--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2554

นับถอยหลังเลือกตั้ง ชำแหละนโยบายเศรษฐกิจดัชนีชี้วัดอนาคตประเทศไทย

ต้องยอมรับโดยดุษณีว่าตาลายจนลายตากับแผ่นป้ายโฆษณาหาเสียงของพรรคการเมือง ที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดในทุกป้ายรถเมล์ เสาไฟฟ้า และหัวมุมถนน ประชานิยมถูกปูพรมประหนึ่งภาพเสมือนจริง ที่ใช้เป็นเครื่องมือซื้ออนาคต และเสกสรรปั้นแต่งออกมาเป็นนโยบายด้านเศรษฐกิจอันสวยหรูที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง
“นับถอยหลังเลือกตั้ง” ฉบับนี้ จึงขออนุญาตถอดสมการนโยบายด้านเศรษฐกิจ ของพรรคการเมืองต่างๆ ผ่านมุมมองของ “ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ” คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป ที่ได้วิพากษ์ถึงนโยบายเหล่านั้นว่าจะมีผลต่ออนาคตประเทศไทยอย่างไรในวันข้างหน้า

** ประชานิยมแทรกแซงกลไกตลาด
“หากประเมินภาพรวมนโยบายเศรษฐกิจรวมทั้งนโยบายสาธารณะอื่นๆของพรรคการเมืองต่างๆ พบว่า การศึกษา วิจัยประเด็นผลกระทบที่ไม่คาดหมายหรือ ผลกระทบภายนอก โดยเฉพาะผลกระทบ ทางลบของนโยบายเศรษฐกิจหรือนโยบาย สาธารณะอื่นๆ ของพรรคการเมืองมีอยู่น้อยมาก แสดงให้เห็นว่านโยบายส่วนใหญ่ ยังมุ่งหาเสียงเพื่อความพึงพอใจต่อผู้มีสิทธิ ออกเสียงเฉพาะหน้ามากกว่าการพิจารณา นโยบายอย่างพินิจพิเคราะห์อย่างรอบด้าน และแสดงให้เห็นถึงความไม่ตระหนักต่อผล ของนโยบายในระยะปานกลางและระยะยาว”

“นโยบายจำนวนหนึ่งของพรรค การเมือง เช่น การตรึงราคาพลังงาน การ ตรึงราคาสินค้าหลายประเภทโดยไม่สอดคล้องกับกลไกตลาด เป็นนโยบายที่ไปแทรกแซงกลไกตลาดมากเกินไปทำให้เกิดการบิดเบือนการใช้ทรัพยากร ใช้งบประมาณอย่างไม่มีประสิทธิภาพและอาจนำมาสู่ภาวะการขาดแคลนสินค้าขึ้นได้ หากนโยบายของพรรคการเมืองจะใช้การ แทรกแซงของรัฐต่อกลไกราคา จะต้องอยู่ภายในกรอบเพื่อส่งเสริมการทำงานของกลไกตลาด หรือเพื่อแก้ไขภาวะตลาด ล้มเหลวเท่านั้น เพื่อช่วยให้ระบบเศรษฐกิจ โดยรวมมีประสิทธิภาพสูงสุดรองลงมาจาก การใช้กลไกตลาด การแทรกแซงของรัฐที่เกินกรอบนี้ จะทำให้ระบบเศรษฐกิจเสีย ประโยชน์และไม่มีประสิทธิภาพ เพราะจะเท่ากับว่ารัฐเข้าไปแก่งแย่งการใช้ทรัพยากร ของภาคเอกชน”

** ช่องว่างคนจนคนรวยเหลื่อมล้ำสูงลิ่ว
“การแข่งขันกันในเรื่องนโยบายเป็น สัญญาณที่ดีของพัฒนาการประชาธิปไตย ไทย แต่นโยบายส่วนใหญ่ยังไม่มีการบอกถึงแหล่งที่มาของงบประมาณพรรคการเมือง ยังหลีกเลี่ยงไม่นำเสนอประเด็นเรื่องการปฏิรูประบบภาษีและการแสวงหารายได้เพื่อสนับสนุนโครงการประชานิยมต่างๆ มุ่งแข่งขันกันใช้จ่ายเงินและการเพิ่มสวัสดิการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่ พอใจและกล่าวถึงนโยบายระยะยาวในการ เตรียมประเทศเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนน้อยมาก”

“พรรคการเมืองส่วนใหญ่ไม่ได้นำเสนอการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้และทรัพย์สินแต่มุ่งการเพิ่มสวัสดิการเพื่อ บรรเทาปัญหาความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ เท่านั้น ทั้งที่ปัญหาการกระจายรายได้ และกระจายความมั่งคั่งเป็นปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจไทยและนำมาสู่ปัญหาอื่นๆ และความขัดแย้งทางการเมือง ในปี พ.ศ. 2530 ประชากรที่จนที่สุด 20% ของประเทศ มีรายได้รวมกันเพียง 4.6% ของประเทศ ในปี พ.ศ.2552 ประชากรกลุ่มดังกล่าวมี รายได้ 4.8% ใกล้เคียงกับ 22 ปีก่อนหน้า เท่านั้น สะท้อนปัญหาช่องว่างระหว่างรายได้ คนจนและคนรวยยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่มาก”

**โบดำเมกะโปรเจกต์ระวังขาดดุลบัญชีเดินสะพัด
“นโยบายเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นติดสินบนแทบจะไม่มีพรรคการเมืองใหญ่พรรคใดเสนอขึ้นมาอย่างชัดเจน ซึ่งแตกต่างจากพรรคการเมือง ทางเลือกทั้งพรรครักษ์สันติ พรรคการเมือง ใหม่ โดยเฉพาะพรรครักษ์สันติได้นำเสนอ เรื่องความซื่อตรงเป็นประเด็นหลัก พรรค การเมืองไม่ได้นำเสนอเรื่องธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศ พรรคประชาธิปัตย์ มีความโดดเด่นด้านนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิต ขณะที่พรรคเพื่อไทยมีความโดดเด่นด้านนโยบายการลงทุนด้วยโครง การขนาดใหญ่จำนวนมาก ทั้งสองพรรค การเมืองล้วนนำเสนอนโยบายการลงทุนโครงการขนส่งระบบรางแต่ยังไม่มีรายละเอียดมากนักถึงวิธีการระดมทุนเพื่อนำมาใช้ในการลงทุน”

“นโยบายที่มีลักษณะประชานิยมของพรรคการเมืองต่างๆ หากดำเนินการอย่างไม่ระมัดระวังจะนำมาสู่อัตราเงินเฟ้อ ในระดับสูง ปัญหาวิกฤตการณ์ฐานะทาง การคลังและหนี้สาธารณะในระดับสูงในอนาคต นโยบายลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ทั้งหลาย เช่น Harber City (ปชป.) ถมทะเลสร้างเมืองใหม่ (พท.) โครงการรถ ไฟฟ้าและโครงการรถไฟความเร็วสูง หาก ไม่บริหารจัดการให้ดี ประเทศจะประสบปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดได้”

** ยาหอมนโยบายประชาสันติเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
“นอกจากพรรคการเมืองขนาดใหญ่ แล้ว พรรคการเมืองขนาดกลาง อย่างเช่น พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน เป็นพรรคที่มีนโยบายเศรษฐกิจชัดเจน เช่นกัน เช่น นโยบายเงินออมคูณ 2 ส่งเสริมการออม 20 ปีมี 1 ล้าน ผลักดันค่า แรงงานขั้นต่ำให้อยู่ในช่วง 250-350 บาท ต่อวัน ประกันราคาข้าวตันละ 15,000 บาท เป็นต้น ส่วนพรรคชาติไทยพัฒนานั้นมีความโดดเด่นทางด้านนโยบายปรองดอง และมีการนำเสนอการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนและเสนอให้มีการปรับโครงสร้างภาษี แต่ไม่ระบุรายละเอียด ว่าจะทำอย่างไร”
“พรรครักษ์สันติเป็นพรรคที่มีนโยบายเกี่ยวกับการเกษตร สวัสดิการสังคม และเศรษฐกิจที่น่าสนใจเช่นกัน เช่น พัฒนา กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ธนาคาร เพื่อคนยากไร้ นโยบายเกษตรโซนนิ่ง (วางระบบในการผลิตเกษตรกรรม) เพิ่มค่า ลดหย่อนภาษีให้เกษตรกรที่เลี้ยงดูบิดามารดา ลดภาษีสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเพิ่มดอกเบี้ยสำหรับสินค้าบาปและทำลายสิ่งแวดล้อม เพราะมีทีมที่ เป็นนักวิชาการจำนวนมาก”

**ลดภาษีคลุมเครือเหตุไร้ที่มาของรายได้
“นโยบายเศรษฐกิจเพื่อหาเสียงของ หลายพรรคการเมืองในขณะนี้ ส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่การลดภาษีประเภทต่างๆ เพื่อเอาใจฐานเสียง พรรคประชาธิปัตย์ เสนอ แนวทางการปฏิรูปภาษีทั้งระบบซึ่งไม่มีราย ละเอียดชัดเจนว่าจะลดหรือเพิ่มภาษีประเภทใดในอัตราเท่าไหร่ ขณะที่พรรคเพื่อไทย เสนอลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เป็น 23% ในปี 2555 และลดเหลือ 20% ในปี 2556 พรรคชาติไทยพัฒนา เสนอลดภาษี นิติบุคคลเหลือ 20% และพรรคภูมิใจไทย เสนอลดภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เหลือ 5%”

“พรรคการเมืองที่เสนอลดภาษีอย่างชัดเจนต้องตอบคำถามให้ได้ว่าจะหารายได้มาชดเชยรายได้ภาษีเหล่านี้อย่างไร เพราะตอนนี้รัฐบาลได้ทำงบประมาณ ขาดดุลมาต่อเนื่องหลายปีแล้ว หากไม่สามารถหาเงินมาชดเชยก็จำเป็นต้องตัดลดรายจ่ายบางส่วนลงหรือต้องกู้เงินเพิ่ม หากใช้ฐานข้อมูลเดิมมาพิจารณา การปรับ ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% เหลือ 20-23% จะทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้จากภาษีนิติบุคคลมากกว่าหนึ่งแสน ล้านบาท ส่วนพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน มีนโยบายยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กับนักศึกษาที่เริ่มทำงาน 5 ปีแรก เป็นนโยบายที่มีข้อจำกัดและยังไม่มีรายละเอียด ที่ชัดเจน เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าใครคือ นักศึกษาและเป็นนักศึกษาระดับไหน”

**จี้จุดสลบนโยบายประกันราคาจำนำข้าว
“นโยบายรับจำนำข้าวและสินค้าเกษตรของพรรคเพื่อไทยมีข้อดี คือ ชาวนา หรือเกษตรกรได้รับเงินทันทีเต็มจำนวน นโยบายรับจำนำข้าวยังสอดรับกับการจัดตั้งธนาคารข้าวและบัตรเครดิตชาวนาซื้อปัจจัยการผลิต ข้อด้อยของนโยบายรับจำนำ คือ รัฐลงไปเป็นคู่ค้าเสียเองซึ่งอาจทำให้เกิดการขาดทุนและมีปัญหาทาง ด้านประสิทธิภาพการดำเนินงาน เป็นการ แทรกแซงกลไกตลาด อาจทำให้ชาวนาผลิตโดยไม่สนใจสภาวะของตลาด หากรัฐบาลจัดการเรื่องการจัดเก็บและบริหาร โควตาไม่ดีย่อมก่อให้เกิดการทุจริตรั่วไหลและไม่มีประสิทธิภาพขึ้นได้”

“แนวคิดของนโยบายนี้ คือ รัฐเข้ามารับความเสี่ยงจากความผันผวนราคาสินค้าเกษตรเสียเอง ซึ่งรัฐอาจจำเป็นต้องขาดทุนเพื่อให้เกษตรกรขายสินค้าได้ราคาตามเป้าที่รับจำนำไว้ ส่วนนโยบายประกันราคาเป็นไปตามกลไกตลาด รัฐไม่เข้าแทรกแซงทำหน้าที่เพียงจ่ายส่วน ต่างระหว่างราคาตลาดและราคาอ้างอิง ข้อด้อยของนโยบายประกันราคา คือ อาจ มีชาวนาปลอมมารับเงินส่วนต่าง ชาวนาอาจได้รับเงินส่วนต่างล่าช้า ไม่คุ้มค่ากับการผลิตหรือต้นทุนที่แท้จริงเพราะราคาตลาดอาจผันผวนมาก แนวคิดนโยบายนี้ ไม่พยายามแทรกแซงกลไกตลาดหรือกลไก ราคา อาจต้องใช้งบประมาณจำนวนมากหากราคาตลาดตกต่ำมากและรัฐต้องจ่าย ส่วนต่างสูงขึ้น”

นี่คือมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง ที่มองถึงผลกระทบจากนโยบายขายฝันของพรรคการเมืองที่จะมีผลไปถึงอนาคตของเศรษฐกิจไทย ที่นักวิชาการท่านนี้พยายามย้ำหัวตะปูและสะกิดเตือนพรรคการเมืองต่างๆ ให้ควรนำเสนอนโยบายเพิ่มบทบาทเอกชนและปรับโครงสร้างตลาดให้มีการแข่งขันเสรี ไม่ใช่แทรก แซงตลาดเพราะจะสร้างต้นทุนต่อระบบเศรษฐกิจ และปัญหาเศรษฐกิจ ในระยะยาว

ที่มา.สยามธุรกิจ
****************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น