--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2554

คำมั่นสัญญา !!?

หนึ่งในประเด็นการอภิปรายในการแถลงนโยบายของรัฐบาลคือ เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ซึ่งรัฐบาลได้เปลี่ยนถ้อยคำเป็นรายได้ไม่น้อยกว่าวันละ 300 บาท ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โจมตีว่านอกจากจะทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย รัฐบาลยังบิดเบือนไม่ทำตามที่หาเสียง ดังนั้น หากรัฐบาลยืนยันว่าทำทันทีไม่ได้ตามที่หาเสียงก็ต้องประกาศค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ 300 บาทต่อวัน วันที่ 1 มกราคม 2555

นโยบายเศรษฐกิจที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้หลายเรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนโยบายประชานิยมและสัญญาว่าจะทำทันทีที่ได้เป็นรัฐบาลนั้น นอกจากขึ้นอยู่ที่เงินที่จะนำมาใช้แล้ว ยังต้องเป็นไปตามกฎระเบียบและกฎหมาย รวมทั้งกลไกในรูปแบบต่างๆ

อย่างกรณีค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งต้องผ่านคณะกรรมการไตรภาคี แต่เมื่อรัฐบาลแถลงนโยบายเป็นรายได้ไม่น้อยกว่าวันละ 300 บาท ทำให้ผู้ใช้แรงงานเริ่มไม่เชื่อมั่นรัฐบาลว่าจะทำได้ นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย ก็เห็นว่ารัฐบาลบิดพลิ้ว เพราะรายได้ไม่น้อยกว่าวันละ 300 บาท หมายถึงค่าจ้างบวกกับค่าสวัสดิการและค่าโอที แต่ถ้าเป็นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน เป็นกฎหมายบังคับที่ไม่รวมสวัสดิการและโอที แต่ฝ่ายนายจ้างก็ต้องให้ความร่วมมือ เพราะฝ่ายนายจ้างก็รู้ดีว่าค่าจ้างขั้นต่ำปัจจุบันยังต่ำกว่าความเป็นจริง และไม่เพียงพอกับค่าครองชีพ

ดังนั้น ไม่ว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนถ้อยคำอย่างไรก็ต้องทำให้ได้ตามที่หาเสียง แล้วยังจะเป็นการพิสูจน์ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีภาวะความเป็นผู้นำอย่างแท้จริงหรือไม่ เพราะนโยบายที่หาเสียงเป็นคำมั่นสัญญาที่เป็นความหวังอย่างยิ่งของประชาชนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยและ น.ส.ยิ่งลักษณ์

กรณีค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท แม้ผู้ประกอบการจำนวนมากจะคัดค้าน แต่ก็มีผู้ประกอบการที่พร้อมจะปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งไม่ได้สะท้อนแค่ด้านธุรกิจเท่านั้น แต่ยังแสดงถึงคุณธรรมของนายจ้างที่เห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้ใช้แรงงานด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์มีหน้าที่อยู่แล้วที่จะต้องทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพื่อให้บ้านเมืองเกิดความสงบสุขและความปรองดอง รัฐบาลต้องมีทั้งพระเดชและพระคุณในการแก้ปัญหาบ้านเมือง โดยยึดมั่นในนิติรัฐและนิติธรรมอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกัน

โดยเฉพาะการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยถือว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน เพราะประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ ไม่ใช่สังคมทาสอย่างในอดีตที่เห็นคนเยี่ยงสัตว์ ดังนั้น ค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับขึ้นเป็นแค่กำไรของผู้ประกอบการที่ลดลง แต่เป็นรายได้ที่มีความหมายอย่างยิ่งกับผู้ใช้แรงงานที่จะได้กินอิ่มนอนหลับและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงต้องทำตามสัญญาปรับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาททั่วประเทศ

ที่มา.หนังสือพิมพ์โลกวันนี้รายวัน
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น