--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ก้าวไปด้วยกัน..!!

นโยบายของพรรคเพื่อไทยที่จะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน ไม่ใช่แค่ถูกต่อต้านหรือคัดค้านจากผู้ประกอบการขนาดเล็กหรือเอสเอ็มอีเท่านั้น แต่ล่าสุดสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้แถลงไม่เห็นด้วย และเสนอความเห็นให้รัฐบาลชุดใหม่พิจารณา 5 ข้อคือ

1.ไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ เพราะจะกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวมและต้องการให้รัฐบาลพิจารณาอย่างรอบคอบ 2.การปรับค่าจ้างขั้นต่ำควรปรับตามกลไกตลาด 3.ให้คณะกรรมการค่าจ้างกลาง (ไตรภาคี) เป็นผู้พิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายแรงงาน โดยไม่มีการกดดันจากภาคการเมือง 4.หากรัฐบาลจะปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท จะต้องมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในการจ่ายส่วนต่างค่าจ้าง เพื่อให้ผู้ประกอบการอยู่รอด และ 5.ส.อ.ท. พร้อมหารือกับภาครัฐเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

ส.อ.ท. ยังอ้างการสำรวจความเห็นผู้ประกอบการทุกขนาดจำนวน 513 รายว่าไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว เพราะจะกระทบต่อต้นทุนการผลิต และส่วนใหญ่เห็นว่าควรปรับค่าจ้างแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยพิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อ ความสามารถในการจ่ายของผู้ประกอบ การ และสภาพเศรษฐกิจในแต่ละจังหวัด

นอกจากนี้ยังระบุอัตราค่าจ้างที่ผู้ประกอบการยอมรับได้ เช่น ผู้ประกอบการขนาดเล็กยอมรับที่วันละ 200บาท ผู้ประกอบการขนาดกลางยอมรับที่วันละ 211 บาท และผู้ประกอบการขนาดใหญ่ยอมรับที่วันละ 205 บาท

ขณะที่ผู้ประกอบส่วนใหญ่ก็ต้องการให้เรื่องของค่าจ้างเป็นไปตามกระบวนการไตรภาคี ซึ่งเป็นที่รู้ดีว่าไม่มีวันที่จะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำถึง 300 บาทแน่นอน ไม่ว่าผู้ใช้แรงงานจะแบกรับค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นอย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการจะอ้างว่าหากขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำก็จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนในการผลิต และทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทั้งยังอ้างถึงการจ้างงานที่จะลดลงและหันไปจ้างแรงงานต่างด้าวมากขึ้น หรือจำเป็นต้องย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน

แต่นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศมหา วิทยาลัยหอการค้าไทย กลับเห็นว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวันนั้นสามารถทำได้ แต่ต้องทยอยปรับเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต และผู้ประกอบการมีเวลาปรับตัว ส่วนแรงงานต่างด้าวที่จะทะลักเข้ามานั้นถือเป็นเรื่องปรกติ เพราะแรงงานไทยเลือกงานมากขึ้นด้วย

ปัญหาจึงอยู่ที่รัฐบาลใหม่ว่าจะเดินหน้าอย่างไร ซึ่งผู้ใช้แรงงานทุกคนต้องการที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็ต้องปรับประสิทธิภาพในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพในการแข่งขันที่จะมีมากขึ้นด้วย ส่วนรัฐบาลก็ต้องดูทุกมิติไม่ใช่ในแง่เศรษฐกิจอย่างเดียว เพื่อให้ทั้งผู้ประกอบการและผู้ใช้แรงงานก้าวไปด้วยกันได้อย่างมั่นคง ไม่ใช่ลักษณะปลาใหญ่กินปลาเล็กอย่างทุกวันนี้

ที่มา.หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
**********************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น