--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ยุทธศาสตร์-ยุทธวิธี !!?

โดย สรกล อดุลยานนท์

ความผิดพลาดของ "ทักษิณ ชินวัตร"

ที่ทำให้ความไม่พอใจเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมขยายวงไปทั่วประเทศในเวลาเพียงสัปดาห์เดียว

สรุปสั้นๆ ได้ว่า เกิดจากเขาคิดแต่ "เป้าหมาย" จนไม่สนใจ "วิธีการ"

ใช้เล่ห์เหลี่ยมแก้ไขเนื้อหาใน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จากที่ให้นิรโทษกรรมเฉพาะนักโทษการเมืองที่ติดคุกอยู่ มาเป็นนิรโทษกรรมแบบ "เหมาเข่ง"

พ่วงตัวเองเข้าไปด้วย

ทั้งที่ในวาระแรก พรรคเพื่อไทยยืนยัน นอนยัน และนั่งยันว่าจะไม่มีการยัดไส้

แต่พอเห็น "โอกาส" ที่ "ม็อบ" จุดไม่ขึ้นหลายครั้ง และคุยกับ "สีเขียว" รู้เรื่อง

เพราะ "สีเขียว" ก็ต้องการนิรโทษกรรมด้วย

"ทักษิณ" รุกเร็วทันที ทั้งแก้ไขเนื้อหาในวาระที่ 2 ในชั้นกรรมาธิการ ตามด้วยการลงมติในวาระที่ 2-3 แบบลืมวันลืมคืน

ลงมติตอนตีสี่

พรรคเพื่อไทยคิดแบบชิงไหวชิงพริบในทางการเมือง เพราะพรรคประชาธิปัตย์กำลังเริ่มปลุกม็อบ ถ้าปล่อยให้ถกมาตรา 3 ในวันรุ่งขึ้น ม็อบอาจรุกเข้าล้อมสภาได้

พรรคเพื่อไทยเลยคิดง่าย ๆ ว่า อย่างนั้นก็เอาให้จบในคืนนั้นไปเลย

แทนที่จะปิดประชุมและไปถกต่อ

ในตอนเช้าเหมือนญัตติทั่วไป

คิดแต่ "เป้าหมาย" โดยลืม "วิธีการ"

ความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ นอกเหนือจากไม่พอใจ "เนื้อหา" แล้ว เขายังไม่พอใจวิธีการทั้ง "สอดไส้" และใช้อำนาจของ "เสียงข้างมาก" รีบผ่านวาระ 2-3 ตอนตีสี่

คิดดูสิครับ คนเสื้อแดงใช้เวลาเป็นปี กว่าจะปลุกม็อบจนเต็มอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

แต่ "ทักษิณ" ใช้เวลาเพียงแค่สัปดาห์เดียว ช่วยปลุกม็อบให้พรรคประชาธิปัตย์

เก่งจริง ๆ

สิ่งที่ "ทักษิณ" และพรรคเพื่อไทย

สูญเสียมากที่สุดในเกมนี้ก็คือ "ความน่าเชื่อถือ"

ในอดีต "ทักษิณ" สร้างความน่าเชื่อถือขึ้นมาในการเมืองไทย ด้วยการหาเสียงด้วยนโยบาย และทำตามสัญญา

ทั้ง 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน ฯลฯ

"ความน่าเชื่อถือ" ของเขาทำให้พรรคไทยรักไทย พลังประชาชน เพื่อไทย ชนะเลือกตั้งมาโดยตลอด

แต่วันนี้ "ความน่าเชื่อถือ" ซึ่งเป็นสมบัติล้ำค่าของเขาพังทลายสิ้นในเวลาเพียงแค่สัปดาห์เดียว

เสียทั้งมิตร เพิ่มกำลังให้ศัตรู

ครบทุกกระบวนท่า

แม้วันนี้พรรคเพื่อไทยจะยอมถอยแบบหนียะย่าย พ่ายยับเยิน

พยายามดึง "ฟืน" ออกจากกองไฟ

แต่ "ความรู้สึก" ของ "ม็อบ" บางส่วนไกลเกินกว่าคำว่า "ค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม" แล้ว

ลมการเมืองวันนี้ ไม่มีใครรู้ว่าจะ "แรง" และไป "ไกล" แค่ไหน ??

ทุกครั้งที่เกิดวิกฤต จะพิสูจน์ให้รู้ว่าเรามี "สติ" แค่ไหน

เพราะ "สติ" จะกำหนด "วิธีการ" ที่ถูกต้องและชอบธรรม

พรรคประชาธิปัตย์ก็เคยมีบทเรียนมาครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อตอนจับมือกับอำนาจนอกระบบจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร

มองแต่ "เป้าหมาย" ที่จะเป็นรัฐบาล

ไม่คำนึงถึง "วิธีการ"

ภาพลักษณ์นักประชาธิปไตยของ "อภิสิทธิ์" และพรรคประชาธิปัตย์จึงเสียหายยับเยินตั้งแต่วันนั้น

ครั้งนี้จะเป็นการพิสูจน์ "อภิสิทธิ์" และพรรคประชาธิปัตย์ ว่าจะมี "สติ" แค่ไหน

เพราะอารมณ์ม็อบในวันนี้แรงมาก

ถ้าจะคิดล้มรัฐบาลก็ถือเป็น

"โอกาสทอง"

เพียงแต่คงไม่ใช่ตามวิถีทางประชาธิปไตยอย่างแน่นอน

ดังนั้น ถ้า "อภิสิทธิ์" และพรรคประชาธิปัตย์เลือก "วิธีการ" ผิดเหมือนที่ "ทักษิณ" และพรรคเพื่อไทยเคยผิดพลาดมาแล้ว

"คนเสื้อแดง" ที่เริ่มแตกจะกลับมารวมกันเช่นเดิม

เข็มนาฬิกาของประวัติศาสตร์การเมืองก็จะหมุนกลับอีกครั้งหนึ่ง

ถึงวันนั้น"ตัวใคร-ตัวมัน" ครับ

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
-------------------------------------------

นกนางแอ่น !!?

โดย.ศรี อินทปันตี

ไหเหยี่ยน. ซึ่งแปลว่า นกนางแอ่น นกตัวเล็กๆ ที่สุดแสนจะน่ารัก ได้เป็นมหาพายุที่มีอำนาจทำลายล้างสูงสุดในประวัติศาสตร์ เมื่อพัดถล่มฟิลิปปินส์ด้วยความเร็วลมเกินกว่า ๓๑๕ กิโลเมตรต่อชั่วโมง คร่าชีวิตผู้คนไปหลายหมื่นคน บ้านเรือนเรือกสวนไร่น่าถูกทำลายราบเป็นหน้ากลอง ตรงข้ามกับชื่อของมัน
หากพิจารณาเปรียบเทียบแค่ชื่อกับสิ่งที่เกิดขึ้นก็ไม่น่าจะมีความหมายอะไรนัก แต่หากมองลึกลงไปว่า...นกตัวเล็กๆ ก็สามารถพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินได้แล้ว ก็น่าจะเป็นเรื่องเตือนสติผู้มีอำนาจได้เป็นอย่างดี
เพราะตามประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา การล่มสลายของระบอบการปกครองต่างๆมันเกิดจากการมองข้ามพลังอำนาจของผู้อยู่ใต้การปกครองทั้งสิ้น

แรงกดขี่มีมากเท่าใด ธรรมชาติจะสร้างแรงต้านมากเท่านั้น และประวัติศาสตร์ชาติไทยเราจะพบเห็นการลุกขึ้นสู้ของประชาชนมาโดยตลอด

แต่ทั้งหมดมันจะถูกบิดเบือนว่าเป็นการปราบขบถผีบุญหรืออะไรต่างๆเพื่อสร้างความชอบธรรมการเข่นฆ่าประชาชนให้แก่ชนชั้นปกครองเท่านั้น

การลุกขึ้นสู้ของประชาชนมีมาทุกยุคทุกสมัยในประวัติศาสตร์ไทย

มาถึงวันนี้ได้มีคนบางกลุ่มจินตนาการว่า...เพื่อความมั่นคงถาวรแห่งอำนาจของพวกตน ควรจะแช่แข็งประเทศสัก ๕ ปี โดยจัดให้มีสภาที่มาจากการแต่งตั้ง ๗๐ เปอร์เซนต์ เลือกตั้ง ๓๐ เปอร์เซนต์

รัฐบาลตัวแทนแห่งอำนาจก็มาจากสภาที่ว่านี้ จึงมีการเคลื่อนไหวอย่างถึงที่สุดเพื่อล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนชุดปัจจุบัน โดยมีการจัดตั้งกองบัญชาการสั่งการเคลื่อนไหวอย่างไม่เปิดเผย

เราจึงได้พบเห็นปรากฎการณ์การเคลื่อนไหวอย่างเป็นระบบ ทั้งจากราชการ รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนอย่างค่อนข้างจะพร้อมเพรียง

แต่ช่างบังเอิญอย่างเหลือหลาย นิยายเรื่องปราบผีบุญครั้งใหม่มันเกิดขึ้นพร้อมกับมหาพายุนกนางแอ่น จึงอาจจะเป็นไปได้ว่า...นกนางแอ่นมันอาจจะกวาดล้างทำลายพวกมีความคิดวิปริตจนไม่เหลือซากอะไรเลย หากยังขืนดึงดันเดินหน้าต่อไป

เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๐ พฤศจิกายนที่ผ่านมา เหล่านกนางแอ่นที่มาในนามคนเสื้อแดง ได้ชุมนุมแสดงพลังครั้งใหญ่ ประกาศต่อต้านการจะนำระบอบเผด็จการมาปกครองประเทศอย่างถึงที่สุด พวกเขาจะสู้โดยไม่มีคำว่าถอยหรือยอมแพ้

พลังนกนางแอ่น อันเป็นเครื่องหมายแห่งอิสรภาพและเสรีภาพไม่เคยมีรระบอบทรราชย์ใดสามารถทำลายได้

ที่มา.บางกอกทูเดย์
-----------------------------------------

ถอดรหัส : ไทยเสี่ยงเสียดินแดน ภูพระวิหาร !!?

ภายหลังมึนๆ กับคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ที่ตีความคำพิพากษาเดิมเมื่อปี 2505 เกี่ยวกับอาณาบริเวณ (vicinity) ของปราสาทพระวิหารตามคำร้องของกัมพูชามาได้ 1 วัน ฝุ่นควันความสับสนเริ่มจางลง

นักวิชาการหลายสำนักเริ่มออกมาชี้ว่า แม้ไทยไม่ต้องเสียดินแดนในพื้นที่พิพาท 4.6 ตารางกิโลเมตร แต่น่าจะต้อง "คลายเส้น" (วลีของ ปณิธาน วัฒนายากร) ตามมติคณะรัฐมนตรีของไทยเมื่อปี 2505 (สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์) ซึ่งเคยตีกรอบอาณาบริเวณของปราสาทพระวิหารและล้อมรั้วลวดหนามเอาไว้ เพราะการตีความคำพิพากษาของศาลโลกเที่ยวนี้ ศาลได้กำหนดจุดอ้างอิงใหม่เกี่ยวกับ "อาณาบริเวณของปราสาท" โดยยึดโยงกับรายละเอียดในคำพิพากษาย่อหน้าที่ 98

นั่นคือหัวใจของคำพิพากษาใหม่เมื่อ 11 พ.ย.2556 โดยศาลเน้นว่าให้ยึดตามลักษณะธรรมชาติของภูมิประเทศ แต่ไม่รวมไปถึง "พนมทรัพ" กับ "ภูมะเขือ" และให้ไทยถอนกำลังทหาร ตำรวจออกจากบริเวณดังกล่าว

พื้นที่นี้ว่ากันว่ามีขนาดประมาณ 1-1.5 ตารางกิโลเมตร จึงไม่น่าจะใช่ "พื้นที่เล็กๆ" เหมือนที่บางคนพูด!

อัครพงษ์ ค่ำคูณ นักวิชาการจากวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า บริเวณของปราสาทพระวิหารตามคำพิพากษาของศาลโลก น่าจะใหญ่กว่าแนวทางที่ 1 ซึ่งกระทรวงมหาดไทยในสมัยปี 2505 เคยเสนอคณะรัฐมนตรีเอาไว้ โดยแนวทางที่ 1 ในเอกสารบอกว่ามีขนาด 0.5 ตารางกิโลเมตร

อย่างไรก็ดี ในคำพิพากษาล่าสุดที่อ้างอิงจากคำพิพากษาปี 2505 ย่อหน้า 98 ระบุชัดว่า ศาลจะใช้ลักษณะทางธรรมชาติ (natural features) เพื่อกำหนดขอบเขต/สังเขปเขต (limits) ของ "ภู" พระวิหาร

"ตรงนี้ถือว่ามันก็มีเหตุผล เพราะปราสาทพระวิหารตั้งอยู่บนภูพระวิหาร ติดกับภูมะเขือ เป็นคนละภูแยกกันชัด ซึ่งพอรับได้ ฝ่ายไทยก็เคยคิดแบบนี้มาก่อนในสมัยปี 2505 แต่ที่น่าสนใจคือ แม้ศาลจะบอกว่าไม่ใช่แผนที่ดองแร็ก (ระวางดงรัก) แต่กลับอ้างถึงเส้นในแอนเน็กซ์ 1 (Annex I map line) เพื่อกำหนดขอบเขตทางด้านเหนือของตัวปราสาท ซึ่งตอนนี้ไม่มีทหารไทยหรือฐานทหารไทยอยู่ภายในขอบเขตที่ศาลกำหนด บ้านภูมิซรอลก็อยู่นอกเขตนี้แน่นอนเพราะอยู่เหนือเส้นแอนเน็กซ์ 1"

"ทางออกสุดท้ายอยู่ที่ 2 ฝ่ายต้องตกลงกัน แต่ที่แน่ๆ ถ้าใช้แผนที่ L7017 / L7018 เป็นมาตรฐาน เราน่าจะเสียดินแดนเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ได้ล้อมรั้วลวดหนามเอาไว้ 2 เท่า โดย ขอบเขต/สังเขปเขต (limits) ของ 'ภู' พระวิหาร (promontory of Preah Vihear) ที่ศาลโลกตัดสินนั้น ค่อนข้างใกล้เคียงกับแผนที่ชุด L708 ซึ่งจัดทำโดยกองทัพสหรัฐอเมริกา กับ กรมแผนที่ทหารของไทย สำรวจข้อมูลเมื่อปี พ.ศ.2505 (ค.ศ.1962) พิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2508 (ค.ศ.1965) หมายความว่า แผนที่ L708 แสดงเส้นเขตแดนที่ไทยยอมรับ และแสดงว่า 'ภู' พระวิหารทั้งลูก อยู่นอกเส้นเขตแดนของไทย"

ขณะที่ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ไม่อาจปฏิเสธประเด็นของฝายกัมพูชาได้ว่า เส้นเขตปราสาทพระวิหารที่ฝ่ายไทยไปสร้างรั้วล้อมกรอบเอาไว้เป็นการคิดเองเออเองของฝ่ายไทย หาได้มีหลักการใดๆ รองรับ ซึ่งก็จริง โดยศาลโลกแถลงข้อความสุดท้ายที่ศาลได้พิพากษาไปแล้วในย่อหน้าที่ 98 ของคำพิพากษา ศาลโลกบอกว่าได้พิพากษาชัดเจนว่าอาณาบริเวณปราสาทพระวิหาร หรือ vicinity ตามบทปฏิบัติการข้อ 2 คือแค่ไหน แต่ทั้งไทยและกัมพูชา ต่างไม่พิจารณาให้ละเอียด อุตส่าห์จ้างทนายราคาแพง แต่กลับอ่านไม่แตก

"มรดกแห่งปัญหานี้ คือ อ่านคำพิพากษาไม่แตกกันทั้งสองฝ่าย รวมทั้งทนายทั้งสองฝ่ายชุดปัจจุบันด้วย เพราะมีอคติจากความต้องการพื้นฐานของแต่ละประเทศชี้นำ สรุปไม่มีใครได้หรือเสีย ศาลโลกชี้ให้เห็นว่าทั้งสองประเทศเสียค่าโง่ หลงมาทะเลาะกัน ที่จริงศาลกำหนดอาณาบริเวณปราสาทพระวิหาร หรือ vicinity เอาไว้อย่างชัดเจนแล้ว"

"ศาลชี้ให้เห็นว่าแนวเขตที่รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์์ไปทำไว้เมื่อปี 2505 นั่นไม่ใช่ที่ศาลตัดสิน และศาลในครั้งนี้ (11พ.ย.) ยังได้ยกมาเล่าด้วยว่า ผู้แทนศาลได้ลงไปดูพื้นที่ในปีหลังคำพิพากษา ก็ได้บอกให้ย้ายอาคารและคนของฝ่ายไทยที่ตั้งอยู่บนชะง่อนผาใน vicinity ของปราสาทออกจากเขตนี้ไปอีก ฝ่ายไทยก็ยังไม่เข้าใจ vicinity ของคำพิพากษา แต่ยืนยันความเชื่อว่าตนได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาแล้ว คือเขตรั้วที่ไปล้อมให้นั่นเอง สิ่งที่ต้องตระหนักคือ ศาลในปี 2556 ตัดสินเรื่องอาณาบริเวณของปราสาทพระวิหารในอธิปไตยของกัมพูชา ส่วนเรื่องเส้นเขตแดนกัมพูชา-ไทยยังต้องพูดคุยปักปันกันต่อไป" ธำรงศักดิ์ กล่าว

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
--------------------------------------

วันอังคารที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

การกลับมา ของ ญี่ปุ่น !!?

คอลัมน์ เรื่องราวกับความคิด
โดย วิรัตน์ แสงทองคำ

แรงผลักดันการเข้ามาของธนาคารญี่ปุ่นในประเทศไทยครั้งใหม่มีพลังอย่างมาก มิใช่เพียงโอกาสและการสร้างสายสัมพันธ์ทางธุรกิจเหมือนกับช่วง 3-4 ทศวรรษที่แล้วสถาบันการเงินญี่ปุ่นฝั่งตัวในระบบเศรษฐกิจไทยมานานแล้ว และในบางช่วงบางโอกาสสถาบันการเงินญี่ปุ่นได้เข้ามาอย่างคึกคักพอสมควร โดยเฉพาะในช่วงกระแสกระบวนธุรกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ประเทศไทย ในช่วงปลายและหลังสงครามเวียดนาม แต่เนื่องจากมีข้อจำกัดตามกฎหมายสถาบันการเงินไทย จึงมักอยู่ในโมเดลการร่วมทุนกับธนาคารไทย

กับธนาคารกสิกรไทย

แผนการสร้างเครือข่าย ธนาคารแบงเกอร์สทรัสต์ ในขอบเขตทั่วโลก โดยเฉพาะเอเชีย-แปซิฟิก เมื่อปี 2507 ตามแนวคิดอินเวสต์เมนต์แบงก์มีการเจรจาร่วมทุนกับนักธุรกิจไทยโดยเฉพาะธนาคารกสิกรไทย พอปี 2512 ก็ได้ก่อตั้งขึ้นด้วยทุนจดทะเบียนครั้งแรก 20 ล้านบาท หน่วยงานลงทุนของแบงเกอร์สทรัสต์, (BANKERSINTERNATIONAL CORPORATION) แบนคอม ดีเวลล็อปเม้นท์ คอร์ปอเรชั่น แห่งมะนิลา (ก่อตั้งโดยแบงเกอร์สทรัสต์) กับธนาคารกสิกรไทยปี 2515 แบนคอม ดีเวลล็อปเม้นท์ฯแห่งมะนิลา ฟิลิปปินส์ ถูกเทกโอเวอร์โดยพรรคพวกของมาร์กอส เพื่อจำกัดวงความเป็นเจ้าของกิจการให้อยู่แค่นั้น

เมื่อแบงเกอร์สทรัสต์ถอนตัวจากแบนคอมฯในฟิลิปปินส์พร้อม ๆ กับการซื้อหุ้นแบนคอมฯในทิสโก้คืนด้วย เวลาเดียวกัน ธนาคารไดอิชิกังโย (Dai-ichi Kangyo Bank) สนใจขยายกิจการด้านนี้เข้าเมืองไทย จึงซื้อหุ้นส่วนเดิมของแบนคอมฯไปอันเป็นช่วงเวลาเดียวกับ โนมูระซีเคียวริตี้(Nomura Securities) เข้ามาร่วมทุนกับธนาคารกรุงเทพในบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์บางกอกโนมูระ" ผมเคยเขียนถึงจุดกำเนิดของบริษัทเงินทุนทิสโก้ที่เชื่อมโยงกับสถาบันการเงินญี่ปุ่น (จากเรื่อง ศิวะพร ทรรทรานนท์ ในหนังสือ อำนาจธุรกิจใหม่ 2541)




ต่อมาไม่นาน Dai-ichi Kangyo Bank (ปัจจุบันได้หลอมรวมอยู่ใน Mizuho Financial Group) ได้ถอนตัวออกไป เช่นเดียวกับ Nomura Securities อย่างไรก็ตาม ไม่ช้าไม่นานจากนั้น ความพยายามฟื้นความสัมพันธ์ก็มีขึ้น แต่ไม่หวือหวา

Mizuho Bank มีฐานะเป็นสาขาธนาคารในประเทศไทย หนึ่งในสามของธนาคารญี่ปุ่น ส่วน Nomura Securities นายหน้าค้าหุ้นเก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น ก็หวนกลับมาอีกครั้ง

กับธนาคารกรุงเทพ

ความจริงแล้ว Nomura Securities เข้ามาเมืองไทยก่อน Dai-ichi Kangyo Bank ตั้งแต่ปี 2513 ในนามบริษัทบางกอกโนมูระ อินเตอร์เนชั่นแนล ซีเคียวริตี้เป็นการร่วมทุนกับธนาคารกรุงเทพและเปลี่ยนเป็นเงินทุนหลักทรัพย์บางกอกโนมูระในอีก 5 ปีต่อมา ถือเป็นหนึ่งในฐานะผู้ก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่อีกกว่าทศวรรษต่อมาได้ถอนตัวออกไป

"บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พัฒนสินเพิ่งจะเปลี่ยนชื่อมาจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์โนมูระ เมื่อต้นปี 2528 เพราะผู้ถือหุ้นต่างประเทศถอนออกไป อันได้แก่ Nomura Securities ธุรกิจหลักทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น เพราะยุทธศาสตร์ทั่วโลกของฝ่ายนั้น ที่ต้องการจะขยายตัวการลงทุนในกิจการหลักทรัพย์ในเมืองไทยอย่างเต็มที่ ถึงขั้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่เนื่องจากติดกันในแง่กฎหมาย จึงขอถอนตัวเหลือเพียงสำนักงานตัวแทน ที่มีเจ้าหน้าที่เพียงคนเดียวดำเนินในด้าน Underwriterต่อไป ธนาคารกรุงเทพในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ฝ่ายไทยได้เข้าซื้อหุ้นจาก Nomura Securities โชติ โสภณพนิช กรรรมการรองผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ ได้รับหน้าที่รับผิดชอบพัฒนสินต่อไป" ผมเคยอรรถาธิบายประเด็นนี้ไว้นานแล้ว (พัฒนสินกับโฉมหน้าใหม่ของ "ข้อมูล" การลงทุน นิตยสารผู้จัดการ มีนาคม 2530)

การปฏิรูปสถาบันการเงินครั้งใหญ่ในประเทศไทย เกิดขึ้นหลังวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2540 เปิดทางให้กับขบวนพาเหรดของสถาบันการเงินระดับโลกเข้าสู่ระบบธนาคารพาณิชย์และตลาดทุนไทย Nomura Securities ได้กลับมาอีกครั้ง ร่วมมือกับพันธมิตรเก่าอีกครั้ง

ขณะนั้นพัฒนสินคงธุรกิจหลักทรัพย์ไว้เพียงอย่างเดียว "เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2553 ได้เปลี่ยนชื่อจาก "บริษัทหลักทรัพย์พัฒนสิน" เป็น "บริษัทหลักทรัพย์โนมูระพัฒนสิน" (ข้อมูลทางการของโนมูระพัฒนสิน www.nomuradirect.com/) และให้ข้อมูลด้วยว่า Nomura Holdings,Inc. และ Nomura Asia Holding N.V. ถือหุ้นใหญ่รวมกันประมาณ 38%

โดยมีชาวญี่ปุ่นเป็นผู้บริหารคนสำคัญว่าไปแล้ว ธนาคารกรุงเทพกับธนาคารญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์มากกว่านั้นมานานแล้ว และยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน-กรณีบริษัทบางกอกเฟิร์สท์โตไก ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2516 เป็นกิจการร่วมทุนกับ Tokai Bank ปัจจุบันก็คือบริษัทบางกอก บีทีเอ็มยู การเปลี่ยนชื่อเกิดขึ้นมาจากกระบวนการหลอมรวมของธนาคารญี่ปุ่นหลายครั้งอย่างซับซ้อน ในฐานะส่วนหนึ่งของ Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ หรือ BTMU (ผมอธิบายไว้บ้างในตอนที่แล้ว)

ในรายงานประจำปี 2555 ของธนาคารกรุงเทพ ให้ข้อมูลด้วยว่าได้ถือหุ้น 10% ในบริษัทบางกอกมิตซูบิชิยูเอฟเจลิส (ธุรกิจเช่าซื้อ) และบริษัทบางกอกบีทีเอ็มยู (ธุรกิจให้กู้ยืมและการลงทุน)

กับธนาคารไทยพาณิชย์

เป็นความสัมพันธ์ที่มีบุคลิกพิเศษ เครือข่ายความสัมพันธ์อย่างกว้างขวางทั้งธุรกิจการเงินและอื่น ๆ ของญี่ปุ่น กับธนาคารไทยพาณิชย์ เชื่อมโยงถึงเครือซิเมนต์ไทย และสำนักงานทรัพย์สินฯ

กล่าวเฉพาะธุรกิจการเงิน เริ่มขึ้นประมาณ ปี 2525 บริษัทหลักทรัพย์บุคคลัภย์ ร่วมทุนกับ Long-Term Credit Bank of Japan โดยเข้ามาถือหุ้นประมาณ 20%

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน Sanwa Bank เข้ามาถือหุ้น บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สินอุตสาหกรรม ซึ่งก่อตั้งโดยบริษัทปูนซิเมนต์ไทย

ความสัมพันธ์ดังกล่าวสิ้นสุดลง อันเนื่องมาจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540 เครือข่ายธนาคารไทยพาณิชย์ไม่สามารถรักษาสถาบันการเงินชั้นรองของตัวเองไว้ได้ ขณะที่ทั้ง Long-Term Credit Bank of Japan และ Sanwa Bank ก็อยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงสำคัญLong-Term Credit Bank of Japan มีปัญหาหนี้เสียจำนวนมาก ต้องเปลี่ยนสภาพจากธนาคารรัฐบาล (ลักษณะคล้าย ๆ ไอเอฟซีทีของไทย ซึ่งก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน ต้องรวมกิจการกับธนาคารทหารไทย) เป็นธนาคารเอกชน

ในปี 2541 แล้วขายกิจการให้กลุ่มลงทุนจากสหรัฐ (ปี 2543) ปัจจุบันคือ Shinsei Bank ธนาคารญี่ปุ่นแห่งแรกที่ถือหุ้นใหญ่โดยต่างชาติ ส่วน Sanwa Bank

ผ่านกระบวนการควบรวมกิจการหลายครั้งตั้งแต่ปี 2545 ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ BTMU อีกด้านหนึ่ง ความสัมพันธ์สถาบันการเงินญี่ปุ่นกับเครือซิเมนต์ไทย ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะในประเทศ โดยเฉพาะการกู้เงินสกุลเยนจากญี่ปุ่นโดยตรง เป็นความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างเครือข่ายอุตสาหกรรมญี่ปุ่นกับกลุ่มอุตสาหกรรมเก่าแก่ของไทย

"ชุมพล ณ ลำเลียง ผู้จัดการใหญ่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย เคยยอมรับว่า หนี้สินต่างประเทศของบริษัทของเขาที่มีมากกว่า 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ กว่าครึ่งเป็นของญี่ปุ่นนั้น มีความหมายที่สำคัญอย่างมากอย่างน้อย 2 ประการ หนึ่ง-ระบบเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะฐานภาคการผลิตนั้น ญี่ปุ่นมีบทบาทอย่างมาก สอง-องค์กรธุรกิจที่มั่นคง เป็นสัญลักษณ์ของภาคเศรษฐกิจ และสถาบันหลักของชาติเป็นผู้ถือหุ้นด้วย ก็มีความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นกับญี่ปูน" ผมเคยสรุปความสัมพันธ์ไว้ในช่วงหลังวิกฤตการณ์ปี 2540 (จากบทความเรื่อง ความสัมพันธ์ธุรกิจไทย-ญี่ปุ่น)

อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นเพียงมิติความสัมพันธ์ทางธุรกิจ ยังอยู่ใน 3 ยุคแรก ซึ่งผมอรรถาธิบายไว้ในตอนที่ 1 ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบันความสัมพันธ์ใหม่ เกิดขึ้นจากกระแสคลื่นธุรกิจญี่ปุ่นอันคึกคัก มีทั้งเครือข่ายร้านค้าปลีก ทั้ง Maxvalu, 7-Eleven, Family Mart, Lawson และ Tsuruha เครือข่ายยักษ์ใหญ่แฟชั่นเสื้อผ้า Uniqlo ไปจนถึงเครือข่ายร้านอาหารญี่ปุ่นอย่างแท้จริง อาทิ Ootoya, Saboten และ Chabuton เป็นต้น

ผมขออรรถาธิบายปรากฏการณ์ให้ชัดขึ้นในตอนต่อไป

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
-------------------------------------------

มีอีกเรื่องที่ต้อง ถอย..!!?

โดย:พญาไม้

ถอยถูกแล้วครอบครัวชิน..ในเรื่องกฏหมายนิรโทษยกเข่ง..เพราะหากยังขืนดี้อดึงต่อไป..มันจะไม่ใช่การถอดถอนกฏหมาย

มันจะลามไปถึงการขับไล่รัฐบาลปูออกจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี

สองปีของการเป็นรัฐบาล..รัฐบาลพรรคเพื่อไทยใช่ว่าจะอยู่สบายกับการชนะการเลือกตั้งและประกอบรัฐบาลได้สำเร็จ

มีผู้พยายามสร้างม็อบกันอยู่ตลอดเวลาเพื่อล้มล้างรัฐบาล..แต่ไม่ประสพความสำเร็จ..รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ย่อมได้รับความเชื่อถือจากประชาชน..มีประชาชนเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กคุ้มครอง
แต่ไม่ได้หมายความว่า..พรรคเพื่อไทยจะทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ..โดยไม่ใส่ใจกับความรู้สึกของประชาชน

นอกจากการโปรประกันดาโฆษณาตามแผ่นป้ายใบปิดและเนื้อที่โฆษณาของสื่อสิ่งพิมพ์กับจอทีวี..กับการขายความฝันถึงวันที่รุ่งเรืองในอีกหลายปีข้างหน้า..แต่ปัจจุบันกับชีวิตจริงแล้ว..

ประชาชนตกอยู่ในนรก..กับค่าครองชีพที่แพงแสนแพง..ยาเสพย์ติดระบาดทั้งกว้างและลงลึกจนกำราบปรามปรามกันไม่ไหว..

รัฐบาลใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่ายในงบประมาณต่างๆ ที่ห่างไกลกับความกินดีอยู่ดีของประชาชน..นโยบายสำคัญอย่างการรับจำนำข้าว..เงินหลายแสนล้านหายไปอย่างไร้ร่องรอย..แต่แทบจะทุกคนรู้และตอบได้..ใครได้ไปเป็นแสนล้านกับการรับจำนำข้าวจากชาวนา..

แน่นอนว่า..ความเดือดร้อนของประชาชนเขาโทษลงไปที่รัฐบาล..

แต่อะไรก็ไม่ทำให้ประชาชนสิ้นศรัทธาเท่ากับการโกงกิน..ที่เป็นไปอย่างโสมมและเปิดเผย..ไม่มีอะไรทำลายศรัทธาของข้าราชการได้มากไปกว่า การแต่งตั้งโยกย้ายที่ชั่วร้ายและมากมายไปด้วยตัวเงิน..ว่ากันว่าราคาสามสิบล้านคือราคาของ..ผู้ว่าราชการจังหวัด..ในวัยสี่สิบต้นๆ

รัฐมนตรีบางกระทรวงยังต้องจ่ายรายเดือนเพื่อสืบต่อเก้าอี้

เรื่องแบบนี้อาจจะเคยเกิดบนแผ่นดินนี้มาก่อน แต่มันไม่เคยมากมายและยิ่งใหญ่เท่านี้..10 บวก 2 บวก 2 บวก1 ก็ไม่เคยมีเช่นกัน..แต่มันมีแล้วในวันนี้..

ถอยถูกแล้วในเรื่องกฏหมายนิรโทษกรรม..แต่ตะกละตะกรามโกงแผ่นดิน..ก็ต้องถอยเช่นกัน...

ที่มา.บางกอกทูเดย์
---------------------------------

พลาดทั้งคู่ : ได้คืบจะเอาศอก !!?

เข้าเกียร์ถอยหลังจนแทบจะเกียร์พังกันเลยทีเดียว สำหรับพรรคเพื่อไทย เมื่อเจอแรงต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง ฉบับสุดซอย ฝีมือแก้ไขร่างของกรรมาธิการฯ ที่ก่อเหตุเรียกแขกทั่วทุกทิศจนเกินคาด

ลำพังม็อบสวนลุมฯ ม็อบอุรุพงษ์ หรือม็อบเดินสายของพรรคประชาธิปัตย์ อาจจะไม่น่ากลัว เพราะพยายามจุดมานานแต่ก็จุดไม่ติด แต่พอมีพลังต้านที่ไม่ใช่ม็อบหน้าเดิมๆ โดยเฉพาะสายวิชาการมหาวิทยาลัยเปิดฉากต้านเท่านั้น

ไม่เพียงชุบชีวิตม็อบหน้าเดิมเท่านั้น แต่ยังขยายวงเป็นม็อบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ทำให้พรรคเพื่อไทยต้องเบรกกันตัวโก่ง หัวทิ่มหัวตำไปตามๆกันเลยทีเดียว

เพราะไล่มาตั้งแต่หัวขบวนยันท้ายขบวน ประเมินสถานการณ์ผิดพลาดหมด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค ครั้งนี้ชัดเจนเลยว่าฝีมือและความเท่าทันเกมการเมืองมีมากน้อยแค่ไหน หรือว่าไม่มีเอาเสียเลย!!!

ประเด็นพลาดแรกก็คือ “เหลิง” เพราะคิดตื้นๆว่า ที่ผ่านมาแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ทำได้หลายเรื่องผ่านฉลุย ขนาดลงมติโล๊ะ ส.ว.สรรหา ทั้งหมด เพื่อสวนกลับการเล่นแง่ตุกติกที่ไม่เป็นไปตมข้อตกลง ซึ่งการหักดิบให้หมดอายุเลือกตั้งกันใหม่ในเดือนมีนาคมปีหน้า

40 ส.ว.สรรหาดิ้นพราดๆ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ ฝ่ายค้านก็หมดท่าเช่นกัน เพราะฟืนเปียกจุดไม่ติด

ยิ่งร่าง นิรโทษกรรม ฉบับ วรชัย เหมะ ผ่านวาระ 1 แบบที่ทั้งฝ่ายค้าน และ 40 ส.ว. หมดแรงต้าน จึงคิดว่าแบบนี้ชนะแน่ เลยให้ ประยุทธ์ ศิริพานิชย์ นำทีมกรรมาธิการแก้ไขให้เป็นเหมาเข่ง เท่านั้นได้เรื่องเลย

การแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 นั้น ชาวบ้าน นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย ที่มีใจเป็นธรรมทั้งหลาย ลึกๆรู้ดีว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับอัปลักษณ์ ที่คลอดออกมาจากมดลูก คมช. โดยฝีมือของ ประสงค์ สุ่นศิริ แถมใช้กองทัพขู่ ขณะที่รัฐบาลขณะนั้นก็หลอกล่อให้รับๆไปก่อน ไม่พอใจค่อยไปแก้ไขกันทีหลัง
และที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ก็แก้ไขได้ หากพรรคเพื่อไทยจะแก้ไขบ้างด้วยอำนาจนิติบัญญัติ แล้วองค์กรอิสระ หรือใครต่อใครต้านไม่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เลย มันก็ส่อเจตนาลำเอียงชัด

ฉะนั้นคนส่วนใหญ่ที่มีใจเป็นธรรม เขาถึงไม่หือไม่อือกับการที่สภาจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับหน้าแหลมฟันดำบ้าง โล๊ะทิ้ง ส.ว.ลากตั้งบ้าง... แต่มันไม่ใช่สำหรับเรื่องการนิรโทษกรรมเหมาเข่ง

ยิ่งตลอดมานับตั้งแต่ปี 2548 ฐานข้อมูลในความคิดความเชื่อของคนกลุ่มหนึ่ง มาจากการปลูกฝังของแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ จนทำให้คนที่เชื่อไม่เพียงปักใจว่า รัฐบาลอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ทุจริต คอรัปชั่น และเอื้อประโยชน์พวกพ้อง แต่ได้กลายเป็นความโกรธเกลียดสะสมมายาวนาน

ยิ่งในโลกของสื่อและสังคมออนไลน์ ขั้วตรงข้ามทักษิณ ขั้วตรงข้ามพรรคเพื่อไทย ได้ให้ข้อมูลเพื่อปลูกฝังความเกลียดชังเพิ่มตลอดเวลา สะท้อนชัดจากคอมเมนท์ในโลกออนไลน์ ที่คนทั้งประเทศเห็นและรับรู้ว่ามีกลุ่มคนที่เกลียดชังอย่างรุนแรงอยู่จริง

แต่พรรคเพื่อไทยตั้งแต่หัวขบวนยันท้ายขบวน ทำเหมือนไม่รู้ว่ามีความรู้สึกในขั้วนี้ดำรงอยู่ ตลอดมาจึงไม่เคยที่จะมีการสร้างความเข้าใจ หรือหาทางเปลี่ยนฐานความเชื่อเพื่อให้ความโกรธเกลียดลดลงมาเลย

ฉะนั้นแม้ว่าการนิรโทษกรรมเหมาเข่ง จะเหมาหมดทุกสีทุกกลุ่ม ทุกคนทุกระดับ แต่เมื่อมี อดีตนายกฯทักษิณ อยู่ในข่ายด้วยเท่านั้น คนกลุ่มนี้ไม่มีวันที่จะรับได้อย่างเด็ดขาด

ในขณะที่บรรดาคณาจารย์ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยเฉพาะอาจารย์ทางด้านนิติศาสตร์ ไม่สามารถที่จะยอมรับวิธีการแก้ไขร่างฝีมือกรรมาธิการได้ รวมทั้งการขยายเป็นการเหมาเข่ง จึงได้กลายเป็นเรื่อง

เพราะแม้แต่คนเสื้อแดงก็ยอมรับไม่ได้เช่นกัน

อะไรไม่สำคัญเท่ากับว่าพรรคเพื่อไทยมองข้ามสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม นั่นคือในการเลือกตั้งใหญ่เมื่อปี 2554 แม้พรรคเพื่อไทยจะชนะได้คะแนนเสียงทั่วประเทศ 15 ล้านเสียงก็ตาม แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็ได้ 12 ล้านเสียง

แถมเป็น 12 ล้านเสียงที่ไม่เอาพรรคเพี่อไทย ไม่เอาอดีตนายกฯทักษิณเสียด้วย

เป็น 12 ล้านเสียงที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ฉะนั้นปรากฏการณ์ต้านนิรโทษกรรมเหมาเข่งจึงเกิดขึ้นทั่วประเทศอย่างที่เห็น หรือแม้แต่คนไทยในต่างแดนก็มีด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อต้นปีที่ผ่านมา คะแนนของคนกรุงเทพฯที่เทให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร 1.2 ล้านเสียงนั้น ส่วนหนึ่งคือแฟนคลับประชาธิปัตย์ก็จริง แต่อีกส่วนหนึ่งคือคะแนนจากพวกที่ไม่เอาพรรคเพื่อไทย

ที่สำคัญพรรคเพื่อไทยลืมไปหรือเปล่าว่า คะแนน 1.2 ล้านเสียงนั้น มีทั้งกลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัย พนักงานรัฐวิสาหกิจ ข้าราชการ นักธุรกิจ ศิลปินดารา ส่วนหนึ่งที่รวมอยู่ในนั้นด้วย เมื่อเกิดกรณีต้านนิรโทษกรรมเหมาเข่งขึ้นมา คนกลุ่มนี้ถึงได้ออกมากันอย่างหลากหลาย

แค่ในกรุงเทพฯ 1.2 ล้านเสียงที่เลือกคุณชายหมู หากออกมาแค่ 10% ก็เท่ากับ 1.2 แสนคนแล้ว

ในขณะที่ ส.ส. สก. และ สข. ของพรรคเพื่อไทย กลับทำไม่รู้ไม่ชี้ใดๆ ยังไปเที่ยวไปทัวร์ต่างประเทศกันเฉยเลย เพราะประมาทคิดว่าไม่มีอะไร

ดังนั้นยิ่งเมื่อได้สื่อโทรทัศน์ที่รายงานข่าวม็อบตลอดเวลาว่ามากันเท่านั้นเท่านี้ แล้วจะไปไหนต่อ นัดกันตอนกี่โมง รายการเล่าข่าวของ สรยุทธ์ สุทัศนะจินดา ทางช่อง 3 กลายเป็นการแจ้งนัดหมายที่ดีที่สุด

โทรทัศน์ของรัฐ ก็แข่งกันรายงานด้วยเช่นกัน โดยที่ข่าวรัฐบาลแทบจะตกเวทีไปเลย กระแสต้านก็เลยกลายเป็นเทรนด์เป็นกระแสไปในที่สุด... เฮ้ย ข่าวทีวีบอกว่าเค้าออกกันมาเยอะแล้ว เราไปกันเถอะ!!! เราไปดีมั้ย???

จุดเหล่านี้แหละที่พรรคเพื่อไทยพลาดอย่างมหันต์

และทำให้ม็อบสวนลุมฯ ม็อบอุรุพงษ์ และพรรคประชาธิปัตย์ ฉกฉวยประโยชน์จากสถานการณ์รุมต้านครั้งนี้ไปได้อย่างเต็มๆ

จนสุดท้ายต้องเข้าเกียร์ถอยหลังฝุ่นตลบ เพราะไม่ได้เบรกแค่ร่างกฎหมายฉบับเหมาเข่งสุดซอยฉบับเดียว แต่ต้องถอนร่างหมดทั้ง 6 ฉบับ

เสียหายหนักทั้งๆที่หลังจากนายประยุทธ์นำทีมกรรมาธิการฯแก้ไข ก็ระงมไปด้วยเสียงเตือนแล้ว ไม่เว้นแม้แต่ โอ๊ค พานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายของอดีตนายกฯทักษิณ ก็ยังออกมาเตือน ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย

แต่ดวงจะซวย เสียงเตือนต่างๆไม่ได้เข้าหูของกรรมาธิการ และ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ผู้ใหญ่ภายในพรรค คณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการยุทธศาสตร์ของพรรค ล้วนมืดบอดในสถานการณ์ไปหมด เพราะยังดันทุรังมีมติให้ ส.ส.พรรคเดินหน้าต่อ ดันวาระ 2 วาระ 3 รวดเดียวเสร็จตอนตี 3 ตี 4 จึงยิ่งกลายเป็นประเด็นต้านหนักยิ่งขึ้น

สุดท้ายจึงเจอเกมหนักอย่างที่เป็นอยู่ขณะนี้

ก็อย่างที่ โอ๊ค เขียนเฟซบุ๊กนั่นแหละว่า... ใช่ครับพี่... ดีครับผม... เหมาะสมครับนาย... มักจะลงท้ายด้วยคำว่า “ฉิบหายแล้วครับท่าน” ทุกทีไปครับ...

โอ๊คยังอ่านได้ขาด แล้วถามว่าบรรดา ส.ส. บรรดากรรมการบริหารพรรค กรรมการยุทธศาสตร์ และผู้ใหญ่ในพรรค ทำไมจึงอ่านไม่ขาด ถึงได้พลาดพลั้งในทางการเมืองขนาดนี้

ยังดีที่วันนี้เริ่มจะตั้งหลักได้แล้ว ยอมถอยสุดซอย ถึงขึ้นลงนามสัตยาบรรณกับพรรคร่วมรัฐบาล ว่าจะไม่
เอาร่างนิรโทษกรรมฉบับเจ้าปัญหามาพิจารณาอีก หากว่าวุฒิสภามีมติคว่ำร่างฯ

แต่กลายเป็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ยังหลงใหลได้ปลื้มที่จู่ๆเพื่อไทยเขี่ยลูกมาเข้าเท้าฟรีๆแบบนี้ ก็เลยคิดว่าเป็นโอกาสทองที่จะทำลายคู่แข่งทางการเมืองให้สิ้นซากในคราวนี้ไปเลย เพราะเห็นมีผู้คนออกมาต้านนิรโทษกรรมเยอะ

ตรงนี้แหละที่จะกลายเป็น “ผลัดกันพลาด”คนละที จากความดื้อรั้นดันทุรังทางการเมือง

เพื่อไทยพลาดก่อนเพราะดื้อรั้นดันทุรังจะเหมาเข่งสุดซอย

ตอนนี้ประชาธิปัตย์กำลังจะพลาดบ้าง เพราะจะเอาแรงต้านนิรโทษกรรม มายกระดับเป็นการขับไล่รัฐบาล

ประชาธิปัตย์กำลังตามืดตามัวด้วยอารมณ์คึกเกินพิกัด จนลืมไปแล้วว่า บรรดาเสียงบริสุทธิ์ที่ออกมาต้านนิรโทษกรรมเหมาเข่งไม่ได้นั้น เขาจะเอาด้วยหรือเปล่ากับการขับไล่รัฐบาล???

อย่าลืมว่าคนพวกนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง เป็นเพียงแค่ต้องการกติกาที่สอดคล้องกับบรรทัดฐานของหลักนิติรัฐ นิติธรรม และคนกลุ่มนี้รู้ดีว่าการยกระดับไล่รัฐบาล สุดท้ายแล้วประชาธิปัตย์ก็คือพรรคที่จะคว้าผลประโยชน์ทางการเมืองไปเต็มๆ

ไม่เช่นนั้นทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ คงไม่พยายามที่จะปลุกกระแสให้อยู่ยาวไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้หยุดเมื่อรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยรวมทั้งพรรคร่วมรัฐบาลยอมถอย

โดยเฉพาะนายสุเทพ วันนี้ขึ้นเวทีด้วยลีลาที่ยิ่งกว่า โน้ต อุดม แต้พานิช หรือ เบิร์ด ธงไชย เวลาเอนเตอร์เทนคนดูเสียอีก

ใครจะคิดว่า คนสูงวัยนายสุเทพ ผู้ยิ่งใหญ่แห่งเมืองสุราษฎร์ จะใช้มุกดราม่าก้มกราบ จะใช้ลีลาวิ่งไปวิ่งมาบนเวที เพื่อแลกเสียงเฮ หวังเรียกความนิยมสุดๆให้ได้... ลงทุนเพื่อให้ม็อบอยู่ต่ออย่างสุดชีวิต

ลืมคำพูดก่อนวันที่หน้าเวทีอภิปรายจะหนาแน่นไปด้วยผู้คนไปจนหมดสิ้น ที่เคยบอกว่าจะสู้เพื่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรม แต่วันนี้เลยเถิดไปถึงขั้นหลุดปากจะตั้งศาลประชาชน มาพิพากษารัฐบาล มาพิพากษาคนในตระกูลชินวัตร

ถามว่าถ้าปลุกระดมกันแบบนั้น แล้วหลักนิติรัฐ นิติธรรม หลักกฎหมาย หลักยุติธรรม ที่พรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่หัวแถวยันหางแถวชอบอ้างปาวๆอยู่เป็นประจำนั้น... จะอยู่ตรงไหน???

ถ้าเล่นการเมืองกันแบบนี้ แล้วเกิดวันหนึ่งมีม็อบประชาชนรวมกลุ่มตั้งศาลประชาชนเล่นงานฆาตกร 99 ศพบ้างล่ะ... และถ้าวันนั้นบอกว่าจะพิพากษาโทษคนใน “ตระกูลเทือกสุบรรณ”บ้างล่ะ จะรู้สึกอย่างไร

แต่สำคัญที่สุด ขื่อ แปของบ้านเมืองจะอยู่ตรงไหน หากเล่นการเมืองแบบไม่สนใจกฎหมายบ้านเมืองกันแบบนี้... ขอเตือนกันตรงๆแบบนี้แหละ เพราะไม่อยากที่จะเห็นคนไทยไม่ว่ากลุ่มใดก็ตามลุกขึ้นมาเข่นฆ่าทำลายล้างกันเอง

วันนี้กลุ่มคนเสื้อแดงก็ประกาศชัดแล้วว่า ไม่เอานิรโทษกรรมเหมาเข่ง แต่ก็ไม่เอาการเล่นเกมเล่นการเมืองนอกระบบ หรือการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งด้วยการปลุกระดมเช่นนี้

ฉะนั้นขอเตือนว่า สุเทพ หยุดเถอะ รู้จักพอเสียบ้าง อย่าคิดแต่จะฉวยโอกาสอย่างเดียว

ถ้าพรรคเพื่อไทยเลวจริง ทุจริตคอรัปชั่น สวาปามกันปากมันจริงๆ เอาไปใช้เล่นงานตอนหาเสียงเลือกตั้ง เพื่อให้ได้ชัยชนะอย่างสวยงามตามระบบไม่ดีกว่าหรือ

ได้เป็นรัฐบาลก็สง่างาม กว่าการที่ยืมมือประชาชนโค่นล้มรัฐบาลเพื่อให้ตนเองได้เป็นรัฐบาล

แต่หากจะคิดว่า เคยสั่งสลายการชุมนุมจนมีคนตายมา 99 ศพ บาดเจ็บกว่า 2 พันคนมาแล้ว ยังไม่มีอะไร ฉะนั้นหากจะปลุกม็อบให้อยู่ยาวโดยไม่สนใจสิ่งที่จะเกิดขึ้น สิ่งที่จะกระทบกับประเทศไทย จะอะไรหนักหนานั้น ก็ตามใจ

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม... พระท่านเตือนสติอยู่เสมอแล้วนะ อย่าลืม

ที่มา.บางกอกทูเดย์
-------------------------------------

นักวิชาการ : ไขปม พรบ.ถอยสุดซอย ทำไมไม่จบ !!?

โดย : วรานนท์ ปัจจัยโค

หลายคนอาจสงสัยว่า ในเมื่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็ "ถอยสุดซอย" แล้วในเรื่องร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ แต่เหตุใดกระแสต้านจึงยังคงกระหน่ำ

ทำไปทำมาสถานการณ์จะนำไปสู่การ "เผชิญหน้า" ระหว่างมวลชนฝั่งสนับสนุนและต่อต้านรัฐบาลได้เหมือนกัน ในขณะที่ทางออกสวยๆ ของรัฐบาลดูจะตีบตันมากขึ้นทุกที

นายธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ประธานหลักสูตรรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต วิเคราะห์วิกฤตการณ์ทางการเมือง ณ ปัจจุบันนี้ กับทางออกที่ยังพอมีของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย

"การประเมินของพรรคเพื่อไทยในการดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เข้าสู่การพิจารณาช่วงเดือน ต.ค. ทางพรรคประเมินว่าเป็นยุทธวิธีที่ถูกต้องและสามารถดำเนินการได้ แต่สิ่งหนึ่งที่พรรคเพื่อไทยประเมินต่ำเกินไปคือแรงกดดันทางสังคมภายนอกที่อยู่นอกรัฐสภา ซึ่งตลอด 2 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พรรคเพื่อไทยประเมินว่าการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ สลายตัวหรือลดระดับความรุนแรงลงแล้ว เป็นสัญญาณที่ทำให้คนยอมรับการดำเนินงานของฝ่ายรัฐบาลไม่ว่าจะในแง่มุมใดก็ตาม"

"แต่สิ่งหนึ่งที่พรรคเพื่อไทยไม่ได้ประเมิน คือการที่พรรคเพื่อไทย รวมถึงคุณทักษิณ ชินวัตร และคุณยิ่งลักษณ์ มีภูมิต้านทานต่ำมากทางด้านความซื่อสัตย์ ตรงนี้คือสิ่งที่พรรคเพื่อไทยและคุณทักษิณไม่เข้าใจ เมื่อสูญเสียความซื่อสัตย์ คือการที่เคยยืนยันมาตลอดว่าจะผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับประชาชนเท่านั้น แต่กลับไปแก้ไขมาตราสำคัญเป็นเรื่องเหมารวม จึงกลายเป็นแรงสะท้อนกลับที่แรงมาก เพราะสังคมไม่อาจยอมรับได้" ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ วิเคราะห์ในเบื้องต้น

เขาอธิบายต่อว่า กฎหมายที่จะออกมาใช้ในสังคม ไม่ใช่แค่ผ่านสภาแล้วจบ แต่ข้อสำคัญคือกว่าจะร่างออกมาเป็นกฎหมายได้ ต้องสร้างการยอมรับจากคนที่หลากหลายมาเจรจาร่วมกัน ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ได้เจรจากันแล้วว่าจะนิรโทษกรรมให้เฉพาะประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุม แต่การสั่งให้แก้ไขเนื้อหาของร่างกฎหมายในชั้นกรรมาธิการวิสามัญฯ (ขั้นแปรญัตติ) แสดงให้เห็นว่านี่เป็นการวางแผนที่อยู่ในใจแล้วว่าจะปลดล็อกตัวเองด้วยวิธีการนี้ แต่ลืมไปว่านี่เป็นการทำลายความซื่อสัตย์ของตนเองที่มีอยู่น้อยนิดให้หมดไป และเป็นจุดเริ่มของจุดจบของ พ.ต.ท.ทักษิณ กับนายกฯยิ่งลักษณ์ในตอนนี้

"ตอนอยากทำก็ทำ ตอนอยากถอยก็ถอย เหมือนเด็กเล่นขายของ นี่คืองานทางสังคมการเมือง คุณทำทุกอย่างเพื่อให้คุณเป็นรัฐบาลเท่านั้นเอง แต่คุณได้ทำลายความชอบธรรมของสภา ได้ทำลายความเชื่อมั่นต่อความซื่อสัตย์ของรัฐบาลไปจนหมด ถือเป็นการทำลายตัวเอง"

ส่วนที่แกนนำพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลออกมาระบุว่าในเมื่อถอยแล้วควรจะจบ แต่กลับไม่จบนั้น ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ บอกว่า พลังทางสังคมไม่ได้รวดเร็วขนาดนั้น เพราะเมื่อรัฐบาลเดินเกมมาอย่างยาวนานร่วม 2 ปีเพื่อทำให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าจะไม่โกหก แล้วจากนั้นก็เดินเกมอีกครึ่งเดือนเพื่อปรับเปลี่ยน เพียงไม่กี่วันหลังจากที่ประกาศชัยชนะเมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา (ผ่านวาระ 2-3) แล้วประกาศถอยหมดใน 7 วัน จะทำให้พลังทางสังคมยุติลงง่ายๆ คงเป็นไปไม่ได้

นอกจากนั้น กลุ่มต่างๆ ในสังคมมีจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การเคลื่อนไหวเพื่อโจมตีรัฐบาลยังคงดำเนินต่อไปอีกยาว เพราะความไม่เชื่อถือต่อความซื่อสัตย์ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ทำลายความเชื่อมั่นไปหมด ต่อให้บอกว่าจะไม่เอาร่างกฎหมายฉบับนี้มาพิจารณาอีก แต่การที่รัฐธรรมนูญระบุว่าหลังจาก 180 วันสภายังสามารถเปิดหยิบยกขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้ ทำให้ไม่มีใครเชื่อถือรัฐบาล ทำให้กลุ่มที่เคลื่อนไหวมีความชอบธรรมที่จะเคลื่อนไหวคัดค้านรัฐบาลต่อไปได้

"อยู่ดีๆ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ทำตัวเองล้ม มันต้องมีค่าใช้จ่าย และค่าใช้จ่ายที่สังคมต้องจ่ายคือภาวะที่เราเคยคิดว่าเราจะทำให้ระบบทางการเมืองกลับมาสู่รัฐสภาและมีความสงบได้อย่างไร ค่าใช้จ่ายทางสังคมตอนนี้คือคุณกำลังเปิดทางให้การเคลื่อนไหวบนท้องถนนเป็นไปอย่างชอบธรรมอีกครั้งหนึ่ง ตรงจุดนี้สังคมต้องรับค่าใช้จ่ายร่วมกัน"

สถานการณ์ ณ ปัจจุบัน นายธำรงศักดิ์ สรุปว่า พ.ต.ท.ทักษิณ นายกฯยิ่งลักษณ์ รัฐบาลพรรคเพื่อไทย และสภาผู้แทนราษฎร ได้สูญเสียความชอบธรรมด้านความซื่อสัตย์ที่มีต่อประชาชนคนไทยไปหมดแล้ว ส่วนการชุมนุมในขณะนี้ที่มีความหลากหลายของกลุ่มที่ออกมาต่อต้านรัฐบาลสูงมาก ถือเป็นการประกาศให้เห็นถึงแรงกดดันทางสังคม แต่จะไปไกลขนาดไหนขึ้นอยู่กับจังหวะก้าวของทุกฝ่าย จังหวะก้าวสามารถพลิกเปลี่ยนได้

เช่น หากมีใครเชื่อว่าถ้าทหารออกมายึดอำนาจแล้วจะทำให้ปัญหาทั้งหมดยุติลง การยึดอำนาจของทหารจะทำให้อำนาจทั้งหมดเวียนกลับไปอยู่ที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย เพราะจะมีการลุกฮือจากคนเสื้อแดงทั่วประเทศ เกิดเป็นสงครามกลางเมือง ซึ่งมันไม่มีทางจบ

สำหรับทางออกที่ยังพอมี คือ 1.นายกฯยิ่งลักษณ์ลาออก ซึ่งเป็นไปได้ยาก 2.ยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ แต่คำถามคือพรรคประชาธิปัตย์จะยอมลงสนามเลือกตั้งหรือไม่ เพราะไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างสภากับรัฐบาล

"ในระบบกลไกของประชาธิปไตย คุณจะเล่นเกมฝ่ายเดียวไม่ได้ แต่ตอนนี้ในสภาคุณเล่นอยู่ฝ่ายเดียว ทำตามอำเภอใจตัวเอง ฝ่ายอื่นไม่ได้มาเล่นกับคุณด้วย ฉะนั้นจะเรียกว่ามันคือความชอบธรรมไม่ได้" ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ กล่าวในที่สุด

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
--------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ก้าวข้าม 3 มายาคติ ปราสาทพระวิหาร

 ลุ้น(แค่) 3 แนวพิพากษาศาลโลก

ในที่สุดก็มาถึง "วันพิพากษา" ในคดีปราสาทพระวิหารที่ลุ้นกันมานานข้ามปี โดยศาลโลกเลือกเอาวันที่ 11 เดือน 11 เป็นวันตัดสินข้อพิพาทเรื่องปราสาทหินที่ถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และเกี่ยวเนื่องกับดินแดนของสองประเทศคือไทยกับกัมพูชา ที่ยืดเยื้อมานานกว่าครึ่งศตวรรษ

การคาดการณ์คำพิพากษาและการให้ข้อมูลด้านต่างๆ มีมาอย่างต่อเนื่องทั้งจากรัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสื่อสารมวลชน ตลอดจนผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญผ่านทางโซเชียลมีเดียต่างๆ แต่ก่อนจะตั้งใจฟังคำพิพากษา น่าจะย้อนดูกันก่อนว่าเรามี "มายาคติ" อะไรที่ต้องก้าวข้ามบ้างหรือไม่ เพื่อให้การรับฟังและยอมรับผลคำพิพากษาเป็นไปอย่าง "มีสติ" และมองสถานการณ์ด้วยความ "เข้าใจ" มากที่สุด

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ประธานหลักสูตรรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า มายาคติที่ถูกเผยแพร่ในสังคมไทยในกรณีพิพาทเรื่องปราสาทพระวิหารมีอยู่ 3 มายาคติ ได้แก่

1.มายาคติที่บอกว่าคำปราศรัยของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ เมื่อปี 2505 ไม่ได้ยอมรับคำพิพากษาของศาลโลก ถือเป็นมายาคติที่ร้ายแรงมาก เพราะจะเน้นย้ำแต่เพียงว่าวันหนึ่งข้างหน้าจะเอาปราสาทพระวิหารกลับมาเป็นของไทย แต่สาระสำคัญในคำปราศรัยของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ในขณะนั้น คือ

- ยอมรับว่าคำพิพากษาของศาลโลกเป็นอันเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไม่สามารถอุทธรณ์ได้ และ

- หากไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลก คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) จะสามารถดำเนินการใดๆ ได้

นั่นคือสาระสำคัญของคำปราศรัย แต่สาระสำคัญดังกล่าวนั้นถูกตัดทิ้งออกไปจากความรับรู้ของสังคมไทย และเผยแพร่แต่เพียงว่า จอมพลสฤษดิ์ไม่ยอมรับคำพิพากษาของศาลโลก นี่คือมายาคติที่หนึ่ง

2.มายาคติที่มีการเผยแพร่ข้อมูลกันอยู่ในขณะนี้ว่า คำพิพากษาของศาลโลกไม่มีสภาพบังคับ ต่อให้ตัดสินอย่างไรไม่จำเป็นต้องทำตามก็ได้ ซึ่งเป็นมายาคติที่สำคัญ แท้จริงแล้วศาลโลกจะมีกลไกบังคับอย่างสูงสุดคือยูเอ็น ซึ่งมีแกนหลักสำคัญคือ "ยูเอ็นเอสซี" เป็นกลไกในการบังคับให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลหากมีกาดื้อแพ่งหรือมีการทำสงครามระหว่างกัน

ในขั้นต้นอาจมีการประณามประเทศไทยบนเวทียูเอ็น ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ หรืออาจจะยกระดับขึ้นมาเป็นการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ไม่ซื้อขายสินค้ากับประเทศไทย หรือในระดับสูงสุดอาจมีการส่งกำลังมาพิทักษ์คู่ขัดแย้งโดยสหประชาชาติ

3.มายาคติที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในขณะนี้ว่าศาลโลกเชื่อถือได้หรือไม่ มีการระบุว่าศาลโลกเป็นศาลการเมือง ซึ่งจริงๆ แล้วศาลทุกศาลเป็นศาลการเมืองเพื่อพิทักษ์ระบบทางการเมืองหนึ่งๆ ในขณะนั้น แต่ศาลโลกมีอายุยาวนานมาจนถึงปัจจุบันกว่า 100 ปีแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อเกิดองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แล้ว ได้มีการปรับปรุงศาลโลกขึ้นมาใหม่ เพื่อให้เกิดการยอมรับมากยิ่งขึ้น และพบว่าสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 เป็นสงครามแย่งชิงดินแดนดังนั้นกลไกของยูเอ็นจึงสร้างศาลโลกขึ้นมาเพื่อบอกว่า เราจะออกจากปัญหาข้อขัดแย้งโดยเฉพาะดินแดนกันได้อย่างไรโดยที่ไม่ต้องรบรากัน

จากการก่อตั้งศาลโลกจนถึงวันนี้ มีคดีผ่านการพิจารณาของศาลโลกแล้วกว่า 300 คดี แสดงว่าบางประเทศมีมากกว่า 1 คดี เท่ากับว่าโลกทั้งใบเลือกที่จะหาทางยุติข้อพิพาทกันที่ศาลโลก แต่โดยปกติหากยังมีทางไป คู่กรณีมักจะไม่พยายามไปที่ศาลโลก เพราะถ้าไปที่ศาลโลกหมายความว่าคู่กรณีต้องยอมรับคำพิพากษา ซึ่งอาจจะมีใครได้ใครเสียตลอดเวลา โลกใบนี้ยังใช้ศาลเป็นหนทางเพื่อที่ไม่ทำให้เกิดการรบราฆ่าฟันกันระหว่างประเทศ

"ทั้งหมดนี้คือ 3 มายาคติที่ถูกเผยแพร่ในสังคมไทยในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาซึ่งสังคมไทยควรก้าวข้ามไปให้ได้" ธำรงศักดิ์ ระบุ

เขาอธิบายอีกว่า แนวทางคำพิพากษาในมุมมองของเขามี 3 แนวทาง คือ

1.ศาลไม่ใช้อำนาจตัดสิน ให้เจรจากันเอง ถ้าเป็นแนวทางนี้มีความหมายว่าสภาพการณ์ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและกัมพูชายังคงอยู่แบบเดิมภายใต้บริบททางการเมืองภายในของทั้งสองประเทศที่ต่างก็มีฝ่ายค้านและฝ่ายที่ใช้ประเด็นนี้ในการล้มรัฐบาล สภาพการณ์จะทรงตัวอยู่อย่างนี้

2.ศาลพิพากษาให้เส้นเขตแดนเป็นไปตามที่จอมพลสฤษดิ์ไปตีเส้นล้อมกรอบไว้ให้แล้ว ก็ถือว่าเป็นคุณต่อประเทศไทย แต่แม้ว่าจะเป็นคุณก็ยังต้องไปตั้งคณะกรรมการเพื่อเจรจากันในเชิงของพื้นที่ที่เป็นจริงอีกครั้ง ข้อนี้จะทำให้การเมืองภายในของไทยหมดปัญหา แต่จะส่งผลให้การเมืองภายในของกัมพูชามีปัญหา

3.ศาลพิพากษาให้เป็นไปตามแผนที่ภาคผนวก 1 ของฝ่ายกัมพูชา บวกกับพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ถ้าออกมาแนวทางนี้จะทำให้การเมืองภายในของประเทศไทยมีปัญหาทันที ท่ามกลางปัญหาของร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับหมกเม็ด ซึ่งปัญหาการเมืองภายในจะรุนแรงมาก ส่วนฝ่ายกัมพูชาจะทำให้รัฐบาลของ สมเด็จฮุน เซน กลายเป็นวีรบุรุษของประเทศ

แนวทางคำตัดสินของศาลโลกมีแนวโน้มที่ศาลจะพิจารณาถึงการกระทำที่เป็นการกระทำของฝ่ายไทยเท่านั้น แต่ฝ่ายกัมพูชาไม่ยอมรับเส้นที่ตีนั้นมาตลอด สำหรับอาณาบริเวณ หรือ vicinity อยู่ที่ไหน ในกรณีนี้ศาลจะต้องมองไปยังแผนที่ของฝ่ายกัมพูชาที่แนบท้าย คือศาลจะกลับไปคิดในปี 2505 ศาลโลกในขณะนั้นใช้ฐานคิดอย่างไรที่ระบุว่าปราสาทพระวิหารอยู่ใต้อธิปไตยของกัมพูชา

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////

ม็อบต้านนิรโทษฯ รวมพลังรุก ปลุกพลังเงียบ !!?

โดย เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์
มหาวิทยาลัยสยาม
สูตรสำเร็จของม็อบ ก็คือ ยิ่งมากยิ่งดี

การลุกลามบานปลายของม็อบที่ออกมาต่อต้านพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแบบสุดซอย ย่อมไม่อาจวิเคราะห์จากปัจจัยพื้นฐาน คือความไม่พอใจของประชาชนเท่านั้น หากยังต้องเข้าใจถึงกระบวนการสร้างกระแส เพื่อกระตุ้นให้คนเกิดความรู้สึกอยากเข้าร่วม เกิดความรู้สึกอบอุ่นผูกพัน เกิดความรู้สึกว่าเป็นแฟชั่น รวมถึงเกิดความรู้สึกอุ่นใจเพราะมีคนเข้าร่วมล้นหลาม



นิรโทษสุดซอย ภาพจาก http://variety.eduzones.com/

ความสัมพันธ์ระหว่างพื้นฐานแห่งความไม่พอใจและกระแสแห่ตามแฟชั่น เป็นสิ่งที่ยากจะแยกออกจากกันได้ เพราะหากเป็นการนิรโทษกรรมแบบเดิมที่เน้นเฉพาะประชาชนโดยไม่รวมแกนนำ ไม่รวมคดีคอร์รัปชั่นทั้งหลายแหล่ ก็คงไม่มีการเข้าร่วมอย่างล้นหลามเช่นนี้ ไม่ว่าฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลจะพยายามจุดกระแสอย่างไร ก็ประสบแต่ความล้มเหลว

หากทว่าเมื่อเปลี่ยนเป็นนิรโทษกรรมแบบสุดซอย ทุกสิ่งทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงไป ประชาชนย่อมมีแรงเฉื่อยแห่งการเข้าร่วมม็อบ หากเป็นเรื่องที่พวกเขาไม่รู้สึกเลวร้ายอย่างที่สุด คนส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะวางเฉย แทนที่จะเดินทางเข้าร่วมต่อต้านรัฐบาล เพราะมีต้นทุนทั้งเวลา แรงงาน ค่าเดินทาง ยังไม่นับความเสี่ยงที่จะประสบอันตรายได้

เมื่อประชาชนตัดสินใจเข้าร่วมกับม็อบแล้ว มันก็เหมือนกับการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าชิ้นหนึ่งนั่นเอง พวกเขาย่อมมีความผูกพัน พวกเขาย่อมมีความรู้สึกว่าม็อบเป็นของตัวเอง ดังนั้น ต้นทุนที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญอีกต่อไป ยิ่งเมื่อได้สนทนากับผู้คนในม็อบด้วยกัน ก็ยิ่งมีความผูกพันและรู้สึกว่าคุ้มค่าที่ได้เข้าร่วม เป็นการตัดสินใจที่ไม่ผิดพลาดเลย

อย่างไรก็ตาม กระแสคลั่งไคล้ม็อบ ก็มีห้วงเวลาและขีดจำกัดของมันเหมือนกัน หากแกนนำไม่สามารถค้นหา Story แบบใหม่ๆ มาปลุกเร้าประชาชนที่เข้าร่วมได้ ความรักและความสนุกเบิกบานก็จะผ่อนคลายลง สุดท้ายจึงกลายเป็นความจืดจางและเหินห่าง นี่คือ เหตุผลที่ทำให้หลายม็อบที่เริ่มต้นมาดี มีคนอุดหนุนคึกคัก ต้องแผ่วปลายและล่มสลายไปในที่สุด

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากพระราชบัญญัตินิรโทษแบบสุดซอยถูกพิจารณาให้หายไปอย่างรวดเร็ว เชื้อไฟที่แกนนำจะไปสร้าง Story ให้กับม็อบก็จะถูกลดทอนลง ดังนั้น ผู้เข้าร่วมชุมนุมบางส่วน ที่อาจมีความผูกพันน้อยกว่าคนที่เหลือ ก็จะเริ่มทะยอยถอนตัวไป เมื่อม็อบลดจำนวนลง ก็จะยิ่งทำให้คนที่เหลือรู้สึกว้าเหว่ขึ้น ในที่สุดก็จะนำไปสู่วงจรอุบาทว์แห่งการล่มสลาย

แน่นอนว่า ในช่วงแรกที่รัฐบาลถอนพระราชบัญญัติไป ม็อบอาจไม่ได้รับผลกระทบแบบทันที เพราะยังมีแรงเฉื่อยจาก Story เดิมที่ยังจุดประกายม็อบอยู่ จึงอาจทำให้คนเข้าร่วมเพิ่มขึ้นจากเดิม แต่ว่าเมื่อเวลาผ่านไปสักพัก เรื่องราวที่หล่อเลี้ยงเริ่มขาดหายไปหรือไร้น้ำหนักลง ม็อบก็ยากที่จะดำรงไว้

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลมีท่าทีไม่ชัดเจน ท่าทีแบบนี้กลับเป็นโทษมากกว่าประโยชน์ เพราะจะทำให้แกนนำมีข้ออ้างในการสร้างความหวาดระแวงให้กับมวลชนได้เสพรับ โดยเฉพาะการระบุว่ารัฐบาลไม่จริงใจ รัฐบาลหลอกลวง จึงยิ่งเติมเชื้อไฟให้กับการชุมนุมได้ ที่น่าเศร้าก็คือ ภายในกลุ่มคนที่แวดล้อมรัฐบาล ย่อมมีความเห็นที่แตกต่างกันเป็นหลายแนวทาง

ดังนั้น แม้จะมีคนบางส่วนปรารถนาให้ถอนการนิรโทษกรรมแบบสุดซอยนี้ แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ปรารถนาจะสู้ต่อให้ถึงพริกถึงขิง ดังนั้น แถลงการณ์ของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา จึงมักเป็นส่วนผสมระหว่างการเต็มใจถอนและการยืนหยัดสู้ต่อไป จึงยิ่งส่งสัญญาณความไม่เชื่อมั่นให้ฝ่ายตรงข้ามเป็นอย่างยิ่ง

กลยุทธ์ของรัฐบาลในการตอบโต้กับการชุมนุมในครั้งนี้ จึงไม่ใช่การวิเคราะห์ว่าตนเองได้กระทำผิดหรือไม่ เพราะประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมจำนวนไม่น้อยได้ตัดสินไปแล้ว แต่รัฐบาลจะต้องหาทางลดกระแสโดยเร็วที่สุด นั่นคือ การเพิกถอนพระราชบัญญัติแบบสุดซอยโดยไม่มีเงื่อนไขอย่างที่รัฐบาลได้ออกแถลงการณ์ถึง 3 ครั้งติดต่อกันเช่นที่ผ่านมา



ภาพจาก Facebook คำเกิ่ง แห่งทุ่งหมาหลง
ยิ่งเพิกถอนเร็วยิ่งได้เปรียบ

แน่นอนว่า นับจากรัฐประหารในปี 2549 เป็นต้นมา แต่ละฝ่ายก็ได้ตัดสินอีกฝ่ายหนึ่งไปแล้ว หากทว่าสิ่งที่การชุมนุมครั้งนี้แตกต่างออกไปก็คือ มีฝ่ายเป็นกลางเข้าร่วมด้วยจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาทั้งหลาย ซึ่งจะยิ่งสร้างความเชื่อถือให้กับคนที่ยังลังเลใจ ให้หันมาเข้าร่วมเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ดังนั้น สถานะของรัฐบาลจึงถูกคุกคามอย่างแรง รัฐบาลอาจคิดว่ากลุ่มพลังเงียบเหล่านี้ แท้จริงแล้วก็คือ ฝ่ายตรงข้ามที่แอบต่อต้านตนเองแบบไม่เปิดเผยตัว นี่คือสิ่งที่ต้องวิเคราะห์และเฝ้าดูกันต่อไปว่าจริงหรือไม่ แต่สิ่งที่น่าคิดก็คือ เหตุใดฝ่ายตรงข้ามที่ไม่เคยต่อต้านแบบตรงๆ ในครั้งนี้จึงตัดสินใจเข้าร่วมได้อย่างพร้อมเพรียงกัน

นั่นหมายความว่า การกระทำในครั้งนี้ของรัฐบาลอาจเกินขีดจำกัดที่คนเหล่านี้จะยอมรับได้ หากรัฐบาลสามารถจำกัดขอบเขตอำนาจตัวเองไว้ที่จุดหนึ่ง โดยไม่ไปล้ำเส้นคนกลุ่มนี้ ก็จะทำให้ฝ่ายต่อต้านมีกำลังลดลง และรัฐบาลสามารถรับมือได้สบายเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

“ม็อบต้านนิรโทษ” จึงเป็นส่วนผสมที่หลากหลายของพลังทางสังคม โดยมีท่าทีของรัฐบาลเป็นสิ่งกำหนดความเข้มแข็งหรืออ่อนแอของม็อบ แน่นอนว่า ม็อบนี้ก็ไม่แตกต่างจากม็อบอื่นที่ผ่านมา ซึ่งต้องมีพัฒนาการและความเติบโตของตัวเอง

หากทว่า บทเรียนที่ม็อบนี้ได้มอบให้กับเราก็คือ พลังเงียบที่อาจไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล แต่เลือกที่จะอยู่เฉยๆ เลือกที่จะใช้ชีวิตแบบไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี เลือกที่จะหลงระเริงไปตามกระแส หากทว่า เมื่อถึงจุดที่รัฐบาลกระทำการเกินขอบเขตในความรู้สึกของพวกเขา คนเหล่านี้ก็พร้อมที่จะออกมารวมตัวเพื่อต่อต้านได้ และเมื่อถึงขั้นที่คนกลุ่มที่เฉื่อยชาที่สุดนี้ได้ลุกออกมา ก็ย่อมเป็นสัญญาณอันตรายให้ทุกรัฐบาลต้องรีบหาทางแก้ไข

นับตั้งแต่รัฐประหารในปี 2549 เป็นต้นมา สงครามช่วงชิงทางการเมืองระหว่างสองขั้วอำนาจ ก็ดูเหมือนจะไม่มีวันยุติลง ทั้งสองฝ่ายผลัดกันรุกและรับกันอย่างน่าหวาดเสียว การเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่อนาคตที่ดีกว่าจึงต้องล่าช้าออกไป

อย่างไรก็ตาม การถือกำเนิดของ “ม็อบต้านนิรโทษ” ได้แสดงพลังของประชาชนออกมาให้เห็น ซึ่งเป็นนิมิตหมายอันดีว่า เกมการช่วงชิงอำนาจในหลายปีที่ผ่านมานี้ใกล้จะถึงจุดเปลี่ยนพลิกแล้ว เพราะไม่ใช่มีแต่ผู้เล่น 2 ฝ่ายเท่านั้นที่เข้าร่วมเหมือนเดิม แต่ยังมีประชาชนซึ่งสามารถรวมตัวกันจนกระทั่งเป็นพลังทางสังคมที่เข้มแข็ง (Civil Society) ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งแห่งเกมอำนาจแล้ว

บางคนอาจมองว่าการชุมนุมครั้งนี้ต้องการจะเป็นปรปักษ์กับรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยโดยตรง แต่หากมองให้ลึกลงไปจะเห็นว่า ม็อบต้านนิรโทษนี้ กลับมีความเป็นตัวของตัวเองอย่างยิ่ง โดยไม่ได้ขึ้นหรือถูกชี้นำโดยพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น

หากว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เกิดม็อบทำนองเดียวกันนี้ขึ้นมาต่อต้านโดยเฉพาะหากพรรคประชาธิปัตย์ได้กระทำการที่เกินเลยขอบเขตที่กลุ่มคนที่เฉื่อยชาทางการเมืองที่สุดจะยอมรับได้ เมื่อนั้นก็จะเกิดการต่อต้านอย่างรุนแรงแบบนี้อย่างแน่นอน

พิจารณาจากสภาพปัจจุบัน การที่พรรคประชาธิปัตย์จะพลิกฟื้นกลับคืนสู่อำนาจก็ยังเป็นเรื่องยากยิ่ง ไม่ต้องพูดถึงการมีอำนาจในรัฐสภามากเพียงพอที่จะทำอะไรแบบเกินเลยได้ ดังนั้น เหตุการณ์แบบม็อบต้านนิรโทษนี้ย่อมยากจะเกิดขึ้น จึงดูเหมือนกับว่าม็อบต้านนิรโทษนี้ออกมาเพื่อคัดค้านรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยเท่านั้น

ทั้งที่ความจริงอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพียงแต่ว่าเงื่อนไขทางภววิสัยของพรรคการเมืองอื่น ไม่มีพลังมากพอที่จะทำให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ได้ “ม็อบต้านนิรโทษ” ในท้ายที่สุด ก็ย่อมต้องล่มสลายไปตามกาลเวลา ไม่ว่าจะเกิดจากการที่รัฐบาลตัดสินใจเพิกถอนพระราชบัญญัตินิรโทษฉบับนี้ออกไป หรือแม้กระทั่งเมื่อการต่อต้านครั้งนี้ลุกลามบานปลายจนถึงขั้นโค่นล้มรัฐบาลได้ ม็อบต้านนิรโทษก็ย่อมไร้ซึ่งเหตุผลที่จะดำรงอยู่



ภาพ บ.ก. ลายจุด จาก Facebook Red Intelligence

หากทว่า สิ่งที่ม็อบครั้งนี้ทิ้งไว้ให้เราก็คือ รากฐานการรวมตัวของพลังทางสังคม (Civil Society) อันเกิดจากกลุ่มคนที่หลากหลาย ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาเลยนับตั้งแต่รัฐประหารในปี 2549 แน่นอนว่า แม้บางกลุ่มจะมีจำนวนคนมากกว่านี้ แต่ก็ยังขาดแคลนในเรื่องของความหลากหลายและความน่าเชื่อถือ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการสร้างความชอบธรรมและการยอมรับจากประชาชนที่เฝ้าดู

ที่มา.Siam Intelligence Unit

----------------------------------

วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ภารกิจหลัก เสื้อแดงที่ต้องทำ ในวันที่ 10 (สำคัญมาก)

โดย. ศรี อินทปันตี

เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจคนเสื้อแดงที่ต้องรู้สึกอ้างว้างผิดหวังอย่างรุนแรงที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ตระบัดสัตย์และเหยียบย่ำศพคนตายหันไปสามัคคีรับใช้กลุ่มอำนาจเก่า ด้วยการอนุมัติร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งโดยปราศจากความละอายแก่ใจใดๆ

แต่แทนที่จะหมกมุ่นอยู่กับความรู้สึกเศร้าเสียใจและความผิดหวัง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน่าจะถูกใช้เป็นบท
เรียนสำหรับการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตยในสังคม

เป็นทั้งบทเรียนและการศึกษาค้นคว้าหาแนวทางการต่อสู้ที่จะนำไปสู่ชัยชนะ

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประเมินว่า คนเสื้อแดงส่วนใหญ่เป็นมวลชนประเภทที่เขาสามารถกล่อมเกลาชักจูงได้ มีเพียงส่วนน้อยที่เป็นประเภทฮาร์ดคอร์เท่านั้นที่ดึงดันเชื่อมั่นในอุดมการณ์ของตน

เขาจึงไม่สนใจต่อความรู้สึกของคนเสื้อแดง ดึงดันเดินหน้านิรโทษสุดซอย ทำให้ตัวเองและผู้สั่งฆ่าประชาชนได้รับนิรโทษกรรม พ้นจากความผิด

ความเห็นนี้สอดคล้องกับกลุ่มอำนาจเก่าที่มีความปราถนาอย่างแรงกล้าที่จะกวาดล้างทำลายกลุ่มเสื้อแดงฮาร์ดคอร์ให้หมดสิ้นไป เหมือนกับการกวาดล้างเข่นฆ่านิสิตนักศึกษาเมื่อ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ การปราบปรามเข่นฆ่าผู้เรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อพฤษภาคม ๒๕๓๕ และ ๒๕๕๓

วันนี้คนเสื้อแดงกำลังจะเผชิญกับภัยคุกคามที่น่าสะพรึงกลัว แล้วคนเสื้อแดงควรจะทำอะไร?
เริ่มต้นที่สุดก็คือ คนเสื้อแดงจะต้องรู้ให้ชัดเจนว่า กำลังสู้อยู่กับใคร ใครเป็นมิตร ใครเป็นศัตรู จะต้องแยกมิตรแยกศัตรูให้ชัดเจน

จากนั้นจะต้องค้นคว้าหาแนวทางการต่อสู้ที่ถูกต้อง โดยแนวทางการต่อสู้นั้นจะต้องสอดคล้องกับสภาวะความเป็นจริงของสังคมและสถานการณ์

ศึกษาบทเรียนการต่อสู้ทั้งของประเทศไทยเราเองและของต่างประเทศ บทเรียนการต่อสู้ไม่ว่าจะเป็นของคณะราษฎรผู้นำการปฏิวัติ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ การต่อสู้ของพรรคการเมืองต่างๆ รวมทั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่ทำให้เห็นชัดเจนว่า...

การต่อสู้ที่ไม่มีทฤษฏีชี้นำ ปราศจากยุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่ถูกต้อง มันนำไปสู่ความพ่ายแพ้ในการต่อสู้ได้อย่างไร

ทั้งหมดจะขาดความสามัคคีและการรู้จักตัวเองไม่ได้เลย จะต้องเชื่อมั่นว่า วันนี้พลังของคนเสื้อแดงยิ่งใหญ่และไม่ได้แตกแยกอย่างที่ พ.ต.ท.ทักษิณ และอำนาจเก่าประเมินอย่างผิดๆ

วันนี้คนเสื้อแดงไม่มีความจำเป็นจะต้องออกไปสู้รบปรบมือกับใคร แค่แสดงพลังเป็นแสนคนไปนั่งกินแฮมเบอร์เกอร์ในวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน มันก็ทำให้แผ่นดินสะท้านและฟ้าสะเทือนได้อยู่แล้ว

คนเสื้อแดงจะต้องไม่ลืมหลักการการสะสมกำลัง รอคอยโอกาสอย่างเด็ดขาด อย่าทำอะไรให้ศัตรูใช้เป็นข้ออ้างในการเข่นฆ่าปราบปรามได้

วันที่ ๑๐ พฤศจิกายนไปเดินเล่นที่สี่แยกราชประสงค์กันเถอะ

ที่มา.บางกอกทูเดย์
------------------------------

ส่งออกไทยไปจีน..ท้าทายจุดยืนไทยคงอันดับ 1 ใน 3 ของสินค้าอาเซียนในจีน..

บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ การส่งออกของไทยไปจีนนับจากนี้ ... ท้าทายจุดยืนไทยคงอันดับ 1 ใน 3 ของสินค้าอาเซียนในจีน

ประเด็นสำคัญ
- ในการประชุม ASEAN-China Summit ครั้งที่ 16 เมื่อเดือนตุลาคม 2556 นายหลี่ เค่อเฉียง กล่าวว่า นับจากนี้ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับจีนจะก้าวข้ามจาก “ทศวรรษแห่งทอง” ไปสู่ “ทศวรรษแห่งเพชร” ด้วยเป้าหมายยกระดับความสัมพันธ์ทางการค้าแตะ 1 ล้านล้านดอลลาร์ฯ และการลงทุนสะสมระหว่างกันเป็น 1.5 แสนล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2563 นับจากช่วงที่กรอบการค้าเสรี ASEAN-China FTA ที่ริเริ่มในปี 2546 ผ่านมาเป็นเวลานานถึง 10 ปี ได้สร้างมูลค่าทางการค้าและการลงทุนระหว่างกันเพิ่มขึ้นถึงราว 4 เท่าตัว

- ด้วยบทบาทของอาเซียนในฐานะแหล่งนำเข้าที่สำคัญของจีนเด่นชัดมากขึ้น โดยกลายเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 2 ของจีนในขณะนี้ ครองสัดส่วนร้อยละ 10.1 ของการนำเข้าทั้งหมดของจีน (เป็นรองสหภาพยุโรป) ซึ่งในระยะข้างหน้าสินค้าไทยยังมีโอกาสคงบทบาทเป็นผู้เล่นที่สำคัญติดอันดับ 1 ใน 3 ของอาเซียนในจีน (ปัจจุบันไทยอยู่ที่อันดับ 2)

- เมื่อมองจากฝั่งจีน จีนนำเข้าสินค้าจากอาเซียนหลายประเทศเติบโตสูงโดยเฉพาะอินโดนีเซียและเวียดนาม ขณะที่การนำเข้าจากไทยยังคงหดตัว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า สัญญาณดังกล่าวสะท้อนปฐมบทแห่งการแข่งขันของสินค้าอาเซียนในตลาดจีนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจกดดันให้ส่วนแบ่งสินค้าไทยในตลาดจีนลดลงในทศวรรษข้างหน้า

เศรษฐกิจจีนไตรมาส 3/2556 ปรับตัวดีที่สุดในรอบปีขยายตัวร้อยละ 7.8 (YoY) ด้วยสัญญาณบวกจากภาคการผลิต การบริโภคในประเทศและการส่งออกของจีนช่วยเสริมเศรษฐกิจในภาพรวม ดึงการส่งออกของไทยไปจีนไตรมาส 3/2556 หดตัวน้อยลงเหลือเพียงร้อยละ 0.3 (YoY) จากที่หดตัวถึงร้อยละ 13.7 (YoY) ในไตรมาส 2/2556 แม้ว่าการส่งออกของไทยไปจีนในเดือนกันยายน 2556 เติบโตแผ่วลงเหลือร้อยละ 1.2 (YoY) โดยมีมูลค่า 2,161 ล้านดอลลาร์ฯ แต่ยังสามารถรักษาการเติบโตได้เป็นเดือนที่ 2 ซึ่งกลุ่มสินค้าที่จะเป็นความหวังของการส่งออกไทยไปจีนยังคงเป็นกลุ่มสำคัญที่ปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง ไม้และผลิตภัณฑ์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า/ส่วนประกอบ เป็นต้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้การส่งออกของไทยไปจีนอาจปรับตัวดีขึ้นตอบรับเทศกาลปลายปี แต่ด้วยฐานเปรียบเทียบในปีก่อนที่อยู่ในเกณฑ์สูงทำให้การส่งออกของไทยไปจีนตลอดปี 2556 อาจมีโอกาสเข้าใกล้กรอบล่างของประมาณการที่ประเมินไว้อยู่ระหว่างหดตัวร้อยละ 2.5 ถึงขยายตัวร้อยละ 0.5

ประเด็นที่ต้องจับตานับจากนี้ไปไม่เพียงภาวะเศรษฐกิจจีนเท่านั้นที่จะส่งผลต่อการส่งออกของไทย แต่ยังต้องมองให้ครอบคลุมถึงสินค้าคู่แข่งจากประเทศอาเซียนที่ในขณะนี้สามารถเข้าไปทำตลาดในจีนได้อย่างคึกคักมากขึ้น ซึ่งในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 การนำเข้าของจีนจากประเทศในอาเซียนหลายประเทศเติบโตดีโดยเฉพาะกลุ่ม CLMV หรือ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม เติบโตเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 9.9 (YoY) ขณะที่ประเทศอื่นๆ เติบโตในเกณฑ์ต่ำถึงติดลบ รวมทั้งไทยที่ยังคงหดตัวร้อยละ 2.3 (YoY) ด้วยภาพการแข่งขันของสินค้าจากอาเซียนค่อยๆ เด่นชัดมากขึ้นตั้งแต่ริเริ่มกรอบความตกลงทางการค้าเสรีอาเซียน-จีน ในปี 2546 จนกระทั่งลดภาษีสินค้าเหลือร้อยละ 0 ในปี 2553 เพิ่มความท้าทายสำหรับสินค้าไทยที่จะเข้าสู่ตลาดจีนในระยะข้างหน้า ซึ่งสินค้าไทยจำเป็นต้องเร่งสร้างจุดยืนในตลาดจีนและเกาะติดการเปลี่ยนแปลงที่กำลังตามมา

ความสัมพันธ์อาเซียน – จีน กำลังเปลี่ยนผ่านสู่ “Diamond Decade”


การเดินทางเยือนอาเซียนอย่างเป็นทางการของสองผู้นำจีนได้เน้นย้ำความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในระยะข้างหน้าชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะการเข้าร่วมประชุม ASEAN-China Summit ครั้งที่ 16 ที่ประทศบรูไน นายกรัฐมตรีของจีน นายหลี่ เค่อเฉียง กล่าวถึงความสัมพันธ์ตลอด 10 ปี ของกรอบการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ASEAN-China FTA) ที่ผ่านมา นับได้ว่าเป็น “ทศวรรษแห่งทอง (Golden Decade)” ทำให้การค้าและการลงทุนเติบโตอย่างเด่นชัดเพิ่มขึ้นถึงราว 4 เท่าตัว โดยการค้ารวมในปี 2555 มีมูลค่า 400.3 พันล้านดอลลาร์ฯ (จากมูลค่า 78.3 พันล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2546) เช่นเดียวกับด้านการลงทุนขยับขึ้นมาแตะ 13.17 พันล้านดอลลาร์ฯ (จากมูลค่า 3.04 พันล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2546)
ในระยะถัดไป นายหลี่ เค่อเฉียง ได้สะท้อนมุมมองว่าความสัมพันธ์ของอาเซียนกับจีนกำลังก้าวสู่ “ทศวรรษแห่งเพชร (Diamond Decade)” อันเป็นอีกขั้นของการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกันเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวจากทศวรรษแห่งทองที่ผ่านมา ด้วยเป้าหมายการค้ารวมเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ฯ และการลงทุนสะสมระหว่างกันไม่ต่ำกว่า 1.5 แสนล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2563 (การลงทุนสะสมถึงปี 2555 มีมูลค่า 96.6 พันล้านดอลลาร์ฯ)
การยกระดับความสัมพันธ์ดังกล่าวยิ่งเน้นบทบาทอาเซียนในจีนเด่นขึ้นในระยะข้างหน้า

จากปัจจุบันที่อาเซียนได้ก้าวแซงหน้าญี่ปุ่นมาเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของจีน ได้สำเร็จในปี 2554 และมีสัดส่วนการค้าราวร้อยละ 10.4 ของมูลค่าการค้ารวมทั้งหมดของจีนกับตลาดโลก (เป็นรองเพียงสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ตามลำดับ) ซึ่งหากมองให้ลึกลงมาสู่ด้านการนำเข้าของจีนจากแต่ละประเทศในอาเซียน พบว่า สินค้าไทยยังคงโดดเด่นจากอานิสงส์ของพัฒนาการของความสัมพันธ์ดังกล่าว ขณะเดียวกันคู่แข่งอื่นๆ ก็เร่งตัวขึ้นเพิ่มความท้าทายที่ต้องติดตามในระยะข้างหน้าด้วยเช่นกัน

10 ปีนับจากนี้ ... สินค้าไทยยังมีโอกาสคงอันดับ 1 ใน 3 ของอาเซียนในจีน



อานิสงส์จากการลดภาษีภายใต้กรอบการค้าเสรีอาเซียน – จีนลงเหลือร้อยละ 0 ในปี 2553 ทำให้ในปัจจุบันอาเซียนเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 2 ของจีน (รองจากสหภาพยุโรป) แซงหน้าไต้หวัน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สะท้อนว่าสินค้าจากอาเซียนมีศักยภาพเข้าสู่ตลาดจีน ตอบรับการบริโภคและภาคการผลิตได้ในหลายระดับขั้น จากความพร้อมทางทรัพยากรและเทคโนโลยีในการผลิต โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 มีมูลค่าการนำเข้าราว 145.7 พันล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวร้อยละ 1.1 (YoY)
หากเทียบในกลุ่มอาเซียนแล้วนับว่าสินค้าไทยมีความสำคัญอย่างมาก โดยในปัจจุบันขึ้นแท่นเป็นเบอร์ 2 ครองส่วนแบ่งร้อยละ 19.2 ของสินค้าอาเซียน (รองจากมาเลเซียที่มีสัดส่วนร้อยละ 30.3) ด้วยอัตราเร่งถึง 3.4 เท่าตัว จากเมื่อ 10 ปีก่อน แม้ว่าอินโดนีเซีย เวียดนาม เมียนมาร์ และสปป.ลาว จะเร่งตัวได้สูงขึ้นเช่นกัน แต่สินค้าไทยมีศักยภาพยังสามารถครองตลาดจีนได้อย่างน่าสนใจ อาทิ ยางและผลิตภัณฑ์ พลาสติก เคมีภัณฑ์ ผักและผลไม้ ไม้และผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หนังดิบและหนังฟอก สารแอลบูมินอยด์/กาว/เอนไซม์ และแก้วและเครื่องแก้ว เป็นต้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ด้วยขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดจีนได้เป็นที่ประจักษ์จนกระทั่งก้าวมาเป็นแหล่งนำเข้าที่สำคัญของจีน และสินค้าที่เข้าสู่ตลาดจีนหลากหลายรายการมากขึ้นจากในอดีตที่กระจุกตัวเพียงไม่กี่รายการสินค้า ประกอบกับข้อได้เปรียบจากทำเลที่ตั้งของไทยที่อยู่ใกล้กับจีนโดยอาศัยประโยชน์จากการเชื่อมโยงภายในภูมิภาค (Regional Connectivity) ตามแรงสนับสนุนของนโยบายทางการจีนน่าจะช่วยผลักดันสินค้าไทยเข้าสู่จีนได้หลายช่องทางการขนส่งที่เชื่อมต่อกันสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งทางทะเลเข้าสู่พื้นที่เศรษฐกิจหลักของจีน (กวางตุ้ง เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง) ทางอากาศเข้าตรงสู่ใจกลางประเทศจีนได้หลายเส้นทาง (เสฉวน ส่านซี) รวม

ถึงทางบกผ่านภาคอีสานหรือภาคเหนือเพื่อเข้าสู่จีนตอนใต้ (กวางสี และยูนนาน) ด้วยองค์ประกอบดังกล่าว ทำให้น่าจะมีส่วนเสริมให้สินค้าไทยยังมีโอกาสคงบทบาทเป็นผู้เล่นที่สำคัญติดอันดับ 1 ใน 3 ของสินค้าอาเซียนในจีนได้นับจากนี้ อย่างไรก็ดี ต้องพึงระวังการเร่งตัวของสินค้าคู่แข่งที่แข่งขันรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าจากอินโดนีเซียและเวียดนามที่ต่างมีจุดแข็งเข้าสู่ตลาดจีนได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญเพื่อรักษาจุดยืนของสินค้าไทยในตลาดจีน
จับตาความท้าทาย: คู่แข่งจากอาเซียน ... ชิงส่วนแบ่งสินค้าไทยเพิ่มขึ้น

จากภาพรวมในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (นับตั้งแต่ปี 2551-2555) การแข่งขันของสินค้าอาเซียนในตลาดจีนเริ่มส่อแววชัดเจนกดดันส่วนแบ่งตลาดสินค้าไทยจากร้อยละ 22 ในปี 2551 เหลือร้อยละ 19.2 ในปัจจุบัน โดยเฉพาะสินค้าจากอินโดนีเซียและเวียดนามก้าวขึ้นมามีบทบาทอย่างรวดเร็วจนสามารถชิงส่วนแบ่งตลาดของไทยไปได้ในหลายกลุ่มสินค้า ในขณะที่สินค้ามาเลเซียอันเป็นเจ้าตลาดเดิมยังคงรักษาตลาดไว้ได้ค่อนข้างเหนียวแน่น รวมถึงเมียนมาร์กับ สปป.ลาว แม้จะยังไม่ใช่คู่แข่งไทยในขณะนี้แต่ก็เริ่มมีศักยภาพในการผลิตสินค้าและเข้าสู่จีนได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน

การนำเข้าสินค้าของจีนจากอาเซียนในช่วงปี 2551 ถึงช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556


ที่มา: Global Trade Atlas รวบรวมโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

สินค้าเวียดนามคล้ายคลึงกับไทย จึงเป็นคู่แข่งที่ต้องเฝ้าระวังในเชิงโครงสร้างสินค้า โดยสินค้าสำคัญของเวียดนามที่มีดีกรีการแข่งขันกับไทยค่อนข้างสูง อาทิ เครื่องจักรไฟฟ้า/ส่วนประกอบ เครื่องจักรกล/ส่วนประกอบ แร่และเชื้อเพลิง ไม้และผลิตภัณฑ์ ยางและผลิตภัณฑ์ ธัญพืช ด้ายและเส้นใย ผักและผลไม้ และรองเท้า เป็นต้น หนึ่งในกุญแจสำคัญมาจากเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้าขยายฐานการผลิตไม่ว่าจะเป็น จีน ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ซึ่งหนุนศักยภาพการผลิตของเวียดนาม รวมถึงการเปิดช่องทางการค้ากับจีนหลายเส้นทางเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงตลาด และการที่จีนให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศเวียดนามที่มีพรมแดนติดกับจีนโดยสินค้านำเข้าจากเวียดนามไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ขณะที่ไทยยังต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 13 สำหรับสินค้าเกษตรกรรม และร้อยละ 17 สำหรับสินค้าอุตสาหกรรม ส่งผลให้สินค้าจากเวียดนามเข้าสู่จีนเพิ่มขึ้นมามีส่วนแบ่งร้อยละ 8.5 ของสินค้าอาเซียนในจีน (จากร้อยละ 3.7 ในปี 2551)

สินค้าอินโดนีเซียเน้นที่ทรัพยากรและวัตถุดิบ เป็นคู่แข่งลักษณะเฉพาะ ตอบโจทย์การเสาะหาความมั่นคงทางวัตถุดิบและพลังงานของจีน แม้ไม่ใช่คู่แข่งโดยตรงแต่เริ่มเบียดส่วนแบ่งตลาดของไทยในจีนมากขึ้น เนื่องจากอินโดนีเซียมีทรัพยากรธรรมชาติเป็นจุดขายผนวกกับการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนจีนที่เข้าไปขยายฐานการผลิตในสาขาเหมืองแร่ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ แล้วส่งสินค้าวัตถุดิบขั้นกลางกลับมารองรับการผลิตในจีนทำให้สินค้ามีลักษณะแตกต่างกับสินค้าของไทยพอสมควร ได้แก่ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ แร่และตะกรันเถ้า น้ำมันจากพืชและสัตว์ ยางและผลิตภัณฑ์ ทองแดงและส่วนประกอบ ไม้และผลิตภัณฑ์ ดีบุก

และนิกเกิล เป็นต้น กระนั้นก็ดี แม้ว่าอินโดนีเซียอาจยังไม่ใช่คู่แข่งกับสินค้าไทยโดยตรงแต่ในด้านมูลค่าการค้าก็อาจชิงบทบาทไทยด้วยส่วนแบ่งตลาดที่เพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า จากที่อินโดนีเซียขณะนี้มีส่วนแบ่งร้อยละ 15.7 ของสินค้าอาเซียนในจีน (จากร้อยละ 12.3 ในปี 2551)

หลายสินค้าของไทยถูกชิงส่วนแบ่งตลาดไปแล้วและมีแนวโน้มสูญเสียตลาดมากขึ้น อาทิ ไข่มุก/รัตนชาติ ธัญพืช ปลาสด/แช่เย็น/แช่แข็ง โดยเฉพาะสินค้าเครื่องจักรกล/ส่วนประกอบ และเครื่องจักรไฟฟ้า/ส่วนประกอบ สินค้าดังกล่าวครอบคลุมถึงคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบอันเป็นสินค้าส่งออกหลักของไทย ซึ่งในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 เวียดนามเป็นเพียงประเทศเดียวในอาเซียนที่ขยายตลาดในจีนได้ในเกณฑ์สูงอัตราขยายตัว 2 หลัก สวนทางกับประเทศอื่นที่หดตัว ส่วนแบ่งตลาดสินค้าดังกล่าวของเวียดนามเพิ่มเป็นร้อยละ 13.4 ของสินค้าอาเซียนในจีน (จากร้อยละ 2.5 ในปี 2551) ต่างกับไทยที่ส่วนแบ่งลดลงเหลือร้อยละ 48.7 (จากร้อยละ 57.8 ในปี 2551) โดยประเด็นดังกล่าวเป็นมูลเหตุสำคัญที่ฉุดการส่งออกของไทยไปจีนในปีนี้และอาจรุนแรงมากขึ้นต่อเนื่องในระยะข้างหน้า หากเวียดนามเร่งการผลิตได้เต็มกำลัง สำหรับคู่แข่งอื่นๆ ในการชิงส่วนแบ่งของไทยที่ไม่ควรมองข้าม อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น

โดยสรุป สินค้าไทยที่มีศักยภาพและยังแข่งขันได้ในตลาดจีน อาทิ ยางและผลิตภัณฑ์ พลาสติก เคมีภัณฑ์ ผักและผลไม้ ไม้และผลิตภัณฑ์ แต่การแข่งขันของสินค้าอาเซียนโดยเฉพาะสินค้าจากเวียดนามที่ได้อานิสงส์นำเข้าสินค้าด้วยต้นทุนต่ำจากการมีพรมแดนติดกับจีน ผนวกกับการพัฒนาศักยภาพการผลิตจนกระทั่งกำลังเบียดส่วนแบ่งสินค้าไทยในจีนได้มากขึ้น รวมถึงอินโดนีเซียที่แม้ไม่ได้แข่งขันในเชิงโครงสร้างสินค้ากับไทยโดยตรงแต่มูลค่านำเข้าสู่จีนเพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจอาจลดทอนบทบาทไทยในตลาดจีนระยะข้างหน้าได้

ประเด็นดังกล่าวจะทวีความเข้มข้นใน “ทศวรรษแห่งเพชร” ของความสัมพันธ์อาเซียน-จีนที่กำลังดำเนินอยู่ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรเร่งหาทางเสริมความแข็งแกร่งทางการผลิต ต่อยอดการผลิตสินค้า สร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้า หรือสร้างโอกาสขยายตลาดสินค้าใหม่เข้าสู่ตลาดจีน เพื่อบรรเทาภาวะการแข่งขันในกลุ่มสินค้าเดิมที่ต้องยอมรับว่าเสียส่วนแบ่งตลาดไปแล้ว โดยเฉพาะเครื่องจักรกล/ส่วนประกอบ และเครื่องจักรไฟฟ้า/ส่วนประกอบอันครอบคลุมคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบเป็นสินค้าที่ไทยพึ่งพิงตลาดจีนค่อนข้างมาก รวมถึงการแสวงหาช่องทางการค้าหรือพื้นที่การค้าใหม่ในจีนให้มากขึ้นเพื่อรักษาตลาดและผลักดันภาพรวมการค้าของไทยที่มีจีนเป็นตลาดหลักในขณะนี้

ที่มา.นสพ.ฐานเศรษฐกิจ
///////////////////////////////////////////////

ละครน้ำเน่าเรื่อง : นิรโทษเหมาเข่ง !!?

โดย.ใจ อึ๊งภากรณ์

ตอนนี้รัฐบาลเพื่อไทยและแกนนำ นปช. กำลังเล่นละครน้ำเน่าเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากประเด็นแท้สำคัญๆ เกี่ยวกับการนิรโทษกรรมฆาตกรทหารและนักการเมือง

ในฉากแรกของละครเน่า นปช. ออกมาบอกว่าจะ “ขอหย่า” กับ “ผัว” เพื่อไทย เพราะน้อยใจเรื่องสื่อ การขอหย่าครั้งนี้เป็นการสร้างภาพเพื่อเอาใจเสื้อแดงที่ไม่พอใจการนิรโทษกรรมเหมาเข่ง

แต่เราต้องอ่านคำพูดของแกนนำ นปช. ให้ดี คือ จะไม่เคลื่อนมวลชนเสื้อแดงต่อต้านพรรคเพื่อไทย และเรียกร้องให้มีการนำประยุทธ์ อนุพงษ์ อภิสิทธิ์ กับสุเทพ มาลงโทษ ตรงกันข้ามจะปกป้องรัฐบาลแทน ไม่ว่ารัฐบาลทำอะไร นอกจากนี้จะไม่เคลื่อนไหวและรณรงค์ให้ยกเลิก112 และปล่อยนักโทษ 112 แต่อย่างใด อันนี้เป็นจุดยืนมานาน สรุปแล้วการต้านนิรโทษกรรมเหมาเข่งของ แกนนำ นปช. เป็นแค่นามธรรมเพื่อดูดีเท่านั้น

ในฉากที่สอง พรรคเพื่อไทยประกาศ “ถอน” ร่างกฏหมายนิรโทษกรรม แต่ต้องอ่านคำพูดเขาดีๆ เช่นกัน เพื่อไทยจะยอมถอยถ้า สว. ตีกลับ แต่ไม่มีการพูดว่าจะนำประยุทธ์ อนุพงษ์ อภิสิทธิ์ และสุเทพ มาขึ้นศาลเลย ในความเป็นจริงรัฐบาลเพื่อไทยและ นปช. เลิกพูดถึงอาชญากรรมของทหารนานแล้ว เพราะทักษิณกับยิ่งลักษณ์มีข้อตกลงกับทหาร ดังนั้นไม่มีการพูดว่าจะปฏิรูปหรือยกเลิก 112 เลย ไม่มีการพูดว่า สมยศและดา จะได้รับการปล่อยตัว และไม่มีคำมั่นสัญญาว่า สส. เพื่อไทยทุกคนจะลงคะแนนคัดค้านร่างกฏหมายนิรโทษเหมาเข่งใหม่ที่คนอื่นเสนอในอนาคต

ฉากที่สามเป็นบทรองที่แยกจากบทหลัก “ลุงทักษิณ” ออกมาพูดว่ามันเกี่ยวกับเขาคนเดียว มองเห็นแต่ตัวเองตลอด ไม่พูดถึงคนติดคุกคดี 112 พูดแต่ว่าตัวเอง “เจ็บปวด” เพื่อดึงน้ำตาจากผู้ชม แต่เศรษฐีอย่างทักษิณไปไหนในโลกก็สบาย ไม่ต้องทนทรมานเหมือนคนติดคุกในไทย และยังหน้าด้านมาพูดอีกว่า "ขอฝากให้ทุกคนยอมกลืนเลือดคนละหน่อย" ในความจริงมีเสื้อแดงกลืนเลือดไปเยอะ คือคนที่ถูกยิงตายโดยทหาร อันนี้ไม่นับคนบาดเจ็บและญาติของคนตาย

ในฉากที่สี่ บทเริ่มเล่นเรื่องผี เพราะแกนนำ นปช. และเสื้อแดงที่พร้อมจะแก้ตัวให้รัฐบาลที่หักหลังวีรชน ออกมาปลุก “ผีรัฐประหาร” อีกครั้ง แต่จะไม่มีรัฐประหารหรอก ทหารต้องการให้มีการนิรโทษกรรมตัวเอง และทุกครั้งที่เพื่อไทยและแกนนำ นปช. เห็นเสื้อแดงจำนวนมากไม่พอใจรัฐบาล ก็จะออกมาร้อง "รัฐประหารๆๆๆ" เหมือนเด็กเลี้ยงแกะ เพื่อเบี่ยงเบนประเด็น ดังนั้นคนที่รักสิทธิเสรีภาพ และไม่อยากเห็นฆาตกรลอยนวลในขณะที่คนอย่างสมยศติดคุก ต้องไม่ถูกหลอกให้ออกมาปกป้องรัฐบาลเพื่อไทยจากผีที่ไม่มีจริง

ส่วนในอีกย่านของเมือง พวกสลิ่มและประชาธิปัตย์มือเปื้อนเลือด ก็ออกมาชุมนุมค้านนิรโทษกรรม แต่สาเหตุคือเกลียดทักษิณและอยากสร้างภาพเท่านั้น เพราะพวกนี้สนับสนุนการทำลายประชาธิปไตยและการเข่นฆ่าเสื้อแดงมาตลอด ถือว่าเป็นนักแสดงในละคนตอแหลยอดเยี่ยม อย่างไรก็ตามเราไม่ควรลืมว่าต้นเหตุของปัญหาสลิ่มมาจากการที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยรวมทักษิณเข้าไปในการนิรโทษกรรม ซึ่งเปิดช่องทางให้พวกสลิ่มปฏิกิริยา ที่สนับสนุนรัฐประหาร สามารถออกมาสร้างภาพด้วยการปฏิเสธกฏหมายเหมาเข่ง สลิ่มเป็นพวกรักเผด็จการ แต่ในขณะเดียวกันพรรคเพื่อไทยและแกนนำ นปช. ไปอยู่ข้างเผด็จการด้วย เพราะไปตกลงกับทหารว่าจะไม่มีการลงโทษฆาตกร และจะไม่ปล่อยนักโทษ112 ไม่ยกเลิก 112 ทั้งหมดเพื่อให้ทักษิณได้กลับบ้านคนเดียว และผลระยะยาวคือการฆ่าประชาชนแล้วลอยนวลกลายเป็น “มาตรฐาน”

ในฉากที่ห้าของละครเน่าแกนนำ นปช. จูบปากคืนดีกับ “ผัว” รัฐบาลเพื่อไทยแล้ว คือไอ้ที่บอกว่า "หย่า" นั้นแค่งอนเท่านั้น คืนดีกันเพื่อให้ผู้ชมจะได้หลับสบาย

แต่เราต้องไม่ยอมให้พวกนั้นบิดเบือนประเด็น เพราะประเด็นหลักคือฆาตกรทหารและนักการเมืองที่ต้องถูกนำมาลงโทษ และ112 ที่ต้องถูกยกเลิก สมยศและคนอื่นต้องสามารถกลับบ้านได้

เลือกตั้งครั้งต่อไป คนเสื้อแดงที่รักประชาธิปไตยไม่ควรลงคะแนนให้พรรคเพื่อไทยเป็นอันขาด และแน่นอนไม่ควรเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ควร “กาช่องไม่เลือกใคร”

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
-------------------------------------------