--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

อำพราง ความยุติธรรม !!?

จากกรณีนายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ได้ทำบันทึกข้อความไม่เป็นทางการไปถึง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว  ผบ.ตร.ขอการสนับสนุนให้ พ.ต.ท.ชูธเรศ ยิ่งยงดำรงสกุล รอง ผกก.ป. สน.หัวหมาก เป็นผู้กำกับการ (ผกก.) โดยให้เหตุผลว่าเป็นเพื่อนสนิทของหลานชายนายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล  ประธานศาลปกครองสูงสุด และได้เข้ามาช่วยดูแลการปฏิบัติภารกิจของศาลปกครองสูงสุดในหลายโอกาส

ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องความเหมาะสม และมองว่าเป็นการแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจประจำปี 2556 จนมีการชี้แจงจากศาลปกครองว่าได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบแล้ว ซึ่งศาลปกครองจะเร่งรีบสอบสวนข้อเท็จจริงให้เกิดความชัดเจนอย่างเร่งด่วนในช่วงสัปดาห์นี้

เนื่องจากขณะนี้ปัญหาดังกล่าว มีผลต่อภาพลักษณ์ และความเชื่อมั่นขององค์กรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมทั้งมีการตั้งคำถามว่า ศาลปกครองซึ่งเป็นองค์กรอิสระพยายามใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวเข้ามาแทรกแซงการบริหารของตำรวจหรือไม่ ทั้งที่ศาลปกครองมีหน้าที่ในการตัดสินคดีของการบริหารงานบุคคล ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้ถือว่าไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง

ขณะเดียวกัน ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่มีอำนาจในการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ก็ต้องเร่งรีบตรวจสอบหาข้อเท็จจริงเฉกเช่นเดียวกัน ว่าหากมีการแต่งตั้งตามที่แนะนำมาให้ตำแหน่งสูงขึ้น ต้องมีเหตุผลชี้แจงให้ชัดเจนเช่นเดียวกันในการกระทำดังกล่าว

ทั้งนี้ การเร่งรีบตรวจสอบทำความกระจ่างอธิบายกับสาธารณะได้รวดเร็ว ชัดเจน โปร่งใสมากเท่าไร จากทั้งสองหน่วยงานอย่างศาลปกครอง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  จะนำมาซึ่งความจริงต่อสังคม และลดสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง อันเกิดจากบางกลุ่มหยิบกรณีนี้ไปใช้เป็นช่องทางโจมตีทางการเมืองกับฝ่ายตรงข้าม

เนื่องจากทั้งสององค์กร ถือเป็นแกนหลักของสังคมในกระบวนการยุติธรรม ยิ่งคลี่คลายเรื่องนี้ได้รวดเร็ว กระจ่าง ไร้ข้อกังขาต่อสังคมเท่าไร นั่นหมายถึงสังคมไทยจะยิ่งได้รับคุณูปการที่สำคัญ ในความเชื่อมั่นต่อการแสวงหาความจริงเพื่อไปสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างแท้จริง และยังเป็นไม้หลักสำคัญที่ค้ำยันสังคมอยู่ ทั้งศาลปกครอง-สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือแม้กระทั่ง ศอ.รส.เอง ต้องยุติการหาเศษหาเลยใช้เป็นช่องทางโจมตีองค์กรอิสระ แต่ทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ต้องมุ่งเข็มทิศหาความจริงให้กระจ่าง ให้สังคมได้รับรู้ให้ได้ และเดินหน้าสู่หนทางแห่งการตรวจสอบไปพร้อมๆ กัน

เพื่อไปสู่เป้าหมายเดียวกัน นั่นคือทำให้ความจริงปรากฏ ไขข้อข้องใจในพฤติกรรมข้างต้น เพราะไม่ว่าจะเป็นศาลปกครอง หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หากคิดหรือจงใจที่จะปล่อยให้เรื่องนี้เงียบหายไปเงียบๆ หรือมุ่งมั่นตั้งเป้าโจมตีทางการเมือง ก็หาได้ส่งผลดีแต่อย่างใดไม่ ยิ่งรังแต่จะสร้างความสั่นคลอนขององค์กร ภาพลักษณ์ และบั่นทอนความน่าเชื่อถือ เชื่อมั่นในองค์กรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้ ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะหลุดพ้นจากการถูกโจมตีเป็นเหยื่อทางการเมือง หรือถูกดิสเครดิตในการทำหน้าที่ หากถอยหลังไปสู่หนทางแห่งความเสื่อมไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และอย่าให้เหตุการณ์นี้ได้ชื่อว่า   องค์กรยุติธรรมสร้างหลุมพรางความยุติธรรมเสียเอง ด้วยการปกปิด นิ่งเฉย เงียบงัน ซ่อนตัวอยู่ในวัฒนธรรมอุปถัมภ์ค้ำชูกันไม่จบสิ้น

ที่มา.ไทยโพสต์
--------------------------------

ยุทธศาสตร์ การปฏิวัติประชาธิปไตยของไทย !!?

โดย : รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ (1)

การต่อสู้กันระหว่างฝ่ายเผด็จการกับฝ่ายประชาธิปไตยที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ต้นปี 2549 ผ่านรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และการสังหารหมู่ประชาชนเมื่อเมษายน-พฤษภาคม 2553 จนถึงการปะทะกันครั้งล่าสุดกรณีนิรโทษกรรมเหมาเข่ง เป็นเวลาร่วม 8 ปีแล้ว ฝ่ายประชาธิปไตยได้เติบใหญ่เข้มแข็งขึ้น และได้เรียนรู้ประสบการณ์มาพอสมควร จนสามารถสรุปเป็นบทเรียนเพื่อใช้กำหนดยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี และจังหวะก้าวของการต่อสู้เฉพาะหน้านี้ได้

ความขัดแย้งนี้มิใช่การต่อสู้ขัดแย้งกันเองภายในหมู่ผู้ปกครองล้วนๆ หากแต่เป็นการต่อสู้ระหว่างประชาชนไทยที่ต้องการประชาธิปไตยกับผู้ปกครองจารีตนิยมที่ผูกขาดอำนาจและโภคทรัพย์ของสังคมไทยตลอดมา เป็น “การปฏิวัติประชาธิปไตย” ในขอบเขตและบริบทของประเทศไทย เช่นเดียวกับการปฏิวัติประชาธิปไตยที่ได้เกิดขึ้นไปก่อนแล้วในประเทศที่เป็นอารยะ

ลักษณะสำคัญของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของไทย ได้แก่

ลักษณะที่หนึ่ง ประเทศไทยมีการพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้โครงครอบของทุนนิยมขุนนาง-อุปถัมภ์อันจำกัดและล้าหลัง บัดนี้ได้มาเผชิญกับกระแสโลกาภิวัตน์อันเชี่ยวกรากที่กดดันให้ระบบเศรษฐกิจไทยต้องปรับเปลี่ยนไปสู่ทุนนิยมที่เสรีมากขึ้นและเป็นโลกาภิวัตน์มากขึ้น จึงก่อให้เกิดการปะทะขัดแย้งกันระหว่างพลังสังคม 2 พลัง ฝ่ายหนึ่งได้แก่ กลุ่มทุนจารีตนิยม ทุนเก่า และชนชั้นกลางในเมือง ที่เสวยผลประโยชน์อยู่กับระบอบทุนนิยมขุนนาง-อุปถัมภ์ กับอีกฝ่ายหนึ่งคือ กลุ่มทุนใหม่และชนชั้นล่างในเมืองและชนบท ที่ต้องการสลัดพันธนาการดังกล่าวออกไป และผลักดันให้เศรษฐกิจสังคมไทยก้าวหน้าไปสู่ทุนนิยมเสรีและโลกาภิวัตน์

ลักษณะที่สอง ความขัดแย้งระหว่างพลังเศรษฐกิจที่ล้าหลังกับพลังเศรษฐกิจที่ก้าวหน้าข้างต้นได้สะท้อนออกเป็นความขัดแย้งระหว่างพลังทางการเมือง 2 ฝ่ายคือ ระบอบเผด็จการอันคับแคบ เสื่อมโทรม ล้าหลังของกลุ่มทุนจารีตนิยม ทุนเก่า และชนชั้นกลางในเมืองด้านหนึ่ง กับระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยมที่เปิดกว้าง ก้าวหน้า และเป็นกระแสที่ถาโถมมากับโลกาภิวัตน์ของกลุ่มทุนใหม่และประชาชนชั้นล่างในอีกด้านหนึ่ง

ลักษณะที่สาม ในความขัดแย้งของพลังทางเศรษฐกิจและการเมืองนี้ ผู้ปกครองจารีตนิยมมีความใหญ่โตเข้มแข็งอย่างยิ่ง เพียบพร้อมไปด้วยมือเท้าและกลไกอำนาจรัฐ ทั้งทหาร ตำรวจ ศาล คุกตะราง ไปจนถึงพรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มมวลชนเสื้อเหลือง และที่สำคัญที่สุดคือ การครอบงำทางความคิดและอุดมการณ์ที่ฝังรากลึกในหมู่บุคลากรของรัฐและประชาชนมายาวนานหลายสิบปี ทั้งหมดนี้มีลักษณะรวมศูนย์ในแนวตั้ง และมีความเข้มแข็งอย่างยิ่งในกรุงเทพฯและเขตเมืองใหญ่

ลักษณะที่สี่ ฝ่ายประชาธิปไตยนับแต่ได้รวมตัวขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นการก่อตัวจากล่างสู่บน จากเล็กสู่ใหญ่ จากอ่อนสู่แข็ง เข้ามามีส่วนร่วมโดยมวลชนอย่างเข้มข้น เหนียวแน่น ทุ่มเทอย่างน่าประหลาดใจ ในด้านการจัดตั้งมีลักษณะเป็นเครือข่ายแผ่กว้างในแนวนอน ฝ่ายประชาธิปไตยยังได้พัฒนาเครื่องมือของตนขึ้นมา ได้แก่ นักรบไซเบอร์ในสื่อออนไลน์ เครือข่ายวิทยุชุมชน โทรทัศน์ดาวเทียม พรรคการเมืองในระดับชาติ และเครือข่ายนักการเมืองในท้องถิ่นทั่วประเทศ เครือข่ายนักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตย ตลอดจนเครือข่ายของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แต่ก็ยังมิอาจเทียบได้เลยกับเครือข่ายอำนาจรัฐในมือของพวกจารีตนิยม ยิ่งกว่านั้นคือ เครือข่ายและฐานกำลังของฝ่ายประชาธิปไตยมีลักษณะกระจายออกไปทั่วประเทศ และมีความเหนียวแน่นเข้มแข็งในเขตชนบทภาคเหนือ-อีสาน-กลาง

                ลักษณะสำคัญ 4 ประการนี้กำหนดหนทางของการปฏิวัติประชาธิปไตยของไทย ลักษณะที่หนึ่งและที่สองกำหนดว่ามีความเป็นไปได้ที่ฝ่ายประชาธิปไตยจะขยายตัวเติบใหญ่และเข้มแข็งจนสามารถเอาชนะเผด็จการได้ในที่สุด แต่ลักษณะที่สามและที่สี่กำหนดว่าการต่อสู้และชัยชนะดังกล่าวจะได้มาด้วยการต่อสู้ที่ยืดเยื้อ ซับซ้อน และยากลำบาก เพราะฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องใช้เวลาอันยาวนานในการเติบใหญ่เข้มแข็งขึ้น เข้ายึดกุมกลไกอำนาจรัฐมาจากพวกจารีตนิยมทีละน้อย และพัฒนาเครื่องมืออำนาจรัฐของตนเองขึ้นมาอย่างช้าๆ

ลักษณะที่สามและที่สี่ยังเป็นปัจจัยกำหนดยุทธศาสตร์และรูปแบบการต่อสู้ของฝ่ายประชาธิปไตยอีกด้วย

ประการที่หนึ่ง การต่อสู้ของฝ่ายประชาธิปไตยเป็นการต่อสู้ทางการเมืองเป็นด้านหลัก และมีการต่อสู้ทางการทหารเป็นด้านรอง เพราะฝ่ายประชาธิปไตยที่อ่อนเล็กไม่สามารถเข้าปะทะทางกายภาพกับฝ่ายเผด็จการได้ในทันที จำต้องใช้ความชอบธรรมทางการเมืองเป็นอาวุธในการต่อสู้เพื่ออยู่รอด สะสมกำลัง ค่อยๆขยายตัวเข้มแข็งขึ้น ไปสร้างและพัฒนาพลังทางอำนาจรัฐและพลังทางทหารขึ้นมาอย่างเป็นขั้นตอน เพื่อเอาชนะฝ่ายเผด็จการในที่สุด

ประการที่สอง ในการต่อสู้อันยืดเยื้อนี้ ฝ่ายเผด็จการมีรูปแบบการต่อสู้หลักเป็นการรุก โดยใช้กลไกอำนาจรัฐอันเพียบพร้อมเข้า “ล้อมตีเพื่อทำลาย” ฝ่ายประชาธิปไตย ส่วนฝ่ายประชาธิปไตยก็มีรูปแบบการต่อสู้หลักเป็นการรับ “ต่อต้านการล้อมตี” การล้อมตีและการต้านการล้อมตีแต่ละครั้งประกอบขึ้นเป็นการปะทะใหญ่ โดยที่ในการปะทะใหญ่แต่ละครั้ง ชัยชนะของพวกเผด็จการคือการแยกสลายหรือทำลายฝ่ายประชาธิปไตยให้หมดไป ส่วนชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยก็คือ การอยู่รอด รักษากำลัง และขยายตัวเข้มแข็งขึ้น

ประเทศไทยได้ผ่านการปะทะใหญ่มาแล้ว 2 ครั้งคือ ครั้งที่หนึ่ง รัฐประหาร 2549 ครั้งที่สอง รัฐบาลพรรคพลังประชาชน-พรรคประชาธิปัตย์ 2551-2553 และขณะนี้นับตั้งแต่ปลายปี 2554 เป็นการปะทะใหญ่ครั้งที่สาม

ประการที่สาม การที่ฝ่ายเผด็จการเป็นพลังที่ล้าหลัง ถอยหลังเข้าคลอง ทวนกระแสโลกาภิวัตน์และต้านกระแสประชาธิปไตยในสากล ตลอดจนมีกลไกอำนาจที่รวมศูนย์เข้มแข็งในกรุงเทพฯและเมืองใหญ่ ส่วนฝ่ายประชาธิปไตยมีลักษณะก้าวหน้า อยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์และกระแสประชาธิปไตยในสากล ขณะเดียวกันก็มีเครือข่ายและกลไกที่กระจายแต่เข้มแข็งในเขตชนบทภาคเหนือ-อีสาน-กลาง ทั้งหมดนี้ทำให้ฝ่ายเผด็จการมีฐานที่มั่นหลักในกรุงเทพฯและเขตเมืองใหญ่ ขณะที่ฝ่ายประชาธิปไตยมีฐานอิทธิพลแผ่กระจายอยู่ในเขตชนบทภาคเหนือ-อีสาน-กลาง รวมทั้งการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งจากรัฐบาลเพื่อนมิตรในประชาคมนานาชาติ

นัยหนึ่งบนพื้นที่เฉพาะของการปะทะใหญ่ในแต่ละครั้ง ฝ่ายเผด็จการอยู่ “ด้านนอก” และเป็นฝ่ายรุกล้อมตี ขณะที่ฝ่ายประชาธิปไตยอยู่ “ด้านใน” และเป็นฝ่ายรับ ต่อต้านการล้อมตี แต่ในทางยุทธศาสตร์ส่วนทั้งหมดแล้วฝ่ายเผด็จการอยู่ “ด้านใน” คือยึดกุมเขตกรุงเทพฯ-เมืองใหญ่

ส่วนฝ่ายประชาธิปไตยอยู่ “ด้านนอก” ยึดกุมต่างจังหวัด-ชนบท และประชาคมนานาชาติในอีกด้านหนึ่ง กลายเป็น “ชนบทล้อมเมือง โลกล้อมประเทศไทย ประชาธิปไตยล้อมเผด็จการ

ที่มา.นสพ.โลกวันนี้
----------------------------------------

สงครามกลางเมือง ยิ่งใกล้ๆเข้ามา !!?

โดย.รศ.ดร.อภิชัย รัตนวราหะ

เงื่อนไขและปัญหาของวิกฤตประชาธิปไตยของไทยขณะนี้คือพรรคการเมืองฝ่ายค้าน เช่น พรรคประชาธิปัตย์ได้ทิ้งหลักการของประชาธิปไตยที่พรรคการเมืองจะพึงประพฤติปฏิบัติ การสวนกระแสโลกและ "ดูถูก" เสียงส่วนใหญ่ของคนชนบทอย่างไม่ยี่หระ การมีทัศนคติแบบ "สุดโต่ง" ถอยหลังเข้าคลอง ปัจจัยเหล่านี้คือเงื่อนไขและก่อให้เกิดวิกฤตประชาธิปไตยของเมืองไทย อันจะนำไปสู่ความรุนแรงคือสงครามกลางเมืองมากยิ่งขึ้น

ขบวนการของพวกขวาจัด เช่น องค์กรเก็บขยะ ทหารแก่ที่ตกยุค และเหตุการณ์ฆาตกรรมกวีฝ่ายประชาธิปไตยเมื่อ 2-3 วันมานี้ คือตัวบ่งชี้ให้เห็นว่าอัตราเสี่ยงที่เมืองไทยจะเข้าสู่โหมดของการแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงจะยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ

คนที่เป็นถึงหมอ (องค์กรเก็บขยะ) ได้ออกมาพูดทำนองว่าต้องกำจัดคนที่ "เห็นต่าง" จากตัวเองหรือพรรคพวกตัวเอง แล้วตามมาด้วยการฆาตกรรมกวี กลางเมืองหลวงของประเทศ ทหารแก่ที่หลงตัวเองได้ออกมายั่วยุให้สังคมกลับไปสู่ยุคไดโนเสาร์เต่าล้านปี...สิ่งต่างๆ เหล่านี้คือการดูถูกคนที่เห็นต่างเหมือนกับไม่ใช่คน (เป็นขยะ) รวมทั้งความคิดที่สวนกระแสโลกของความเป็นจริง โดยขาดทั้งสติสัมปชัญญะและหิริโอตตัปปะ (คือการละอายต่อบาปทั้งการพูดและการกระทำ)

น่าสังเวชและน่าสลดใจเป็นอย่างยิ่งที่คนเหล่านี้...เป็นถึงบุคคลสำคัญมีชื่อเสียง และเคยสร้างคุณงามความดีให้กับบ้านเมืองมามิใช่น้อย แต่บุคคลเหล่านี้ได้ลืมตัวและหลงตัวโดยมิได้เกิดความกระดากอายในพฤติกรรมการแสดงออกแต่อย่างใดเลย

การขาดสติสัมปชัญญะโดยมิได้คำนึงถึงความสูญเสียของประเทศชาติที่จะตามมา...รวมทั้งบาปกรรมที่พวกตัวเองได้ก่อขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า...คนประเภทนี้จึงไม่ต่างไปจากคนที่กำลังเป็นบ้าและน่าทุเรศที่สุดที่ประวัติศาสตร์ของไทยจะต้องจารึกไว้อีกยาวนาน!

สังคมไทยขณะนี้จึงเป็นสังคมของ "คนป่วย" ดังที่พระท่านว่าไว้ และอาการกำลังน่าเป็นห่วงเป็นที่สุด วิธีการฆาตกรรมนักกวีกลางวันแสกๆ กลางเมืองหลวงของประเทศ คือวิธีการที่ป่าเถื่อนที่สุดที่ประเทศนี้เคยมีมา กฎหมายบ้านเมืองไม่มีความหมาย ไร้ขื่อแป คนที่รับผิดชอบทั้งรัฐบาลและตำรวจอ่อนแอและไร้ซึ่ง "ความรับผิดชอบ"

สภาพที่เป็นวิกฤตของบ้านเมืองเช่นนี้กำลังพาประเทศชาติเข้าสู่หุบเหวของความหายนะและย่อยยับมากเข้าทุกวัน!

สังคมไทยต่อไปนี้จะกลายเป็นสังคม "ตัวใครตัวมัน" เพราะเมื่อบ้านเมืองไร้ซึ่ง "ความเชื่อมั่น" ต่อรัฐบาล องค์กรที่จะเป็นที่พึ่งในขบวนการยุติธรรม...การดิ้นรนเพื่อการอยู่รอดด้วยตัวเอง ด้วยการล้างแค้น และการโต้ตอบคนที่มาข่มเหงรังแกก่อนจะเป็นไปอย่างกว้างขวางและสะเปะสะปะมากขึ้น

ผมเชื่อมั่นว่า "ความรุนแรง" ที่จะเกิดขึ้นตามมาในอนาคตอันใกล้นี้ จะมีความรุนแรงมากกว่าทุกครั้งที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ เพราะเหตุการณ์ของการล้อมปราบใหญ่ที่ "ราชประสงค์" ในปี 2553...บทเรียนเหล่านี้เป็นบทเรียนบทสำคัญที่คนเสื้อแดงได้รับมาอย่างเต็มที่

โปรดอย่าลืมว่าคนเสื้อแดงเขาก็เป็นคน มีมือมีตีน และมีสมองไม่ต่างไปจากทหาร คนเสื้อเหลือง และคนกรุงเทพฯ เขาคงจะไม่ยอมให้ทหาร คนเสื้อเหลืองและคนกรุงเทพฯ เที่ยวมาไล่ฆ่าง่ายๆ และโง่ๆ....เหมือนปี 2553 อีกต่อไปละครับ!!

ผมเตือนมาแบบนี้ไม่ใช่ท้าทาย หรือต้องการจะท้าตีท้าต่อย แต่ผมกำลังจะเตือนพวกท่านดังกล่าวไว้ว่า...ครั้งนี้อย่าได้ประเมินคนเสื้อแดงเขาต่ำจนเกินไป

ทหารแก่ๆ คุณหมอ (ที่ชอบมองคนอื่นที่เห็นต่างว่าเป็นขยะ) ท่านที่ชอบหลงตัวเองว่าเป็นคนดี อธิการบดี คณบดี (ที่ชอบดูถูกคนอื่นว่าชั้นต่ำกว่าตัวเอง และฉลาดน้อยกว่า) คนชนชั้นกลางและชนชั้นสูงในกรุงเทพฯ (ที่ชอบดูถูกคนชนบทว่าเป็นคนด้อยการศึกษา ชอบขายเสียงให้แก่นักการเมืองที่ทักษิณสนับสนุน) ...ท่านเหล่านี้อย่าได้ประเมินคนอื่นที่เห็นต่างต่ำเกินไป

บทเรียนที่ประเทศเขมรเมื่อ "เขมรแดง" เข้าไปยึดกรุงพนมเปญได้...แล้วไล่ต้อนคนเมืองกรุงพนมเปญให้ออกไปอยู่ต่างจังหวัด ให้ทำงานกุลีใช้แรงงานทั้งวันทั้งคืน แล้วให้กินข้าวต้มเปล่าๆ ถ้วยเล็กๆ ถ้วยเดียว...ท่านทราบไหมครับว่าคนกรุงเมื่อเจอแบบนี้...ตายไปภายในอาทิตย์เดียวเป็นพันๆ คน...!

ประวัติศาสตร์บอกไว้ว่า...จะมีการซ้ำรอยเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา...การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่นาซีฆ่ายิว (6 ล้านกว่าคน) รวันดาใช้เวลา 100 วัน เผ่าฮูตูฆ่าเผ่าทุตซี (800,000 คน)...และอีกหลายเหตุการณ์แบบนี้ที่ตามมา ฯลฯ อย่านึกว่าจะไม่เกิดขึ้นที่เมืองไทย ผมเตือนมาอีกครั้งหนึ่ง!!

คุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ พูดไว้เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2557 ด้วยการเตือนสติไว้ว่าความรับผิดชอบ ต่อวิกฤตของบ้านเมืองขณะนี้ไม่ใช่ความรับผิดชอบของ "คนใดคนหนึ่ง"แต่ความรับผิดชอบนั้น...คนไทยทุกคน!! ต้องร่วมกันรับผิดชอบ

ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง! และการที่ผมเขียนบทความขึ้นวันนี้ ผมก็คิดว่าผมได้ทำตามคำแนะนำของคุณณัฐวุฒิแล้วนะครับ!

ที่มา.มติชน
///////////////////////////////////////////////////////

อุกฤษ มงคลนาวิน แนะศาลรธน. หยุด ก่อนเลือดนองแผ่นดิน !!?

สัมภาษณ์พิเศษ:

โดย : เสถียร วิริยะพรรณพงศา

อุกฤษ มงคงนาวิน แนะศาลรัฐธรรมนูญหยุดทำหน้าที่ ก่อนเหตุเลือดนองแผ่นดิน

ยามนี้ ถือได้ว่าเป็นภาวะจนปัญญายิ่งนัก สำหรับการหาทางออกจากวิกฤตการเมือง เพราะนอกจากมีการวัดพลังด้วยกำลังพลแล้ว ยังมีการใช้กฎหมาย-บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ตีความไปในทิศทางเพื่อประโยชน์แห่งตน ทำให้กฎหมายบางข้อ-บทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตราเดียวกัน เมื่อยืนคนละฝั่ง ก็แปลเนื้อความไม่ตรงกัน แม้นักกฎหมายชั้นครู จะออกมาให้ความเห็น หวังคลี่คลาย แต่ท้ายสุดกลับเป็นการดึง ให้ปมปัญหามัดแน่น จนยากแก้ไขได้..

ในวังวนของเขาวงกตทางกฎหมาย"อุกฤษ มงคลนาวิน ประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ในฐานะอดีตประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และอดีตประมุขสภาสูง-สภาล่างหลายสมัย ได้ชี้ทางออก โดยตั้งโจทย์ใหญ่อยู่ที่ “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ"ต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่!! เพื่อหยุดเหตุที่นำไปสู่การเผชิญหน้าของ 2 กลุ่มการเมือง ที่อาจถึงขั้นเลือดนองแผ่นดิน

โดยจุดที่จะนำไปสู่ความรุนแรงที่ “ประธาน คอ.นธ.” มองคือ อารมณ์ของคนที่ไม่ยอมรับในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ต่อกรณีการพิจารณาสถานภาพความเป็นรัฐมนตรี ของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ตามที่กลุ่มสมาชิกวุฒิสภายื่นเรื่องให้พิจารณา ว่าจะสิ้นสภาพเพราะได้ใช้อำนาจมิชอบในการโยกย้าย “ถวิล เปลี่ยนสี” หรือไม่ ในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ เพราะสังคมรับรู้ในวงกว้างแล้วว่า “ศาลรัฐธรรมนูญ” มีธงนำในการตัดสินคดีอย่างไร และจะเป็นเส้นทางเดียวที่ทำให้มวลมหาประชาชนสมปรารถนา คือนำไปสู่“ภาวะสูญญากาศทางการเมือง”

แต่โดยทัศนะส่วนตัวต่อคดี “ดร.อุกฤษ” ให้ความเห็นไว้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรรับเรื่องไว้ตั้งแต่แรก เพราะกรณีของ “ถวิล เปลี่ยนสี” ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยจนจบไปแล้ว ส่วนสถานภาพขอนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีนั้น ได้จบไปแล้วเช่นกัน นับตั้งแต่ประกาศยุบสภา เมื่อเดือนธันวาคม 2556 แต่เหตุที่ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต้องอยู่ ก็เพื่อทำตามสิ่งที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ คือ ปฏิบัติหน้าที่ไปจนกว่าได้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามา

"ผมยังงง ว่าทำได้อย่างไร จะไล่เขาให้ออกไป ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 181 บอกให้ ครม.ที่พ้นจากตำแหน่ง ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่ามี ครม.ที่ตั้งขึ้นใหม่มารับหน้าที่ ถ้าไล่เขาไม่ให้ทำหน้าที่ จะถือเป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือเห็นว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญไม่มีความหมายแล้ว นอกจากนั้นแล้วมีประเด็นที่อาจเป็นปัญหาที่นำไปสู่ความขัดแย้งหนัก คือ กรอบการใช้อำนาจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่รัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดให้ต้องออกเป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ตอนนี้ไม่มี ส่วนข้อกำหนดเกี่ยวกับวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย ในรัฐธรรมนูญก็กำหนดให้ใช้ได้ชั่วคราว เพียง 1 ปี นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2550 มีผลบังคับใช้ ดังนั้นถือว่าข้อกำหนดดังกล่าวหมดอายุลงไปแล้ว ดังนั้นอาจจะเป็นปัญหาที่ตัวศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย แล้วจะบอกให้คนอื่นปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างไร มันอาจจะขัดกับความรู้สึกของคน"

ต่อประเด็นการเกิดภาวะสูญญากาศทางการเมืองที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลต้องการนั้น “อดีตประธานสภานิติบัญญัติ” วิเคราะห์ผ่านประสบการณ์ที่เข้าไปมีบทบาทสำคัญในช่วงสำคัญทางการเมือง ว่า ตามช่องทางกฎหมายไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะเมื่อผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า “ยิ่งลักษณ์” ต้องพ้นจากความเป็นนายกรัฐมนตรี ในกฎหมายยังให้รองนายกรัฐมนตรี ขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่แทนได้ แต่หากเกิดกรณีที่รองนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่แทนไม่ได้ ก็มีรัฐมนตรีในคณะ ขึ้นปฏิบัติหน้าที่แทน

แต่ภาวะสูญญากาศอาจเกิดขึ้นได้จริง ในหนทางเดียว คือ รัฐประหารแล้วฉีกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันทิ้ง งานนี้ "อดีตประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ"ออกโรงเตือนไว้ว่า "ใครก็ตามที่คิดจะปฏิวัติ ไม่ว่าจะด้วย กำลังทหาร หรือ ตุลาการ ในยุคนี้ ระวังจะเป็นการฆ่าตัวตายทั้งเป็น!!"

ส่วนกรณีที่ฝ่ายกปปส. มีความเชื่อว่าหลังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่นายกรัฐมนตรี ต้องพ้นสภาพและส่งผลให้รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นไปด้วย จะเข้าสู่ภาวะสูญญากาศทันทีนั้น ไม่ทราบว่าใครไปให้คำปรึกษา รวมถึงการใช้ช่องทางของรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 เรื่องการขอนายกฯพระราชทานด้วย ประเด็นพวกนี้ควรจบได้แล้ว เพราะใครทำแบบนี้ เท่ากับเป็นการละเมิดพระราชอำนาจ แต่หากภาวะบ้านเมืองถึงทางตันจริงๆ มาตรา 7 อาจถูกหยิบยกมาใช้ได้ เพราะถือว่าเป็นบทบัญญัติเพื่อใช้อุดช่องว่างทางกฎหมาย แต่ต้องใช้อย่างมีเงื่อนไข คือ เป็นไปตามประเพณีปฏิบัติและดูบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญหลายมาตราประกอบ เช่น มาตรา 171 นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นนายกรัฐมนตรีต้องเป็นส.ส. จะให้ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งมาเป็นนายกรัฐมนตรี ตามการเทียบเคียงไม่ได้

สำหรับแนวทางออกของคนการเมืองที่แบ่งภาค เดินสายไปเจรจากับภาคส่วนต่างๆ “ดร.อุกฤษ” มองว่า เป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่เชื่อว่าจะเป็นทางออก เพราะการเดินสายเจรจาปัจจุบันไม่ระบุเป้าหมายชัดเจนว่าต้องการอะไร หากเขาบอกว่าต้องการให้บ้านเมืองปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็ต้องยอมรับก่อนว่าบ้านเมืองที่เจริญแล้วต้องมีการเลือกตั้ง และเมื่อเลือกตั้งแล้วต้องยอมรับเสียงข้างมากและเคารพเสียงข้างน้อย ไม่เอาแล้วที่ใช้เสียงข้างมากลากไป หรือเอาเสียงข้างน้อยลากไป เมื่อไม่ถูกใจ ก็ออกมาข้างถนน ที่พูดกันมากคือ อยากให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เขาจะใช้ฐานกฎหมายใดมาปฏิบัติ ดังนั้นทางที่เป็นไปได้ คือ จัดการเลือกตั้งให้เสร็จโดยเร็ว จากนั้นตั้งคณะกรรมการหลายๆ ชุดเพื่อทำเรื่องปฏิรูป มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชน มีส่วมร่วม ให้เวลาทำงาน 1 ปีครึ่งจากนั้นเมื่อทำเรื่องเสร็จก็ไปทำประชามติ เรื่องก็จบ

การออกมาให้ความเห็นของ"อุกฤษ"ที่ช่วงหลังถูกหน่วยงานของฝ่ายรัฐบาลรักษาการหยิบไปใช้เป็นเหตุผลสนับสนุนแนวคิด ทำให้สังคมฝ่ายต่างๆ ตั้งคำถามว่า ทำเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หรือ ทำตัวเป็นแนวร่วมของรัฐบาลไปแล้วใช่หรือไม่.... ประเด็นนี้ “ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน” เพิกเฉยกับคำครหา และชี้แจงว่าจดหมายเปิดผนึกของ คอ.นธ.ที่ออกไปแล้ว 2 ฉบับไม่เคยเอาไปหารือกับ ศอ.รส. หรือฝ่ายรัฐบาลก่อนบอกประชาชน ดังนั้นเป็นเรื่องปกติที่ฝ่ายใดๆ จะนำไปวิพากษ์วิจารณ์ได้ ในประเด็นสำคัญที่เห็นบทบาทบ่อยครั้งช่วงนี้ไม่ใช่เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่มีสายสัมพันธ์กันมายาวนานร้องขอ ทั้งนี้ยอมรับว่าเคยทำงานร่วมกันในอดีต แต่การทำงานที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพื่อรัฐบาลขณะนั้น แต่เป็นเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง และที่สำคัญประวัติความสัมพันธ์ที่มีมาไม่ใช่ว่าจะทำให้ออกคำสั่งกับเขาได้

ในช่วงท้าย"ประธาน คอ.นธ."ได้ฝากคำแนะนำไปยังบรรดานักกฎหมายที่พยายามใช้กฎหมายมาเป็นอาวุธ จนสร้างความยุ่งเหยิงทางการเมืองว่า หลักการปกครองของบ้านเมืองในระบอบประชาธิปไตยต้องยึดหลักนิติธรรม หลักกฎหมายและผู้ที่ใช้กฎหมายต้องมีความเป็นธรรม หากใช้อย่างไม่เป็นธรรม อย่างตุลาการจำนวนไม่น้อยนั้น ก็อาจถูกตำหนิติเตียนได้ ดังนั้นใครมีหน้าที่อย่างไร ก็ทำหน้าที่ไป อย่าละเว้นการทำหน้าที่ เพราะความโลค ในลาภ ยศ สรรเสริญ ยอมรับว่ากลุ่มนักกฎหมาย ที่เป็นลูกศิษย์ของเขามีจำนวนมาก แต่ลูกศิษย์ที่เติบโตในหน้าที่การงานปัจจุบัน มีอิสระในความคิด ดังนั้นเมื่อคิดเห็นอย่าไร เขาต้องรับผิดชอบตัวเขาเองด้วย ประเด็นสำคัญอย่าลืมว่าบ้านเมืองมีสิ่งที่กำกับไว้ หากใครทรยศต่อบ้านเมือง ต่อวิชาชีพ ไม่มีทางเจริญ

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////////

บทเรียน การเมือง พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ กรณี รัฏฐาธิปัตย์ !!?

 ไม่ว่าจะ เจตนา ไม่ว่าจะมี ความตั้งใจ แต่กรณีที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ออกมา ปิดเกม ในเรื่อง พระบรมราชโองการ มีความลึกซึ้งยิ่งในทางการเมือง

 แม้จะไม่ได้ออกมาโดยตัว พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

 นั่นก็คือ เป็นการออกมายืนยันอย่างเฉียบขาดและมั่นคงโดย พล.ท.พิศณุ พุทธวงศ์ ซึ่งเป็นทั้งเลขาธิการสำนักงานมูลนิธิรัฐบุรุษ และ นายทหารคนสนิท

 นายทหารคนสนิท ประธานองคมนตรี

 หากมองจากเรื่องของ พระบรมราชโองการ อันเป็นของสูง มีความจำเป็นที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จักต้องยุติเรื่อง
 แม้จะทำให้ พล.อ.สายหยุด เกิดผล เกิดความหงุดหงิด

 แม้จะทำให้บรรดา คณะรัฐบุคคล อันมี นายปราโมทย์ นาครทรรพ และ นายชัยอนันต์ สมุทวณิช เป็นกำลังสำคัญในทางความคิด

 เพราะว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับ พระบรมราชโองการ

 หากไม่เก็บรับบทเรียนจาก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในกรณีอันเกี่ยวกับ รัฏฐาธิปัตย์ มาศึกษาจะไม่เข้าใจในความร้อนใจของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้หรอก

 บทบาทของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในการนี้มี 2 หน 2 ครา

 หนแรกแสดงออก ณ ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ เมื่อเดือนธันวาคม 2556 โดยการประกาศให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นจากตำแหน่ง

 เป็นการประกาศโดยไม่เอ่ยคำว่า รัฏฐาธิปัตย์

 หน 2 เมื่อเดือนเมษายน 2557 เป็นการกล่าวถึงคำว่า รัฏฐาธิปัตย์ อย่างเต็มปากเต็มคำ โดยยืนยันตนเองจะเป็นผู้เสนอชื่อ นายกรัฐมนตรี ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และตนเองจะเป็นผู้ ลงนาม รับสนอง พระบรมราชโองการ

 เสียง อื้อฮือ ก็ดังกระหึ่มประสานกับเสียง อะฮา

 อย่าลืมเป็นอันขาดว่า บรรดา นักรัฐประหาร ในการอดีต ไม่ว่า จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ไม่ว่า จอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งเคยทำอย่างที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ พูด

 แต่ไม่เคยประกาศตนว่าเป็น รัฏฐาธิปัตย์

 แม้กระทั่งล่าสุด พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ซึ่งดำรงอยู่เหมือนกับ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ จอมพลถนอม กิตติขจร ในสถานการณ์การรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

 ก็ไม่กล้าใช้คำว่า รัฏฐาธิปัตย์ แทนตน

 ฉะนั้น เมื่อ พล.อ.สายหยุด เกิดผล พยายามจะยัดเยียดสถานะแห่ง รัฏฐาธิปัตย์ ให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จึงรีบตัดบท

 ไม่ยอมไปอยู่ ณ จุดเดียวกับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ

 ไม่ทราบว่าเมื่อผ่านสถานการณ์ในวันที่ 30 เมษายนมาแล้ว นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะเป็นเช่นใด

 จะประสบชัยชนะอันรุ่งโรจน์พร้อมกับ มวลมหาประชาชน สามารถโค่นและกำจัด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกไปให้พ้นจากวงจรแห่งอำนาจ

 หรือว่าจะเสมอเป็น ครั้งสุดท้าย แห่งครั้งสุดท้ายอีกหลายครั้ง


ที่มา ข่าวสดออนไลน์
///////////////////////////////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2557

พระสงฆ์ กับ สังคมไทย !!?


ต้องกล่าวว่า ในอดีต การควบคุมทางสังคม(Social control) และ การขัดเกลาทางสังคม(Socialization) ของสังคมไทยล้วนอยู่ในมือของ ระบบคู่ทางสังคมคือ ระบบอาณาจักรและระบบศาสนจักร
     
อาณาจักรคือระบบศักดินาสวามิภักดิ์แบบไทย(Thai  absolute monarchy)ส่วนศาสนจักรคือพุทธศาสนานิกายหินยานแบบไทย
     
โครงสร้างชั้นล่าง(Base structure)คือระบบอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองถูกกำหนดโดยชนชั้นปกครองคือท้าวพระยามหากษัตริย์ ส่วนโครงสร้างชั้นบนหรือวิถีแห่งวัฒนธรรมทั้งปวง(Super structure)มักถูกกำหนดโดยโดยหลักศาสนปฏิบัติเชิงพุทธผสมพราหมณ์ผสมระบบผีบรรพบุรุษ มีอิสลาม ขงจื้อ และคริสต์เจือปนผสมผสานในภายหลัง
     
ฐานรากทั้งหมดของระบบคุณค่า ทั้งในเรื่องระบบคุณธรรม จริยธรรมและคตินิยมความเชื่อ ล้วนได้รับอิทธิพลทั้งโดยตรง(ระบบการศึกษาแบบ ประสิทธิ์ประสาทและการ อบรมบ่มเพาะ) และ โดยอ้อม(คือกระแสคตินิยมทั้งหลาย) จึงมาจากศาสนจักรล้วนๆ
     
บุคลากรสำคัญของศาสนาพุทธคือพระสงฆ์
     
พระสงฆ์ในสังคมจึงมักมีบทบาททางสังคมสูงมาโดยตลอดทั้งทางตรงและทางอ้อมทั้งด้านบวกและด้านลบ
     
กล่าวแบบตรงไปตรงมาก็คือศาสนจักรจึงมักถูกใช้เป็นเครื่องมือของอาณาจักรโดยเจตนาทางการปกครอง หลายครั้งโดยเฉพาะในยุครัตนโกสินทร์, เราจึงพบว่าคณะสงฆ์ไทยมักมี สังฆราชŽ ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดทางศาสนจักรเป็น คนในŽคือเป็นราชนิกูลชั้นสูงระดับพระองค์เจ้า(หรือต่ำกว่านั้น)อยู่เสมอมา
     
พูดให้เห็นภาพง่ายเข้าอีกก็คือ ชนชั้นศักดินาหรือกษัตริย์ ส่งคนของตัวเองเข้ามาดูแลควบคุม ผู้สร้างจิตวิญญาณและคตินิยมของสังคมŽ คือคณะสงฆ์โดยตรง วิธีดูง่ายๆก็คือ สังฆราชพระองค์ใดที่มีพระนามเรียกเริ่มต้นว่าสังฆราชเจ้า(แทนจะเรียก สังฆราชŽเฉยๆ) นั่นแหละคือพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ที่เป็นราชนิกูลละ
       
คงเป็นเพราะศาสนาพุทธนั้นมีเจตนาในการประกาศศาสนาของพระพุทธองค์อยู่ที่เพราะพระเมตตาต้องการช่วย สัตว์โลกŽ (ทั้งเวไนยสัตว์และอเวไนยสัตว์)ให้พ้นทุกข์เป็นเบื้องต้น หลายครั้งเราจึงพบว่ามีมหาสมณะในพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมากปฏิบัติตนเป็น พระโพธิสัตว์Ž โดยเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจทางอาณาจักรของบรรดาคฤหัสถ์โดยตรง
       
หลายครั้งกิจเหล่าเป็นกิจŽเพื่อชาติเพื่อประชาชนŽล้วนๆ  เป็นเรื่องที่เกิดจากหรือเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของบรรดาชนชั้นปกครองโดยตรง
       
นอกจากบรรดามหาสงฆ์ในส่วนกลางแล้ว ยังพบว่า มีสงฆ์เรืองนามและเรืองบารมีในประวัติศาสตร์ของคามนิคมบ้านนอกชนบทหรือหัวเมืองเล็กๆไม่น้อยที่ประกอบกิจเช่นนั้น มีกรณีพระเมืองพัทลุงที่เป็นหัวเมืองเล็กๆทางปักษ์ใต้หลายรูป หลายสมัย ที่มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องกับ กิจป้องชาติ-ปราบโจรŽ
       
ที่เห็นชัดๆและมีผู้ศึกษารวบรวมข้อมูลไว้แล้วไม่น้อยจนพอยกเป็นตัวอย่างได้ชัดก็คือ กรณีของพระมหาช่วยแห่งวัดป่าลิไลย์ และกรณีของพระอธิการนุ้ย สหัสฺสเตโช แห่งวัดกุฎ(วัดสุวรรณวิชัยในปัจจุบัน)อำเภอควนขนุน
       
กรณีของพระมหาช่วย วัดป่าลิไลย์นั้น สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ (ศ.สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์-บรรณาธิการ)เขียนโดยอาจารย์ชัยวุฒิ พิยะกูล นักประวัติศาสตร์-โบราณคดีท้องถิ่นชาวพัทลุงคนสำคัญ สรุปได้ว่า พระสงฆ์เรืองนามท่านนี้ เป็นต้นตระกูล ศรีสัจจังŽและ สัจจะบุตรŽ เกิดที่บ้านน้ำเลือด ตำบลท่ามิหรำ(อยู่ในเขตอำเภอเมืองพัทลุงในปัจจุบัน) บวชเรียนเป็นพระภิกษุที่วัดเขาอ้อซึ่งเล่าลือกันว่าเป็น ตักษิลาŽแห่งภาคใต้มาตั้งแต่ครั้งยุคกรุงศรียุธยา
      
เล่ากันว่า พระช่วยนั้นร่ำเรียนเก่งกาจสอบเป็น มหาŽ ได้ตั้งแต่อายุยังน้อย จึงเก่งบาลีเก่งปริยัติอย่างหาตัวเทียบยาก ขณะเดียวกัน ในด้านวิชาไสยศาสตร์ที่ลือลั่นทั้งหลายของสำนักเขาอ้อ ก็ร่ำเรียนปฏิบัติตามคำพระอาจารย์อย่างมิตกหล่น จึงกลายเป็นที่ระบือลือลั่นในความขลังมาตั้งแต่ครั้งนั้น เข้าทำนองที่มีนักกวีชาวพัทลุงบางคนเขียนเล่าไว้เป็นกลอนว่า
       
ตื่นเช้าทุกวันอาบน้ำว่าน/เพื่อคงกะพันทนทานต่อทุกอย่าง
       
ฟันแทงไม่เข้าระคายคาง/ตกบ่ายเรียนข้างคัมภีร์มนต์.
       
ด้วยเกียรติภูมิดังกล่าว ภายหลังพระมหาช่วยจึงได้รับนิมนต์มาเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าลิไลย์ ซึ่งเป็นวัดสำคัญตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้ๆกับตำบลลำปำที่ตั้งเมืองพัทลุงขณะนั้น ความโดดเด่นของท่านจึงยิ่งระบือลือขานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
       
ใครเคยอ่านหนังสือเล่มสำคัญของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยคนแรกของไทย ที่ชื่อ ไทยรบ-พม่าŽ คงจำได้ว่าท่านรจนาถึงเรื่อง สงครามเก้าทัพŽไว้อย่างละเอียดละออ โดยเฉพาะวีรกรรมของนักรบไทยที่ทุ่งลาดหญ้าเมืองกาญจนบุรีในครั้งนั้น ทุ่งลาดหญ้านั้นตั้งอยู่ห่างจากเมืองกาญจน์ฯไปเพียงประมาณ 10กิโลเมตร ใกล้ๆกับจุดที่แม่น้ำน้อยกับแม่น้ำตะเพินไหลมาบรรจบกัน
         
สงครามเก้าทัพนี้นับเป็นสงครามครั้งสุดท้ายระหว่าราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรพม่า เป็นสงครามที่ต้องถือว่ามีความสำคัญกับราชอาณาจักรไทยมาก เพราะเมื่อวิเคราะห์ดู หากไทยแพ้สงครามครั้งนี้ ไทยก็ต้องถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งหรือเป็นเมืองขึ้นของราชอาณาจักรพม่า และภายภายหลังเมื่อพม่าต้องเสียเมืองเสียเอกราชให้แก่อังกฤษ ไทยก็ย่อมถูกโยกไปเป็นเมืองขึ้นเป็น อาณานิคมŽ ของอังกฤษด้วยเช่นกันมิใช่หรือ
         
วีรกรรมยิ่งใหญ่ของพี่น้องไทย(ทั้งฝ่ายนำคือชนชั้นกษัตริย์และทหารกล้าที่มาจากชนชั้นประชาราษฎร์ธรรมดา)ในครั้งนั้นที่รบชนะพม่าจึงต้องถือว่ายิ่งใหญ่นัก
         
มี วาทกรรมŽ สำคัญที่คนไทยในยุคแห่งความขัดแย้งแตกสามัคคีอย่างปัจจุบันควรสำเหนียกจากสงครามเก้าทัพอยู่หลายชุด แต่ที่เห็นว่าน่าจะนำมา บอกต่อŽ ก็คือคำตรัสของสมเด็จพระอนุชาธิราช สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ซึ่งเป็นแม่ทัพใหญ่ที่สงครามทุ่งลาดหญ้าครั้งนั้น

วาทะดังกล่าวแม้จะเป็นเหมือน วาทะปลุกใจŽ แต่ก็สะท้อนสำนึกและสัจจะในความเป็นคนไทยได้อย่างดีเยี่ยม
            
พวกเจ้าเป็นไพร่หลวง ข้าเป็นพระราชวงศ์ แต่เจ้ากับข้าเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือเราเป็นคนไทย เป็นเจ้าของแผ่นดินเหมือนกัน รบวันนี้ เราจะแสดงให้ผู้รุกรานเห็นว่า เราหวงแหนแผ่นดินแค่ไหน...ข้าจะไม่ขอให้พวกเจ้ารบเพื่อใคร นอกจากรบเพื่อเแผ่นดินของเจ้าเอง แผ่นดินที่เจ้ามอบให้ลูกหลานของเจ้าได้อยู่อาศัยเป็นสุขสืบไป...Ž
           
หรือใครว่าวาทะนี้ไม่เหมาะกับสยามยามนี้
           
โปรดติตามตอนต่อไปด้วยใจระทึก-พลัน.....

ที่มา.สยามรัฐ
--------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2557

เปิดเอกสารศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งประเด็น พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ต่อเก้าอี้ เลขา สมช.

เปิดเอกสารศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งประเด็น-ถาม “พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี” ความรู้สึกต่อเก้าอี้ “เลขา สมช.” ชี้องศา “ธง” ล้ม “รบ.”!!
คาดการณ์กันว่า ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2557 จะเป็นห้วงเวลาของการที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” จะพิจารณากรณีที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 ประกอบมาตรา 182 วรรค 3 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนาวสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงตามรรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) หรือไม่ จากกรณีการแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนสี จากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (เลขา สมช.) ไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

แม้กรณีนี้จะถูกตั้งคำถามอย่างมากมายว่า ใน ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เคยมีคำสั่งโยกย้าย พล.ท.สุรพล เผื่อนอัยกา ออกจากเก้าอี้ เลขา สมช. ไปอยู่ในตำแหน่ง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เพื่อให้ ถวิล เปลี่ยนสี ได้ครองเก้าอี้ เลขา สมช. เช่นเดียวกัน เหตุใดจึงไม่มีความผิด

นอกจากนี้นักวิชาการกฎหมาย หลายท่านยังชี้ให้เห็นว่า ในปัจจุบันสถานะของ นายกรัฐมนตรี ภายหลัง ยุบสภา นั้นถือว่า ความเป็นรัฐมนตรี ได้สิ้นสุดลงแล้ว ตามกฎหมาย เพราะเหตุใด ศาลรัฐธรรมนูญ จึงรับที่จะดำเนินการวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าว

โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับคดีที่มีผู้ร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สถานสภาพ ส.ส. ของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กรณีที่กระทรวงกลาโหม สั่งให้ถอดยศ เนื่องจากตรวจสอบพบว่ามีการใช้เอกสารการเกณฑ์ทหารปลอม แต่ ศาลรัฐธรรมนูญ กลับจำหน่ายคดี ไม่ดำเนินการพิจารณาวินิจฉัย โดยอ้างว่า ยุบสภา ทำให้สิ้นสุด สภาพ ส.ส. โดยปริยาย

กลายเป็น คำถาม ที่ปรากฏขึ้นมากมายอยู่ในสังคม และ ส่งผลให้เกิด คำถาม ต่อการทำหน้าที่ของ ศาลรัฐธรรมนูญ อย่างปฏิเสธไม่ได้

ล่าสุดกรณีที่ ศาลรัฐธรรมนูญ เตรียมการที่จะวินิจฉัยสถานภาพ นายกรัฐมนตรี ดังกล่าว ได้มีการพบว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ส่งเอกสารประเด็นคำถาม ที่จะดำเนินการไต่สวน พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี อดีตเลขา สมช. ที่เป็นผู้โยกย้ายจากตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มารับตำแหน่ง เลขา สมช. แทน ถวิล เปลี่ยนสี ในการโยกย้ายครั้งดังกล่าว ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า หลายคำถามเป็นประเด็น คำถามเชิงความรู้สึก ซึ่งขัดกับสิ่งที่สาธารณะชนเข้าใจว่า ศาลรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่ในการ วินิจฉัย ตามตัวบท-กฎหมาย หรือไม่

โดยพบว่าได้มี หนังสือเรียกเอกสาร หลักฐาน หรือบุคคล ลงเลขที่ (17) 001/2557 เรื่องพิจารณาที่ 34/2557 ลงวันที่ 24 เมษายน 2557 ถึง “พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี” ขอให้มาให้ถ้อยคำต่อศาลในวันอังคารที่ 6 พฤษภาคม 2557 เวลา 10.00 น.เป็นต้นไป ณ ห้องพิจารณาคดีชั้น 3 ศาลรัฐธรรมนูญ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 (อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์)
 
โดยให้จัดส่งบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของตนต่อศาล พร้อมทั้งยื่นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับคดีตามประเด็นที่ศาลกำหนดตามเอกสารที่แนบมาพร้อมนี้ จำนวน 9 ชุด พร้อมรับรองสำเนาภายในวันอังคารที่ 29 เมษายน 2557 ตามจ้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ.2550 ข้อ 40 ประกอบข้อ 7

โดยมีการระบุถึง ประเด็นหลัก ในการไต่สวน พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ดังนี้

1.ประวัติการศึกษา การทำงานและการรับราชการของท่าน

2.ความถนัดหรือความพึงใจในการดำรงตำแหน่งระหว่างตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ , เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติและปลัดกระทรวงคมนาคม

3.ในช่วงก่อนที่จะมีการโอนย้ายจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไปเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้มีข่าวปรากฏในสื่อต่างๆ เช่นหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ เผยแพร่ในลักษณะที่ว่า ท่านไม่ประสงค์จะโอนย้ายจากตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยแสดงอาการเสียใจที่ถูกโยกย้ายตำแหน่ง ซึ่งบางสื่อระบุว่าน้ำตาคลอ ในเรื่องนี้เป็นที่เข้าใจได้ว่าย่อมมีผลกระทบต่อจิตใจและความรู้สึก ท่านใช้เวลานานหรือไม่ที่จะทำใจยอมรับสภานี้ได้

4.ได้รับการทาบทามล่วงหน้าในการโอนย้ายไปดำรงตำแหน่งใด

5.ความตั้งใจเดิมต้องการที่จะเกษียณอายุราชการในตำแหน่งใด

6.ก่อนที่จะมีการโอนย้ายไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติไดมีการปรึกษาหารือใครบ้าง ได้ปรึกษาหารือกับถวิล เปลี่ยนสี หรือไม่ อย่างไร

7.เมื่อไปทำงานในตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติแล้วลักษณะงานเหมือนหรือต่างกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแค่ไหน เพียงไร

8.คิดหรือไม่ว่าในชีวิตราชการที่อยู่ในสายงานของตำรวจมาจะได้รับการแต่งตั้งเป็นปลัดกระทรวงคมนาคม

9.ในการโอนย้ายไปเป็นปลัดกระทรวงคมนาคม ได้รับการทาบทามล่วงหน้าหรือไม่ อย่างไร และคิดหรือไม่ว่าจะไปเป็นการปิดกั้นการเจริญเติบโตของข้าราชการในกระทรวงคมนาคม และเมื่อไปดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคม ข้าราชการมีท่าทีอย่างไรต่อการเข้าดำรงตำแหน่งของท่าน

10.นายกรัฐมนตรี ติดต่อทาบทามให้ท่านไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคมหรือไม่ อย่างไร หรือได้มอบหมายให้ท่านใดเป็นผู้ทาบทามและได้มีคำมั่นไว้หรือไม่ อย่างไร

เมื่อพิจารณาคำถามทั้งหมด จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่เป็น คำถามเชิงความรู้สึก ไม่ว่าจะเป็น พึงพอใจตำแหน่งไหน-กระทบจิตใจหรือไม่-ทำใจกี่วัน-ต้องการเกษียณที่ใด และ น้ำตาคลอเบ้า…เราเข้าใจได้

ซึ่งขัดแย้งต่อสิ่งที่สาธารณชนเข้าใจว่า ศาลรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่ วินิจฉัย ข้อกฎหมาย ในบทบัญญัติของ รัฐธรรมนูญ อย่างเคร่งครัด

ซึ่ง “ศาลรัฐธรรมนูญ” จะต้องตอบคำถามให้ชัดว่า แท้ที่จริงแล้ว ยึดถือ “ตัวบท-กฎหมาย” หรือเป็นไปตาม “ความรู้สึก” กันแน่ ???

ธง. ค่อนข้างจะ ชัดเจน จากความรู้สึก ที่ได้แสดงออกมาทั้งหมด








ที่มา.พระนครสาส์น
--------------------------------------------------


วันอาทิตย์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2557

เอี้ยก๊วย. หรือ ไม้หนึ่ง ก. กุนที กวีผู้เคี่ยวกรำทำงานหนัก !!?


ขณะดำรงตำแหน่งบรรณาธิการบริหาร "มติชนสุดสัปดาห์" "เสถียร จันทิมาธร"บรรณาธิการที่ปรึกษาเครือมติชนในปัจจุบัน เป็นผู้แจ้งเกิดในแวดวงบรรณพิภพให้แก่"ไม้หนึ่ง ก. กุนที" อย่างมิต้องสงสัย

ด้วยเหตุนี้ ในราวปลายทศวรรษ 2530 - เกือบตลอดทศวรรษ 2540 บทกวีอันมีเอกลักษณ์ทางด้านถ้อยคำ, จังหวะ และเนื้อหา ของไม้หนึ่ง จึงมีตำแหน่งแห่งที่อันมั่นคงหนักแน่นอยู่บนหน้า 66 ของนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์

หลังการเสียชีวิต เพราะถูกลอบสังหาร ของไม้หนึ่ง เมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา


ทีมข่าวจึงขออนุญาตนำ คำนำเสนอ ที่บก.อาวุโสอย่างเสถียร เขียนให้แก่หนังสือ "บางเราในนคร" หนังสือรวมบทกวีเล่มแรกของ กวีหนุ่มในยุคนั้น (พ.ศ.2541) อย่างไม้หนึ่ง ก. กุนที

มาเผยแพร่ซ้ำอีกครั้งหนึ่ง

เพื่อเป็นการรำลึกถึงการจากไปของกวีข้าวหน้าเป็ด, กวีโพสต์โมเดิร์น, กวีเสื้อแดง และ ประชาทิพย์พิทักษ์ไทย





มีคนถามตั้งแต่เมื่อแรกที่ ลงบทกวีของไม้หนึ่ง ก.กุนที ติดต่อกันแล้วว่า ทำไมถึงได้ทำเช่นนั้นเสมือนจะต้องการสำแดงนัยอะไรบางประการ

ชอบ..

นี่ย่อมเป็นคำตอบบนพื้นฐานแห่งความเชื่อที่ว่า กวีนิพนธ์เป็นเรื่องของอารมณ์ เป็นเรื่องของความรู้สึก

กวีนิพนธ์ไม่ใช่เรื่องของเหตุผล

อย่างไรก็ตามในความชอบที่มีอยู่ก็มิได้เป็นความชอบที่เลื่อนลอย ชอบอย่างว่างเปล่า

อย่าว่าแต่กวีนิพนธ์เลย แม้กระทั่งบอกว่าชอบดอกไม้ บอกว่าชอบสายน้ำ บอกว่าชอบเสี้ยวจันทร์ ยังต้องอธิบายเลย

แล้วไฉนความชอบต่องานของไม้หนึ่ง ก.กุนที จะอยู่เหนือคำอธิบายเล่า

ถึงแม้ว่างานศิลปะจะเป็นเรื่องเหนือกาล เหนือเทศะ

เหมือนกับกวีนิพนธ์ของสุนทรภู่ยังทรงเสน่ห์แม้ว่าเวลาจะผ่านมากว่า 200 ปีแล้วก็ตาม

เหมือนกับกวีนิพนธ์ของเช็กสเปียร์ สามารถข้ามพรมแดนจากสหราชอาณาจักรมาได้รับความนิยมแม้แต่ในประเทศไทย

แต่งานนั้นๆ ก็ย่อมจะต้องแสดงออกในลักษณะเป็นตัวแทนแห่งยุคสมัยของตน

สัจจะอันปรากฏในงานของสุนทรภู่อาจพิสูจน์ได้แม้กระทั่งในทุกวันนี้ แต่รูปแห่งการสำแดงออกของท่านก็เป็นปฏิมาอันสะท้อนลักษณะรวบยอดของยุคสมัยได้อย่างเด่นชัด

เป็นตัวแทนแห่งยุคสมัย เป็นเสียงแห่งยุค

จากยุคสุนทรภู่เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงมากมาย ทั้งในทางสังคมและในทางวัฒนธรรม น่ายินดีที่กรอบอันสุนทรภู่ได้กำหนดเอาไว้ยังดำรงอยู่และได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่กวีและนักกลอนรุ่นใหม่

แต่นั้นย่อมมิได้หมายถึงการเข้ามาแทนที่ ความเพียรในการค้นหางานอันมีลักษณะเป็นตัวแทนและเป็นเสียงแห่งยุคสมัยของตนอย่างเด็ดขาด

การศึกษาอดีต รับจากอดีต เป็นของดี แต่จะมาแทนที่การสร้างสรรค์ไม่ได้

ไม้หนึ่ง ก. กุนที ไม่ได้เกิดขึ้นจากว่างเปล่า ไม่ได้ลอยมาจากฟากฟ้า

ตรงกันข้าม เขาคือผลิตผลแห่งยุคสมัยของเขาเอง

ความเป็นนักเรียนทางด้านอักษรศาสตร์ ผ่านการฝึกอบรมจากครูดีๆ ระดับ คุณหญิงผะอบ โปษะกฤษณะ และ นันทา ขุนภักดี ยืนยันพื้นฐานทางวรรณคดีโบราณของเขาได้ระดับแน่นอนหนึ่ง

ยืนยันถึงการผ่านรูปการสำแดงออกของสัททุลวิกกีฬิตฉันท์ 19 มาแล้ว

ขณะเดียวกัน มิใช่ว่าเขาจะไม่เคยชื่นชมผลงานอันวิจิตรบรรจงของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ หรือแม้กระทั่งเสน่ห์อันตรึงตราจากคนร่วมสมัยที่โดดเด่นเช่น ประกาย ปรัชญา

มีการต่อสู้อย่างแน่นอน เป็นการต่อสู้ทางความคิด

ต่อสู้ว่าเราจะก้าวเดินไปตามขนบอันผ่านการพิสูจน์แล้วด้วยกาลเวลาของครูกวีแต่โบราณได้หรือไม่และอย่างไร

ต่อสู้ว่า ทำอย่างไรจึงจะไม่ติดอยู่กับรสแห่งถ้อยวลีจากกวีร่วมสมัยที่ทรงอิทธิพลยิ่งกว่า

หากไม่เรียนรู้จาก "เขา" ไฉนจะรู้ได้ว่าอะไรคือสิ่งที่ "เรา" ยึดติดมาอย่างเหนียวแน่น ยิ่งกว่านั้นหากไม่ทำความเข้าใจต่อสิ่งที่ "เรา" มีอยู่ ไฉนจะสามารถสลัดหลุดจากอิทธิพลอัน "เขา" มีต่อได้เล่า

ขอให้ถือเอาชีวิตของ "เอี้ยก๊วย" เป็นกรณีศึกษาเถิด

โดยสายตระกูล "เอี้ยก๊วย" เป็นศิษย์ของสำนักเฉียนจึง แต่โดยความดื้อรั้นทำให้เขาได้ศึกษาพื้นฐานจาก "อาว เอี้ยง ฮง" อันเป็นภูติแห่งประจิม

ขณะเดียวกัน ยังได้วิชาจากสำนักสุสานโบราณโดยผ่านแม่นาง "เซียว เล้ง นึ่ง"

ขณะเดียวกัน การตุหรัดตุเหร่ขึ้นไปยังยอดเขาสูงทะลุฟ้าได้พบเห็นการประลองฝีมือ"อั้ง ชิด กง" ประมุขพรรคกระยาจกกับ "อาว เอี้ยง ฮง" ส่งผลให้มันได้วิชาไม้เท้าตีสุนัข

ขณะเดียวกัน ในเส้นทางพเนจรยังได้รับความเมตตาจาก "อึ้ง เอี๊ย ซือ" ภูติแห่งบูรพา

ขณะเดียวกัน ในระหว่างการจรออกนอกเส้นทางเพราะแรงกระตุ้นจากพี่อินทรีมันยังได้พบสุสานกระบี่และร่ำเรียนเคล็ดวิชาของ "ต๊กโกว คิ้ว ป่าย" ผู้ล่วงลับ

วิชาฝีมือในตัวของมันจึงสับสนและหลากหลายสำนักอย่างยิ่ง

มันเคยเพียรอย่างเต็มความสามารถที่จะหลอมรวมเอามาเป็นของตนเองระหว่างเดินทางร่วมกับลามะจากทิเบตแต่ไม่สำเร็จ

ต่อเมื่อมันผิดหวังในชีวิตเพราะการพรากจากของ "เซียว เล้ง นึ่ง" หรอก ระหว่างเร้นกายไปยังดินแดนชายทะเลอันเวิ้งว้าง มันจึงสามารถนำเอาความจัดเจนที่มีอยู่บัญญัติเป็นเคล็ดวิชาของตนเอง

จอมยุทธทำงานหนักอย่างนี้ ไฉนกวีจะมีปาฏิหาริย์ยิ่งกว่าจอมยุทธได้เล่า

ในความเป็นจริงของการเคี่ยวกรำมิได้หมายถึงเคี่ยวกรำด้านวิชาอักษร และการใช้ถ้อยคำอักษรประการเดียว ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ยังอยู่ที่การเคี่ยวกรำกับสภาพความเป็นจริงอันโหดร้ายของการมีชีวิตอยู่อีกด้วย

ไม้หนึ่ง ก. กุนที อาจมิใช่กวีผู้ยิ่งใหญ่ แต่เขาก็มีความสุขในการเคี่ยวกรำทำงานหนัก

เสถียร จันทิมาธร

บรรณาธิการบริหาร มติชนสุดสัปดาห์

ตีพิมพ์ครั้งแรกใน หนังสือ "บางเราในนคร" ของไม้หนึ่ง ก. กุนที จัดพิมพ์โดย ยิปซีสำนักพิมพ์ (มีนาคม 2541)
------------------------------------------------

วันศุกร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2557

เถื่อน หรือ ไม่ !!?

เนื้อหาระบุว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีสำคัญหลายคดีถูกวิพากษ์วิจารณ์มากว่ามีปัญหาเกี่ยวกับความยุติธรรมและหลายคดีวินิจฉัยโดยก้าวล่วงการใช้อำนาจอธิปไตยขององค์กรอื่นโดยไม่มีอำนาจขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจและขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง

ซึ่งเหตุผลสำคัญที่สนับสนุนความเห็นที่ว่าการวินิจฉัยของศาลฯไม่ได้ดำเนินการไปโดยความยุติธรรมคือการพิจารณาวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญได้กระทำไปโดยไม่มีกฎหมายรองรับหรือไม่เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตรา 216 วรรคหกบัญญัติไว้ให้วิธีพิจารณาของศาลฯต้องเป็นไปตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

ประกอบกับมาตรา 300 วรรคห้าและบทเฉพาะกาลมาตรา 300 วรรคห้าบัญญัติว่าระหว่างที่ยังมิได้มีการตราพ.ร.บ. ให้ศาลฯมีอำนาจออกข้อกำหนดเกี่ยวกับวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัยได้ทั้งนี้ต้องตราพ.ร.บ.ดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

แต่จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ 7 ปีแล้วศาลฯก็ยังละเลยที่จะดำเนินการเพื่อให้มีพ.ร.บ.ดังกล่าว
ซ้ำยังได้นำข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัยพ.ศ.2550 ที่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้กำหนดขึ้นเองแต่เพียงฝ่ายเดียวมาใช้ในการพิจารณาและการทำคำวินิจฉัยเรื่อยมา
ทั้งๆที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ใช้ข้อกำหนดนั้นได้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปีเท่านั้น

“ประเด็นที่หยิบยกขึ้นมาสำคัญอย่างยิ่งประเทศที่ได้ชื่อว่าให้ความสำคัญต่อหลักนิติรัฐและนิติธรรมไม่อาจมองข้ามการพิจารณาคดีต้องมีกฎเกณฑ์หรือกติกาว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลเพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับประชาชนกฎเกณฑ์หรือกติกาว่าด้วยวิธีพิจารณาดังกล่าวจะต้องถูกกำหนดขึ้นโดยองค์กรที่มีความชอบธรรมตามหลักประชาธิปไตยไม่ใช่ศาลกำหนดเอง”

นับแต่เมื่อพ้นระยะเวลา 1 ปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาวินิจฉัยคดีโดยไม่มีกฎหมายรองรับไปแล้วกว่า 350 เรื่องแยกเป็นที่ทำในรูปคำวินิจฉัยกว่า 92 เรื่องและที่ทำเป็นคำสั่งอีกกว่า 258 เรื่อง

การละเลยต่อหลักการย่อมส่งผลให้การพิจารณาวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญบิดเบี้ยวขาดความชัดเจนในกระบวนการพิจารณาเพราะไม่มีกรอบแห่งการใช้อำนาจเช่น1.ไม่มีกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาในแต่ละประเภทคดีไว้อย่างชัดเจนส่งผลให้บางคดีได้กระทำไปด้วยความรีบเร่งผิดปกติ
2.การทำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมายังไม่มีความชัดเจนว่าตุลาการฯซึ่งเป็นองค์คณะทุกคนได้ทำความเห็นในการวินิจฉัยในส่วนของตนพร้อมแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุมก่อนการลงมติตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 216 วรรคสองได้กำหนดไว้หรือไม่เพียงใด

และ 3.ไม่มีการกำหนดเวลาที่ชัดเจนในการเผยแพร่คำวินิจฉัยกลางและคำวินิจฉัยส่วนตนในราชกิจจานุเบกษาส่งผลให้บางคดีอ่านคำวินิจฉัยไปแล้วหลายเดือนแต่คำวินิจฉัยกลางยังไม่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 216 วรรคสามกำหนดไว้

การไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหรือการพิจารณาวินิจฉัยคดีที่กระทำไปโดยไม่มีกฎหมายรองรับรวมทั้งการละเลยต่อกระบวนการหรือวิธีพิจารณาคดีที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้จึงทำให้คำวินิจฉัยที่ผ่านมาย่อมมีปัญหาความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมเสียเองและอาจทำให้คำวินิจฉัยดังกล่าวตกไปทั้งฉบับได้

นี่คือคำถามข้อใหญ่ที่พุ่งเข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญตรงๆว่าเหตุใดองค์กรอิสระที่มีหน้าที่รักษาความถูกต้องของกฎหมายรัฐธรรมนูญจึงได้ละเลยต่อการที่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญเช่นนี้

เรื่องนี้อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาท่านหนึ่งได้ให้ข้อมูลเรื่องนี้พ.ต.ต.เสงี่ยมสำราญรัตน์ได้เคยยื่นหนังสือลงวันที่ 27 กันยายน 2556 และ 3 ตุลาคม 2556 ให้ศาลรัฐธรรมนูญหยุดการกระทำอันฝ่าฝืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 138 (5) มาตรา 216 วรรคหกและมาตรา 300 วรรคห้ามาแล้วซึ่งนายชวนะไตรมาศเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้มีหนังสือลงวันที่ 4 ตุลาคม 2556 ตอบในเรื่องนี้ว่า

ที่รัฐธรรมนูญมาตรา 300 วรรคห้าบัญญัติว่าทั้งนี้ต้องตราพ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนั้น“ไม่ใช่ระยะเวลาบังคับแต่เป็นระยะเวลาเร่งรัด”

ขณะนี้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวยังอยู่ในกระบวนการทางนิติบัญญัติของรัฐสภาดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญจึงนำข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 มาบังคับใช้... นั่นคือคำตอบจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ

ซึ่งอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาบอกว่าเป็นข้อบังคับที่ศาลรัฐธรรมนูญเขียนขึ้นใช้เองแล้วก็ใช้ตัดสินคดีเรื่อยมาและคงจะใช้เรื่อยไปใช่หรือไม่???

ที่สำคัญหากดูตามมาตรา 153 วรรคสองจะพบว่าร่างพ.ร.บ.ที่อ้างว่ายังอยู่ในกระบวนการทางรัฐสภานั้นได้ตกไปหลายปีแล้วใช้ไม่ได้แล้วเพราะไม่ปรากฏว่ามีรัฐบาลใดไม่ว่าจะรัฐบาลนายสมัครสุนทรเวชรัฐบาลนายสมชายวงศ์สวัสดิ์หรือแม้แต่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ชินวัตรได้ยื่นคำขอต่อรัฐสภาภายใน 60 วันนับแต่วันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกหลังการเลือกตั้งทั่วไปให้ยกขึ้นพิจารณาต่อไป

ดังนั้นการพิจารณาตัดสินคดีวินิจฉัยให้คำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2551 ถึงปัจจุบันจึงบอกใครไม่ได้ว่าตัดสินตามกฎหมายอะไรเพราะศาลรัฐธรรมนูญมิได้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายและไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่ยกขึ้นอ้างอิงตามมาตรา 216 วรรคสี่
ไม่มีใครรู้นอกจากคนสวมชุดครุยแดงๆ!!!

นี่คือเรื่องใหญ่และเรื่องสำคัญของหลักความยุติธรรมที่ตุลาการรัฐธรรมนูญจะต้องตอบกับสังคมให้กระจ่างว่าที่นายอุกฤษระบุมารวมทั้งที่อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาให้ข้อมูลมานั้นจริงหรือไม่อย่างไร
ในมุมของนักกฎหมายอาจจะมองว่าถ้าเป็นแบบนี้การตัดสินคดีของศาลรัฐธรรมนูญทุกเรื่องจึงขัดต่อกฎหมายและเป็นโมฆะรวมทั้งตุลาการทุกคนอาจจะเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 157 ด้วย
แต่สำหรับประชาชนทั่วไปกำลังอึงอลกับคำถามที่ว่าตกลงหากที่ผ่านมาตัดสินโดยไม่มีกฎหมายรองรับอย่างที่ว่าจะถือว่าคำวินิจฉัยเหล่านั้น...เถื่อนหรือไม่เถื่อน???

แล้วหากว่าสุดท้ายแล้วพบว่าเกิดเถื่อนขึ้นมาจริงๆความยุติธรรมจะอยู่ที่ตรงไหน
ใช่เพราะไม่มีพ.ร.บ.ดังกล่าวหรือไม่จึงทำให้นายวสันต์สร้อยพิสุทธิ์อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญเคยหลุดวาจากมาว่าบางครั้งก็ตัดสินคดีวินิจฉัยคดีกันแบบลวกๆสุกเอาเผากิน
นี่คือสาเหตุสำคัญใช่หรือไม่ตุลาการรัฐธรรมนูญทุกคนย่อมรู้อยู่แก่ใจ

ที่ผ่านมาหลายเรื่องเป็นเรื่องของตัวบุคคลเช่นเรื่องของนายจรัญภักดีธนากุลที่เซ็นยินยอมให้ภรรยาเกี่ยวกับเรื่องซื้อขายที่ดินแล้วปรากฏว่าคดีซื้อขายที่ดินดังกล่าวของภรรยานายจรัญถูกศาลฎีกาพิพากษาให้เป็นคดีฉ้อโกงซึ่งก็เป็นเรื่องที่ถูกสังคมตั้งคำถามเฉพาะตัวว่าแบบนี้ควรมีผลต่อนายจรัญซึ่งเป็นสามีและเซ็นเอกสารให้ภรรยาหรือไม่???

รวมทั้งเมื่อมีคดีกับคนใกล้ตัวมากๆเช่นนี้แล้วการทำหน้าที่ของนายจรัญจะยังคงควารที่จะได้รับการยอมรับจากสังคมอยู่หรือไม่???

และจึงไม่แปลกที่สังคมจะมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับมาตรฐานการตัดสินคดีจนนำมาซึ่งคำว่า 2 มาตรฐานบ้างไม่มีมาตรฐานบ้างรวมไปกระทั่งถึงไม่มีความยุติธรรมที่แท้จริง

มิน่ากรณีกระแสข่าวที่ว่าพ.ต.ท.ทักษิณชินวัตรอดีตนายกรัฐมนตรีอยากเห็นบ้านเมืองเดินไปข้างหน้าและแก้ปัญหาด้วยสันติวิธีถึงขั้นออกปากว่าหากมีการคืนความเป็นธรรมให้ประเทศให้กับครอบครัวชินวัตรทางตระกูลชินวัตรก็พร้อมเสียสละและยุติการเป็นนักการเมือง

นั่นแปลว่าตระกูลชินวัตรยังคงรู้สึกมาโดยตลอดว่าที่ผ่านมาไม่ได้รับความเป็นธรรม

เมื่อใดที่ได้รับความเป็นธรรมก็พร้อมที่จะยุติบทบาทในการทวงคืนความเป็นธรรมยุติบทบาทในทางการเมืองซึ่งบางกอกทูเดย์เองก็เห็นด้วยและสนับสนุนกับแนวความคิดนี้มาโดยตลอดว่าปัญหาสามารถจบได้ด้วยความยุติธรรมไม่ใช่ด้วยตุลาการภิวัตน์อย่างที่พยายามกระทำกันอยู่

และเมื่อจบแล้วพ.ต.ท.ทักษิณก็จะต้องวางมือให้ทุกคนยอมรับจริงๆอย่าให้มีประเด็นข้ออ้างเหมือนที่ผ่านๆมาอีก

สาเหตุหนึ่งที่ขั้วการเมืองตรงข้ามยังก้าวข้ามไม่พ้นคนชื่อทักษิณก็เป็นเพราะที่ผ่านมายังมีคนรอบข้างยังมีคนใกล้ตัวยังมีพรรคพวกและวงศาคณาญาติที่ใช้บารมีของอดีตนายกฯทักษิณไปแสวงหาผลประโยชน์ไปกอบโกยจนกลายเป็นเรื่องฉาวโฉ่สารพัดทั้งเรื่องโยกย้ายแต่งตั้งเรื่องโครงการสัมปทานต่างๆหรือแม้แต่เรื่องการทำมาหากินแบบซิกแซก

ซึ่งอดีตนายกฯทักษิณอาจจะไม่รู้เรื่องด้วยจริงๆแต่ภาพลักษณ์ก็เปื้อนไปแล้วและขบวนการทำลายล้างทางการเมืองของขั้วตรงข้ามก็กระหน่ำใส่จนจริงเท็จไม่สนใจแต่มีคนเชื่อปักใจว่าระบอบทักษิณโกงและทำให้ม็อบกปปส. ปลุกติดด้วยข้อหาเหล่านั้น

ฉะนั้นหากถึงวันที่ได้รับความเป็นธรรมคืนมาแล้วอดีตนายกฯทักษิณต้องวางมือให้ได้จริงๆอย่าให้ใครเอาชื่อไปแอบอ้างหากินได้อีกจะต้องอยู่เงียบๆแล้วเชื่อเถอะคนไทยนั้นลืมง่ายและพร้อมที่จะให้อภัยและลืมเลือน

ในวันที่สังคมลืมเลือนความเกลียดชังไปแล้วดีไม่ดีด้วยความที่เป็นคนมีฝีมือมีความคิดเป็นที่ประจักษ์เผลอๆหากประเทศชาติมีปัญหาต้องการคนเก่งมาช่วยแก้ไขสังคมอาจจะเป็นฝ่ายที่เรียกร้องให้อดีตนายกฯทักษิณกลับมาแสดงฝีมือก็เป็นได้

จริงๆแค่เพียงวันนี้โลว์โปรไฟล์ได้จริงๆไม่ให้ใครไปหาเพื่อแอบอ้างหากินอีกต่อไปได้จริงๆสถานการณ์ก็คงจะดีกว่านี้เยอะเลยไม่ต้องมาลุ้นระทึกว่าขั้วตรงข้ามเอยมือที่มองไม่เห็นเอยจะรุมกันเชือดยกตระกูลเมื่อไหร่

คืนความเป็นธรรมทักษิณล้างมือทางการเมือง... จบสวยกว่าการใช้ตุลาการภิวัตน์สหบาทาเยอะเลยว่ามั้ย... ตุลาการฯทั้งหลาย

ที่มา.บางกอกทูเดย์
---------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2557

เมื่อข่าวร้ายท่วมหัว !!?

โดย รัตนา จีนกลาง

ท่ามกลางสุญญากาศทางการเมือง การใช้ชีวิตในทุกวันนี้ต้องระแวดระวังภัยรอบด้าน โดยเฉพาะด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ข่าวคราวอุบัติเหตุเภทภัยต่าง ๆ ขโมยขโจรชุกชุมเหลือเกิน การขับรถไปทำงานก็ต้องใจร่ม ๆ ใจเย็น ๆ มีสติเกินร้อย เพราะการพลาดเพียงเสี้ยววินาทีก็อาจจะสูญเสียหลายสิ่งได้

ในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมานี้ ต้องยอมรับว่า "ความสุข" ของคนไทยได้หายไปเยอะทีเดียว นับตั้งแต่สังคมไทยก้าวเข้าสู่โหมดของความขัดแย้งทางการเมือง ส่งผลทำให้ผู้คนในสังคมมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันหลายกลุ่มหลายขั้ว

การโหมกระพือของสื่อ และข้อมูลข่าวสารสะพัดในโลกโซเชียลมีเดีย ยิ่งตอกย้ำความแตกแยก ตอกย้ำความแตกต่างของผู้คนมากขึ้นทุกวัน ไม่เว้นแม้แต่ในครอบครัวเดียวกัน ในหมู่บ้านเดียวกัน หรือในองค์กรเดียวกัน

แต่ท้ายที่สุดแล้ว... ทุกคนก็ต้องกลับมาทำหน้าที่หลักของตนเอง ตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากินเลี้ยงดูจุนเจือครอบครัวกันต่อไป อย่าปล่อยให้ความเห็นต่างทางการเมืองมามีอิทธิพลกับชีวิตมากจนเกินไป

ความสุข สนุกสนานในเทศกาลสงกรานต์ได้ผ่านพ้นไปแล้ว นับจากนี้ไปทุกคนต้องเผชิญกับความจริงอีกครั้ง

ความจริงที่ว่าก็คือมีแต่ปัจจัยลบรุมเร้า เศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ มีแต่เทรนด์ขาลง อันสืบเนื่องมาจากปัจจัยภายในประเทศที่คนไทยก่อขึ้นกันเอง

วันนี้เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจติดขัดไปหมด การบริโภคสินค้าและบริการต่าง ๆ ซบเซาหนักเพราะกำลังซื้อหาย รายได้หดกันถ้วนหน้า

อารมณ์การจับจ่ายก็ไม่มี ไฮโซไฮซ้อหยุดซื้อสินค้าแบรนด์เนม ผู้คนทั่วไปขาดความมั่นใจ ขอเก็บเงินไว้ในกระเป๋าดีกว่า เพราะไม่รู้ว่าสถานการณ์บ้านเมืองจะออกหัวออกก้อยอย่างไร

ส่วนการลงทุนใหม่ ๆ ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนก็ไม่เกิด เพราะขาดความเชื่อมั่นในเสถียรภาพรัฐบาลและนโยบายเศรษฐกิจ บรรยากาศการค้า การลงทุนจึงแขวนไว้บนความไม่แน่นอนอย่างยิ่ง

ขณะที่ภาคการส่งออกก็เริ่มจะโงหัวรับอานิสงส์จากเงินบาทอ่อนค่า และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่การเดินเครื่องผลิตสินค้าก็ไม่เต็มร้อย ออร์เดอร์ไม่ชุกชุมเหมือนยุคก่อน

ขณะที่ภาคบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่จะดึงเงินตราต่างประเทศเข้ามาโดยตรงก็ยังไม่ดีเท่าที่ควรหากการชุมนุมยังยืดเยื้อเช่นนี้ ซึ่งจะมีเพียงเมืองท่องเที่ยวในบางจังหวัดเท่านั้นที่ชาวต่างชาติหนีกรุงแห่ไปเที่ยว เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต หาดใหญ่

เมื่อปัจจัยลบรุมล้อมเช่นนี้แล้ว เราจะอยู่กันอย่างไร...?

ในฐานะที่เป็นมนุษย์เงินเดือนคนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า ได้รับผลกระทบไม่น้อยเช่นกัน จึงต้องมานั่งคิดทบทวนตนเองว่าจะฝ่าวิกฤตรอบนี้ไปได้อย่างไร

แม้ว่าจะฝ่าวิกฤตมาได้หลายรอบแล้ว ไม่ว่าจะเป็นยุคฟองสบู่แตก ยุคซับไพรม ยุคปฏิวัติรัฐประหาร คัมภีร์ส่วนตัวที่งัดมาใช้ได้ทุกครั้งก็คือ การบริหารใจให้นิ่งมีสติ, การจัดการกับเงินในกระเป๋าดูแลรายรับ-รายจ่าย ลดการก่อหนี้ที่เกินตัว และจัดลำดับความสำคัญในการใช้จ่ายเงินทองให้ดี

การมีเงินเดือนสูง หรือมีเงินเดือนต่ำ ไม่สำคัญเท่ากับว่า เรามีเงินเหลือใช้-เหลือเก็บเท่าไหร่ ต้องรู้จักใช้เงินให้เป็น ซึ่งจะต้องทำคู่ขนานไปกับการใช้ชีวิตให้มีความสุขกับสิ่งใกล้ตัว ให้เวลากับการอ่านหนังสือที่ชื่นชอบแทนการออกไปเดินห้าง หรือท่องราตรี

ที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ การหันมาดูแลตัวเองให้ดี เพราะเมื่อเราเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่มีใครมาเจ็บปวดแทนเราได้ แถมยังต้องเสียเงินในการรักษาจำนวนมาก ยิ่งจะทำให้ครอบครัวเดือดร้อนลำบากมากขึ้น

เริ่มต้นกันวันนี้เลย จัดสรรเวลาไปออกกำลังกาย ย้ายตัวเองออกไปสัมผัสธรรมชาติ กินลม-ชมวิว ดูพระอาทิตย์ทอแสงยามเช้า คุยกับพ่อแม่ และคนที่เรารัก ไม่ละเลยเพื่อนสนิทมิตรสหาย

ไม่ตกเป็นทาส "สังคมก้มหน้า" เสพติดไลน์ เฟซบุ๊ก มากล้นจนเกินไป

แม้ว่าคนเราจะมีทุกข์กันสารพัดอย่าง แต่บทสรุปสุดท้ายแล้ว มนุษย์มีทุกข์แค่ 2 อย่าง คือ "ทุกข์กาย และทุกข์ใจ"

ทุกข์ที่ใจบำบัดเยียวยาได้ด้วยสติและหลักธรรม ทุกข์ที่กายก็ต้องหมั่นตรวจเช็กสุขภาพตนเอง ดูแลเรื่องอาหารการกินให้ดี

บรรทัดสุดท้ายนี้ ขอให้ผู้อ่านมี

กำลังใจ-กินอิ่ม-นอนหลับ-ยิ้มได้ ทุกคน

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
--------------------------------------------

วันพุธที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2557

ยิงไม้หนึ่ง ก.กุนที กวีเสื้อแดงดับ !!?

ไม้หนึ่ง ก.กุนที หรือ กมล ดวงผาสุก กวีเสื้อแดง ถูกยิงบริเวณลานจอดรถ ลาดปลาเค้า 24 ก่อนเสียชีวิตในเวลาต่อมา

เมื่อเวลา 14.10 น. เกิดเหตุคนร้ายไม่ทราบจำนวนใช้อาวุธปืนไม่ทราบชนิดยิงใส่ “ไม้หนึ่ง ก. กุนที” หรือ นายกมล ดวงผาสุก กวีเสื้อแดง บริเวณลานจอดรถ หน้าร้านอาหารครกไม้ไทยลาว ซ.ลาดปลาเค้า 24 เขตลาดพร้าว

ผู้เห็นเหตุการณ์ ล่าว่า ภายหลังที่นายกมล รับประทานอาหารเสร็จและอยู่ระหว่างการเดินไปเอารถที่ลานจอดรถ มีเสียงดังขึ้นประมาณ 5-6 นัด เมื่อตามออกไปดูพบว่านายกมล นอนแน่นิ่งฟุบอยู่กับพื้น ร่างจมกองเลือด

ทั้งนี้นายกมลได้ถูกนำส่งโรงพยาบาลเมโย โดยแพทย์ได้นำเข้ารักษาในห้องฉุกเฉิน ก่อนที่นายกมลจะเสียชีวิตลงในเวลาต่อมา  ด้าน พล.ต.ต.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รองผบช.น.) กล่าวว่า ยังไม่ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่แต่เมื่อทราบเรื่องจากผู้สื่อข่าวแล้วก็จะสั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบบริเวณดังกล่าวทันที

 

ไม้หนึ่ง ก.กุนที

ไม้หนึ่ง ก.กุนที เป็นนามปากกาของ "กมล ดวงผาสุก" เจ้าของร้านข้าวหน้าเป็ด บะหมี่เป็ด "Duck Poet's Society" เขาเป็นที่รู้จักในวงกว้างจากการเขียนบทกวีการเมืองลงใน มติชนสุดสัปดาห์ และนิตยสารอื่นๆ ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2530 ถึงต้นทศวรรษ 2540 พื้นเพของเขาเป็นชาวอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม จบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผลงานเขียนชิ้นสำคัญของเขา ได้แก่ บางเราในนคร (2541) รูปทรง มวลสาร พลังงาน และความรัก (2544) และ สถาปนาสถาบันประชาชน (2554) เป็นต้น

ภายหลังรัฐประหาร เขาเป็นอีกหนึ่งคนที่ออกมาต่อต้าน และเริ่มปรากฏตัวบนเวทีของคนเสื้อแดง ร่ายบทกวีการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอันทรงพลัง จนกระทั่งเขากลายเป็นที่รู้จักในนาม “กวีราษฎร" "กวีเสื้อแดง” มีบทกวีหลายชิ้นที่เป็นที่กล่าวขวัญถึงจนปัจจุบัน เช่น ‘ประชาทิพย์ พิทักษ์ไทย’ ที่แต่งให้ นวมทอง ไพรวัลย์ คนขับแท็กซี่ชนรถถังต้านรัฐประหาร 49 ซึ่งภายหลังได้ผูกคอตายเพื่อยืนยันอุดมการณ์ของตนในวันที่ 31 ต.ค. ปีเดียวกัน

หลังจากนั้นเขายังคงร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มคนเสื้อแดงโดยตลอด ในปี 2553 ไม้หนึ่งฯ เป็นส่วนหนึ่งของแกนนำที่จัดตั้งพรรค ‘แนวร่วมสังคมประชาธิปไตย’ ซึ่งในภายหลังต้องยุติการตั้งพรรคไปเนื่องจากไม่สามารถดำเนินการตามเงื่อนไขของกฎหมายเลือกตั้งได้

หลังการสลายการชุมนุมปี 2553 ไม้หนึ่งฯ และแกนนำจำนวนหนึ่งได้หายหน้าไปจากเวทีการเคลื่อนไหวทางการเมืองพักใหญ่ อาจจะด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย ก่อนจะกลับมาอีกครั้งและผนึกกำลังกับ สุดา รังกุพันธ์ หรือ อ.หวาน ขับเคลื่อนเรื่องการช่วยเหลือนักโทษทางการเมือง มีการจัดตั้งกลุ่มปฏิญญาหน้าศาล จัดเสวนาเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม จนกระทั่งมีการตั้งกลุ่ม “29 มกราหมื่นปลดปล่อย” เมื่อต้นปี 2556 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการปล่อยนักโทษการเมือง เขายังจัดรายการทางช่องเอเชียอัพเดทด้วย

นอกจากนี้เขายังมีส่วนร่วมกับศิลปินคนอื่น จัดทำรูปปั้น "นวมทอง ไพรวัลย์" โดยไม้หนึ่งตั้งชื่อประติมากรรมนี้ว่า “นวมทอง ไพรวัลย์ ประชาทิพย์พิทักษ์ไทย” โดยคำว่าประชาทิพย์ ปรากฏในบทกวีของเขาหลังเหตุการณ์สงกรานต์เลือด โดยเขาให้เหตุผลว่า โดยมโนคติเดิมมักบอกว่าคนดีตายแล้วขึ้นสวรรค์ แต่เขาเห็นว่าคนที่อุดมการณ์เพื่อส่วนรวม ตายแล้วก็คงไม่ไปเสวยผลบุญส่วนตัวด้วยการไปสวรรค์ แต่น่าจะยังยินดีเป็นเจ้าที่เจ้าทาง ผีทุ่งผีนา ที่อยู่ใกล้ชิดประชาชน ดูแลปกป้องคุ้มครองประชาชนผู้ต่อสู้เพื่อส่วนรวม

ทีมา.ประชาไท
/////////////////////////////////////////////

เตรียมใจกันไว้ !!?

โดย : พระพยอม กัลยาโณ

ช่วงนี้ทำให้นึกถึงเรือไทนานิคที่ล่ม แล้วเรือเฟอร์รี่เซวอลของเกาหลีก็มาล่ม ไปๆมาๆมองดูรัฐบาลรัฐนาวาของไทยก็พบคลื่นมรสุมใกล้จะ “ล่มจม” หรือไม่สามารถลอยลำลอยตัวอยู่ได้ รัฐบาลเปรียบเหมือนกับรัฐนาวา เหมือนกับเรือที่ฝ่าคลื่นไปในทะเล ยุคไหน ช่วงไหนลมฟ้านิ่งสบายก็แล่นไปได้เรื่อยๆ แต่ช่วงไหนที่เต็มไปด้วยอุปสรรค พายุฝนฟ้าคะนอง เรือก็เสี่ยงที่จะล่มจะจม

ตอนนี้สิ่งที่จะขัดขวาง ที่จะพาให้เรือล่ม ทั้งๆที่เรือเก่าก็จะล่ม เรือใหม่ก็จะล่ม แม้แต่รัฐบาลใหม่ที่ออกมาจะอยู่ได้หรือไม่ได้ หมายความว่าถ้าจะผลิต จะต่อเรืออะไรออกมารู้สึกจะล่มอยู่ร่ำไป เพราะลมมรสุมทางการเมืองแรงเหลือเกิน นี่ก็ประกาศขัดขวางการเลือกตั้งครั้งใหม่กันแล้ว หมายความว่าเผลอๆจะไม่มีรัฐนาวา ไม่มีเรือแล่นบริหารประเทศชาติ เพราะโดนขัดขวาง โดนต่อต้านสารพัดอย่าง

เอาเถอะตอนนี้คนไทยควรเจียมเนื้อเจียมตัวกันได้แล้ว ใครที่กิน เล่น เที่ยว คึกคะนอง เหมือนคนที่อยู่ในเรือเกาหลี อาตมาคิดว่าตอนเรือยังไม่เผชิญกับก้อนหินหรือเอียงคว่ำ คงร้องรำทำเพลงกันสนุกสนาน หลับใหลกันไป แต่พอเรือเอียง เรือล่ม ตื่นมาตกอกตกใจ ขวัญหนีดีฝ่อ แต่แล้วก็ตายไป

เอาเป็นว่าให้เราเตรียมตัวเตรียมใจไว้ รบกันไปพลาง คว้านิพพานไปพลาง จะตายก็ต้องตายอย่างมีศักดิ์ศรี คือไม่ให้ตายโหงแบบขวัญสั่นขวัญเสีย เราต้องโดดดิ่ง ดำดิ่งไปกับความดับ เตรียมรับไปเลยว่าจะโดนลูกหลงหรือจะเผชิญหน้า ซึ่งเป็นสิ่งที่คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตามหลักพระพุทธศาสนาบอกว่า ถ้าจิตเป็นทุกข์ ขุ่นมัวเศร้าหมอง แล้วเกิดดับลง ชีวิตดับลงช่วงนั้น ทุคติเป็นที่ไป แต่ถ้าจิตไม่เศร้าหมองจะดับลงก็มีสุคติเป็นที่ไป

เพราะฉะนั้นเราควรนึกถึงคำว่า “ไปสู่สุคติ” อย่าให้ความอกสั่นขวัญเสียมาครอบงำก่อนที่จิตจะดับ อย่างไรก็ตาม หากจะแตกจะดับกันไปก็ต้องทำใจบ้าง ตั้งท่ารับให้ดี ไม่ใช่ต้องวิ่งหนีอกสั่นขวัญเสียกันก่อน ไปตายแบบไม่มีท่าไม่มีศักดิ์ศรีอะไรเลย ไม่สมกับเป็นมนุษย์ในพระพุทธศาสนา ดังนั้น ช่วงเวลานี้ขอให้เตรียมตัวได้แล้ว เพราะต่อไปเที่ยวนี้มันจะตาย จะล่มจะจม เหมือนคนที่ขึ้นเครื่องบินมักคิดว่าอยู่ก็ได้ ตายก็ดี อะไรทำนองนี้

อย่าคิดว่าเราต้องอยู่ และคนที่มีญาติไปจมไปล่ม อย่าร้องไห้ร้องห่มอะไรเลย เพราะโลกในปัจจุบันนี้อุบัติเหตุไม่ว่าจะเป็นเครื่องบินตกหรืออะไรต่างๆชักจะมีบ่อย ฉะนั้นใครที่เป็นนักการเมือง ใครครองตำแหน่งอำนาจเก้าอี้อะไรก็ขอให้คิดว่าเป็นแค่หัวโขนชั่วระยะหนึ่ง มีล่มมีจม มีตกมีต่ำ มีขึ้นมีลง อย่าไปทุกข์กับมันจนเกินเหตุดีกว่า

เจริญพร

ที่มา.นสพ.โลกวันนี้
........................................