บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ฟินันซ่าในต้นสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนกรกฏาคม 54 นั้นความกังวลในสถานการณ์หนี้สินสาธารณะยุโรปได้เพิ่มขึ้นมาก โดยตลาดกลับมากังวลสถานการณ์ในอิตาลีและสเปน หลังจากที่สัปดาห์ก่อนหน้านั้นตลาดพึ่งคลายความกังวลจากการลดอันดับความน่าเชื่อถือของโปรตุเกสโดยบริษัท มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ผมมีคำอธิบายดังนี้
ผู้นำประเทศสำคัญในสหภาพยุโรป เช่น เยอรมันเริ่มแสดงออกถึงท่าทีล่าสุด ในการลดความตั้งใจในการรักษาความเป็นสหภาพยุโรป (EU) แล้ว
ซึ่ง “ความเป็นสหภาพยุโรป” เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้นักลงทุนทั่วโลกเชื่อมั่นว่า การปล่อยให้ กรีซ โปรตุเกส ไอร์แลนด์ ล้มละลาย ไม่เพียงแต่ทำลายเงินสกุลเงินยูโรเท่านั้น หากแต่ทำให้เศรษฐกิจสหภาพยุโรปทรุดลงหนักจากผลของการล้มลงของสถาบันการเงินในเยอรมันและฝรั่งเศสเนื่องจากสถาบันการเงินใน 2 ประเทศ ได้ปล่อยกู้ให้แก่ประเทศดังกล่าวจำนวนมหาศาล
นอกจากนี้ ในทางการเมือง การปล่อยให้ประเทศเหล่านี้ล้มลง คือการสิ้นสุด “สหภาพยุโรป” และ “เงินสกุลยูโร” โดยนัย และอาจจะนำพาเศรษฐกิจโลกให้เข้าสู่วิกฤติอีกครั้ง
ไม่ว่าว่าจะพิจารณาในด้านเศรษฐกิจหรือการเมืองล้วนได้ผลลัพธ์ที่ไม่พึงปรารถนา ทำไม ผู้นำเยอรมันจึงเริ่มเลือกทางเช่นนั้น
ต้องเข้าใจก่อนว่า การรวมกันเป็นสหภาพยุโรป เป็นมรดกทางความทรงจำในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อตอบสนองต่อภัยคุกคามจากสหภาพโซเวียต และประเทศในยุโรปล้วนได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการผนึกกัน
เมื่อเยอรมันตะวันตกต้องการรวมประเทศกับเยอรมันตะวันออก เยอรมันตะวันตกจำต้องสนับสนุนการผนึกกันยิ่งขึ้นไปของสหภาพยุโรปในรูปของสกุลเงินเดียวกันเพราะจะช่วยให้ประเทศอื่นๆในยุโรปซึ่งแต่เดิมกลัวเยอรมันเพราะได้รับผลลบจากคุกคามของเยอรมันในสงครามโลกทั้ง 2 ครั้งนั้น สนับสนุนการรวมชาติเยอรมัน
ปัจจุบัน สหภาพโซเวียตล่มสลายแล้ว เยอรมันรวมประเทศกันเป็นปึกแผ่นแล้ว ในขณะที่ประเทศอื่นๆที่ผนึกกันเป็นสหภาพสกุลเงินตราเดียวกันในชื่อ “ยูโร” จำนวนหนึ่งประสบกับปัญหาหนี้สาธารณะที่พุ่งสูงขึ้นและปัญหาเศรษฐกิจที่ไม่สามารถแข่งขันได้
หนทางเดียวในการแก้ไขปัญหานี้อย่างเบ็ดเสร็จโดยที่ยังรักษาสกุลเงินยูโรอยู่ได้ คือการเป็น Transfer Union หมายความว่าประเทศที่มีสถานะทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง เช่นเยอรมันและฝรั่งเศส ต้องช่วยรับภาระทางการคลังของประเทศที่อ่อนแอเป็นของตนเอง โดยเฉพาะภาระทางการคลังของกลุ่ม PIIGS ซึ่งประกอบด้วย กรีซ โปรตุเกส ไอร์แลนด์ อิตาลี สเปน ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่นักการเมืองเยอรมันไม่เห็นด้วย เพราะประเทศตัวเองพึ่งผ่านพ้นการรวมกันเป็นประเทศได้ไม่นาน และพึ่งชำระต้นทุนในการรวมตัวกันเป็นประเทศเดียวกันเสร็จสิ้นไม่กี่ปี
ในเชิงเศรษฐกิจ การรวมกันเป็น Transfer Union หมายความว่า ประชาชนในเยอรมันจะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น และเยอรมันจะต้องนำเอาทรัพยากรทางเศรษฐกิจจำนวนมากไปจุนเจือกลุ่มประเทศ PIIGS ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงขนาดของเศรษฐกิจของกลุ่ม PIIGS แล้ว ถ้าเยอรมันเลือกทางดังกล่าว เยอรมันจะต้องยากจนลงอีกหลายสิบปี
ในเชิงการเมือง มีความเป็นไปต่ำมากที่ประชาชนเยอรมันจะสนับสนุน Transfer Union เพราะภาระจะกดทับมาที่ตนเองผ่านภาษีที่เพิ่มขึ้น และสวัสดิการที่ลดลง
แม้ว่ายังไม่เป็น Transfer Union อย่างสมบูรณ์ แต่คนเยอรมันเริ่มมีแรงจูงใจในการออกจากระบบยูโร เพราะเห็นว่าไม่จำเป็นที่จะต้องไปช่วยเหลือประเทศอื่นๆที่ไร้วินัยทางการคลัง และควรนำเงินนั้นมาช่วยคนในประเทศตัวเอง
ด้วยเหตุนี้ นักการเมืองเยอรมันจึงบังคับให้ กรีซ โปรตุเกส ต้องรัดเข็มขัด ลดสวัสดิการ แปรรูปรัฐวิสากิจ ขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิต รวมทั้งคิดอัตราดอกเบี้ยตลาดไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนเยี่ยงคนในสหภาพเดียวกัน รวมทั้งเริ่มคิดถึงทางออกในรูปแบบของการปล่อยให้มีการเบี้ยวหนี้บางส่วนของประเทศกลุ่มนี้เพื่อลดภาระตน
มาตรการดังกล่าว ยิ่งมีส่วนทำให้ประชาชนโดยเฉพาะกรีซเริ่มหมดความผูกพันในการรวมกันเป็นสกุลเงินยูโร
ยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่า หนทางที่กรีซ และโปรตุเกสจะพ้นจากวิกฤติอย่างเด็ดขาดนั้น จำต้องใช้ “การลดค่าเงิน” เป็นเครื่องมือสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของตนให้กลับมามีการขยายตัว
แต่เมื่อสกุลเงินของตนไม่มีเพราะสละทิ้งเพื่อรวมเป็น”ยูโร” ไปแล้ว การรัดเข็มขัดทางการคลังจึงทำได้แค่การลดภาระหนี้สาธารณะเท่านั้นแต่ไม่มากพอที่จะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างยั่งยืน ดังนั้น การลดลงของแรงจูงใจในการผนึกกันเป็น “ยูโร” ใช่ว่าจะเกิดกับเยอรมันประเทศเดียว หากแต่ประเทศลูกหนี้เช่น กรีซ และโปรตุเกส คงเริ่มรู้สึกเช่นเดียวกัน
ในปีนี้และปีหน้า ความเสี่ยงของเงินยูโรยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำ แต่พ้นปี 2556 ไป โอกาสที่สกุลเงินยูโรจะอยู่กันครบ 17 ประเทศนั้นเป็นไปได้ยากยิ่ง และไม่ต้องเอ่ยถึงความเป็นเงินยูโร เมื่อ 2-3 ประเทศออกจากระบบยูโร ประเทศที่ที่เหลือซึ่งมีเศรษฐกิจอ่อนแอ ยิ่งมีแรงจูงใจการออกจากระบบยูโรมากขึ้น และตอนนั้นอาจจะเป็นจุดสิ้นสุดของระบบยูโรที่แท้จริง
หมายเหตุ- บทความนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 15 กรกฏาคม 2554
***********************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น