--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ไม้ตายสุดท้ายประชาธิปัตย์: ปราศรัยใหญ่ 23 มิ.ย. หน้าเซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์

และแล้ว พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งถูกพรรคเพื่อไทยทิ้งห่างเรื่อยๆ จากการสำรวจของโพลทุกสำนัก ก็ตัดสินใจใช้ “ไม้ตาย” ในช่วงสองสัปดาห์สุดท้ายของการเลือกตั้ง
นั่นคือขุดประเด็น “เผาบ้านเผาเมือง” ของกลุ่มคนเสื้อแดงที่เกี่ยวโยงกับพรรคเพื่อไทยอย่างปฏิเสธไม่ได้ ขึ้นมาโจมตีโดยตรง
จริงอยู่ว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีและเลขาธิการพรรค รวมถึง นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรค ต่างออกมาเปิดประเด็นเรื่องความขัดแย้งที่ราชประสงค์อยู่เรื่อยๆ แต่นั่นเป็นเพียงการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อทั่วไป
แต่คราวนี้ พรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจ “ทิ้งบอมบ์” ทางสัญลักษณ์ โดยบุกเข้าไปยังพื้นที่ขัดแย้งโดยตรง (ซึ่งในนัยทางการต่อสู้ ถือเป็นพื้นที่ที่คนเสื้อแดงรู้สึกเป็นเจ้าของ) โดยประกาศปราศรัยใหญ่หาเสียงหน้าลานเซ็นทรัลเวิลด์ในวันที่ 23 มิถุนายนนี้

ที่ประชุมพรรคตัดสินใจเลือก “เซ็นทรัลเวิลด์”

บนเว็บไซต์ของพรรคประชาธิปัตย์ระบุว่า การตัดสินใจเลือกเซ็นทรัลเวิลด์เป็นมติของคณะกรรมการบริหารพรรค ซึ่งตั้งใจเลือกพื้นที่ที่เกิดการชุมนุมและเกิดสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองโดยตรง ส่วนเนื้อหาจะมีทั้งการเล่าเหตุการณ์ที่พี่น้องประชาชนอยากเห็นอยากทราบและนำเสนอเรื่องที่ทางพรรคฯ ต้องการผลักดัน
ส่วนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้สัมภาษณ์ไว้ว่าการเลือกสี่แยกราชประสงค์เพราะมีความหมายทางการเมือง (ข้อมูลจาก Springnews)
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ย้ำอีกครั้งก่อนเดินทางลงพื้นที่หาเสียงที่ จ.เพชรบูรณ์ ว่า ในช่วงโค้งสุดท้ายพรรคจะเน้นการปราศรัยใหญ่ที่เข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครจะพูดถึงเหตุการณ์ความวุ่นวายที่ผ่านมาและแนวทางการ สร้างความปรองดองในชาติเพราะสี่แยกราชสงค์มีความหมายเสมือนเป็นสัญลักษณ์ทาง การเมืองที่ผ่าน ถือเป็นจุดยุทธรศาสตร์ที่สำคัญในกรุงเทพ และไม่กังวลว่าจะถูกโจมตีว่านำเหตุการณ์ความวุ่นวายมาหาเสียงทางการเมือง เพราะที่ผ่านตนถูกโจมตีทุกเรื่องอยู่แล้ว
หนังสือพิมพ์มติชนออนไลน์ รายงานข้อมูลจากนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย และนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ แกนนำของพรรคไว้ดังนี้
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าววันที่ 18 มิถุนายน ถึงสาเหตุที่เปลี่ยนสถานที่ตั้งเวทีปราศรัยใหญ่ใน กทม.วันที่ 23 มิถุนายน จากลานคนเมือง ศาลาว่าการ กทม.ไปเป็นสี่แยกราชประสงค์ว่า ทำเรื่องขอใช้ลานข้างห้างเซ็นทรัลเวิลด์ไป เหตุที่ต้องเปลี่ยนที่เพราะคนเสื้อแดงตามก่อกวนการหาเสียงของหัวหน้าปชป.โดย ชูประเด็นเรื่อง 91 ศพ หรือนายกฯมือเปื้อนเลือดตลอดเวลา จึงจำเป็นที่จะต้องชี้แจงข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้ทราบ
“การปราศรัยวันดังกล่าวจะพูดถึงความวุ่นวายทางการเมืองตลอด 2 ปีที่ผ่านมา โดยจะชี้ให้เห็นว่าใครอยู่เบื้องหลัง ซึ่งเชื่อว่าแม้แต่คนเสื้อแดงที่ไม่รู้ว่าแกนนำคนเสื้อแดงทำอะไรบ้างในช่วง ที่เกิดเหตุการณ์ เมื่อได้ฟังข้อมูลแล้วก็อาจจะเข้าใจอะไรได้มากขึ้น การใช้ห้างเซ็นทรัลเวิลด์เพราะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์โดยตรง เชื่อว่าจะเป็นข้อมูลสำคัญที่จะมีผลต่อการตัดสินใจว่าจะเลือกพรรคการเมืองใด ในวันที่ 3 กรกฎาคม”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้คณะกรรมการยุทธศาสตร์นโยบายหาเสียงของ ปชป.ที่มีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เป็นประธาน เคยประเมินว่าคนทั่วประเทศโดยเฉพาะคน กทม. ยังไม่ลืมเหตุการณ์เรื่องการเผาเมืองของคนเสื้อแดง หากย้ำจุดนี้บ่อยๆ น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้คนกลางๆ หรือคนที่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกพรรคการเมืองใด หันมากาพรรค ปชป. ให้พลิกกลับมาชนะพรรคเพื่อไทย (พท.) ในช่วงโค้งสุดท้ายได้
ด้านนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้อำนวยการการเลือกตั้งเขต กทม. ให้สัมภาษณ์ว่าการปราศรัยจะไม่กระทบกับบรรยากาศการลงทุน เพราะไม่ใช่การชุมนุม (ข้อมูลจาก News 100.5FM)

‘หมอเหวง’ บอกอย่าทำจะดีกว่า

ส่วนปฏิกริยาจากกลุ่มคนเสื้อแดง นำโดย นพ. เหวง โตจิราการ แกนนำเสื้อแดงและผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ว่า
อยากเตือนไปยังพรรคประชาธิปัตย์ ที่จะไปเปิดปราศรัยใหญ่ที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ในวันที่ 23 มิ.ย.นี้ว่า อย่าทำจะดีกว่า เพราะอาจทำให้ญาติพี่น้องประชาชนที่เสียชีวิตจากกรณีเหตุรุนแรงเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค. จำนวน 91 ศพ เกิดความไม่พอใจได้ แต่วามจริงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สามารถที่จะเปิดปราศรัยได้อยู่แล้ว เพราะถือเป็นสิทธิ์ ที่สามารถจะกระทำได้ ทั้งนี้ คนไทยไม่น้อยที่มีความเชื่อเรื่องวิญญาณ อาจเห็นว่าไม่เหมาะสมเพราะเหมือนเป็นการไปเหยียบย่ำผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวหรือไม่
หากให้คิดเหมือนพรรคประชาธิปัตย์ กำลังพยายามเอาฝ่ามือไปปิดฟ้าก็ไม่มิด ไปปิดดวงอาทิตย์ก็ทำไม่ได้ จะเป็นเหมือนกับการตอกย้ำผู้เสียชีวิตหรือไม่ ดังนั้นจึงอยากฝากเตือนสติไปยังนายอภิสิทธิ์ รวมไปถึงนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ควรที่จะใช้วิธีหาเสียงที่มีความสร้างสรรค์
ข้อมูลจาก ไทยรัฐ

วิเคราะห์ยุทธศาสตร์ ปชป. เปลี่ยนกระแสได้หรือไม่?

ในสมรภูมิรบ ไม่ว่าจะเป็นสงครามเต็มรูปแบบ การปราบปรามผู้ก่อการร้าย หรือการต่อสู้ทางการเมืองในระบอบรัฐสภา วิธีการใช้อาวุธจะเป็นแบบ “จากเบาไปหาหนัก” อย่างเดียวกับที่คนไทยคุ้นเคยตามแถลงการณ์ของ ศอฉ.
“อาวุธเบา” ในที่นี้คือการต่อสู้กันทางนโยบายเชิงบวก แข่งกันว่านโยบายของใครจะถูกใจประชาชนมากกว่ากัน
แต่เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเริ่มเพลี่ยงพล้ำ ก็จะเริ่มงัดอาวุธที่หนักขึ้นเรื่อยๆ มาสู้ ซึ่งก็ได้แก่การโจมตีทางการเมืองด้วยวิธีต่างๆ ตั้งแต่เรื่องส่วนตัว วิถีชีวิต คำสัมภาษณ์ในอดีต ฯลฯ
เราเพิ่งเห็น “ภาพหลุด” ของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ กับนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง ไปเมื่อไม่กี่วันนี้ ซึ่งก็ถือเป็น “อาวุธหนักขึ้น” ที่ฝ่ายตรงข้ามพรรคเพื่อไทยงัดขึ้นมาสู้ หลังจากกระแสพรรคเพื่อไทยมาแรงแซงโค้ง
เช่นเดียวกัน ในอดีตเราก็เห็นการใช้ “อาวุธหนัก” อย่างเทปเสียงอภิสิทธิ์สั่งให้ปราบประชาชน (ซึ่งภายหลังยืนยันได้ว่าเป็นเทปตัดต่อ) มาโจมตีฝั่งพรรคประชาธิปัตย์เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การบุกเข้าไปปราศรัยใหญ่ในพื้นที่ขัดแย้งสูงของพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้ ก็คงเทียบได้กับ “ระเบิดนิวเคลียร์” ลูกมหึมา
ในเชิงกลยุทธแล้วไม่มีอะไรไม่สมเหตุสมผล เพราะพรรคประชาธิปัตย์เป็นรองในโพลทุกสำนัก และอาวุธอื่นๆ ถูกใช้ไปหมดคลังแล้ว ก็ไม่สามารถหยุดยั้งกระแสยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยลงได้
อยู่เฉยๆ ก็มีแต่แพ้ สู้งัดไม้ตายสุดท้ายขึ้นมาสู้ เผื่อจะพลิกกระแสได้ ย่อมเป็นการตัดสินใจที่ดีกว่า
ในอดีตพรรคประชาธิปัตย์ใช้ไม้ตายพลิกกระแสมาสำเร็จแล้วหลายครั้ง (แน่นอนว่าบางครั้งก็ล้มเหลว) โดยกรณี “คลาสสิก” ที่สุดก็คือวาทกรรม “จำลองพาคนไปตาย” ที่เอาชนะพรรคพลังธรรมได้ในการเลือกตั้งปี 2535 ยุคที่พรรคพลังธรรมขึ้นถึงจุดสูงสุด
ถ้าเป็นคนอื่น การใช้ยุทธวิธีแบบนี้มองได้ว่า “ฆ่าตัวตาย” แต่สำหรับประชาธิปัตย์ที่มีประวัติผลงานเก่าแล้ว ได้แต่บอกว่า “จับตาดู”
หากประชาชนรับฟังเรื่องราววันที่ 23 มิ.ย. และเข้าใจพรรคประชาธิปัตย์ กระแสก็อาจเปลี่ยน
แต่ถ้าผลลัพธ์ออกมากลับกัน เราก็คงสรุปบทเรียนได้ว่า “ยุทธวิธีเหมาะสม แต่ยุทธศาสตร์ผิดพลาดตั้งแต่แรก”

ที่มา.Siam Intelligence Unit

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น