--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2555

โกร่ง.เตือนแบงก์รับมือ AEC หวั่น เงินฝาก ไหลออก เฟอร์นิเจอร์-ปิโตรฯหนัก !!?

“โกร่ง” มองหลังเปิดเออีซี แบงก์ไทยเสียเปรียบแข่งขันเงินฝากไหลไปแบงก์ต่างประเทศ แนะปรับให้สอดคล้องกัน พร้อมประเมินผลงานผู้ว่า ธปท.แต่อุบไม่เปิดเผย "บัณฑิต" ชี้ผู้ประกอบการไทยหาประโยชน์จากการเปิดเออีซี

นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานปาฐกาพิเศษเรื่อง “เพิ่มพลังขีดแข่งขันรับบริบทใหม่ AEC” ว่า หลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 จะเกิดการไหลของปริมาณเงินฝากไปยังสถาบันการเงินต่างประเทศที่ไม่มีภาษีเงินฝาก ทำให้สถาบันการเงินไทยเสียเปรียบการแข่งขัน

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการปรับโครงสร้างภาษี เช่น ภาษีเงินปันผล ซึ่งหากไทยยังมีอัตราภาษีสูง ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ไม่มีภาษี ทำให้เงินไหลไปลงทุนในประเทศที่ไม่มีภาษี เช่น ในฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย แม้ว่าขณะนี้ภาษีเงินได้นิติบุคคลของไทยจะได้ปรับลดเหลือ 23% ในปี 2555 และเหลือ 20% ในปี 2556 และจะมีการพิจารณาเรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งปัจจุบันมีอัตราภาษีสูงถึง 37% ก็ต้องเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียนเพื่อไม่ให้เกิดความแตกต่างกันมากด้วย

“ข้อแตกต่างด้านกฎระเบียบของแบงก์ไทยและแบงก์ในอาเซียนจำเป็นจะต้องทำให้สอดคล้องกัน เพื่อลดความได้เปรียบเสียเปรียบทางด้านการแข่งขัน แต่เชื่อว่าที่ประชุมธนาคารกลางอาเซียนคงมีการหารือในเรื่องนี้กันมามากแล้ว” นายวีรพงษ์ระบุ

พร้อมกันนี้ นายวีรพงษ์ยังเปิดเผยภายหลังการประชุม กกธ.เพื่อประเมินผลการทำงานของนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. ว่า เรื่องนี้ถือเป็นความลับ คงไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ แต่โดยภาพรวมส่วนตัวอยากเห็น ธปท.เป็นองค์กรขุมทางวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคและนโยบายการเงิน ที่สามารถอธิบายต่อสาธารณชนได้ชัดเจน โดยเฉพาะในการดำเนินนโยบายการเงิน เพราะเป็นเกียรติภูมิที่สำคัญของ ธปท.

ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า อุตสาหกรรมไทยที่ได้โอกาสจากการเปิด AEC คือกลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เนื่องจากตลาดที่ใหญ่ขึ้น ทำให้สามารถส่งออกได้มากขึ้น แต่กลุ่มที่เสียโอกาส คือเฟอร์นิเจอร์ เนื่องจากลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น ส่วนกลุ่มที่เสียเปรียบอยู่แล้วและจะเสียเปรียบมากขึ้น คือกลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี เนื่องจากต้องแข่งขันกับประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย ที่มีความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมนี้อยู่แล้ว

นายบัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันบริษัทไทย เปิดเผยว่า ในโอกาสที่จะมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 นี้ นับเป็นโอกาสอันดีที่ผู้ประกอบการไทยจะได้หาตลาดใหม่ๆ ในการลงทุน ซึ่งผู้ประกอบการขนาดใหญ่นั้นไม่ค่อยน่าเป็นห่วงนักในเรื่องของความพร้อมสำหรับการหาประโยชน์จากเออีซี แต่ผู้ประกอบการขนาดเล็กนั้นค่อนข้างน่าเป็นห่วง

“ส่วนตัวคิดว่าเออีซีจะทำให้ผู้ประกอบการไทยได้รับประโยชน์ แต่ก็มีความกังวลในเรื่องของผู้ประกอบการขนาดเล็กที่อาจจะไม่สามารถแสวงหาโอกาสจากการเปิดเออีซีได้ เนื่องจากความไม่พร้อม ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ผู้ประกอบการขนาดเล็กจะต้องหันมาให้ความสนใจกับการยกระดับผลิตภัณฑ์ และพัฒนาองค์กรให้อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถแข่งขันได้”

นายพิชัย ชุณหวชิร นายกสภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนถ้าจะให้ดี ไทยกับประเทศในกลุ่มอาเซียนจะต้องร่วมมือกันทำการค้า และเปิดตลาดร่วมกัน ดีกว่าที่จะแสวงหาประโยชน์จากการค้ากันเองภายในกลุ่ม โดยตลาดที่ใหญ่และใกล้อาเซียนอย่างจีน กำลังอยู่ในช่วงดำเนินการพัฒนาและยกระดับพื้นที่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้อย่างในมณฑลกานซู กวางตุ้ง เซี่ยงไฮ้.

ที่มา.ไทยโพสต์
____________________________________________________________________________

สัปดาห์ร้อนของยูโรโซน !!?



สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์ร้อนของยูโรโซน มีหลายเหตุการณ์สำคัญที่จะชี้ชะตาการคลายปมวิกฤติหนี้ 17 ชาติยุโรป

สัปดาห์นี้ เป็นสัปดาห์อันตรายสำหรับยูโรโซน เนื่องจากเต็มไปด้วยเหตุการณ์สำคัญๆ ที่อาจส่งผลต่อการแก้ไขวิกฤติหนี้สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นการพิพากษาของเยอรมนี การลงคะแนนของเนเธอร์แลนด์ การตรวจสอบของไอเอ็มเอฟ และผู้คุมกฎระเบียบของเบลเยียม

วันพุธที่ 12 กันยายน เป็นวันที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นกำหนดที่ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนีจะตัดสินว่า กองทุนถาวรช่วยเหลือยูโรโซน หรือที่รู้จักกันในนาม กลไกรักษาเสถียรภาพยุโรป (อีเอสเอ็ม) เป็นกองทุนที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ขณะที่คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ก็จะเปิดเผยรายละเอียดแผนการสำหรับสหภาพธนาคารยูโรโซน และเนเธอร์แลนด์จัดการเลือกตั้งทั่วไป

จากนั้น ในวันศุกร์ที่ 14 กันยายน คณะรัฐมนตรีคลังยุโรปจะประชุมร่วมกันที่ไซปรัส เพื่อหาทางขจัดความเห็นแตกต่างเกี่ยวกับการกำกับดูแลธนาคาร และความเป็นไปได้ที่จะให้ความช่วยเหลือพิเศษแก่ สเปน ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของยูโรโซน และกรีซ ประเทศต้นตอการเกิดวิกฤติ

การตัดสินใจเกี่ยวกับสเปน และกรีซ มีแนวโน้มว่าจะยังไม่เกิดขึ้นก่อนเดือนตุลาคม แต่การเจรจาของเหล่ารัฐมนตรีคลังอาจมุ่งประเด็นว่า สเปนจะขอความช่วยเหลือจากยุโรปหรือไม่ แลกกับเงื่อนไขที่ไม่พึงประสงค์และการกำกับดูแล และอีกประเด็น คือ คณะผู้ตรวจสอบของสหภาพยุโรป (อียู) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) มีแนวโน้มช่วยให้กรีซอยู่รอดต่อไปหรือไม่

ช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ยุโรป ต้องกลั้นใจรอคำตัดสินของศาลเยอรมนี ซึ่งมีอำนาจมากพอที่จะชี้ชะตาอีเอสเอ็ม และข้อตกลงรักษาวินัยงบประมาณ แม้ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายส่วนใหญ่คาดว่า ศาลเยอรมนีจะอนุญาตให้เดินหน้าจัดตั้งกองทุนอีเอสเอ็ม แต่ก็เชื่อว่าจะต้องมีเงื่อนไขอย่างเข้มงวดสำหรับการให้ความช่วยเหลือในอนาคต

ผลการตัดสิน อาจทำให้นายกรัฐมนตรี "แองเกลา แมร์เคิล" แห่งเยอรมนี ทำอะไรไม่ถนัดนัก หรืออย่างน้อยก็ทำให้การสนับสนุนแผนการช่วยเหลือเป็นไปอย่างยากลำบากขึ้น ดูจากการต่อต้านของสาธารณชนต่อการตัดสินใจของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ในการซื้อพันธบัตรของประเทศที่มีความสุ่มเสี่ยง

หากศาลรัฐธรรมนูญคัดค้านอีเอสเอ็ม ก็จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อตลาดพันธบัตรและเงินตรา ทำให้ยูโรโซนประสบความยุ่งยากมากขึ้น จากความเคลือบแคลงถึงการให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกทางตอนใต้ที่แบกภาระหนี้สินก้อนโต

แต่หากศาลรัฐธรรมนูญ เปิดไฟเขียวแบบมีเงื่อนไข ก็อาจสร้างทำให้การบริหารจัดการวิกฤติซับซ้อนขึ้น โดยเงื่อนไขอาจเป็นการให้สิทธิวีโต้แก่รัฐสภา ในการให้ความช่วยเหลือแต่ละครั้ง หรือกำหนดเพดานความรับผิดชอบของเยอรมนี ต่อภาระหนี้สินของประเทศอื่นๆ ในยูโรโซน

ผลสำรวจความเห็นผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายโดยสำนักข่าวรอยเตอร์ ประมาณ 1 ใน 4 คาดว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะระบุว่า การรวมตัวของยุโรปมาถึงจุดที่กฎหมายพื้นฐานของเยอรมนีกำหนดไว้แล้ว การผนึกกำลังใดๆ ที่ลึกซึ้งขึ้นจะต้องผ่านการลงประชามติสำหรับรัฐธรรมนูญใหม่

ด้านเนเธอร์แลนด์ ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ดูเหมือนการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้จะลงเอยด้วยอัมพาตทางการเมือง หรือรัฐบาลต้องตกเป็นทาสของกลุ่มระแวงยูโรซ้ายจัดหรือขวาจัด ซึ่งจะทำให้การสนับสนุนจากรัฐสภาในการช่วยเหลือยูโรโซนในอนาคตเป็นเรื่องแทบเป็นไปไม่ได้

แต่การสำรวจความเห็นล่าสุด พบว่า พรรคลิเบอรัลสายกลางขวา ของนายกรัฐมนตรีรักษาการ "มาร์ก รัทเทอ" และพรรคแรงงานสายกลางซ้าย มีคะแนนสูสีกัน ขณะที่เสียงสนับสนุนพรรคประชานิยมซ้ายจัดและต่อต้านผู้อพยพ มีกระแสแผ่วลง บ่งชี้ว่าเนเธอร์แลนด์อาจได้รัฐบาลผสมที่สนับสนุนยุโรป

ถึงอย่างนั้น อาจต้องใช้เวลานานหลายเดือนในการเจรจา ก่อนที่เนเธอร์แลนด์จะมีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม ก่อให้เกิดข้อสงสัยถึงความสามารถของประเทศแห่งนี้ ในการที่จะตกลงใดๆ ต่อขั้นตอนการรวมยูโรโซนใกล้ชิดยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน ข้อเสนอจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลธนาคารร่วมโดยอิงจากอีซีบี และระบบแก้ปัญหาธนาคารในอนาคต ที่ "โฮเซ มานูเอล บาร์รอสโซ" ประธานอีซี จะเปิดเผยรายละเอียดในวันพุธนี้ (12 ก.ย.) มีความขัดแย้งเกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว

เยอรมนี ซึ่งต้องการสงวนสิทธิควบคุมธนาคารของรัฐ และธนาคารออมทรัพย์ ยืนยันว่า อีซีบี ควรกำกับดูแลเฉพาะธนาคารข้ามชาติชั้นนำ 25 ราย และปล่อยที่เหลือให้เป็นหน้าที่ของผู้ควบคุมกฎระเบียบในประเทศ โดย "วูล์ฟกัง ชอยเบิล" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเยอรมนี กล่าวว่า อีซีบี ไม่สามารถดูแลธนาคารทั้งหมด 6,000 แห่งทั่วยูโรโซน

แต่อีซี และอีซีบี ต้องการคณะกรรมการกำกับดูแลชุดใหม่ที่มีอำนาจสอดส่องผู้ปล่อยกู้ทั้งหมด และมีแนวโน้มว่านายธนาคารส่วนใหญ่จะเห็นพ้องด้วย

สถานการณ์ของยูโรโซนจะไปในทิศทางใด อีกไม่กี่วันนี้ก็จะได้รู้กัน


ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

มติ : วุฒิสภา ถอดถอน สุเทพ ผจญปัจจัยเสี่ยงสูงร้อนรนและกลัดกลุ้ม !!?

ยังไม่รู้แน่ชัดว่า วุฒิสภาจะลงมติ ตัดสินอนาคตทางการเมืองของนาย สุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อใด แต่ปฏิทินคร่าวๆ ที่นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธาน วุฒิสภากำหนดไว้คือ 18 กันยายน นี้ วุฒิสภาคงต้องลงมติถอดถอนนายสุเทพออกจากตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่

อันที่จริง ปัจจุบันนายสุเทพมีตำแหน่ง ทางการเมือง (ชัดเจน) เพียงตำแหน่งเดียว คือ เป็น ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ แต่ตำแหน่งที่ต้องถูกถอดถอนนั้น กลับเป็นตำแหน่ง ็รองนายกรัฐมนตรีิ เมื่อปี 2552 ซึ่งเป็นเรื่องเก่า ราวกับเป็นกรรมติดจรวดตามมาเอาคืนในปี 2555 ซ้ำร้ายเจ้ากรรมนายเวรกลับเลือกเวลาเอาคืนในยามที่นายสุเทพเป็นพรรคฝ่ายค้าน ไร้อำนาจวาสนาปกป้องตัวเองอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การลงมติถอดถอนนายสุเทพของวุฒิสภาในปี 2555 กลับพัวพันและลากโยงไปกระทบกับตำแหน่ง "ส.ส." ในปัจจุบันอย่างยากจะหลีกเลี่ยงได้นั่นเป็นเพราะ ในผลบังคับของรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 105 (5 และ 6) ประกอบด้วยมาตรา 102 มาตรา 266 และ มาตรา 268 กำหนดลากโยงกันจนงงงวย แต่สรุปสั้นๆ ได้ว่า หากผลการประชุม วุฒิสภามีมติถอดถอนนายสุเทพแล้ว เขาต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.ส.และถูกเว้นวรรค ทางการเมือง 5 ปีด้วยต้องขีดเส้นหนาๆ ใต้ "ตำแหน่ง ส.ส." เพราะถ้านายสุเทพพ้นจาก ส.ส. เท่ากับไม่มี "เอกสิทธิ์คุ้มครอง" ไร้เกราะปกป้องตัวจากคดีความข้อหาหนักๆ หลาย คดีที่เขาต้องผจญในปัจจุบัน

นายสุเทพคงถูกอำนาจโดดเดี่ยว และ อาจร้อนรนกับความผิดต่างๆ ที่หวนย้อนกลับมาเล่นงาน แน่ล่ะเป็นธรรมดาของมนุษย์ นายสุเทพต้องป้องกันตำแหน่ง ส.ส. ไว้เป็นเกราะป้องกันภัยของตัวเองจนสุดกำลังมีถึงที่สุดจำนวนเสียงของวุฒิสภาที่จะลงมติถอดถอนจึงเป็นเพียงช่องทางเดียวที่เปิดโอกาสให้นายสุเทพได้ดิ้นรนต่อสู้เพื่อเก็บตำแหน่ง ส.ส.ให้อยู่รอดปลอดภัย

"สุเทพ" คงเหนื่อยน่าดูชมเลยละ...ย้อนกลับไปต้นทางปัญหาที่นำไปสู่เรื่องราวให้วุฒิสภาต้องออกแรง ็ถอดถอนิ ในอนาคตอันใกล้นี้ต้นปัญหาเกิดจากนายสุเทพเมื่อสมัยเป็นรองนายกรัฐมนตรีในปี 2552 เขา ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีส่ง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์จำนวน 19 คนไปช่วยงานในกระทรวงวัฒนธรรม จนทำให้คณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งกรรมการสอบสวนเอาผิด

ผลการสอบสวนของ ป.ป.ช.เป็นที่สิ้นสุดเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2555 ว่า นายสุเทพมีความผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 (1) เพราะ ไป "ก้าวก่ายหรือแทรกแซง" การปฏิบัติราชการเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ของ ผู้อื่น ของพรรค ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมสงสัยกันทั่วบ้านทั่วเมือง เพราะคน ธรรมดาทั่วไปเข้าใจว่า ป.ป.ช. มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับพรรคประชาธิปัตย์ด้วยดีและไม่เสื่อมคลายอำนาจเสมอมา แต่ด้วยเหตุผลแห่ง "อำนาจ" อีกเช่นกันจึงทำให้นายสุเทพต้องถูก ป.ป.ช. เล่นงานอย่างเจ็บปวดและยิ่งเจ็บร้าวลึกๆ ชนิดต้องจดจำ เมื่อถูกนายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการและโฆษก ป.ป.ช. แถลงเอาผิด ด้วยการงัดพจนานุกรมมาเทียบเคียงถ้อยคำ "ก้าวก่าย" และ "แทรกแซง" แล้วนำไปชี้มูลความผิดเล่นงานนาย สุเทพว่า กระทำการขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 268 และมาตรา 266 (1)

"พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 คำว่า "ก้าวก่าย" หมายความว่า ล่วงล้ำเข้าไปยุ่งเกี่ยวหน้าที่ ผู้อื่น เหลื่อมล้ำ ไม่เป็นระเบียบ เช่น งาน ก้าวก่ายกัน ส่วนคำว่า "แทรกแซง" หมายความว่า "แทรกเข้าไปเกี่ยวข้องในกิจการของผู้อื่น" นายกล้าณรงค์ ยกพจนานุกรมมามัดความผิดนายสุเทพให้แน่นหนา นาย สุเทพจึงต้องรับกรรมทางการเมืองไปตาม คำนิยามของพจนานุกรม ดุจเดียวกับนาย สมัคร สุนทรเวช ถูกศาลรัฐธรรมนูญเล่นงานมาแล้วในข้อหา "ทำกับข้าวออกโทรทัศน์" นั่นเอง

ผลการชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช. จึง นำไปสู่ขั้นตอนวุฒิสภาต้องลงมติถอดถอน ออกจากตำแหน่งทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 270 และ มาตรา 274 ทั้งหมดนั้น ล้วนเป็นปัญหามีต้นทาง อันระทึกของนายสุเทพ และการชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช. ชนิดมึนตึ้บทั่วบ้านทั่วเมืองกันทีเดียวต้องเข้าใจว่า ป.ป.ช. ไม่ใช่ศาลสถิตยุติธรรม เป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นต้นทางนำปัญหาข้อกฎหมายทางการเมืองไปสู่การตัดสินของศาลหรือวุฒิสภาเท่านั้นและที่สำคัญวุฒิสภา ย่อมไม่ได้ทำหน้าที่ของศาลเช่นเดียวกัน ผลการตัดสิน ของวุฒิสภาจึงเป็นเพียงการลงโทษทาง การเมืองไปตามกติกาของรัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดหลักเกณฑ์ไว้เท่านั้น

ดังนั้น นายสุเทพจะรอดพ้นจากการ ตัดสินทางการเมืองได้ เขาต้องออกแรงทางการเมืองอย่างหนักด้วยเช่นกันที่แน่ๆ คือ การออกแรงทางการเมือง ย่อมมีนิยามอำนาจเข้าไปเกี่ยวข้องกับปัจจัยกำหนดผลแพ้-ชนะในเชิงตัวเลขการออกเสียงในที่ประชุมวุฒิสภาด้วยเหมือนกันตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 274 กำหนดจำนวนเสียงที่ต้องใช้ถอดถอนไว้มากถึง 3 ใน 5 จากจำนวนที่วุฒิสมาชิกมีอยู่จริง

ข้อเท็จจริงระบุว่า จำนวนวุฒิสภามีจำนวนเต็มทั้งสิ้น 150 คน มาจากการสรรหา 75 คน และมาจากการเลือกตั้งจังหวัดละคนจำนวน 75 คน แต่ปัจจุบันวุฒิสภาเหลืออยู่เพียง 146 คน ดังนั้น จำนวนเสียงที่จะใช้ถอดถอน นายสุเทพให้เป็นผลก็คือ 89 เสียง ซึ่งจัดว่ายาก แต่กลับทำให้นายสุเทพหนาวๆ ร้อนๆ ออกอาการรนๆ อย่างผิดวิสัยของนักการเมืองปากกล้า ผู้มีแต่ความองอาจในทางการเมือง ถ้าถอดแบบจำนวนเสียงวุฒิสภาออกเป็นชิ้นส่วนตามภาคแล้ว พบว่า จำนวนวุฒิสมาชิกสายสรรหา 75 คนนั้น ในจำนวนนี้ 40 คน เป็นเสียงฝ่ายภาคประชาชนที่เอนเอียงไปทางกลุ่มพันธมิตร ประชาธิปไตยเพื่อประชาชนเอามากๆ

โดยเฉพาะในสถานการณ์การเมือง ปัจจุบัน นายสุเทพและพรรคประชาธิปัตย์ นั้น อยู่ในอาการหมางเมินกัน ดังนั้นจำนวน เสียงในส่วนนี้ คงมาสนับสนุนนายสุเทพได้น้อยเต็มทนอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาจากวุฒิสมาชิกสายเลือกตั้ง 75 คนแล้ว แน่นอนสายจังหวัดอีสานและเหนือคงตัดขาดนายสุเทพไปแล้ว ส่วนทางภาคใต้จำนวน 14 คน คงยืนข้างนายสุเทพเช่นกันสิ่งสำคัญตัวเลขจากวุฒิสายภาคกลาง จำนวน 12 คนกับวุฒิสายสรรหาบางส่วน จึงเป็นเป้าหมายการอยู่รอดทางการเมือง ของนายสุเทพ

อนาคตการเมืองของนายสุเทพจะรอดจากถูกถอดถอนคือตัวเลข 14+12+ 9+30+จำนวนที่ต้องโน้มน้าวดึงจากสายวุฒิ 40 อีกบางส่วนตัวเลขทั้งหมดตรงนี้ จึงทำให้นายสุเทพต้องออกแรงกับปัจจัยอย่างมากเพื่อสร้างหลักประกันทางการเมืองอย่างเหนื่อยล้ายิ่ง
ว่ากันว่า ปัจจัยสนับสนุนความมั่นใจ ของนายสุเทพมีตัวเลขสูงพอดูทีเดียว เนื่องจากตัวเลขตามเป้าหมายการตัดสินอนาคตการเมืองอยู่ในอาการค่อนข้าง สุ่มเสี่ยง

เป้าหมายตัดสินอนาคตการเมืองของนายสุเทพมีอยู่ 2 ระดับคือ หนึ่งเขาต้องมีเสียงสนับสนุนมากกว่ากึ่งของจำนวน วุฒิสภา และสองต้องออกแรงอย่างหนักเพื่อไม่ให้เสียงถอดถอนมีถึงจำนวน 89 คน ตามเกณฑ์จำนวน 3 ใน 5 ของมาตรา 274 เพราะอนาคตตามเป้าหมายดังกล่าว นั้น คือ ศักดิ์ศรีทางการเมืองค้ำคอไว้อย่าง น่าระทึกด้วย ถ้านายสุเทพรอดจากถูกถอดถอน แต่ เสียงสนับสนุนไม่ถึงครึ่งของวุฒิสภาแล้ว ศักดิ์ศรีทางการเมืองคงดูไม่จืดค่อนข้างแน่ อนาคตการเมืองของนายสุเทพในยามนี้ ไม่ได้อยู่ที่เสียงถูกถอดถอนจำนวน ไม่น้อยกว่า 89 คน แต่อยู่ที่เสียงสนับสนุน ให้อยู่ต่อจะมีจำนวนเกินครึ่งของวุฒิสภาหรือไม่ถึงที่สุดจะออกมาแบบไหน นายสุเทพ ก็เหนื่อยจนเกิดอาการร้อนรนอย่างยิ่ง

ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ไขวิวาทะ : WHITE LIE รัฐปลอบใจตัวเอง !!!?

ใต้ภาวการณ์ทางเศรษฐกิจที่ขยับลงกราวรูด! เวลานี้ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างระดม “สรรพกำลัง” เข้ามาจัดการปัญหาเหล่านี้ ที่ล้วนมีผลกระทบต่อเนื่องจากปีนี้ไปจนถึงปีหน้า โดยเฉพาะการปั้นตัวเลขการส่งออก ที่รัฐบาลยังแก้ไม่ตก หลังจากเลวร้ายถึงขีดสุด เพราะโตแค่ 5% เท่านั้น หรือแม้แต่ราคาสินค้าเกษตร ที่วันนี้ยังคงตกต่ำไม่เลิก...

ด้วยเหตุและปัจจัยดังกล่าว พลันให้ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ได้หลุดปาก ฝังกลบความจริงในเรื่องการส่งออก ประกาศชัดว่า...ปีนี้ไทยจะส่งออกได้เกิน 15% ทำให้พรรคการเมือง “ฝ่ายค้าน” ได้ออกมาโจมตีอย่างหนักว่า “ขุนคลัง” ริปั้นตัวเลขทางเศรษฐกิจ ด้วยการยกเอาวลีเด็ด “โกหกสีขาว” ออกมาประจาน และใช้เป็น “จุดอ่อน” ถล่มใส่รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”

ทั้งหมดทั้งปวง ทำให้ “กิตติรัตน์” ตกอยู่ในภาวะ “กลืนไม่เข้า...คายไม่ออก” ทั้งการตอบคำถามกับสังคม และยังมีกระทู้ถามสดจาก “เกียรติ สิทธีอมร” ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ยังค้างอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร เรื่องนี้แม้จะมองว่า “กิตติรัตน์” มีเจตนาดีที่หวังจะเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนก็ตาม แต่คงรู้แจ้งเห็นชัดว่า ภาคการส่งออกจะโตถึง 15% ในปีนี้... ย่อมเป็นไปไม่ได้! เหนืออื่นใด เรื่องการเติบโตของตัวเลขส่งออก คงมิใช่แค่เรื่องที่ไม่ได้เสียเท่านั้น แต่การคาดการณ์ที่ผิดพลาด ย่อมทำให้การวางแผนบริหารประเทศล้มเหลวไปในคราวเดียวกัน

“สุกิจ คงปิยาจารย์” นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย บอกว่า การประชุมที่รัฐบาลเรียกเอกชนไปร่วมนั้น “ไม่มีอะไรใหม่ พูดเรื่องเดิมๆ ซ้ำซาก” โดยเฉพาะเรื่องตัวเลข 4 เดือน ที่เหลือของปีนี้ ไม่มีผลอะไร เพราะปิดฤดูกาลสั่งซื้อสินค้าไปแล้ว สิ่งที่เอกชนเห็นว่ารัฐบาลควรทำคือมองไปข้างหน้า เพราะปีหน้าจะหนักและเหนื่อยกว่านี้ ส่วนตัวเลขเป้าหมายนั้น จะปรับลดลงเหลือเท่าไร เอกชนไม่สน ขอแค่ว่าภาครัฐจะช่วยทำอะไรให้มากกว่าเดิม สรุปได้ว่าภาครัฐกับเอกชน “พูดกันคนละภาษา” ทั้งๆ ที่ใช้ภาษาไทยเหมือนกัน เพราะทางการต้องการยกตัวเลขอัตราโตของการส่งออกมาเป็น “เป้า” ขณะที่เอกชนมองดูว่าจะ “บริหาร” ให้ผ่านการตกต่ำของการส่งออกได้อย่างไร โดยต้องแยกแยะลงไปที่แต่ละอุตสาหกรรม และแก้ปัญหาด้วยการลงไปลุยในแต่ละจุด รัฐมนตรีหลายกระทรวงจึงพูดกันไปคนละทาง แม้ต่างจะพยายามใช้วิธีการ “ปลอบใจตัวเอง” ว่าสถานการณ์ไม่ได้ย่ำแย่ถึงขนาดนั้น

ด้าน “พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล” รองประธานกรรมการ “หอการค้าไทย” กล่าวว่า มุมมองภาคเอกชนคงไม่ได้กังวลมากในเรื่องดังกล่าว เพราะที่ผ่านมาก็ได้ระบุตลอดว่าการส่งออกในปีนี้จะไม่ถึงตามเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้แต่แรกอยู่แล้ว แต่ภาครัฐก็ยังยืนยันเป้าหมายดังกล่าวมาตลอด และปฏิเสธที่จะปรับลดเป้าหมายการส่งออกลงตามความเป็นจริง ซึ่งก็เข้าใจว่าส่วนหนึ่งภาครัฐอาจจะยังมีความมั่นใจอยู่ว่าจะสามารถทำได้ตามเป้าหมายจากที่เขาศึกษาข้อมูลดีอยู่แล้วจึงได้มีการยืนยันหนักแน่น

“การออกมายอมรับว่าต้องโกหกเพื่อสร้างความเชื่อมั่นนั้น คงจะไม่ส่งผลอะไรในครั้งนี้ แต่กังวลว่าในอนาคตหากรัฐบาลตั้งเป้าหมายอะไรขึ้นมาก็จะไม่มีใครให้ความเชื่อมั่นหรือให้ความไว้วางใจ เพราะไม่แน่ใจว่าจริงหรือเท็จ ซึ่งหากภาครัฐทำอย่างนี้บ่อยๆ ตัวเลขอะไรที่ออกมาจากภาครัฐมันจะไม่น่าเชื่อถือซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงโดยเฉพาะเครดิตของรัฐบาลในอนาคต”

ขณะที่ “รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์” นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง ย้ำหัวตะปูว่า รัฐบาลต้องพูดความจริง เพราะนักลงทุนเชื่อข้อมูลของรัฐบาลเป็นหลัก แต่การที่รัฐบาลออกมาบอกว่าตัวเลขเศรษฐกิจของรัฐบาล เป็นการ “โกหกสีขาว” เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนนั้น เป็นสิ่งที่ไม่น่าถูกต้อง และในระยะต่อไปข้อมูลของรัฐบาลจะไม่ได้รับความเชื่อถือจากนักลงทุนอีกต่อไป

“การตั้งเป้าเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะมองเป็นภาพทางบวกนั้นไม่ใช่เรื่องผิดแต่ตัวเลขที่ประเมินต้องใกล้เคียง กับความเป็นจริงมากที่สุด และสุดท้ายเมื่อมีแนวโน้มว่าตัวเลขที่ประเมินไม่ใกล้เคียงกับความเป็นจริง ก็ควรเร่งปรับเป้าหมายให้ใกล้ความจริงที่สุด ไม่ใช่การออกมาพูดว่าเป็นการโกหกในเรื่องที่ดีแบบนี้”

ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

แผนลับหักเหลี่ยม ศอ.บต. !!!?

ยังไงๆ ก็ยังไม่อาจพลิกมุมไปเป็นอื่นได้ ตราบใดที่เหตุการณ์ 3 จังหวัดภาคใต้ยังเป็นปริศนาคาใจประชาชนว่า ภาพที่เห็นธงมาเลเซียปักเรียงรายนับ ร้อยจุดที่นั่น เป็นสัญญาณบอกถึงการรุกเข้ามาของ “กลุ่มภักดีมาเลย์ในไทย”

หรือว่าเป็น “Power Play” ระหว่าง BRN กับฝ่ายความมั่นคง หรือพรรคการเมืองต่างขั้วกันแน่?

คนไทยที่ห่างไกลเหตุการณ์ จึงควร “ฟังหู ไว้หู” อย่างมีวิจารณญาณ เพราะกลุ่มคนที่กล้าไปไหนมาไหนในยามราตรีบนถนนสายเปลี่ยวได้มีแค่ 2 กลุ่มเท่านั้น คือกลุ่มก่อความไม่สงบ กับกองกำลังเจ้าหน้าที่รัฐ...จะให้ชาวบ้านธรรมดาเดินเล่นเพ่นพ่านท่ามกลางสถานการณ์ที่ไว้ใจใครไม่ได้เลย คงมีแต่คนบ้าเท่านั้นที่อยากถูกลูกปืนไร้สังกัด

แถม “ตัวการสุมไฟใต้” ก็หาใช่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนกลุ่มเดียว ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ที่นั่นก็หาได้เข้าข้างเสมอไปไม่ แต่ยังมีกลุ่มพ่อค้ายาเสพติด มีข้าราชการ บางแก๊งและ “มาเฟียท้องถิ่น” ที่กุมธุรกิจค้าของเถื่อนตามชายแดน ช่วยผสมโรงคุมพื้นที่ที่ตัวเองมีอิทธิพลอีกต่างหาก

นั่นก็ไม่ร้ายเท่าอำนาจนอกระบบที่แฝงตัวอยู่กับฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ฝ่ายกองทัพ และการเมืองท้องถิ่นที่ขับเคี่ยวชิงไหวชิงพริบตลอดเวลา

แค่ตั้งคำถามลอยๆ ว่า 8 ปี ที่กองทัพมีอำนาจเต็มในการสยบผู้ก่อความไม่สงบ เป็นไปได้หรือที่กองทัพ “จับตัวการ”และควานหาต้นตอไม่พบ?

ถ้าจะอ้างว่า “ตัวการ” ผู้ก่อความไม่สงบ อาศัยแผ่นดินมาเลเซียเป็นฐานปฏิบัติการ ก็ต้องตั้งคำถามว่า 8 ปีที่นั่น ฝ่ายความมั่นคงเสียงบประมาณไปเกือบๆ 2 แสนล้านบาทแล้ว พวกท่านไม่มีแผนที่จะส่ง “สายลับ” ไปสืบหาความจริงบ้างเลยหรือ

หรือว่ารู้ และทำจนเห็นเส้นสนกลในหมดแล้ว แต่อุบเงียบ เพราะไม่อยากให้เหตุที่นั่นสงบ เพื่อหวัง “ครองสถานการณ์” ให้กลายเป็น “สนามรบ” เรื้อรังยาวนาน...งบประมาณจะได้บานปลาย “ไม่รู้จบ”

จังหวะเดียวกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มากุมอำนาจ แต่ไม่ประสีประสาปัญหาที่นั่นแม้แต่น้อย “โอกาสดี” อย่างนี้ มีหรือที่จะพลิกเป็น “วิกฤติ” เนียนๆ ขึ้นมาไม่ได้?

ขอยืนยันถึงนาทีนี้ว่า ไม่ว่ายุครัฐบาลประชาธิปัตย์จะส่งคุณถาวร เสนเนียม ไปดูแล 3 จังหวัดใต้ หรือรัฐบาลยิ่งลักษณ์จะไปฟังรายงานจาก สมช.หรือ กอ.รมน. ภาค 4 มันก็ล้วนเป็นข้อมูลอดีตที่ถูกขุดมาจากกรุเก่า แล้วแต่งแต้มเติมสีให้ดูทันสมัยกว่าเดิมเท่านั้น

ขณะนี้ข้อมูลฝ่ายความมั่นคงได้ละเลงก้าวข้าม 3 จังหวัดภาคใต้ให้ดูเสมือน ว่า สงครามกองโจรที่นั่นถูกสนับสนุนมาจากกลุ่มก่อการร้ายอาหรับชื่อ “ตอลีบัน” อันลือชื่อระดับโลกไปแล้ว

ตลกมั้ยที่ตัวแทนประชาคมชาติมุสลิมโลก (OIC) อุตส่าห์ยืนยันว่าเหตุไม่สงบที่นั่นเป็นเรื่องภายในประเทศ แต่เจ้าหน้าที่ไทยกลับบิดโยงให้ถึงพวกตอลีบัน ไปเสียฉิบ

ทำให้อดนึกถึงข้ออ้าง “ชายชุดดำ” ที่รัฐบาลประชาธิปัตย์ไม่คิดที่จะสืบจับในห้วงครองเมืองจากเหตุการณ์พฤษภาฯ 53 แล้วโพนทะนาว่าเป็นพวก “เผาบ้าน เผาเมือง”

หรือมันเป็นจินตนาการให้ 3 จังหวัดใต้ มีผู้ร้าย เป็น BRN เริ่มต้นก็อ้างได้แรงหนุนจากกลุ่มเจมาห์ อิสลามิยะฮ์ในอินโดนีเซีย แต่วันนี้กลับอ้างไปไกลถึงกลุ่มตอลีบันส่งเงินมาให้คน 3 จังหวัดแยกดินแดน

ดีไม่ดี ข้อมูลสุดลับคงอาจสืบพบว่า กลุ่มอัลเคด้า ก็ส่งเงินมาหนุนทั้งๆ ที่นายโอซามา บินลาเดน ถูกปิดฉาก “เก็บตาย” ไปตั้งแต่ปีมะโว้แล้วก็ได้

ดูแค่ฉากตำรวจนำคนขับรถเฟอร์รารี่ตัวปลอมในบ้านตระกูล “กระทิงแดง” มามอบให้ตำรวจด้วยกัน ก็พอจะจับเค้าลางได้หรือไม่ว่า “เจ้าหน้าที่มีมายากลได้ทุกท่า” ตั้งแต่คดีธรรมดายันคดีเพชรซาอุฯ

นับประสาอะไรที่นายกฯ ปู เดินทางลงไปฟังรายงานจากฝ่ายความมั่นคงก็ “จบข่าว” โดยไม่ฟังเสียงฝ่ายมวลชนคนท้องถิ่นเลย แล้วนายกฯ จะเฉลียวใจบ้างมั้ยว่า

เบื้องลึกของเหตุร้ายที่นั่น มันอาจเป็นเกม “เพื่อนรักหักเหลี่ยม ศอ.บต.” ก็ได้...ใครจะไปรู้?

ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555

New Think : สัมภาษณ์คนรุ่นใหม่ พระวินย์ สิริวฑฺฒโน.

พระวินย์ สิริวฑฺฒโน (พระป๊อป) เรื่องของสตินั้นสำคัญ

พระวินย์ สิริวฑฺฒโน จบปริญญาตรีและปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์และสิ่งแวดล้อม โดยกอ่นท่านบวชนั้นท่านคลุกคลีกับงานจิตอาสามา 6-7 ปี

สามารถกดฟังการสัมภาษณ์ได้จากเวป Transform Thailand คลิกที่นี่
ทั้งนี้ทาง siamintelligence อยากเชิญชวนเพื่อนๆเข้าไปคลิก Like Facebook โครงการ Transform Thailand อีก1ชุมชนในการแลกเปลี่ยนมุมมองของคนรุ่นใหม่ เพื่อที่เราจะก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆกัน



SIU: พระป๊อป ปัจจุบันอายุ 29 ปี ไม่ทราบว่าพระป๊อปบวชมานานรึยังครับ

ตอนนี้บวชมาได้ 3 พรรษา และกำลังย่างเข้าสู่ พรรษาที่ 4

SIU: ก่อนที่จะบวชเป็นพระ ก่อนหน้านั้นทำอะไรอยู่ครับ

ตอนที่เป็นฆราวาสตั้งแต่ที่เรียนจบมาได้มีโอกาสไปทำงานให้กับเครือข่ายจิตอาสาตอนช่วงของสึนามิ โดยหลังจากสึนามิใหม่ๆ เราได้มีโอกาสได้ทำงานเป็นผู้ประสานงานของเครือข่ายจิตอาสา เพราะเป็นกลุ่มที่มองกันว่าหลังจากเหตุการณ์สึนามิควรจะมีการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่ทำงานอาสาสมัครในเวลานั้นเพื่อที่จะทำงานขับเคลื่อนงานจิตอาสาต่อไป เพราะเรามองว่าเรื่องงานสึนามิเป็นเพียงแค่วิกฤติครั้งหนึ่งในสังคมเท่านั้นแต่จริงๆ แล้ววิกฤติต่างๆ ในสังคมยังมีอยู่อีกเยอะมาก แล้วการที่เราจะประคับประคองหรือการที่ต่อยอดงานอาสาสมัครได้อย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งที่จำเป็นขององค์กรเครือข่ายจิตอาสา

เราจึงมีความคิดว่าจะทำอย่างไรให้เรื่องของงานอาสาสมัครไม่ใช่แค่พอมีเรื่องของภัยพิบัติมาแล้วก็จบไปคนก็จะหายไป แล้วเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้นมาอีกคนจึงค่อยมารวมตัวกันอีก เราจึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้งานของจิตอาสามีความต่อเนื่องได้ นั่นก็เลยเป็นที่มาตอนที่เราเข้าไปช่วยเหลือกันไม่ว่าจะทำงานทั้งในเชิงของการขับเคลื่อนนโยบายที่เกี่ยวข้องกับงานอาสาสมัคร และการจัดการองค์ความรู้ งานวิจัยต่างๆ
แล้วก็การทำงานเรื่องของเครือข่ายให้พวกเราได้รู้กัน เพราะว่างานจิตอาสาจริงๆ แล้วต้องเข้าใจว่าองค์กรที่ทำงานนี้มีความหลากหลาย บางคนจะทำงานแบบเต็มรูปแบบ หรือเต็มเวลา หรือมูลนิธิกระจกเงาก็จะทำในเรื่องภัยพิบัติเป็นหลักรวมถึงเรื่องของโรงพยาบาลจิตอาสาด้วย ซึ่งองค์กรอาสาสมัครในปัจจุบันก็มีเยอะ ประมาณ 10 กว่าองค์กรและก็มีจุดยืนร่วมในเรื่องของการส่งเสริมงานอาสาสมัครแต่ในเรื่องของบริบทที่จะเข้าไปแก้ไขปัญหาของสังคมก็จะขึ้นอยู่กับความถนัดและกำลังใจของแต่ละองค์กรนั้นๆ

SIU: ดูจากประวัติการศึกษาของพระป๊อปพบว่าจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทในสาขาเศรษฐศาสตร์ ซึ่งตอนที่เป็นฆราวาสนั้น อยากทำอาชีพอะไรครับ

จริงๆ ตอนแรกที่เรียนปริญญาตรี ได้มีโอกาสเข้าเรียนเศรษฐศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือที่เรียกกันว่า BE ก็ทำให้เราได้วิธีคิดมุมมองของทั้งโลก โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจ แล้วเราก็นำไปเชื่อมโยงกับเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือสังคม ซึ่งในช่วงที่เรียนปริญญาตรีได้มีโอกาสได้ทำกิจกรรมนักศึกษาหลายอย่าง จึงทำให้เราได้เรียนรู้ว่าจะทำอย่างไรให้เศรษฐศาสตร์ เรียกได้ว่ามีชีวิตชีวา ไม่ใช่แค่เรื่องของตำรา

แต่ก็ต้องขอออกตัวก่อนนะว่าตัวเองก็ไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งก็ยอมรับว่าตัวเองจบมานั้นถ้าเทียบกับเพื่อนหลายๆ คนตัวเองก็ไม่ได้นำวิชาเศรษฐศาสตร์โดยตรงมาใช้อย่างเต็มที่ แต่เราก็นำเอาแนวคิดของเศรษฐศาสตร์มาช่วยคิดว่าเราจะแก้ไขปัญหาของสังคมได้อย่างไรบ้าง โดยในหลายๆ ครั้งตอนที่เรียนอยู่ในคณะเศรษฐศาสตร์ ก็จะมีรุ่นพี่บอกว่าเศรษฐศาสตร์ต่างจาก บัญชี พาณิชย์ ธุรกิจ คือ เศรษฐศาสตร์จะมองในระดับ Macro(มหภาค) และ Micro(จุลภาค) แล้วเวลาคิดจะไม่ได้คิดแค่ Profit ในเชิงธุรกิจเพียงอย่างเดียวแต่เรามองถึงกำไรของประเทศด้วย ซึ่งก็หมายถึง มองผลประโยชน์ของชาติด้วย

ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะมองเพียงกำไรในเชิงธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่เราจะมองว่าสังคมจะเป็นอย่างไรหรือผลกระทบต่อสังคมจะเป็นอย่างไรด้วย ซึ่งพอได้มาเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เราก็ได้รู้จัก EIA และ SIA เรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจึงทำให้ทราบว่าจริงๆ แล้ว ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้นสามารถที่จะวัดผลได้ในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ

แต่ถึงกระนั้นเราก็ได้เรียนรู้ว่าไม่ว่าคุณจะเรียนมาเยอะขนาดไหนก็ตาม สุดท้ายจริงๆ แล้วอยู่ที่จิตสำนึกมากกว่ายกตัวอย่างเช่น กรณีของมาบตาพุด หรือกรณีของนิวเคลียร์ ซึ่งหลายครั้งในพัฒนาการทางสังคมที่พบเห็นได้ คือ เราจะพูดเรื่องของความเก่ง ความดี มีความสุข ซึ่งจริงๆ แล้วทุกคนต้องการมีความสุขทั้งนั้น โดยเราก็เชื่อว่าความเก่งจะนำมาซึ่งความสุข แต่ในปัจจุบันมีกระแสว่าความเก่งเพียงอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีความดีด้วยจึงเริ่มพัฒนามากขึ้น หากเราพิจารณาจากพัฒนาการต่างๆ จะพบว่าการส่งเสริมเรื่องความดีหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าคุณธรรมและจริยธรรมนั้นน้อยมาก

เราจะเห็นว่า ทำไมคนเก่งถึงไม่ใช่คนดี หลายๆ ครั้งคนที่จบการศึกษาในระดับสูงๆ มักจะไม่ค่อยดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนนะ มีข้อสงสัยอย่างหนึ่งคือในอดีตสังคมไทยในชนบทมีความเชื่อว่า พอให้ลูกมีการศึกษาในระดับที่สูง อัตราการเป็นอาชญากรจะลดลงหรือมีโอกาสในการทำความผิดน้อยลง แต่ในปัจจุบันเมื่อคนมีความรู้เพิ่มมากขึ้น มีระดับการศึกษาสูงขึ้น ซึ่งคนเหล่านี้อาจจะไม่ได้ติดคุกแต่เขาก็มีวิธีการอื่นๆ ที่จะหลีกเลี่ยงกฎหมายในแง่ของการที่เขาทำความผิดในเชิงระบบมากขึ้นซึ่งกลายเป็นว่าจะส่งผลกระทบต่อสังคมมากกว่าคนที่ไม่ดีในเชิงปัจเจกหรือคนชั่วทั่วๆ ไป

ดังเช่นที่เราได้เห็นข่าวเรื่องการบุกรุกทำลายป่าที่ห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี ซึ่งชาวบ้านเข้าไปขโมยตัดไม้มาเผาถ่าน ซึ่งจริงๆ อาจจะไม่ใช่การขโมยเพราะเป็นวิถีชีวิตของเขามานาน แล้วก็โดนจับโดนปรับ แต่ในขณะที่บางแห่งตัดไม้แล้วขนออกมาเป็นคันรถเลยแต่ไม่โดนจับ นั่นแสดงถึงอะไร ซึ่งตอนที่เป็นนักศึกษาได้มีโอกาสไปทำเรื่องบูรณะชนบท ได้ออกค่ายไปศึกษาชนบทในช่วงเวลาหนึ่ง ก็พบว่าในหลายๆ ครั้งวิชาเศรษฐศาสตร์เองไม่สามารถนำมาใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรมจริงๆ จนกระทั่งในปัจจุบันได้เรียนรู้ด้านของเศรษฐศาสตร์ในแนวพุทธ ซึ่งก็คือเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง จึงทำให้เราได้เข้าใจว่าเศรษฐศาสตร์นั้นมีประโยชน์อย่างไรบ้าง แล้วจึงมาจับในเรื่องของงานอาสาสมัครนี่แหละ

SIU: อะไรที่ทำให้พระป๊อปตัดสินใจบวช และสามารถจำพรรษาอยู่ได้เป็นเวลานาน

คือตอนนั้นเอง ก็ได้เรียนจบและทำงานให้กับเครือข่ายจิตอาสาที่มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย เรียกว่าทำงานตามรอยอาจารย์ ป๋วย อึ้งภากร ก็คือเรียนรู้ว่าอาจารย์ ป๋วย ทำงานอะไรและท่านมีร่องรอยอะไรไว้ให้เราได้เรียนรู้บ้าง ซึ่งพอทำมาได้สักระยะหนึ่งคิดว่าทุกคนก็คงรู้จักเรื่องของงานจิตอาสา โครงการด้านจิตอาสาต่างๆ ก็เติบโตมากขึ้น จริงๆ แล้วแต่ก่อนก็เป็นเรื่องของกระแสงานด้านจิตอาสาเท่านั้น แต่ปัจจุบันได้ยกระดับจากการเป็นเพียงแค่กระแสงานจิตอาสา กลายเป็นกระแสของสังคมเป็นการจริงจังมากขึ้น ซึ่งก็ทำงานตรงนี้มา 7 ปี

ก็ได้เห็นการเติบโตของงานด้านจิตอาสาและก็ยังคงมีการเติบโตต่อไปในอนาคตเพราะเกิดความตื่นตัวทางสังคม ไม่ว่าจะมาจากเหตุปัจจัยของภัยพิบัติในรูปแบบต่างๆ เช่น เรื่องของสิ่งแวดล้อม เรื่องของเศรษฐกิจ หรือปัญหาด้านสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้น ทุกอย่างได้รุมเร้าให้คนต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์วิธีคิดใหม่ ซึ่งสิ่งนี้เองก็ส่งผลกระทบถึงจิตสำนึกภายในด้วย คนก็มีการตื่นตัวมากขึ้นโดยจะเห็นได้จากการที่มีกระแสเจริญสติ แต่อาจจะเป็นเรื่องของฆราวาสมากกว่า ซึ่งกระแสนี้ก็ควบคู่กันไปทั้งภายในและภายนอก ดังคำพูดที่ว่า การระเบิดภายในออกมา แต่ส่วนตัวของเรานั้นการที่เราทำงานด้านสังคม เราก็จะมีความคาดหวังเยอะ และเราก็จะผิดหวังกับเรื่องภายนอกเยอะเพราะมันไม่ได้เป็นไปอย่างที่เราต้องการ

ซึ่งจริงๆ แล้วพระพุทธเจ้าก็บอกไว้ว่าสิ่งที่เราคาดหวังไว้อาจจะไม่เป็นไปอย่างที่เราต้องการ ซึ่งคนที่ทำงานด้านสังคมก็จะเจอกับความผิดหวังเยอะ รวมถึงตัวของเราเองด้วยซึ่งเราก็ยอมรับว่าในตอนนั้นก็ยังไม่ถึงตามที่เราตั้งใจไว้ แต่มันก็มีข้อดีคือทำให้เราเห็นว่าความทุกข์ไม่ได้อยู่ที่สังคม แต่ความทุกข์มาจากตัวของเราเองเพราะเรามีความคาดหวัง ใจเราไปยึดติดทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดี เรายอมรับว่าในช่วงนั้นเรายึดติดว่าสิ่งที่ดีนั้นยังไม่พอมันต้องดีกว่านี้ แต่ในหลายๆ คนอาจจะมองว่ามันดีแล้วนะ ซึ่งเหมือนกับว่าหากเรามีฉันทะ กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเยอะเราก็จะอยู่กับมันตลอด ซึ่งบางครั้งก็ทำให้เราหมกมุ่นกับมันเกินไปแม้แต่ความดีก็ตาม ทีนี้หลายครั้งเองเมื่อเราวางใจไม่เป็นเราก็พบว่าเราเกิดความทุกข์ขึ้น

แต่ข้อดีของเราก็คือ เรามีฐานของธรรมะบ้างก็ทำให้เราประคับประคองทำงานต่อไปได้ คนอื่นๆ จะเห็นว่าภาคสังคมเป็นภาคที่หากไม่มีแรงดึงดูดในเชิงจิตวิญญาณหรือเชิงภายในก็จะถูกดึงไปกับเรื่องของธุรกิจบ้าง ซึ่งบางคนก็จะผันตัวไปทำธุรกิจ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีนะ ทำให้เราได้เห็นว่าภาคสังคมกับภาคธุรกิจมันไปด้วยกันได้ แต่ส่วนตัวของเราเองก็ไม่ใช่นักค้ากำไร ไม่ได้สนใจเรื่องของเงินทองเป็นที่ตั้ง ก็เลยทำให้เราทำงานไม่ง่าย และคิดว่าน่าจะลองพักบ้าง อยากจะมีเวลาได้ทบทวนตัวเองได้มากขึ้นว่าที่ทำงานมา 6-7 ปีนั้นเราได้ทำอะไรไปบ้าง แล้วได้เรียนรู้อะไรบ้าง คล้ายๆ กับว่าหลายๆ ครั้งเวลาเราทำงานไปเราจะเข้าไปอินกับมัน หรือวิ่งตามโลกหรือตามงานต่างๆ ที่เข้ามา

เราจะไม่ใช่เป็นผู้ดู แต่พอเราได้เข้ามาเรียนรู้เรื่องธรรมะมากขึ้น ก็ทำให้เราเห็นการเป็นผู้ดูหรือผู้สังเกตการณ์มากขึ้น และก็ทำให้เรามีความนิ่งมากขึ้น นี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราตัดสินใจบวช ซึ่งก็ไม่ได้ตั้งใจว่าจะบวชตลอดชีวิตนะ จริงๆ การบวชแล้วสึกก็เป็นเอกลักษณ์หนึ่งของพระพุทธศาสนาแบบไทยๆ ซึ่งเดิมตามพระวินัยนั้นการบวชคือบวชตลอดชีวิตเลย แต่ในช่วง 700 ปีที่ผ่านมา คติของพระมหากษัตริย์ตั้งแต่สุโขทัยเป็นต้นมาก็จะมีคติว่า พระมหากษัตริย์จะบวชชั่วคราวแล้วก็กลับมาปฏิบัติหน้าที่เป็นพระมหากษัตริย์และกลายเป็นธรรมราชาตามคตินิยมเดิม ซึ่งก็เป็นการดีเพราะคนที่ผ่านการบวชแล้วนั้นอย่างน้อยจะเข้าใจในเรื่องของศีล 5 เข้าใจเรื่องบุญ – บาป เข้าในเรื่องของการทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

ซึ่งในปัจจุบันคนในสังคมมีความเข้าใจผิดในเรื่องนี้มาก ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การมองว่าคนที่ผ่านการบวชแล้วจะเป็นคนดี แต่คนที่ผ่านการบวชแล้วจะเข้าใจโดยตัวของเขาเองว่าความดีคืออะไร ความชั่วคืออะไร ไม่ใช่ความเข้าใจเรื่องของกรรมที่ผิดเพี้ยนอย่างในปัจจุบัน ซึ่งนี่ก็เป็นข้อดีของการบวช ซึ่งตอนที่บวชนั้นพระอาจารย์เจ้าอาวาสวัดระฆังได้เมตตาให้เราไปศึกษาปฏิบัติธรรมกับพระอาจารย์ไพศาล จำพรรษาอยู่ที่วัดป่ามหาวัน

ซึ่งเป็นแนวทางตามหลวงพ่อเทียน คือการเจริญสติภาวนา ก็พบว่าแนวทางนี้นั้นเป็นการเจริญสติแบบใหม่ ที่ทำให้เราได้เรียนรู้การรู้สึกตัวมากขึ้น และผลที่ได้ก็แตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล ซึ่งก็มีสิ่งที่ทำให้เราได้เข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นตนเองหรือสังคมมากขึ้น ต่อมาเมื่อออกพรรษาแล้วก็คิดว่ายังมีโอกาสได้เรียนรู้อยู่ แล้วงานที่ทำอยู่ก็ยังมีน้องๆ ที่ยังพอทำกันได้ เราก็เลยคิดว่าเราควรจะเรียนรู้ต่ออีกสักหน่อย เพราะจริงๆ การบวชนั้นก็คือการศึกษา เป็นการศึกษาในเรื่องของพระธรรมวินัย ทั้งศีล สมาธิ ปัญญา และสุดท้ายก็คือการศึกษาเรื่องของกายนี้ ใจนี้ เป็นเรื่องของตัวเราเอง ให้เราเข้าใจได้มากขึ้น

SIU: มีปรัชญาในการดำเนินชีวิตอย่างไรบ้างครับ

เวลาเราพูดถึงปรัชญานั้น โดยหลักแล้วจะเป็นเรื่องของความคิด แล้วส่วนใหญ่นักปรัชญาทางตะวันตกก็จะมีกับดักทางความคิดทั้งนั้น ซึ่งเมื่อเราพูดถึงเรื่องของปรัชญาก็จะขอกล่าวถึงปรัชญา บนพื้นฐานของตะวันออก โดยปรัชญาบนพื้นฐานของตะวันออกจะเน้นเรื่องการไปให้พ้นความคิดมากกว่า หลายครั้งเราจะตกเป็นทาสทางความคิด คือคิดเรื่องตนเอง คิดเรื่องคนอื่น จนฟุ้งซ่าน และจมอยู่กับเรื่องภายนอก แล้วเราก็จะเรียกว่าปรัชญา แต่ตัวศาสนาพุทธเอง หรือสิ่งที่เรียกว่าธรรมวินัยเองนั้น ไม่ใช่เรื่องของปรัชญา แต่ใครจะตีความเป็นปรัชญา หรือเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ หรือแม้กระทั่งเป็นเรื่องของการเมือง ก็เป็นเรื่องของเขา

ส่วนปรัชญาในความคิดของเราก็คือการมีชีวิตอยู่กับปัจจุบัน มีชีวิตอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป สิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เราก็พยายามมีชีวิตอย่างเป็นปกติที่สุด พยายามดำเนินตามศีลที่พระพุทธเจ้าได้บัญญัติไว้ได้อย่างครบถ้วน ถึงแม้จะมีบกพร่องไปบ้าง แต่ก็จะพยายามให้ครบ แล้วก็จะพยายามเจริญสมาธิภาวนา เจริญสติ

หากถามว่าสิ่งเหล่านี้คือปรัชญาหรือไม่ มันก็เป็นสิ่งที่ทำอยู่ คือการพยายามทำให้เป็นวิถีได้นั่นคือปรัชญาการดำเนินชีวิตของเรา คือทำอย่างไรให้สิ่งที่ตนเองคิดนั้นออกมาเป็นวิถีชีวิต หรือเป็นการกระทำได้อย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง เพราะเวลาที่เราคิดเรามักจะไม่ค่อยกระทำกัน แม้แต่การคิดดีก็ไม่ทำ แต่สิ่งที่ไม่คิดในบางครั้งกลับไปทำชั่วๆ ก็มี เพราะฉะนั้นเรื่องของสตินั้นสำคัญ เราจะทำอย่างไรให้เราเจริญสติ หรือมีสติอยู่ได้ในทุกขณะ นี่แหละเป็นปรัชญาของเรา

SIU: หากมองในทางโลกคนที่เป็นฆราวาสจะต้องมีแรงขับเคลื่อนเพื่อการดำเนินชีวิต ซึ่งในส่วนของพระ
ป๊อปที่เป็นพระสงฆ์ มีแรงขับเคลื่อนในชีวิตอะไรบ้างครับ

ในตอนแรกที่เราทำงานเพื่อสังคมก็อยากจะให้คนอื่นพ้นทุกข์ อยากช่วยเหลือคนอื่น อยากทำงานจิตอาสาเพื่อช่วยเหลือคนอื่น แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งก็ค้นพบว่าสิ่งที่เราตั้งใจทำอยู่นั้นเป็นเรื่องที่ดีแต่ยังไม่ใช่ที่สุด เพราะเรายังทุกข์กับคนอื่นอยู่และจะทำอย่างไรที่จะช่วยให้คนอื่นพ้นทุกข์ได้โดยที่เราก็มีความสุขมากขึ้นด้วย อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราทำอยู่คือทำอย่างไรให้เราสงบเย็น และเป็นประโยชน์ คือมีความสุขด้วย แต่ไม่ใช่ความสุขทางโลกมากนัก คือเป็นความสุขแบบละเอียดหน่อย เช่น เห็นคนอื่นมีความสุขเราก็มีความสุขกับเขาด้วย หรือเห็นคนอื่นมีความทุกข์เราก็อยากจะเข้าไปช่วยให้เขามีความสุขมากขึ้นโดยที่ไม่เบียดเบียนตนเอง

SIU: มีจุดพลิกผันอะไรในชีวิตหรือไม่ ?

จริงๆ แล้วการบวชนี่แหละเรียกว่าเปลี่ยนชีวิตมากเลย ซึ่งคนทั่วๆ ไปอาจจะคิดว่าการเปลี่ยนชีวิตคือการที่มีอะไรเข้ามาในชีวิตแล้วจะต้องเปลี่ยนไปในทันที แต่มันไม่ใช่นะ มันเป็นการสะสมมามากกว่า เหมือนการต้มน้ำร้อนนะ ต้มไปเรื่อยๆ จึงเดือด มันไม่ใช่เป็นแบบเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือในทันที มันคล้ายๆ กับว่าเป็นสิ่งที่สะสมมาส่วนหนึ่งแล้วก็บวกกับปัจจัยภายนอกส่วนหนึ่งด้วย กลายเป็นว่าการที่เรามาบวชครั้งนี้เราได้เรียนรู้เรื่องภายในเพิ่มมากขึ้น

ซึ่งก่อนหน้านั้นบางสิ่งบางอย่างเราก็คิดว่าเรารู้แล้ว แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งในชีวิตของเราจะพบว่าถ้าเกิดในชีวิตเราเจอเหตุการณ์ว่า สิ่งที่ตนเองเชื่อมาแล้วนั้นมันไม่ใช่ เราจะรับมือกับตรงนี้อย่างไร ทุกคนก็ต้องเคยเจออย่างนี้ ซึ่งเมื่อเราได้มาบวชแล้วเราได้เรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ ทั้งภายในและภายนอกเป็นลำดับไป หลายครั้งเราจะพบว่าสิ่งที่เราเคยเชื่อมันไม่ใช่ แล้วเราจะจัดการกับใจเราอย่างไร ประเด็นคือเรารู้เท่าไหร่เราก็ทำอย่างนั้น เราเรียนเท่าไหร่เราก็บอกได้อย่างนั้น เช่นกัน ในทางโลกหรือในทางธรรมเหมือนกันทุกอย่างว่าเรารู้เท่าไหร่เราก็ทำอย่างนั้นเอง ทีนี้คือถ้าเรารู้มากขึ้นอะไรที่มันไม่ใช่ เราก็จะลดมันลงไปเท่านั้นเอง
แต่อะไรที่มันใช่เราก็จะทำอย่างนั้นมากขึ้นแค่นั้นเอง หากพิจารณาจากข้อดีที่เป็นเรื่องของสังคมคือเราได้มีโอกาสรู้จักกับเศรษฐศาสตร์แนวพุทธมากขึ้นเนื่องมาจากการที่เราได้เข้าไปข้องเกี่ยวกับกลุ่มที่ทำเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเป็นรูปธรรม เช่น เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ และอีกหลายๆ เครือข่าย ที่ทำให้เห็นว่าเศรษฐศาสตร์ที่กินได้เป็นอย่างไร และเศรษฐศาสตร์นั้นไปถึงจิตวิญญาณได้อย่างไรบ้าง ซึ่งอาจจะเป็นแค่เบื้องต้นเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมดซะทีเดียวที่ทำให้คนได้ตื่นรู้ แล้วเราก็เห็นกลุ่มชาวบ้านหรือคนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศหรือแม้แต่พระเองก็ได้เข้ามาทำงานเพื่อสังคมในรูปแบบต่างๆ ในขณะเดียวกันเราก็ได้ปฏิบัติธรรมควบคู่กันไปด้วย เราได้เรียนรู้ด้านธรรมะจาก พระอริยสงฆ์หลายๆ ท่านซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ ก็เรียกว่าได้ประคับประคองกันไปในสองด้านนี้

SIU: มองอย่างไรเกี่ยวกับบทบาทของพระสงฆ์ต่องานเพื่อสังคมในปัจจุบัน

คือ ต้องบอกก่อนนะว่าเป็นความเชื่อที่เข้าใจผิดว่า พระจะแผ่เมตตาอยู่ในกลด แล้วไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งคนส่วนใหญ่จะเข้าใจอย่างนั้น โดยเป็นความคิดที่มีมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่เคยเปลี่ยนแปลง ซึ่งความเชื่อนี้นั้นเมื่อได้มาศึกษาดูแล้วจะพบว่ามันไม่ใช่ โดยเรื่องของจิตวิญญาณหรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาจิตนั้นมีผลอยู่ แม้แต่การที่เราทำอะไรหากเราทำโดยที่ไม่มีเมตตาจิต เราทำด้วยโทสะ หรือโลภะ ผลที่ได้ก็จะต่างกัน

หรือแม้แต่ในทางวิทยาศาสตร์ที่นำมากล่าวถึงกันยกตัวอย่างเช่น ของดร.อาจองที่กล่าวไว้ว่าเวลาที่เราปลูกต้นไม้หากเรามีโอกาสได้แผ่เมตตาให้แก่ต้นไม้ จะทำให้ต้นไม้นั้นเติบโตเร็วกว่าต้นไม้ที่ไม่ได้รับการแผ่เมตตา ขณะเดียวกันเรื่องสวดมนต์ก็เช่นเดียวกัน แม้แต่น้ำเปล่าๆ นั้นก็มีการวิจัยออกมาว่าหากเราพูดไม่ดีกับน้ำแก้วนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับอีกแก้วหนึ่งที่เราสวดมนต์แผ่เมตตาให้แก่น้ำแก้วนั้น เมื่อเรานำน้ำทั้งสองแก้วมาส่องกล้องที่มีความละเอียดขนาดโมเลกุลของน้ำ จะพบว่าผลึกของน้ำแต่ละแก้วจะแตกต่างกันเลยนะ ซึ่งงานวิจัยนี้ในปัจจุบันก็ได้ไปไกลแล้ว

ซึ่งมันสามารถที่จะพิสูจน์ได้ว่าเรื่องของการพัฒนาจิตมันมีผลต่อการพัฒนาทางกายด้วย ทีนี้ก็กลับมาที่เรื่องบทบาทของพระสงฆ์นั้น โดยทั่วไปคนจะเข้าใจว่าพระสงฆ์ท่านไม่ได้ทำอะไร แต่ในความเป็นจริงแล้วท่านทำนะ ซึ่งเราเองต่างหากที่รู้หรือไม่ว่าท่านทำอะไร ถ้าหากเราปฏิบัติเราก็จะเข้าใจได้เอง และเผลอๆ ท่านทำมากกว่าพวกเราด้วยซ้ำ

ตัวอย่างเช่น หลวงตามหาบัว แม้แต่นักวิชาการก็ไม่เข้าใจว่าที่ท่านทำผ้าป่าช่วยชาตินั้น ท่านทำไปเพื่ออะไร ซึ่งคนจะมองอย่างผิวเผินว่าเป็นเรื่องของเงินทอง แต่จริงๆ แล้วถ้าเราศึกษาจริงๆ แล้วจะพบว่าหากท่านไม่ทำแล้วคลังหลวงจะเป็นอย่างไร พวกเรารู้เรื่องของคลังหลวงมากน้อยแค่ไหน ที่เงินคลังหลวงหมดไปนั้นเป็นอย่างไร จะมีสักกี่คนที่ได้รับรู้เรื่องของคลังหลวงอย่างแท้จริง หรือในกรณีของหลวงพ่อคูณคือการนำเอาปัจจัยที่ได้รับจากญาติโยม ไปสร้างโรงพยาบาล ไปสนับสนุนด้านสาธารณสุขต่างๆ ซึ่งหากเราทำการศึกษาจริงๆ จะพบว่าสาธารณประโยชน์ที่มาจากพระสงนั้นมีจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าพระสงฆ์ก็มีบทบาทในการสนับสนุนทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังภายในสังคมด้วย เพียงแต่คนทั่วไปจะติดภาพลักษณ์พระสงฆ์ในเรื่องของวัตถุมงคลเสียมากกว่า

SIU: แสดงว่าพระสงฆ์ก็ได้มีบทบาทมานานแล้วเพียงแต่ไม่มีสื่อไปประชาสัมพันธ์ว่าได้ทำอะไรบ้าง ???

ใช่ แล้วตามหลักคือเราทำงานแบบปิดทองหลังพระ ซึ่งพระองค์ท่านก็บอกว่า หากได้ทำแล้วก็จะปรากฏออกมาเอง ถ้าเรามัวแต่ปิดทองหน้าพระ ข้างหลังก็จะไม่เต็ม

SIU: อย่างกรณีของประเทศพม่าที่มีพระออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ส่วนในประเทศไทยเองก็มักจะมีคำพูดที่ว่าพระควรจะตัดกิเลสทางโลก ไม่ยุ่งเกี่ยวทางโลก แล้วเข้าสู่ทางธรรม ซึ่งกรณีนี้จะขัดแย้งกันหรือไม่

คือตอนนี้ ส่วนใหญ่โยมมักชอบที่จะให้พระอยู่วัดเพียงอย่างเดียว แต่จริงๆ แล้วในทางธรรมมะประวัติศาสตร์ ต้องพิจารณาว่าวัดนั้นกำเนิดขึ้นมาได้อย่างไร ซึ่งเมื่อ 2,500 ปีที่แล้ว พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สร้างวัดก่อนแล้วค่อยไปตรัสรู้ที่วัดนะ ท่านได้ออกจากการเป็นพระราชา โดยในสมัยนั้นการเป็นพระราชาก็ถือเป็นที่สุดแล้ว แต่ท่านก็ทิ้งทุกอย่างเพื่อออกบวชมาปฏิบัติธรรมในป่า การปฏิบัติธรรมของท่านมีทั้งที่ใช้วิธีสุดโต่ง และอีกหลายๆ วิธีที่ไม่น่าเชื่อว่ามนุษย์จะสามารถทำได้ ในที่สุดท่านก็ได้บรรลุธรรม หรือที่เรียกว่าตรัสรู้ ภายใต้ต้นไม้ใหญ่ที่ท่านนั่งบำเพ็ญอยู่

แสดงให้เห็นว่าท่านอยู่ในป่าตลอด จนกระทั่งเมื่อท่านได้ออกเผยแพร่พระธรรม ท่านก็ได้ไปเทศน์โปรดประชาชนตั้งแต่คนยากจน เศรษฐี และกษัตริย์ จึงทำให้เกิดความศรัทธาขึ้น เหล่าประชาชน เศรษฐี และกษัตริย์ จึงได้สร้างวัดขึ้นถวายพระพุทธเจ้า ทีนี้เมื่อท่านได้ค้นพบพระธรรมที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ ท่านก็อยากจะเผยแพร่ เพื่อโปรดให้สัตว์โลกทั้งหลายสามารถเห็นพระธรรมได้อย่างที่ท่านได้ค้นพบเพื่อที่จะเกิดความสุขอย่างแท้จริง ก็คือการหลุดพ้นจากกิเลส หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร หรือที่เรียกว่าการปรินิพพาน

ซึ่งหากพิจารณาเปรียบเทียบกันแล้วเราอาจจะไม่มีปัญญาหรือความกรุณาเทียบเท่าท่าน แต่เราสามารถที่จะมีความบริสุทธิ์หรือการเป็นพระอรหันต์เทียบเท่าท่านได้ ตรงนี้เองทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อบทบาทของพระสงฆ์ว่าไม่ได้มีประโยชน์ต่อสังคม จริงๆ แล้วความเข้าใจในเรื่องของจิตอาสาในปัจจุบันก็มีพื้นฐานมาจากเรื่องในอดีตกาลคือเรื่องของ มฆมานพ ซึ่งเป็นชาติหนึ่งของพระอินทร์ โดย มฆมานพ พร้อมกับเพื่อนอีก 33 คนได้ทำงานจิตอาสาโดยทำงานอย่างจริงจัง ทำให้ได้รับอานิสงส์ด้านทานบารมีสูง จึงมาเกิดเป็นพระอินทร์ แต่ในพระพุทธศาสนาบัญญัติไว้ว่ามีทางบำเพ็ญกุศลอยู่ 3 ทางคือ ทาน ศีล และภาวนา ซึ่งการให้ทานเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ เราต้องรักษาศีล แล้วก็ภาวนาด้วยจึงจะครบ
แต่ในยุคของปัจจุบันนี้เราอยู่ท่ามกลางกระแสทุนนิยม บริโภคนิยม เพราะฉะนั้นการที่เราจะปฏิบัติธรรมแบบตัดขาดโลกภายนอกไปเลยจะสามารถทำได้หรือไม่ คำตอบคือเราก็สามารถทำได้แต่ต้องปฏิบัติแบบพระป่า เข้าไปอยู่ในป่าเลย แต่ในบริบทของพระที่อยู่ในเมืองจะพบว่าไม่ได้อยู่แยกจากโยม พระเองก็แบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายคือ ฝ่ายหนึ่งศึกษาเล่าเรียนบาลี ศึกษาอภิธรรม ปริยัติ แต่ก็ศึกษาเรื่องการปฏิบัติไปด้วย อีกฝ่ายหนึ่งก็ศึกษาด้านการปฏิบัติบำเพ็ญให้ถึงจุดของการหลุดพ้นซึ่งก็คือนิพพาน โดยทั้ง 2 ฝ่ายก็ควบคู่กันไป

แต่เมื่อเราอยู่ในบทบาทตรงนี้เราจะเห็นว่าพระสงฆ์ที่อยู่ในเมืองจำนวนหนึ่งก็นำปัจจัยที่ได้รับจากญาติโยม ไปช่วยงานสาธารณกุศลต่างๆ แต่ท่านไม่ได้โปรโมท โดยในสังคมไทยนั้นเวลาที่มีคนทำดีเรามักจะมีคำถาม แต่เวลาที่คนทำชั่วเรามักจะชินชา ในสังคมปัจจุบันหากเราดูตามสื่อต่างๆ จะพบว่าข่าวของพระจะออกมาในเชิงลบเยอะ แต่สิ่งที่เราลืมถามคือทำไมถึงเป็นเช่นนั้น เราจะเห็นแค่ว่ามันแย่ ซึ่งเรามักจะเห็นว่าความแย่เป็นสิ่งภายนอก เรามักจะไม่เห็นว่าความทุกข์หรือความรู้สึกแย่มันมาจากใจของเราเอง คนจะไม่มองเรื่องนี้และมักจะโยนความผิดให้เป็นของสิ่งอื่นมากกว่าตนเอง ไม่จำเป็นต้องเป็นพระหรอก
ซึ่งท่านเจ้าคุณ พระพรหมคุณาภรณ์ ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจ คือ ทันใดที่เรื่องแย่ๆ ได้มาถึงพระ เมื่อนั้นเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าสังคมเสื่อม เพราะตามคติเดิมนั้น พระเป็นคติของบุคคลที่มีศีลทรงธรรม เป็นคนที่อยู่ยอดของปิรามิด สังคมไทยเราถือว่าคติพระเป็นนักบวช ถือเป็นเพศที่สูงอยู่ข้างบน คือสละจากเพศฆราวาสเข้าสู่เพศบรรพชิตแล้ว ทันทีที่เรื่องแย่ๆ มันเสื่อมในสังคม ซึ่งหากเราพิจารณาจากประวัติศาสตร์จะพบว่าจริงๆ แล้วทางภาวะสังคมมันไปแล้ว คือเรื่องแย่ๆ ต่างๆ ข้างล่างมันไปหมดแล้ว จึงค่อยมากระทบพระ

เราลองไปดูก็ได้ว่าปัญหาสังคมในปัจจุบันนี้ถ้าลงมาจากข้างล่างลงไปมันแค่ไหน อัตราอาชญากรรม เรื่องของปัญหาการทำแท้ง เรื่องของโรคเอดส์ ฯลฯ ได้เพิ่มขึ้นสูงอย่างน่าใจหาย แต่เราไม่ได้พูด เพราะเราชินชากับเรื่องเหล่านี้แล้ว เราคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติ แต่จริงๆ แล้วไม่ปกตินะ คือเราเสพสื่อแล้วเราเข้าใจ อย่างเช่นปัญหาของภาคใต้มันก็ยังเหมือนเดิม แต่คนได้ชินชากับความรุนแรงไปแล้ว โดยที่เราไม่คุ้นชินกับความดีจึงรู้สึกแปลกแยกกับความดีดังเช่นคนในปัจจุบัน ถ้าพูดจริงๆ ก็คือ แปลกแยกกับธรรมะนั่นเอง

SIU:มองประเทศไทยอีก 5 ปีข้างหน้าอย่างไร

จริงๆ คนจะรู้สึกกังวลเรื่องความเปลี่ยนแปลง เป็นความเปลี่ยนแปลงภายนอก ทั้งเรื่องของสภาพเศรษฐกิจสังคมในปัจจุบันหรือแม้กระทั่งเรื่องของโครงสร้างของสังคมในปัจจุบันนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วตามหลักของพระพุทธศาสนากล่าวว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอๆ เพียงแต่เราไม่เห็นเท่านั้นเอง แต่ละวันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงให้เราเห็นอยู่แล้ว แต่เราไม่ได้สังเกตจนเราเข้าใจว่าทุกอย่างมันเที่ยงแท้ มันไม่ได้เปลี่ยน แล้วมันจะคล้ายๆ ความเปลี่ยนแปลงเหมือนสึนามิ คือเราจะเข้าใจว่าสังคมมันเป็นแบบนั้น ในอนาคตจะเกิดการเปลี่ยนแปลงยิ่งกว่านั้นอีก โลกจะแตกบ้าง อะไรต่างๆ

ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องนี้ก็ได้มีการพูดกันมาทุกยุคทุกสมัยแหละ เรื่องของความเปลี่ยนแปลงในอนาคต ทีนี้ประเด็นอยู่ที่ว่าใน 5 ปีข้างหน้าหากถามในเชิงบริบทภาพรวม ของสิ่งที่จะเกิดขึ้นในสังคม ก็คิดว่าคงมีการเปลี่ยนแปลงเยอะ หากถามว่าจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรนั้น คือเราจะเห็นได้ว่ากระแสที่ผ่านมาภัยพิบัติมันเยอะขึ้น ในแง่หนึ่งคือ ทั้งภัยพิบัติ ทั้งเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคมอะไรต่างๆ ที่เราเห็นนั้น จริงๆ แล้วเรามักจะมองว่าเป็นเรื่องภายนอก เป็นเรื่องของคนอื่น

แต่ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์ของทุนนิยมในระยะเวลา 100 ปีที่ผ่านมา เราจะพบว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรม มันเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดภัยพิบัติในปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเราก็แก้ไม่ได้ในเชิงปัจเจก แม้แต่การประชุมเรื่องโลกร้อนที่ผ่านมา ก็จะพบว่าไม่มีมติออกมาอย่างจริงจัง คือเราจะเห็นทั้งความเปลี่ยนแปลงเชิงธรรมชาติ สังคม รวมถึงความเปลี่ยนแปลงในเชิงปัจเจกด้วย คนจะมีกระแสที่ตื่นตัวกันมากขึ้นต่อปัญหาของสังคม

ตัวอย่างเช่น วิกฤติเสื้อเหลือง – เสื้อแดง ที่เราได้เห็นนั้น ก็เป็นข้อดีคือ ทำให้คนมีความตื่นตัวสนใจเรื่องของสังคมมากขึ้น เป็นการเรียนรู้ครั้งใหญ่ของสังคมไทย แต่อีกหลายคนก็ยังคงติดกับดักของการแบ่ง 2 ขั้วอยู่ แต่หลายคนเองก็ไม่ได้ประเมินของสีชมพูนะ อันนี้คืออาตมามองจากบทบาทที่ได้มาเห็น ซึ่งตรงนี้เองทำให้เราได้เห็นว่าคนจะแยกอย่างชัดเจน คือคนที่ทำชั่วหรือทำไม่ดีอะไรต่างๆ ก็จะไปอยู่อีกกลุ่มหนึ่งเลย แต่มีด้านดีคือว่าตรงนี้จะทำให้คนที่ดีๆ เกิดการรวมตัวอย่างสำคัญ เรา

จะเห็นว่าความขัดแย้งเรื่องเสื้อเหลือง – เสื้อแดงนั้นหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมได้หายไปหรือเบาบางลงไป คือถึงจุดหนึ่งคนจะรู้ว่า ไม่ว่าเสื้ออะไรก็ตาม หากไม่ช่วยกัน เราจะไม่รอด คนทุกคน รักสุข เกลียดทุกข์ ทั้งนั้นแหละ แต่ถึงจุดหนึ่งก็ต้องช่วยกัน ไม่งั้นจะล่มทั้งชีวิตตนเอง ครอบครัวตัวเอง จังหวัดตัวเอง บ้านเมืองตัวเอง ตลอดจนประเทศชาติตัวเอง จนถึงระดับโลก เราจะเห็นได้จากด้านของ Social Network ที่ทำให้คนตื่นตัวและทำให้คนมารวมตัวกัน

นี่ก็เป็นสิ่งที่อาตมาเห็นจากที่ผ่านมาและก็ต่อไปด้วย คือฝั่งหนึ่งนั้นเราจะเห็นว่าปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ครบรอบของงานอาสาสมัครสากล หรือเรียกว่าครบรอบ 10 ปีแห่งการเฉลิมฉลองงานอาสาสมัครสากล เราก็ได้เห็นว่ากระแสจิตอาสาได้เติบโตไปทั่วโลก จนเขาบอกว่างานจิตอาสานั้นไม่ใช่เป็นแค่เหลือบของสังคมอีกต่อไป แต่เรียกว่าอยู่ในทุกอณูของวิถีชีวิตของคนในสังคม

คือการที่มีวีถีชีวิตโดยคิดถึงคนอื่น ซึ่งก็คิดว่าเป็นสิ่งที่น่าจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันภายใต้บริบทของพระสงฆ์เราก็พบว่า จริงๆ มันเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว การเอื้อเฟื้อกัน วิถีชีวิตการทำบุญ ต่างๆ นั้นเคยมีอยู่ในสังคมไทย แต่มันได้หายไป อาตมาคิดว่ากระแสของวิกฤติการณ์ในปัจจุบันจะทำให้คนมีโอกาสได้มีพัฒนาการในการมีจิตสำนึกสาธารณะผ่านการกระทำจริงๆ มากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ในขณะเดียวกันก็ทำให้คนตื่นตัวเรื่องภายในมากขึ้นด้วย

เราจะเห็นว่ากระแสเรื่องธรรมะจะเติบโตในทางตะวันตก ก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ กระแสธรรมะในประเทศอิตาลีได้เติบโตขึ้นมากเลย คนในอิตาลีหันมานับถือพระพุทธศาสนากันมากขึ้น ประเทศอินเดีย จีน หรือแม้แต่รัสเซีย ประเทศที่ถือได้ว่าแบบ คิดว่าเป็นในอนาคตเราก็เห็นได้ว่า อินเดียและจีนจะมากขึ้นเรื่อยๆ หรือแม้แต่ในปัจจุบันอาเซียนที่เราเห็น พม่าเองก็เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญเหมือนกัน

แต่อย่างไรก็ตามถ้าเราไม่ได้มีการศึกษาเรื่องภายในมันก็จะเหมือนกับดักเดิมอย่างที่เราเห็น ที่อเมริกาผิดพลาดมาแล้ว ที่ประเทศในฝั่งอุตสาหกรรมก็ผิดหวังมาแล้ว ประเทศที่กำลังพัฒนาในปัจจุบันนั้นเรากำลังอยู่ในกับดักของอเมริกาอยู่ ทุกคนใช้โมเดลนี้หมดเลยนะ ในขณะที่อเมริกานั้นผิดพลาดมาแล้ว แต่จุดหนึ่งที่วิกฤติในยุคปัจจุบันจะทำให้เรามาทบทวน อย่างนิวเคลียร์ปัจจุบันที่เราเห็น นิวเคลียร์ที่ประเทศญี่ปุ่น พอเกิดขึ้นแล้วทำให้ประเทศเยอรมันทั้งประเทศทบทวนนโยบายพลังงานของประเทศใหม่ จากเดิมที่จะขยายโรงงานนิวเคลียร์ เขากลับจากหน้ามือเป็นหลังมือเลย เขาใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น เปลี่ยนเป็นใช้พลังงานสีเขียว เช่นพลังงานลม พลังงานน้ำ ฯลฯ ซึ่งการลงทุนนั้นสูงแต่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้นน้อยกว่า เหมือนกับเรื่องของผลกระทบ EIA

เราเคยประเมินผลกระทบหรือไม่หากเกิดสึนามิกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย หรือเกิดเหตุอะไรแบบนี้ ที่ญี่ปุ่นเขาอาจจะทำมาก่อนเรา ซึ่งเขาก็จะมีพัฒนาการที่สูงนะ แต่พอเกิดเรื่องนี้ขึ้นมาเราก็ต้องเพิ่มตัว Factor อื่นๆ ด้วย หลายครั้งเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเราไม่ได้ประเมินในเรื่องนี้ ใครจะไปคิดว่าจะเกิดสึนามิแบบนี้แล้วเกิดผลกระทบต่อนิวเคลียร์ ณ เวลานั้นคนไม่ได้คิด แต่เวลานี้คนตื่นตัวแล้ว แต่ขณะเดียวกันของเราเองกลับไม่ได้ตื่นตัวตรงนี้

ขณะเดียวกันเรื่องสุดท้ายที่จะบอกหรืออาจจะเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดก็ได้ คือจริงๆ แล้วปีนี้เป็นปีที่ครบ 2,600 ปีของการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ทั่วโลกได้มีการเฉลิมฉลองการครบรอบของการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ในปีที่ผ่านมาคือ ปี พ.ศ.2554 เขานับกัน 2,555 พรรษาบวกกับ 45 พรรษา ก็เป็น 2,600 ปีของการตรัสรู้ แต่ของเราจะนับต่างจากทั่วโลกประมาณ 1 ปีซึ่งของเราจะครบในปีนี้ ในทั่วโลกแม้แต่ ดาไลลามะ เองก็บอกชัดเจนว่าเราเองต้องปฏิบัติกันมากขึ้นทุกๆ คน ไม่ใช่แค่พระสงฆ์อย่างเดียวแต่รวมถึงต้องปฏิบัติกันทุกคน เวลาเราพูดอะไรเราต้องทำด้วย

ถ้าในระดับความรู้ในเชิงปกติทางโลก ถ้าเราพูดอะไรเราต้องทำด้วย หรือแม้แต่ความรู้ทางธรรมที่เราเรียนในสายธรรมะ เราเรียนอะไรมาเราต้องปฏิบัติด้วย ถึงจุดหนึ่งเมื่อเราได้เกิดเข้าใจธรรมะมากขึ้นแล้วเราจะพบว่าธรรมะไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัวเองอย่างเดียว มันสามารถที่จะใช้ประโยชน์ในด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมได้ อย่างที่เราเห็นว่ามีการประชุมนักวิทยาศาสตร์ และการประชุมถึงบทบาทของพระพุทธศาสนาต่อการแก้ไขปัญหาโลก และมันก็มีความสนใจอย่างมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ อันนั้นก็เป็นสิ่งที่เราพบว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้นไม่ใช้แค่เรื่องส่วนตัวอย่างเดียว

แต่ในขณะที่สังคมไทยเราเองก็พบว่าเรื่องนี้มันถูกบิดเบือนเยอะ อย่างเมื่อวานเป็นวันพระ จะมีสักกี่คนที่รับรู้ แล้วคนที่เข้าใจวันพระจริงๆ คนที่รู้ว่าเป็นวันพระแล้วจะบอกว่าไม่กินเหล้าสักวันหนึ่งได้หรือไม่ ก็ไม่มี คือเราถูกทำให้วิถีชีวิตมันหายไป อย่างที่อาตมาบอกกลับไปที่คำถามตอนแรกคือเรื่องของวิถีนั้น หากเราเชื่อในสิ่งไหน เรามีความชอบในสิ่งไหน มีฉันทะในสิ่งไหน ขอให้ทำให้เต็มที่ในเรื่องที่ดีๆ แล้วสุดท้ายมันจะไปเจอกันเอง

เช่นกันในส่วนของเรื่องของที่พระก็ตาม ถ้าเกิดมันมีวิถีชีวิต หรือแม้แต่โยมนะ เหมือนอย่างวันพระถ้าเราได้ทำอย่างต่อเนื่อง หรือแม้แต่เรื่องทำความดีอย่างเช่น จิตอาสา นั้นถ้าเราทำอย่างต่อเนื่อง เราจะพบเองว่ามันจะไปสู่ที่ดีๆ เอง อย่างที่เขาบอกว่า คิดดี พูดดี ทำดี คบคนดีแล้วเราก็จะไปสู่สถานที่ดีๆ เป็นคำกล่าวของหลวงพ่อปัญญา อาตมาว่าคำนี้ก็ยังใช้ได้เสมอนะ

เราจะรู้ว่าตัวของเราเองเป็นอย่างไร เราก็ดูว่าเพื่อนเราเป็นอย่างไรก็ได้ เพราะเบื้องต้นเราจะไม่ค่อยมองตัวเองนะ ถ้าเราเห็นเพื่อนเป็นอย่างไร เราก็สามารถสะท้อนได้ว่าเราเป็นคนแบบนี้แหละ คนแบบเดียวกันก็จะมาเจอกัน คนดีก็จะไปกับคนดี คนชั่วก็จะไปกับคนชั่วแหละ แต่สิ่งที่สังคมในปัจจุบันนี้เป็นคือคนดีจะรวมตัวกันยาก แต่คนชั่วมันมองหน้ากันก็ปล้นแบงค์ได้แล้ว ไม่ต้องมีการวางแผน ไม่ต้องมีกำหนดการ ในขณะที่คนดีนั้นต้องทำ หรือแม้แต่ขอทุน ทำโครงการอะไรต่างๆ ต้องวางแผนเยอะ ต้องใช้เวลา วางโปรเจค Presentation ต่างๆ ซึ่งมันยาก คือต้องบอกว่า ระบบที่เอื้อต่อการสนับสนุนความดีนั้นมีน้อย

แต่มันไม่ใช่ว่าจะเป็นไปได้ เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วระบบนวัตกรรมต่างๆ ทั่วโลกมันจะเอียงไปในทางที่เอื้อให้คนทำดีมากยิ่งขึ้น นี่คือระดับ Trend นะ แต่ขณะเดียวกันในระดับของประเทศไทย คือระดับพุทธ จริงๆ แล้วเราโชคดีกว่าเขา แต่เราไม่รู้ เพราะว่าเรามีระบบนั้นอยู่แล้ว คือระบบวิถีพุทธ แต่ประเด็นคือเราใช้แค่ไหน เรื่องหลักชาวพุทธเรารู้หรือไม่ แล้วเรื่องของวิถีวันพระ การทำความดีอย่างต่อเนื่อง บุญบารมีต่างๆ ถ้าเราทำอย่างต่อเนื่อง มันจะไปได้ เราจะได้เรียนรู้ทั้งตัวเราเองมากขึ้นและก็ได้มีโอกาสที่จะทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมด้วย

ในหลายๆ ครั้งหากเราจะมองเรื่องการเปลี่ยนผ่านในอนาคต คนมักจะคิดไปในทางลบก่อนแต่ไม่ได้คิดในเชิงบวกเลยส่วนใหญ่ สังคมมีโอกาสที่เปลี่ยนไปในเชิงดีได้หรือลบก็ได้ ขึ้นอยู่กับคนในสังคม เช่นกัน แม้แต่ Trend ในแต่ละปีนั้น หากเราต้องการดูในแต่ละปีว่า Trend สังคมจะเป็นอย่างไร เราก็เริ่มดูจากต้นปี เช่น อย่างตอนต้นปีหากเราต้องการดูว่ากระแสทางจิตวิญญาณของสังคมจะเป็นอย่างไร เราก็ดูจากกระแสการสวดมนต์ข้ามปี ซึ่งตอนต้นปีเราได้เห็นกระแสของการสวดมนต์ข้ามปี เราจะใช้โอกาสนี้อย่างไรในการที่จะช่วยให้พวกเราทุกคนในสังคมสามารถฝ่าวิกฤติไปด้วยกันได้ คล้ายๆ กับเมื่อเราต้องการที่จะทำงานใหญ่เราก็ต้องทำเรื่องบุญใหญ่ด้วยกัน

ซึ่งอาตมาคิดว่าก็ต้องดูว่าอะไรที่สามารถทำได้ แล้วก็เห็นนะว่า ต้นปีนั้นพวกเราทุกคนที่ได้ผ่านวิกฤติน้ำท่วมมา ได้มารวมตัวกันทำในสิ่งที่ดีๆ หรือแม้แต่ในช่วงน้ำท่วมก็น่าอนุโมทนากับทุกคนด้วยที่ได้ช่วยกันทำทุกรูปแบบ เพื่อช่วยฟื้นฟูประเทศไทย ตรงนี้เองก็ได้เห็นว่ามันจะส่งผลแน่นอนไม่ใช่แค่ในปีนี้หรือในอีก 5 ปี แต่ในอีก 10 – 20 ปีข้างหน้าก็จะส่งผลต่ออนาคตของประเทศไทยอย่างแน่นอน

ที่สำคัญคือ อนาคตของประเทศไทยนั้นอยู่ที่ตัวของเรา อยู่ที่ตัวของพวกเราทุกคน ก็อยู่ที่กรรมของเราเอง ไม่ใช่สิ่งที่ขึ้นอยู่กับคนอื่น หากเรารู้เหตุปัจจัยใด เราก็ทำตามนั้นแค่นั้นเอง แล้วเราก็จะไปเจอกันเอง อาตมาเชื่อว่าเราน่าจะมีทิศทางแนวโน้มของอนาคตที่คิดว่าหากเราทำสิ่งต่างๆ ในเชิงกิจกรรมที่ส่งเสริมคุณงามความดี

อาตมาเชื่อว่าประเทศไทยจะผ่านไปได้ แล้วก็ขอจบอย่างที่บอกว่า ตอนช่วง พ.ศ.2519 หรือช่วงคอมมิวนิสต์ หลายคนจริงๆ เราจะไม่เรียนรู้เรื่องของประวัติศาสตร์ของประเทศเราเองนัก เราจะรู้เรื่องประวัติศาสตร์ของโลก หรือประวัติศาสตร์ยุโรปมากกว่า แต่จริงๆ แล้วของเราเองหากเราจำได้ในยุคของคอมมิวนิสต์ ซึ่งยุคนั้นเองนักวิเคราะห์ทั่วโลกก็มองเมืองไทยว่าจะเป็นโดมิโน เป็นคอมมิวนิสต์อย่างแน่นอน

ซึ่งอาตมาเคยได้ยินเรื่องเล่าจากดร.สุเมธ ตันติเวชกุลว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงถาม ดร.สุเมธ ว่าทำไมเมืองไทยถึงรอดจากการเป็นคอมมิวนิสต์ ดร.สุเมธ เห็นว่าเป็นคำถามที่ลึกซึ้งจึงยังไม่ได้ตอบ
พระองค์ท่านจึงบอกว่า ที่ประเทศไทยยังสามารถอยู่ได้โดยที่ไม่เป็นคอมมิวนิสต์เพราะคนไทยยังให้กันอยู่ อาตมาว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งปัจจุบันนี้หากเราให้ และเราสามารถที่จะมาสนใจในเรื่องของศีลด้วย จริงๆ ตรงนี้อาตมาว่าก็สามารถพูดได้เยอะ เราจะเห็นว่าในปัจจุบันนี้ที่เราอยู่กันได้เพราะเราให้กันจริงๆ เราจะเห็นคนช่วยกันในเรื่องน้ำท่วมเยอะ

พระพุทธศาสนาเองก็บอกว่า กรรมในปัจจุบัน หรือสิ่งที่เราเจอในปัจจุบันนี้ มันไม่ได้มีที่มาที่ไปอย่างไม่รู้ แต่มันเป็นเพราะสิ่งที่เราทำในอดีต เช่นกัน เหมือนกับสิ่งที่เราประสบในปัจจุบัน ก็เป็นผลจากที่เราและพวกเราทำกันในอดีต ไม่ใช่เพราะคนอื่น เพราะฉะนั้นกรรมในอนาคตก็ขึ้นอยู่กับกรรมในปัจจุบันของเราว่าเราจะทำอะไรบ้าง เราจะร่วมมือสร้างสรรค์อะไรได้บ้างเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นก็ฝากไว้ตรงนี้แหละว่าทุกอย่างอยู่ในกำมือของเรา ขึ้นอยู่กับเราทั้งนั้น

ที่มา.Siam Intelligence Unit
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2555

การเมืองเกมล็อบบี้ สภาสูง ท่อร้อยสาย ขั้วอำนาจ !!?

เป็น “ชะตากรรม” ที่แขวนไว้บน เส้นด้ายของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ...ท่อร้อยสายพันคอนเน็กชั่นจากขั้วประชาธิปัตย์ ในพลันคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ ทำการไต่สวน “สุเทพ” ขณะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดที่แล้ว แต่งตั้ง ส.ส.ประชาธิปัตย์ จำนวน 19 คน เข้าช่วยราชการในกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งถือเป็นการแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการประจำและ ป.ป.ช.มีมติด้วย “เสียงข้างมาก” ชี้มูลความผิดว่า “จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย” ตามความในมาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 วรรค 1 พร้อมเสนอ ผลต่อ “วุฒิสภา” เพื่อลงมติถอดถอน “สุเทพ” ให้พ้นสมาชิกภาพ ส.ส. ตาม “มาตรา 271” ซึ่งขั้ว ส.ว.ได้กำหนดวัน ชี้ชะตากันไปแล้วในวันที่ 18 กันยายนนี้

ขณะที่ “สุเทพ” ออกตัวแก้ลำ! แถสีข้างว่า “ความผิดยังไม่สำเร็จ” เพราะเป็นแค่ “ข้อปรึกษา” ที่ส่งไปยังกระทรวงวัฒนธรรมเท่านั้น อีกทั้งก่อนหน้านี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ยกคำร้อง นี้ไปแล้ว กระนั้นทาง ป.ป.ช.ยังคงกินดีหมี ไล่เบี้ยเอาผิด “อดีตเลขาธิการ ปชป.” จนถึงที่สุด ว่ากันตามกติกา! การถอดถอนให้พ้น จากตำแหน่ง ส.ส.ของวุฒิสภา รัฐธรรมนูญ กำหนดว่า ต้องมีคะแนนเสียง “ไม่น้อยกว่า 3 ใน 5” ดังนั้นสัดส่วนในการถอดถอนวัดได้จากยอด 146 เสียง หรือต้องได้แต้ม โหวต 88 เสียงขึ้นไป

หากดูจากผลโหวตเลือกรองประธาน วุฒิสภาที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า “ขั้วสภาสูง” ที่สนับสนุนตัวแทนของ “ส.ว.สรรหา” มี ส.ส.ภาคใต้ กับ ส.ส.สายพันธมิตรฯ มีอยู่ 74 เสียง ขณะที่อีก 69 เสียงสนับสนุนตัวแทนจาก “ส.ว.เลือกตั้ง” ส่วนเสียงที่สนับสนุน “นิคม ไวยรัชพานิช” ขึ้นเป็นประธานวุฒิสภามีอยู่ 77 เสียง ถ้าประเมิน จากหน้าตัก การจะอัปเปหิ “สุเทพ” ให้หลุดพ้นวงโคจรทางการเมือง คงไม่ใช่เรื่อง ง่ายนัก

ทว่า...ถ้าวัดที่สัดส่วนตัวเลข 77 เสียง ที่ลงมติเลือก “นิคม” เป็นประธานวุฒิฯ ก็ทำให้การถอดถอน ย่อมลุ้นระทึกได้กับเสียงสมทบอีกแค่ 11 เสียงเท่านั้น พลันให้มีข้อสังเกตว่า “ดุลอำนาจ ในสภาสูง” วันนี้จะเปลี่ยนไปหรือไม่! แม้ผลการเลือกตั้งรองประธานวุฒิฯ ที่ฝั่ง “แต่งตั้ง” ชนะแบบฉิวเฉียด ขยับตัวเลือกการถอดถอน “สุเทพ” ให้มีช่องว่างเพิ่มขึ้นไปได้อีกเล็กน้อย นั่นเพราะ “ท่อร้อยสาย” ของ “สุเทพ” ได้เคย “ผูก” เอา ไว้อย่างเหนียวแน่นกับกลุ่ม “ส.ว.สรรหา”

แต่หมากสำคัญกระดานนี้ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ก็ย่อมประมาทไม่ได้เช่นกัน เพราะไม่ได้หมายความว่า “ส.ว. สรรหา” จะเทแต้มช่วยอุ้มเสียทั้งหมด แม้จะมีบางส่วนที่เคยออกไปตรวจสอบขั้วรัฐบาลนอกรัฐสภาอย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็น “พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม” และ “สมชาย แสวงการ” หรือ “คำนูณ สิทธิสมาน” ที่เปิดตัวชัดว่าอยู่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลเพื่อไทย และ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” จนมีการตั้งกลุ่ม “สยามสามัคคี” ที่ทำกิจกรรมการเมืองแลกหมัดกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ตลอดมา

แต่ก็คงการันตีไม่ได้ทั้งหมดว่า... คะแนนเสียงในกลุ่มนี้จะเทไปช่วย “สุเทพ” ส่วนกลุ่มที่น่าจับตามากที่สุด คือ “40 ส.ว.” ที่มีความเป็นปึกแผ่นมากที่สุดใน “สภาสูง” จึงมีคำถามว่า...การโหวตถอดถอน “สุเทพ” จะยังดำรงความเป็นเอกภาพ เช่นเดียวกับเมื่อครั้งเลือกประธาน และรองประธาน ส.ว. อยู่หรือไม่

แม้ใน “กลุ่ม 40 ส.ว.” จะไม่เอา และเป็นปฏิปักษ์กับ “ระบอบทักษิณ” แต่ ก็มี “บางส่วน” ที่ไม่เอา “ประชาธิปัตย์” เหมือนกันว่ากันไปตามรัฐธรรมนูญ การลงมติถอดถอนจะมีผลก็ต่อเมื่อ “วุฒิสภา” มีมติ ด้วยคะแนนเสียง 3 ใน 5 ของจำนวนเสียง ที่มีอยู่ แม้จะเป็นคะแนนเสียงที่ถือว่า “ค่อนข้างมาก” แต่เมื่อสภาสูงเวลานี้ดูเหมือน “ฝ่ายเลือกตั้ง” เริ่มจะรุกคืบ เข้าไปมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ทำให้ผู้สันทัดกรณีทางการเมืองเห็นพ้องกันว่า คะแนนเสียง 3 ใน 5 หรือก็คือ “88 เสียง” ย่อมเป็น “ทางสองแพร่ง” ที่มีโอกาสเป็นไปได้แทบทั้งสิ้น

ด้วยเหตุนี้ การเมืองในวุฒิสภาโดยเฉพาะดุลอำนาจของสภาสูงที่เริ่มไม่เหมือน ก่อนหน้านี้ จึงถูกจับตาไม่น้อยว่าจะดำเนิน ต่อไปอย่างไร ท่ามกลางภาวะที่ ส.ว.ด้วยกันเอง มีความแตกต่างทางความคิด ตลอด จน “ที่มา” และเฉดสีทางการเมืองที่แบ่งออกเป็นหลายกลุ่มอย่างเห็นได้ชัดยิ่งก่อนหน้าการลงมติของวุฒิสภาว่าจะถอดถอนนายสุเทพหรือไม่ กระแสข่าวการล็อบบี้คนสภาสูง ย่อมจะเกิดขึ้นอย่างหนัก แต่จะเป็นการ “ล็อบบี้” เพื่อให้ “สุเทพ” โดนถอดถอนหรือรอดจากคมเขี้ยว ส.ว. เมื่อถึงช่วงเวลานั้น...คงได้เห็นกัน!

ส.ว.สรรหาอย่าง “วันชัย สอนศิริ” มือประสานสิบทิศในวุฒิสภาชุดปัจจุบัน ได้ วิเคราะห์ดุลอำนาจในสภาสูงไว้อย่างน่าสนใจว่า... ยังไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง เหตุเพราะด้วยโครงสร้างของวุฒิสภาในรัฐธรรมนูญที่ออกมาให้มีวุฒิสภา 2 ระบบ คือเลือกตั้งและสรรหา ส.ว.ทั้ง 2 ส่วนก็จะถ่วงดุลกันเองไปในตัว ทำให้การจะครอบงำหรือเข้ามากุมเสียงกำหนดทิศทางอะไรในวุฒิสภา ทั้งจากพวก ส.ว. ด้วยกันเองหรือการเมืองจากภาคนอก เหมือนก่อนหน้านี้ที่เป็น ส.ว.ระบบเดียว เช่น ส.ว.แต่งตั้งทั้งหมด หรือ ส.ว.เลือกตั้ง ทั้งหมด... ทำไม่ได้

ส่วนกรณีที่อาจมีบางฝ่ายหวังใช้ “วุฒิสภา” เป็นตัวแปรสำคัญในการถอดถอน “สุเทพ เทือกสุบรรณ” หรือใช้เป็นกันชนเพื่อให้รอดพ้นคมเขี้ยวสภาสูง! “วันชัย” ย้ำหัวตะปูว่า เวลานี้กระบวนการถอดถอน “สุเทพ” ถือว่าเพิ่งเริ่มต้นขึ้น ยัง มีเวลาอีกชั่วระยะกว่าวุฒิสภาจะนัดลงมติ ซึ่งต้องให้ทุกอย่างผ่านไปตามกลไก เช่น มีการแถลงเปิดคดีจากฝ่ายป.ป.ช. การแถลงคัดค้านข้อกล่าวหาของสุเทพ การนัด แถลงปิดคดีด้วยวาจาของทั้งสองฝ่าย ตลอดจนการตั้งคำถามในสำนวนคดีนี้จาก ส.ว.ผ่านกรรมาธิการที่วุฒิสภาตั้งขึ้น เพื่อ ให้ไปถาม ป.ป.ช.และตัวของ “สุเทพ” เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาลงมติลับว่าจะถอดถอนนายสุเทพหรือไม่

“คงต้องรอให้ถึงช่วงวันใกล้ลงมติก่อน ว่าจะมีการล็อบบี้อะไรเกิดขึ้นหรือไม่ แต่เวลานี้ยังไม่มีข่าวความเคลื่อนไหวลักษณะดังกล่าวออกมา”

สำหรับข้อมูลที่ได้รับจากฝ่ายกฎหมาย ของวุฒิสภา ที่ได้ระบุถึงกรอบแนวทาง ขั้นตอนการดำเนินการของ “สภาสูง” ในกรณีถอดถอน “สุเทพ” หลังผ่านการประชุมวุฒิสภาในวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่าน มา ซึ่งเป็นการประชุมนัดแรกของคำร้องนี้ โดยทาง ป.ป.ช.ได้ส่งมาให้วุฒิสภาแล้ว และวุฒิสภาก็จะกำหนดวันแถลงเปิดสำนวนของ ป.ป.ช.และตัวของ “สุเทพ” ซึ่งก็คือวันที่ 7 กันยายน ซึ่งวันดังกล่าวจะเป็นการแถลงเปิดสำนวนของ ป.ป.ช. และคำแถลงคัดค้านของ “สุเทพ” โดยไม่มีการซักถาม

จากนั้นที่ประชุมวุฒิสภาจะพิจารณา ว่า ควรมีการซักถามประเด็นใดเพิ่มเติมหรือไม่ หากที่ประชุมมีมติให้ซักถามในประเด็นปัญหาใด ให้ตั้งคณะกรรมาธิการซักถามขึ้นมาคณะหนึ่ง แล้วต้องแจ้งมติให้คู่กรณีทราบโดยพลัน และต้องกำหนดให้มีการประชุมวุฒิสภาเพื่อซักถามภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ที่ประชุมวุฒิสภามีมติ

เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนดังกล่าวแล้วก็เข้าสู่ขั้นตอนการนัดประชุมวุฒิสภาเพื่อรังฟังแถลงการณ์ปิดสำนวนด้วยวาจาของ ทั้งสองฝ่ายที่เบื้องต้นกำหนดไว้วันที่ 17 กันยายนนี้ ส่วนวันลงมติว่าจะถอดถอนหรือไม่ถอดถอนนายสุเทพ เคาะไว้แล้วว่าจะให้เป็นวันที่ 18 กันยายน 2555 โดยมติที่ให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง ให้ถือเอาคะแนน เสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของจำนวน ส.ว. ที่มีอยู่ของวุฒิสภา คือไม่น้อยกว่า 88 คน คงต้องดูกันว่า การสู้คดีกันครั้งนี้ของ “สุเทพ” กับ “ป.ป.ช.” ผลจะออกมาอย่างไร ข้อมูลและการสู้คดีของฝั่งไหน จะ ดีกว่ากัน เพราะหากว่า “สุเทพ” แจงไม่ขึ้น ชี้ไม่ชัด...ในข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช. “วุฒิสภา” ยังลงมติไม่ถอดถอนออกจากตำแหน่ง เพราะคะแนนเสียงไม่ถึง ก็อาจเกิดข้อกังขากับการทำหน้าที่ และบรรทัดฐาน ของ “สภาสูง” ว่าเป็นอย่างไรกันแน่

แม้หลายคนจะมองว่าโอกาสที่ “สุเทพ” จะโดนถอดถอนค่อนข้างเป็นไปได้ยาก หากไปดูก่อนหน้านี้ “วุฒิสภา” ก็เคยพิจารณาคำร้องถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่ง การเมืองมาแล้ว 3 ครั้ง คือกรณีของ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดกรณีเหตุการณ์สลายการชุมนุม 7 ตุลาคม 2551 ซึ่งปรากฏ ว่า วุฒิสภามีมติด้วยคะแนนเสียง 76 ต่อ 49 เสียง ไม่ถอดถอนออกจากตำแหน่ง หรือ กรณี “นพดล ปัทมะ” อดีต รมว.กระทรวง การต่างประเทศ ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด กรณีเห็นชอบให้ลงนามในแถลงการณ์ร่วม ไทย-กัมพูชา สนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียน ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ก็ยังปรากฏว่า “วุฒิสภา” ได้ลงมติถอดถอน 57 เสียง ไม่ถอดถอน 55 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง ซึ่งเวลานั้นต้องใช้เสียง 90 เสียงขึ้นไปการถอดถอนถึงจะมีผล ทำให้ “นพดล ปัทมะ” ไม่โดนถอดถอน ทั้งที่เรื่องเขาพระวิหารเวลานั้น กระแสสังคมไม่เห็นด้วยอย่างมาก

และล่าสุด ก่อนหน้าคำร้องของ “สุเทพ” วุฒิสภาก็พิจารณาเรื่องการถอดถอน “ภักดี โพธิศิริ” กรรมการ ป.ป.ช. ที่ตอนนี้ก็ยังดำรงตำแหน่งอยู่ แต่กรณีของ “ภักดี” นั้นแตกต่างจาก “สมชาย-นพดล” และ “สุเทพ” เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า การถอดถอน ป.ป.ช. ต้องใช้เสียง ส.ว. 3 ใน 4...ไม่ใช่ 3 ใน 5 ซึ่งผลการลงคะแนน ออกมาว่ามีมติ 84 เสียงไม่ให้ถอดถอน ขณะที่เสียงให้ถอดถอนมีแค่ 56 เสียง

ทั้ง 3 กรณีของผู้ดำรงตำแหน่งทาง การเมือง ที่ ส.ว.จะไม่สามารถถอดถอนได้ นั้น ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นข้อกล่าวหา ที่พัวพันกับเรื่องการเมือง แต่ในกรณีของ “สุเทพ” คงต้องว่าไปตามหลักฐานและข้อเท็จจริง ประกอบกับดุลพินิจการพิจารณา ของสมาชิกวุฒิสภาแต่ละคนว่าจะมีมติไปในทิศทางใด

แต่หากมองในทางการเมืองแล้ว จะ เห็นได้จากการเลือกประธานวุฒิสภา และ รองประธานคนที่ 1 ที่เพิ่งผ่านไปหมาดๆ ซึ่งการชิงดำหนนี้ได้สะท้อน “เกมล็อบบี้” ในสภาสูงที่ข้นคลั่ก แม้ “ฝ่ายการเมือง” จะยังไม่สามารถครอบงำได้เบ็ดเสร็จ ด้วยเงื่อนปมเหล่านี้ การถอดถอน “สุเทพ” หวยจะออกมาในทางใดยังต้องลุ้นอีกหลายยก เพราะเดิมพันทางการเมืองหนนี้ ฝ่ายหนึ่งย่อมหาทางเอาตัวรอด ให้ได้...กลับกันอีกฝ่ายย่อมใช้เกม “เพาเวอร์เพลย์” มุ่งตัดอนาคตศัตรูตัวฉกาจให้พ้นจากสนามการเมือง เพราะในวัย 64 ปีหากโดนตัดสิทธิ์ไปอีก 5 ปี คงจะทนรอไม่ไหวที่จะหวนสู่สนามการเมืองอีกรอบ?!!

ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ฤา แผ่นดินไทยต้องไหวแยก !!?

ในที่สุดสถานการณ์ 3 จังหวัดภาคใต้ก็เข้าสู่โหมดที่ไม่อาจตีความเป็นอย่างอื่นได้ว่า มีประชาชนที่นั่นส่วนหนึ่งได้ “จุดชนวน” ให้ปรากฏชัดว่า แผ่นดิน 3 จังหวัด ภาคใต้ของไทยได้ “เปลี่ยนธง” ไปอยู่กับแผ่นดินมาเลเซียแล้ว

ด้วยการเผาธงชาติไทยและปักธงชาติมาเลเซียเกลื่อนกลาดไปมากกว่า 100 จุด

ในทางจิตวิทยา ถือเป็นความสำเร็จในเชิงสัญลักษณ์อย่างท้าทายยิ่ง

พี่น้องชาวไทยซึ่งอยู่ในภาคอื่น หรือแม้แต่คนภาคใต้แท้ๆ ที่ไม่เคยเดินทางไปอยู่ 3 จังหวัดภาคใต้นานๆ คงไม่รู้ว่าพฤติกรรมของชาวมาเลย์และชาวไทยมุสลิม ที่นั่นเขาเดินทางไปมาหาสู่กันเป็นกิจวัตรปกติเหมือนคนแผ่นดินเดียวกันมานานแล้ว อันเนื่องมาจากวงศาคณาญาติที่เป็นเทือกเถาเหล่ากอเดียวกันมาตั้งแต่อดีตกาล อันเป็นเรื่องยากที่อำนาจรัฐจะไป “ตัดญาติ” ให้ขาดสะบั้นได้

นอกจากใช้ศิลปะในการบริหารทางการเมืองชั้นสูงเท่านั้น

แต่เพราะประเทศไทยนับกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางอำนาจรัฐจึงทำให้ 3 จังหวัดภาคใต้ เป็นดินแดน “ไกลปืนเที่ยง” ไกลหูไกลตา ไกลการพัฒนาและถูกทอดทิ้งให้ประชาชนที่นั่นซึ่งผูกพันด้วยวัฒนธรรมและศาสนาเดียวกันเป็นทุนเดิม อยู่แล้ว จึงง่ายเหลือเกินที่จะ “เลือกคิด เลือกทำ” ตามวิธีการเดียวกันกับคนมาเลย์

ยิ่งการทำมาหาเลี้ยงชีพ ก็ผูกติดเชื่อมโยงกับฝั่งมาเลเซียมากกว่าได้รับสนับสนุนจากรัฐบาลกรุงเทพฯ...แล้วมันจะเหลืออะไรให้ยึดโยง เคารพ นับถือ หรือ ให้ความรักศรัทธาเกี่ยวพันด้วยจิตวิญญาณที่ลึกซึ้งต่อกันกับรัฐบาลไทย

วงราชการอันเป็นหน่วยปกครองที่ถอดแบบอำมาตย์กดขี่ทาสชั้นต่ำ แถมยัง บริหารเชิงครอบงำเพื่อหวังความได้เปรียบในฐานะมีวัฒนธรรมที่สูงกว่าของข้าราชการจากส่วนกลางโดยตรง

แม้แต่ข้าราชการจาก 11 จังหวัดที่เรียกตัวเองว่า “คนปักษ์ใต้” แต่ไม่ใช่คนปัตตานี ยะลาและนราธิวาส ก็ยังคิดโยกย้ายไปอยู่ที่นั่นเพื่อ “ชิงการนำ” ทางการเมืองและการปกครองใน 3 จังหวัด มากกว่าคิดที่จะอยู่พัฒนาท้องถิ่นให้ก้าวหน้าเพื่อยกระดับให้เหนือกว่าเพื่อนบ้านมาเลย์

พูดง่ายๆ ว่า คนปักษ์ใต้ก็หวังจะครอง 3 จังหวัดนั่นเสียเองว่างั้นเถอะ

แนวคิดเหล่านี้ จึงไม่ต่างกับยุทธศาสตร์ของฝ่ายความมั่นคง ที่ยกกองทัพลงไปถึง 60,000 คน หวังจะเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กให้การปกครองแผ่นดิน 3 จังหวัดอยู่ในอาณัติ “ให้อยู่หมัด”

มันก็ยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ ในเมื่อคนที่นั่นยังสัมผัสกับกลิ่นอาย “ประชาชนชั้น 2” และเขาก็ยังถูกกติกา 2 มาตรฐานปฏิบัติกับเขาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ธงชาติมาเลเซียที่ถูกปักใน 3 จังหวัดภาคใต้นับร้อยจุด กลายเป็นแผนรุก “ยุทธศาสตร์ใหม่” อีกขั้น เพื่อทำลายหลักการปกครองของระบบราชการไทยให้ไร้ประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิง

ธงชาติมาเลย์ที่ปักเป็นริ้วรายตามถนนบนแผ่นดิน 3 จังหวัด ได้ท้าทายแบบ “ตบหน้าฉาดใหญ่” ต่อฝ่ายความมั่นคง และทหารไทยทั้งกองทัพหรือไม่ โดยเฉพาะระดับแกนนำกองทัพที่ยังยึดมั่นกับ “ทหารนำการเมือง”

ธงชาติมาเลย์เป็นสัญญาณบ่งบอกว่า มาเลเซียมีส่วนร่วมยุยง ให้ท้ายต่อกองกำลังจรยุทธ์ในแผ่นดิน 3 จังหวัดด้วยหรือไม่ ย่อมเป็นปุจฉาให้แกนนำทั้งกองทัพ “ตีโจทย์แตก” เข้าใจอย่างถ่องแท้ หรือหลงทาง “ตาบอด 8 ปี หาตัวการไม่เจอ” หรือว่า แอบ “น้ำลายไหล” ให้สถานการณ์เรื้อรังต่อไป เพื่อหวังให้งบประมาณบานฉ่ำเพิ่มขึ้นหรือไม่

ธงชาติมาเลเซีย ใน 3 จังหวัดภาคใต้ ได้สะท้อนภาวการณ์แก้ปัญหาที่ “เอาไม่อยู่” ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ รวมทั้งอาการน้ำลายฟูมปากของฝ่ายค้าน ที่ปวกเปียกป้อแป้พอๆ กัน โดยไม่รู้ว่าจะจับต้นชนปลายหยิบมุมไหนมาแก้ยังไงดี

โดยไม่มีใครคิดเอาประชาชนคน 3 จังหวัดนั้นมา “มีส่วนร่วม นำทาง” เพราะดันคิดเหมือนกันหมดว่าไว้วางใจใครไม่ได้สักคนเดียว
หรือนั่นคือ ร่องรอยที่รอให้แผ่นดินไทยไหวแยกตัวไปตามวันเวลาอันโง่เขลา ของชนชั้นกุมอำนาจทุกฝ่ายในกรุงเทพฯ!

ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2555

ประเทศไทย ความพร้อมด้านกฎหมาย สู่ประชาคมอาเซียน

เมื่อมีการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ซึ่งประกอบไปด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน

(ASEAN Political and Security Community-APSC) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community-AEC) และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community-ASCC) ใน ปี 2558 แล้วทางด้านเศรษฐกิจจะมีการเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายเงินทุนในอาเซียน ทำได้เสรียิ่งขึ้น นักวิชาชีพ ผู้มีความสามารถพิเศษ แรงงานฝีมือ สามารถเคลื่อนย้ายไปทำงานในประเทศอาเซียนอื่นได้สะดวกขึ้นส่งผลให้ภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างประเทศอาเซียนเป็นศูนย์เปอร์เซ็นต์ เว้นแต่ที่เป็นสินค้าอ่อนไหวและอ่อนไหวสูง อุปสรรคในการนำเข้าสินค้าที่ไม่ใช่ภาษีจะหมดไป ซึ่งจะทำให้ตลาดของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศรวมเป็นหนึ่งเดียว มีการเปิดเสรีการค้าบริการรวมทั้งสิ้น 12 สาขาใหญ่ ประกอบด้วย 128 สาขาย่อย

โดยภายในปี 2558 จะต้องอนุญาตให้นักลงทุนอาเซียนถือหุ้นได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ในทุกสาขาบริการ มีการจัดทำข้อตกลงยอมรับร่วม (MRA) ในเรื่องคุณสมบัติวิชาชีพจำนวน 7 ฉบับ สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพบริการ 7 สาขา ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล วิศวกร สถาปนิก ช่างสำรวจ และการบัญชี เพื่ออำนวยความสะดวกในการขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และในอนาคตประเทศไทยอาจจะทำข้อตกลงเพิ่มด้านการท่องเที่ยวด้วย สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพในสาขา ดังกล่าวในประเทศอาเซียนประเทศหนึ่ง หากประสงค์จะได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพในประเทศอาเซียนอื่น จะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบภายในที่ประเทศนั้น ๆ กำหนดเสียก่อน การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ย่อมส่งผลกระทบให้ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับ รวมทั้งอาจต้องมีการทำความตกลงระหว่างประเทศเพิ่มเติมด้วย

การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายของประเทศไทย เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

1.1 ปรับปรุงแก้ไขระเบียบ กฎหมาย ความตกลง ที่เกี่ยวกับพิธีการทางศุลกากร เพื่อลดขั้นตอนพิธีการด้านศุลกากรอ่านวยความสะดวกทางการค้า สนับสนุนการขนส่งสินค้าข้ามชายแดน ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบที่เป็นข้อจำกัดอุปสรรคของนักธุรกิจ นักลงทุนไทยในการแข่งขันกับนักธุรกิจ นักลงทุนจากประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ ปรับปรุงแก้ไข กฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการตรวจคน เข้าเมือง เพื่ออ่านวยความสะดวกในการตรวจลงตราแก่นักธุรกิจ นักลงทุน ผู้ประกอบวิชาชีพและแรงงานฝีมือ อาเซียน

1.2 ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายอื่น ๆ ที่เป็นข้อจำกัดและอุปสรรคในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เช่น แก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ให้สอดรับกับการที่จะต้องอนุญาตให้นักลงทุนอาเซียนถือหุ้นได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ในทุกสาขาบริการภายในปี 2558 โดยต้องมีการแก้ไขมาตรา 4 ในเรื่องสัดส่วนการถือหุ้นของคนต่างด้าวในนิติบุคคลและต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ที่ห้ามไม่ให้คนต่างด้าวประกอบกิจการธุรกิจบางประเภทที่เป็นธุรกิจที่คนไทยยังไม่พร้อมจะแข่งขันกับคนต่างด้าวด้วย

แก้ไข พ.ร.บ.ธุรกิจนาเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 ซึ่งตามมาตรา 17 กำหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวซึ่งเป็นนิติบุคคล ต้องเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย โดยถ้าเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ทุนของบริษัทไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ต้องเป็นของบุคคลธรรมดาซึ่งมีสัญชาติไทย

แก้ไข พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 ซึ่งตามมาตรา 22 กำหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนที่เป็นนิติบุคคล หากเป็นนิติบุคคลที่เป็นบริษัทมหาชนจำกัด บริษัทจำกัด หรือห้างหุ้นส่วน ต้องมีจำนวนหุ้นหรือทุนเป็นของผู้ถือหุ้น หรือผู้เป็นหุ้นส่วนที่มีสัญชาติไทยไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนหุ้นหรือทุนทั้งหมด

แก้ไขกฎหมายต่าง ๆ เพื่อรองรับการเข้ามาทำงานของแรงงานฝีมือจากอาเซียน โดยเฉพาะที่เป็นนักวิชาชีพที่ประเทศไทยได้ลงนามในข้อตกลงยอมรับร่วม (MRA) ในเรื่องคุณสมบัติวิชาชีพสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพบริการ 7 สาขาไปแล้ว ได้แก่ พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 เพื่อให้คนอาเซียนสามารถทำงานในประเทศไทยได้ ซึ่งแต่เดิมเป็นอาชีพและวิชาชีพสงวน

พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 เพื่อให้การพัฒนาฝีมือแรงงานครอบคลุมถึงคนอาเซียนโดยไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2542 พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 เพื่อให้คนอาเซียนสามารถเป็นที่ปรึกษาฝ่ายนายจ้างหรือฝ่ายลูกจ้าง สามารถจัดตั้งสหภาพแรงงาน และเป็นกรรมการหรืออนุกรรมการของสหภาพแรงงานได้

การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายไทย เพื่อเตรียมพร้อมรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้น

เช่น ปัญหาคนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย อาชญากรรมข้ามชาติ ยาเสพติด ขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติ แรงงานต่างด้าว การฟอกเงิน อาชญากรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ การก่อการร้าย การค้าอาวุธโดยผิดกฎหมาย การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น

ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายในแต่ละเรื่อง ต้องมาร่วมกันพิจารณาศึกษาดูว่ากฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน มีความบกพร่องที่ต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างไรหรือไม่ เพราะลำพังเพียงการบังคับใช้กฎหมายกับประชาชนไทยที่มีจำนวนประมาณ 60 ล้านคน ถ้ายังประสบปัญหาเนื่องจากความบกพร่องความไม่สมบูรณ์ของกฎหมายแล้ว หากประเทศไทยต้องเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งจะทำให้มีการเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรีแล้วย่อมต้องประสบปัญหาเพิ่มขึ้นเป็นทับทวีอย่างแน่นอน รวมทั้งควรต้องมาพิจารณาร่วมกันว่ามีความจำเป็นต้องบัญญัติกฎหมายเพิ่มเติมในเรื่องใดอีกหรือไม่ด้วย

การทำความตกลงระหว่างประเทศ ในระดับทวิภาคี หรือพหุภาคีของประเทศอาเซียน มีกรณีที่ประเทศไทยควรต้องพิจารณาดังนี้ ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา ประเทศไทยได้ทำความตกลงที่เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา ในเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศสมาชิกอาเซียนเฉพาะบางประเทศ

ดังนั้น หากมีกรณีที่ต้องร้องขอให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนในประเทศสมาชิกอาเซียนที่ประเทศไทยไม่ได้ทาสนธิสัญญาด้วย ก็จะทำให้เกิดปัญหาการส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามมา

สำหรับสนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางอาญา ที่เป็นความตกลงให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องการสืบสวนสอบสวน การฟ้องคดี และกระบวนการอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องอาญานั้น ประเทศไทยไม่ได้ลงนามในสนธิสัญญานี้ร่วมกับประเทศใดในสมาชิกอาเซียนโดยตรง จะมีก็แต่เพียงลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางอาญากับสหราชอาณาจักร ซึ่งทำให้สนธิสัญญาฉบับนี้มีผลบังคับใช้รวมไปถึงประเทศมาเลเซีย และสาธารณรัฐ สิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศในเครือจักรภพอังกฤษด้วย

ดังนั้น ประเทศไทยและประเทศสมาชิกอาเซียน เว้นแต่ประเทศมาเลเซีย และสาธารณรัฐสิงคโปร์ จึงขาดกระบวนการภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศที่จะให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตามสนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางอาญา หากมีคดีความผิดอาญาเกิดขึ้น

ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางแพ่งและพาณิชย์

ประเทศไทยไม่เคยลงนามความตกลงระหว่างประเทศ ว่าด้วยการยอมรับและบังคับตามคาพิพากษาของศาลต่างประเทศ ในเรื่องทางแพ่งและพาณิชย์กับประเทศใดดังนั้น หากศาลไทยมีคาพิพากษาตัดสินคดีแพ่งบังคับกับจาเลยหรือทรัพย์สินของจาเลย แล้วจาเลยหลบหนีไปอยู่ในประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น และขนย้ายทรัพย์สินหนีไปทั้งหมดด้วย หรือในกรณีกลับกัน ศาลต่างประเทศในประเทศสมาชิกอาเซียนตัดสินคดีแล้วจาเลยหลบหนีพร้อมทั้งขนย้ายทรัพย์สินหนีมาประเทศไทย

ทั้งสองกรณีนี้ศาลไทยและศาลต่างประเทศไม่สามารถดำเนินการบังคับ คดีกับจาเลยและทรัพย์สินของจาเลยที่นาหลบหนีไปได้ เพราะทั้งสองประเทศไม่ได้ทำความตกลงร่วมกันในเรื่องการยอมรับ และบังคับตามคาพิพากษาของศาล ต่างประเทศในเรื่องทางแพ่งและพาณิชย์ระหว่างกัน

ความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการส่งคาคู่ความและเอกสารในคดีแพ่งและพาณิชย์ไปยังต่างประเทศ

ปัจจุบันประเทศไทยทำความตกลงระหว่างประเทศในเรื่องการส่งคาคู่ความและเอกสาร และการสืบพยานหลักฐานในคดีแพ่งและพาณิชย์กับประเทศสมาชิกอาเซียนเฉพาะสาธารณรัฐอินโดนีเซียเพียงประเทศเดียวเท่านั้น ซึ่งตามความตกลงดังกล่าว กำหนดให้การให้ความช่วยเหลือกันทางศาลในเรื่องการส่งเอกสารในคดี หรือการขอให้มีการสืบพยานหลักฐาน สามารถดำเนินการโดยผ่านหน่วยงานกลางของประเทศภาคีคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย โดยไม่ต้องใช้วิธีการทางการทูตสำหรับหน่วยงานกลางของประเทศไทย คือสำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งตามความตกลงดังกล่าวทำให้การส่งคาคู่ความและเอกสารในคดีแพ่ง เช่น หมายเรียกและคาฟ้องทำได้โดยสะดวกรวดเร็วขึ้น หากไม่ได้ทำความตกลงระหว่างประเทศระหว่างกันแล้ว การส่งคาคู่ความและเอกสารในคดีแพ่งระหว่างคู่กรณีที่อยู่คนละประเทศต้องใช้วิธีการทางการทูต ซึ่งใช้เวลาดำเนินการนำนมาก เมื่อพิจารณากรณีต่าง ๆ ข้างต้น จะเห็นว่าเป็นปัญหาที่กระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจ การลงทุน ความเชื่อมั่นในการดารงชีวิต และการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนในประชาคมอาเซียนโดยตรง จึงมีความจำเป็นที่ประเทศสมาชิกอาเซียนต้องเร่งรีบทำความตกลงระหว่างกันในเรื่องที่เป็นปัญหาดังกล่าว ซึ่งอาจเป็นความตกลงทวิภาคีหรือพหุภาคี และหากจะให้ดีเมื่อทุกประเทศสมาชิกอาเซียนมีความพร้อมแล้ว ควรที่จะทาเป็นสนธิสัญญาอาเซียนในเรื่องนั้น ๆ เพื่อให้การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเป็นไปอย่างสมบูรณ์ และบรรลุเจตนารมณ์ของการจัดตั้งประชาคมอาเซียนด้วย

สำหรับการเตรียมความพร้อมในด้านกฎหมาย ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนทั้ง 3 เสาดังกล่าวนั้น ภาครัฐเพิ่งมีการดำเนินการที่ชัดเจนเมื่อคราวจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2555 โดยมอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมปรับปรุงแก้ไขระบบนิติธรรมไทยให้เข้าสู่มาตรฐานสากลมากยิ่งขึ้น และมอบหมายสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแนวทางการปรับปรุงและเตรียมความพร้อมด้านกฎหมายของไทย เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ประเทศไทยมีกฎหมายที่ต้องปรับปรุงแก้ไขเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย ขณะที่ระยะเวลาที่ประเทศไทยจะต้องเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเหลือเพียงประมาณ 2 ปีเท่านั้น การเร่งรัดปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาซียน โดยมีสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้ประสานงานหลักจึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเป็นอย่างยิ่ง โดยการกำหนดกรอบเวลาในการดำเนินการที่ชัดเจนแน่นอน

ทั้งในชั้นการจัดทำร่างปรับปรุงแก้ไขกฎหมายของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา และในชั้นการตรวจพิจารณาร่างกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก และเมื่อร่างกฎหมายที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เสนอเข้าสู่การพิจารณาของ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาตามขั้นตอนแล้ว ทั้งสองสภาก็ควรเร่งรีบดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยมีกรอบระยะเวลาในการพิจารณาที่ชัดเจน เพื่อให้ร่างกฎหมายสามารถพิจารณาได้เสร็จทันกำหนดเวลาก่อนที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558

ที่มา : ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล ประชาชาติธุรกิจ

///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ค้นความจริงฉบับสุดท้าย : ดร.คณิต เปิดลิ้นชักแห่งความลับ 20 ปี เชื่อว่าคนเสื้อแดง ทักษิณจะเกลียดผมเข้าไส้.


แม้คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) จะสิ้นสุดวาระไปแล้วเมื่อวันที่ 30 ก.ค. แต่ "ดร.คณิต ณ นคร" ยังถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในกลเกมการเมืองขณะนี้

เพราะทั้ง "ความจริง-ความลับ" ในมือ คอป.ถือเป็นอาวุธสำคัญที่ฝ่ายการเมือง ยังจ้องจะหยิบไปขยายแผลทางการเมือง สร้างความผิดให้คู่ตรงข้ามตกเป็น "จำเลย" โดยสมบูรณ์

หนึ่ง พรรคเพื่อไทยยังรอ "ความจริง" ภายใต้รายงานความคืบหน้าฉบับสมบูรณ์ของ คอป. เพื่อเพิ่มน้ำหนักความผิดให้ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ-สุเทพ เทือกสุบรรณ" กรณีลงนามคำสั่งกระชับพื้นที่ ในเหตุการณ์การชุมนุมปี 2553 ทำให้มีคนตาย 98 ศพ

สอง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ยังรอ "ความลับ" ของ ดร.คณิต ครั้งที่ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบ ศึกษา และวิเคราะห์การกำหนดนโยบายปราบปรามยาเสพติดให้โทษ และการนำนโยบายไปปฏิบัติจนเกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง และทรัพย์สินของประชาชน (คตน.)

เพื่อเปิดข้อมูลจากรายงานค้นหาความจริง ลาก "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" เข้าสู่ข้อหา "ฆ่าตัดตอน" ในฐานะผู้ประกาศทำสงครามขั้นแตกหักเพื่อเอาชนะยาเสพติด

ทั้ง 2 คดี 2 จำเลย ฝ่ายการเมืองต้องการลาก "คนผิด" ไปไกลถึงกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อให้ศาลอาญาระหว่างประเทศหรือศาลโลกเป็นผู้ตัดสิน

แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ "ดร.คณิต" ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมือง

ปี 2535 ครั้งที่นั่งเก้าอี้รองอัยการสูงสุด เขาถูกฝ่ายการเมืองเชิญไปช่วยค้นหาความจริงหลังเหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ" ร่วมกับคณะของนายโสภณ รัตนากร อดีตประธานศาลฎีกา

"ดร.วิษณุ (เครืองาม) รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในขณะนั้นได้โทรศัพท์มาหาผมที่บ้าน เพื่อเชิญให้ผมไปร่วมกระบวนการค้นหาความจริง โดยท่านกล่าวกับผมสั้น ๆ ว่า สาเหตุที่ต้องเป็นผม เพราะดูมีความเป็นกลางสูงที่สุดในขณะนั้น"

หลังทำงานอย่างเข้มข้นร่วม 4 เดือน รายงานฉบับสมบูรณ์ก็เสร็จสิ้น แต่ "ความจริง" ดังกล่าวก็สูญหายไปพร้อมกับกาลเวลา ไม่เคยได้รับการเปิดเผยข้อมูลจากฝ่ายการเมือง

ปี 2550 ภายหลังเหตุการณ์รัฐประหาร พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้แต่งตั้ง คตน. โดยมอบหมายให้ "ดร.คณิต" รับผิดชอบ เพื่อค้นหาความจริงว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีความผิดใน "คดีฆ่าตัดตอน" หรือไม่

"เราทำงานกันอย่างได้ผล สุดท้ายสามารถบ่งชี้ชัดได้ว่า กรณีดังกล่าวเป็นความผิดฐานอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (Crime against humanity) ได้เกิดขึ้น หลังจากที่มีคนตายหลายพันคน"

แต่ 1 ปีให้หลัง รายงานค้นหาความจริงเรื่องฆ่าตัดตอนก็ลอยหายไปกับสายลมอีกครั้ง เมื่อนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น มีคำสั่งไม่ต่ออายุให้คณะทำงาน คตน.

เป็น 2 ครั้งที่ "ความจริง" ในมือ ดร.คณิต ถูกฝ่ายการเมืองเก็บเข้าลิ้นชักแห่งความลับ

กระทั่งล่าสุดกับการแต่งตั้ง คอป. เพื่อค้นหาความจริงในช่วงเหตุการณ์ชุมนุมเดือนพฤษภาคม ปี"53 ดร.คณิตตัดสินใจเข้ารับตำแหน่งเพื่อค้นหาความจริงอีกครั้ง โดยคำชักชวนจากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

จากบทเรียนทั้ง 2 ครั้งก่อนหน้านี้ ทำให้เขามีข้อแม้กลับไปว่า "ยินดีที่จะทำหน้าที่ค้นหาความจริง แต่จะไม่ขอเข้าข้องเกี่ยวกับการค้นหาว่าใครผิด-ใครถูก เพราะนั่นคือบทบาทในชั้นของกระบวนการยุติธรรม"

เมื่อสัญญาทั้งหมดลงตัว "ดร.คณิต" จึงเดินสาย เชื้อเชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดด้วยตนเอง โดยมีหลักตั้งต้นว่า ในคณะทำงานต้องมีคนจากทุกสี ทุกฝ่าย เพื่อให้มีข้อมูลในมาตรฐานเดียวกัน

"จาตุรนต์ ฉายแสง" คือชายคนแรกที่เขาอยากพบ เพราะความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกันตั้งแต่สมัยก่อตั้ง "พรรคไทยรักไทย" โดยเฉพาะครั้งที่ทำงานร่วมกันในกระทรวงยุติธรรม ถือว่าบุคคลนี้รู้มือกันดีอยู่แล้ว

"วีระ มุสิกพงศ์-สนธิ ลิ้มทองกุล" เป็นกลุ่มแกนนำ 2 ฝ่าย 2 สี ที่มีความจำเป็นต้องมีอยู่ในคณะทำงานเดียวกัน เพื่อให้การลงความเห็นจากทั้งหมด ไม่เกิดผลลัพธ์เป็น 2 มาตรฐานให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ทั้ง 3 คนให้คำตอบ "ปฏิเสธ" ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน คณะทำงานในฝันของ "ดร.คณิต" จึงไม่เกิดขึ้น สุดท้ายจึงเกิด 12 คอป.ขึ้นจนถึงปัจจุบัน

หลังผ่านร้อน-หนาวบนเก้าอี้ "ค้นหาความจริง" มาร่วม 20 ปี ดร.คณิตสามารถสรุปบทเรียน กลั่นเป็นข้อเสนอแนะที่สำคัญได้ 6 ประการ ดังนี้

1.ความวุ่นวายหลังเหตุการณ์รัฐประหาร ปี 2549 หากต้องการทำให้บ้านเมืองกลับมาสงบอย่างสันติได้นั้น จำเป็นต้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณเสียสละเพื่อชาติ ยุติบทบาททางการเมือง เนื่องจากเป็นชนวนเหตุที่สำคัญของเหตุการณ์ทั้งหมด

2.รัฐบาลต้องเดินหน้าแก้ไขภาพการหักดิบกฎหมายให้มีความกระจ่างชัด เพื่อลบความทรงจำในแง่ลบของประชาชน และสร้างความเชื่อมั่นในตัวตุลาการให้กลับมาเป็นเหมือนเดิม

3.กรณีที่ศาลโลกที่คนเสื้อแดง และ ปชป.กำลังดำเนินการอยู่นั้น มีความเห็นว่าไม่สามารถทำได้ จนกว่ารัฐบาลไทยจะได้ลงสัตยาบันใน "ธรรมนูญกรุงโรม" ซึ่งหากศาลโลกเข้ามาเกี่ยวข้องในตอนนี้ จะเสี่ยงที่ทำให้ประเทศเสียเกียรติภูมิในที่สุด

4.ควรตระหนักว่าที่ผ่านมา มีนักการเมือง พนักงานรัฐจำนวนไม่น้อย หลบหนีกระบวนการยุติธรรมไปต่างประเทศ ยกตัวอย่างผู้ใหญ่คนหนึ่งในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ถูกพิพากษาลงโทษจำคุก แต่สุดท้ายหนีออกนอกประเทศจนคดีหมดอายุความ

5.ขอยกตัวอย่างกรณีการทุจริตเรื่องหนึ่ง มี 2 สามีภรรยา ชื่อ Gerald and Patricia Green ร่วมกันทำทุจริตกับหัวหน้าหน่วยงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สุดท้ายศาลในประเทศสหรัฐอเมริกาตัดสินให้มีความผิด ทำเรื่องให้ไทยส่งตัวอดีตผู้ว่าการคนดังกล่าวในฐานะ "ผู้ร้ายข้ามแดน" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 20

6.ควรปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม อาจต้องแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายพิจารณาความอาญาให้ศาลไทย ดำเนินคดีในลักษณะ "การพิจารณาโดยไม่มีตัวจำเลย" ในคดีบางประเภท เช่น คดีความผิดเกี่ยวกับคอร์รัปชั่น เกี่ยวกับการก่อการร้าย เพื่อป้องกันไม่ให้มีการหลบหนีออกนอกประเทศอย่างไม่มีความผิด

ทั้งหมดคือข้อเสนอ-ข้อเท็จจริงส่วนตัวของประธาน คอป.ที่เตรียมเปิดเผยอย่างเป็นทางการ พ่วงท้ายกับผลการค้นหาความจริงฉบับสมบูรณ์ ในวันที่ 17 กันยายนนี้

ทั้งหมดเป็นความจริงในใจจาก "ดร.คณิต" ที่ยังคงเป็นห่วงว่า หากข้อเสนอแนะสุดท้ายถูกเผยแพร่ อาจถูกฝ่ายการเมืองเก็บเข้าลิ้นชักเป็นครั้งที่ 3

โดยเฉพาะบทสนทนาในวงประชุมครั้งสุดท้ายที่มีกรรมการคนหนึ่งอ้างถึงว่า

"หลังแถลงข่าวเสร็จ ขอให้คณะกรรมการแยกย้ายกันทันที เพราะผมเชื่อว่าหลังรายงานฉบับนี้ถูกเผยแพร่ คนเสื้อแดงและคุณทักษิณจะเกลียดผมและพวกคุณเข้าไส้"

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันเสาร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2555

วีรพงษ์ รามางกูร ชี้ อีซีบี.ซื้อบอนด์ แค่เพิ่มสภาพคล่อง !!?

วีรพงษ์.มองการแก้ปัญหา"อีซีบี" แค่อัดฉีดสภาพคล่อง ยังไม่โดนภาคเศรษฐกิจจริง ด้านแบงก์ชาติประเมินสถานการณ์ส่อเลวร้ายลง อีซีบีต้องงัดแผนนี้

นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยว่า การประกาศแผนเข้าซื้อพันธบัตรประเทศต่างๆ ที่มีปัญหาในกลุ่มยูโรโซนของอีซีบีนั้น เป็นเพียงการแก้ปัญหาในเรื่องสภาพคล่องทางการเงินให้กับกลุ่มประเทศเหล่านี้เท่านั้น ยังไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ภาคเศรษฐกิจแท้จริง ดังนั้นจึงเป็นเพียงการแก้ปัญหาแค่ระยะสั้น

"วิธีนี้ไม่ได้ช่วยเหลือให้ประเทศที่มีปัญหาสามารถแข่งขันได้ ไม่ได้ช่วยเหลือให้เขาหายขาดจากการขาดดุล จะช่วยก็เพียงเรื่องสภาพคล่องแบงก์เท่านั้น แล้วจะช่วยได้ซักกี่น้ำ เพราะมันไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่เรียลเซ็กเตอร์ เป็นแค่การแก้ปัญหาการเงิน"นายวีรพงษ์ กล่าว

เขากล่าวด้วยว่า วิธีแก้ปัญหาที่เด็ดขาด คือ ต้องให้ประเทศที่มีปัญหาออกจากกลุ่มยูโรโซนไป เพื่อที่ประเทศเหล่านั้นสามารถใช้อัตราแลกเปลี่ยนของตัวเอง และใช้กลไกเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเป็นตัวปรับสมดุลทางเศรษฐกิจ เพื่อทำให้เขาสามารถขายของได้ เหมือนกับที่ประเทศไทยเคยทำ

ด้านนางสุชาดา กิระกุล รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. กล่าวว่า การที่อีซีบีประกาศแผนเข้าซื้อพันธบัตรของประเทศต่างๆ ในกลุ่มยูโรโซนแบบไม่จำกัดจำนวนนั้น โดยส่วนตัวมองว่าเป็นเพราะอีซีบีเห็นว่าสถานการณ์เลวร้ายลง ทางออกที่ทำได้ คือ การเข้าซื้อพันธบัตรเหล่านี้เพื่อให้ต้นทุนอัตราดอกเบี้ยปรับลดลง อย่างไรก็ตามวิธีนี้เชื่อว่าเป็นเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้นเท่านั้น

นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ธปท. กล่าวว่า การตัดสินใจของอีซีบีในครั้งนี้คงทำให้ภาพรวมตลาดการเงินดีขึ้น เพราะอย่างน้อยก็เห็นทางออกของปัญหา แต่อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อเนื่อง เพราะการช่วยเหลือของอีซีบีเองก็มีเงื่อนไขว่า ประเทศที่จะให้อีซีบีเข้าซื้อพันธบัตร จะต้องลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินของยุโรป(ESFS) ด้วย

สำหรับประเทศที่ขอรับความช่วยเหลือ จะมีการกำหนดเงื่อนไขในการปฎิบัติว่าจะต้องทำอย่างไรบ้างเพื่อแก้ปัญหาระยะยาว ดังนั้นแล้วจึงต้องติดตามดูว่า ประเทศที่จะขอให้อีซีบีเข้าซื้อพันธบัตรนั้น จะยอมรับเงื่อนไขเหล่านี้ได้หรือไม่ และถ้ายอมรับได้ ก็ต้องตามดูด้วยว่าจะสามารถปฎิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดได้มากน้อยเพียงใด

"ปัญหายุโรปเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งระยะเวลาในการแก้ปัญหาคงยาวแน่นอน ส่วนการที่อีซีบีประกาศแผนนี้ออกมา อย่างน้อยก็ทำให้ตลาดเริ่มมีความเชื่อมั่นมากขึ้น เพียงแต่ยังต้องติดตามดูการแก้ปัญหาในระยะต่อไปว่า จะเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งแบงก์ชาติเองก็มองไว้อยู่แล้วว่า ปัญหานี้คงไม่จบลงโดยเร็ว"นางจันทวรรณ กล่าว

นายบันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แผนของอีซีบีที่ประกาศออกมาถือว่าเป็นเรื่องดี อย่างน้อยก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย เพราะถ้าอีซีบีไม่ดำเนินมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งอาจทำให้กลุ่มยูโรโซนเกิดปัญหาร้ายแรงขึ้นได้ในอนาคต

"ผมว่าที่อีซีบีประกาศแผนนี้ออกมาเพื่อป้องกัน สเปน และ อิตาลี ไม่ให้เกิดปัญหา เพราะทั้ง 2 ประเทศมีขนาดเศรษฐกิจค่อนข้างใหญ่ถ้าเกิดอะไรขึ้นอาจทำให้ยูโรโซนทั้งกลุ่มแย่ไปด้วย ซึ่งแผนนี้อย่างน้อยถ้ากรีซไม่ผ่านเกณฑ์พิจารณาของกลุ่มทรอยก้า จนเกิดการ Default(ผิดนัดชำระหนี้) ขึ้น ก็จะมีแค่กรีซรายเดียวที่เป็นปัญหา" นายบันลือศักดิ์ กล่าว

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ปัญหาอยู่ตรงนี้ !!?

ได้เกิดคำถามตามมาทันทีว่า...ปัญหาของประชาธิปัตย์จริงๆ อยู่ที่ไหนกันแน่
ภายหลังจากที่ คุณพิชัย รัตตกุล ได้ออกมาวิพากษ์บทบาทของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อย่างนิ่มนวลแบบปู่สอนหลาน

ก่อนอื่นจะต้องสรุปความเห็นว่า...

การที่คุณพิชัยซึ่งเป็นอดีตหัวหน้าพรรคออกมาวิพากษ์วิจารณ์นั้น เป็นเพราะคุณพิชัยอดรนทนต่อไปไม่ไหวที่คณะผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์ชุดปัจจุบัน...แสดงบทบาททางการเมืองที่เสื่อมความนิยมในสายตาของประชาชน จนพ่ายแพ้การเลือกตั้งครั้งแล้วครั้งเล่า และนับวันจะเสื่อมทรุดลงไป

คุณพิชัยกล่าวว่า...พรรคประชาธิปัตย์ไม่เหมือนสมัยเก่าที่มีจุดยืนต่อต้านระบบเผด็จการทางทหาร ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยเต็มที

“การตั้งรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ในดงทหาร เป็นการทำลายอุดมการณ์ และจุดยืนของ ปชป.ที่ปู่ย่าตายายสร้างมา”
“มันเจ็บปวดมากที่ ปชป.เปลี่ยนไป”

คุณพิชัยยืนยันว่า...สมาชิก ปชป. เลือกนายอภิสิทธิ์เป็นหัวหน้าพรรคไม่ผิด แม้แต่ในขณะนี้ นายอภิสิทธิ์ยังเหมาะสมทุกอย่าง ยังเป็นหัวหน้าพรรคได้

“แต่ต้องปรับปรุงตัวเขาเอง โดยข้อเสียของนายอภิสิทธิ์ คือ ไม่รู้จักใช้คน และนอกจากใช้คนไม่เป็นแล้ว ยังไม่นำคนเก่าที่มีประสบการณ์มาเป็นที่ปรึกษาตัวเองบ้าง”

นั่นเป็นความเห็นของ คุณพิชัย รัตตกุล

แต่สำหรับ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล ซึ่งเป็นแฟนพันธุ์แท้ของพรรคประชาธิปัตย์มองต่างออกไป
“ปัญหาของประชาธิปัตย์อยู่วัฒนธรรมองค์กรของพรรค คิดว่าวัฒนธรรมของพรรคสับสนอลวน วิกฤติที่สุดอยู่ที่การขึ้นไปยื้อยุดฉุดกระชากทั้งแขนและตัวประธานสภา ภาพนี้ไม่เคยคิดไม่เคยฝันว่าจะเกิดขึ้นกับประชาธิปัตย์ ถ้าพรรคมีวัฒนธรรมทางการเมืองจะไม่ทำเช่นนี้

ถ้าเป็นนักประชาธิปไตยที่แท้จริงพึงต้องรู้ว่าเสียงข้างน้อยย่อมแพ้ เมื่อแพ้แล้วก็ต้องแพ้ ต่อให้เขาชนะด้วยกฎหมายที่มีเจตนาแอบแฝงก็ช่างมัน ประเทศทั้งประเทศต้องเรียนรู้ ประเทศไทยต้องใช้เวลาสี่ปี ไม่ว่าจะกี่ครั้งเพื่อให้ประชาชนเรียนรู้”

อีกมุมมองหนึ่งเป็นมุมมองของคนที่ยืนอยู่ตรงข้าม...เป็นความเห็นของคุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ

“พรรคประชาธิปัตย์ไม่เข้าใจพัฒนาการของประชาชนในวิถีทางประชาธิปไตย รากฐานการก่อตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ก็เกิดจากความต้องการจะต่อสู้หักล้าง กับแนวทางการเมืองของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ และคณะอยู่แล้ว แนวทางการเมืองของประชาธิปัตย์เป็นอนุรักษ์นิยม วันนี้ประชาชนเดินเลยกรอบความคิดของพรรคประชาธิปัตย์ไปแล้ว วันนี้

เห็นชัดว่าประชาธิปัตย์ตามประชาชนไม่ทัน”

น่าคิดน่ะ...ประชาธิปัตย์ก้าวตามประชาชนไม่ทัน

โดย:ศรี อินทปันตี,บางกอกทูเดย์
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////