Posted by ภีรเดช โกตมวรีสุรนารถ
ตอนเรายังเด็กๆ หลายท่านคงจะจำบรรยากาศในการเรียนได้ ข้าพเจ้านั้นเรียนโรงเรียนบ้านนอกเพราะเป็นเด็กบ้านนอก เกิดมาความเป็นบ้านนอกก็ครอบคลุมตัวมาตั้งแต่เกิด จำได้ว่าเมื่อก่อนนั้นถนนหนทางเป็นดินโคลนและเวลาฝนตกลงมาก็เป็นเรื่องสนุกสนานตามประสาเด็ก เปรอะเปื้อนเลอะเทอะตามนโยบายเด็ก และที่สำคัญข้าพเจ้าคิดว่าหลายท่านคงจะอยากกลับไปเป็นเด็กอีกครั้งหนึ่ง
พอโตขึ้นมาหน่อยก็ขยับวิทยะฐานะไปเรียนในเมือง มีเพื่อนฝูงเยอะแยะเช่นกัน แต่ถึงจะเป็นในตัวเมืองก็เป็นตัวเมืองบ้านนอกไม่ได้มีสิ่งเจริญอันใดเป็นที่เชิดหน้าชูตาแต่และสถานที่เรียนที่ใหม่ที่ว่านี่เองที่ทำให้ข้าพเจ้าได้พบกับเรื่องที่ข้าพเจ้าจะนำมาเล่าให้ฟัง นั่นคือการเรียนวิชาภาษาไทย
ข้าพเจ้าจำได้ว่าวิชาภาษาไทยตอนเด็กๆ นี่ไม่มีใครชอบเท่าใดนัก จากที่มองบรรยากาศในตอนนั้นของเพื่อนๆ ที่เรียนด้วยกันแล้วบอกได้เลยว่าแสนน่าเบื่อ สิ่งหนึ่งที่ข้าพเจ้าจำได้ในวิชาภาษาไทยคือนอกจากการเรียนที่น่าเบื่อที่มาจากคนสอนที่น่าเบื่อแล้ว เนื้อเรื่องที่นำมาเรียนก็แสนจะไม่เข้าท่า แต่มีเนื้อเรื่องเรื่องหนึ่งที่ข้าพเจ้าจำได้จนถึงวันนี้และข้าพเจ้าคิดว่าหลายท่านก็จำได้และผ่านตามาแล้วเช่นเดียวกันนั่นคือบทประพันธ์ของพระยาอุปกิติศิลปสารที่มีชื่อว่า “พ่อแม่รังแกฉัน”
บทประพันธ์เรื่องนี้นอกจากชื่อที่สะดุดหูแล้ว เนื้อหาก็เข้าใจแสนง่ายขนาดข้าพเจ้าเป็นเด็กถึงแม้จะไม่ใช่เด็กมากแต่ก็ไม่อยู่ในวิสัยที่จะแยกแยะความไพเราะหรือแก่นสารของเนื้อหาได้ง่ายๆ เช่นกัน บทประพันธ์เรื่องนี้เป็นกลอนมีสัมผัสนอก สัมผัสในไพเราะข้าพเจ้าสามารถท่องจำได้เลยก็ว่าได้ในตอนนั้น ที่จำขึ้นใจเลยคือเริ่มว่า
มีซินแสแก่เฒ่าได้เล่าขาน ……….
แต่ข้อหนึ่งแต่แกเล่าเขาประสงค์ มุ่งจำนงในข้างเป็นทางสอน
ชี้ทางธรรม์มรรยาทแก่ราษฎร เหมือนละครสุภาษิตไม่ผิดกัน
จำได้กันหรือเปล่าครับ? เนื้อเรื่องของบทประพันธ์นี้ได้กล่าวถึงเรื่องของเศรษฐีผู้หนึ่งที่มีบุตรชายหัวแก้วหัวแหวนสุดรักสุดเสน่หา เศรษฐีผู้นี้ตามใจบุตรชายคนนี้มากถึงขนาด ตอนเป็นเด็กบุตรชายถึงอายุเกณฑ์ที่จะต้องศึกษาเล่าเรียนแต่ว่าระยะทางไปโรงเรียนนั้นไกลจากบ้านของเศรษบีมากนัก ไม่อยากให้บุตรชายต้องลำบากในการเดินทาง เพราะฉะนั้นจึงได้ว่าจ้างครูผู้หนึ่งมาสอนบุตรชายที่บ้านของตน ฝ่ายบุตรชายนั้นเล่าตามสันดานของเด็กที่เป็นกันทุกคนคือเีกียจคร้าน หาแต่ความสุขสนุกสนานใส่ตัว ไม่สนอกสนใจในการศึกษาเล่าเรียนที่ผู้เป็นครูอาจารย์พร่ำสอน ฝ่ายครูนั้นก็แสนประเสริฐอยากให้ลูกศิษย์ของตนได้ดีมีวิชาความรู้ติดตัวจึงได้เฆี่ยนตีเพื่อให้หราบจำ แต่บุตรชายของเศรษฐีนั้นเป็นเด็กที่เอาแต่ใจตัว ไม่เคยถูกกระทั่งเฆี่ยนตีมาก่อน จึงนำความไปฟ้องบิดา ครั้นฝ่ายบิดาก็เห็นว่าบุตรชายนั้นได้รับความทรมานอย่างเหลือแสนจึงได้บอกเลิกสัญญาว่าจ้าง แล้วจึงไปหาครูอาจารย์คนอื่นมาสอนบุตรชายเสียใหม่แทนครูผู้เดิม
แต่เปลี่ยนครูอยู่ฉะนี้ไม่มีเหมาะ มักทะเลาะเลิกเรียนต้องเปลี่ยนใหม่
พวกครูๆ เข็ดกลัวกันทั่วไป ถึงจะให้เงินมากไม่อยากเอา
บิดาผู้รักบุตรสุดจะกลุ้ม ลูกเป็นหนุ่มใหญ่โตยังโง่เง่า
เที่ยวจ้างครูอยู่ห่างต่างลำเนา ค่าจ้างเท่าไหร่นั้นไม่พรั่นกลัว
แต่ก็ไม่ยืดไปเท่าไรนัก ประเดี๋ยวชักเหหันต้องสั่นหัว
เผอิญมาปะครูที่รู้ตัว แกหวังชั่วค่าสอนสู้ผ่อนตาม
พอบุตรชายของเศรษฐีนั้นเติบใหญ่ก็ยังไม่มีวิชาความรู้ติดตัว เที่ยวเล่นไม่สนใจการเรียนการอ่าน ครูอาจารย์ที่เอามาสอนก็กินเงินเดือนอย่างเดียวไม่สนใจลูกศิษย์ว่าจะร่ำเรียนหรือไม่ ไม่นานผู้เป็นบิดาก็เสียชีวิตตามอายุขัย เด็กหนุ่มจะรู้สึกเศร้าโศกก็หาไม่ ยังคงเที่ยวสัมมะเลเทเมาทุกค่ำเช้าอยู่เรื่อยไป พาเพื่อนฝูงเข้าออกผลาญสมบัติผู้เป็นบิดาจนหมดสิ้น จนตนเองไม่มีที่อยู่ที่กิน
คิดถึงครูผู้สอนถึงก่อนเก่า บางคนเฝ้าฝึกฝนพ้นวิสัย
บางคนเฝ้าจู้จี้พิรี้พิไร ไม่ถูกใจฟ้องพ่อก็อออือ
จนเหลวไหลได้เข็ญถึงเช่นนี้ พ่อแม่ที่รักลูกทำถูกหรือ
สิ่งใดพาเสียคนพาปรนปรือ ร้องไห้ฮือบ่นว่าเหมือนบ้าบอ
วันหนึ่งเด็กหนุ่มเดินทางไปขอทานยังต่างเมืองเพราะไม่มีอะไรจะกินแล้ว และได้ไปเจอซินแสท่านหนึ่งที่หน้าบ้านท่าน ร้องขอข้าวปลาอาหารเพื่อมาประทังชีวิต ฝ่ายซินแสนั้นพินิจพิเคราะห์ลักษณะแล้วเห็นว่าเด็กหนุ่มผู้นี้น่าจะเกิดมาเป็นลูกผู้ดีมีอันจะกิน จึงคิดไปว่าเจ้าเด็กหนุ่มนั้นมาหลอกลวงตนเองจึงได้พยายามขับไล่ไปเสียให้พ้นๆ ฝ่ายเด็กหนุ่มผู้ขอทานได้ฟังซินแสกล่าวอ้างก็ร้องห่มร้องไห้เล่าพรรณนาให้ฟังถึงอดีตที่ผ่านมา ว่าเป็นเพราะพ่อแม่ตนที่ไม่อบรมเอาแต่เที่ยวตามใจทำให้ต้องมีสภาพเช่นขอทานเหมือนปัจจุบัน ซินแสได้ฟังก็สอนว่าอย่าไปตำหนิพ่อแม่เลยถึงอย่างไรพ่อแม่รักลูกผิดไปเช่นไรพวกเขาก็ได้ตายจากไปแล้ว
เวลานั้นตัวเจ้ายังเยาว์อยู่ จึงไม่รู้ยั้งตนจนฉิบหาย
เดี๋ยวนี้เจ้ารู้สึกสำนึกกาย จงขวนขวายฝึกหัดดัดสันดาน
ข้าจักเป็นพ่อแม่ช่วยแก้ไข ต้องตามใจแต่ข้าจะว่าขาน
ถ้ายอมตามข้าว่าไม่ช้านาน จักไม่ต้องขอทานเขาต่อไป
ที่ข้าพเจ้านำมาเล่าอ้างให้ท่านฟังนี้ไม่ได้เป็นการย้อนอดีตในวันวานแต่อย่างเดียว แต่อยากจะสะท้อนว่าการที่ “พ่อแม่รังแกฉัน” นั้นในปัจจุบันนี้การที่ว่านี้ก็ยังมีและดำรงอยู่ตลอดจนส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อสังคมไทยในปัจจุบัน ที่เห็นได้ชัดเจนในการนี้และสมควรจะนำมากล่าวอ้างเพื่อความศิวิไลซ์ของบ้านเมืองนั่นคือ “พ่อแม่รังแกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ในขณะนี้ ถึงแม้พ่อแม่นายอภิสิทธิ์จะส่งเสียให้นายอภิสิทธิ์ได้เล่าเรียนถึงเมืองนอกเมืองนาไปไกลถึงกรุงอังกฤษตั้งแต่เด็กๆ และสามารถร่ำเรียนได้อยู่ในอันดับที่ดีเด่นจนเป็นที่เชิดหน้าชูตา ซึ่งไม่เหมือนกับบทประพันธ์ข้างต้นแต่อย่างใด แต่ผลที่ได้นั้นกลับเหมือนกันอย่างน่าใจหาย
คือฝ่ายแรกนั้นไม่เรียนจึงไม่รู้ ทำให้ไม่สามารถทำมาหากินหรือประกอบสัมมาชีพได้จนทำให้ตนตกที่ลำบากเดือดร้อน แต่ฝ่ายหลังนั้นศึกษาร่ำเรียนมาถึงขนาดแต่มาประกอบสัมมาชีพแล้วสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่นโดยที่ตนอาจจะไม่รู้ว่าได้กระทำตนเช่นนั้น และคิดว่าตนนั้นได้ทำสัมมาชีพที่เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองและก็ไม่มีใครผู้ใดอื่นที่จะมาคอยตักเตือนเหมือนเช่นซินแสในบทประพันธ์ข้างต้น
เพราะฉะนั้นหากนายอภิสิทธิ์ ที่ข้าพเจ้าคิดว่าไปเรียนเมืองนอกเมืองนามาตั้งแต่เด็กแต่เล็กอาจจะไม่เคยได้อ่านบทประพันธ์นี้ของพระยาอุปกิตศิลปสาร ต้องสมควรหาเวลามาอ่านและมาคิดทบทวนว่าเรื่องที่พระยาอุปกิตฯ ได้ประพันธ์ขึ้นนั้น สมควรจะนำมาประกอบเป็นแง่คิดในการดำรงชีวิตของตนและการบริหารชาติบ้านเมืองนี้หรือไม่ เพราะหากนายอภิสิทธิ์ได้อ่านบทประพันธ์นี้และทำความเข้าใจอย่างดีแล้ว บ้านเมืองนี้คงจะเดินไปในทิศทางที่น่าจะดีกว่าในปัจจุบันนี้อย่างแน่นอน เพราะในตอนท้ายของบทประพันธ์หากนายอภิิสิทธิ์อ่านจนจบได้ก็จะทราบว่าเรื่องนี้จบอย่างแฮปปี้เอนดิ้งและที่ข้าพเจ้าอยากจะแนะนำให้คุณอภิสิทธิ์ได้ไปอ่านดูนี้ก็เพื่อประเทศชาติบ้านเมืองของเรา เพราะนายอภิสิทธิ์ไม่ได้ทำหน้าที่เฉพาะค้าขายเป็นกิจการของตนแต่การที่กำลังปฏิบัติอยู่นี้มีชาติบ้านเมืองเป็นที่ตั้งและหวังเป็นอย่างสูงว่า “พ่อแม่รังแกฉันเวอร์ชั่นที่ ๒๗” ของนายอภสิทธิ์ จะจบอย่างแฮปปี้เอนอิ้งด้วยเช่นกัน
ลงท้ายลูกเศรษฐียินดีรับ ไปอยู่กับซินแสแก้นิสัย
ไม่ว่ามีกิจการสถานใด แกใช้ให้ทำสิ้นจนชินการ
แกปรานีจี้ไชด้วยใจรัก จนรู้จักค้าขายหลายสถาน
อยู่กับหมอต่อมาไม่ช้านาน ก็พ้นการทุรพลเป็นคนแคลน….
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น