--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

กกต.วูบ.. ทูตทั่วโลกรุมท้วง. อำนาจล้นฟ้า! สอบเองตัดสินเอง พินัยกรรมบาปจาก ปฏิวัติปี 49 !!?


ไม่ใช่เพียงเพราะว่า พรรคเพื่อไทย และ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกรัฐมนตรี และผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 ของพรรคเพื่อไทย ได้รับคะแนนเลือกตั้งจากประชาชนอย่างท่วมท้นเท่านั้น
แต่นี่คือการตัดสินใจของประชาชนคนไทยที่แสดงออกผ่านกระบวนการการเลือกตั้ง ซึ่งทุกคนหวังว่า จะเป็นระบบหรือกระบวนการที่จะสามารถแก้ไขปัญหาทางการเมืองได้เป็นอย่างดี
และจะเป็นจุดเปลี่ยนผ่านของปัญหาการเมืองของไทยที่เกิดขึ้นในช่วง 5 ที่ผ่านมานับตั้งแต่เกิดการทำรัฐประหารขึ้นเมื่อ 19 กันยายน 2549 ซึ่งทำให้บ้านเมืองเดินหน้าไม่ได้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

เพราะประชาชนคนไทย เบื่อหน่ายแล้วกับปัญหาการเมืองที่ทำให้บ้านเมืองเหมือนติดปลักโคลน จึงได้ตัดสินใจลงคะแนนในลักษณะของการมอบชัยชนะให้เบ็ดเสร็จและมากพอให้กับพรรคเพื่อไทย และ น.ส.ยิ่งลักษณ์
โดยหวังว่าจะได้ไม่ต้องมีปัญหาในเรื่องการแย่งชิงในการจัดตั้งรัฐบาลเกิดขึ้น
ดังนั้นปรากฏการณ์ของใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งครั้งนี้ จึงถือเป็นปรากฏการณ์ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. จะต้องตระหนักและรอบคอบให้มากๆ
เพราะที่สำคัญ ยังมีปรากฏการณ์คู่ขนานที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้งในครั้งนี้ด้วย
นั่นคือ ท่าทีของประเทศต่างๆ ที่แสดงออกผ่านบรรดาคณะทูต ทั้งก่อนหน้ารู้ผล และภายหลังจากที่ปรากฏผลคะแนนการเลือกตั้งออกมาแล้ว

ประเทศสหรัฐอเมริกานั้นชัดเจนที่สุด เพราะช่วงใกล้โค้งสุดท้ายในการเลือกตั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์และคณะ ได้มีการไปเข้าพบนางคริสตี้ เคนนีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ที่บ้านพักถนนวิทยุ ตามคำเชิญของสถานทูตสหรัฐ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์การเมืองของไทยช่วงสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง ใช้เวลากว่า 1 ช.ม.
โดยการหารือในครั้งนั้น เอกอัคร ราชทูตสหรัฐสอบถามถึงสถานการณ์การเมือง โดยแสดงความเป็นห่วงการเลือกตั้ง และให้ความมั่นใจว่า….
ทางการสหรัฐจะไม่สนับสนุนการปฏิวัติรัฐประหาร หรือวิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
มีการถามน.ส.ยิ่งลักษณ์ถึงการลงพื้นที่หาเสียงเลือกตั้งด้วยว่าเหนื่อยหรือไม่อย่างไร พร้อมทั้งระบุว่าเท่าที่ติดตามข่าวพบว่าประชาชนสนับสนุนน.ส.ยิ่งลักษณ์จำนวนมาก จึงขอเป็นกำลังใจเพราะปัจจุบันมีสตรีก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำจำนวนมาก

หลังจากนั้นก่อนการเลือกตั้งไม่กี่วัน นางคัทยา คริสทีนา โนร์ดการ์ด เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรนอร์เวย์ประจำประเทศไทย นางสาวคริสติน ชราเนอร์ เบอเกอเนอร์ เอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจำประเทศไทย และนายอาซีฟ อาหมัด เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย ก็ได้มีการเข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อสอบถามถึงสถานการณ์การเมืองในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง โดยใช้เวลาประมาณ 20 นาทีต่อหนึ่งคณะ
เป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนอย่างชัดเจนว่า ต่างชาติเองก็ให้ความสนใจกับการเลือกตั้งของไทย
ที่สำคัญและไม่ควรมองข้ามก็คือ นายอาซีฟ อาหมัด เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักร ที่ได้มีการให้สัมภาณ์ในวันนั้นว่า ถือเป็นครั้งที่ 2 แล้วที่ได้มาเยือน พรรคเพื่อไทย ซึ่งในการพูดคุยได้พูดถึงสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจ
และทราบว่าเมื่อวันที่ 21 มิถุนายนเป็นวันคล้ายวันเกิดของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงได้มาอวยพรวันเกิด โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์มีวันเกิดวันเดียวกันกับเจ้าชายวิลเลียมของอังกฤษด้วย

สำหรับในประเด็นที่ว่าทุกฝ่ายควรยอมนับผลการเลือกตั้งครั้งครั้งนี้ใช่หรือไม่ นายอาซีฟได้มีการกล่าวเอาไว้ชัดเจนว่า เมื่อเสียงส่วนใหญ่ออกมาอย่างไร ก็ควรที่จะรับฟังเสียงส่วนใหญ่
ส่วนว่า อังกฤษมีแนวทางที่จะทำเรื่องถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอเป็นผู้สังเกตการณ์เลือกตั้งหรือไม่???
นายอาซีฟกล่าวเอาไว้อย่างน่าคิดว่า ถือเป็นเรื่องแปลก เพราะก่อนหน้านี้ทั้ง กกต. และพรรคประชาธิปัตย์อยากให้มีผู้สังเกตการณ์เลือกตั้ง แต่ครั้งนี้ไม่มี!!!

เพียงแต่จะเป็นการเสียมารยาทและไม่เหมาะสมหรือไม่ หากอังกฤษและนานาประเทศเสนอตัวไป เพราะตามหลักการเป็นหน้าที่ขององค์กรกลางของแต่ละประเทศที่จะต้องสอบถามว่า”ใครต้องการสังเกตการณ์เลือกตั้งW
ซึ่งก็มี”เพื่อไทย”เพียงพรรคเดียวที่ทำหนังสือไปถึงสถานทูตอังกฤษให้เข้าร่วมสังเกตการณ์เลือกตั้ง หาก กกต.ต้องเป็นผู้แสดงจุดยืนในการประสานกับทุกฝ่ายให้เข้ามาเป็นผู้สังเกตการณ์เลือกตั้ง
ภายหลังพบปะกันแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ทวิตข้อความผ่านทวิตเตอร์ว่า
“ท่านทูตอังกฤษเพิ่งมาพบปะพูดคุย ท่านอยากเห็นสังคมไทยเป็นสังคมประชาธิปไตยให้ทุกฝ่ายเคารพเสียงส่วนใหญ่”
นั่นคือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้ง ที่สะท้อนท่าทีของมิตรประเทศได้อย่างชัดเจน
และยิ่งชัดเจนมากขึ้นภายหลังการเลือกตั้ง และผลคะแนนออกมาแบบทิ้งขาด ต่างประเทศยิ่งให้การยอมรับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพิ่มมากขึ้น เพราะถือว่าผ่านกระบวนการเลือกตั้งจากเสียงของประชาชนมาแล้ว

โดยมีเอกอัครราชทูตประเทศต่าง ๆ เดินทางเข้าพบ เพื่อแสดงความยินดี หลังได้รับเลือกเป็นเสียงข้างมาก ประกอบด้วย Mr.Pinak Ranjan CHAKRAVARTY เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย Mr.Umaru Azores SULAIMAN เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐไนจีเรีย Mr. Richard Titus EKAI เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเคนย่า Mr.Shamel Elsayed NASSER และ Mr.Ron Hoffmann เอกอัครราชทูตแคนาดา พร้อมคณะ ได้เดินทางเข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศไทย เพื่อแสดงความยินดีภายหลังได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง

เอกอัครราชทูตอินเดีย กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีอินเดีย ส่งสาส์นแสดงความยินดีกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ชนะการเลือกตั้งคะแนนท่วมท้น ซึ่งอินเดียถือเป็นประเทศประชาธิปไตย อีกทั้งยังเป็นประเทศแรกที่ทำเขตการค้าเสรีของไทย ทั้งนี้จะมีความร่วมมือที่ใกล้ชิดขึ้น
ที่มองข้ามไม่ได้เลยคือการที่เอกอัครราชทูตอินเดีย ได้มีการตั้งข้อสังเกตว่า กกต.ของประเทศอินเดีย ไม่มีอำนาจมากเท่ากับ กกต.ของประเทศไทย !!!
เนื่องจากถ้ามีเรื่องร้องเรียนหลังเลือกตั้ง ที่ประเทศอินเดียจะไปร้องที่ศาล
แต่รู้สึกว่าประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีการสอบสวน???
ซึ่งอาจทำให้เกิดช่องว่างในช่วงรอยต่อระหว่างการเลือกตั้ง ตลอดจนถึงการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ อันจะทำให้เกิดความหวั่นไหวในประเทศได้

มุมมองที่ปรากฏในสายตาของชาวโลกเช่นนี้ จึงเป็นสิ่งที่ประเทศไทย เป็นสิ่งที่บรรดาผู้สร้างระบบ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กกต. จะต้องย้อนคิด และตั้งคำถามกับตัวเองได้แล้วว่า
กกต.ไทย มีอำนาจล้นฟ้าอย่างที่ถูกสายตาทั่วโลกหรือไม่!?!
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับการจัดการเลือกตั้งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกรณีบัตรเลือกตั้ง ที่ใส่โลโก้พรรคเพื่อไทยเล็กที่สุดเหมือนกับจงใจ โดยที่คำอธิบายแก้ต่างของ กกต. ฟังอย่างไรก็ยากที่จะหาคนยอมรับได้ ว่าทำไมถึงผิดพลาดเพียงแค่พรรคเดียว แถมเป็นพรรคเต็งหนึ่ง และอยู่อันดับแรกของบัตรเลือกตั้งเสียด้วย

กกต. ไม่มีการตรวจปรู๊ฟบัตรเลือกตั้งก่อนการพิมพ์เลยหรืออย่างไร??
จากนั้นก็มีประเด็นในเรื่องของการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้า ที่เล่นเอาวุ่นวายและเสียสิทธิกันเป็นจำนวนมาก และกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์พุ่งเข้าใส่ กกต.อย่างมากมาย ว่าทำงานไม่เป็น ทำงานไม่มีประสิทธิภาพ
หรือว่ามีอะไรที่ทำให้ต้องเกิดปัญหาขึ้นกันแน่??
เพราะการที่ไปเพิกถอนสิทธิ์ของผู้ที่เคยขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งนอกเขตตั้งแต่ปี 50 แต่ในปี 2554 คนเหล่านั้นไม่ได้มายื่นเรื่องขอใช้สิทธิ์นอกเขตซ้ำอีก กลายเป็นว่าต้องเสียสิทธิ์ไปพร้อมกันถึงกว่า 2 ล้านเสียง
กรณีเช่นนี้ทั่วโลกต้องถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ แต่กกต.ไทยกับเฉย ไม่รู้สึกรู้สม หรือคิดแก้ไขอะไรเลย รวมทั้งไม่ยอมชี้แจงให้เหตุผล

เช่นเดียวกับความโกลาหลในวันเลือกตั้ง ทั้งวันเลือกตั้งล่วงหน้า และวันเลือกตั้งจริง ที่รู้ทั้งรู้ว่าจะมีผู้ตื่นตัว และให้ความสำคัญไปใช้สิทธิเป็นจำนวนมาก แต่ก็ไม่มีการเตรียมการรับมือ จึงทำให้เกิดภาพของผู้คนไปเข้าคิวรอใช้สิทธิกันยาวเหยียด รอคิวกันครึ่งค่อนชั่วโมง
จึงไม่แปลกที่ถูกชาวบ้านรุมด่าว่าทำงานไร้มาตรฐาน ไม่คุ้มค่าเงินเดือน
ไม่รู้ว่า 5 เสือ กกต. ไล่มาตั้งแต่ นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานใหญ่ นายประพันธ์ นัยโกวิท นางสดศรี สัตยธรรม นายสมชัย จึงประเสริฐ และนายวิสุทธิ์ โพธิแท่น รู้สึกอะไรหรือไม่ และคิดจะดำเนินการแก้ไขฟื้นฟูภาพลักษณ์ในครั้งนี้หรือไม่

ซ้ำร้าย การดำเนินการรับรองการเลือกตั้ง ก็มีลักษระของการเรื่อยๆมาเรียงๆไม่ได้กระฉับกระเฉงอย่างที่ควรจะเป็น ตลอดจนการตัดสินใจแขวน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ด้วยเหตุผลเพียงว่ามีการร้องเรียนเกิดขึ้น
แม้จะมีการแขวน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ไปด้วย แต่ก็ไม่สามารถที่จะลดกระแสวิพากษณ์วิจารณ์ลงไปได้
เนื่องจากเป็นการลงมติชนะแบบเฉียดฉิว 3 ต่อ 2
หรือเท่ากับมากกว่าเพียงแค่เสียงเดียวเท่านั้น ก็ทำอะไรก็ได้แล้ว แม้ว่าจะเป็นการกระทำที่หากเปรียบเทียบกับคะแนนเลือกตั้งของคนเป็นสิบๆล้านคนแล้ว ต้องถือว่าเป็นเรื่องที่ยากจะสร้างความเข้าใจกับประชาชนได้จริงๆ
คำถามที่ว่า คนเพียงแค่ 3 คนเท่านั้น ก็สามารถที่จะเบรกคะแนนเสียงของประชาชนทั่วประเทศเป็นสิบๆล้านได้เช่นนั้นหรือ???

ที่สำคัญ 2 คน ที่ไม่เห็นด้วยคือ นางสดศรี สัตยธรรม ซึ่งเป็นกกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง และนายสมชัย จึงประเสริฐ ซึ่งเป็นกกต.ด้านกิจการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย อันถือเป็นหน้าที่โดยตรงด้วยซ้ำ ที่ไม่เห็นด้วยกับอีก 3 กกต.
นายอภิชาต นายประพันธ์ และนายวิสุทธิ์ จึงทำให้เกิดภาพของ กกต.ไทย ที่มีอำนาจล้นฟ้าไปโดยปริยาย
และทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วง
แม้แต่ต่างประเทศ ที่เต็มไปด้วยความระมัดระวัง ยังอดออกปากไม่ได้ว่า กกต.ไทยนั้น รู้สึกว่าประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่ให้อำนาจ กกต. ในการสอบสวน
แทนที่จะใช้อำนาจของศาลยุติธรรม???

ประเด็นต่างๆ นับตั้งแต่การกำหนดกติกาการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้า ที่ไปลากเอาการเลือกตั้งครั้งก่อนมาเป็นกรอบ เรื่องอำนาจในการแจกใบเหลืองใบแดง เรื่องการสั่งแขวนโดยเป็นการตัดสินใจของคนแค่ 2-3 คนเท่านั้นก็สามารถทำอะไรได้แล้ว
จึงมีคำถามว่า ควรที่จะมีการผ่าตัดโครงสร้างกลไกอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือไม่???
ควรที่จะปฏิรูป กกต.ไทย ไม่ให้ถูกมองว่าไม่เหมือนประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ และเป็นเพียงแค่ประเทศเดียวที่เป็นแบบนี้ได้แล้วหรือยัง???
โดยเฉพาะคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดนี้ ที่เข้ามารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2549 หรือเพียงแค่ 1 วันหลังการทำรัฐประหาร!!!

เป็นภาพที่ลดทอนสง่าราศรี และการยอมรับที่พึงมีต่อ กกต.ชุดนี้หรือไม่ เชื่อว่า 5 เสือ กกต.เองก็รู้ดีอยู่แก่ใจ
ข้อวิพากษ์วิจารณ์ผ่านสื่อหลายๆแขนง ที่ว่า กกต.นี่แหละที่จะกลายเป็นตัวจุดชนวนความวุ่นวายขึ้นมาอีกรอบ น่าจะเป็นกระจกสะท้อนได้เป็นอย่างดีว่า หลังทำหน้าที่รับรองบรรดา ส.ส. เสร็จเรียบร้อยแล้ว เปิดประชุมสภา จนกระทั่งมีนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้เรียบร้อยแล้ว
ผลงานที่เต็มไปด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงเช่นนี้ สมควรที่ 5 เสือ กกต. จะรักษาศักดิ์ศรีให้สมกับที่เป็นเสือด้วยการลาออกไปเสีย เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
เพื่อให้มีการปฏิรูป กกต. ให้มีภาพลักษณ์ที่สง่างาม และสร้างความยอมรับความเชื่อถืออย่างแท้จริงเสียทีหรือไม่
ฝากไว้ให้ กกต.ทั้ง 5 เก็บไปคิดเป็นการบ้านก็แล้วกัน!!!

ที่มา.บางกอกทูเดย์
//////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น