--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2554

มาร์ค.ทำเป็นกล้า แต่ขาสั่นบุกหาเสียง ราชประสงค์ 91 ศพ ยิ่งพูดยิ่งเข้าตัว !!?


 
 
กลายเป็นประเด็นร้อนที่คอการเมืองกำลังเฝ้าติดตาม...กับการที่นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เตรียมลงพื้นที่หาเสียงและเปิดเวทีปราศรัยบริเวณ สี่แยกราชประสงค์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อเดือนพฤษภาคมของปีที่ผ่านมา

หากมองในแง่การหาเสียงเลือกตั้งในช่วง “โค้งสุดท้าย” สิ่งสำคัญของการทำให้เกิดกระแสก็คือ การช่วงชิง “พื้นที่ข่าว” เพื่อให้ประชาชนเกิดความสนใจ โดยเฉพาะ “สื่อไทย” และ “สื่อต่างประเทศ” ที่เตรียมตัวรอทำข่าวกับวันปราศรัยที่กำลังจะมีขึ้น
“นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” กล่าวถึงการจัดเวทีปราศรัยของพรรคประชาธิปัตย์บริเวณสี่แยกราชประสงค์ว่า...

“ตั้งใจจะพูดถึงเหตุการณ์บ้านเมืองและนโยบายสร้างความปรองดอง ซึ่งบริเวณราชประสงค์เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปีก่อน จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนไปร่วมรับฟังว่าพรรคประชาธิปัตย์จะดับไฟประเทศนี้อย่างไร

แม้ว่า การจัดเวทีปราศรัยบริเวณแยกราชประสงค์ อาจถูกนำไปโจมตีว่านำเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองมาเป็นประเด็นในการหาเสียง
แต่ นายอภิสิทธิ์ กับระบุว่า ไม่ว่าตนทำอะไรก็ถูกหยิบยกไปโจมตีอยู่แล้ว เขียนความจริงในเฟซบุ๊คส่วนตัวก็ถูกโจมตีใส่ร้ายมาตลอด พยายามจะปิดเฟซบุ๊ค”
เมื่อมาดูข้อเท็จจริง โดยมีนักวิชาการนำเหตุการณ์การชุมนุมในช่วงนั้นมาประมวล จะแสดงให้เห็นภาพได้ดังนี้

1. ในระหว่างการชุมนุมมีการสร้างภาพความขัดแย้งระหว่างทหารกับ นปช. โดยเฉพาะกองกำลังพล ร.2 รอ. ที่มีฉายาบูรพาพยัคฆ์กับฝ่าย นปช. ถึงกับมีการบ่งชี้ว่าเป็น “โจทก์เก่า” ส่งผลต่อการตั้งคำถามต่อความรอบคอบเหมาะสมในการตัดสินใจของรัฐบาลและ ศอฉ. ว่ามีทางเลือกที่จะใช้กำลังกับประชาชนหรือไม่?

2. ผลสืบเนื่องจากข้อ 1 ทำให้เกิดคำถามตามหลักสากล การกำหนดยุทธวิธีในการเข้าปะทะ (Rule of Engagement) จะต้องไม่ใช้หน่วยทหารที่ถึงขั้นละลายจากการปะทะครั้งก่อนหน้าหรืออาจมีอารมณ์ในการปะทะกับฝูงชนหรือประชาชน ซึ่งมีความโกรธแค้นอยู่เป็นทุนเดิม
การเลือกใช้กำลังทหารที่มีการเผชิญหน้ากับ นปช. อย่างต่อเนื่อง สร้างความอ่อนล้า เหน็ดเหนื่อยแก่กำลังพลจะส่งผลต่อวิธีการปฏิบัติการและปฏิกิริยาสนองตอบต่อประชาชนพลเมืองต่างไปจากหน่วยทหารที่ได้รับการ “พักหรือเว้นวรรค”


จากการปฏิบัติหน้าที่ในสนาม เมื่อเปรียบเทียบกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนตามหน่วยต่างๆ สะท้อนให้เห็นความผิดพลาดของรัฐบาลและ ศอฉ. ในการตัดสินใจเลือกใช้กำลังพลที่มีอารมณ์โกรธเกรี้ยวฉุนเฉียวกับประชาชน จนส่งผลให้เกิดอคติอย่างรุนแรง และปฏิบัติต่อประชาชนอย่างรุนแรงโดยลำดับ
สิ่งเหล่านี้น่าจะป้องกันบรรเทาได้ด้วยการใช้หน่วยทหารที่มีความชำนาญเฉพาะ เช่น หน่วยปฏิบัติการจิตวิทยาทหาร หรือกลุ่มทหารพัฒนามากกว่าจะใช้หน่วยรบ
ขณะเดียวกันปัญหาในการบังคับบัญชากองทัพก็เป็นเรื่องน่าสังเกตว่า...สายการบังคับบัญชาในระหว่างก่อนเกิดเหตุการณ์เดือนพฤษภาคมมีความยืดหยุ่นน้อยกว่าบทบาทของกองทัพในเดือนเมษายนที่กดดันให้รัฐบาลต้องเจรจามากกว่าจะใช้กาลังทหารคำถามสำคัญจึงอยู่ที่ระบบการตัดสินใจและสายการบังคับบัญชาว่ารัฐบาล กองทัพ และ ศอฉ. ใช้หน่วยทหารกลุ่มเดียวกัน

นับตั้งแต่ เมษายน 2552, เมษายน 2553 และ พฤษภาคม 2553 สะท้อนการตัดสินใจแบบใด และเป็นการตัดสินใจที่แบบที่เล็งผลชนะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดหรือหวังผลให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด หรือไม่? และมีแรงกดดันใดจากภายนอกโครงสร้างรัฐหรือไม่
สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาในระยะยาวที่สังคมไทยจะต้องขบคิดทบทวนปฏิบัติการของรัฐต่อประชาชน
มีข้อสังเกตว่า...อัตราส่วนของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตส่วนใหญ่บาดเจ็บจากกระสุนปืน และน่าจะพิจารณาประกอบกับการปฏิบัติการของ ศอฉ. ว่าเป็นไปด้วยความละมุนละม่อมหรือไม่อย่างไร เพราะสัญญาณของความรุนแรงที่มากขึ้นน่าจะสัมพันธ์โดยตรงกับการห้ามรถกู้ชีพเข้าพื้นที่และมีเจ้าหน้าที่กู้ชีพถูกสังหาร
ดังนั้น กรณีนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ บอกว่า
“พื้นที่ราชประสงค์ไม่มีใครเสียชีวิต เพราะเจ้าหน้าที่ไม่เคยเข้าไปสลายการชุมนุมในพื้นที่ราชประสงค์เลย”
ประชาชนจึงอยากถามท่านกลับว่า...ท่านยกเมฆเอาอะไรมาพูด...เพราะหลักฐานต่างๆ มีให้เห็นมากมาย แต่ทางรัฐบาลกลับไม่พิสูจน์ว่าหลักฐานที่มีอยู่ใช่ของจริงหรือไม่? เพราะที่ผ่านมารัฐบาลทำได้เพียงบอกปัด และไม่แสดงความรับผิดชอบอะไรมาโดยตลอด

ด้าน นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง กรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะเปิดเวทีปราศรัยหาเสียงที่แยกราชประสงค์ ในวันที่ 23 มิ.ย. นี้ โดยยืนยันว่า...จะไม่มีการยกเลิกการจัดเวทีปราศรัยที่แยกราชประสงค์ในวันดังกล่าว
เพราะไม่ได้เป็นการจัดเวทีกลางถนน แต่เป็นการจัดเวทีหน้าลานห้างเซ็นทรัลเวิล์ด และไม่ให้รถขบวนแห่ของผู้สมัครเข้ามาในบริเวณงาน จะให้เดินทางมาโดยรถไฟฟ้าแทน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด
ส่วนจะมีปัญหาเผชิญหน้ากับกลุ่มเสื้อแดงหรือไม่นั้น ขณะนี้ไม่รู้ว่าประชาชนกลุ่มดังกล่าวเตรียมการมาแค่ไหน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจคงเตรียมพร้อมรับมืออย่างเต็มที่ ซึ่งทุกฝ่ายคงไม่อยากให้เกิดการเผชิญหน้ากัน
ในขณะที่เสียงหนึ่งของประชาชนได้แสดงความคิดเห็นกรณี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ พรรคประชาธิปัตย์ จะเปิดเวทีปราศรัยบริเวณสี่แยกราชประสงค์ว่า...
“ไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้ว...ในเมื่อพรรคประชาธิปัตย์จะไปบอกความจริงกับคนไทย เรื่องการเสียชีวิตของประชาชน 91 ศพ ณ สี่แยกราชประสงค์ ในวันที่ 23 นี้
ผมว่า...มันจะไม่เป็นธรรมแก่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดที่โดนกล่าวหาแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณอภิสิทธิ์ออกมายืนยันว่า...
การเสียชีวิตของคนไทยจำนวน 6 ศพในวัดปทุมนั้น ไม่ใช่ฝีมือเจ้าหน้าที่รัฐ!!
วันที่ 23 ที่ราชประสงค์...นายอภิสิทธิ์จะพูดสิ่งใดที่เป็นประโยชน์กับตัวคุณและพวกคุณ ก็ได้ เพราะวิธีการพูดฝ่ายเดียว อย่างไรเสียก็ไม่มีทางที่จะได้รับการยอมรับจากผู้สูญเสียโดยตรง แต่หากคุณอภิสิทธิ์ อยากจะอธิบายข้อเท็จจริงให้ประชาชนทั้งประเทศได้รับรู้
ผมคิดว่า...ควรให้คุณแม่น้องเกด และเจ้าหน้าที่ร่วมกตัญญูที่เป็นพยานปากสำคัญ ซึ่งมองเห็นน้องเกด และเพื่อนร่วมงานอีกคน โดนยิงทุรนทุรายจนเสียชีวิตไปต่อหน้าต่อตาขึ้นเวทีซักถาม ซึ่งจะเป็นผลดีต่อความบริสุทธิ์ใจของคุณอภิสิทธิ์
ประชาชนชาวไทยทั้งประเทศจะได้หายสงสัยเสียทีว่า...
ชายลึกลับที่ติดสติกเกอร์สีชมพูบอกสังกัด ยืนเล็งปืนจากรางรถไฟฟ้าลงไปในวัดปทุมวนารามนั้น จะใช่ “ชายชุดดำ” ตามที่นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์มักบอกกับประชาชนมาตลอดหรือไม่?
ที่สำคัญ “วีดีโอคลิป” ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจถ่ายเอาไว้ ขณะชายลึกลับกลุ่มนั้นลงมือสังหาร ซึ่งภายหลังนำมาเผยแพร่ในหลายเว็ปไซต์ คงจะเป็นคำถามไว้ให้คุณอภิสิทธิ์ตอบให้หายสงสัย
เชื่อเถอะครับ! หัวอกคนเป็นแม่ ลูกตายอย่างไร ตายด้วยอะไร เวลาไหน มีหลักฐานอะไรบ้าง เธอเก็บไว้หมดแน่ๆ

หรือถ้าจะเป็นแบบ International คุณอภิสิทธิ์ควรเชิญทูตญี่ปุ่น และรัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่นเข้ารับฟังด้วยว่า...ทำไมจากขีดเส้นตายให้แถลงคดีผล การเสียชีวิตของ นายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ภายในสามเดือน...จึงไม่สามารถจะแถลงคดีได้ และไม่มีการบอกด้วยว่าจะทราบผลเมื่อไหร่??
เรื่องที่พูดมาทั้งหมดอยู่ที่ว่า...นายกรัฐมนตรี “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” จะกล้าหรือไม่?”

อย่างไรก็ตาม การยึดลานกว้างหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เวิลด์ของ “พรรคประชาธิปัตย์” ในวันที่ 23 มิ.ย. นี้ต้องถือว่าเป็นการปรับ “กลยุทธ์” ก่อนถึงโค้งสุดท้ายของการหาเสียง เหมือนที่ “นายบัญญัติ บรรทัดฐาน” กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ แถลงไว้หลังการประชุมคณะกรรม การอำนวยการเลือกตั้งตอนหนึ่งว่า... 

“นับจากนี้พรรคต้องทำให้ข้อเท็จจริงและแนวโน้มที่จะเกิดเหตุการณ์ในวันข้างหน้าว่าปร​ะเทศจะเป็นบวกหรือลบอย่างไรให้กระจ่าง เพราะไม่สามารถปล่อยให้ประชาชนตกอยู่ใต้อิทธิพลการโฆษณาชวนเชื่อเพราะอันตรายมาก”

ที่มา.บางกอกทูเดย์
+++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น