--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ทีมทนายแถลงการณ์โต้ถอดยศ"แม้ว"ชี้เป็นอำนาจพระมหากษัตริย์เท่านั้น ไม่ใช่หน้าที่ สตช.-นายกฯ

มติชน : ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายพิชิต ชื่นบาน อดีตทนายความพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีในคดีที่ดินรัชดา ได้เผยแพร่แถลงการณ์ เรื่อง “ถอดยศและริบเครื่องราชอิสริยาภรณ์”ของพ.ต.ท.ทักษิณ ลงวันที่ 28 ตุลาคมโดยมีเนื้อหาดังนี้

ตามที่ปรากฎเป็นข่าวว่ารัฐบาล โดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ได้เห็นชอบให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติหาแนวทางเพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตถอดยศและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของข้าราชการตำรวจ ซึ่งกรณีนี้น่าจะมุ่งหมายเพื่อดำเนินการถอดยศและริบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยให้หารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า ถ้าข้าราชการตำรวจผู้ใดมีกรณีต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ไม่ว่าเป็นคำพิพากษาของศาลใด ย่อมอยู่ในหลักเกณฑ์ตามข้อ 1(2) แห่งระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ. 2547และย่อมอยู่ในเหตุตามข้อ 7(2) แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พ.ศ. 2548

คณะที่ปรึกษากฎหมายและทนายความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ตรวจสอบความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายแล้ว เห็นว่า กรณีนี้ยังไม่สามารถ นำมาเป็นเหตุที่สมควรโดยชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในอันที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี จะอาศัยเป็นเหตุให้มีการถอดยศและริบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรได้ โดยมีเหตุผลในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังนี้

(1) ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณฯในขณะนี้ คือ ได้มีประชาชนจำนวนหลายล้านคนเข้าชื่อจัดทำฎีกาทูลเกล้าฯต่อพระมหากษัตริย์ในการขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งตามความหมายในการขอพระราชทานอภัยโทษ หมายถึง “การยกโทษทางอาญา เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์” ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 191 ซึ่งพระราชอำนาจในการยกโทษทางอาญาเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะและมีความเป็นอิสระเด็ดขาด

ดังนั้นกรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณฯ จึงเป็นกรณีที่อยู่ในระยะเวลาที่รัฐบาลมีหน้าที่จัดทำความเห็นถวายรายงานต่อพระมหากษัตริย์ในเรื่อง การขอพระราชทานอภัยโทษให้เสร็จสิ้นกระบวนการเสียก่อน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะอาศัยเหตุตามคำพิพากษาถึงที่สุดที่มีต่อ พ.ต.ท.ทักษิณฯ มาดำเนินการเพื่อถอดยศและริบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณฯ ซึ่งจะเป็นการก้าวล่วงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่ยังมิได้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าว

(2) ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 11 บัญญัติว่า “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะสถาปนาฐานันดรศักดิ์และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์” และมาตรา 192 “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการถอดถอนฐานันดรศักดิ์และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์”

การถอดถอนฐานันดรศักดิ์และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ถือเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ เช่นเดียวกับพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 191 และ พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ตามมาตรา 192 อีกทั้งรัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติว่า พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการถอดถอนฐานันดรศักดิ์และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายใด จึงถือเป็นพระราชอำนาจโดยเฉพาะของพระมหากษัตริย์ ที่จะประกาศเป็นพระราชบรมราชโองการ

ดังนั้น ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ. 2547 ซึ่งอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 28 และระเบียบสำนักนายกรัฐนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พ.ศ. 2548 ถือเป็นระเบียบที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ต้องห้ามตามมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เนื่องจากระเบียบดังกล่าวไปกำหนดกฎเกณฑ์ เงื่อนไข การใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรี ไม่มีหน้าที่ในอันที่จะถอดยศหรือริบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ของ พ.ต.ท.ทักษิณฯ คงมีหน้าที่เพียงถวายรายงานต่อพระมหากษัตริย์ว่ามีข้อเท็จจริงใดที่เกิดขึ้นกับ พ.ต.ท.ทักษิณฯ เท่านั้น และการดำเนินการดังกล่าวต้องเป็นไปตาม มาตรา 3 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ ต้องยึด “ตามหลักนิติธรรม” และ คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และหลักความเสมอภาคและการไม่เลือกปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 , 31

(3) ก่อนที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะได้ออกระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ. 2547 นั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังมิได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทต่อพระมหากษัตริย์เพื่อให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชานุญาตในการออกระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการถอดยศตำรวจดังเช่นเดียวกันกับการที่สำนักนายกรัฐมนตรีได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทในอันที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชานุญาตในการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พ.ศ. 2548

ดังนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะดำเนินการในเรื่อง “ถอดยศ” ของ พ.ต.ท.ทักษิณฯ แต่อย่างใด เพราะจะเป็นก้าวล่วงต่อพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ และไม่อาจจะอ้างว่าระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ. 2547 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11(4) มาตรา 28 และมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ได้ เพราะ อำนาจตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่อาจขัดหรือแย้งกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 192

(4) โดยข้อเท็จจริงการดำเนินการเพื่อถวายรายงานต่อพระมหากษัตริย์ในการขอถอดยศและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์นั้น มิใช่เป็นการบังคับว่าต้องทำทุกเรื่อง ซึ่งข้อเท็จจริงที่ผ่านมามีข้าราชการตำรวจและข้าราชการพลเรือนจำนวนมากที่อยู่ในเงื่อนไขของระเบียบทั้งสองฉบับดังกล่าว แต่ก็ปรากฎว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการเพื่อขอถอดยศตำรวจมีน้อยรายมาก รวมถึงการเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของข้าราชการเหล่านั้นด้วย กรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พฤติการณ์ในคดีที่ศาลมีคำพิพากษาให้จำคุก มิใช่เป็นเรื่องของการกระทำโดยตรงของ พ.ต.ท.ทักษิณฯเองและมิใช่เป็นเรื่องของการทุจริตหรือการประพฤติชั่วร้ายแรงใดๆ รัฐบาลกลับเลือกปฏิบัติที่จะดำเนินการกับ พ.ต.ท.ทักษิณฯ เพื่อมุ่งหวังทำลายเกียรติยศชื่อเสียงของ พ.ต.ท.ทักษิณฯ โดยเฉพาะ กรณีจึงเห็นเจตนาของรัฐบาลโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณและนายกรัฐมนตรีว่าต้องการใช้ระเบียบดังกล่าวเป็นเครื่องมือทำลาย พ.ต.ท.ทักษิณฯในทางการเมืองเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น