--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ไทย-กัมพูชา ต้องเจรจา อย่าตกหลุมพรางปลุกระดม !!?

โดย : ประสิทธิ์ ไชยชมพู

ถูกใจเขมรนัก ไทยจะมีรัฐบาลใหม่พรรค พท.เป็นแกน พวกเขาจะรักษาผลประโยชน์ประเทศ อธิปไตยดินแดน แหล่งน้ำมันในอ่าวไทย ช่วยคนไทยถูกจับอย่างไร
เมื่อพรรคเพื่อไทย ชนะการเลือกตั้งมาอันดับหนึ่ง สร้างความพอใจให้กัมพูชาอย่างเหลือล้น ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้สัมภาษณ์ติงรัฐบาลชุดใหม่ ให้เน้นความสำคัญปกป้องผลประโยชน์ประเทศไทย โดยต้องดูแลเขตแดนทางบกให้เรียบร้อย ถ้าเร่งทำเรื่องเขตแดนทางทะเล โอกาสจะแลกเปลี่ยนผลประโยชน์นั้นไม่คุ้มค่า (5 ก.ค.54)

ก่อนนั้น นายฮอ นำฮง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของกัมพูชา แสดงความคาดหวังว่าจะทำงานกับรัฐบาลไทยชุดใหม่ได้ดี โดยเฉพาะปัญหาเขตแดนทับซ้อนทางทะเล ซึ่งประเทศไทยน่าจะเปิดช่องให้บริษัทเข้าไปสำรวจแหล่งน้ำมันในพื้นที่ทับซ้อนอ่าวไทยได้
ย้อนไปเมื่อ 6 มิ.ย. สื่อทีวีและหนังสือพิมพ์กัมพูชา ลงข่าวนายกรัฐมนตรีกัมพูชา โต้ตอบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลายอย่าง ประโยคที่มีนัยสำคัญ คือ ความว่า
"กัมพูชาและไทยมีพื้นที่ทับซ้อนกันในทะเล ไม่มีพื้นที่ทับซ้อนทางบกไม่ว่าที่ใดก็ตาม"
คำกล่าวนี้รวมถึงท่าทีของคณะรัฐบาลกัมพูชาในหลายวาระ โดยเฉพาะช่วงไปชี้แจงศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (30-31 พ.ค.54) ตีความเข้าข้างตัวเอง โดยอ้างบันทึกความเข้าใจร่วมไทย-กัมพูชา 2543 (เอ็มโอยู 43) เป็นการตกลงปักปันหลักเขตแดนร่วมกันเท่านั้น ไม่ใช่การพิจารณาร่วมกำหนดเขตแดน

เฉพาะเขตแดนทางบกก็บานปลายถึงขั้นสู้รบด้วยอาวุธหลายระลอก ยังเรื่องเขตแดนทับซ้อนทางทะเลมีแหล่งพลังงานมูลค่ามหาศาลอีก ซึ่งเป็นหนึ่งประเด็นการปลุกระดมชุมนุมปี 2549 ปี 2551 และ 2554 แต่ทั้งหมด ข้อมูล เท็จ,จริง ยังคลุมเครือ
อ่าวไทยกับแหล่งพลังงาน
*จากหนังสือ "เขตทางทะเลของประเทศไทย" พลเรือเอกถนอม เจริญลาภ อดีตเจ้าหน้าที่เทคนิกของคณะผู้แทนไทยในการเจรจากำหนดเขตทางทะเลกับมาเลเซีย เวียดนาม กัมพูชา ในอ่าวไทย และพม่า อินเดีย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ในทะเลอันดามัน และที่ปรึกษารัฐบาลเกี่ยวกับกฎหมายทางทะเล เขียนไว้เป็นตำรา สาระสำคัญมีว่า
ในอดีต อ่าวไทยตอนบน(ตอนใน) นักแผนที่เรียกอ่าวตัว "ก" แผนที่เดินเรือต่างประเทศในอดีตเรียก "อ่าวกรุงเทพ" ส่วนเส้นปิดอ่าวไทย"ชั้นนอก" ไทยกำหนดเอาปลายแหลมแสมสาน แนวละติจูด 12 องศา 35 ลิปดา 45 ฟิลิปดาเหนือ เป็นเส้นปิด [ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องอ่าวไทยตอนใน, แผนที่แสดงอ่าวประวัติศาสตร์ของประเทศไทย, แผนที่ท้าย พ.ร.บ.กำหนดเขตจังหวัดในอ่าวไทยตอนใน พ.ศ.2502)]
เบื้องต้นต้องรู้ว่า ก่อนมีกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยทะเลและไหล่ทวีปนั้น รัฐชายฝั่งรอบอ่าวไทย คือ ไทย กัมพูชา เวียดนาม และ มาเลเซีย ต่างยอมรับประกาศทะเลอาณาเขตเพียง 3 ไมล์ทะเล เมื่อมีอนุสัญญาเจนีวา ค.ศ.1958 ว่าด้วยเขตไหล่ทวีป ประเทศรอบอ่าวไทยจึงประกาศทะเลอาณาเขต 12 ไมล์ทะเล

แต่ก็ยังไม่มีประเทศใดประกาศเขตไหล่ทวีปตามอนุสัญญานี้
จากปัญหาน้ำมันแพงเพราะกลุ่มผู้ค้าโอเปค รวมหัวกำหนดราคา ประกอบกับผลศึกษาทางธรณีวิทยา “อ่าวไทย”น่าจะเป็นแหล่งปิโตรเลียมที่สมบูรณ์ จึงจูงใจให้รัฐติดฝั่งทะเลต่างแสดงสิทธิอธิปไตยเหนืออาณาเขตทะเล จึงทำให้เขตไหล่ทวีปทับซ้อนกัน 4 ประเทศ คือ ไทย เวียดนาม กัมพูชา และมาเลเซีย
ไทยอ้างสิทธิครอบคลุมบางส่วนบนไหล่ทวีปในอ่าวไทย โดยแผนที่และประกาศเขตสัมปทานขุดค้นและแสวงประโยชน์ปิโตรเลียมในอ่าวไทย พ.ศ.2510 ต่อมา มีประกาศพระบรมราชโองการ กำหนดเขตไหล่ทวีปของไทยด้านอ่าวไทย ลงวันที่ 18 พ.ค.2516
2510 -2514 ไทยจัดทำหลักเกณฑ์การขออนุญาตสำรวจและผลิตปิโตรเลียม พร้อมจัดแผนที่แสดงและปรับปรุงแผนที่เขตสัมปทาน 5 ครั้ง แต่...แผนที่เหล่านี้ไม่มีพิกัดจุดต่างๆ ด้านประชิดกับ 3 ประเทศ และตอนนั้นก็ไม่มีประเทศใดคัดค้านหรือทักท้วง!

แม้จะอธิบายเขตแดนทับซ้อนทางทะเลกับกัมพูชา แต่ก็ต้องเชื่อมโยงกับเวียดนามพอสังเขปด้วย
เวียดนาม เขตไหล่ทวีป พ.ศ.2514
เวียดนามเรียกเขตไหล่ทวีป เป็นเขตขุดค้นแสวงประโยชน์จากปิโตรเลียม (ทำนองเดียวกับไทย) แต่มีค่าพิกัดกำกับตลอดแนวทั้งในอ่าวไทยและทะเลจีนใต้
ประกาศเขตไหล่ทวีปเวียดนาม 2514, และประกาศเขตไหล่ทวีปกัมพูชา 2515 ส่วนไทยประกาศ 2516 จึงทำให้มีพื้นที่ทับซ้อนประมาณ 4,000 ตารางไมล์ทะเลในอ่าวไทย จากทั้งหมดประมาณ 10,000 ตารางไมล์ทะเล (แผนที่เลข 10)
กระทั่งเวียดนามใต้ล่มไป เป็นเวียดนามปัจจุบัน กัมพูชาพ้นจากเขมรแดงยึดครอง เป็นกัมพูชาปัจจุบัน ใน ค.ศ.1991(พ.ศ.2534) เวียดนามกับกัมพูชา ได้กำหนดเส้น Working Arrangement Line ในอ่าวไทย แบ่งเขตไหล่ทวีป 2 ประเทศด้วยเส้นมัธยะจากจุดกึ่งกลางระหว่างเกาะไว(กัมพูชา) กับเกาะปันจังหรือโตจู(เวียดนาม) ลงมาทิศตะวันตกเฉียงใต้

ไทยกับเวียดนามใต้ เจรจาพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทยอย่างไม่เป็นทางการ พ.ศ.2515 แล้วเว้นไป 20 ปีเปิดเจรจาอีกเป็นทางการระหว่าง พ.ศ.2535 ถึง 2540 รวม 9 ครั้ง จึงได้ข้อยุติ
สาระสำคัญ คือ ฝ่ายไทยได้พื้นที่ 67.5% ฝ่ายเวียดนามได้ 32.5% ของพื้นที่ทับซ้อน หรือ 4,101 ตร.กม. กับ 1,972 ตร.กม.ตามลำดับ ลงนามเมื่อ 9 ส.ค.2540 แลกเปลี่ยนสัตยาบันเมื่อ 27 ก.พ.2541
ไทย-กัมพูชา เจรจาเขตแดนทางทะเล
กัมพูชาประกาศกฤษฎีกาเขตไหล่ทวีป(439/72/PRK) ผนวกแผนที่เดินเรือกรมอุทกศาสตร์ฝรั่งเศส ลงนามโดยประธานาธิบดีลอน นอล เมื่อ 1 ก.ค.1972 (หมายเลข 4) ถัดมา 12 ก.ย.1972 มีประกาศกฤษฎีกากำหนดทะเลอาณาเขตของกัมพูชา(518/72/PRK) พร้อมแผนที่ผนวก
ไทยกับกัมพูชาเจรจาเขตแดนทางทะเล ครั้งที่ 1 เมื่อ 2-5 ธ.ค.2513 ณ กรุงพนมเปญ แต่ชะงักไปถึง 24 ปีด้วยปัญหาภายในกัมพูชา

การเจรจาเริ่มใหม่ในพ.ศ.2537 ต่อเนื่องมาจนถึงบัดนี้ และพักการเจรจาไว้ ยังไม่ได้ข้อยุติ ซึ่งผู้เขียน(พล.ร.อ.ถนอม) เห็นว่ายังไม่สมควรนำรายละเอียดมาเผยแพร่
อย่างไรก็ตาม สำหรับประเด็น "เกาะกูด" มีคนจำนวนมากยังเข้าใจคลาดเคลื่อน ซึ่งก็มีส่วนอยู่บ้างในการเจรจา เพราะเกาะกูดครึ่งล่างอยู่ในบริเวณ(ซึ่งกัมพูชาอ้างว่า) เป็นพื้นที่ทับซ้อน แต่ในรายละเอียด พลเรือเอกถนอม ยืนยันว่า "เกาะกูด" อยู่ภายใต้อธิปไตยของไทยทั้งเกาะอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ ความสรุปจากหน้า 209 ...รัฐบาลลอนนอล ขีดเส้นเขตไหล่ทวีปจากจุด A อ้างว่าคือหลักเขตแดนไทย-กัมพูชาที่ 73 (สนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ค.ศ.1907) ลากจากทิศตะวันตกเฉียงลงใต้เล็กน้อย (เล็งตรงมายอดสูงสุดเกาะกูด) เขตไหล่ทวีปกัมพูชาจะหยุดเพียงขอบเกาะกูดด้านตะวันออก แล้วเส้นจะเริ่มต้นใหม่ทางขอบเกาะเกาะกูดด้านทิศตะวันตก ในระดับและทิศทางเดียวกัน ตรงไปทิศตะวันตกจนถึงเกือบกึ่งกลางอ่าวไทย
กึ่งกลางขอบตะวันตกเกาะกูดมีอักษรภาษาอังกฤษกำกับว่า "koh Kut (Siam)"
จะเห็นว่าเส้นนี้ไม่มีข้อพิจารณาใดเลยว่า กัมพูชาอ้างสิทธิใด ๆ บนเกาะกูด

จากแผนที่ผนวกประกาศทะเลอาณาเขตกัมพูชา เส้นสีดำทึบอยู่ด้านซ้ายเส้นขอบนอกทะเลอาณาเขตกัมพูชา ออกจากจุด A ซึ่งเป็นหลักเขตแดนไทย-กัมพูชา ลากจากตะวันตก โดยทับเส้นเขตไหล่ทวีปมาถึงจุด E1 ที่ขอบตะวันออกเกาะกูด จากจุด E1 จะมีเครื่องหมาย (++++) ทอดชิดกับขอบเกาะกูดด้านตะวันออกลงมาทางใต้จนถึงจุด E2 ที่ปลายเกาะกูดด้านใต้
เครื่องหมายบวกนั้น ในแผนที่หมายความว่า "เขตแดนระหว่างประเทศ"
จากเส้นแสดงทะเลอาณาเขตกัมพูชา แสดงชัดว่า กัมพูชาไม่ได้อ้างสิทธิเหนือเกาะกูดเลย จากจุด E1 ถึง E2 กัมพูชาแสดงเครื่องหมายเส้นเขตแดนระหว่างประเทศกำกับพื้นที่ไว้ และเส้นทะเลอาณาเขตกัมพูชาที่แนบชิดกับเกาะกูดทางด้านตะวันตกของปลายด้านใต้ของเกาะก็เป็นสิ่งแสดงชัดว่า เกาะไม่ได้เป็นของกัมพูชา
เพราะถ้ากัมพูชาคิดว่าเป็นของตน ทะเลอาณาเขตของกัมพูชาจะต้องขยายไป 12 ไมล์รอบเกาะที่เป็นของกัมพูชา อีกทั้งข้างเกาะกูดด้านซ้ายยังเขียนกำกับว่า “เกาะกูด(สยาม)” ด้วย

ยิ่งกว่านั้น สิ่งสำคัญมาก คือ “กระโจมไฟเกาะกูด” กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ สร้างไว้ปลายด้านใต้ของเกาะกูด โดยประกาศชาวเรือ(Nation to Mariners) 19 ธ.ค.2517 มีรายละเอียดตำบลที่ติดตั้งลักษณะกระโจมและลักษณะไฟ ส่งไปประเทศสมาชิกองค์การอุทกศาสตร์สากล
การติดตั้งกระโจมไฟจะถูกนำไปแสดงในแผนที่ประเทศเดินเรือประเทศต่าง ๆ เช่น แผนที่เดินเรืออังกฤษหมายเลข 3967
การตั้งกระโจมไฟเป็นหลักฐานแสดงอำนาจอธิปไตยของประเทศไทยเหนือเกาะกูดเสียยิ่งกว่าการย้ายคนเข้าไปอยู่ หรือเอาทหารเข้าไปตั้งหน่วย
ดังที่ศาลโลกตัดสินคดีพิพาทระหว่างมาเลเซียกับอินโดนีเซีย เหนือเกาะลิกิตัน และเกาะสิปาตัน** (Ligitan and Sipatan) เสร็จสิ้นเมื่อ 17 ธ.ค.2545 โดยกระโจมไฟของมาเลเซียติดตั้งบนเกาะทั้งสอง มีส่วนอย่างสำคัญทำให้ได้เกาะทั้งสอง
สรุป
ดังนั้น คำกล่าวของคณะรัฐบาลกัมพูชา ต่อเรื่องเขตแดนทางบกไม่มีทับซ้อนกับไทยเลย จึงไม่อาจจะเชื่อถือได้ เช่นเดียวกัน ไม่อาจให้บริษัทต่างชาติเข้ามาสำรวจแหล่งพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนอ่าวไทยได้ โดยยังไม่มีข้อตกลงเขตแดนสองประเทศ
ส่วนจะขึ้นทะเบียนร่วมปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก รวมกับโบราณสถาน โบราณวัตถุอื่น ๆ ในดินแดนประเทศไทย ให้ครบองค์ประกอบความเป็นเทวสถานแห่งนี้ เพื่อบริหารจัดการให้สมกับเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม ซึ่งอย่าเอาแผนที่ระวางดงรัก มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน หรือเรื่องเขตแดนมาเกี่ยวข้องเป็นเด็ดขาด
เพื่อไม่ให้อ้างอิงยึดโยงไปตลอดแนวชายแดนทางบก ตามที่คนไทยกังวลวิตก และพฤติการณ์ของกัมพูชาก็ส่อแสดงไปเช่นนั้น กระทั่งนำไปสู่การสู้รบ การจับกุมนายวีระ สมความคิด น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์

สิ่งที่ต้องย้ำคือ ไม่ว่าใครจะขีดเส้นเขตแดนลงในแผนที่ใด ๆ ก็ตาม จะไม่มีผลบังคับใช้ได้ ตราบใดไม่ผ่านมติเจรจาข้อตกลงร่วมกัน 2 ประเทศ ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศรองรับ
สัมภาษณ์
เจรจาวันนี้ แสวงประโยชน์ร่วมอนาคต
พลเรือเอกถนอม เจริญลาภ  อธิบายเพิ่มเติมว่า การประกาศเขตไหล่ทวีปของไทย เป็นไปตามอนุสัญญาเจนีวา ค.ศ.1958 ซึ่งได้นิยาม ไหล่ทวีป ว่า ใช้อ่างอิงถึง พื้นดิน ท้องทะเล และดินใต้ผิวดิน (sea-bed and subsoil) ของบริเวณใต้ทะเล (submarine areas) ที่ประชิดกับชายฝั่งแต่อยู่ภายนอกบริเวณทะเลอาณาเขตจนถึงความลึก 200 เมตร ฯ

จากนิยามไหล่ทวีป เส้นเขตไหล่ทวีปก็คือเส้นที่ทอดไปตามพื้นท้องทะเล (sea-bed) ไปตามบริเวณใต้ทะเล (submarine areas) ดังนั้น ไม่เกี่ยวกับเกาะหรือแม้แต่ห้วงน้ำหรือมวลน้ำอยู่เหนือพื้นท้องทะเลเสียด้วยซ้ำ
ซึ่งข้อพิจารณานี้สอดคล้องกับแผนที่ผนวกกฤษฎีกาประกาศเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาฉบับจริงที่เป็นทางการ
พลเรือเอกถนอม กล่าวอีกว่า การขุดเจาะสำรวจพลังงานจะทำได้ก็ต่อเมื่อ ข้อตกลง 2 ประเทศชัดเจน ตัวอย่างการเจรจากับมาเลเซีย ระหว่าง 2515 - 2522 พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ นายกรัฐมนตรีของไทย กับนายดาโต๊ะ ฮุสเซนออน นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ลงนามในปี 2522 เพิ่งจะมกราคม 2548 ได้ก๊าซขึ้นมาใช้ กับเวียดนาม ใช้เวลาถึง 25 ปี ดังนั้น กับกัมพูชา ยืนยันได้ไม่สามารถจะให้สัมปทานในเขตทับซ้อนทางทะเลกับไทยได้อย่างแน่นอน
"บริษัทน้ำมันจะไม่สุ่มสี่สุ่มห้าเข้ามา เพราะมีสนธิสัญญาระหว่างประเทศกำกับอยู่ ประเทศคู่กรณีต้องตกลงกันได้เสียก่อน อีกอย่าง การลงทุนสูงมาก แท่นขุดเจาะมูลค่า 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จะไม่เอามาลงง่าย ๆ"
สำหรับเขตแดนทางบกนั้น อดีตเจ้ากรมอุทกศาสตร์ กล่าวว่า ต้องยอมรับประเทศไทยหรือสยาม ถูกประเทศมหาอำนาจทั้งอังกฤษ และฝรั่งเศสเอาเปรียบ กับฝรั่งเศส ไทยต้องจำยอมทำสนธิสัญญาเสียเปรียบ เขตแดนทางบกตั้งแต่ ค.ศ.1902 1904 1907 และ 1908 สมัยนั้นนอกจากถูกบีบบังคับด้วยแสนยานุภาพทางทหาร ยังเสียเปรียบทางเทคนิค และเจตนาเอาเปรียบดื้อ ๆ อีกด้วย เช่น สนธิสัญญาฝรั่งเศส-สยาม กรณีพรมแดนไทย-ลาว ระบุให้แบ่งตามร่องน้ำลึก แต่กรณีเป็นโขดหินที่ดอนและเกิดร่องน้ำหลายร่อง ให้ถือเอากึ่งกลางร่องน้ำที่ติดฝั่งไทยที่สุด แม้ไม่มีน้ำไหลผ่านตลอดฤดูก็ตามเรียกว่า หมาป่ากับลูกแกะ นั่นแหละ คือยังไงลูกแกะก็ผิด

กับกัมพูชา นอกจากสยามเสียเปรียบด้วยเทคนิคแล้ว ยังเสียเปรียบด้วยคำพิพากษาศาลโลก คนไทยต้องเข้าใจไม่ว่ารัฐบาลใดมาบริหาร ยุทธศาสตร์ต้องเหมือนเดิม คือผลประโยชน์ประเทศชาติสูงสุด ส่วนยุทธวิธี ก็ปรับไปตามสภาพ
การเจรจาแสวงประโยชน์ร่วมกัน อาจต้องให้เวลานานถึง 30-40 ปี ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในและระหว่างประเทศ บอกได้เลยว่า แม้ไทยกับกัมพูชาตกลงแสวงประโยชน์ร่วมกันได้ในทะเล อีก 10 ปีก็ยังไม่แน่จะได้น้ำมันคิวบิกเมตรแรกมาใช้
เรื่องนี้ละเอียดซับซ้อน บางคนจะเอามาเป็นเครื่องมือปลุกระดมได้ ซึ่งเรื่องดาวเทียมสำรวจแหล่งพลังงานในทะเลแบบแม่นยำก็เช่นกัน ยังไม่มี เทคโนโลยียังไปไม่ถึงขั้นนั้น อาจต้องใช้เวลาอีกห้าสิบปีจะไปถึงจินตนาการนั้นได้ ตัวอย่างเช่นจีนพิพาทกับเวียดนาม ก็เพราะวางท่อสำรวจ และเวียดนามอ้างว่าเรือลาดตระเวนของจีนมาชนสายเคเบิ้ลขาด ตึงเครียดไปทั้งอ่าวตังเกี๋ยและทะเลจีนใต้ ก็คือเทคโนโลยีตัวนี้
"บ่อน้ำมัน ไม่ใช่บ่อน้ำธรรมดา ค่าวางท่อก๊าซ กิโลเมตรละ 2 ล้านบาท นับร้อยกิโลเมตรเป็นเงินเท่าไหร่ ส่วนเรื่องเกาะกูด ต้องเรียนว่า เขมรเคยอ้างสิทธิเฉพาะทะเลด้านใต้เกาะกูด ไม่ได้อ้างผ่าเอาครึ่งเกาะกูด แต่ก็น่าคิดกับคำพูดทำนองว่า เกาะกูดตั้งล้ำเข้าไปในอาณาเขตทะเลของกัมพูชา!" พลเรือเอกถนอม กล่าวทิ้งท้าย
อ้างอิง
*เขตทางทะเลของประเทศไทย พลเรือเอก ถนอม เจริญลาภ, พิมพ์เมษายน 2550 : จัดพิมพ์และจำหน่าย บริษัท สำนักพิมพ์วิญญูชน จำกัด
**อ่านเพิ่มเติมใน "ปัญหากำหนดเขตแดนทางทะเลไทย-กัมพูชา" กวีพล สว่างแผ้ว, เอกสารหมายเลข 13 ประกอบงานสัมมนา "รัฐชาติ-พรมแดน : ความขัดแย้งและข้อยุติบนเส้นทางสันติภาพอาเซียน" 27 พ.ย.2552

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
+++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น