--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

อัยการหอบหลักฐานโต้ ยึดเครื่องบินไม่ได้..!!?

"อัยการสูงสุด"บินไปเยอรมนี หอบหลักฐานจดทะเบียน ชัดเจนไม่ได้เป็นทรัพย์สินรัฐบาลและข้อตกลงคุ้มครองการลงทุนไทย-เยอรมนี ไม่ให้อำนาจยึดทรัพย์สิน
นอกจาก นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ และคณะจะบินไปเยอรมนี เมื่อกลางดึก 14 ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อชี้แจงข้อมูลแล้ว นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุดได้เดินทางไปเยอรมนีตั้งแต่วันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อชี้แจงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคดีเช่นกัน โดยมีเป้าหมายให้ทางการเยอรมนียกเลิกการอายัดเครื่องบินโบอิง 737 โดยเร็วที่สุด เพราะมีหลักฐานการจดทะเบียนอย่างชัดเจนว่าเครื่องบินลำดังกล่าวไม่ได้เป็นทรัพย์สินของรัฐบาลไทย และข้อมูลที่ทางการเยอรมนีได้รับนั้นเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ส่วนหนึ่งเพราะรับฟังจากโจทย์เพียงฝ่ายเดียว จึงถือว่า"เป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง"

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ส่วนการที่บริษัทวอเตอร์บาวน์ยื่นฟ้องรัฐบาลไทยตามสนธิสัญญาว่า ด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนต่างตอบแทนไทย-เยอรมัน พ.ศ.2545 ซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยลงนามไว้นั้น การคุ้มครองการลงทุนของผู้ลงทุนทั้ง 2 ประเทศ จะคุ้มครองในกรณีความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ที่ส่งผลให้รัฐไปยึดกิจการของต่างชาติมาเป็นของรัฐ หรือการเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติที่ได้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนอยู่แล้วถูกตัดสิทธิ แต่การคุ้มครองตามข้อตกลงดังกล่าวไม่ครอบคลุมความเสียหายที่เกิดจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ หรือการจลาจลเพราะพิสูจน์ไม่ได้

"การที่เยอรมนีจะใช้ข้อตกลงดังกล่าวมายึดทรัพย์สินของรัฐบาลไทยเป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินของรัฐหรือทรัพย์สินของเอกชนก็ตาม เพราะต้องมีคำสั่งศาลก่อน เมื่อนักลงทุนเยอรมนีเห็นว่าได้รับความเสียหายจากการลงทุนในไทย ก็ต้องฟ้องร้องรัฐบาลไทยตามขั้นตอน โดยข้อตกลงการคุ้มครองการลงทุนให้สิทธิฟ้องได้ แต่ไม่ให้สิทธิยึดทรัพย์สิน การยึดทรัพย์สินจะเกิดได้ต่อเมื่อมีการประกาศสงครามกัน ซึ่งในกรณีนักลงทุนเยอรมนี อาจมองว่าการเปลี่ยนแปลงสัญญาโครงการดอนเมืองโทลล์เวย์ เข้าข่ายการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบที่ทำให้นักลงทุนเสียประโยชน์ แต่ในข้อตกลงได้กำหนดวิธีระงับข้อพิพาทไว้ และคงไม่สามารถมายึดทรัพย์สินได้" แหล่งข่าว กล่าว
เงื่อนไขยืดสัมปทานให้ถอนฟ้องทุกคดี

ก่อนหน้านี้ ครม.มีมติให้บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ปรับขึ้นค่าผ่านทางโครงการดอนเมืองโทลล์เวย์ เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2552 หลังจากนั้น ครม.ได้หารือปัญหาโครงการดอนเมืองโทลล์เวย์อีกครั้งวันที่ 22 ธ.ค.2552 โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ตั้งข้อสังเกตในที่ประชุมว่า ตามข้อตกลงในบันทึกข้อตกลงเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานในปี 2550 ระบุว่าหากมีคดีข้อพิพาทที่ผู้รับสัมปทานได้ยื่นฟ้องต่อศาล หรือได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการไว้ก่อนหน้านี้ ผู้รับสัมปทานจะต้องถอนฟ้อง หรือถอนข้อพิพาทที่เสนอต่ออนุญาโตตุลาการภายใน 30 วัน มิฉะนั้นกรมทางหลวงมีสิทธิยกเลิกข้อตกลงได้

ทั้งนี้ บริษัท วอเตอร์บาวน์ อดีตผู้ถือหุ้นรายหนึ่งของบริษัท ทางยกระดับฯ ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการโดยไม่ถอนข้อพิพาท ซึ่งถือว่าบริษัทไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามข้อตกลง กรมทางหลวงจึงอาจยกเลิกข้อตกลงเรื่องการปรับขึ้นค่าผ่านทางได้ โดยนายอภิสิทธิ์มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว และพิจารณาความจำเป็นในการทำหนังสือทักท้วงการปรับขึ้นค่าผ่านทางที่ไม่เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงไปยังบริษัท และหลังจากนั้นกระทรวงคมนาคมไม่ได้รายงานเรื่องนี้ต่อ ครม.อีก จนเกิดปัญหาขึ้นในปัจจุบัน

ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้เยียวยาจากที่โทลล์เวย์เรียกค่าชดเชยไป แล้ว เช่น ขยายสัมปทานออกไปอีกจากเดิมสิ้นสุด ปี 2557 ขยายถึงปี 2577 ให้ปรับค่าผ่านทางได้ตามสัญญาเดิม และล่าสุดวันที่ 22 ธ.ค. 2552 ที่ผ่านมา ก็ให้ปรับค่าผ่านทางขึ้นรถยนต์ 4 ล้อ จาก 55 บาทเป็น 85 บาท ส่วนค่าชดเชยรายได้จากการให้ลดค่าผ่านทางเหลือ 20 บาทตลอดสาย กรมทางหลวงจ่ายชดเชยไปแล้ว 30 ล้านบาท เป็นต้น

ย้อนปมข้อพิพาท
นายกษิต ได้แถลงเมื่อวันที่ 14 ก.ค.ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจากได้เกิดข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลไทยกับ บริษัท วอเตอร์ บาวน์ ของเยอรมนี ซึ่งได้เลิกกิจการไปแล้ว แต่ได้มอบหมายให้ทนายความ เป็นผู้จำหน่ายทรัพย์สินของบริษัทดังกล่าว ซึ่งถือเป็นเรื่องขัดแย้งกันเกี่ยวกับสัมปทานในการก่อสร้างดอนเมืองโทลเวย์ เมื่อปี 2548 และได้ดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ไต่สวนที่ฮ่องกง และมาสิ้นสุดที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
โดยมีคณะอนุญาโตตุลาการ ที่ดำเนินการภายใต้อนุสัญญานิวยอร์กว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 1 ก.ค.2552 ได้ชี้ขาดให้ราชอาณาจักรไทย ชดใช้ค่าเสียหายให้กับบริษัท วอเตอร์ บาวน์ เป็นเงินประมาณ 30 ล้านยูโร บวกดอกเบี้ยอีก 6 เดือนในอัตรา 2% ตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค.2549 รวมถึงค่าใช้จ่ายในกระบวนการอนุญาโตตุลาการของบริษัทนี้ เป็นเงินเกือบ 2 ล้านยูโร

นายกษิต กล่าวว่า โดยเหตุผลที่ชี้ขาดให้ไทยเป็นผู้แพ้คดีคือ เพราะรัฐบาลไทยผิดพันธกรณี กระทั่งเมื่อวันที่ 26 มี.ค.2553 บริษัทดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการให้บังคับตามคำชี้ขาดตามคณะอนุญาโตตุลาการ ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งรัฐบาลไทยได้อุทธรณ์โดยสำนักงานอัยการสูงสุดของไทย โดยกระทรวงคมนาคมเป็นเจ้าของเรื่อง และมีกระทรวงการต่างประเทศช่วยดำเนินการอุทธรณ์ด้วย ทั้งนี้ผลออกมาบังคับให้ไทยต้องจ่ายเงินชดเชยในประเทศใดก็ได้ที่เป็นสมาชิกของอนุสัญญานิวยอร์ก ว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ

อีกทั้งบริษัทดังกล่าวยังได้ฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรมของเยอรมนีด้วย ทำให้เมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา ศาลยุติธรรมของเยอรมันได้มีคำพิพากษาให้อายัดเครื่องบินที่จอดอยู่ที่นครมิวนิก ของเยอรมนี ทั้งนี้ตนได้ทราบเรื่องดังกล่าวตั้งแต่เช้ามืดวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา จึงได้เร่งดำเนินการมาจนถึงวันนี้

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
**********************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น