และใบเฟิร์น ต้องออกตัว-เหยียบคันเร่ง

ผู้มีบารมีในพรรคชาติพัฒนาเพื่อ แผ่นดิน "สุวัจน์ ลิปตพัลลภ" ปรากฏตัว ส่งสัญญาณถึงพรรคขนาดเล็ก-กลาง ว่าต้องตระหนักถึงบทบาทตัวเอง ในการทำให้บ้านเมืองไม่อยู่ในภาวะ "เดดล็อก"

"สุวัจน์" บอกว่า ถ้าจะให้บ้านเมืองสงบ รัฐบาลต้องมีเสียงอยู่ในระดับ 300 เสียงขึ้นไป ฝ่ายไหนมีเสียงเกิน 251 เสียง ก็จัดรัฐบาลได้

สมการในใจของฝ่ายเพื่อไทยจึง หวังให้มีปาฏิหาริย์ ได้ ส.ส.เข้าสภา 270 คน + พรรคของฝ่าย "สุวัจน์" อีก 15-20 คน ก็จะ "เดดล็อก" ทำให้ฝ่ายประชาธิปัตย์ขยับจัดรัฐบาลไม่ได้เช่นกัน

โค้งอันตรายก่อนปิดโหวตรอบแรก ในวันเลือกตั้งล่วงหน้า และโค้งสุดท้ายก่อนปิดโหวต ทำให้แกนนำทุกพรรค ไม่อาจละสายตาจากสูตรคณิตศาสตร์การเมืองได้

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น