--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2557

คำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญ ผิดทั้งกระบวนการและเนื้อหา........!!?

นักกฎหมายอิสระชี้คำตัดสินศาลรธน.ให้การเลือกตั้งโมฆะ ผิดทั้งกระบวนการ-เนื้อหา เจตนาทำรธน.ปี50โมฆะไปด้วย

นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ กล่าวว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ทำให้การเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 2 ก.พ. เป็นโมฆะนั้น ส่วนตัวมองว่าคำวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวทำให้รัฐธรรมนูญ 2550 นั้นเป็นโมฆะไปด้วย เนื่องจากสิ่งที่ศาลรัฐธรรมูญวินิจฉัยเหตุแห่งการโมฆะ เพราะการออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.)การเลือกตั้งไม่เป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร โดย ทั้งที่ประเด็นการออก พ.ร.ฎ. กำหนดวันเลือกตั้ง รอบที่ 2 ในพื้นที่ 28 เขตนั้นถือเป็นสิ่งที่ทำได้ตามกฎหมายและศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยว่าวันเลือกตั้งสามารถเลื่อนออกไปได้ และตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 วรรค6 ได้กำหนดชัดเจนว่ากรณีที่มีเหตุการณ์ใดๆ ทำให้การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใดได้จำนวน ส.ส.ไม่ถึง 480 คน แต่มีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของจำนวนสมาชิกสภาฯ ทั้งหมด ให้ถือว่าสมาชิกจำนวนนั้นประกอบเป็นสภาฯ แต่ต้องดำเนินการให้มี ส.ส. ครบตามจำนวนที่บัญญัติภายใน 180 วัน จึงถือว่ารัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องมีการจัดการเลือกตั้งในพื้นที่ที่ไม่สส.เพื่อให้ประกอบเป็นสภาฯ ที่ครบจำนวนตามหลักเกณฑ์

"ผมมองว่าศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้การตัดสินที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ทั้งในแง่กระบวนการและเนื้อหา อย่างไรก็ตามเหตุที่ศาลไม่นำเหตุแห่งการขัดขวางการเลือกตั้งมาพิจารณาเป็นเหตุให้การจัดการเลือกตั้งจำนวน 28 เขต มากล่าวนั้น เพราะศาลรัฐธรรมนูญเคยให้การรับรองว่าการชุมนุมของกลุ่มกปปส.ทำได้ตามสิทธิของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยจึงถือเป็นการพูดขัดกันเองและอ้างรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่ให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ" นายวีรพัฒน์ กล่าว

นักกฎหมายอิสระ กล่าวด้วยว่า การเลือกตั้งหลังจากนี้ตนมองว่าอาจจะเกิดความไม่สงบขึ้นได้ ยกเว้นเปิดช่องให้มีการเจรจาต่อรองบนเงื่อนไขที่ทำให้การเลือกตั้งเดินหน้า และอาจจะเป็นการเรียกร้องที่เป็นการเรียกค่าไถ่ทางการเมือง เช่น ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลาออกและไม่ลงรับเลือกตั้ง, ให้กลุ่มกปปส. ยุติการขัดขวางการเลือกตั้ง เพื่อให้การเลือกตั้งเรียบร้อย แต่ตนมองว่ากรณีการเรียกร้องให้รักษาการนายกฯ ลาออกและไม่ลงเลือกตั้งจะไม่ใช่ทางออกของปัญหาความไม่สงบบ้านเมือง เพราะเชื่อว่าคนที่สนับสนุนน.ส.ยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทยจะไม่ยอม ส่วนกรณีที่ กปปส.ยุติการขัดขวางการเลือกตั้งอาจจะเป็นไปได้ แต่อาจมีเงื่อนไขอื่น เช่น ให้รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาอยู่เพียง 6 เดือน-1ปีเพื่อทำปฏิรูปกติกาการเลือกตั้ง แล้วยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ภายใต้กติกาใหม่

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
----------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2557

ประธานวุฒิฯ ลั่นได้รับเกียรติจากประชาชน อย่าเพิ่งนับศพ !!?


นิคม ไวยรัชพานิช,ปปช.

แจงได้รับเกียรติจากป.ป.ช. ชี้มูลความผิดคนแรก ลั่นสงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพ ระบุเป็นตัวแปรสำคัญนำไปสู่ทูลเกล้าฯนายกฯม.7

นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ฐานะรองประธานรัฐสภา กล่าวผ่านรายการทิศทางประเทศไทย ทางสถานีโทรทัศน์โมเดิน ไนนท์ ทีวี ว่าถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิด ฐานกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ กรณีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลุ่มมาตราที่มาของส.ว. ตนเป็นคนแรก ทั้งนี้ยังไม่ตาย และสงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพ ทั้งนี้ตามระเบียบหากป.ป.ช.ได้ส่งสำนวนการไต่สวนและมติชี้มูลความผิดมายังวุฒิสภาแล้ว ต้องมีการเปิดประชุมเพื่อให้สมาชิกวุฒิสภาลงมติถอดถอนภายใน 20 วันนับแต่วันที่รับเรื่อง และระหว่างที่ยังไม่มีสภา ต้องขอเปิดประชุมเป็นสมัยวิสามัญ ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจจะเกิดขึ้นช่วงรอยต่อของการได้มาซึ่งสว.เลือกตั้งชุดใหม่ ดังนั้นอยากให้การพิจารณาเรื่องดังกล่าวชะลอออกไปจนกว่าที่จะมีส.ว.เลือกตั้งชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ เพื่อป้องกันปัญหาความไม่เข้าใจข้อเท็จจริง แต่ไม่สามารถร้องขอให้เป็นเช่นนั้นได้ เพราะขึ้นอยู่กับวุฒิสภา และอาจจะใช้เวลาพิจารณาเพียง 30 - 40 วันเท่านั้น

นายนิคม กล่าวฝากไปยังส.ว.ชุดใหม่ ว่า หากเข้ามาทำหน้าที่ถือว่าจะเป็นการรับเผือกร้อน เพราะมีการพิจารณาถอดถอนบุคคลในตำแหน่งต่างๆ เช่น ตน, อดีต สส., สว. รวมถึงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตนอยากให้ศึกษาข้อมูลข่าวสาร ในสิ่งที่ผิดและสิ่งที่ถูกจนให้เกิดการรรับรู้ และเมื่อสว.ใหม่เข้ามาแล้วจะเกิดเงื่อนไขใดๆ หรือไม่ตนไม่สามารถรับรองได้ เช่น ความพยายามไม่รับรองผลการเลือกตั้งสว. หรืออาจเกิดข้อโต้แย้งว่าสว.เลือกตั้งที่เข้ามาใหม่ ไม่สามารถปฏิญาณตนในการประชุมวุฒิสภา สมัยวิสามัญได้ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ระบุไว้ ให้มีการพิจารณาถอดถอน โดยไม่นับจำนวน ส.ว.ที่ถูกพิจารณาโดย ป.ป.ช. หรือถูกชี้มูลโดยป.ป.ช. และเหลือเพียงสว.สรรหาและสว.เลือกตั้งอีกเพียงไม่กี่คน

นายนิคม ประเมินด้วยว่า เหตุที่ตกเป็นเป้าทางการเมือง เพราะตำแหน่งประธานวุฒิสภาของส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งถือเป็นตัวแปรสำคัญที่จะนำไปสู่กระบวนการหรือเป้าหมายที่บางฝ่ายต้องการอาทิ การถอนถอน นายกรัฐมนตรี, การถอดถอนอดีตส.ส. ,ส.ว. และการทูลเกล้าฯ นายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 7

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
-------------------------------

ถ้าการเลือกตั้ง 2 ก.พ.57 เป็นโมฆะ..!!?

โดย. นาย เอกชัย ไชยนุวัติ อาจารย์ประจำ (ความเห็นทางวิชาการ)

สืบเนื่องมาจากการรับคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการเลือกตั้ง 2 ก.พ. เป็นโมฆะหรือไม่ และศาลนัดฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 21 มี.ค. เราจะไม่คาดการณ์เหตุผลในทางกฎหมายของศาลรัฐธรรมนูญ แต่เราจะพิจารณาถึง “ผลสืบเนื่อง” จากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณีวินิจฉัยให้การเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. เป็นโมฆะ จะส่งผลที่น่าพิจารณาอย่างน้อย 2 ประการ ดังนี้

ประการที่ 1.กรณีนี้จะกลายเป็นบรรทัดฐานว่า หากผู้ที่ต่อต้านการเลือกตั้งรวมถึงผู้ขัดขวางการเลือกตั้ง (ปฎิรูป หรือ ปฏิวัติก่อนเลือกตั้ง)อันเป็นมาตรฐานขั้นต่ำของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยปรารถนาจะทำลายการเลือกตั้งให้กลายเป็นโมฆะก็กระทำได้อย่างง่ายดายโดยวิธีการได้ปิดกั้น"ขัดขวาง"มิให้ “ผู้ประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้ง” เข้าไปสมัครรับเลือกตั้งกับทาง กกต. ในบางเขตได้ เพื่อเป็นเหตุให้ “เขตเลือกตั้ง” นั้นไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส่งผลให้เกิดเหตุบกพร่องในการจัดการเลือกตั้งทั่วไป และหาก กกต.จะจัดการเลือกตั้งโดยเปิดรับสมัครใหม่ในเขตเลือกตั้งที่บกพร่องนั้นให้แล้วเสร็จ ก็จะกลายเป็นข้ออ้างให้มีคนไปร้องผู้ตรวจการแผ่นดินหรือ ศาล รัฐธรรมนูญอีกว่า มีการจัดการเลือกตั้งมากกว่า 1 วัน ส่งผลให้การเลือกตั้งทั้งประเทศเป็นโมฆะ ขัด รธน มาตรา 108  เช่นนี้ สังคมนิติรัฐรัฐย่อมไม่อาจอยู่ร่วมกันได้โดยสงบ เพราะเมื่อใดที่ ผู้ต่อต้านประชาธิปไตยไปปิดล้อมสถานที่รับผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส่งผลให้ กกต.ไม่อาจเปิดรับสมัครผู้สมัครฯได้ในบางเขตเลือกตั้ง ก็จะส่งผลให้การเลือกตั้งทั้งประเทศกลายเป็นโมฆะได้อย่างง่ายดาย เป็นการทำลายเจตจำนงของปวงชนชาวไทยทั้งประเทศด้วยวิธีการที่ผิดกฎหมาย (และละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ยอมรับโดยสากลโลก) ในบางเขตพื้นที่เท่านั้น (ตามข้อเท็จจริงปัจจุบันคือมีเพียง 28 เขตเลือกตั้งที่มีปัญหา)

ประการที่ 2. ตามแนวคิด ของ อาจารย์ พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล(อาจารย์พิเศษ) ชี้ว่า หากการเลือกตั้ง 2 ก.พ. เป็นโมฆะโดยผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ควรจับตาว่า กรณีจะซ้ำรอยคดี รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร ซึ่งฉีกบัตรเลือกตั้ง 2 เม.ย. 49 อีกหรือไม่ คดีดังกล่าวเป็นขึ้นศาลจังหวัดพระโขนง ศาลพิพากษาว่า เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง 2 เม.ย.เป็นโมฆะ ฉะนั้น จำเลย (ไชยันต์ฯ) ไม่มีความผิดฐานฉีกบัตรเลือกตั้งไปด้วย (ถือไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น) แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่าจำเลยมีความผิด

นอกจากนี้เคยปรากฏข้อเท็จจริงลักษณะเดียวกันเหตุเกิดที่ภาคใต้เป็นคดีขึ้นสู่ศาลฎีกา (คำพิพากษาฎีกาที่ 11850/2554) วางบรรทัดฐานว่า การฉีกบัตรเลือกตั้งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แม้ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นโมฆะก็ตาม บรรดาการกระทำผิดอันเกี่ยวกับการเลือกตั้งซึ่งเป็นการกระทำผิดตามกฎหมายนั้นหาถูกลบล้างไปด้วยไม่

จะเห็นได้ว่าสำหรับคดีไชยันต์แม้ว่าต่อมาศาลอุทธรณ์จะพิพากษากลับว่าจำเลยมีความผิดก็ตามและแม้ว่าจะเคยมีคำพิพากษาฎีกาวางบรรทัดฐานไว้แล้วดังกล่าวข้างต้น ก็น่าจับตาดูพฤติกรรมต่อเนื่องของ “ศาลยุติธรรม” ภายหลังจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 21 มี.ค. พ.ศ. 2557 นี้ว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะ แล้วศาลยุติธรรมจะนิรโทษกรรมให้ กปปส. (ที่ไปปิดคูหา ขวางการเลือกตั้ง ฯลฯ) โดยอ้างอิงผ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ให้เลือกตั้งเป็นโมฆะ เหมือนที่ศาลจังหวัดพระโขนงเคยทำ อีกหรือไม่? ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็จะไม่มีใครมีความผิดใดๆในการล้มการเลือกตั้งทั่วไป อันเป็นอำนาจของประชาชนทุกคนที่บัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ และ ประชาธิปไตยแบบไทยๆก็อาจไม่ต้องมีการเลือกตั้งก็ได้!

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
-------------------------------------------------------------

วันพุธที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2557

ไครเมีย กลับบ้าน !!?

โดย. ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

ในที่สุด รัฐสภาไครเมียก็ประกาศเอกราชแยกตัวออกจากยูเครน เพื่อขอเข้าร่วมสหพันธรัฐรัสเซีย ด้วยคะแนนเสียง 85 จากจำนวน ส.ส. 100 คน การประกาศเอกราชดังกล่าวเป็นผลมาจากการออกเสียงลงประชามติด้วยคำถามสำคัญ 2 ข้อคือ จะเป็นส่วนหนึ่งของยูเครนต่อไป หรือจะแยกตัวออกมาเป็นรัฐเอกราช และเข้าร่วมกับสหพันธรัฐรัสเซีย

ปรากฏจากพลเมืองในไครเมียทั้งหมด มีผู้มาออกเสียงลงประชามติ 83% ในจำนวนนี้ 96.77% เลือกข้อ 2 หรือขอแยกดินแดนจากยูเครนและเข้าร่วมกับสหพันธรัฐรัสเซีย ด้านประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ได้ออกมาสนับสนุนกฤษฎีการับรองความเป็นรัฐเอกราชของไครเมียทันที ในวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมานี้

การ ประกาศเอกราชของไครเมีย สืบเนื่องมาจากความสัมพันธ์ 3 เส้า ระหว่างยูเครน-รัสเซีย-ชาติตะวันตก จากประวัติศาสตร์ตอนที่ยูเครนเป็น 1 ในเครือสหภาพโซเวียตรัสเซียในอดีตนั้น รัสเซียได้ยกไครเมีย (Crimea) ให้กับยูเครนในปี 2497 สืบเนื่องมาจนถึงปี 2534 หลังจากที่สหภาพโซเวียตรัสเซียล่มสลายลง ก็เกิดประเทศเอกราชที่แยกตัวออกจากดินแดนในอาณัติสหภาพโซเวียตเดิม

ยูเครน ก็เป็นหนึ่งในประเทศเกิดใหม่ พร้อม ๆ กับดินแดนไครเมียที่รับมรดกมาจากสมัยสหภาพโซเวียต ได้ถูกสถาปนาเป็น "เขตปกครองตนเอง" มีพื้นที่ประมาณ 26,200 ตารางกิโลเมตร ประชากรซึ่งส่วนใหญ่เป็นรัสเซีย ประมาณ 2,000,000 คน(รัสเซียร้อยละ 59-ยูเครนร้อยละ 25 ที่เหลือเป็นชาวตาตาร์) ได้กลายเป็นติ่งหนึ่งในดินแดนของยูเครน

แน่นอนว่าภายใต้การปกครองอัน ยาวนานของสหภาพโซเวียตรัสเซีย ชาวยูเครนส่วนใหญ่ต้องการที่จะนำประเทศเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป จากความเชื่อมั่นในพื้นฐานทางเศรษฐกิจของตนเองที่พร้อมจะเปิดรับทุนจากชาติ ตะวันตกที่จะหลั่งไหลเข้ามาในยูเครน จนพัฒนากลายเป็นการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือทางการเมืองและการค้ากับสหภาพ ยุโรปหรือเปิดประตูเข้าเป็น 1 ในสมาชิกสหภาพยุโรปในอนาคต แต่ข้อตกลงดังกล่าวถูกต่อต้านจากฝ่ายนิยมรัสเซีย นำโดยอดีตประธานาธิบดียูเครน นายวิกเตอร์ ยานูโควิช ซึ่งถูกชาวยูเครนโค่นล้มลงไปแล้ว (หนีเข้าไปอยู่ในไครเมีย) ที่ต้องการรักษาสัมพันธภาพอันดีกับรัสเซียไว้ จนเกิดการเสียเลือดเนื้อ มีชาวยูเครนล้มตายในการโค่นล้มยานูโควิชไปมากกว่า 100 คน เปิดทางให้มีการปรับเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี และประธานาธิบดียูเครน มาเป็น นายอาร์เซนีย์ ยัดเซนยุค กับ นายโอเล็กซานเดอร์ ตูชีนอฟ ที่ประกาศว่าพร้อมจะรับความช่วยเหลือจากสหภาพยุโรปทันที

การเปลี่ยน แปลงทางการเมืองในยูเครนจากผู้นิยมรัสเซียมาเป็นผู้นิยมตะวันตก ที่พร้อมจะนำประเทศลงนามในข้อตกลงความร่วมมือทางการเมืองและการค้า ทำให้รัสเซียอยู่เฉยไม่ได้ เนื่องจากรัสเซียถือเสมือนหนึ่ง "ยูเครน" เป็น "สนามหลังบ้าน"

ที่ สำคัญ รัสเซียยังมีฐานทัพเรืออยู่ที่เมืองเชวาสโตปอล (Sevastopol) ในไครเมีย ซึ่งรัสเซียเช่าพื้นที่ช่วงยูเครนเป็นเอกราช จากสภาพความเป็นจริงที่ว่า ฐานทัพที่เมืองนี้เป็นฐานทัพของกองเรือผิวน้ำและกองเรือดำน้ำของรัสเซียใน ทะเลดำ ที่ส่งอิทธิพลไปถึงทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มาเป็นระยะเวลาหลายร้อยปีมาแล้ว

ผลก็คือในวันที่ 1 มีนาคม หลังการพ่ายแพ้ของยานูโควิช รัสเซียได้ส่งทหารส่วนหนึ่งเข้าไปในไครเมีย ร่วมกับกองกำลังท้องถิ่นยึดสถานที่ราชการ จุดยุทธศาสตร์สำคัญ และ ปิดล้อมกองทหารยูเครนในไครเมียอย่างเงียบ ๆ

ส่วนพรมแดนที่ติดกับรัส เซียก็จัดให้มีการซ้อมรบด้วยกองกำลังทหารเต็มรูปแบบ ประหนึ่งว่าพร้อมจะเคลื่อนทัพเข้าสู่ยูเครนและไครเมียทันที

อีกด้านหนึ่งจัดให้มีให้มีการลงคะแนนแสดงประชามติ โดยกลุ่มบุคคลที่นิยมรัสเซียควบคู่กันไปภายใต้ความกดดันทางทหารข้างต้น

กลาย เป็นปฏิบัติการขอคืนหลังบ้าน ท่ามกลางการร้องเอะอะโวยวายของสหรัฐ-สหภาพยุโรป ที่เริ่มต้นด้วยการประกาศมาตรการคว่ำบาตรอย่างเบาบางเต็มที

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
---------------------------------------

วันอังคารที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2557

เหนือจีน ยูเครน ตุรกี ยังมี ไทยแลนด์. !!?

โดย : ประวิทย์ เรืองศิริกูลชัย

ขณะที่จีนมีปัญหาการเมืองในการต่อสู้กับลัทธิก่อการร้าย ที่ก่อเหตุแทงคนจำนวนมากเสียชีวิตราว 34 คนที่สถานีคุนหมิง

โดยกลุ่มอุยกูร์แบ่งแยกดินแดนมณฑลซินเจียง

ยูเครนก็มีปัญหาการเมืองที่คล้ายกับไทย คือ ประชาชนแบ่งแยกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายสนับสนุนยุโรป และ อเมริกา ส่วนอีกฝ่ายสนับสนุนรัสเซีย เรื่องราวเริ่มหนักหนาจนถึงขั้นรัสเซีย ส่งทหารเข้าไปยึดพื้นที่คาบสมุทรไครเมีย และอาจมีการลงประชามติ เพื่อขอแบ่งแยกดินแดนนั้นจากยูเครนกลับไปสู่รัสเซีย

ส่วนในตุรกีนั้นก็มีปัญหาคอร์รัปชัน ที่เกี่ยวข้องกับลูกๆ ของรัฐมนตรีหลายคน และมีคลิปเสียงที่ดูเหมือนเป็นปัญหาที่ว่า นายกฯ เออร์โดกัน ได้คุยกับ ลูกชายให้ซ่อนเงินจำนวนมากไว้ ซึ่งนี่เป็นปัญหาคอร์รัปชันนั่นเอง

แต่ละประเทศมี 1 ปัญหาการเมืองแต่ประเทศไทยมีถึง 3 เด้ง คือ รวม 3 ปัญหานี้ไว้ด้วยกันทั้งหมด คือ มีทั้งปัญหาคอร์รัปชัน ปัญหาก่อการร้าย รวมไปถึง ปัญหาการแตกแยกประชาชนเป็น 2 ฝ่าย จนถึงขั้นข่าวลือแบ่งแยกดินแดน แล้วอย่างนี้จะเหนือกว่า 3 ประเทศข้างต้นได้อย่างไร ?? มี 2 ประเด็นหลักอยู่ตรงนี้ครับ

1. เศรษฐกิจไทยไม่ได้มีสัญญาณเตือนภัยทางเศรษฐกิจ

ขณะที่ประเทศจีนนั้น มีการผิดนัดชำระหนี้ครั้งแรกของบริษัทในตลาดฯ ชื่อ Chaori Solar ซึ่งเป็นบริษัทผลิตแผงพลังแสงอาทิตย์ และ ยังอาจมีอีกหลายบริษัทที่ขาดทุน และ หนี้สินต่อทุนสูง เช่น Tianwei Baobian Electric และ Sinovel Wind ซึ่งล้วนเป็นบริษัทที่ทำด้านพลังงานทดแทน ทั้งลมและแสงอาทิตย์ ซึ่งน่าจะมีอนาคตดี แต่กลับมีกำลังผลิตส่วนเกินมาก และ หนี้สินสูง นี่อาจนับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ "วิกฤติหมูหัน" โดยจีนมี "ธนาคารเงา" หรือ shadow-banking ที่เป็นบริษัททรัสต์ และ ผลิตภัณฑ์กองทุนบริหารความมั่งคั่ง รวมกันสูงถึง 6 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งอาจเป็นปัญหาหนี้เสียในอนาคตอันใกล้ได้ โดยปัญหาเกิดจากการลงทุนที่มากเกินไป (overinvestment) ฟองสบู่อาจแตกก็เป็นได้ โดยดัชนีหุ้น CSI300 ในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และเซินเจิ้นนั้นได้ลงไปแตะจุดต่ำสุดในรอบ 5 ปี และ ตัวเลขเศรษฐกิจมหภาคล่าสุดก็ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงเร็วมาก

ขณะที่ประเทศยูเครน มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP ย่ำแย่อย่างหนักต่อเนื่อง เมื่อบวก 3 ปีของค่านี้เข้าด้วยกันแล้วได้สัญญาณเตือนภัย Ruang Alarm ที่ -20.0 ซึ่งอยู่ในระดับเสี่ยงต่อวิกฤติเศรษฐกิจสูงมาก ประเทศตุรกี ก็เช่นเดียวกัน เศรษฐกิจมีการเติบโตดี แต่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูง โดยเฉพาะการนำเข้าพลังงาน มีค่า Ruang Alarm ที่ -23.8 ก็มีความเสี่ยงระดับสูงมากเช่นกัน

จะเห็นได้ว่า "เมฆดำ" เค้าลางแห่งวิกฤติเศรษฐกิจได้ปกคลุม 2 ประเทศที่อยู่รอบ "ทะเลดำ" เรียบร้อยแล้ว โดยเชื้อโรคก็เริ่มกระทบไปรอบๆ ด้านเหนือทะเลดำ คือ "ยูเครน" ด้านใต้ คือ "ตุรกี" และ ด้านตะวันออกคือ "รัสเซีย" ที่ค่าเงินและดัชนีหุ้นดิ่งลงอย่างหนัก เชื่อได้ว่าปัญหาจะปะทุ "ฟองสบู่แตก" เป็นวิกฤติที่หลีกเลี่ยงได้ยาก นับเป็นปัญหาของการลงทุนมากเกินกว่าการออม ใช้ค่าเงินที่แข็งค่าเกินไป แข่งขันไม่ได้ ทำให้ต้องพึ่งพาเงินทุนต่างชาติ โดยเฉพาะทั้ง 2 ประเทศก็มีปัญหาทางการเมืองเป็นปัจจัยคอยซ้ำเติมด้วย ปัญหาเงินทุนไหลออกน่าจะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับ 2 ประเทศนี้ จนอาจเกิดเป็นวิกฤติที่ชื่อว่า "วิกฤติไก่งวง" (Turkey Crisis)

ขณะที่ประเทศไทยนั้น สัญญาณ Ruang Alarm อยู่ในระดับปลอดภัยมากๆ นี่จึงนับได้ว่าเหนือชั้นกว่า

2. ประเทศไทยได้เตรียมทางออกไว้แล้ว

ขณะที่ 3 ประเทศนั้นยังแทบหาทางแก้ไขปัญหาทั้งการเมือง และ เศรษฐกิจไม่เจอเลย แต่สำหรับประเทศไทยนั้นมีทางออกเตรียมพร้อมไว้แล้ว จึงนับได้ว่าเหนือชั้นกว่า

- โดยทางออกของปัญหาการเมืองก็คือ "ประชาธิปไตยไท้เก๊ก" และ "รหัสปลดล็อก กปปส." ซึ่งจะเป็นทางออกแบบเสื้อขาว โดยอำนาจอธิปไตยจะอยู่ในมือของประชาชนอย่างแท้จริง ใช้การยืมพลังจาก "ประชามติ" เพื่อโค่นทั้งระบอบทักษิณ และ ระบอบสุเทพ โดยยังคงรักษากฎกติกา เป็นประชาธิปไตย ได้ปฏิรูปประเทศ และ นำสันติภาพมาสู่ชาติบ้านเมืองได้

- ส่วนหนทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจซึ่งอาจถูกรุมเร้าทั้งจากการเมืองในประเทศ วิกฤติเศรษฐกิจ

โลกทั้งวิกฤติหมูหัน และ วิกฤติไก่งวง ซึ่งน่าจะกดดันเศรษฐกิจให้เติบโตต่ำมากๆ ไม่เกิน 2% ดังนั้น หนทางที่เหมาะสม ก็คือ "การคลังไท้เก๊ก" และ "ยุทธศาสตร์888" ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยเติบโตได้ถึง 8% ในช่วงครึ่งปีหลังได้ โดยการยืมพลังจากกองทุนบำนาญ ขณะที่หนี้ภาครัฐไม่เพิ่มขึ้นเลยแม้แต่น้อยนิด

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
---------------------------------------

วันจันทร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2557

ปิดตาย : กฎหมายกู้เงิน !!?

ในที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญก็ตีตก ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ... (พ.ร.บ. 2 ล้านล้าน) ไปจากสารบบตามมาตรา 154 (2) วรรค 3

เหตุผลหนึ่ง มติตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เห็นว่า เนื้อหาร่าง พ.ร.บ. 2 ล้านล้าน มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หมวด 8 ว่าด้วยการเงิน การคลัง และงบประมาณ ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นสาระของร่าง พ.ร.บ. จึงต้องตกไปทั้งฉบับ

อีกเหตุผลหนึ่ง เป็นมติ 6 ต่อ 2 เห็นว่า ร่าง พ.ร.บ. 2 ล้านล้าน ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เพราะมีการเสียบบัตรแทนกัน

ทั้งนี้ในประเด็นแรก ศาลเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ. 2 ล้านล้าน เป็น "เงินแผ่นดิน" โดยการจ่ายเงินแผ่นดินจะต้องใช้จ่ายตามกฎหมาย 4 ฉบับเท่านั้น 1.กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ 2.กฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย 3.กฎหมายว่าด้วยการโอนงบประมาณ และ 4.กฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง และ "กรณีเร่งด่วน"

แต่ตามเท็จจริงแล้ว ปรากฏว่าการดำเนินการตามร่าง พ.ร.บ. 2 ล้านล้าน ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน

และการใช้จ่ายเงินแผ่นดินต้องเป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังตามรัฐธรรมนูญมาตรา170วรรค2 เพื่อการรักษาเสถียรภาพ การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งร่าง พ.ร.บ. 2 ล้านล้าน ให้นำเงินไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์โดยไม่ต้องนำส่งคลังตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ และกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง และบัญญัติให้คณะรัฐมนตรี รายงานการกู้เงิน ผลการดำเนินงานต่อสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาทราบเท่านั้น ทำให้การควบคุมตรวจสอบการใช้จ่ายเงินดังกล่าวไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่าด้วยกรอบวินัยการเงินการคลังในรัฐธรรมนูญหมวด8ทำให้ร่าง พ.ร.บ. 2 ล้านล้าน จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

ประเด็นที่สอง กรณีเสียบบัตรแทนกัน ศาลพิจารณาตามพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่า นายนริศร ทองธิราช ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ได้ใช้บัตรแสดงตนเองและออกเสียงลงคะแนนแทน ส.ส.รายอื่น ในวันที่ 20 ก.ย. 2556

โดยศาลเห็นว่าการลงคะแนนเสียงแทนกันในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 122 ที่ระบุว่า ส.ส.ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์

และมาตรา 126 วรรค 3 การออกเสียงลงคะแนนให้กระทำเป็นความลับ ศาลจึงเห็นว่า กระบวนการตราร่าง พ.ร.บ. 2 ล้านล้าน ไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

แน่นอนว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ถือเป็นที่สิ้นสุดตามรัฐธรรมนูญมาตรา216 วรรค 5 ซึ่งเขียนไว้ชัดเจนว่า

"คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ"

ดังนั้น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นบรรทัดฐานถึงรัฐบาลชุดต่อไปว่า ถ้าไม่ใช่กรณีเกิดสงคราม การรบ หรือเกิดวิกฤตการเงินการคลังที่มีความจำเป็นเร่งด่วน การออก พ.ร.บ.กู้เงินมา "จ่าย" ในโครงการต่าง ๆ ต้องทำผ่านกฎหมาย 4 ฉบับตามรัฐธรรมนูญมาตรา 169 เท่านั้น ไม่สามารถออกกฎหมายพิเศษมาใช้กู้เงินได้อีก

พลันที่มติศาลรัฐธรรมนูญสะพัดไปทั่วประเทศ ฟากผู้ยื่นร้องคือ "พรรคประชาธิปัตย์" ต่างดาหน้าออกมาขย่มซ้ำ

"อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" หัวหน้าพรรค ระบุผ่านเฟซบุ๊กว่า "คนไทยไม่ต้องเป็นหนี้ 50 ปี ผมมั่นใจว่าโครงการทั้งหลายสามารถดำเนินการได้โดยไม่ล่าช้าไปมาก เพราะโครงการที่มีความพร้อมสามารถจัดทำเป็นระบบงบประมาณได้เกือบทุกโครงการต่อเนื่องมาจากรัฐบาลก่อนหน้าอยู่แล้ว"

"วิรัตน์กัลยาศิริ"หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคระบุว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นร่าง พ.ร.บ.การเงิน ซึ่งที่ผ่านมาทุกฝ่ายทักท้วง แต่ ครม.ยังยืนยันเดินหน้าพิจารณากฎหมายฉบับนี้ต่อ ซึ่งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติออกมาเช่นนี้ รัฐบาลที่เป็นผู้เสนอต้องลาออกอย่างเดียว ไม่สามารถอยู่ต่อไปได้ เพราะตามธรรมเนียมปฏิบัติในระบบรัฐสภา เมื่อกฎหมายการเงินตกต้องลาออกทั้งหมด

"หลังจากนี้ พรรคจะยื่นถอดถอนบุคคลที่เกี่ยวข้องในกรณีนี้ทั้งหมดไปที่ ป.ป.ช. หากพบมีการทุจริตผิดกฎหมาย ก็ต้องฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง"

ขณะที่ผู้นำฝ่ายรัฐบาลอย่าง "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี แสดงความรู้สึกเสียดายที่ร่างกฎหมายถูกตีตก

"เสียดาย รัฐบาลทำอย่างเต็มที่แล้ว ที่เราอยากเห็นประเทศของเราพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพราะตั้งแต่มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาก็จะเห็นว่าขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เรื่องโครงสร้างพื้นฐานเป็นรองเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงเป็นที่มาของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เสียดายกับการที่เราควรได้พัฒนาให้เราสามารถที่จะก้าวนำในการเชื่อมโยงกับภูมิภาคอาเซียนและการที่จะให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการลงทุนในประเทศภูมิภาคก็ถือว่าเราทำอย่างเต็มที่แล้ว"

"ใครก็ตามที่จะคิดว่าเราทำเพื่อประเทศก็อยากให้มองที่เจตนาอย่ามองการใช้ข้อกฎหมายเป็นข้อเพื่อที่จะลิดรอนเป็นข้อที่จะตัดสิทธิ์ของทุกคนเลย แล้วอย่างนี้เราจะไปด้วยกันลำบาก การพัฒนาประเทศต่าง ๆ ก็ลำบาก เพราะเรามุ่ง มุ่งแต่ว่า ทำทุกอย่างใช้ข้อกฎหมาย ในการที่จะตัดสิทธิ์ โดยที่ไม่มองถึงเจตนารมณ์อันเป็นเบื้องต้น ตรงนี้ต่างหากที่เราคิดว่า เราหวังว่า เราจะได้รับความเข้าใจ แล้วเราจะได้รับความยุติธรรมแล้วก็เห็นใจ"

ขณะที่ "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" รมว.คมนาคม บอกเพียงสั้น ๆ ว่า เราทำดีที่สุดแล้ว

"ผลกระทบจะออกมาอย่างไรขอน้อมรับคำวินิจฉัย ซึ่งน่าจะเป็นผลกับรัฐบาลชุดหน้ามากกว่า ไม่ว่าศาลจะตัดสินอย่างไรต้องเดินหน้าต่อได้ คำวินิจฉัยไม่มีอะไรเป็นลบแค่ว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือไม่"

หลังจากนี้ไม่ว่าฝ่ายค้านจะนำไปต่อยอดเอาผิดรัฐบาลรักษาการยิ่งลักษณ์หรือฝ่ายรัฐบาลรักษาการโดยกระทรวงคมนาคมปรับแผนเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างไร

แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นบรรทัดฐานปิดประตูการออกกฎหมายกู้เงินไปอย่างถาวร

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
------------------------------------------

จี้ตั้งงบ ทดแทน 2 ล้านล้าน !!?

นักเศรษฐศาสตร์ชี้ไทยต้องพัฒนา'ระยะยาว' ชี้เลิก'2ล้านล้าน'ไม่กระทบศก.ระยะสั้น เป็นโอกาสทบทวนความสำคัญโครงการ

นักเศรษฐศาสตร์ชี้ผลกระทบยกเลิกโครงการ"2ล้านล้าน"ไม่กระทบภาพรวมเศรษฐกิจ แนะรัฐบาลใหม่ เร่งทบทวน-จัดลำดับความสำคัญโครงการ ระบุระยะยาวมีความจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หนุนกลับมาใช้งบปกติลงทุน เชื่อฐานะการคลังแกร่งรองรับได้และแก้ปัญหากระบวนการตรวจสอบ

นักเศรษฐศาสตร์ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ ภายหลังจากร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศ หรือ "พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาท" ต้องถูกยกเลิกไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยเห็นว่าไม่ส่งผลกระทบระยะสั้นต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ เพียงแต่อาจกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อโครงการภาครัฐ

โครงสร้างพื้นฐานตาม"พ.ร.บ.2 ล้านล้านบาท" ถือเป็นโครงการลงทุนครั้งใหญ่ของไทย ในการวางแผนพัฒนาระบบขนส่งทั่วประเทศ โดยรัฐบาลต้องการให้มีการพัฒนาโครงการอย่างต่อเนื่องและไม่ผูกติดกับงบประมาณรายจ่ายประจำปี แต่เมื่อร่างกฎหมายฉบับนี้ต้องตกไป จึงต้องกลับไปตั้งงบประมาณและการกู้เงินตามแผนก่อหนี้ภาครัฐ

หากพิจารณาโครงการที่อยู่ในร่างกฎหมายฉบับนี้ มีเพียง 3 โครงการเท่านั้นที่ยังเดินหน้าต่อด้วยงบประมาณตามปกติ แต่มีวงเงินลงทุนในปี 2557 เพียง 1.7 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับวงเงินตามแผนลงทุนเฉลี่ยปีละกว่า 2 แสนล้านบาท

ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการหารือกับกระทรวงคมนาคมจัดลำดับความสำคัญโครงการลงทุน โดยคาดว่าจะสามารถลงทุนได้ปีละประมาณ 1 แสนล้านบาทในงบประมาณปกติ และต้องรอเสนอรัฐบาลใหม่พิจารณาเห็นชอบ

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าทีมวิจัยลูกค้าบุคคล ฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุนส่วนบุคคล บล.ภัทร กล่าวว่าผลกระทบที่เกิดขึ้น อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและแผนการลงทุนระยะยาวที่ขาดหายไปบ้าง แต่โดยรวมแล้วไม่มีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและการลงทุนของรัฐบาลมากนัก

"สาเหตุเพราะตลาดการลงทุนส่วนใหญ่รับข่าวเรื่องนี้ไปแล้ว จะเห็นว่าสำนักวิจัยฯ ต่างๆ แทบไม่มีหวังกับการลงทุนโครงการนี้อยู่แล้ว เพราะเม็ดเงินจากการลงทุนออกมาช้ามาก ทำให้ตลาดคาดการณ์ไว้อยู่แล้วว่า โครงการนี้อาจไม่สามารถเกิดได้"

นายพิพัฒน์ กล่าวว่าผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจคงไม่ได้มากนัก เพราะถ้ารัฐบาลตั้งใจจะลงทุนในโครงการเหล่านี้อยู่แล้ว ก็สามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องมี พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เนื่องจากสามารถใช้งบประมาณปกติในการดำเนินการได้ เพียงแต่อาจทำให้แผนการจัดทำงบประมาณสมดุลต้องเลื่อนออกไป

ชี้อาจกระทบการทำงบสมดุล

“ถ้าทำจริงๆ เชื่อว่ารัฐบาลทำได้ ลองคิดเล่นๆ เงินลงทุน 2 ล้านล้านบาท ใช้เวลาทำ 7 ปี เฉลี่ยลงทุนปีละ 3 แสนล้านบาท คิดเป็น 3% ของจีดีพีไปอีก 7 ปี ซึ่งจริงๆ อาจต่ำกว่านั้นด้วยถ้าจีดีพีโตขึ้น ดังนั้นหากจะทำก็ต้องเอา 2 ล้านล้านบาท ที่อยู่นอกงบ กลับเข้ามาในงบ เพียงแต่ต้องแลกกับแผนการทำงบสมดุลที่ต้องล่าช้าออกไป”นายพิพัฒน์กล่าว

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า การทำแผนลงทุน 2 ล้านล้านบาท กลับเข้ามาในกระบวนการงบประมาณตามปกติ อาจทำให้การจัดสรรงบมีความเหลื่อมล้ำบ้าง เพราะโครงการส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการคมนาคมขนส่ง ดังนั้นการจัดสรรงบกว่า 80-90% อาจจะไปตกอยู่กับกระทรวงคมนาคม แต่ข้อดีของการนำงบลงทุนส่วนนี้เข้ามาอยู่ในกระบวนการงบประมาณปกติมีข้อดีคือความโปร่งใสมีมากขึ้น และสามารถเปรียบเทียบความคุ้มค่าในการลงทุนได้

'ทิสโก้'ชี้กระทบภาพรวมไม่มาก

เช่นเดียวกับ นายกำพล อดิเรกสมบัติ เศรษฐกรอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ บล. ทิสโก้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ผลกระทบที่เกิดกับภาพรวมเศรษฐกิจคงไม่ได้มากนัก เพราะสำนักวิจัยทางเศรษฐกิจต่างๆ ได้คาดการณ์ไว้อยู่แล้วว่า พ.ร.บ.นี้คงเกิดได้ยาก ดังนั้นผลกระทบต่อเศรษฐกิจจึงไม่ได้มากนัก

“คือ ตลาดคาดการณ์ไว้อยู่แล้วว่า ไม่น่าจะผ่าน ผลที่ออกมาจึงไม่น่าจะทำให้ภาพเศรษฐกิจเปลี่ยนไปจากเดิมมากนัก อย่างของ บล.ทิสโก้ เองก็ไม่ได้นำเรื่องเหล่านี้เข้ามารวมในประมาณการเศรษฐกิจของปีนี้เลย ส่วนปีหน้าเราก็มองว่าการเบิกจ่ายคงทำได้ลำบากอยู่”นายกำพลกล่าว

ส่งผลพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานช้า

นายกำพล ยอมรับว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่สามารถผ่านได้ เพราะทำให้การลงทุนซึ่งเป็นการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศมีความล่าช้าออกไป ซึ่งจริงๆ แล้วบางโครงการควรเริ่มต้นดำเนินการในตอนนี้ แต่อย่างไรก็ตาม การลงทุนที่ล่าช้าออกไปตรงนี้ ก็อาจทำให้บางธุรกิจได้ประโยชน์เช่นกัน

"ผมว่าการลงทุนในส่วนนี้ ยังไงก็ต้องเกิดเพราะเป็นโครงการจำเป็นของประเทศ เพียงแต่มันจะล่าช้าออกไปบ้างเท่านั้น ซึ่งตรงนี้อาจมีผลดีกับบางธุรกิจ เช่น ในส่วนของโครงการรถไฟรางคู่ ที่เป็นคู่แข่งกับระบบขนส่งทางถนน ก็ทำให้ธุรกิจการขนส่งทางถนนมีเวลาในการปรับตัวบ้าง หรืออย่างรถไฟความเร็วสูง ที่แผนก่อสร้างล่าช้าไป ก็ทำให้ธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำไม่ต้องกังวลใจกับคู่แข่งตรงนี้มากนัก ซึ่งทุกอย่างมันมี 2 ด้าน มีทั้งผลดีและผลเสียในตัวเองเสมอ”นายกำพลกล่าว

ชี้ไม่กระทบเศรษฐกิจปีนี้

นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าไม่มีผลทำให้เศรษฐกิจไทยระยะสั้นเติบโตต่ำกว่าที่คาดการณ์กันไว้มากนัก เพราะถ้าไปดูการประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจของสำนักวิจัยส่วนใหญ่แล้ว แทบไม่ได้นำแผนการลงทุนในโครงการนี้ใส่ไว้ในการประเมินเลย

“การเลื่อนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ไม่น่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจปีนี้มากนัก เพราะปกติแล้วการลงทุนขนาดใหญ่จะมีผลต่อเศรษฐกิจระยะยาวของประเทศมากกว่า แต่อย่างไรก็ตาม การเบิกจ่ายการใช้งบประมาณ ก็คงทยอยใช้อยู่แล้ว ดังนั้นผลกระทบระยะสั้น 6 เดือนถึง 1 ปี จึงไม่ได้เห็นผลกระทบอะไรที่ชัดเจน”นายสมประวิณกล่าว

นายสมประวิณ กล่าวว่าในระยะยาวคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพิ่ม เพียงแต่มติของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมา ทำให้ผู้ทำนโยบายต้องกลับมาคิดว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อไปมากกว่า ซึ่งการกลับมาใช้กระบวนการตามกรอบของรัฐธรรมนูญก็ถือเป็นเรื่องดี ทำให้ภาครัฐมีเวลาวางแผนการลงทุนอย่างรัดกุมขึ้น สามารถจัดลำดับความสำคัญของโครงการได้อย่างถูกต้อง

ระบุใช้งบปกติไม่มีปัญหาลงทุน

นางณดา จันทร์สม คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) กล่าวว่าอาจทำให้ดูเหมือนว่าโครงการลงทุนต่างๆ ต้องชะลอออกไป ซึ่งในความจริงแล้วงบประมาณสำหรับโครงการเหล่านี้สามารถโยกไปไว้ในงบประมาณประจำปีได้ เพียงแต่ต้องให้รัฐบาลใหม่เป็นผู้อนุมัติ ดังนั้นเงื่อนไขของความล่าช้าในโครงการลงทุนเหล่านี้จึงอยู่ที่ว่า เมื่อไรเราจะได้รัฐบาลใหม่ที่มีอำนาจในการบริหารจัดการ

“ในแง่การหาแหล่งเงินลงทุนนั้น จริงๆ เมื่อเข้ากระบวนการงบประมาณปกติก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะหนี้สาธารณะเราไม่ได้สูง และยิ่งถ้าเป็นการกู้มาเพื่อไปลงทุนก็น่าจะเป็นที่ยอมรับได้”นางณดากล่าว

นอกจากนี้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมา ก็น่าจะเป็นการเปิดช่องให้รัฐบาลได้มีเวลาในการนำโครงการต่างๆ กลับมาพิจารณาใหม่ และจัดลำดับความสำคัญของโครงการเหล่านี้อย่างจริงจัง ซึ่งเป็นเรื่องที่ สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ควรนำมาพิจารณาใหม่

แนะเร่งทบทวนความสำคัญใหม่

“ควรเอามาดูเลยว่าอันไหนที่น่าจะเป็นโครงการเร่งด่วนและต้องทำก่อน เราต้องศึกษาให้ชัดเจนว่าที่จะทำมีความคุ้มค่าหรือไม่ ซึ่งไม่จำเป็นว่าต้องลงทุนในทุกโครงการ เราสามารถเลือกและดูความเหมาะสมได้ เมื่อได้ข้อมูลที่ละเอียดแล้วค่อยทยอยทำก็ได้”นางณดากล่าว

นอกจากนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ที่อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ 3 ตรงนี้ก็ควรนำมาจัดลำดับความสำคัญใหม่ว่าเป็นโครงการจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่ และเมื่อได้รัฐบาลใหม่ที่มีอำนาจในการบริหารงานเต็มที่ ก็สามารถนำโครงการลงทุนต่างๆ มาลงในงบประมาณปี 2558 และเริ่มดำเนินการได้ทันทีเลย แต่ถ้าอันไหนมีความจำเป็นเร่งด่วนก็สามารถดึงงบกลางของปี 2557 มาใช้ก่อนได้

"ยอมรับว่าคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมา อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนอยู่บ้าง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์และวัสดุก่อสร้าง เพราะการลงทุนบางส่วนอาจจะมีความล่าช้าออกไปกว่าที่คาดการณ์กันไว้บ้าง แต่สุดท้ายยังเชื่อว่า การลงทุนยังต้องเกิดขึ้นจริง เพราะโครงการเหล่านี้ถือเป็นโครงการที่มีความจำเป็นทางเศรษฐกิจของประเทศ"

การเมืองสำคัญกว่า"2 ล้านล้าน"

นายสมภพ มานะรังสรรค์ อธิการดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่ากรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติคว่ำร่างกฎหมายไม่ใช่อุปสรรคในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพราะหากไม่มีเงินกู้จำนวนนี้ รัฐยังสามารถหาแหล่งเงินอื่นๆ มาทดแทนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้

นายสมภพ กล่าวว่าสิ่งที่มีความสำคัญมากกว่าเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท คือ การแก้ไขปัญหาการเมืองที่ยืดเยื้อมาหลายเดือน ดึงความเชื่อมั่นของคนในและต่างประเทศให้กลับมา ซึ่งถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ควรมองหาจุดแข็งอื่นๆ ของประเทศไทย ซึ่งไม่จำเป็นต้องผูกอยู่แค่การพัฒนาระบบราง ซึ่งเป็นงบส่วนใหญ่ของร่างกฎหมายฉบับนี้

"ที่ผ่านมาหลายๆ รัฐบาลมุ่งเน้นแต่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ผูกติดอยู่กับภาคการเกษตร แต่การพัฒนากลับยังไม่ไปถึงไหน รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้ครบองค์รวม โดยเฉพาะในภาคบริการ ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของไทยหากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน สะท้อนจากจีดีพีของไทยในภาคบริการที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 %"

"ธนวรรธน์"ชี้กระทบจีดีพี 0.5-0.7%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ 2 ล้านล้านบาทที่จะไม่เกิดขึ้นในปีนี้จะส่งผลให้เม็ดเงินลงทุนภาครัฐหายไปจากระบบเศรษฐกิจประมาณ 1 แสนล้านบาทและส่งผลกระทบต่อจีดีพี 0.5 - 0.7%

ดังนั้นแนวโน้มที่หน่วยงานด้านเศรษฐกิจจะปรับประมาณเศรษฐกิจในปี 2557 ลงมาอยู่ที่ 2 - 3% จากเดิมที่คาดการว่าจะขยายตัวได้ 3 - 4% จะมีมากขึ้นซึ่งเมื่อรวมกับสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่แน่นอนทำให้ส่งผลกระทบต่อการบริโภคภายในประเทศทำให้แนวโน้มที่เศรษฐกิจในปีนี้จะขยายตัวได้เพียง 2% หรือใกล้เคียกับ 2% มีมากขึ้น

นายธนวรรธน์ ประเมินว่าผลกระทบที่ชัดจะเกิดขึ้นในปี 2558 เนื่องจากแต่เดิมคาดการณ์ว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนภาครัฐจากโครงการนี้ในปีที่ 2-7 ของการลงทุนตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ประมาณปีละ 2 - 3 แสนล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวถึง 1% ต่อปี แต่เมื่อไม่มีกฎหมายฉบับนี้ ก็ต้องดูว่ารัฐบาลต่อไปจะเลือกใช้วิธีการลงทุนแบบใด ซึ่งถ้าหากใช้วิธีการตามงบประมาณปกติเศรษฐกิจก็จะไม่ส่งผลมากเท่ากับการลงทุนตามพ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาท

2 ล้านล้านบาทเป็นการลงทุนที่จะใส่เงินเข้าไปอีกปีละ 2 - 3 แสนล้านบาทตามวิธีงบประมาณปกติซึ่งเห็นภาพที่ชัดเจนว่าเศรษฐกิจจะโตปีละ 1% แต่หากรัฐบาลใหม่จะลงทุนตามวิธีการงบประมาณปกติก็ต้องดูว่าพร้อมที่จะขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาเราเคยขาดดุลงบประมาณมากที่สุด 4 แสนล้านบาท ปัจจุบัน ขาดดุลงบประมาณ 2.5 แสนล้านบาทจึงมีช่องว่างให้ขาดดุลงบประมาณได้อีก 1.5 แสนล้านบาทต่อปี

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
---------------------------------------------------

วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2557

ตบหน้า ป.ป.ช. หลักฐานทุจริตระบายข้าว รบ.อภิสิทธิ์ ไม่ได้จมน้ำหาย !!?

ช่วงอุทกภัย54 แฉหนังสือ อคส. มี.ค.56 เพิ่งมอบข้อมูลโกง นับหมื่นชิ้น ให้ ดีเอสไอ.

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่เอกสารข่าว เร่งรัด ให้ นายกรัฐมนตรี เข้าชี้แจง “กรณีโครงการรับจำนำข้าว” ภายใน 15 วัน หลังจากวันที่ 14 มีนาคม อันเป็นวันครบกำหนดที่ “ป.ป.ช.” ได้ขีดเส้นใต้เอาไว้ก่อนหน้านี้ เป็นต้นไป

เป็นความชัดเจนจาก ป.ป.ช. อีกครั้ง ในการพยายามทำให้ คดีโครงการรับจำนำข้าว ถึง จุดสิ้นสุด โดยไว
ซึ่งหาก “ทุกคดี” ในมือ “ป.ป.ช.” สอบสวน-สรุปจบ-ชี้มูลความผิด “รวดเร็ว” เหมือนดังกรณีดังกล่าวนี้ทุกคดี…ประเทศไทยก็คงเจริญกว่านี้ไปแล้ว

เพียงแต่วันนี้ “หลายคดี” ในมือ “ป.ป.ช.” ยังคงไม่มีความคืบหน้าอย่างชัดเจน
โดยเฉพาะ “คดีทุจริตระบายข้าวรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2552-2553 ซึ่งจนถึงวันนี้ พ.ศ.2557 เท่ากับปมปัญหาการทุจริตระบายข้าวในสต็อกรัฐบาล ที่เกิดขึ้นมากว่า 5 ปีแล้วนั้นไม่มีความคืบหน้าใดๆทั้งสิ้น !

ซ้ำร้ายเมื่อย้อนดูคำให้สัมภาษณ์ของ วิชา มหาคุณ โฆษกและกรรมการ ป.ป.ช. ที่อ้าง “น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ทำให้เอกสาร-หลักฐานต่างๆ สูญหาย จนหน่วยงานต่างๆ ไม่สามารถส่งข้อมูลทุจริตระบายข้าวยุครัฐบาลประชาธิปัตย์ให้กับ ป.ป.ช. ได้

ยิ่งเป็น “เหตุผล” ที่แทบจะไม่น่าเชื่อว่า “คณะกรรมการตรวจสอบการทุจริต อันดับ 1 ประเทศไทย” จะกล้าใช้ “ข้ออ้าง” เหล่านี้

เนื่องจากล่าสุดได้มีการตรวจสอบพบว่า “องค์กรคลังสินค้า (อคส.)” ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักหน่วยงานหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องกับ “กระบวนการระบายข้าวในสต็อกรัฐบาล” มาตลอดทุกยุคทุกสมัย ได้จัดส่งเอกสารหลักฐานการส่งออกตามสัญญาซื้อขายข้าวสารในสต็อกรัฐบาลให้กับองค์กรตรวจสอบอย่าง “กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)” เป็นจำนวนมากแล้วในช่วงเดือนมีนาคม 2556

ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งยืนยันได้ระดับหนึ่งหรือไม่ว่า ข้ออ้างที่ “ป.ป.ช.” ระบุว่า “น้ำท่วมใหญ่ 2554 ทำให้เอกสาร หลักฐานสูญหาย จนหน่วยงานต่างๆไม่สามารถส่งให้กับ ป.ป.ช.ได้” นั้น แท้ที่จริงแล้ว เอกสาร-หลักฐาน ต่างๆ อาจจะไม่ได้สูญหายไปกับน้ำท่วมใหญ่ 2554 ตามที่ “ป.ป.ช.” อ้างแต่ประการใด

จากการตรวจสอบพบว่า องค์การคลังสินค้า (อคส.) ได้มีหนังสือเลขที่ อคส.10131/1906 ลงวันที่ 28 มีนาคม 2556 แจ้ง ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ 2 (พันตำรวจโท อนุรักษ์ โรจนิรันดร์กิจ) อ้างถึง หนังสือของ สำนักคดีอาญาพิเศษ 2 กรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่ ยธ 0811/089 ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2556

ระบุว่าตามหนังสือที่สำนักคดีอาญาพิเศษ 2 กรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอให้องค์การคลังสินค้าส่งมอบสำเนาเอกสารหลักฐานพร้อมรับรองสำเนาถูกต้องในส่วนของสัญญาซื้อขายเพื่อการส่งออกนอกราชอาณาจักร พร้อมทั้งเอกสารประกอบสัญญาที่เกี่ยวข้องกับสัญญาทุกฉบับ เช่น หลักประกันสัญญา , รายละดเอียดการรับมอบข้าวสาร , หลักฐานการส่งออกนอกราชอาณาจักร , รายละเอียดการชำระเงินค่าข้าวสารและหลักฐานการคืนหลักประกันสัญญา หรือเอกสารต่างๆที่เกี่ยวข้องจนเสร็จสิ้นกระบวนการจำหน่ายข้าวสารและหลักฐานการคืนหลักประกันสัญญา หรือเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อจนเสร็จสิ้นกระบวนการจำหน่ายข่าวสารในสต็อกของรัฐบาล ในระหว่างปี พ.ศ.2552 ถึง พ.ศ.2553 ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์การคลังสินค้านั้น

องค์การคลังสินค้าได้ดำเนินการรวบรวมเอกสารหลักฐาน ที่เกี่ยวข้องสัญญาซื้อขายข้าวสารในสต็อกของรัฐบาล ระหว่างปี พ.ศ.2552 ถึง พ.ศ.2553 ตามรายละเอียดดังนี้

1.เอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการระบายข้าวสารในสต็อกของรัฐบาล ปี พ.ศ.2552

1.1 สำเนาบันทึกรมการค้าต่างประเทศ แจ้งองค์การคลังสินค้า เรื่องการจำหน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐบาล ปี พ.ศ.2552 จำนวน 123 แผ่น

1.2 สำเนาสัญญาซื้อขายข้าวสาร เพื่อการส่งออกนอกราชอาณาจักร ปี พ.ศ.2552 จำนวน 15 สัญญา (สัญญาซื้อขายข้าวสารเลขที่ คชก.ชข.24-38) จำนวน 296 แผ่น

1.3 สำเนาบันทึกด่วนที่สุด ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2552 ยกเลิกสัญญาซื้อขายข้าวสารเพื่อการส่งออกนอกราชอาณาจักรทั้งหมด และระงับการอนุญาตให้ภาคเอกชนที่ชำระเงิน ค่าข้าวสารบางส่วน ตามสัญญาซื้อขายข้าวสาร ทำการขนย้ายข้าวสารออกจากคลังกลาง จำนวน 1 แผ่น

1.4 สำเนาบันทึกที่ อคส.9000/98 ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2552 เรื่องการประชุมผู้ซื้อข้าวสาร ตามสัญญาซื้อขายเพื่อการส่งออก นอกราชอาณาจักร จำนวน 14 ราย และสำเนาคู่ฉบับบันทึก ที่ อคส.1091/419 ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2552 จำนวน 5 แผ่น

1.5 รายละเอียดการจำหน่ายข้าวสารตามสัญญาซื้อขาย และสำเนาบันทึกการคืนเงินผู้ซื้อ ที่ได้ชำระเงินค่าข้าวสาร แต่ยังไม่ได้รับมอบข้าวสาร และการคืนหลักประกันสัญญาซื้อขายจำนวน 20 แผ่น

1.6 สำเนาเอกสารหลักฐานการส่งออกข้าวสาร ออกนอกราชอาณาจักร จำนวน 6 สัญญา จำนวน 205 แผ่น

2.เอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการระบายข้าวสารในสต็อกของรัฐบาล ปี พ.ศ.2553

2.1 สำเนาบันทึกกรมการค้าต่างประเทศ แจ้งองค์การคลังสินค้า เรื่องการจำหน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐบาล ปี พ.ศ.2553 จำนวน 65 แผ่น

2.2 สำเนาสัญญาซื้อขายข้าวสาร เพื่อการส่งออก นอกราชอาณาจักร ปี พ.ศ.2553 จำนวน 22 สัญญา (สัญญาซื้อขายข้าวสารเลขที่ คชก.ชข.39-42 , 44-48 , 50-59 และ 61-63) จำนวน 328 แผ่น

2.3 สำเนาสัญญาซื้อขายข้าวสารเพื่อจำหน่ายภายในประเทศ ปี พ.ศ.2553 จำนวน 1 สัญญา (สัญญาซื้อขายข้าวสารเลขที่ คชก.ชข.53) จำนวน 16 แผ่น

2.4 รายละเอียดการจำหน่ายข้าวสารตามสัญญาซื้อขาย และสำเนาบันทึกการคืนเงินผู้ซื้อที่ได้ชำระเงินค่าข้าวสาร แต่ยังไม่ได้รับมอบข้าวสาร และการคืนหลักประกันสัญญาซื้อขาย จำนวน 23 สัญญา จำนวน 169 แผ่น

2.5 สำเนาเอกสารหลักฐานการส่งออกข้าวสาร ออกนอกราชอาณาจักร จำนวน 18 สัญญา จำนวน 8,667 แผ่น

จึงเรียนมาเพื่อทราบ …

ชัดเจนนะ …ป.ป.ช.





ที่มา.พระนครสาส์น

//////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วรรคทองที่ ป๋าเปรม อยากให้ บิ๊กตู่ เอาเป็นเยี่ยงอย่าง !!?

ขณะไปเป็นประธานในพิธีเปิดอนุสาวรีย์ "พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา" ที่ค่ายกฤษณ์สีวะรา จ.สกลนคร

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ได้มองเห็นป้ายข้อความแกะสลักใต้ฐานอนุสาวรีย์ ซึ่งอ้างอิงมาจากคำพูดของ พล.กฤษณ์ ที่ระบุว่า

"ทหารเรายืนอยู่บนเกียรติอันสูงส่ง ที่ประชาชนคนไทยหวังเป็นที่พึ่งขั้นสุดท้ายของเขา"

จากนั้น จึงพูดกับนายทหารที่มาร่วมงานว่า "ต้องบอก ผบ.ทบ. ให้มาอ่านตรงนี้"

 

ผู้คนต่างตีความแตกต่างกันออกไปถึง คำพูดล่าสุดของ "ป๋าเปรม"

บางคนเห็นว่ามีนัยยะสำคัญทางการเมือง ในบริบทที่รัฐบาลเพื่อไทยกำลังถูกโยกคลอนอย่างหนักจากกลุ่มกปปส. เรื่อยมาจนถึงกระบวนการทำงานต่อเนื่องของบรรดาองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ

บางคนเห็นว่า"ป๋า"แค่พูดแซวเล่นๆไม่มีนัยยะทางการเมืองลึกซึ้งอะไร

ขณะที่ "พล.ท.ชาญชัย ภู่ทอง" แม่ทัพภาคที่ 2 ก็แปลงสาส์นให้ "ป๋าเปรม" เสร็จสรรพว่า ป๋าท่านเรียกให้ "ผบก.จทบ.สกลนคร" มาดูป้ายข้อความ ไม่ใช่"ผบ.ทบ."

แต่พร้อมๆ กับที่ "สาส์น" ของท่านแม่ทัพถูกเผยแพร่มายังสื่อมวลชน "คลิป" ที่นักข่าวถ่ายทำไว้ก็เดินทางมาถึงกองบรรณาธิการในกทม.เช่นกัน

และ "ป๋าเปรม" ในคลิป ก็พูดเสียงดังฟังชัดว่า "ต้องบอก ผบ.ทบ. ให้มาอ่านตรงนี้"

พ้นไปจากการแปลความคำพูดของประธานองคมนตรี ผู้เป็น "ทหารแก่ที่ไม่มีวันตาย"

คนยุคนี้จำนวนมากอาจไม่รู้แล้วว่า "พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา" ที่ พล.อ.เปรม ไปเป็นประธานเปิดอนุสาวรีย์ให้

รวมทั้งยังเป็นเจ้าของ "วรรคทอง" ที่ป๋าอยากให้ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ผบ.ทบ.คนปัจจุบัน ได้มาอ่าน นั้นคือใคร? และมีความสำคัญอย่างไร?




พล.อ.กฤษณ์เป็นอดีตผบ.ทบ.และเป็นอดีตผู้บังคับบัญชาของ "ป๋าเปรม"

ถือเป็น "ทหารการเมือง" คนสำคัญอีกรายหนึ่ง ในช่วงทศวรรษ 2510

ในยุคที่ข้าราชการประจำสามารถควบตำแหน่งข้าราชการเมืองได้

นายทหารใหญ่อย่างพล.อ.กฤษณ์จึงเคยดำรงตำแหน่งมาแล้วทั้งรมช.ศึกษาธิการ, รมช.กลาโหม, รมว.อุตสาหกรรม ในรัฐบาล "จอมพลถนอม กิตติขจร" และสมาชิกวุฒิสภาพแบบแต่งตั้ง

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่กลุ่ม "ถนอม-ประภาส-ณรงค์" กระเด็นหลุดวงโคจรอำนาจ

พล.อ.กฤษณ์ ซึ่งกลายเป็นตัวแทนของ "ทหารการเมือง" อีกขั้วหนึ่ง จึงได้รักษาการผู้บัญชาการทหารสูงสุด อีกหนึ่งตำแหน่ง

ก่อนจะเกษียณอายุราชการในปี 2557

ต่อมา พล.อ.กฤษณ์ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรมว.กลาโหม ในรัฐบาล "ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช"

ทว่าหลังจากรับตำแหน่งได้ไม่นาน นายทหารท่านนี้ก็ถึงแก่อสัญกรรมอย่างกะทันหันเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2519

สาเหตุของการถึงแก่อสัญกรรมยังเป็นที่สงสัยกัน ตั้งแต่ช่วงเวลานั้นมาจนถึงปัจจุบัน

เพราะก่อนหน้าการเสียชีวิต พล.อ.กฤษณ์ ก็แค่เดินทางไปเล่น "กอล์ฟ" และทาน"ข้าวเหนียวมะม่วง" เท่านั้นเอง

ไม่กี่เดือนถัดมา หลังจาก พล.อ.กฤษณ์ ถึงแก่อสัญกรรม

"จอมพลถนอม กิตติขจร" ที่เดินทางออกนอกประเทศไปหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ก็เดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทย ผ่านการบวชเป็นสามเณรที่สิงคโปร์ และเข้ามาอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดบวรนิเวศวิหาร

อีกไม่นานนัก เหตุการสังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519 ก็อุบัติขึ้น

ที่มา.มติชน
///////////////////////////

วันศุกร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2557

ความจริงประเทศไทย : จับตาหนี้สาธารณะพุ่ง..!!?



เมื่อทุกอย่างกลับเข้าสู่งบประมาณตามปกติ นั่นคือ ภาพความจริงของประเทศ..จับตาหนี้สาธารณะพุ่ง หลังโยกเงินลงทุน'2ล้านล้าน'

หลังจากศาลรัฐธรรมนูญตีตกร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศ พ.ศ....วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับโครงการ

แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากร่างกฎหมายต้องตกไป มีทั้งภาครัฐและเอกชน อันเนื่องมาจากความคาดหวังว่าโครงการนี้จะเกิดขึ้นในช่วงเวลา 7 ปี ตามที่รัฐบาลประเมิน และจะส่งผลให้ประเทศไทย"พลิกโฉม"ครั้งใหญ่ด้านคมนาคมของประเทศ

ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างเตรียมแผนเพื่อรองรับการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งแผนการลงทุนของตัวเอง จึงต้องมีการปรับครั้งใหญ่ แต่ผลกระทบ"ทันที"คือหน่วยงานภาครัฐ

สิ่งที่ต้องมีการปรับครั้งใหญ่ตามไปด้วย คือ การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพราะก่อนหน้านั้น โครงการลงทุนสำคัญของรัฐบาลได้โอนไปใช้เงินตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ดังนั้น จึงต้องมีการปรับปรุงรายละเอียดโครงการลงทุนในงบประมาณรายจ่าย โดยขณะนี้เป็นที่แน่ชัดว่าหากไม่มีกฎหมายในลักษณะนี้ออกมาอีก โครงการลงทุนภาครัฐทั้งหมดจะต้องใช้งบประมาณตามปกติ นั่นหมายถึงว่า ต้องมีการกู้เงินเพื่อนำมาใช้ในโครงการ

การกู้เงินเพื่อพัฒนาประเทศเป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศด้อยพัฒนา รวมทั้งไทย โดยในอดีตประเทศไทยได้กู้เงินจากสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อมาใช้พัฒนาประเทศ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด หากเราจะไปกู้เงินเพื่อนำมาใช้ในโครงการนี้ทดแทน

แต่ประเด็นที่ต้องพิจารณา คือ สัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศอาจ"ขยับ"ขึ้น และหากมีสัดส่วนเกินระดับ"ความยั่งยืน"ทางการเงินการคลัง ก็อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประเทศ ดังนั้น การออกพระราชบัญญัติกู้เงินครั้งนี้ จึงเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการนำมาใช้คิดคำนวณเป็นหนี้สาธารณะ

แต่เมื่อกลับไปใช้งบประมาณปกติ ก็จะต้องนำเงินลงทุนแต่ละโครงการมาคิดเป็นหนี้สาธารณะด้วย หากมีการกู้เงินและรัฐบาลค้ำประกัน

หากพิจารณาจากแผนการบริหารหนี้สาธารณะของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)ก็จะพบว่าหากมีการเดินหน้าโครงการ 2 ล้านล้านในงบปกติก็จะส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะขยับขึ้น

ทั้งนี้ ระดับหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) จากการดำเนินการตามแผนล่าสุด คือ ประจำปีงบประมาณ 2557 ทางสบน.คาดว่าเมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2557 (30 ก.ย.) คาดว่าจะมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี อยู่ในระดับ 47.1% และมีภาระหนี้ต่องบประมาณอยู่ในระดับ 7.4%

ระดับหนี้สาธารณะดังกล่าวไม่เกินกรอบความยั่งยืนทางการคลัง ที่กำหนดให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ไม่เกิน 60% และภาระหนี้ต่องบประมาณแผ่นดินไม่เกิน 15%

คาดว่าอีก 5 ปีข้างหน้า หนี้สาธารณะของไทยก็ยังไม่เกินกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลัง

แต่การประเมินข้างต้น สบน.ไม่นับรวมการกู้เงินภายใต้พระราชกำหนดบริหารจัดการน้ำ วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท และร่างพระราชบัญญัติกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้ตีตกไปแล้ว

หากนับรวมโครงการ"พิเศษ"ที่ไม่อยู่ในกรอบงบประมาณปกติ และถูกโอนมาในงบประมาณปกติแล้ว จะเห็นว่าเป็นวงเงินมหาศาล

ตามร่างกฎหมายโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท จะมีการแบ่งจ่ายรวม 7 ปี ดังนี้ ในปี 2557 เบิกจ่าย 25,707 ล้านบาท จากนั้นในปี 2558 เบิกจ่าย 250,806 ล้านบาท ปี 2559 เบิกจ่ายเท่ากับ 380,034 ล้านบาท ปี 2560 เบิกจ่าย เท่ากับ 408,269 ล้านบาท ปี 2561 เบิกจ่าย 394,893 ล้านบาท ปี 2562 เบิกจ่าย 302,592 ล้านบาท และ ปี 2563 เบิกจ่าย 220,582 ล้านบาท

แต่หากนับรวมกับพระราชกำหนดบริหารจัดการน้ำ ยอดการเบิกจ่ายจะเพิ่มขึ้นในแต่ละปี กล่าวคือ โครงการบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศ กำหนดไว้ว่าในปี 2557 เบิกจ่าย 93,616 ล้านบาท ปี 2558 เบิกจ่าย 86,351 ล้านบาท ปี 2559 เบิกจ่าย 74,336 ล้านบาท ปี 2560 เบิกจ่าย 52,226 ล้านบาท และ ปี 2561 เบิกจ่าย 27,970 ล้านบาท

หากประเมินที่ต้อง"โยก"มาใช้งบปกติ จะเห็นว่าส่วนใหญ่มาจากโครงการ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งหากประเมินการเบิกจ่ายแต่ละปีเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท นั่นหมายความว่าแต่ละปีจะต้องมีการกู้เงินเพื่อนำมาใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท

ยกเว้น หากรัฐบาลในอนาคตจะยกเลิกโครงการรถไฟความเร็วสูง เม็ดเงินที่จะใช้งบปกติในงบประมาณแผ่นดินก็อาจลดลง แต่หากยังต้องการก่อสร้างโครงการนี้ ก็จำเป็นต้องใช้งบประมาณแต่ละปีจำนวนมาก นั่นหมายถึงต้องกู้เงินมาดำเนินโครงการทุกปี

หาก"โยก"โครงการมาใช้งบปกติ สิ่งที่ตามมาคือสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี อาจขยับขึ้น ขึ้นอยู่กับว่าเศรษฐกิจของไทยจะขยายตัวได้แค่ไหน

เพราะหากจีดีพีขยายตัวได้ต่อเนื่อง สัดส่วนหนี้สาธารณะก็ยังอยู่ในระดับ"ความยั่งยืน"ได้ แต่หากเศรษฐกิจโตอย่างช้าๆ และไม่ทันต่อสัดส่วนหนี้ ก็จะทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นไปด้วย

ดังนั้น เมื่อมีการโยกงบโครงการ 2 ล้านล้าน มาสู่งบประมาณปกติ จึงต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่าจะส่งผลต่อหนี้ภาครัฐอย่างไร เพราะอย่าลืมว่าที่ผ่านมา รัฐบาลมีโครงการประชานิยมมาหลายยุคหลายสมัยและเป็นภาระต่องบประมาณทั้งสิ้น

โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าวที่รัฐบาลตั้งงบประมาณวงเงินรวม 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะเป็นภาระงบประมาณในอนาคต

นั่นเท่ากับว่า เมื่อทุกอย่างกลับเข้าสู่งบประมาณตามปกติ เราจะเห็นข้อจำกัดมากขึ้น และอาจเป็นไปได้ว่านั่นคือ ภาพความจริงของประเทศ

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
---------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2557

ชำแหละ P-NET องค์กรต้นสังกัด สมชัย ศรีสุทธิยากร !!?

ปมปีนเกลียว กกต.2543 โชว์ตัวตน ขาใหญ่ ผูกขาด งบฯตรวจสอบเลือกตั้ง ตะลึง ขอแล้วไม่ให้ ขู่ฟ้องเอาตาย

จากข้อมูลการให้สัมภาษณ์ของ ร.ต.วิจิตร อยู่สุภาพ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในยุคปี 2543 ที่ปรากฏผ่านหน้า “หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ฉบับวันที่ 7 มิถุนายน 2543 ซึ่งระบุถึง พฤติกรรมของ “องค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย” ที่ใช้จ่ายงบประมาณในการตรวจสอบการเลือกตั้ง ส.ว. 3 ครั้ง ในปี 2543 กว่า 85 ล้านบาท แต่กลับปรากฏว่า “รายงานการทุจริตการเลือกตั้ง” ที่ “พีเน็ต” ส่งให้ กกต.นั้น…ไร้คุณภาพอย่างสิ้นเชิง !

รวมไปถึงปรากฏข้อมูลว่า ในการเลือกตั้ง ส.ว.ดังกล่าว “องค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย” กลับ รายงานบัญชีค่าใช้จ่ายกับทาง “กกต.” ยังไม่ครบจำนวน 4 สัญญา เป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 7.6 ล้านบาท !
ซึ่งนับถึงขณะนี้ ระยะเวลาก็ยืดยาวมากว่า 15 ปีแล้ว
และเรื่องดังกล่าวนี้ คนที่ “ชี้แจงแถลงไข” ได้ดีที่สุด จะเป็นใครไปไม่ได้ นอกเสียจาก “สมชัย ศรีสุทธิยากร” กกต.มือ 1 ผู้เคยสวมหมวก “เลขานุการใหญ่องค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย” และนั่งครองเก้าอี้ “ผู้ประสานงานองค์กรฯ” มายาวนานต่อเนื่องกันมากกว่าสิบปี !!
แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น คือ เมื่อปรากฏ “ข้อมูล” ดังกล่าวข้างต้นออกมา ได้ทำให้หลายฝ่ายเกิดข้อสงสัยว่า แท้ที่จริงแล้ว “องค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย” เป็นใคร มาจากไหน ?
เข้าไปรับ “งบประมาณ” ของ “กกต.” และมีกิจกรรม-พฤติกรรม การใช้เงินงบประมาณอย่างไร ?
ที่สำคัญคือ เกี่ยวโยงกับ “สมชัย ศรีสุทธิยากร” กกต.แถวหน้าประเทศไทย อย่างไร ?
โดย “เว็บไซด์มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย” ระบุเอาไว้ว่า เริ่มแรกมีการจัดตั้ง “องค์กรกลางการเลือกตั้ง” ตาม “คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 3/2535” เพื่อเป็นองค์กรที่เข้าร่วมตรวจสอบการเลือกตั้ง โดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ จากนั้นได้มีการจดทะเบียนเป็น “มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย” พร้อมจัดตั้ง “เครือข่ายประชาชนเพื่อการเลือกตั้ง” (People Network for Election in Thailand – P-NET (พีเน็ต)) ขึ้นในเวลาต่อมา
แม้คำสัมภาษณ์ของ “ร.ต.วิจิตร อยู่สุภาพ” อดีตเลขาธิการ กกต. ที่เผยแพร่ผ่านหนังสือพิมพ์ไทยรัฐในปี 2543 จะทำให้เห็น “การทำงาน” และ “ผลงาน” ของ “พีเน็ต” อย่างชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับการ “งบประมาณ จำนวนมากกว่า 85 ล้านบาท”
แต่นั่นเป็นเพียง “ส่วนหนึ่ง” เท่านั้น เพราะในข้อเท็จจริงที่ปรากฏผ่าน “สื่อสารมวลชน” ในช่วงที่เกิดปัญหา ระหว่าง “กกต.” และ “พีเน็ต” ระหว่างปี 2543-2544 กลับกลายเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นการใช้ “งบประมาณ” และ “การทำงานไ ของ “พีเน็ต” ได้อย่างลึกซึ้ง
โดยหลังจากที่ “ร.ต.วิจิตร อยู่สุภาพ” อดีตเลขาธิการ กกต. ออกมา เปิดฉากแฉข้อเท็จจริง “ผลงานไร้คุณภาพ” ของ “พีเน็ต” จากงบประมาณตรวจสอบการเลือกตั้ง 85 ล้านบาท ในการเลือกตั้ง ส.ว.3 ครั้งในปี 2543 ทำให้ กกต.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเคลือบแคลงในวิธีการปฏิบัติของ “พีเน็ต” และส่งผลให้ “กกต.” ต้องกลับมาพิจารณาการทำงานร่วมกับ “พีเน็ต” ครั้งใหญ่ และมีที่ท่าที่จะยกเลิกการทำงานร่วมกันและการให้งบประมาณในการเลือกตั้งครั้งต่อมา คือการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป 6 มกราคม 2544
โดยเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2543 “พล.อ.สายหยุด เกิดผล” ประธานเครือข่ายประชาชนเพื่อการเลือกตั้ง ขณะนั้นแถลงข่าวร่วมกับ “สมชัย ศรีสุทธิยากร” เลขานุการมูลนิธิองค์กรกลางฯ ว่าได้เสนอโครงการตรวจสอบการเลือกตั้ง ส.ส.วันที่ 6 มกราคม 2544 ต่อ กกต.ไปเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2543 ในรูปแบบโครงการเดียว เพื่อของบประมาณสนับสนุนในการจัดทำโครงการตรวจสอบการเลือกตั้งเป็นโครงการเดียวทั่วประเทศจำนวน 43.4 ล้านบาท
จากนั้น 20 พฤศจิกายน 2543 มีการประชุมร่วมกันของ กกต. นำโดย นายโคมธม อารียา กกต.ขณะนั้น กับ พล.อ.สายหยุด เกิดผล ตัวแทนพีเน็ต เพื่อหารือถึงแนวทางการให้งบประมาณและการทำงานในช่วงการเลือกตั้ง ซึ่งภายหลังการประชุมยาวนานกว่า 2 ชั่วโมงนายโคทม อารียา กกต.กล่าวว่า องค์กรเอกชนที่ลงทะเบียนกับ กกต.กว่า 100 องค์กร จึงเห็นว่าการจะให้พีเน็ตตรวจสอบการเลือกตั้งเพียงองค์กรเดียวอาจจะไม่เหมาะสม
“พีเน็ต” ที่เคยใหญ่คับการเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมา และผูกขาดการตรวจสอบการเลือกตั้งเพียงรายเดียวหลายปี จึงถูกปฏิเสธจาก กกต.ชุดนั้น แบบไม่มีแม้กระทั่งเยื่อใย


ไม่กี่วันหลังจากนั้น พล.อ.สายหยุด เกิดผล ประธานพีเน็ต ได้สัมภาษณ์พิเศษกับหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ โดยระบุว่า “เสียใจที่นายโคทม อารียา กกต.บอกว่าพีเน็ต ต้องการผูกขาดการตรวจสอบการเลือกตั้งเป็นโครงการเดียวทั้งประเทศ และกล่าวหาพีเน็ต ต้องการครอบงำองค์กรเอกชนอื่น” พร้อมทั้งระบุว่า “กกต.ชุดนี้เพี้ยนไปแล้ว พวกผมตรวจสอบการเลือกตั้งมาตั้งแต่ปี 2539 มีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศ แต่ กกต.กลับปฏิเสธองค์กรเอกชนที่เข้มแข็งและไปให้งบสนับสนุนองค์กรเอกชนเล็กๆน้อยๆ”
นอกจากนี้ยังระบุว่า “ กกต.มีหน้าที่สนับสนุนองค์กรเอกชน ที่ต้องการเข้ามาร่วมตรวจสอบการเลือกตั้ง ตามกฎหมายระบุไว้ชัดเจน หาก กกต.ไม่ให้เงินสนับสนุนพีเน็ต เครือข่ายพีเน็ตทั่วประเทศ ก็จะยื่น กกต.ต่อศาลปกครองในข้อหาทำผิดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญและทำผิดกฎหมายเลือกตั้งที่ปฏิเสธการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งยื่นห้องให้ทบทวนการทำงานของ กกต.ที่ทำหน้าที่บกพร่อง ทำให้ประเทศชาติต้องเสียงบประมาณเป็นพันล้านในการเลือกตั้ง ส.ว.ซ้ำซาก”
กลายเป็น “คำประกาศ” จาก “ขาใหญ่” ที่ส่งผลสะเทือนถึง “กกต.” ขณะนั้นอย่างปฏิเสธไม่ได้ !!
ซึ่งสุดท้าย “กกต.” ก็เจียด “งบประมาณ” ให้กับ “พีเน็ต” เพื่อทำโครงการตรวจสอบการเลือกตั้ง 6 มกราคม 2544 โดย “นายสมชัย ศรีสุทธิยากร” ในฐานะเลขานุการองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย ให้สัมภาษณ์กับ “ผู้จัดการรายวัน” ฉบับวันที่ 29 พฤศจิกายน 2543 ชี้แจงถึงสาเหตุที่พีเน็ต ลดระดับโครงการตรวจสอบการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วประเทศเหลือเพียงโครงการตรวจสอบการเลือกตั้งเขตพิเศษ 200 เขต ระบุว่า “ไม่ได้เกิดจาก พีเน็ต ของบประมาณมากเกินไปจน กกต.ไม่สามารถจัดหางบประมาณให้ได้ แต่เกิดจากแนวคิดการทำงานที่ไม่ตรงกัน พีเน็ตของบประมาณไปเพียง 43 ล้านบาท ในการดำเนินการตรวจสอบการเลือกตั้งทั่วประเทศ ซึ่งน้อยกว่างบที่ กกต.ให้กับ ธกส. การสื่อสารฯ สภาทนายความ และองค์กรอิสระในท้องถิ่น ดำเนินการจำนวน 68 ล้านบาท”
โดยมีรายงานว่า การเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2544 “กกต.” ได้จัดสรรงบประมาณสำหรับ “โครงการตรวจสอบการเลือกตั้งเขตพิเศษ 200 เขต” ให้กับ “มูลนิธิองค์กรกลางฯ”ไปดำเนินดำเนินงาน “เขตเลือกตั้งละ 15,000 บาท” (รวม 200 เขต เป็นเงิน 3,000,000 บาท !!!
เหล่านี้คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอันเกี่ยวเนื่องกับ “พีเน็ต-กกต.และงบประมาณการตรวจสอบการเลือกตั้ง” ในช่วงปี 2543 ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไป 6 มกราคม 2544
ซึ่งในปัจจุบัน “สมชัย ศรีสุทธิยากร” กระโดดจากเก้าอี้ “บิ๊กพีเน็ต” ที่เป็นผู้คอยประสานงานกับ กกต. ในการเสนอโครงการเพื่อพิจารณาจัดสรรงบประมาณสนับสนุนโครงการตรวจสอบการเลือกตั้ง มาเป็น “กกต.ด้านบริหารจัดการการเลือกตั้ง” ที่มี “งบประมาณ” ในการ “จัดการเลือกตั้ง ส.ส.”หลายพันล้านบาท

ส่วน “พล.อ.สายหยุด เกิดผล” ประธานพีเน็ต ที่เคยเรียกร้องให้ กกต. ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ในการให้ “งบประมาณ” กับ “พีเน็ต” ถึงขั้นขู่ที่จะฟ้องร้อง กกต. ดังกล่าวนั้น ล่าสุดก็คือหัวแถว “คณะรัฐบุคคล” ที่ประกอบไปด้วย “อดีตนายทหาร-นักวิชาการตกรุ่น” นั่งประชุมสุมหัวกันร้องขอ ให้ “กองทัพ” เลือกข้างในสถานการณ์การเมือง พร้อมสนับสนุนให้สรรหา “คนดี” เข้ามาเป็น “นายกรัฐมนตรี” โดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้ง ตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนด !!!

ที่มา.พระนครสาส์น
------------------------------------------

การเมือง กับ กระแส รัฐประหาร !!?

มีความเชื่อมั่นเป็นอย่างสูง ไม่ว่าจะมาจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะมาจาก นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศว่า

 ทหาร จะไม่ทำ รัฐประหาร

 ความเชื่อมั่นของ 2 คนอาจมีรากฐาน ความเชื่อ อันแตกต่างไปจาก นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยบ้าง

 ตรงที่ให้น้ำหนักไปยังกระแสกดดันอันมาจาก ต่างประเทศ

 ขณะที่ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ มีความเชื่อมั่นเป็นอย่างสูงว่า การเคลื่อนไหวของ คนเสื้อแดง ที่ร่วมกับพรรคเพื่อไทยจะเป็นพลัง 1 ซึ่งกองทัพต้องให้ความสนใจ

 เพราะว่า คนเสื้อแดง ต้องไม่ยอมและไม่อยู่นิ่งเฉยๆ แน่นอน

 แม้ความเชื่อของ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ จะอยู่บนพื้นฐานความเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยอันมีสายสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับขบวนการ คนเสื้อแดง

 แต่ก็ควร ล้างหู ให้การรับฟัง

 ในความเป็นจริง ต่างประเทศไม่ให้การยอมรับต่อกระบวนการรัฐประหารเลยนับแต่ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534 เป็นต้นมา

 เห็นได้จากปฏิกิริยาของ สหรัฐ ต่อ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์

 ไม่ว่าปฏิกิริยาจากสหรัฐอเมริกา จากสหราชอาณาจักรและโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสหภาพยุโรปล้วนไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารนี้

 แต่แล้วก็เกิดรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 จนได้

 ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า เครือข่ายรัฐประหารโดยเฉพาะในเดือนกันยายน 2549 มิได้ให้ความสำคัญกับปฏิกิริยาจากต่างประเทศมากเท่าใด ความต้องการในทางการเมืองเฉพาะหน้าต่างหากคือบทสรุปอย่างเบ็ดเสร็จ

 แล้วปฏิกิริยาจาก ประชาชน เล่ามีความสำคัญหรือไม่

 ปฏิกิริยาของ ประชาชน เป็นปัจจัย 1 ซึ่งเครือข่าย รัฐประหาร แง่หูรับฟังอยู่ แต่นั่นก็ขึ้นว่าเป็นปฏิกิริยาที่กว้างขวางและลึกซึ้งมากน้อยเพียงใด

 เพราะรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ก็มีคนต้าน

 เป็นการต้านจากลักษณะในแบบตัวใครตัวมันกระทั่งรวมตัวกันเป็น ขบวนการใหญ่โตอย่างที่เห็นและเป็นอยู่

 นั่นก็คือ นปช.แดงทั้งแผ่นดินในปี 2552 และในปี 2553

 น่าสังเกตว่าการปราบปรามอย่างรุนแรงเมื่อปี 2553 มิอาจทำให้พลังของ คนเสื้อแดง หมดสิ้นไป ตรงกันข้าม กลับรวมตัวและแสดงออกได้ใหม่อย่างรวดเร็ว

 กลายเป็น ฐานค้ำบัลลังก์ให้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

 ความขัดแย้งที่กปปส.แสดงออกนับแต่เดือนพฤศจิกายน 2556 เป็นความขัดแย้งลักษณะเดิม-เดิม

 เป็นความขัดแย้งระหว่าง เครือข่ายรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 กับกลุ่มการเมือง พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชนอันดำรงอยู่ผ่าน พรรคเพื่อไทย

 การต่อสู้นี้ยืดเยื้อมา 8 ปีแล้วและยังดำรงอยู่

ที่มา.ข่าวสดออนไลน์
---------------------------------------