
ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน แทบไม่มีใครเชื่อว่า แค่ความสัมพันธ์ระหว่างหญิงสาวชาวพม่าที่ชื่อ “มะไข่” กับ “สุชาติ ตันเจริญ” อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และอดีตแกนนำนักการเมืองกลุ่ม 16 ยุค “บรรหาร ศิลปอาชา” เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2539 ที่สุดแล้วจะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงต่อระบบสถาบันการเงินในประเทศไทยอย่างใหญ่หลวง และทำให้นักการเมืองกลุ่ม 16 มีชนักติดหลังมากระทั่งทุกวันนี้
กว่าจะเป็นเช่นนั้น มีเสียงค่อนขอดว่า ข่าวทลายขบวนการนักธุรกิจ-นักการเมืองกลุ่ม 16 ผลาญเงินบีบีซี 80,000 ล้านบาท โดยกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “มติชน” เป็นเพียงข่าวเก่าไม่ได้มี hint ใหม่แต่อย่างใด
ทว่า “มติชน” ลบเสียงครหาด้วยกระบวนการเจาะข่าว โดยนำเสนอชนิด “กัดไม่ปล่อย” อย่างหลากหลายมิติในเวลาต่อมา
มติชน ค่อยๆ เริ่มต้นแกะรอยถึงความสัมพันธ์ของอดีตแกนนำกลุ่ม 16 และหญิงสาว “มะไข่” จากบทความของ “ประสงค์ สุ่นศิริ” คอลัมนิสต์ชื่อดังของหนังสือพิมพ์แนวหน้าในยุคนั้น ที่ระบุว่า มีรัฐมนตรีคนหนึ่ง ครอบครัวค้าไม้ชายแดน เวลานำไม้เข้ามาก็จะมีผู้หญิงติดไม้มาด้วยชื่อมะไข่ โดยที่ “มะไข่” มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับรัฐมนตรีผู้นั้น
หลังจากนั้นตัวละครสำคัญ ค่อยๆ ถูกเปิดประตูขึ้น เมื่อ “มติชน” ตรวจสอบประวัติของมะไข่เบื้องต้น พบว่าเธอเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท เอิร์ท อินดัสเตรียล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯกว่า 16 ล้านหุ้น ร่วมกับ “เอกชัย อธิคมนันทะ” ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) หรือ บีบีซี และเป็นที่ปรึกษา “เนวิน ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และแกนนำกลุ่ม 16 ในขณะนั้น ถือหุ้น 11.05 ล้านหุ้น และ “ชวลิต อธิคมนันทะ” พี่ชายของเอกชัย ที่ถือหุ้นอีก 10.14 ล้านหุ้น
ถัดมาด้วยความบังเอิญ ผู้สื่อข่าวมติชนได้รับเอกสารจากเพื่อนนักข่าวต่างสำนักฉบับหนึ่งซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญของมะไข่
ปมหนึ่งที่มติชนพบจากเอกสารก็คือ การเทกโอเวอร์เอิร์ท อินดัสเตรียล ของมะไข่และเอกชัยในปี 2538 ขณะเดียวกันปมน่าสงสัยอีกประการคือ การใช้เทคนิคในการทำให้ราคาหุ้นสูง แล้วเทขายได้กำไร ทั้งๆ ที่เพิ่งซื้อบริษัทดังกล่าวมาไม่ถึงปี
เงินไปไหน ? หายอย่างไร ? มะไข่ซอเป็นใคร ? เป็นมะไข่คนเดียวที่ประสงค์ สุ่นศิริ เขียนถึงในแนวหน้าหรือไม่ ? ทุกสมมติฐานถูกตั้งคำถามอย่างรอบด้าน
“ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์” มือข่าวเจาะชั้นครูของมติชน เล่าว่า เขานำเอกสารดังกล่าวมาวิเคราะห์ว่า ทำไมซื้อมาแค่ 11 เดือน จากราคา 11 บาท ขายได้ 16 บาท กำไรถึง 3-4 ร้อยล้าน เขาตั้งคำถามง่ายๆ ว่า เงินไปไหนอย่างไร ซึ่งเป็นคำถามเชิงธุรกิจที่ประสงค์ยอมรับว่า เขามีความรู้แค่งูๆ ปลาๆ
อย่างไรก็ตาม คำถามของประสงค์ถูกต่อยอดด้วยทีมข่าวเศรษฐกิจของมติชนในขณะนั้นว่า กรณีเช่นนี้ บีบีซีทำมาระยะหนึ่งแล้ว คือให้บริษัทหนึ่งกู้ แล้วให้อีกบริษัทหนึ่งมาซื้อไป จนทำให้มีกำไร
ส่งผลให้เวลาต่อมา คลังข้อมูลข่าวเจาะส่วนหนึ่งไหลมาจากโต๊ะข่าวเศรษฐกิจของมติชน อย่างไม่ขาดสาย
ขั้นตอนการแกะรอยปมปริศนาเป็นไปอย่างละเอียดทุกขั้นตอน มติชนค่อยๆ ตรวจสอบเอกสารจากตลาดหลักทรัพย์ฯว่า เกิดความผิดปกติเช่นนี้เหมือนกรณีมะไข่หรือไม่ กระทั่งเงื่อนปมค่อยๆ ถูกคลี่ออก
เมื่อมติชนพบว่าบีบีซียังได้ปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มนักธุรกิจต่างประเทศ เช่น “อัดนัน คาช็อกกี้” นักค้าอาวุธชาวซาอุดีอาระเบีย นักธุรกิจ-การเมืองกลุ่ม 16 “ฉัฐวัสส มุตตามระ” เลขาธิการพรรคเอกภาพในยุคนั้น แม้กระทั่ง “ไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์” ประธานกลุ่มบ้านฉาง รวมเป็นเงินนับหมื่นล้านบาท เพื่อเทกโอเวอร์บริษัทในตลาดหลักทรัพย์กว่า 10 บริษัท
นอกจากนี้ มติชนยังรวบรวมข้อมูลจากนิตยสารดอกเบี้ยรายเดือน พบว่ามีบริษัท 5-6 บริษัท ที่เข้าเทกโอเวอร์เพียงครึ่งปีหรือหนึ่งปีก็ขายทิ้งเหมือนจับตะกร้าล้างน้ำ ซื้อมาขายไปได้กำไรหลายร้อยหลายพันล้านบาท เช่น บริษัท ชลประทานซีเมนต์ จำกัด(มหาชน) ของกลุ่มสุชาติได้กำไรกว่า 1,000 ล้านบาท
ข้อมูลของมติชนน่าเชื่อถือและสร้างความตื่นตะลึงให้กับสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ
แหล่งข่าวเปิดเผยมติชนว่า มีการปล่อยสินเชื่อให้กับนักธุรกิจ-นักการเมืองกลุ่ม 16 ในการเทกโอเวอร์บริษัทต่างๆ ในตลาดหลักทรัพย์ถึง 15 บริษัท รวมทั้งสิ้น 21 ครั้ง ในช่วงเวลาแค่ปีเศษ เป็นวงเงินสูงถึง 36,000 ล้านบาท โดยกลุ่มที่เข้าเทกโอเวอร์มีเพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้น
จากปมสวาทกลายเป็นประเด็นใหญ่ที่อาจส่งผลอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ มติชนจึงนำข้อมูลเบื้องต้นรวบรวมเสนออย่างเป็นระบบ เพื่อไขปริศนาเทกโอเวอร์หุ้นเน่าดังกล่าว
ข่าว สกู๊ป รายงาน บทวิเคราะห์ บทความ ถูกนำเสนออย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ “สุรเกียรติ์ เสถียรไทย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในขณะนั้น ได้สั่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทยและเลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตรวจสอบและรายงานให้ทราบโดยด่วน
นอกจากนักธุรกิจ-นักการเมืองกลุ่ม 16 แล้ว ตัวละครสำคัญของข่าวเจาะชิ้นนี้ อย่าง “ราเกซ สักเสนา” นักธุรกิจชาวอินเดีย ที่ปรึกษาของ “เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์” กรรมการผู้จัดการใหญ่แห่งบีบีซี คืออีกหนึ่งความยากในการแกะรอย เพราะกว่าที่มติชนจะหาข้อมูลมาปะติดปะต่อว่า นายราเกซผู้นี้เป็นใคร ทำเอานักข่าวใช้เวลาแรมเดือนในการเก็บข้อมูล
ความยากประการหนึ่งในการแกะรอยนักธุรกิจใหญ่ชาวอินเดียผู้นี้ ประสงค์บอกว่า การรวบรวมชื่อและข้อมูลที่เราคิดว่าเกี่ยวข้องกับราเกซให้มากที่สุด หรือค้นจากการที่มีคนบอกเล่าเกี่ยวกับนายคนนี้ ซึ่งอาจจะใช่หรือไม่ใช่ก็ได้ เพราะยุคนั้นระบบสืบค้นโดยอินเทอร์เน็ตยังไม่มี เมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว ต้องไปค้นเพิ่มเติมที่กรมทะเบียนการค้า ( กรมพัฒนาธุรกิจ) กระทรวงพาณิชย์
ประสงค์ ล่าว่า แหล่งข่าวระดับสูงคนหนึ่งบอกว่า ราเกซนี่แหละเป็นคนสำคัญ แล้วเขาก็ให้ชื่อบริษัท ให้ชื่อกลุ่มคนกับเรา เราก็พยายามจดรวบรวมให้ได้ทั้งหมด แล้วไปค้นที่กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์
สิ่งที่มติชนพบคือ ข้อมูลกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งที่โยงใยเกี่ยวกับราเกซ ที่สำคัญกลุ่มคนเหล่านี้มีบทบาทอย่างสูงในการเข้าเทกโอเวอร์และบริหารบริษัทที่ถูกเทกโอเวอร์หลายบริษัท
มติชนนำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดจัดทำข้อมูลข่าวอย่างเป็นระบบ ถึงพฤติกรรมและเส้นทางการเงิน การซื้อหุ้นของกลุ่มก๊วนเศรษฐีอินเดียผู้นี้
กระทั่งเกริกเกียรติยอมรับกับมติชนในเวลาต่อมาว่า บีบีซีได้ปล่อยเงินกู้จำนวนหนึ่งให้กับราเกซ ทว่ากรรมการผู้จัดการใหญ่แห่งบีบีซียังคงปิดปากเงียบถึงจำนวนเงินกู้ดังกล่าว
กระนั้นก็ตาม จำนวนเงินกู้เกินหลักพันล้านบาทถูกเปิดเผยจากแหล่งข่าวระดับสูงในบีบีซีในเวลาต่อมา ท่ามกลางข่าวลือว่า กระทรวงการคลังเตรียมแผนปลดเกริกเกียรติออกจากตำแหน่งในทางการเมือง ประตูสวรรค์เริ่มเปิดออก ปมที่มติชนแกะรอยมานานแรมปี ถูกนำไปขยายผลโดยพรรคประชาธิปัตย์ ที่กลับมาทวงแค้นจากนักการเมืองกลุ่ม 16 ด้วยการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2539
ประเด็นที่พรรคสะตอหยิบมาถล่มเวลานั้นก็คือ กรณีบริษัทในครอบครัว “ตันเจริญ” คือ บริษัท ซีล่าร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์วิส และบริษัทวินิเวส ไปซื้อที่ดินยังจังหวัดหนองคาย แล้วนำไปค้ำประกันการขอกู้เงินจากบีบีซี เพื่อนำเงินไปซื้อหุ้นทำกำไรในระยะสั้น ทว่าที่ดินเหล่านั้นกลับเป็นที่ดินที่ออก น.ส. 3 ก.โดยมิชอบ ส่งผลให้เกิดเอ็นพีแอลอย่างมหาศาลในบีบีซี
รวมถึงกรณีนักการเมืองกลุ่ม 16 จำนวนหนึ่งไปกู้ยืมเงินจากบีบีซี เพื่อนำไปซื้อหุ้นบริษัทต่างๆ ในตลาดหลักทรัพย์ ส่งผลให้สุชาติ ตันเจริญ แถลงลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยทั้งน้ำตา
ประสงค์ ล่าถึงควันหลงหลังการอภิปรายว่า หลังจากสุเทพ เทือกสุบรรณ เอาข้อมูลมาแฉกลางสภา ทุกคนก็ตกตะลึงว่า เขาเอาข้อมูลมาจากไหน เพราะมันเยอะมาก ซึ่งภายหลังสุเทพเล่าให้ฟังว่า ส่วนหนึ่งเขาเอาฐานมาจากมติชน แล้วก็เอาไปแกะเพิ่มเติม
ประชาธิปัตย์นำข้อมูลหลักฐานการปล่อยสินเชื่อของบีบีซีไปถล่มนักการเมืองกลุ่ม 16 ในสภา ว่าทำให้เกิดความเสียหายต่อบีบีซีสูงถึง 70 กว่าล้านบาท
ประชาชนแห่ไปถอนเงินวันละ 2,000 ล้านบาท
การเปิดโปงความจริงส่งผลกระทบต่อฐานะความมั่นคงของบีบีซีอย่างรุนแรง จนธนาคารแห่งประเทศไทยต้องสั่งให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเพิ่มทุนทันที 5,400 ล้านบาท เพื่อเข้าควบคุมการบริหารงานได้อย่างเต็มที่
ขณะที่กระทรวงการคลังต้องประกาศเข้าควบคุมบีบีซีอย่างเบ็ดเสร็จ
แรงกดดันจากการนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง ได้นำไปสู่การดำเนินคดีกับนายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ และราเกซ สักเสนา ในข้อหายักยอกทรัพย์บีบีซี 1,657 ล้านบาท
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น