ที่มา – UPI Asia.com
แปลและเรียบเรียง – แชพเตอร์ ๑๑
ฮ่องกง ประเทศจีน – เมื่อวันศุกร์ที่แล้วผู้แทนประชาสังคม ๑๐ คนได้เรียนรู้ว่า การเริ่มดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชีย เป็นเรื่องที่ลำบากยากเย็นเพียงไร ผู้แทนทั้งสิบคนคาดหมายว่า จะพบปะพูดคุยกับผู้นำต่างๆของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ซึ่งผู้นำแต่ละคนเป็นตัวแทนของประเทศต่างๆ ก่อนที่จะเริ่มกระบวนการคัดสรรตำแหน่งคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาล ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
แต่คืนก่อนหน้านั้น เจ้าหน้าที่จากกระทรวงการต่างประเทศของประเทศไทย ซึ่งใช้เป็นสถานที่จัดการประชุมดังกล่าว ได้มีคำสั่งว่า อนุญาตให้ผู้แทนประชาคมเพียงห้าคนเท่านั้นที่จะผ่านประตูเข้าไปได้ เมื่อผู้แทนทั้งห้าคนมาถึงสถานที่ประชุม เจ้าหน้าที่ได้สั่งอีกว่า ห้ามไม่ให้ทุกคนเปิดปากพูด
ยินดีต้อนรับสู่การสนทนาเรื่องสิทธิมนุษยชน แบบอาเซียน
ในแถลงการณ์ของนักเคลื่อนไหวที่ได้รับการปฏิเสธได้กล่าวว่า การกระทำเช่นนี้เป็น “การปฏิเสธทั้งประชาสังคมและระบอบประชาธิปไตย” ย่อม “ทำลายความน่าเชื่อถือ” ของคณะกรรมาธิการชุดใหม่ การรายงานของสื่อได้โทษกลุ่มที่ถูกห้ามว่า “ปากเสีย” และ “เยาะเย้ย” กรรมาธิการ
ทั้งหมดนี้ดูเหมือนจะเป็นการตื่นเต้นจนเกินเหตุ
เป็นที่แน่ชัดตั้งแต่แรกแล้วว่า วัตถุประสงค์ในการสรรหาคณะกรรมาธิการแห่งอาเซียนชุดใหม่ ไม่ใช่เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน แต่มีวัตถุประสงค์ตรงกันข้าม
อาเซียนได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลเพื่อให้รัฐบาลที่ร่วมเป็นสมาชิก และสถาบันสิทธิต่างๆที่ไร้ศักยภาพสามารถผลักไสการร้องเรียนเรื่องการละเมิดสิทธิให้ออกไปจากประเทศของตัวเอง พวกเขาจะได้ทำการล้างปัญหาอย่างมืออาชีพ แล้วดำเนินการโดยใช้ “ช่องทาง” และ “ยุทธวิธี” ต่างๆ จนกระทั่งจุดประสงค์เริ่มแรกถูกลืมไป และเจ้าทุกข์เกิดความท้อแท้และยอมแพ้ไปในที่สุด
แม้ว่าการมีคณะกรรมาธิการที่ไม่ได้ตั้งขี้นเพื่อเพื่อสนับสนุนสิทธิต่างๆ แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการณรงค์ของบรรดาสมาชิก เพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่งอันทรงเกียรติในระดับสากล เช่นเดียวกับคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
ประเทศไทยได้ประกาศแล้วว่าจะส่งคนเข้าแข่งขันสำหรับตำแหน่งสูงสุดของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในปีหน้า เอกอัครราชทูตประจำสำนักงานสหประชาชาติคนปัจจุบันเคยดำรงตำแหน่งโฆษกรัฐบาลสมัยอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ซึ่งสามารถสังหารผู้ถูกกล่าวหาว่าค้ายาเสพติดจำนวนนับพันในปี ๒๕๔๙
บทบาทใหม่ที่ได้รับการเลื่อนฐานะขึ้นมาให้ดำรงตำแหน่งผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนของอาเซียน เอกอัครราชทูตคนนี้ได้ทำงานร่วมกับกรรมาธิการระหว่างรัฐบาล และอาจจะตั้งความหวังเพื่อตำแหน่งใหญ่โตในกรุงเจนีวา
รัฐบาลเหล่านี้ทำงานหนักในการดำเนินวิธีทางการทูตเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ไม่มีเหตุผลอะไรมากไปกว่าสิทธิมนุษยชนนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะมาคาดหวัง เป็นเรื่องที่น่าสงสารที่กลุ่มผู้แทนประชาสังคมถูกหลอกให้เข้าร่วมประชุมทางการทูตนี้
ไม่เพียงแต่จะพิสูจน์ได้ว่า เสียทั้งเวลา เสียทั้งเงิน แต่ยังสร้างความเสียหายให้กับการปกป้องสิทธิมนุษยชนในเอเซียด้วย
การดำเนินวิธีการทางการทูตเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เป็นสาเหตุแห่งความล้มเหลวในการสัมผัสกับความเป็นจริงของการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง วิธีทางการทูตเป็นการต่อรองและยืดหยุ่น เป็นการแอบจับมือตกลงกันหลังฉาก ในทางกลับกัน การรณรงค์นั้นคือการยืนหยัดในจุดยืนอย่างมั่นคง และจำเป็นที่จะต้องกระทำอย่างเปิดเผยต่อสายตาสาธารณะชน
นักการทูตด้านสิทธิต่างมีความกลัวที่จะอ้าปากพูด เนื่องจากพวกเขาอาจจะเหยียบตาปลาเจ้าหน้าที่ เสี่ยงต่อสถานะภาพของตัวเองกับนักการทูตคนอื่น พวกเขายอมทิ้งความสามารถในการเจรจาต่อรองประเด็นสำคัญๆในที่แจ้ง เพียงเพื่อจะรักษาเก้าอี้และได้รับการเชิดหน้าชูตาเท่านั้น
นี่คือเหตุผลว่าทำไม ตัวอย่างเช่น บางกลุ่มจึงได้ล้มเหลวในการประณามการใช้กฎหมายหมิ่นฯ ซึ่งนำมาใช้ปิดปากและจำคุกประชาชนในประเทศไทย เมื่อมาถึงจุดยืนแล้ว ไม่มีอะไรที่พวกเขาจะต้องลังเลเลย
นักการทูตด้านสิทธิอาจจะหลงตัวเองโดยคิดว่า จะปฏิบัติการให้สำเร็จโดยวิธีต่อรองอย่างเงียบๆ ราวกับว่าพวกเขาจะมาเจรจาการค้าหรือติดต่อซื้อขายอาวุธ ซึ่งการใช้วิธีการเยี่ยงนี้ถือว่า เป็นอันตรายต่อการปกป้องสิทธิมนุษยชนที่แท้จริง
จุดประสงค์ประการเดียวที่สำคัญที่สุดของการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนคือ การเปิดปากพูด และท้าทายข้อต้องห้ามทั้งหลายที่ปล่อยให้มีการละเมิดสิทธิกันอย่างไม่หยุดหย่อน การทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชนเป็นการยืนกรานให้มีการยุติการเซ็นเซอร์ในการถกเถียงถึงปัญหาต่างๆ อันเป็นต้นเหตุแห่งการละเมิดสิทธินั้น
การเซ็นเซอร์จะยุติลงได้ถ้ามีการรณรงค์ต่อต้าน ในทางกลับกัน วิธีทางการทูตเพื่อสิทธิมนุษยชนไม่เพียงแต่สนับสนุนการเซ็นเซอร์เท่านั้น แต่ยังได้บังคับให้ผู้ที่มีส่วนร่วมต้องทำการเซ็นเซอร์ตัวเองด้วย
ใครก็ตามที่เซ็นเซอร์ตัวเองโดยการพูดจาหลอกลวงไม่ควรได้รับความเห็นใจใดๆ หากนานไปพวกเขาพบว่า ต้องตกเป็นเหยื่อจากความพยายามในการต่อรองของตัวเอง แล้วมาร้องแรกแหกกระเชอเมื่อได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม
ได้แต่หวังว่าพวกเขาจะได้เรียนรู้บทเรียนที่สำคัญ ว่าวิธีทางการทูตในเรื่องสิทธิมนุษยชน กับการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนนั้นมันเอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้ ใครก็ตามที่เลือกจะใช้วิธีทางการทูตย่อมต้องเลิกใช้วิธีการรณรงค์เพื่อสิทธิ และท้ายที่สุดการหยุดการรณรงค์หมายถึง การยอมแพ้ในเรื่องสิทธิมนุษยชน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น