--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เหตุ (เคย) เกิดที่พม่า


โดย จักรภพ เพ็ญแข

ที่มา คอลัมน์ “ผมเป็นข้าราษฎร”

หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์วิวาทะ Thai Red News ปีที่ 1 ฉบับที่ 19

ในเวลาที่เขาเร้ากระแสชาตินิยมกันจนคลั่ง อย่างกรณีกัมพูชา ปราสาทพระวิหาร และฮุนเซ็นในขณะนี้ การแสดงความเห็นใดๆ ทำได้ยากยิ่ง เพราะกลัวจะถูกตีตราว่าไม่รักชาติหรือขายชาติ คนส่วนใหญ่ก็ต้องนั่งนิ่งสยบยอม จนบางครั้งเกิดสงครามลุกลามใหญ่โตคร่าชีวิตชาวบ้านและลูกชาวบ้านคือทหารไปไม่รู้จักเท่าไหร่
ในขณะที่อำมาตย์คนสั่งนั่งสบายอยู่ที่เมืองหลวงและปลอดภัยดี ความรักชาติ (patriotism) เป็นลัทธิเกิดใหม่ของโลกเมื่อร้อยกว่าปีมานี้เอง เมื่อเกิดการรวมกลุ่มประชากรขึ้นมาเป็นสิ่งที่เรียกว่า ชาติ หรือ ประเทศ การรวมกลุ่มชนิดนี้เรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า รัฐสมัยใหม่ (modern state) ที่แตกต่างอย่างมากจากรัฐแบบโบราณ ลัทธินี้ทำให้กลุ่มคนในแต่ละ “ชาติ” หรือ “ประเทศ” เกิดผูกพันกับสังกัดของตนอย่างลึกซึ้งแน่นแฟ้น
จนเกิดแนวคิดเชิงปรัชญาขึ้นมาทั่วโลก เช่น ตัวตายดีกว่าชาติตาย สละชีพเพื่อชาติ “ความฝันอันสูงสุด” เป็นต้น ลัทธิรักชาติคือต้นเหตุที่สำคัญของสงครามโลกทั้งสองครั้ง และเป็นเหตุผลสำคัญสำหรับทุกคนที่อยากเป็นทหารด้วยอุดมการณ์ ถ้าจะเรียกเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ก็เป็นโปรแกรมที่ฝังลึกเข้าไป
สมองอย่างถอดถอนแทบไม่ได้อย่ากระนั้นเลย ขอเล่าเรื่องของไทยกับประเทศอื่น และเป็นเรื่องที่สามารถเทียบเคียงได้กับกรณีกัมพูชาจะดีกว่า เพราะพูดเรื่องปัจจุบันคงมีคนไม่สบอารมณ์เอาง่ายๆ เรื่องนี้เกิดขึ้นและจบลงเมื่อไม่นานปีมานี้ นั่นคือในขณะที่ ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นผู้บัญชาการทหารบก ฉากเปื้อนเลือดของกรณีนี้ไม่ใช่ราชอาณาจักรกัมพูชาแต่เป็นสหภาพเมียนมาร์หรือพม่า และมีความเกี่ยวพันลึกซึ้งกับระบอบอำมาตยาธิปไตยของไทยที่สั่งการให้เปิดศึกกับกัมพูชาเที่ยวนี้ล่ะครับ ฟังแล้วจะได้ทราบทั่วถึงกันว่า
ฝ่ายอำมาตย์ของไทยเขาคิดอะไรกับเพื่อนบ้าน และเขาก่อปัญหากับคนที่เขาไม่ชอบและจะกดหัวให้ต่ำกว่าเขาอย่างไร จู่ๆ ในคืนหนึ่งของปีใดคงไม่ต้องระบุชัด ก็มีเครื่องบินลำเลียงทางทหาร C-130 ร่อนลงในพื้นที่ที่ใกล้กับตะเข็บชายแดนไทย-พม่า และมีทหารไทยจำนวนหนึ่งกรูออกมาพร้อมอาวุธครบมือ ทหารเหล่านี้แต่งกายด้วยชุดสีดำที่ไม่ใช่เครื่องแบบในราชการทหารไทย แต่เป็นชุดของชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งที่สู้รบกับรัฐบาลพม่ามาหลายสิบปี
จากนั้นก็เข้าตีที่ทำการของทหารพม่าในพื้นที่อย่างรุนแรง ทั้งด้วยอาวุธประจำกายและอาวุธหนัก จนทหารพม่าที่ไม่ได้ตั้งตัวจนล้มตายไปเป็นจำนวนร้อยๆ นายเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในขณะที่ผู้นำอาวุโสลำดับสองของพม่า พลเอกหม่องเอ กำลังเดินทางเยือนประเทศไทยในฐานะแขกของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของนายกทักษิณฯ อยู่ด้วย ความต้องการก็คือแสดงความเป็นปฏิปักษ์กับเพื่อนบ้านที่รัฐบาลเลือกตั้งในขณะนั้นกำลังขยายสัมพันธไมตรีในทุกด้านเพื่อให้ประชาชนของประเทศได้รับประโยชน์
พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ คือผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น พลโทวัธนชัย ฉายเหมือนวงศ์ คือแม่ทัพกองทัพภาคที่ ๓ ในขณะนั้น กล้าสร้างเหตุการณ์นองเลือดที่ไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ เลยกับการปกป้องรักษาแผ่นดินไทย เพราะไทยกับพม่ามิได้มีปัญหาใดๆ เป็นพิเศษระหว่างกันในช่วงนั้นเลย เพียงเพื่อการแสดงออกว่า
อำมาตย์ไทยต้องการเป็นศัตรูตลอดชาติกับพม่าและไม่ยอมให้นายกรัฐมนตรีที่ประชาชนเลือกมาอย่างท่วมท้นคนใดเข้ามาเปลี่ยนสภาพศัตรูให้กลายเป็นมิตรเป็นอันขาด ฆ่าคนเขาตายเป็นเบือเพียงเพื่อเอาใจใครบางคนที่ถูกฝังชิปไว้ในหัวให้เกลียดเพื่อนบ้านราวกับคนที่มีปัญหาทางจิตเข้าขั้นอาละวาด ไม่ต่างอะไรนักจากความเกลียดชังเพื่อนบ้านฝั่งตะวันออกอย่างในขณะนี้ กรรมสิทธิ์เรื่องปราสาทพระวิหารและอาณาบริเวณกลับกลายเป็นเรื่องรอง เรื่องหลักคือความแค้นอันสุนทรที่เป็นแผลเรื้อรังมาหลายสิบปีและยังเสียหน้าอย่างสาหัสมาจนทุกวันนี้
จนถึงขั้นสั่งการให้ “สร้างเรื่อง” ให้จงได้ โดยเริ่มจากการจุดไฟใส่ประเด็นโดย
พันธมิตรฯ เสื้อเหลือง ตามด้วยการทำงานของทหารบางส่วนในกองทัพภาคที่ ๒ เพื่อสร้างเงื่อนไขความขัดแย้ง เช่น วางกับระเบิดในพื้นที่ทับซ้อน เคลื่อนกำลังเข้าประชิดชายแดน เป็นต้น ครั้งหนึ่งไม่นานมานี้ถึงกับเอาทหารชุดดำจำนวนหนึ่งใส่เฮลิคอปเตอร์ไปไล่ยิงชาวบ้านของฝ่ายตรงข้ามจนเกิดข่าวว่าเด็กหนุ่มอายุเพียง ๑๖ กับ ๑๗ ปีต้องตกเป็นเหยื่อและคนหนึ่งถูกเผาทิ้งจนหาศพแทบไม่ได้
พอผู้นำฝ่ายเขาต่อว่าต่อขานแรงๆ ก็เอาท่อนคำพูดที่ฟังแล้วสะเทือนใจที่สุดมาฉายแล้วฉายอีกให้คนไทยทั้งประเทศโกรธ เพราะคนทำเขารู้ดีว่าเรื่องของความรักชาตินั้นทะลุทะลวงได้ทั้งฝ่ายเสื้อแดงและเสื้อเหลือง ใครกำลังจะถึงคราวเคราะห์เหมือนอำมาตย์ไทยในช่วงนี้ อาจต้องคิดถึงเล่ห์กระเท่แบบนี้ขึ้นมาบ้างเหมือนกัน เรื่องพม่านั้นจบลงตรงที่ว่า คนที่เป็นนายกรัฐมนตรีขอย้ายผู้นำฝ่ายทหารฐานที่ปฏิบัติการขนาดนี้แล้วยังไม่แจ้งผู้บังคับบัญชา
แต่กลับถูกห้ามและสั่งให้ไปโยกย้ายเอาในช่วงก่อนเดือนตุลาคมซึ่งเป็นฤดูกาลปกติธรรมดาเพื่อรักษาหน้า นายกรัฐมนตรีคนนั้นก็เลยต้องกลืนเลือดตอนหลังไม่ยอมอนุมัติงบเติมน้ำมันให้กับรถถังที่ไปปฏิบัติภารกิจหาเรื่องเพื่อนบ้านกลับมาก็ถูก “โกรธ” จากผู้มีอำนาจตัวจริงของประเทศอย่างหนัก เห็นไหมครับว่าผู้ปฏิบัติการลับครั้งนั้นเขากล้าทำเพราะอะไร ก็เพราะเขาได้รับคำสั่งโดยตรงมาให้ทำ และคนที่สั่งก็อยู่ในฐานะที่ปกป้องคุ้มครองคนที่ทำได้ ไม่ว่าจะขัดนโยบายของรัฐบาลหรือจะผิดกฎหมายกี่ข้อกี่กระทงก็ตาม เรื่องกัมพูชาไม่มีอะไรเล่าเพิ่มเติม นอกจากจะบอกว่านี่แหละคือนโยบายต่างประเทศที่สม่ำเสมอและต่อเนื่องของระบอบอำมาตยาธิปไตยไทย
ดูกันเอาเองเถิดครับ.
-----------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น