--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เมื่อ ยิ่งลักษณ์แพ้คดี 100 ล้าน. วันที่ ทักษิณ. กราบบังคมทูล คุณหญิงอ้อ ในบทกุนซือ ชินวัตร.!!?


วันที่นักการเมืองไม่มีอำนาจ ปากกับใจของเขาจะตรงกัน

"วิษณุ เครืองาม" วันพ้นดงการเมือง ปากกา-ใจ ถูกถ่ายทอดเป็นตัวอักษร เห็นภาพ เห็นฉาก และเห็นตัวละคร

เขาเล่าประสบการณ์-ความเกี่ยวพันในการให้บริการทางเนติครั้งสุดท้าย หลังครองเก้าอี้เลขาธิการคณะรัฐมนตรีมา 9 ปี

เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะนักเรียนทุนรุ่นเดียวกัน พูดจาภาษาเดียวกันรู้เรื่อง และในฐานะนายกรัฐมนตรี ขอให้ "วิษณุ" ลาออกจากความเป็นข้าราชการประจำ เหตุเกิดหลังปี 2545 ยุคที่ "พ.ต.ท.ทักษิณ" พ้นพงหนามคดี "ซุกหุ้น"

เขาเล่าว่า "วันหนึ่งมีคดีระหว่างองค์การโทรศัพท์กับบริษัทของคุณทักษิณ ซึ่งคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นซีอีโอ พิพาทกันเป็นเงินนับร้อยล้าน เรื่องต้องส่งให้อนุญาโตตุลาการพิจารณา ทางองค์การตั้ง คุณชัยเกษม นิติสิริ เป็นอนุญาโตตุลาการ บริษัทตั้งอัยการเก่าอีกคนหนึ่ง ทั้งสองคนเลือกผมมาเป็นประธานอนุญาโตฯ แต่ละคนตัดสินใจให้แต่ละฝ่ายชนะ ผมกลายเป็นคนที่ต้องชี้ขาด โดยเห็นด้วยกับฝ่ายองค์การ ให้องค์การชนะสองต่อหนึ่ง"

"...เมื่ออีกหลายปีต่อมา คุณทักษิณมาเป็นนายกฯ มีลูกน้องคุณทักษิณมา ชี้หน้าผมเหมือนกันว่า คนนี้แหละที่ตัดสินให้เราแพ้องค์การโทรศัพท์"

"...วันหนึ่ง คุณทักษิณเรียกผมไปประชุมที่ห้องทำงานนายกฯ บนตึกไทยคู่ฟ้า ตอนนั้นมีประเด็นว่า ถ้าเรื่องของกระทรวงหนึ่งกำลังอยู่ในชั้นอนุญาโตตุลาการแพ้ รัฐบาลจะทำอย่างไร...คุณทักษิณบอกคนในห้องนั้นว่า เลขาฯวิษณุเคยชี้ขาดให้ผมแพ้ต้องจ่ายเงินหรือขาดกำไรไปหลายสิบล้าน แต่เขาทำถูกแล้ว...คุณทักษิณจะพูดจริงหรือพูดเล่น จะชมหรือประชดก็ตาม แต่ผมรู้สึกดีกับคุณทักษิณขึ้นเยอะ"

ในยุคที่ไทยรักไทยเป็นรัฐบาล "วิษณุ" เล่าว่า เขาและครอบครัวได้พบ พ.ต.ท.ทักษิณอีกหลายครั้ง ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า แต่คนที่ทำให้เขาประทับใจและมีอิทธิพลทางความคิดในการเปลี่ยนอาชีพจากข้าราชการมาเป็นนักการเมือง กลับเป็น "คุณหญิงพจมาน"

เขาเล่าว่า ระหว่างที่มีการซักซ้อมกระบวนการจัดตั้งรัฐบาล "วิษณุและครอบครัว" ได้รับโอกาสไปรับประทานอาหารค่ำที่บ้านจันทร์ส่องหล้าหลายครั้ง

"คนที่น่าประทับใจคนหนึ่งคือ คุณหญิงพจมาน ผมได้เห็นการวางตัวที่ดี ไม่พูดเรื่องการเมืองเลย แต่โอภาปราศรัยกับแขกอย่างอ่อนโยน เป็นกันเอง แสดงความเอาใจใส่ในสารทุกข์สุกดิบ เมื่อรู้ว่าภริยาของผมป่วยเป็น โรคไต ต้องเข้ารับการผ่าตัด ก็กุลีกุจอปวารณาตัวว่า จะฝากฝังหมอที่โรงพยาบาลของท่านให้..."

"วิษณุ" มีคอนเน็กชั่นกับคนในตระกูล "ดามาพงศ์" อีกคนที่เป็น "ตัวช่วย" พ.ต.ท.ทักษิณ คือ "พี่ชาย" ของคุณหญิงพจมานที่ชื่อ "บรรณพจน์"

"...คุณชัชวาล อภิบาลศรี และเพื่อนเรียน วปอ.รุ่นเดียวกับผมอีกคนที่ชื่อคุณบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ซึ่งเป็นญาติกับคุณหญิงพจมาน ชวนผมไปรับประทานอาหาร การสนทนาแกล้มอาหารมื้อนั้นเป็นเรื่องสัพเพเหระ หนักเข้าก็เป็นเรื่องการบ้านการเมือง ผมก็ได้ปรารภจุดแข็งจุดอ่อนของนายกฯทักษิณให้คุณบรรณพจน์ฟัง และวิตกว่าคุณทักษิณหลังคดีซุกหุ้นมีความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น ฟังคนน้อยลง"

"...ไหนจะมีเงิน ไหนจะมีสติปัญญา ไหนจะมีพวกพ้องเสียงเชียร์มาก ไหนจะมีเสียงในสภาท่วมท้น ไหนจะหมดชนักปักหลัง คนอย่างนี้ผมเห็นมามากแล้วว่าจะคึกคะนองดุจอินทรชิตที่ได้ฤทธิ์จากพระเป็นเจ้าจนบิดเบือนกายินเหมือนองค์อมรินทร์ทรงคชเอราวัณได้"

"วิษณุ" แนะนำ "ทักษิณ" ผ่าน "บรรณพจน์" พี่ชาย "คุณหญิงพจมาน" ยาวเหยียด

ทั้งเรื่องเกรงว่าเมืองไทยจะเป็นรัฐตำรวจ

ทั้งเรื่องรัฐบาลขาดมือกฎหมาย ต้องใช้บริการคณะกรรมการกฤษฎีกา

พร้อมเสนอชื่อที่ปรึกษากฎหมายราว 10 คน

"บรรณพจน์" ไม่เป็นอันรับประทานอาหาร เพราะต้องจดชื่อและประเด็นที่ "วิษณุแนะ" ลงในกระดาษ

สามวันต่อมา "วิษณุ" ถูกคุณหญิงพจมานเชิญไปพบที่บ้านจันทร์ส่องหล้า มีวาระ "กระดาษ-คำแนะนำ-ชื่อที่ปรึกษา" ที่ "บรรณพจน์" จดมานำเสนอ

"คุณหญิงให้ผมวิจารณ์รัฐบาลให้ฟัง ว่าใครเป็นอย่างไร นายกฯเป็นอย่างไร ปัญหาในการทำงานมีอะไรบ้าง ที่ว่าไม่ค่อยฟังใครเช่นเรื่องอะไร ถ้าไม่ฟังแล้วจะเกิดอะไรขึ้น คณะที่ปรึกษาที่ผมเสนอนั้น ไว้ใจได้ไหม"

จากนั้นผ่านไป 1 เดือน "วิษณุ" เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทที่วังไกลวังวล หัวหิน พร้อมกับ "พ.ต.ท.ทักษิณ" เพื่อถวายรายงานการปฏิรูปราชการ

"ตอนหนึ่งรับสั่งถามอย่างเป็นห่วงว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ของทำเล่น ใครจะดูแล นายกฯกราบบังคมทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้า รับสั่งถามว่า แล้วที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ความยากจน การพัฒนาแหล่งน้ำ ที่ดิน ที่ทำกินซึ่งยืดเยื้อมานานซึ่งทรงเป็นห่วงมาก เป็นภารกิจหลักของรัฐบาล ใครจะดูแล นายกฯกราบบังคมทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้า"

"รับสั่งถามถึงกี่เรื่อง นายกฯก็กราบบังคมทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้า สุดท้ายรับสั่งว่าเรื่องศาสนาก็เป็นเรื่องใหญ่ ละเอียดอ่อน เวลานี้มีปัญหาใคร จะดูแล นายกฯก็กราบบังคมทูลว่าข้าพระพุทธเจ้า"

แต่พอกลับจากเข้าเฝ้าฯ ยังไม่ทัน พ้นประตูวังไกลกังวล "พ.ต.ท.ทักษิณ" พูดกับ "วิษณุ" ว่า

"นี่เป็นเรื่องบ้านเมือง ไม่ใช่เรื่องการ เมือง ที่กราบบังคมทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าน่ะ ผมว่าผมทำไม่ไหวหรอก"

จากนั้นก็ชักชวนให้ "วิษณุ" และบุคคลระดับ "อัครมหาเศรษฐี" เมืองไทยช่วยทำ

"วิษณุ" ถูกชวนเข้าร่วมวงนักธุรกิจชั้นนำที่บางกอกคลับ ถนนสาทร ณ ที่นั้น คนที่รวมตัวรออยู่ก่อนแล้วมีทรัพย์สินรวมกันใกล้ ๆ ยอดงบประมาณประเทศไทย ทั้งคุณชาตรี โสภณพนิช คุณธนินท์ เจียรวนนท์ คุณเจริญ สิริวัฒนภักดี คุณบุญสิทธิ์ โชควัฒนา และคุณสถาพร กวิตานนท์

"พ.ต.ท.ทักษิณ" บอกกับกลุ่มเจ้าสัวว่า "ชวนวิษณุมาช่วยจำข้อเสนอของพวกท่าน"

จากนั้นไม่กี่วัน "วิษณุ" ก็ถูกเชิญจาก "ทักษิณ" ให้เข้าร่วมวงคณะรัฐมนตรี

ภายใต้เงื่อนไขของ "คุณหญิง" ที่ทั้ง "วิษณุและ พ.ต.ท.ทักษิณ" ไม่อาจปฏิเสธ

หมายเหตุ : ข้อมูลจากหนังสือ โลกนี้คือละคร โดยสำนักพิมพ์มติชน
///////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น