--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เจ้าสัว-ขุนทหาร เล็กเชอร์ประเทศไทย ก้าวข้ามความขัดแย้งเดินหน้าผลิตอาหาร-เกษตร !!?

คอลัมน์ โรดแมปประเทศไทย


นับถอยหลังไม่ถึง 19 วัน จะเป็นวันหย่อนบัตรเลือกตั้ง นอกจากพรรคการเมืองจะหาเสียงกันอย่างคึกคักแล้ว ช่วงเวลานี้ยังมีข้อเสนอเกี่ยวกับอนาคตประเทศไทยฝากถึงรัฐบาลใหม่และสังคมไทยจากหลายเวที ล่าสุด "ธนินท์ เจียรวนนท์" ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) "พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา" อดีตผู้บัญชาการทหารบก และ "ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โคจรมาพบกันบนเวทีเดียวกัน ในงานสัมมนา Thailand Lecture WISDOM for change" ครั้งที่ 3 จัดโดยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา มีเนื้อหาน่าสนใจหลายประเด็น

ธนินท์ เจียรวนนท์ เปิดมุมมองเรื่อง "บริบทใหม่ทางธุรกิจการค้า" ว่า ตั้งแต่ทำธุรกิจมา 47 ปี วันนี้เมืองไทยอยู่ในฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีมากเป็นประวัติศาสตร์ มีทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศเหลือถึง 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 6 ล้านล้านบาท แต่รัฐบาลไทยกลัวปัญหาเงินเฟ้อ ทำให้ไม่กล้าใช้เงิน ทั้งที่จริงควรนำเงินก้อนนี้มาลงทุนในด้านต่างๆ

"เกษตรกรที่รวยที่สุดในโลกวันนี้อยู่ในประเทศญี่ปุ่น พวกเขานอนโรงแรม 5 ดาว ไปเที่ยวทั่วโลกเกษตรกรไต้หวันใช้เวลา 20 ปีก็ได้ไปเที่ยวทั่วโลก แต่เมืองไทยใช้เวลา 200-300 ปีเกษตรกรมีแต่หนี้ถามว่า เกษตรกรไทยขี้เกียจหรือผมยืนยันว่า ไม่ใช่ แต่ต้องมีผู้นำ นำไปในทางที่ถูกต้อง"

นอกจากนี้ควรพัฒนาธุรกิจที่มีศักยภาพคือ ลงทุนด้านการท่องเที่ยว ด้วยการไปศึกษาวิจัยประเทศที่ประสบผลสำเร็จในการรายได้จากการท่องเที่ยว เพื่อดึงนักท่องเที่ยวที่มีรายได้สูง เช่น ดึงคนรวยชาวจีน อินเดีย หรือ รัสเซีย สัก 10 % มาเที่ยวประเทศไทยก็จะสามารถฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวได้อย่างมาก ส่งผลให้ใเกิดการสร้างงานและธุรกิจได้อีกมหาศาล

"การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่มีปล่องไฟ ไม่ทำให้ สิ่งแวดล้อมเสียหาย ต่อไปในอนาคตประชากรจีนจะมีมากถึง 1,300 ล้านคน อินเดียมี 1,000 กว่าล้านคน ฉะนั้นต้องไปดึงคนรวยจากประเทศเหล่านี้ 10 % มาเที่ยวเมืองไทย ลองคิดดูอะไรจะเกิดขึ้น เราจะร่ำรวยกันใหญ่ แต่รัฐบาลต้องบริหารจัดการเป็น ซึ่งหน้าที่นี้ต้องเป็นหน้าที่รัฐบาล ต่อไปนักท่องเที่ยวจากจีนต้องมหาศาล ถ้าหากเจาะจง มีงบประมาณ

มีเป้าหมาย มีงบฯส่งเสริมนักธุรกิจ แต่การเมืองต้องนิ่งก่อน ไม่ใช่เดินขบวนอยู่ร่ำไป คนรวยก็ไม่กล้ามาประเทศไทย ฉะนั้น ผู้นำประเทศทำอะไรต้องมีเป้าหมาย มีตัวเลข ต้องศึกษาว่า ลูกค้าต้องการอะไร ซึ่งเราต้องเตรียมพร้อม"

เจ้าสัวธนินท์ กล่าวว่า นอกจากการท่องเที่ยวแล้ว สินค้าเกษตรของไทยมีศักยภาพอย่างมากสามารถส่งออกอันดับหนึ่งของโลกได้ ทั้งปาล์ม ยางพารา มัน อ้อย ข้าว กุ้ง

แต่ต้องยกราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้นเป็นทรัพย์สินที่มีค่า เพิ่มศักยภาพด้านเทคโนโลยี ขณะที่รัฐบาลควรหาทางสร้าง

รายได้ให้เกษตรกรตามทฤษฎี 2 สูง รวมทั้งการสนับสนุนศักยภาพด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี รัฐบาลต้องสร้างคนเพื่อมา สร้างเทคโนโลยี จึงอยากฝากให้สถาบันการศึกษาผลิตบัณฑิตออกมาให้ตรงกับตลาดแรงงาน

"ผมอยากฝากนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ สินค้าเกษตรของเราเป็นน้ำมันบนดิน เราต้องยกราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้นเป็นทรัพย์สินที่มีค่าและใช้ไม่หมดอีกด้วย วันนี้เรามีพร้อมทุกอย่าง แต่กลับไป กดทรัพย์สินให้ต่ำ ทำให้เรายากจน ถ้าทำได้ ผมเรียนว่า ประเทศไทยมีความหวังแน่นอน"

อย่างไรก็ตาม ท่านประธานซีพี เห็นว่า อุปสรรคของเศรษฐกิจไทยวันนี้คือ ปัญหาการเมืองมีปัญหาเรื่องสี หากการเมืองนิ่งกว่านี้ เมืองไทยจะดีกว่าปัจจุบันนี้ไม่รู้กี่เท่า นักธุรกิจจีนและฮ่องกงพูดถึงประเทศไทย ว่าการเมืองและเศรษฐกิจไม่ผูกพันกัน ถ้ามีความสมานฉันท์ เศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นไม่รู้กี่สิบเท่า

ด้าน ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ปาฐกถาหัวข้อ "นโยบายเศรษฐกิจ เข็มทิศประเทศไทย" ว่า ปัญหาใหญ่ของประเทศไทยหลายปีที่ผ่านมาก็คือ ไม่มีทิศทางและยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน เนื่องจากการเมืองไม่มีเสถียรภาพ ส่งผลให้การพัฒนาประเทศไทยหยุดชะงักมาเป็นเวลา 4-5 ปีแล้ว ดังนั้นอยากเห็นการเลือกตั้งครั้งนี้ นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงประเทศที่แท้จริง

อย่างไรก็ตามนโยบายหาเสียงของแต่ละพรรคการเมืองวันนี้ ยังขาดจุดยืนและเป็นไปในลักษณะการเอาใจประชาชนมากกว่าการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ต้องรู้ว่าประเทศจะต้องเดินไป

ทางไหน ไม่ใช่จัดการเลือกตั้งเพื่อเปลี่ยนรัฐบาล ควรเป็นการเลือกตั้งที่มีนโยบายที่ทำให้เศรษฐกิจประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่องยั่งยืน

ดร.สมคิด กล่าวว่า ปัจจุบันราคาอาหารและพลังงานมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลใหม่จึงควรกำหนดยุทธศาสตร์ให้ชัดเจนเพราะ เป็นสิ่งที่ประชาชนให้ความสนใจมากที่สุด เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม แต่วิธีการ ทำงานที่ผ่านมาใช้ไม่ได้ผลมีเพียงการกำหนดการประกัน รายได้หรือรับจำนำสินค้าเกษตร ซึ่งไม่เพียงพอ สิ่งที่ควรจะเป็นคือนโยบายที่ศึกษาเจาะลึกไปถึงการผลิต การตลาด และ การนำเทคโนโลยีมาเพิ่มศักยภาพผลผลิต

นอกจากนี้พรรคการเมืองควรให้ความสำคัญกับนโยบาย ส่งเสริมด้านอาหารและพลังงานที่ในอนาคตจะมีความสำคัญทั่วโลก รวมถึงการพัฒนาบุคคลากรและเทคโนโลยีเชิงพาณิชย์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน"

"รัฐบาลใหม่ต้องกล้าตัดสินใจเรื่องใหม่ ๆ เพราะประเทศไทยต้องการจุดยืนที่ชัดเจนในการก้าวไปในอนาคต"

ขณะที่ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา บรรยายเรื่อง "ความมั่นคงของประเทศไทย" ว่า ความมั่นคงของประเทศไทย ไม่ได้หมายถึงความมั่นคงด้านการทหารอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ส่วนสำคัญที่จะทำให้ประเทศมั่นคงคือ ความมั่นคงทางการเมือง ประเทศใดที่มีเสถียรภาพการเมืองจะทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพที่ดี

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า เมืองไทยมีระบบการเมืองไทยที่ดีเพราะเป็นการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ยืนยันว่า สถาบันกษัตริย์ ดูแลประชาชน ไม่คิดเป็นพวกใด สีใด และมีความเสมอภาคกัน แต่หลายส่วนที่เกี่ยวกับการเมืองไม่อยู่ในที่ทางที่จะทำให้การเมืองมั่นคง ฉะนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้ อยากให้ประชาชนเลือกพรรคไหนก็ได้ แต่ต้องติดตามว่าสามารถทำได้อย่างที่หาเสียงหรือไม่ ถ้าทำไม่ได้ ก็ไม่ต้องเลือกกลับเข้ามาอีก ส่วนปัญหาการคอร์รัปชั่นควรมีบทลงโทษให้หนัก

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
////////////////////////////////////
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น