--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2554

จี้ ก.แรงงาน-สปส. บังคับเข้มให้นายจ้างขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนแรงงานข้ามชาติ !!?

องค์กรแรงงานและองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านแรงงานข้ามชาติ ออกแถลงการณ์ร่วม กรณีแรงงานข้ามชาติที่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติและมีใบอนุญาตทำงานถูกกฎหมาย ไม่สามารถใช้สิทธิประกันสังคมในการรักษาพยาบาลได้ เพราะนายจ้างไม่ได้นำชื่อเขาขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนของประกันสังคม ส่งผลให้เขาเสียชีวิตหลังออกจากโรงพยาบาลได้ 2 วันเนื่องจากไม่สามารถรับภาระค่ารักษาพยาบาลได้

แม้จะเป็นแรงงานข้ามชาติที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ก็ยังคงถูกนายจ้างหลบเลี่ยงการจ้างงานอย่างถูกต้อง โดยไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาตรวจสอบ ทำให้นโยบายการปกป้อง คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงงานข้ามชาติถูกกฎหมายตามที่ภาครัฐได้ประกาศไว้ ยังคงเป็นเพียงแค่แนวนโยบายที่ยังขาดการบังคับใช้ และปฏิบัติเพื่อคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติอย่างแท้จริง ทำให้แรงงานข้ามชาติที่แม้จะมีสถานะเป็น “แรงงานข้ามชาติถูกกฎหมาย” ในประเทศไทยยังคงต้องตกเป็นเหยื่อของความบกพร่องของระบบ สุ่มเสี่ยงต่อการถูกแสวงหาประโยชน์และการหลีกเลี่ยงการจ้างงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย" แถลงการณ์ร่วมระบุ

ทั้งนี้ องค์กรร่วมเสนอให้กระทรวงแรงงานและสำนักงานประกันสังคมต้องบังคับใช้ พ.ร.บ.ประกันสังคมอย่างเข้มงวด โดยจัดให้มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนและมีมาตรการส่งเสริมการขึ้นทะเบียนเข้าเป็นผู้ประกันตนในประกันสังคมของแรงงานข้ามชาติ ประสานงานกับสถานพยาบาลและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิของแรงงานที่ควรได้รับตามกฎหมายอย่างแท้จริง รวมถึงเรียกร้องว่า กระทรวงสาธารณสุขจะต้องไม่ปฏิเสธการรักษาผู้ป่วย เพราะเหตุที่ไม่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ เนื่องจากสิทธิในการได้รับการรักษาพยาบาลเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์

000000

นโยบายการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติยังใช้ไม่ได้จริง
หลังแรงงานข้ามชาติถูกกฎหมายต้องเสียชีวิตโดยไร้การคุ้มครอง

สำหรับเผยแพร่วันที่ 15 สิงหาคม 2554

นับตั้งแต่ปลายปี 2552 แรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย ได้เริ่มเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติที่เป็นการเปลี่ยนสถานะของพวกเขาให้เป็นแรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองอย่างถูกกฎหมาย ตลอดระยะเวลาเกือบสองปีของการดำเนินการดังกล่าว รัฐบาลไทยได้มีนโยบายชัดเจนที่ผลักดันให้แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยได้เข้าสู่กระบวนการดังกล่าว รวมทั้งการรับรองว่าแรงงานข้ามชาติที่ผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติแล้วนั้น จะสามารถได้รับสิทธิต่างๆ เทียบเท่าแรงงานไทย โดยเฉพาะสิทธิในเรื่องประกันสังคม

นายทูเวนโก แรงงานข้ามชาติชาวพม่าที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ เป็นแรงงานข้ามชาติถูกกฎหมายได้รับอนุญาตทำงานและมีนายจ้างอย่างถูกต้องในประเทศไทยมานานกว่า 6 เดือน โดยได้เปลี่ยนนายจ้างมาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายอยู่ที่ บริษัท เซ้าท์อีสต์เอเชียนแพคเกจจิงแอนด์แคนนิ่ง จำกัด ตั้งแต่เดือนเมษายน 2554 นายทูเวนโกประสบอุบัติเหตุศีรษะกระแทกพื้น ต้องเข้ารับการรักษาในห้องไอซียูของโรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชัลแนล สมุทรสาคร (โรงพยาบาลศรีวิชัย 5) แต่เมื่อทางโรงพยาบาลตรวจสอบสิทธิทางการรักษา กลับแจ้งว่าเขาไม่สามารถใช้สิทธิประกันสังคมได้ เนื่องจากนายจ้างไม่ได้นำชื่อเขาขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนของประกันสังคม ทำให้เขาต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลด้วยตนเอง หลังจากรับการรักษาเพียงไม่กี่วัน ญาติต้องจำใจนำตัวเขาออกจากโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2554 เนื่องจากไม่สามารถรับภาระค่ารักษากว่า 120,000 บาทได้ และเขาก็เสียชีวิตลงหลังจากออกจากโรงพยาบาลได้เพียง 2 วัน

แม้ว่ากระทรวงแรงงานจะออกมายืนยันว่าแรงงานข้ามชาติที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ ได้รับใบอนุญาตทำงาน เป็นแรงงานข้ามชาติที่ถูกกฎหมายในประเทศไทย สามารถได้รับสิทธิตามกฎหมาย สามารถเข้าบริการของรัฐและระบบประกันสังคมได้ อีกทั้ง ตามกฎหมายประกันสังคม ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนให้นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ต้องนำลูกจ้างขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนของประกันสังคมภายใน 30 วัน นับแต่วันที่รับลูกจ้างเข้าทำงานและรวมถึงกรณีของแรงงานข้ามชาติที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ มีใบอนุญาตทำงานในประเทศไทยด้วย แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้สะท้อนให้เห็นว่าแม้จะเป็นแรงงานข้ามชาติที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ก็ยังคงถูกนายจ้างหลบเลี่ยงการจ้างงานอย่างถูกต้อง โดยไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาตรวจสอบ ทำให้นโยบายการปกป้อง คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงงานข้ามชาติถูกกฎหมายตามที่ภาครัฐได้ประกาศไว้ ยังคงเป็นเพียงแค่แนวนโยบายที่ยังขาดการบังคับใช้ และปฏิบัติเพื่อคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติอย่างแท้จริง ทำให้แรงงานข้ามชาติที่แม้จะมีสถานะเป็น “แรงงานข้ามชาติถูกกฎหมาย” ในประเทศไทยยังคงต้องตกเป็นเหยื่อของความบกพร่องของระบบ สุ่มเสี่ยงต่อการถูกแสวงหาประโยชน์และการหลีกเลี่ยงการจ้างงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

“เรื่องที่เกิดขึ้นในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงปัญหาและช่องว่างของระบบในการคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย กรณีนี้สำนักงานประกันสังคมต้องเข้ามาดูแลรับผิดชอบ เนื่องจากสิทธิในการประกันสังคมของลูกจ้างนั้นมีอยู่แล้ว แต่เป็นความผิดของนายจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายซึ่งเป็นเรื่องที่ทางประกันสังคมต้องไปบังคับและไล่เบี้ยจากนายจ้างโดยตรง ลูกจ้างไม่ควรต้องมาแบกรับภาระนี้ด้วยตนเอง และสำนักงานประกันสังคมต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในการเข้าไปตรวจสอบและลงโทษนายจ้างที่หลบเลี่ยงกฎหมายดังเช่นกรณีที่เกิดขึ้น” นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์กล่าว

เพื่อให้เกิดการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยอย่างแท้จริงและเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมเช่นนี้ซ้ำ ทางองค์กรแรงงานและองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านแรงงานข้ามชาติ จึงมีข้อเสนอต่อกระทรวงแรงงาน ดังนี้
กระทรวงแรงงานและสำนักงานประกันสังคมต้องบังคับใช้ พ.ร.บ.ประกันสังคมอย่างเข้มงวด โดยจัดให้มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนและมีมาตรการส่งเสริมการขึ้นทะเบียนเข้าเป็นผู้ประกันตนในประกันสังคมของแรงงานข้ามชาติ รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวไปยังนายจ้าง แรงงานข้ามชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนและดำเนินการอย่างเด็ดขาดกรณีที่นายจ้างหลีกเลี่ยงไม่ดำเนินการขึ้นทะเบียนลูกจ้างกับสำนักงานประกันสังคม
สำนักงานประกันสังคมจะต้องประสานงานกับสถานพยาบาลและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิของแรงงานที่ควรได้รับตามกฎหมายอย่างแท้จริง
กระทรวงสาธารณสุขจะต้องไม่ปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยเพราะเหตุที่ไม่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ เนื่องจากสิทธิในการได้รับการรักษาพยาบาลเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์

องค์กรลงนาม
สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย
มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์
เครือข่ายปฎิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ(ANM)
โครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ
เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ
สหพันธ์คนงานข้ามชาติ

ที่มา.ประชาไท
*****************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น