--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2556

Unintended Consequences : ผล (ร้าย) ที่ไม่ได้ตั้งใจ !!?

โดย:วีระ  มานะคงตรีชีพ

Consequences หรือ ผล (ร้าย) ที่ไม่ได้ตั้งใจจะเป็นหลักเศรษฐศาสตร์ที่รู้กันมานมนานกาเล แต่จนแล้วจนรอดผู้มีอำนาจก็ยังคงออกนโยบายประเภท “รู้ทั้งรู้ถึงผลร้ายที่จะตามมา” หลังจากนั้นก็ช่วยกัน “ดันทุรัง” ปกป้องคุ้มครองนโยบายดังกล่าว ประเภท “สีข้างแดงเถือก” บ้าง “น้ำตาไหลท่วมจอ” บ้าง จนในที่สุดก็ค่อยๆ ชิ่งหนีจากนโยบายดังกล่าว โดยวิธีหาแพะ (เช่นปรับออกรัฐมนตรีบางคนที่น่าจะโยงให้เกี่ยวข้องกับนโยบายดังกล่าวได้ชัดที่สุด) หรือไม่ก็ถือโอกาสยุบสภา (หากคะแนนเสียงของพรรคตนในสนามเลือกตั้งยังไม่บอบช้ำเท่าไหร่นัก) ฯลฯ
   
ในตอนท้ายผมก็ได้พูดถึงสาเหตุ และยอมรับว่ายากที่จะป้องกันไม่ให้เกิดปรากฏการณ์ “นโยบายที่มีเจตนาดี” แต่ “ผลลัพธ์เลวร้าย” ในประเทศไทย
   
สัปดาห์นี้ผมจะอธิบายเพิ่มเติมว่าทำไม และในฐานะที่เป็นประชาชนคนไทย เราจะยังสามารถคาดหวังอะไรจากนโยบายรัฐได้อีกหรือ?
ประชานิยมกับ Unintended Consequences
   
ศาสตราจารย์ Robert K. Merton ศึกษาวิเคราะห์วิจัย และสรุปสาเหตุที่ทำให้เกิด Unintended Consequences ไว้ตั้งแต่ปี 1936 ซึ่งผมได้สรุปย่อไว้ในตอนที่แล้ว ฉะนั้นจะไม่นำมาพูดซ้ำอีก
   
แต่จะขออนุญาตย้ำว่า นโยบายของรัฐแทบจะทุกนโยบายล้วนแต่มีโอกาสเกิด Unintended Consequences ทั้งสิ้น ฉะนั้นต้องขออนุญาตให้กำลังใจรัฐบาลทุกรัฐบาลก่อนว่าหากท่านมีเจตนาดีต่อประชาชนแล้วล่ะก็ อย่ากลัวว่านโยบายของท่านจะเกิด Unintended Consequences แล้วจะถูกก่นด่า หรือทำให้พรรคของท่านแพ้เลือกตั้ง ฯลฯ จนทำให้ไม่กล้าจะดำเนินนโยบายอะไรเลย     ผมขออนุญาตยกตัวอย่างการดำเนินนโยบายแก้ปัญหาวิกฤติการเงินหลังปี 2540 ในช่วงเวลาดังกล่าวรัฐบาลเป็นห่วงภาพพจน์ของประเทศไทยในสายตาประชาคมโลก ในสายตาไอเอ็มเอฟ ในสายตานักลงทุนต่างชาติ ฯลฯ วิตกกังวลว่าหากเข้าไปอุ้มกิจการต่างๆ จะถูกหาว่าเล่นพรรคเล่นพวก ยังติดอยู่ในระบบ Cronyism ฯลฯ ทำให้ออกนโยบายที่ค่อนข้างจะไม่ Realistic และค่อนข้าง Destructive กับระบบการค้าการผลิต และระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เช่น สั่งปิดบริษัทเงินทุนเกือบหมด สั่งตัดวงเงินสินเชื่อ แช่แข็งเงินฝาก และทำการขายทอดตลาดสินทรัพย์โดยไม่มีการแบ่งแยก (Good Bank/Bad Bank) ทั้งยังห้ามลูกหนี้กลับมาซื้อของตนเองคืน (Moral Hazard) ฯลฯ
   
ทั้งหมดล้วนเป็นนโยบายที่มุ่งหวังจะก่อให้เกิดผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ซึ่งท้ายที่สุดก็คือทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น (แม้ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลในยุคนั้น จะชี้ว่าเป็นนโยบายตามใบสั่งคุณพ่อ  และเป็นขบวนการปล้นชาติปล้นประชาชนที่มโหฬารที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยก็ตาม)
   
ทว่า สิบห้าสิบหกปีให้หลัง แทบทุกคนในประเทศไทย และนักวิชาการทุกคน นักธุรกิจทุกคนต่างตระหนักดีว่า การดำเนินนโยบายของรัฐบาลในครั้งนั้น (ไม่ว่าจะแก้ตัวว่าไม่มีทางเลือก ฯลฯ หากไม่ทำเช่นนั้นประเทศอาจจะ “เจ๊ง” ไปแล้วก็ได้ ฯลฯ) ก่อให้เกิด Unintended Consequences มากมายเหนือคณานับ (หลายคนบอกว่าไม่ใช่ Unintended ตรงกันข้าม รัฐบาลในยุคนั้น “ตั้งใจ” ให้เกิดผลร้ายต่างๆ ตามมา ซึ่งส่วนตัวผมยังไม่ปักใจเชื่อ เพราะหนึ่งผมไม่ชอบมองคนในทางเลวร้ายขนาดนั้น และสองผมคิดว่าเป็นความโง่เขลาของคนมากกว่า)
   
ผู้คนจำนวนมากได้สัมผัส หรือได้รับผลจาก Unintended Consequences เหล่านั้นด้วยตัวเอง หลายคนเจ็บปวดทนทุกทรมานอย่างแสนสาหัส เสียชีวิตไปก็มีจำนวนไม่น้อย แม้กระทั่งบางคนที่มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายดังกล่าวก็มีชีวิตอยู่อย่างไม่ค่อยมีความสุขเท่าใดนักจนถึงทุกวันนี้
   
ฉะนั้น หากมองย้อนกลับ ทำไมรัฐบาลยุคนั้นจึงดำเนินนโยบายเช่นนั้น
    หากจะใช้ทฤษฎีของ Robert Merton ก็คงหนีไม่พ้น
    หนึ่ง โง่และเขลา
    สอง ผิดพลาด (เพราะโง่)
    สาม ผลประโยชน์เฉพาะหน้าแก่ตนเองและพวกพ้อง (คอรัปชั่น?)
    สี่ คติความเชื่อ
    ห้า ขี้กลัว กลัวจนกระทั่งสิ่งที่กลัวเกิดขึ้นเป็นจริงในที่สุด
   
ส่วนตัวผมไม่อยากปักใจเชื่อว่าผู้เยี่ยมยุทธ์ในรัฐบาลยุคนั้นเป็นคนโง่ หรือเขลา จริงอยู่อาจจะขาดประสบการณ์อยู่บ้าง แต่ไม่ถึงกับโง่อย่างแน่นอน ส่วนเรื่องคติความเชื่อและความเป็นคนขี้กลัว น่าจะเป็นอะไรที่ควรวิเคราะห์เจาะลึก  เพราะผมสังเกตจากรัฐบาลถัดมา (รัฐบาลคุณทักษิณ) ท่านมี “ความกล้า” ที่จะทำอะไรตามคติความเชื่อ ที่ค่อนข้าง “ก้าวหน้า” และมีความเด็ดขาดที่จะดำเนินนโยบายอย่างเร่งด่วน ทันกาล
   
ซึ่งผลก็คือ ระบบการเงินฟื้นตัวเร็วขึ้น และระบบเศรษฐกิจกลับมามีชีวิตชีวาได้อย่างน่าทึ่ง
   
และที่ทุกคนยอมรับ (ด้วยความรู้สึกลึกๆ ในใจที่ต่างกัน)  เหมือนกันก็คือ นโยบายของรัฐบาลทักษิณเป็น “นโยบายประชานิยม” ที่สมบูรณ์แบบที่สุดตั้งแต่มีระบบพรรคการเมืองในประเทศไทย และเป็นนโยบายประชานิยมที่ “โดนใจ” ประชาชนในระดับรากหญ้ามากที่สุดอีกด้วย
   
เช่นนี้ แปลว่านโยบายที่ไม่มี Unintended Consequences หรือมีก็น้อยมาก ก็คือ “นโยบายประชานิยม” ใช่ไหม?
   
ผู้ที่น่าจะตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุดก็คงหนีไม่พ้น “รัฐบาลปัจจุบัน” เพราะนโยบายประชานิยมที่ฮือฮาที่สุดของรัฐบาลปัจจุบัน และที่กำลังก่อให้เกิด Unintended Consequences ที่อาจจะ Snow-balling รัฐบาลจนเสียศูนย์ได้ก็คือ “นโยบายจำนำข้าว (ทุกเม็ด)” นั่นเอง

นโยบายจำนำข้าว (ทุกเม็ด) :  ในที่สุดก็หนีไม่พ้น The Law of Unintended Consequences
   
นโยบายจำนำข้าว (ทุกเม็ด) ทำท่าจะเข้าตำราโบราณที่ว่า “ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ พอเหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชา”
   
เริ่มต้นจากการเป็นนโยบายประชานิยมที่ทรงพลัง ฟาดกวาดพรรคคู่แข่งจนแทบจะตกเวทีการเมือง แทบจะไม่เหลือที่ยืนหยัดกาย
   
วันนี้ จะทำอะไรก็ยากที่จะไม่ถูกตำหนิติเตียน จะเดินหน้าต่อก็ถูกก่นด่า ด้วยตัวเลขขาดทุนมหึมา จะลดราคาจำนำ ก็ถูกแฟนต่อว่าหาว่าหลอกลวง จะเลิกเสียก็เหมือนขาไก่ที่แม้เนื้อจะเหลือน้อยนิด แต่ก็ยังดูดได้หวานๆ เค็มๆ
   
ชะรอยจะเข้าตำรา “เอียวสิ้ว” ในสามก๊กเสียแล้วกระมัง?  (อ่านต่อตอนจบสัปดาห์หน้า).
                       
ที่มา.ไทยโพสต์
////////////////////////////////////////////

เรื่องหวิวๆ ของ นายกฯ ปู !!??

ในขณะที่ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ถูกนโยบายประชานิยมย้อนกลับมากัดกร่อนตัวเอง หลังบิดนโยบาย-หั่นราคารับจำนำข้าว จากเดิม 15,000 บาท/ตัน เหลือ 12,000 บาท/ตัน เนื่องจากไม่สามารถแบกหนี้หลักแสนล้านบวกๆ ได้อีกต่อไป

ล่าสุดชาวนาภาคกลาง 22 จังหวัดประกาศยกพลบุกทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 24 มีนาคม เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน

ส.ส.พรรคเพื่อไทย (พท.) บางส่วนออกมาไล่บี้รัฐมนตรีร่วมพรรค ทั้ง “บุญทรง เตริยาภิรมย์” รมว.พาณิชย์ และ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ให้เข้าประชุมพรรค-ยอมขึ้นเวทีซักฟอกภายใน เพื่อให้ผู้แทนฯ มีชุดคำอธิบายไปตอบคำถาม “ชาวรากหญ้า” ต่อ

จนหลายฝ่ายวิเคราะห์ว่าปม “จำนำข้าวเจ๊ง” อาจทำให้ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” เดินไปพบจุดจบหรือไม่?

เป็นผลให้คนในฝากฝั่งรัฐบาลที่กลัวการสูญเสียอำนาจสามัคคีกันออกมาปกป้องตัวเองด้วยการ “ปั่นข่าวใหม่-ให้ข่าวลวง” โดยหมายเบี่ยงเบนความสนใจของสื่อและสังคมออกจาก “ข่าวฉาว” ของรัฐบาล

ไม่ว่าจะเป็น รองนายกฯ ผู้จงใจขับโรลส์-รอยซ์เข้าทำเนียบฯ ในขณะที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กำลังตรวจสอบขบวนการเลี่ยงภาษีของรถหรูจดประกอบ

หรือแหล่งข่าวพรายกระซิบผู้จงใจปล่อยโผ “ครม.ยิ่งลักษณ์ 5” ล่วงหน้าตั้งแต่ไก่ยังไม่โห่

ทว่าข่าวที่พลพรรครัฐบาลร่วมด้วยช่วยกันปูดจากทำเนียบ-รัฐสภา-พรรค หนีไม่พ้น ข่าวขบวนการล้มรัฐบาล ซึ่งผู้ให้ข่าวบ้างก็อ้างว่ามีการข่าวส่วนตัว บ้างก็อ้างข้อมูลของหน่วยงานความมั่นคง โดยจับความเคลื่อนไหวของกลุ่มหน้ากากขาว กลุ่มไทยสปริง กลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติ นักธุรกิจ รวมถึงฝ่ายค้านและองค์กรอิสระบางส่วนผูกโยงเป็นโครงข่ายเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม “กลุ่มหลัก” ที่รัฐบาลเคยแกะรอย ตามไปจนพบความเคลื่อนไหว-ได้ชื่อ “คีย์แมน” ที่มีบทบาททางความคิดและกำหนดแผนเคลื่อนพลกระแทกรัฐบาลคือ “ผู้มีอำนาจในเครื่องแบบ” ทว่าไม่มีใครกล้าก้าวล่วงโดยตรง อย่างมากก็อ้อมไปกระทบชิ่ง “นายทหารนอกราชการ” แทน

ซ้ำร้ายกว่านั้น “ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ยังออกหน้าอาสาหาตำแหน่งใหญ่ให้นั่งหลังเกษียณอีกด้วย แต่ไม่มีสัญญาณตอบรับจาก “ตึกไทยคู่ฟ้า”

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ “กุนซือยิ่งลักษณ์” รู้ว่าลีลาแอ๊คอ๊าทของ “ร.ต.อ.เฉลิม” เป็นอาการปกติของคนที่ขยาดทหารขึ้นสมอง เนื่องจากมีประสบการณ์ด้านร้ายจาก “ชายชุดเขียว” ในเหตุการณ์ปฏิวัติหลายหน เมื่อถูกขอจึงคิดว่าเป็นคำขู่และไม่กล้าปฏิเสธ

ทว่าเหตุผลส่วนสำคัญ สืบเนื่องจาก “การข่าวลับ” ที่รายงานตรงขึ้น “ตึกไทยคู่ฟ้า” ระบุว่า “นายพลคนดัง” เกี่ยวข้องกับการจัดรูปขบวนของ “ม็อบแช่แข็งประเทศไทย” ภายใต้การนำของ “เสธ.อ้าย-พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์” ที่ออกมารวมพลขับไล่รัฐบาลเมื่อปลายปี 2555

แม้สุดท้ายมวลชนจะแตกกระจายไปอย่างไม่เป็นขบวนท่า หลัง “เสธ.อ้าย” ชิงประกาศสลายตัวเอง

แม้ไม่มีคำสั่งจาก “ประมุขตึกไทยคู่ฟ้า” ให้จัดการ “นายพลคนดัง” เพราะไม่ต้องการให้เกิดปัญหากระทบกระทั่งระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ

แต่ชื่อของเขาไม่เคยหายไปจากบัญชี “บุคคลที่ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด” จึงเป็นไปไม่ได้ที่ “ยิ่งลักษณ์” จะจัดตำแหน่ง-แบ่งบทบาทคุมกำลังพลและกำลังเงินให้ใครคนนั้นตามที่ “ร.ต.อ.เฉลิม” ร้องขอ เพราะนั่นเท่ากับเป็นการโยนดาบให้ศัตรู ช่วยสืบทอดอำนาจให้ “ขั้วตรงข้าม”

ตลอดครึ่งค่อนปีที่ผ่านมา หากดูเผินๆ อาจเห็น “ยิ่งลักษณ์กับพวก” ปฏิบัติกับ “นายพลคนดัง” ปกติราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่คนวงในยืนยันว่าเรื่องแต่หนหลังคือปมคาใจแบบสุดๆ

ถึงวันนี้เมื่อรัฐบาลเริ่มระส่ำจากปมจำนำข้าว ชาวรากหญ้าซึ่งถือเป็นฐานเสียงหลักพรรคเพื่อไทย-เกราะป้องกันภัยชั้นดีของรัฐบาล กำลังจะกลายร่างเป็น “ม็อบ” เสียเอง

ไม่มีใครรู้ว่า “นารี 1” รู้สึกหวิวแค่ไหนเวลาเห็นหน้า “ทั่นนายพล”!!!

 ที่มา.สำนักข่าวอิศรา
/////////////////////////////////////////////////////////

ชาวนาผู้สร้างชาติ !!?

คุณประสิทธิ์ บุญเฉย เป็นนายกสมาคมชาวนาไทย ออกมายืนยันว่า

ขอให้รัฐบาลเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าวต่อไปเพราะเป็นนโยบายที่ชาวนาได้ประโยชน์อย่างแท้จริง เพียงแต่รัฐบาลปรับตัวเลขราคาจำนำจากตันละ 1.5 หมื่นบาท เหลือตันละ 1.2 หมื่นบาท ที่เป็นราคาที่ชาวนาปลูกข้าวแล้วไม่ขาดทุน

แค่ปลูกแล้วไม่ขาดทุน มันจะเป็นการช่วยชาวนาได้อย่างไร

ย้อนกลับหันหลังมองกลับกันเข้าไปในอดีต

ที่ดินราคาวาละล้านกว่าบาทในชานกรุงเทพ มหานครในวันนี้ เมื่อไม่ถึงห้าสิบปีที่แล้วมัน เป็นที่ดินทำนาเป็นกรรมสิทธิ์ของชาวนา

แล้ววันนี้มันเป็นที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของใคร

พ่อค้าคนกลางที่เคยหากินอยู่กับชาวนาใน คราวนั้น กลายเป็นเจ้าของที่ดินที่เคยเป็นท้องนา ในวันนี้ที่ดินของชาวนาสร้างธนาคารที่มีเงินหมุน เวียนเป็นล้านๆ แสนล้าน ราคาข้าวในตลาดยามที่ข้าวยังอยู่ในมือชาวนากับราคาข้าว ในวันที่ผ่านโรงสีและเข้าไปเก็บไว้ฉาง ก็กำหนดกันขึ้นมาจากห้องประชุมในธนาคารแห่งนั้น

มันจะเป็นเช่นนั้นอีกนานแสนนาน หากว่าไม่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เข้ามาแก้ไขดำเนินการเพราะจะพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาไม่ได้ หากยังปล่อยให้คนไทยครึ่งประเทศ มีปัจจุบันและอนาคตที่น่ารันทดและเศร้าสลด

พรรคประชาธิปัตย์ เป็นพรรคมาแล้ว กว่าหกสิบปี ท่านมีหน้าที่แต่ท่านไม่เคยทำ วันนี้ ยังจะกลับมาขัดขวาง จะยืนตรงข้ามกับความกินดีอยู่ดีของชาวนา วันข้างหน้า ชาวนาที่ไหนจะมาเลือกท่าน

ถ้าจะเล่นงานรัฐบาล ประชาธิปัตย์ต้องไล่ ให้ได้จับให้ทันกับการฉ้อราษฎร์บังหลวงที่มากับโครงการนี้

ถ้าจะล้มรัฐบาล ก็ดูที่พวกเขาเข้าไปโกงกิน หรือไม่ใช้นโยบายเพื่อประโยชน์ของกลุ่มเขาหรือไม่

ถ้ามันจะขาดทุน เพราะทำกำไรให้ชาวนา ก็ต้องถามว่า เมื่อเงินในมือไหลกลับเข้ามาใน ตลาดก่อนจะกลับเข้าไปสู่ท้องพระคลังนั้นมันเป็นเรื่องดีหรือไม่

โดย .พญาไม้,บางกอกทูเดย์
////////////////////////////////////////////////////////////

รัฐปั้นตัวเลขนาปี กลบขาดทุน !!?

 ข้าวงอก 2.5 ล้านตัน ชี้รัฐบาลปั้นตัวเลขข้าวนาปีเพิ่มมูลค่าข้าวคงเหลือในสต๊อก หวังลดขาดทุนโครงการรับจำนำข้าวนาปี 2555/56 ส่งผลจำนำข้าว 3 โครงการขาดทุนไม่เกิน 175,000 ล้านบาท ด้าน "บุญทรง" หนีตาย ยอมขายข้าวให้ผู้ซื้อต่างประเทศ

แม้ว่ารัฐบาลจะออกมา "ยอมรับ" ตัวเลขการขาดทุนจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก (นาปี 2554/55-นาปรัง 2555) จำนวน 136,896.80 ล้านบาท ของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตามนโยบายรัฐบาล ชุดของ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลังไปแล้วก็ตาม แต่ตัวเลขการขาดทุนดังกล่าวเป็นตัวเลขขาดทุนที่ยังไม่รวมโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2555/56 เข้าไปด้วย โดยโครงการรับจำนำล่าสุดนี้ คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯได้ประมาณการขาดทุนเบื้องต้นไว้สูงถึง 84,071 ล้านบาท ส่งผลให้ผลการดำเนินโครงการรับจำนำทั้ง 3 โครงการ จะต้องมีตัวเลขขาดทุนสูงถึง 220,967.80 ล้านบาท

น.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก แสดงความสงสัยตัวเลขข้าวสารที่นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพิ่งค้นพบว่า ไม่มีการลงบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2555/56 อีก 2.5 ล้านตันถึงที่มาที่ไปของตัวเลขดังกล่าว โดยเชื่อว่า เป็นไปไม่ได้ที่องค์การคลังสินค้า (อคส.)-องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) จะไม่ลงบัญชีข้าวที่อ้างว่าอยู่ในระหว่างการสีแปรของโรงสีสูงมากมายถึงเพียงนี้

เพราะหากมีการ "ยอมรับ" ให้ตัวเลขข้าวชุดนี้สามารถลงบัญชีได้ เท่ากับมูลค่าปริมาณข้าวคงเหลือในสต๊อกรัฐบาลปีปัจจุบันจะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผลการขาดทุนของโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2555/56 ที่รัฐบาลยังไม่ยอมนำไปรวมกับผลการขาดทุนอีก 2 โครงการข้างต้น (นาปี 2554/55-นาปรัง 2555) "ลดลงทันที"

ด้านรัฐบาลเองได้พยายามที่จะ "ยืนยัน" การมีอยู่ของข้าวที่ไม่ได้ลงบัญชีจำนวน 2.5 ล้านตัน หลังจากที่ตัวเลขชุดนี้ถูกสร้างขึ้นมาแล้ว ด้วยการตั้งคณะทำงานตรวจสอบสต๊อกข้าว มี พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง รองเลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ล่าสุดได้มีการประชุมเพื่อกำหนดกรอบการทำงานไปแล้ว โดยมีการประเมินว่า หากนำข้าวสารที่ได้จากการรับจำนำปี 2555/56 ในส่วนที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) กับองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) อ้างว่า ลงบัญชีไม่ครบ 2.5 ล้านตันมาคำนวณตามมูลค่าตลาด ณ ราคาตันละ 18,000-19,000 บาท จะมีมูลค่ารวม 45,000-48,000 ล้านบาท เมื่อนำมาหักลบจากตัวเลขขาดทุนปี 2555/56 รอบแรกที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯเคยคำนวณไว้ 84,071 ล้านบาท จะมีผลทำให้ยอดขาดทุนโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2555/56 ลดลงเหลือ 36,000-39,000 ล้านบาท

"หากเรายอมรับว่ามีตัวเลขข้าวสารยังไม่ได้ลงบัญชีอีก 2.5 ล้านตันเกิดขึ้นมาจริง ๆ แล้ว ผลการขาดทุนโครงการรับจำนำข้าวเปลือกทั้ง 3 โครงการของรัฐก็จะมีตัวเลขการขาดทุนอยู่ระหว่าง 172,896.80-175,896.80 ล้านบาท หรือไม่ถึง 220,967.80 ล้านบาท ตามผลการคำนวณของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ตรงนี้จึงเป็นคำอธิบายที่ว่า ทำไมรัฐบาลจึงมีความพยายามอย่างเหลือเกินที่จะต้องมีตัวเลขข้าว 2.5 ล้านตันเข้ามาเพื่อเพิ่มมูลค่าข้าวคงเหลือในสต๊อกรัฐบาลให้ได้ ส่วนตัวเลขชุดนี้จะมีความเป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับผลการตรวจสอบสต๊อกของคณะทำงานชุด พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง แต่ก็เกิดข้อครหาขึ้นมาอีกว่า รัฐบาลตั้งขึ้นมาเพื่อตรวจสต๊อกข้าวของรัฐบาลเอง จะมีความน่าเชื่อถือได้แค่ไหน" แหล่งข่าวในวงการค้าข้าวตั้งข้อสังเกต

ส่วนการประกาศลดราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2556 (จำนำข้าวรอบ 2) ลงเหลือตันละ 12,000 บาท (ข้าวขาว) แหล่งข่าวในวงการค้าข้าวกล่าวว่า น่าจะนำมาจากสูตรการคำนวณสูตรที่ 2 ในระหว่างการหารือเรื่องการลดราคารับจำนำข้าวเปลือกในที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) กล่าวคือ คิดราคาต้นทุนตันละ 8,400 บาท บวกกำไรให้เกษตรกร 25% และให้ค่าขนส่งข้าวอีก 10%

"การเลือกใช้สูตรที่ 2 รวมทั้งจำกัดปริมาณข้าวที่ชาวนาจะนำมาจำนำกับรัฐบาล จะช่วยให้รัฐบาลลดภาระค่าใช้จ่ายในการรับจำนำข้าวเปลือกลงไปได้ตันละ 3,000 บาท สำหรับข้าวนาปรังปี 2556 (จำนำข้าวรอบ 2) ที่คาดว่าจะมีคงเหลือค้างอยู่ในมือของเกษตรกรราว 2.5 ล้านตันข้าวเปลือก หรือ คิดเป็นเม็ดเงินรับจำนำที่จะลดลงได้ราว 7,500 ล้านบาท แก้ปัญหาการหมุนเงินจากการระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลให้กับ ธ.ก.ส.ที่ไม่เป็นไปตามแผนของกระทรวงพาณิชย์ได้ระดับหนึ่ง" แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงยืนยันว่า ยอดการใช้เงินในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกยังเป็นไปตามกรอบวงเงินเดิมที่ให้สำนักงานบริหารหนี้สิน (สบน.) กู้ 410,000 ล้านบาท และจากสภาพคล่องของ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 90,000 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส.ยังไม่มีการสำรองเงินเพิ่มเติม นอกจากนี้ แม้ว่าในส่วนของ ธ.ก.ส.จะแจ้งว่า ใช้เงินไปแล้ว 6.6 แสนล้านบาทก็ตาม แต่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติให้ตั้งงบประมาณชดเชยส่วนที่จ่ายเกินได้ปีละ 100,000 ล้านบาท จึงยังถือว่ายังไม่เกินกรอบวงเงินข้างต้น

"หลังจากที่รัฐบาลตัดสินใจลดราคารับจำนำข้าวลง จะส่งผลให้ราคาข้าวภายในประเทศปรับลดลงบ้างเล็กน้อย ส่วนราคาข้าวส่งออกคาดว่าจะปรับลดลงมาอยู่ที่ 500 เหรียญ/ตัน ซึ่งจะส่งผลดีกับการระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาล และยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ส่งออกข้าวไทย โดยมีการประเมินว่า ตัวเลขการส่งออกข้าวปี 2556 น่าจะเพิ่มขึ้น จากที่วางเป้าหมายไว้ 8.5 ล้านตันได้ แต่ขึ้นอยู่กับแนวทางการระบายของคณะอนุกรรมการระบายข้าวว่า จะมีรูปแบบใหม่อย่างไร" แหล่งข่าวกล่าว

ล่าสุดมีรายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์เข้ามาว่า กรมการค้าต่างประเทศกำลังอยู่ระหว่างจัดทำแนวทางปฏิบัติเพื่อระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาล ตามแนวทางที่ขอความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ควรจะมีการระบายด้วยการเปิดประมูลรูปแบบอื่น อาทิ การให้ผู้ซื้อต่างประเทศ/โบรกเกอร์ เข้ามาซื้อข้าวในสต๊อกรัฐบาลได้

แต่วิธีการซื้อขายตรงกับผู้ซื้อข้าวต่างประเทศ รัฐบาลไม่อาจจะดำเนินการได้ เพราะอาจจะขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 89 ดังนั้นจึงมีการประสานไปยังสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ขอให้เข้ามาเป็น "คนกลาง" ในการซื้อข้าวระหว่างผู้ซื้อต่างประเทศกับรัฐบาล โดยใช้ชื่อเอกชนไทยเป็นผู้ซื้อข้าวรัฐแทน เบื้องต้นทางสมาคมตอบรับในหลักการ ต่อจากนั้น นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะเสนอต่อที่ประชุม กขช.ต่อไป

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
/////////////////////////////////////////////////////////

วันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2556

คำเตือน : สีจิ้นผิงเรื่องกระสุนเคลือบน้ำตาล !!??

เมื่อคณะกรรมการกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน ได้ประกาศใช้กฎเหล็ก 11 ประการ ตามข้อเสนอของนายสีจิ้นผิงแล้ว นายสีจิ้นผิงได้กล่าวปราศรัยในเวลาต่อมา เตือนทั่วทั้งพรรค โดยเฉพาะผู้นำระดับสูงต่างๆ  ให้ผลักดันการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง

                นายสีจิ้นผิงย้ำว่า ถ้าไม่ปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างจริงจังแล้ว พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็อยู่ไม่ได้ และให้ถือว่าภารกิจในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นภาระใจกลางอย่างหนึ่งของจีนในสถานการณ์ปัจจุบัน และเป็นความเป็นความตายของพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วย

                นายสีจิ้นผิงย้ำเตือนว่า ผู้นำพรรคระดับสูงทั้งหมดและทั่วทั้งพรรคจะต้องระมัดระวัง“กระสุนเคลือบน้ำตาล” ที่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน กองทัพปลดแอกประชาชนจีน รัฐบาลจีน ประเทศจีน และประชาชาติจีนทั้งมวลด้วย

                “กระสุนเคลือบน้ำตาล”คืออะไร? และหลังจากนายสีจิ้นผิงกล่าวความข้อนี้ ก็ทำให้ชาวพรรคคอมมิวนิสต์จีนและประชาชนจีนจำนวนมาก ต้องหวนย้อนไปศึกษาค้นคว้าสรรนิพนธ์เหมาเจ๋อตุงกันอีกครั้งหนึ่ง

                เพราะคำว่า“กระสุนเคลือบน้ำตาล” เป็นส่วนหนึ่งของสุนทรพจน์ครั้งสำคัญของประธานเหมาเจ๋อตุงที่เตือนทั่วทั้งศูนย์การนำ เตือนทั่วทั้งผู้นำกองทัพ เตือนชาวพรรคคอมมิวนิสต์ทั้งมวลอย่างหนักแน่นจริงจัง

                ในครั้งนั้นหลังจากกองทัพปลดแอกประชาชนจีนได้รับชัยชนะในสามยุทธการใหญ่ คือ ยุทธการเหลียวเซิ่น ยุทธการหวายไห่ และยุทธการเป่ยผิง-เทียนสินแล้ว พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนก็ได้อำนาจรัฐทั่วภาคเหนือและภาคอีสานของจีนทั้งหมด

                มีการประชุมใหญ่ศูนย์กลางพรรค ศูนย์กลางการนำทางทหาร และศูนย์กลางการนำมวลชน ซึ่งในโอกาสนั้นประธานเหมาเจ๋อตุงได้ชี้นำสถานการณ์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงสู่ขั้นใหม่ว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนกำลังเข้าสู่สถานการณ์ครองอำนาจรัฐทั่วประเทศ สงครามที่ต่อสู้กันด้วยกำลังอาวุธและกระสุนเหล็กกำลังจะสิ้นสุดลง

                ประธานเหมาเจ๋อตุงได้ชี้นำสถานการณ์ขั้นใหม่ว่า เมื่อสถานการณ์สงครามด้วยอาวุธสิ้นสุดลงแล้ว พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้อำนาจรัฐทั่วประเทศจีนแล้ว การจัดตั้งรัฐบาลรวมของประชาชาติจีนก็จะเกิดขึ้น พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็จะเข้าสู่สถานการณ์ขั้นใหม่

                นั่นคือสถานการณ์การเข้าสู่อำนาจรัฐ และในสถานการณ์นี้ประธานเหมาเจ๋อตุงได้เตือนว่าสิ่งที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีความชำนาญ(คือการทำสงครามปลดแอกและทำสงครามประชาชาติ) กำลังจะใช้ไม่ได้ สิ่งที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่ถนัดและไม่มีประสบการณ์กำลังเป็นภารกิจหลักของพรรค นั่นคือการสถาปนาประเทศจีนใหม่ การปกครองประเทศจีน การนำพาประชาชาติจีนให้ก้าวพ้นจากความลำบากยากจนและมีความเป็นเอกภาพ แข็งแกร่ง มีศักดิ์มีศรี

                สิ่งใหม่ที่กำลังเผชิญหน้าอยู่เป็นสิ่งที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่เคยมีและไม่เคยมีบทเรียน เป็นสถานการณ์ที่จะเข้าสู่สงครามแบบใหม่ที่มีความท้าทายและรุนแรงไม่แพ้สงครามแบบเก่าที่ใช้กำลังอาวุธ

                ประธานเหมาเจ๋อตุงได้ชี้ว่า ในสถานการณ์ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้อำนาจรัฐนั้น สหายทั้งหลายจะต้องระมัดระวังกระสุนเคลือบน้ำตาล และกระสุนเคลือบน้ำตาลนี้จะเป็นอันตรายร้ายแรงยิ่งกว่าสงครามที่ต่อสู้กันด้วยกระสุนเหล็ก

                นั่นคือคำเตือนของผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของจีน ก่อนจะมีการประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน

                และแม้จะมีคำเตือนในสุนทรพจน์ครั้งสำคัญเช่นนั้นแล้ว ปรากฏว่าหลังจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้อำนาจรัฐได้ราว 20 ปี เหมาเจ๋อตุงก็ต้องเคลื่อนไหวปฏิวัติวัฒนธรรมอันลือลั่นในประเทศจีน

                การปฏิวัติวัฒนธรรมของจีนเนื้อหาสำคัญส่วนหนึ่งก็คือการต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชั่น การฟื้นตัวขึ้นของลัทธิขุนนางและทุนนิยมภายในพรรค แต่ด้วยการปฏิบัติและการนำของศูนย์กลางพรรคในขณะนั้นมีลักษณะเอียงซ้าย รุนแรง และขาดการจำแนกดังที่ได้มีการประเมินฐานะทางประวัติศาสตร์ของเหมาเจ๋อตุงไว้ จึงก่อให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวง

                และผลการประเมินฐานะทางประวัติศาสตร์นั้นก็ชี้ว่าความผิดพลาดในการปฏิวัติวัฒนธรรมเป็นความผิดพลาด 30% ของผลงานทั้งปวงในชีวิตของเหมาเจ๋อตุง โดยมีผลงานที่ดีและถูกต้อง 70%

                เติ้งเสี่ยวผิง ผู้เป็นแกนหลักในการประเมินฐานะทางประวัติศาสตร์ของเหมาเจ๋อตุงสรุปไว้ว่า ในความผิดพลาด 30%ของสหายเหมาเจ๋อตุงนั้น จะโทษเหมาเจ๋อตุงคนเดียวไม่ได้ เพราะทุกคนมีส่วนร่วมรับผิดชอบด้วย

                หลังการปฏิวัติวัฒนธรรมผ่านไปใกล้จะ 40 ปีแล้ว วันนี้ศูนย์การนำรุ่นที่ 5 ที่มีสีจิ้นผิงเป็นศูนย์กลางก็ได้เปิดฉากดำเนินการปฏิรูปพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ที่ถึงขนาดระบุว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาความเป็นความตายของพรรค กองทัพ รัฐบาลและประเทศจีนด้วย

                นึกดูเอาเถิด หากไม่มีการต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชั่นครั้งสำคัญ ๆ และอย่างต่อเนื่องแล้ว วันนี้สถานการณ์ในประเทศจีนจะเป็นอย่างไร? จะมิกลายเป็นสหภาพโซเวียตที่สองไปแล้วหรือ!

                สำหรับประเทศไทยของเรา ไม่เพียงแต่การทุจริตคอร์รัปชั่นขยายตัวเติบโตและรุนแรงอย่างไม่หยุดยั้ง อย่างต่อเนื่อง ชนิดไม่เกรงฟ้า ไม่อายดิน โกงทุกเรื่อง โกงทุกโครงการ โกงเย้ยฟ้าท้าดิน และไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น อย่างนี้บ้านเมืองของเราจะอยู่รอดได้อย่างไร?

                และนี่ก็คือภารกิจของชาวไทยทั้งประเทศที่ต้องร่วมแรงร่วมใจกันกำจัดกวาดล้างพวกโกงบ้านผลาญเมืองให้สิ้นซาก!


ที่มา.นสพ.แนวหน้า
////////////////////////////////////////////

วันเสาร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2556

รถใหญ่ผิดเสมอ !!?

ท่านผู้อ่านคงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า "รถใหญ่ ผิดเสมอ" หรือ "รถเล็ก ยังไงก็ถูกเสมอ" ไหมครับ แล้วอะไรคือ "รถใหญ่" อะไรคือ "รถเล็ก"

รถ หมายถึง รถหลายประเภท ยกตัวอย่าง เช่น รถเก๋ง รถกระบะ รถสองแถว รถโดยสาร รถบรรทุก รถพ่วง รถไฟ รวมไปถึงรถจักรยานยนต์และจักรยาน การเรียก "รถใหญ่" หรือ "รถเล็ก" ใช้ในการเปรียบเทียบขนาดของรถ เช่น รถเก๋ง กับรถจักรยานยนต์ แน่นอนว่ารถเก๋งย่อมมีขนาดใหญ่กว่ารถจักรยานยนต์ แต่ถ้าเทียบระหว่างรถเก๋งกับรถบรรทุกแล้วรถเก๋งย่อมมีขนาดเล็กกว่ารถบรรทุก เป็นต้น

ในทางกฎหมายแล้ว ทั้งกฎหมายอาญาและกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ ไม่มีบัญญัติไว้หรอกครับว่าบุคคลที่ขับรถใหญ่กว่าคู่กรณีจะเป็นฝ่ายผิด จะมีก็แต่ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 39 บัญญัติไว้ในเรื่องการเดินรถในทางแคบ เมื่อเดินรถสวนกันผู้ขับขี่จะต้องลดความเร็วของรถเพื่อให้รถสวนกันได้อย่างปลอดภัย ผู้ขับขี่ที่ขับรถคันใหญ่กว่าจะต้องหยุดรถให้ชิดขอบทางรถด้านซ้าย เพื่อให้ผู้ขับขี่รถคันที่เล็กกว่าผ่านไปได้ หากผู้ขับขี่รถคันที่ใหญ่กว่าไม่ปฏิบัติตาม จะต้องระวางโทษปรับตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ครับ

พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ได้ตราขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ.2522 ซึ่งการคมนาคมในสมัยนั้นถนนหนทางไม่ได้มี 6 เลนหรือ 8 เลน เหมือนปัจจุบัน ขณะนี้ พ.ศ.2556 แล้วตามตรอกซอกซอยเล็กๆ ก็ยังคงใช้มาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.จราจรบังคับอยู่ คือรถใหญ่จะต้อง หยุดรถชิดขอบทางด้านซ้าย เพื่อให้รถเล็กไปก่อน เพราะถ้าหากสวน กันในทางแคบเกิดเฉี่ยวชนกัน เกิดความเสียหายขึ้นมา รถใหญ่ต้องผิดแน่นอนครับ

ส่วนในเรื่องที่พูดกันว่าเมื่อ "รถใหญ่" ชน "รถเล็ก" จะมีการตั้งข้อหาหรือสันนิษฐานไว้ก่อนว่ารถใหญ่เป็นฝ่ายผิด เป็นเรื่องของ "ความเสียหาย" ที่เกิดขึ้นครับ เมื่อรถใหญ่ชนกับรถเล็ก ความเสียหายในชีวิตและร่างกายมักจะเกิดกับผู้ที่ขับขี่ หรือคนที่โดยสารมากับรถที่เล็กกว่า ย่อมได้รับแรงปะทะจากการชนของรถใหญ่ รถที่เล็กกว่าจะได้รับความเสียหายมากกว่า ผู้ที่ขับขี่รถเล็กมีโอกาส ที่จะได้รับบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิตมากกว่า อย่างที่มีคำเปรียบเปรยว่า ผู้ขับรถยนต์นั้นเป็น "เหล็กหุ้มเนื้อ" ส่วนคนที่ขับขี่รถจักรยานยนต์นั้นเป็น "เนื้อหุ้มเหล็ก" นั่นละครับ

จากสถิติการเสียชีวิตและพิการจากอุบัติเหตุบนท้องถนนมักเกิดขึ้นกับผู้ที่ขับขี่จักรยานยนต์ และเมื่อมีการบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุแล้ว คู่กรณีอีกฝ่ายซึ่งมักจะเป็นผู้ขับขี่รถที่ใหญ่กว่า จะโดนข้อกล่าวหาว่าขับขี่รถโดยประมาททำให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส หรือขับขี่รถโดยประมาททำให้ผู้อื่นเสียชีวิต แล้วแต่กรณี อันนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา

ในขณะที่หากเป็นกรณีรถจักรยานยนต์ชนท้ายรถเก๋ง รถเก๋งเสียหาย แต่ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ จะไม่โดนข้อหาว่าประมาททำให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย เพราะในประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้ระบุหรือมีฐานความผิดฐานประมาททำให้ผู้อื่นเสียทรัพย์ครับ (ผมเคยเขียนถึงเรื่องประมาททำให้ผู้อื่นเสียทรัพย์มาก่อนหน้านี้แล้ว) อย่างไรเสียหากผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์จะต้องชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นก็เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ครับ

จะเห็นได้ว่าเมื่อเกิดเหตุ และมีความเสียหายต่อชีวิตและร่างกายเกิดขึ้นเจ้าพนักงานตำรวจจะแจ้งข้อหาผู้ขับขี่รถใหญ่เอาไว้ก่อน ผู้ที่ขับรถใหญ่กว่าจะพ้นข้อกล่าวหา ก็ต่อเมื่อมีการพิสูจน์ได้ว่าผู้ขับขี่รถเล็กกระทำผิดกฎจราจร เช่น ฝ่าสัญญาณไฟจราจร ฝ่าสัญญาณกั้นทางรถไฟ แซงทางซ้าย ขับรถไม่อยู่ในเลนของตน ทำให้เกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนกันขึ้น

ในทางประเพณีปฏิบัติเมื่อสอบสวนแล้ว ถ้าปรากฏว่าผู้ที่ขับขี่รถใหญ่กว่าไม่ผิด/ไม่มีความผิด แต่คู่กรณีซึ่งเป็นผู้ขับขี่รถเล็กกว่า ได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมักจะเจรจาให้อีกฝ่ายช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ หรือช่วยเหลือค่าปลงศพผู้ที่เสียชีวิต ซึ่งจริงๆ แล้วกฎหมายไม่ได้ บังคับไว้นะครับ ถือเป็นการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม ที่ช่วยเหลือผู้ที่ร่วมประสบอุบัติเหตุ มีความทุกข์จากการสูญเสีย เพราะขึ้นชื่อว่าอุบัติเหตุไม่มีใครอยากให้เกิดหรอกครับ หากพอจะช่วยเหลือกันได้ ก็ช่วยเหลือกันไป แต่ถ้าช่วยไม่ได้ หรือไม่มีจะช่วยจริงๆ ก็ไม่ว่ากันครับ เพราะกฎหมายไม่ได้บังคับไว้ครับ

"รถใหญ่ ไม่ได้ผิดเสมอ" นะครับ เพราะเรื่องที่ว่าผิดหรือไม่ผิดนั้น กระบวนการทางกฎหมายให้ความ "ยุติธรรม" แก่ท่านได้แน่นอนครับ แต่ในเรื่องของ "คุณธรรม" แล้ว ขึ้นอยู่ กับจิตใจของคนแต่ละคนครับ

ที่มา.สยามธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////

สูตรเด็ดเศรษฐกิจไทย Reconstruction สู่ New Economy ชู เกษตร ท่องเที่ยว และ สุขภาพ สู่เวทีโลก !!?

วิเคราะห์เศรษฐกิจ : นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ที่ปรึกษาอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เศรษฐกิจไทยในปี พ.ศ.2556 คาดการณ์ว่าคงเติบโตอยู่ในระดับร้อยละ 4 – 5 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ทำนายไว้ ทั้งนี้ เพราะปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยยังคงจำกัดอยู่ใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการส่งออก ด้านการลงทุนของภาคเอกชน และด้านการใช้จ่ายของภาครัฐ และเชื่อว่าในอีก 1–2 ปีข้างหน้าเศรษฐกิจไทยก็จะยังไม่เติบโตรุดหน้าเกินไปกว่านี้

การมองอนาคตประเทศไทยควรมองไปข้างหน้าและปรับกระบวนทัศน์ใหม่เพื่อให้ประเทศไทยสามารถก้าวเดินและเติบโตต่อไปบนเวทีโลกได้อย่างเต็มที่ สำหรับปัจจุบันการเปลี่ยนแปลง (Change) ประเทศไทยนั้นไม่เพียงพอ แต่จำเป็นต้องสร้างใหม่หมด (Reconstruction) เพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ เนื่องจากการบริหารโลกต่อจากนี้ไปจะอยู่ในระบอบใหม่ที่เรียกว่า "ข้อตกลง" ประเทศไทยจะต้องเผชิญหน้ากับข้อตกลงทุกรูปแบบที่เกิดขึ้นในทุกภูมิภาคของโลก ข้อตกลงเหล่านี้เป็นเครื่องมือหลักในการบริหารการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมของโลก และขับเคลื่อนให้โลกเป็นหนึ่งเดียวภายใต้มาตรฐานและกฎหมายเดียวกัน หรือที่เรียกว่า “1 มาตรฐาน 1 กฎหมาย = 1 โลก” เป็นการก้าวเดินสู่ระบบ “เศรษฐกิจใหม่” (New Economy)

การค้าในระบบเศรษฐกิจใหม่ จะทำให้ 1. ภาษีนำเข้าสินค้าลดลง 2.พื้นที่ตลาดกว้างขึ้น 3.การแข่งขันรุนแรงขึ้นทั้งปริมาณและคุณภาพ 4.การเคลื่อนย้ายทุนเพิ่มขึ้น 5.การเดินทางเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ภายใต้เศรษฐกิจใหม่ที่ว่านี้ นักธุรกิจจะต้องปรับตัวและเปลี่ยนวิธีคิด เนื่องจากปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงในการดำเนินธุรกิจที่เคยเรียงลำดับความสำคัญจาก 1.การเมือง (Politics) 2.เศรษฐกิจ (Economics) 3.สังคม (General Public) และ 4.สิ่งแวดล้อม (Environment) จะต้องเปลี่ยนใหม่เป็น 1.สิ่งแวดล้อม (Environment) 2.สังคม (General Public) 3.เศรษฐกิจ (Economics) 4. การเมือง (Politics)

ธุรกิจหลักที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนประเทศไทยภายใต้ระบบเศรษฐกิจใหม่ จะมีด้วยกัน 3 ธุรกิจ ได้แก่ 1.เกษตรและอาหาร ทั้งนี้ เพราะประเทศไทยมีน้ำมันบนดิน มีสินค้าเกษตรที่เป็นได้ทั้งอาหารและพลังงาน และต่อไปอนาคตอาหารจะถูกออกแบบให้เป็นยาด้วยเทคโนโลยีชั้นดี 2.การท่องเที่ยว ประเทศไทยมีทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวที่สมบูรณ์โดยสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการมากที่สุดคือ ในเรื่องของความปลอดภัย 3.การบริการด้านสุขภาพ แพทย์ และพยาบาลเป็นอาชีพที่มีความจำเป็นสูงในอนาคต ที่กระทรวงสาธารณสุขต้องสร้าง เพราะสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญ

ข้อตกลงต่างๆ นี้ถึงแม้จะเป็นเครื่องมือในการบริหารโลกที่กำหนดให้แต่ละประเทศเดินตาม แต่ในขณะเดียวกันก็ใช่เครื่องสกัดกั้นการเติบโต ต้องยอมรับว่าในระบบระบบเศรษฐกิจใหม่โลกจะขับเคลื่อนด้วยเครื่องมือนี้ จึงขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้นำในการพัฒนาประเทศ ประเทศไทยจะต้องให้ความสำคัญโดยผู้มีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ได้แก่ 1.ผู้ประกอบการ 2.นักการเมือง 3.ข้าราชการ และ 4.NGO จะต้องร่วมกันระดมสมองวางแผนประเทศไทยให้เดินหน้าเพื่อเอาชนะข้อตกลงต่างๆ เหล่านี้ให้ได้

ที่มา.สยามธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////

สึนามิ AEC กำลังจะมา !!???

เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2559 มาถึง แม้ดวงตะวันจะยังมีขนาดเท่าเดิม หมุน แบบเดิม น้ำยังขึ้นยังลงเหมือนเดิม แต่ อาเซียนจะเปลี่ยนไป จะอยู่กันเหมือนประเทศเดียวกัน

การเคลื่อนย้ายแรงงาน การเคลื่อน ย้ายการลงทุน จะคึกคักตามกฎระเบียบที่เปิดกว้างขึ้น เมื่อวันนั้นมาถึงประเทศไทยมีความพร้อมจริงหรือ?

"สยามธุรกิจ" กะเทาะมุมมอง ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยในเวทีอาเซียน ผ่านงานสัมมนา BU Asian Alumni Business Forum ซึ่งจัดโดยสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยบอสตันในประเทศไทย

ดร.สุรินทร์เปิดฉากด้วยคำพูดว่า 5 ปีที่อยู่ในตำแหน่งเลขาธิการอาเซียน พบว่าประเทศที่สร้างปัญหาให้มากที่สุดคือไทย เปลี่ยนนายกรัฐมนตรีทุกปี เมื่อผู้นำเปลี่ยน นโยบายก็เปลี่ยน จึงเป็นประเทศสุดท้ายที่ให้สัตยาบันกับอาเซียน เหตุผลที่เป็นประเทศสุดท้ายเพราะนโยบายไม่ลงตัว

"ฝรั่งถามผมว่าทำไมไทยจึงเป็นประเทศสุดท้ายที่ลงสัตยาบัน ผมยกอุปมา อุปไมยสมัยพุทธกาลปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ที่มีโกณทัญญะเป็นหัวหน้า โกณทัญญะฉลาดที่สุดแต่ตรัสรู้หลังสุดเพราะ ตั้งคำถามกับพระพุทธเจ้าเยอะ เขาฟัง แล้วก็ชื่นชมว่าคนไทยฉลาด แต่เหตุผล จริงๆ คือทะเลาะกันไม่เสร็จ"

ดร.สุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า ไม่มีประเทศ ไหนที่จะแข่งขันในโลกยุคโลกาภิวัตน์โดยไม่ลงทุนเรื่องการวิจัย ญี่ปุ่นใช้งบประมาณ 2.4% ของรายได้ประชาชาติต่อปี ลงทุนด้านการวิจัย เกาหลี 2.8% จีน 1.8% สิงคโปร์ 2.8% ประเทศไทย 0.20% แถมงาน วิจัยของไทยส่วนใหญ่อยู่บนหิ้งหมด ไม่เคย เอามาใช้ จึงน่าเป็นห่วงว่าในอาเซียนเราจะสู้ใครไม่ได้ และอาเซียนเองก็จะสู้คนอื่น ไม่ได้ ถ้าไม่ให้ความสำคัญกับการวิจัย เรา ผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ของคนอื่น ขายสินค้าของคนอื่น เป็นแฟรนไชส์ของคนอื่น ใช้ลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ของคนอื่น ใช้สิทธิบัตรยาของคนอื่น ต้องเปลี่ยนจุดยืนใหม่

"การจะแข่งขันกับคนอื่นข้อมูลต้องแน่นอน ตัวเลขต้องทันสมัย เรียกมาใช้ได้ และใช้อย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 2 ปีก่อนหมดวาระตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนของผมคือ ผมเดินทางไปทุกพื้นที่ในประเทศ ไทย ทุกมหาวิทยาลัย เพื่อที่จะบอกว่าตื่นเถิด อันตรายกำลังมา อาเซียนกำลังมา โลกกำลังมา ปรากฏว่าตื่นกันทั่ว ตอนนี้ไปจังหวัดไหน อำเภอไหน โรงเรียนไหน จะเห็นธงชาติ 10 ชาติและธงอาเซียนติดหรา เพราะตื่นตัว แต่ ตื่นแบบตระหนกมากกว่าตื่นแบบมีสติ สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือตื่นเรื่องอะไรก็ขอ งบประมาณมาใช้ ปีนี้รัฐบาลให้งบเกี่ยวข้องกับการสร้างความรู้เรื่องอาเซียนกว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งไม่รู้ว่าจะคุ้มค่า วัตถุประสงค์หรือเปล่า"

ประเทศไทยพร้อมกับการเป็นประชาคมอาเซียนแน่หรือ ประเทศไทยจะแข่งขันในอาเซียนได้จริงหรือ ในเมื่อการคัดสรรคนมาอยู่ในตำแหน่งทั้งระดับการเมืองและข้าราชการ ไม่สามารถผลักดันยุทธศาสตร์ประเทศไทยได้ เพราะไม่เข้า ใจพื้นฐานอาเซียน ทุกหน่วยงานมีข้อมูลแต่ไม่เคยมีการนำมาใช้ ถ้าเราไม่รู้จุดอ่อน จุดแข็ง เอาคนที่ทำงานไม่เป็นไปทำหน้าที่ สำคัญ จะสู้กับคนอื่นได้ยังไง

"สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือภาคราชการตามความเปลี่ยนแปลงไม่ทัน เพราะมีเงื่อนไขในระบบมากมาย เราเลือกคนมาสู่ตำแหน่งโดยไม่วางอยู่บนพื้นฐานความรู้ความสามารถ ขึ้นอยู่กับว่าเป็นคนของใคร ผมเป็นเลขาธิการอาเซียน 5 ปี มีโทรศัพท์ อีเมล แมสเสจ เกือบทุกวัน ขอให้ช่วยสนับสนุนให้ลูกได้รับการเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง จากทุกหน่วยงาน โดยคิดเพียงว่า ถ้าเขาไม่ทำคนอื่นก็ทำ"

เราจะวางตำแหน่งประเทศไทยยังไงในบริบทใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ที่คนจะไหล กันมากขึ้น แรงงานจะไหลไปมาระหว่างกันมากขึ้น อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลของไทยจะล้มทั้งยืนถ้าพม่ากลับบ้านหมด เพราะคนไทยไม่ทำงานในอุตสาหกรรมนี้ อุตสาหกรรมเกษตรหลายสาขาจะมีปัญหาถ้าเราไม่ดูแลแรงงานต่างด้าว รัฐบาลต้องมีนโยบายเรื่องแรงงานชัดเจน รวมถึงการสร้างแรงงานไทยให้แข่งขันกับคนอื่นได้

ประเทศไทยใช้จ่ายงบประมาณด้าน การศึกษามากที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง ประมาณ 28.5% ของงบประมาณแผ่นดิน ประเทศอื่นต่ำกว่านี้ทั้งนั้น แต่ปรากฏว่าคนที่เข้าเรียนอนุบาล 4 คนจะหลุดออกมาเรียนในระดับปริญญาตรี 2 คน หลังจบการศึกษา 1 คนได้งาน 1 คนว่างงาน เท่ากับ 50% ถือว่าล้มเหลว

"ผมตระหนักดีว่า 2 ปีที่เหลือไม่ทัน หรอกที่จะเข้าสู่อาเซียนด้วยความพร้อม และแข่งขันกับคนอื่นได้ ถ้ายังไม่ตระ-หนัก เราจะเผชิญกับกระแสโลกาภิวัตน์ เหมือนเผชิญคลื่นสึนามิ"

เราสะดวกสบายกับบริบทแบบไทยๆนานเกินไปเราอ้างว่าภาษาอังกฤษไม่ดีเพราะ ไม่เคยเป็นเมืองขึ้น แทนที่จะหาทางแก้ไข ปัจจุบัน ลาว เวียดนาม กัมพูชา พูดภาษา อังกฤษดีกว่าเรา เขาสอบโทเฟลได้คะแนนสูงกว่าเด็กไทย ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก แต่ตัวเลขที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือครูภาษาอังกฤษในโรงเรียนกทม.สอบโทเฟลได้น้อยกว่าเด็กไทย จะแก้ปัญหานี้อย่างไร

"ผมหวังว่าความตระหนกจะค่อยๆเปลี่ยนเป็นความตระหนัก ยังมีหลายสิ่งหลายอย่างต้องแก้ไข แต่อย่าตกใจว่าจะเสียเปรียบทุกอย่าง ข้อได้เปรียบก็มี เช่นเรายังเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์ของอาเซียน ซึ่งต้องยกความดีความชอบให้กับรัฐบาลเมื่อ 35 ปีก่อนที่การันตีกับค่าย รถยนต์ระดับโลกว่าเราจะไม่ผลิตรถไทยออกมาแข่ง ใครใคร่ผลิตเชิญ ทำให้ปัจจุบัน อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยเจริญมากที่สุดในอาเซียน ซึ่งวันนี้อินโดนีเซียกำลังใช้นโยบายของไทยดึงค่ายรถยนต์ใหญ่ๆ เข้าไปตั้งฐานการผลิตรถยนต์สำหรับประชากร 240 ล้านคน การท่องเที่ยวของเรายังเป็นที่ 1 ซึ่งอาเซียนกำลัง คุยกันว่าจะทำการท่องเที่ยวตลาดเดียว คือนักท่องเที่ยวมาประเทศไหนในอาเซียน แล้วไปอีก 9 ประเทศได้ เพราะฉะนั้นที่เคยมาประเทศไทย 7 วัน 7 คืน ต่อไปอาจ จะอยู่แค่ 3 วัน อีก 4 วันไปประเทศข้างเคียง ทำอย่างไรให้เขาใช้จ่ายในประเทศไทยในระดับสูงกว่าที่อื่น นอกจากนี้ทุกอุตสาหกรรมต้องตั้งเป้าการออกไปเติบโตนอกประเทศ เพราะตลาดข้างในจะมีคนอื่น เข้ามาแข่งขันมากขึ้น เหมือนโรงงานทอผ้าย้ายจากกรุงเทพฯ ไปอยู่ชายแดน หรือ ย้ายจากชายแดนไปอยู่ในพม่า ลาว เขมร เพราะกระแสโลกาภิวัตน์ผลักออกไป"

ดร.สุรินทร์ปิดท้ายว่าวันที่ 1 มกราคม 2559 ดวงตะวันยังคงเท่าเดิม น้ำขึ้นน้ำลงเหมือนเดิม โลกหมุนแบบเดิม แต่อาเซียนจะเปลี่ยนไป!!

ที่มา.สยามธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////

วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน !!?

โดย ดร.พรศรี เหล่ารุจิสวัสดิ์ รองกรรมการผู้จัดการที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด

เนื่องจากทรัพยากรบนโลกนี้มีอยู่อย่างจำกัด การผลิตอาหารเพื่อใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่าสูงสุดจึงมีความสำคัญต่อการ ผลิตอาหารให้มีเพียงพอต่อทุกส่วน หากมีการบริหารจัดการทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ย่อมทำให้ได้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นมากกว่ากระบวนการจัดการที่ใช้ทรัพยากรอย่างไม่มีประสิทธิภาพ รูปแบบความร่วมมือที่ก่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารเพิ่มมากขึ้น มีได้หลาย

รูปแบบ โดยขอเสนอบางรูปแบบเพื่อรองรับกับประชากรโลกของโลกที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ที่คาดว่าจะเป็น 9 พันล้านคนในเร็ววันนี้ ได้แก่ 3Ps (Public Private Partnership) โดยมี 2P ที่มีบทบาทแตกต่างกัน คือภาคเอกชน (Private) ที่เป็นผู้ผลิตและผู้ค้า และภาครัฐ (Public) ซึ่งเป็นผู้ที่ดูแลกฎระเบียบ เพื่อชี้ให้เห็นว่าภาคเอกชนที่เผชิญกับการแข่งขันในยุคโลกาภิวัตน์ ต้องหาเครื่องมือมาช่วยทำให้การผลิตและการตลาดให้มีความคล่องตัว

จากความคล่องตัวดังกล่าวจะส่งผลให้ผลิตอาหารได้ดีขึ้นทั้งปริมาณและคุณภาพ ก่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารที่มากขึ้น โดยในที่นี้มีเครื่องมือ 2 ชนิด ได้แก่ ระบบเทคโนโลยี/นวัตกรรม และการจัดการที่บริหารแบบตลอดห่วงโซ่การผลิตและการตลาด โดยเครื่องมือทั้ง 2 รูปแบบนี้มีส่วนสนับสนุนให้เกิดความมั่นคงทางอาหารมากขึ้นได้ เพราะเครื่องมือทั้งสองจะทำให้ระบบการผลิตใช้วัตถุดิบในปริมาณที่



เท่าเดิม หรือน้อยลง แต่ได้รับผลผลิตที่มากขึ้น โดยปัจจัยทั้งเทคโนโลยี/นวัตกรรม และการจัดการที่บริหารแบบตลอดห่วงโซ่การผลิตและการตลาดล้วนเป็นส่วนหนึ่งของ "องค์ความรู้"

องค์ความรู้ดังกล่าวเกิดจากกระบวนการการพัฒนาองค์ความรู้ของภาคเอกชน ที่ถูกผลักดันให้เกิดขึ้นได้ เนื่องจากการแข่งขันในยุคโลกาภิวัตน์ ในขณะที่ภาครัฐเป็นผู้กำหนดและดูแลกฎระเบียบ ดังนั้น หากสร้างความร่วมมือกันในภาครัฐและภาคเอกชนจะก่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารภายใต้กฎเกณฑ์ที่เป็นที่ยอมรับ และเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากขึ้นตามรูปแบบ 3Ps

นอกจากนี้ ในสังคมจะมีผู้ผลิตหลายขนาด หากผู้ผลิตขนาดใหญ่ร่วมมือกับผู้ผลิตขนาดเล็ก และถ่ายทอด "องค์ความรู้" ซึ่งกันและกัน ในห่วงโซ่การผลิตอาหารที่ซับซ้อน และยาวหลายขั้นตอน จะทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ซึ่งจะเป็นอีกรูปแบบที่เรียกว่า 4Ps ((Public Private (P-Big) (P-SMEs) Partnership))

ในทำนองเดียวกัน หากในชุมชนอาเซียน ซึ่งแต่ละประเทศมีทรัพยากรที่แตกต่างกัน มาแลกเปลี่ยนทรัพยากรที่แตกต่างกันเหล่านั้น จะทำให้สังคมในอาเซียนได้ประโยชน์ร่วมกันมากยิ่งขึ้น เกิดองค์ความรู้เพิ่มพูนขึ้น และความมั่นคงทางอาหารก็จะเพิ่มขึ้น

แบบสุดท้าย คือรูปแบบ 5Ps เนื่องจากสังคมยังคงมีกลุ่มคนที่ยากจน ประชากรที่อยู่ห่างไกลและขาดโอกาส แต่ยังคงต้องการความมั่นคงทางอาหารอยู่ ดังนั้น Principle of Social หรือ P ที่ 5 นั้นจะหมายถึงใครก็ได้ที่เกี่ยวข้องกันในสังคม สามารถช่วยเหลือร่วมมือกันได้ เช่น สถาบันการศึกษา ซึ่งได้รับการลงทุนจากรัฐทำให้มีบุคลากร เทคโนโลยี และองค์ความรู้มากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีสถาบันต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาบันวิจัย ผู้นำชุมชน เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล หรือแม้แต่ภาคเอกชนที่ต้องการจะทำ Social Enterprise หรือแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมมาร่วมกัน

สร้างความมั่นคงทางอาหารร่วมกัน จะก่อให้เกิดสังคมที่มีความสุขได้อย่างยั่งยืน

หากจะถามว่า 3Ps กับความมั่นคงทางอาหารเกี่ยวโยงกันอย่างไร คงอยู่ที่ปัจจัย 2 ตัวที่มีบทบาททำให้ความมั่นคงทางอาหารมีเพิ่มขึ้น
1.จากการจัดการซัพพลายเชนทั้งห่วงโซ่การผลิตและการตลาด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือปัญหาขาดแคลนสินค้าอาหารในช่วงภาวะน้ำท่วม ซึ่งน่าจะมีสาเหตุมาจากผู้บริโภคเกิดการตื่นตระหนกจากเหตุการณ์น้ำท่วม ดังนั้น หากมีการใช้องค์ความรู้เรื่องการตลาดตามทฤษฎีการลดความตื่นตระหนกของผู้บริโภค (Consumers panic theory) และระบบการจัดการซัพพลายเชนที่ดี (Supply chain management) เช่น นำไข่ไก่จากพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศ

เข้ามายังส่วนกลางให้เพียงพอต่อการบริโภคให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบการจัดจำหน่ายอื่นที่เหมาะกับสถานการณ์ในช่วงนั้น ก็จะทำให้ปัญหารุนแรงน้อยลงได้

อย่างไรก็ตาม ระบบการจัดการซัพพลายเชนที่ดีจะก่อให้เกิดอาหารที่ปลอดภัยเพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากสามารถควบคุมความปลอดภัยตลอดทั้งกระบวนการผลิต รวมถึงสามารถสืบย้อนกลับได้ง่าย อีกทั้งยังก่อให้เกิดแนวคิดในการสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้น ส่งผลให้ระบบการผลิตอาหารของโลกดีขึ้น ถึงแม้กระบวนการผลิต

ต่าง ๆ ก็สร้างความมั่นคงทางอาหารให้เกิดขึ้นเหมือนกัน แต่หากมีระบบการจัดการที่ดีตลอดทั้งห่วงโซ่ ย่อมทำให้ได้อาหารที่มากขึ้น ปลอดภัยกว่า รวมถึงยังให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า ส่งผลให้สังคมโดยรวมเกิดความพึงพอใจสูงสุด

2.ความมั่นคงทางอาหารกับเทคโนโลยี/นวัตกรรม เป็นอีกองค์ความรู้หนึ่งในการทำให้เกิดความมั่นคงที่มากขึ้น เนื่องจากความมั่นคงทางอาหาร สามารถทำให้เกิดความมั่นคงที่มากขึ้นภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดเท่าเดิม เพียงแค่นำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ เพราะเทคโนโลยีทำให้ผลิตอาหารเพียงพอ ปลอดภัย มีคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น นอกจากนี้ เมื่อมีระบบการจัดการซัพพลายเชนที่ดีร่วมกับการใช้เทคโนโลยีแล้วจะทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหารที่มากขึ้น โดยใช้ทรัพยากรของโลกเท่าเดิม

ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีจะทำให้สามารถผลิตอาหารได้มากขึ้น มีความปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น แต่การนำเทคโนโลยี หรือระบบการจัดการซัพพลายเชนที่มีศักยภาพ หรือความรู้ชุมชนมาประยุกต์ใช้ จำเป็นต้องอาศัยเงินทุนสูง ทั้งนี้ กลุ่มองค์กรที่ไม่มีความมั่นคงทางอาหารมักเป็นชุมชนที่ยากจนอยู่แล้ว ประเด็นที่น่าสนใจคือแนวทางที่จะให้ชุมชนเหล่านั้นเข้าถึงเทคโนโลยีและระบบการจัดการซัพพลายเชนที่มีศักยภาพ หรือองค์ความรู้เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารภายในชุมชน

อาเซียนกับการเพิ่มความมั่นคงทางอาหาร

ในปี 2558 สมาชิกกลุ่มอาเซียนจะมีการรวมตัวกันเป็นประชาเศรษฐกิจอาเซียนอย่างสมบูรณ์ ซึ่งนับเป็นโอกาสดีของไทย เนื่องจากสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ นับว่าเป็นผู้ที่มีวัฒนธรรมในฐานการผลิตสินค้าเกษตรและอาหาร และก่อให้เกิดการแบ่งงานทำ รวมถึงเป็นการสร้างตลาดในภูมิภาคให้มีการขยายตัวมากขึ้น เช่น ในอดีต สมาชิกอาเซียน เช่น พม่า และกัมพูชามีการเลี้ยงไก่ในปริมาณที่
น้อยมาก แต่หลังจากมีการลงทุนในประเทศดังกล่าวมากขึ้น

เป็นผลมาจากการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทำให้ปริมาณการผลิตและตลาดเนื้อไก่ในอาเซียนมีการขยายตัวมากขึ้น ประชาชนโดยส่วนใหญ่ของอาเซียนเริ่มเข้าถึงและมีโอกาสได้บริโภคโปรตีนจากไก่ เนื้อมากขึ้นภายใต้การเลี้ยงที่มีความปลอดภัยจากการใช้เทคโนโลยีที่ดี

นอกจากอาเซียนจะเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารแล้ว อาเซียนยังเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ของโลก โดยมีประชากรเกือบ 600 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 10 ของประชากรโลกทั้งหมด อีกทั้งเมื่อพิจารณาในแง่ของกำลังซื้อของกลุ่มอาเซียนเปรียบเทียบกับกำลังซื้อรวมทั้งโลก พบว่าอาเซียนมีกำลังซื้อในระดับปานกลาง หรือประมาณ 2,198 เหรียญต่อคนต่อปี ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าเกษตรกรรมไปยังอาเซียนของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี

บทบาทของภาคเอกชนยังมีความร่วมมือกันในภาคเอกชนกันอีก ได้แก่ ภาคเอกชนขนาดเล็ก-กลางและขนาดใหญ่กับความร่วมมือเกษตรกรในบทบาทของ Contract farming/Outsourcing รวมทั้งภาคเอกชนขนาดเล็ก SMEs กับความร่วมมือกับภาคเอกชนขนาดใหญ่ ในการเชื่อมโยงซัพพลายเชนให้ครบวงจรทั้งการผลิตและการตลาด ตลอดจนการสร้างความพอใจให้ผู้บริโภคมากขึ้น

SMEs นับว่าเป็นกลุ่มที่มีบทบาทมากในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร และการสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจ เนื่องจากธุรกิจ SMEs นับเป็นผู้ประกอบการประมาณร้อยละ 90 ของผู้ประกอบการทั้งหมดของไทย ดังนั้น ถ้าภาครัฐมีนโยบายสนับสนุน SMEs จะนับเป็นการสนับสนุนในภาพรวมด้วย

เนื่องจากวงจรของการผลิตอาหารจะมีห่วงโซ่การผลิตที่ยาวมาก และมักพบว่าในหลายห่วงโซ่ กลุ่มเกษตรกรรายย่อย หรือ SMEs มีบทบาทที่ทำให้วงจรของการผลิตอาหารครบวงจร เช่น หากไม่มีผู้ผลิต ผู้ขนส่งสินค้า ร้านค้าจัดจำหน่าย หรือห่วงโซ่ย่อย

ที่มีบทบาทเหล่านี้ อาจไม่ก่อให้เกิดกระบวนการผลิตอาหาร หรืออาหารมีความมั่นคงน้อยลง เพราะการผลิตไม่มีศักยภาพ

รูปแบบการผลิตและการตลาด ตามแนวคิดดังกล่าว ไม่เพียงแต่สร้างความมั่นคงทางอาหารที่มากขึ้น แต่ยังเป็นการกระจายรายได้แก้ปัญหาความยากจน เพราะไม่ว่าจะเป็นชุมชนขนาดใหญ่หรือเล็กต่างได้ประโยชน์ร่วมกัน ในการมีส่วนร่วมสร้างความมั่นคงทางอาหารภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ

///////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ธ.ก.ส.เยียวยาเกษตรกร 2 แสนราย ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับลดราคาจำนำ !!?

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธนาคารได้เตรียมมาตรการที่จะดูแลเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการปรับราคารับจำนำข้าวให้สอดคล้องกับราคาตลาด โดยเตรียมแนวทางที่จะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) 2 แนวทางคือ ลดภาระดอกเบี้ย สำหรับสินเชื่อปัจจุบันของธนาคารให้เหมาะสมกับต้นทุนการผลิตและ จัดสินเชื่อใหม่เพิ่มอีกประมาณ  20% ในอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนปรน และยังให้สิทธิกับผู้ถือบัตรสินเชื่อเกษตรกรได้ใช้บัตรได้เต็มที่ พร้อมกับเข้าร่วมโครงการประกันภัยพืชผลเกษตร โดยจะนำเสนอในที่ประชุมบอร์ดโดยเร็ว

นายลักษณ์กล่าวต่อว่า หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติปรับลดราคารับจำนำข้าวจากตันละ 1.5 หมื่นบาทเหลือ 1.2 บาท พร้อมกับจำกัดปริมาณไม่เกิน 5 แสนบาทต่อครัวเรือน ซึ่งจะมีผลกระทบกับเกษตรกรกลุ่มที่ได้รับในรับรองการปลูกข้าว รอบ 2 ของปีการผลิตปี 2555/56 ที่จะเก็บเกี่ยวข้าวหลังวันที่ 20 มิถุนายน เพราะจะถูกจำกัดเหลือไม่เกิน 5 แสนบาทต่อครัวเรือน และหลัง 1 กรกฎาคม นอกจากถูกจำกัดปริมาณแล้วยังได้รับราคาที่ลดลงด้วย โดยจะมีเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบประมาณ 2 แสนราย เป็นปริมาณข้าว 3 ล้านตัน ซึ่งพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมาก ใน 16 จังหวัด คือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันตก โดยจะหาแนวทางช่วยเหลือทั้งที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส.และที่ยังไม่ได้เป็นลูกค้าด้วย

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ธ.ทหารไทย เตือนไทยอาจติดหล่มเศรษฐกิจ หากคลังถังแตก !!?

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ประเมินแรงส่งเศรษฐกิจไทยกำลังแผ่วลงต่อเนื่อง หลังนโยบายภาครัฐหนุนการใช้จ่ายในประเทศหมดลง ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวช้า ทำให้ภาคส่งออกยังไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่หลังภาครัฐกังวลต่อระดับการแข็งค่าของเงินบาท จนอาจทำให้กระทบต่อเศรษฐกิจและแสดงความพร้อมในเรื่องนโยบายเพื่อรับมือกับเงินทุนไหลเข้า กอปรกับจังหวะที่นักลงทุนกังวลกับความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจลดปริมาณเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจลง ทำให้ต่างชาติขายสุทธิทั้งในตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ของไทย ผลพวงดังกล่าวทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างมาก จากระดับ 28.5 บาทต่อดอลลาร์ฯ เป็น 31 บาทต่อดอลลาร์ฯ ด้วยระยะเวลาอันสั้นเพียงสองเดือนเศษ

แม้ว่าการกลับมาอ่อนค่าของเงินบาท อาจทำให้ผู้ส่งออกวางใจเรื่องความสามารถด้านการแข่งขันได้ในระดับหนึ่ง ถึงแม้ในปีที่ผ่านมา ภาพรวมกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าของไทย มีการฟื้นตัวต่อเนื่อง และยังคงเป็นไปอย่างช้าๆ ซึ่งทางศูนย์วิเคราะห์ฯ มองว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนรายได้จากการส่งออกมากกว่าอัตราแลกเปลี่ยน แต่ทว่าแนวโน้มเศรษฐกิจล่าสุดเริ่มบ่งชี้ว่าสถานะของคู่ค้าสำคัญเริ่มซวนเซ อาทิ จีน ซึ่งตอนนี้ขึ้นแท่นเป็นคู่ค้าเบอร์หนึ่งของไทยแล้วนั้น เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์ในไตรมาสแรก แม้กระทั่งผู้นำจีนเองก็ออกมายอมรับว่า จีนอาจต้องยอมเผชิญกับการชะลอตัวของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะสั้น เพื่อความมีเสถียรภาพในระยะยาว ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลกได้ประกาศปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจของจีนในเวลาไล่เลี่ยกัน ทั้งในปีนี้และปีหน้าลงมาต่ำกว่าระดับร้อยละ 8

ส่วนคู่ค้าอันดับสองของไทยอย่างสหรัฐฯ มีดัชนีภาคการผลิต (ISM manufacturing) ล่าสุดกลับมาอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งสะท้อนภาวะหดตัวของกิจกรรมเกี่ยวเนื่องในภาคดังกล่าว แม้ว่าดัชนีบ่งชี้ด้านเศรษฐกิจอื่นๆ ยังคงฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง แต่ก็นับว่าเป็นสิ่งที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด

มองกลับมาด้านปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ อานิสงค์จากนโยบายภาครัฐที่ได้ดำเนินการมาแล้วพักใหญ่ อาทิ นโยบายคืนภาษีรถคันแรก กำลังอ่อนแรงลงอย่างรวดเร็วในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (ส่วนหนึ่งมาจากการเร่งผลิตเพื่อส่งมอบและยอดยกเลิกใบจองพุ่ง) รวมไปถึงโครงการบริหารจัดการน้ำ 3 แสนกว่าล้านบาท ที่มีความเป็นไปได้สูงมาก  ว่าอาจพลาดเป้าการเบิกจ่าย 7 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2556 ตามที่คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยคาดหวังไว้ เพราะโครงการต่างๆ จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการอีกมากกว่าจะเริ่มเบิกจ่ายได้จริง ไม่ว่าจะเป็นการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งขั้นตอนการทำสัญญาเงินกู้ ตลอดจนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง

อีกทั้งส่อเค้าว่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ เมกะโปรเจคท์ 2 ล้านล้านบาท จะล่าช้าออกไปจนไม่สามารถเริ่มอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบอย่างแท้จริงได้ทันภายในสิ้นปี ซึ่งแนวโน้มการเบิกจ่ายงบประมาณที่ถูกเลื่อนออกไปจะส่งผลกระทบทางอ้อมมายังการลงทุนของภาคเอกชน (Crowding-in effect) ให้ชะลอตามออกไปด้วย อันเนื่องมาจากภาคธุรกิจขาดความเชื่อมั่นต่อความไม่แน่ชัดของระยะเวลาที่นโยบายโครงการลงทุนขนาดใหญ่จะเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม

ดังนั้น แรงส่งจากนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปัจจุบันที่กำลังจะหดหายไป ในขณะที่เม็ดเงินคาดหวังก้อนใหม่ก็เหมือนจะไม่สามารถรับช่วงต่อได้อย่างทันท่วงที ความคาดหวังของการขยายตัวทางเศรษฐกิจแบบไร้รอยต่อ คงยากที่จะเกิดขึ้น และนั่นจะทำให้เกิดช่องว่างในการช่วยผลักดันให้การใช้จ่ายของภาคเอกชนในประเทศ สามารถช่วยต้านทานภาวะการส่งออกที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญทางเศรษฐกิจเหมือนเช่นในอดีต

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ประเมินว่า ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวทำให้มีความเป็นไปได้ยากที่เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี จะเติบโตได้สูงเกินกว่าระดับร้อยละ 4 และจะทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2556 นี้ อาจขยายตัวเพียงร้อยละ 4.2 เท่านั้น

กล่าวโดยสรุป เศรษฐกิจไทยในไครมาสแรกที่ขยายตัวต่ำกว่าหลายฝ่ายคาดการณ์นั้น แท้จริงแล้วอาจเป็นสัญญาณเตือนให้ทราบถึง "หล่มเศรษฐกิจ" ที่ไทยกำลังเผชิญอยู่นับจากนี้ไป หากนโยบายการคลังสะดุด ไม่สามารถผลักดันให้การใช้จ่ายในประเทศเดินต่อไปได้ บางทีเราอาจได้เห็น กระสุนดอกเบี้ยของนโยบายการเงิน อาจถูกนำมาใช้เพื่อให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนต่อไปก็เป็นไปได้

ที่มา.นสพ.ฐานเศรษฐกิจ
/////////////////////////////////////////////////////////////////////

รมว.คลัง ยันลดราคาจำนำไม่ขัดนโยบาย !!?

กิตติรัตน์.ยันรัฐบาลปฏิบัติตามนโยบายที่แถลงต่อสภาฯโดยได้รับจำนำข้าวในราคา 1.5 หมื่นล้านบาทต่อตันแล้ว อ้างราคาตลาดโลกไม่เป็นไปตามคาด

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวยืนยันว่า รัฐบาลได้ดำเนินโครงการจำนำข้าวตามนโยบายที่ประกาศไว้ต่อสภาผู้แทนราษฎรที่ราคา 15,000 บาทต่อตันแล้ว แต่เนื่องจาก ราคาข้าวในตลาดโลกไม่ได้ตอบสนองทิศทางตามอย่างที่คาดหวังไว้ ทำให้รัฐบาลต้องประกาศปรับลดราคาจำนำลงมา อย่างไรก็ดี ราคาขายข้าวไทยในตลาดถือว่า ยังดีกว่าคู่แข่ง เพียงแต่ราคาข้าวของคู่แข่งต่างๆล้วนตกลง

"เราต้องการที่จะดูแลเกษตรกรของเราให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หากว่า ราคาข้าวในตลาดโลกตอบสนองในทิศทางที่เราหวังไว้หรืออัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้เมื่อแปลงมาเป็นเงินบาทก็จะเป็นรายรับของโครงการรับจำนำเพื่อมาดูแลต้นทุนค่าใช้จ่ายของโครงการ เราก็จะดำเนินการจนสุดความสามารถ"

ทั้งนี้ เมื่อผลของการปิดบัญชีจากคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวปรากฏชัดว่ามีผลขาดทุนมากกว่าที่รัฐพร้อมจัดสรรให้ รัฐบาลก็ต้องมีหน้าที่ดูแลภาพรวมทั้งประเทศ อย่างไรก็ดี ในความคิดเห็นส่วนตัวก็เชื่อว่า ไม่ได้เกิดผลเสียแต่อย่างใด เพราะการดูแลที่มากก็จะกลายเป็นรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวและความสามารถในการชำระหนี้ รวมทั้ง การใช้จ่ายเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

"ในเมื่อกรอบที่จะต้องดูแลมากกว่าที่กำหนด รัฐบาลก็มีหน้าที่ที่จะต้องปรับ โดยมีการพูดกันว่า หากราคาข้าวในตลาดโลกมีแนวโน้มที่จะดีขึ้นหรือรายได้ที่จะเกิดจากการขายสินค้าให้เกินกว่ากรอบ เราก็พร้อมที่จะปรับให้สอดคล้อง ดังนั้น จึงต้องการขอความเห็นใจจากชาวนาด้วยว่า การปรับลดราคาลงดังกล่าวเป็นเรื่องของการรักษาวินัยทางการคลัง"

เขากล่าวด้วยว่า ได้เรียนไปแล้วว่า หากเราเป็นประเทศที่มีความพร้อมที่จะขาดดุลการค้าจำนวนมากอย่างที่เคยเป็นมาก่อนหน้านี้ การที่จะดูแลในระดับที่ผ่านมาหรือต่อเนื่องไป ก็คงจะเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยากนัก แต่ด้วยความที่ประเทศจะต้องประกาศทิศทางของความเข้มแข็ง โดยให้วินัยการคลังเข้าสู่ภาวะสมดุลในปี 2560 แนวทางในการปรับลดราคาจำนำลงมา เพื่อให้สามารถดูแลชดเชยผู้ปลูกข้าวได้ในระดับที่เป็นกรอบวินัยทางการคลังที่เหมาะสม ก็ถือว่า เป็นเรื่องที่จำเป็น

"ขอยืนยันว่าเราจะดำเนินโครงการรับจำนำต่อไป เพราะสามารถตรวจสอบได้ว่ามีการปลูกจริง มีข้าวมาส่งมอบจริง อีกทั้ง หากราคาข้าวในระหว่างที่เกษตรกรมาจำนำไว้มีแนวโน้มในตลาดโลกที่ดีขึ้น เกษตรกรก็สามารถได้รับสิทธิ์ตรงนั้นด้วย เพราะเป็นเรื่องของการจำนำไม่ใช่ขายขาด"

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////////////