--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2556

Shale gas กับ tight oil แหล่งปิโตรเลียมใหม่ของโลก !!??

ชาญชัย คุ้มปัญญา
นักวิจัยและนักวิชาการอิสระ

ก๊าซธรรมชาติกับน้ำมัน (ปิโตรเลียม) ที่ใช้กันทั่วไปในโลกมีที่มาจากหลายแหล่ง สามารถแบ่งอย่างง่ายๆ ว่า เป็นแหล่งบนบกกับแหล่งในทะเล ในความเป็นจริงแล้ว ปิโตรเลียมแต่ละแหล่งมีลักษณะเฉพาะแตกต่างกัน  มีความยากง่ายในการขุดเจาะไม่เท่ากัน ต้องอาศัยเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมต่างกันออกไป กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า การเลือกใช้เทคโนโลยีการขุดเจาะขึ้นอยู่กับลักษณะของแหล่งนั้น  มีผลต่อต้นทุนการผลิต และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ฯลฯ การที่ประเทศไทยเพิ่งจะขุดเจาะก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยขึ้นมาได้เมื่อปี ค.ศ.1981 ส่วนหนึ่งเนื่องจากเหตุผลดังกล่าว

shale gas คือ ก๊าซธรรมชาติที่ถูกกักเก็บไว้ในชั้นหินดินดาน ส่วน shale oil คือ น้ำมันดิบที่พบในชั้นหินดินดาน คนทั่วไปมักใช้คำว่า shale oil กับ tight oil ในความหมายเดียวกัน แต่แท้ที่จริงแล้วมีความหมายต่างกัน shale oil คือ tight oil ประเภทหนึ่งที่มีคุณสมบัติซึมซาบไหลผ่านช้า ในแวดวงอุตสาหกรรมน้ำมันสหรัฐฯ ใช้คำว่า tight oil เป็นหลัก เพราะเป็นคำที่กินความครอบคลุมและถูกต้องมากกว่าเนื่องจาก  tight oil พบได้ในหลายแหล่ง ไม่เฉพาะในชั้นหินดินดานเท่านั้น (เป็นที่มาของชื่อ shale oil)

มนุษย์รู้จัก shale gas กับ shale oil/tight oil มานานแล้ว แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี กับต้นทุนการผลิต ที่ผ่านมา มนุษย์จึงใช้ปิโตรเลียมจากแหล่งทั่วไป การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นเมื่อ  10 ปีที่แล้ว เมื่อสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรกที่ค้นพบเทคโนโลยีการผลิตซึ่งเรียกว่า "fracking”

"fracking” คือระบบวิธีการผลิตด้วยการผสมผสานสองเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน ประกอบด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่า Hydraulic Fracturing กับ Horizontal Drilling โดยจะฉีดน้ำผสมสารเคมีและทรายจำนวนมหาศาลลงใต้ดิน เพื่อทำให้เกิดรอยแตกในชั้นหิน เป็นเหตุให้ shale gas กับ shale oil/tight oil ที่ถูกเก็บกักอยู่ระหว่างชั้นหลุดออกมา กระบวนการดังกล่าวมิได้กระทำเฉพาะในแนวดิ่งเท่านั้น  แต่ยังกระทำในแนวราบด้วย จึงสามารถขุดเจาะได้บริเวณกว้าง และได้ปิโตรเลียมเป็นจำนวนมาก

ปริมาณ shale gas กับ shale oil/tight oil เป็นเรื่องที่วงการอุตสาหกรรมน้ำมันให้ความสำคัญ เพราะโลกแสวงหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ อยู่เสมอ จึงมีความจำเป็นต้องผลิตมากขึ้นเรื่อยๆ  เพื่อให้ทันกับความต้องการ  รายงานล่าสุดของกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ (2013) ชี้ว่า ทั้งโลกมี shale oil/tight oil จำนวน 345 ล้านบาร์เรล จากทั้งหมด 42 ประเทศที่ทำการสำรวจ เพียงพอให้ทั้งโลกใช้เป็นเวลากว่า 10 ปี (คิดจากปริมาณการบริโภคราว 90 ล้านบาร์เรลต่อวัน) รัสเซียมีปริมาณ shale oil/tight oil มากที่สุด ราว 75 พันล้านบาร์เรล รองลงมาคือสหรัฐฯ มีประมาณ 58 พันล้านบาร์เรล จีนมี 32 อาร์เจนตินา 27 และลิเบียมี 26 พันล้านบาร์เรล ปริมาณดังกล่าวเป็นปริมาณที่สำรวจพบในทางเทคนิค

ปริมาณที่สำรวจพบในทางเทคนิค หมายถึง ปริมาณที่เทคโนโลยีปัจจุบันสามารถผลิตได้ โดยไม่คำนึงเรื่องราคาหรือต้นทุนการผลิต ต้นทุนการผลิตของแต่ละที่ แต่ละแหล่งไม่เท่ากัน หากราคาน้ำมันตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น โอกาสที่แหล่งต่างๆ  จะมีความคุ้มค่าในเชิงพาณิชย์ก็จะมีมากขึ้น ดังนั้น ปริมาณที่มีอยู่จริงไม่ได้หมายความว่าจะถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด

ส่วน shale gas พบว่า มีปริมาณมหาศาลเช่นกัน หากรวมก๊าซธรรมชาติจาก shale gas จะทำให้ปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 47 หรือเท่ากับ 22,882 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต อย่างไรก็ตาม เรื่องหนึ่งที่ต้องพึงระลึกไว้เสมอก็คือ การสำรวจระดับโลกยังอยู่ในขั้นเบื้องต้น ไม่ได้กระทำอย่างทั่วถึง ปริมาณที่มีอยู่จริงน่าจะมากกว่านี้

เมื่อพิจารณาเฉพาะส่วนของสหรัฐอเมริกา ข้อมูลล่าสุดพบว่ามีปริมาณ shale gas ทั้งหมด 7,299 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต เพิ่มขึ้นจากรายงานปี 2011 ที่ 6,622 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ส่วน shale oil/ tight oil พบว่ามี 345 พันล้านบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากปี 2011 ที่คาดว่ามีเพียง 32 พันล้านบาร์เรล (สังเกตว่าปริมาณที่สำรวจพบล่าสุดเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่าตัว)

แหล่งสหรัฐฯ เป็นแหล่งที่มีความสำคัญ เพราะนอกจากมีปริมาณมากแล้ว ยังเป็นเพียงหนึ่งในสองประเทศในปัจจุบัน ที่ดำเนินการผลิตในเชิงพาณิชย์แล้ว ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจาก shale gas คิดเป็นร้อยละ 40 ของปริมาณก๊าซธรรมชาติทั้งหมดที่สหรัฐฯ ผลิตในปี 2012 ส่วนน้ำมันดิบที่ผลิตจาก shale oil/tight oil คิดเป็นร้อยละ 29 ของปริมาณน้ำมันดิบที่ประเทศผลิตได้ เหตุที่สหรัฐฯ สามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งปิโตรเลียมดังกล่าวก่อนประเทศอื่นเนื่องจากสาเหตุหลายประการ  ประการแรกคือ บริษัทเอกชนประสบความสำเร็จในการคิดค้นเทคโนโลยี "fracking” ได้ก่อนประเทศอื่นๆ ประการที่สองคือ กฎหมายอเมริกาให้ shale gas กับ tight oil ที่อยู่ใต้พื้นดินเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดิน จึงเอื้อต่อการลงทุนของบริษัทเอกชน และดึงขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้อย่างรวดเร็ว  ประการที่สามคือ มีโครงสร้างระบบท่อรองรับอยู่แล้ว (จึงสามารถขนส่งได้อย่างสะดวกรวดเร็วและปลอดภัย) และมีแหล่งน้ำมากเพียงพอ ซึ่งจำต้องใช้ในขั้นตอน hydraulic fracturing

นักวิเคราะห์คาดว่า ในอนาคตสหรัฐฯ จะผลิตน้ำมันได้มากขึ้น องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency หรือ IEA) ประเมินว่า ก่อนปี 2020 สหรัฐฯ จะเปลี่ยนจากผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ของโลก มาเป็นผู้ผลิตผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก แซงหน้าประเทศซาอุดิอาระเบีย
เมื่อพิจารณาความเกี่ยวข้องกับตลาดโลกพบว่า ก๊าซธรรมชาติจากแหล่ง shale gas ของสหรัฐฯ ไม่ค่อยมีผลต่อราคาก๊าซทั่วโลก เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกับราคาตลาดโลกน้อยกว่าเมื่อเทียบกับน้ำมัน ดังนั้นประเด็นที่นักวิเคราะห์ให้ความสำคัญคือ ผลของ shale oil/tight oil ต่อตลาดโลก

ในระยะสั้นหรือสองสามปีที่ผ่านมา ไม่มีผลต่อราคาน้ำมันตลาดโลก เนื่องจากเป็นช่วงที่อุปทานน้ำมันโลกมีความตึงตัว การที่สหรัฐฯ เริ่มผลิตน้ำมันดิบจาก shale oil/tight oil ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำมันดิบโลกได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ในระยะปานกลางคือราว 5 ปี องค์กรพลังงานระหว่างประเทศคาดการณ์ว่า แม้จะค้นพบแหล่งปิโตรเลียมเหล่านี้จากหลายประเทศ แต่ในอีก 5 ปีข้างหน้ายังคงมีผู้ผลิต shale gas กับ shale oil/tight oil รายใหญ่เพียงไม่กี่ประเทศ เนื่องจากแต่ละแหล่งมีความแตกต่างกัน ทั้งเรื่องการก่อตัวของชั้นดิน และเงื่อนไขอื่นๆ เช่น กฎหมายควบคุมสิ่งแวดล้อมของแต่ละประเทศ แหล่งน้ำที่มากเพียงพอ  สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลต่อต้นทุนการผลิต มีผลต่อแรงจูงใจว่าควรลงทุนหรือไม่ เมื่อไม่สามารถคาดการณ์กำลังการผลิต จึงไม่อาจคาดคะเนผลต่อราคาน้ำมันโลกได้อย่างชัดเจน ในขณะที่ต้องคำนึงอยู่เสมอว่า เทคโนโลยียังสามารถพัฒนาได้อีกมาก อีกทั้งการสำรวจอาจค้นพบแหล่งปิโตรเลียมจาก shale oil/tight oil เพิ่มขึ้น

ประเด็นที่สำคัญกว่าก็คือ ผลกระทบในระยะยาว (10 ปีขึ้นไป) ต่อราคาน้ำมันโลก ในด้านอุปสงค์เป็นที่ชัดเจนว่า โลกในศตวรรษที่ 21 จะบริโภคปิโตรเลียมมากขึ้น เศรษฐกิจหลายประเทศกำลังเติบโต ปริมาณคนชั้นกลางที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้คนเหล่านี้มีรถยนต์ มีเครื่องใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก งานวิจัยในอดีตจึงมีข้อสรุปว่า ไม่เกินปี 2030 โลกจะต้องหันมาพึ่งพาปิโตรเลียมจากองค์การประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก (Organization of Petroleum Exporting Countries หรือโอเปก) มากขึ้น เนื่องจากเมื่อโลกบริโภคพลังงานมากขึ้นเรื่อยๆ จะเกินกำลังแหล่งผลิตปิโตรเลียมของนอกกลุ่มโอเปก (non-OPEC) ทำให้ความเป็นไปของภูมิภาคตะวันออกกลางมีผลต่อราคาน้ำมันโลก แต่งานวิจัยล่าสุดคาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันในระยะยาวน่าจะมีเสถียรภาพ ไม่เกิดภาวะปรับตัวขึ้นสูงผิดปกติ เพราะไม่ช้าก็เร็วโลกจะมีผู้ผลิต shale gas กับ shale oil/tight oil เพิ่มขึ้น ผลลัพธ์คือผู้ผลิตน้ำมันรายเดิมจะลดความสำคัญ อิทธิพลของโอเปกที่มีผลต่อทิศทางราคาน้ำมัน ตลอดช่วงเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมาจะลดน้อยลง

สถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาคตะวันออกกลางจะไม่ค่อยมีอิทธิพลต่อราคาน้ำมันดังเช่นในช่วงทศวรรษ 1990 – 2000 ที่สงครามอ่าวเปอร์เซียทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นเป็นอันมาก องค์การข้อมูลข่าวสารด้านพลังงานแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Energy Information Administration) เห็นว่า ในที่สุดแล้ว ผลตอบแทนจากการลงทุนจะเป็นปัจจัยสำคัญซึ่งผู้ผลิตทั่วโลกจะใช้ตัดสินใจว่าจะผลิตมากน้อยเพียงไรก็ขึ้นกับหลักอุปสงค์และอุปทานนั่นเอง

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของกระบวนการผลิตปิโตรเลียมด้วยวิธีการ "fracking” ทำให้มนุษย์สามารถดึงก๊าซธรรมชาติจากชั้นหินดินดาน (shale gas) และ shale oil/tight oil ที่สะสมอยู่ใต้พิภพนับล้านๆ ปีมาใช้ประโยชน์ ทุกวันนี้ มีเพียงสหรัฐฯ กับแคนาดาเท่านั้นที่สามารถผลิตในเชิงพาณิชย์ เชื่อว่าอีกไม่นานประเทศอื่นๆ ก็จะสามารถผลิตได้เช่นกัน นอกจากนี้เทคโนโลยีดังกล่าวยังสามารถพัฒนาได้อีกมาก  ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนให้ต่ำลงกว่าเดิม ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเมื่อโลกบริโภคพลังงานมากขึ้นจะเป็นตัวจูงใจให้นานาประเทศสนใจ และอยากพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมเหล่านี้ ความกังวลว่าน้ำมันจะหมดโลกคงจะถอยห่างออกไปอีกอย่างน้อยอีก 10 ปี

ในขณะเดียวกันหากมีประเทศผู้ผลิตมากขึ้น และสหรัฐฯ อาจกลายเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก (หรืออย่างน้อยไม่นำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ) ย่อมส่งผลต่อตลาดน้ำมันโลก เชื่อว่าราคาน่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้น ที่สุดแล้วราคาตลาดโลกจะช่วยควบคุมปริมาณการผลิต ให้เป็นไปตามหลักอุปสงค์อุปทาน

หลายประเทศทั่วโลกกำลังเร่งสำรวจว่า ประเทศตนมี shale gas กับ shale oil/tight oil หรือไม่  เปรียบเสมือนการค้นหาขุมทรัพย์ เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศที่กำลังเร่งศึกษาเทคโนโลยีผลิตก๊าซธรรมชาติ  และน้ำมันจากแหล่งเหล่านี้ ในอนาคตจะมีอีกหลายประเทศที่สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ เฉกเช่นเดียวกับประเทศไทยในยุคหนึ่ง ที่รัฐบาลประกาศว่าเป็นยุคโชติช่วงชัชวาล

บรรณานุกรม:
1. ก๊าซธรรมชาติ, กระทรวงพลังงาน, http://www.energy.go.th/index.php?q=node/386, Accessed 18 June 2013.
2. World Has 10 Years of Shale Oil: US Department of Energy, CNBC/Financial Times, 11 June 2013, http://www.cnbc.com/id/100804970
3. Roy Nersesian, Energy for the 21st Century, second edition (N.Y.: M.E. Sharpe, 2010)
4. Technically Recoverable Shale Oil and Shale Gas Resources: An Assessment of 137 Shale Formations in 41 Countries Outside the United States, U.S. Department of Energy, http://www.eia.gov/analysis/studies/worldshalegas/pdf/fullreport.pdf
5. How the US Could be the World's Next Major Producer of Oil, CNBC, 13 January 2013, http://www.cnbc.com/id/100375838
6. Handel Jones, CHINAMERICA: The Uneasy Partnership that Will Change the World (USA: McGraw-Hill, 2010)
7. John Fanchi, Energy in the 21st Century, second edition (N.J.: World Scientific Publishing, 2011)
8. Bill Paul, Future Energy: How the New Oil Industry Will Change People, Politics and Portfolios (N.J.: John Wiley & Sons, 2007)

Keywords : shale gas, ก๊าซธรรมชาติ, tight oil, น้ำมันดิบ,  fracking, ชาญชัย คุ้มปัญญา
////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ดร.ชัยวัฒน์ : กับงานวิจัยพิมพ์เขียว ปฏิรูปการเมือง !!??

ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เป็นนักวิชาการด้านสันติวิธี เป็นหนึ่งในหลายคนที่ "สภาปฏิรูปการเมือง" ของ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี ส่งเทียบเชิญเพื่อให้เข้าร่วมองคาพยพ แต่สุดท้ายเขาปฏิเสธคำเชิญนั้น โดยบอกว่า เพราะเขาไม่ได้เตรียมตัว

แต่ก่อนหน้านั้น เขาและลูกทีมหมกมุ่นอยู่กับงานวิจัยปัญหาความขัดแย้งทางสังคม-การเมือง เรื่อง "พื้นที่สันติวิธี/หนทางสังคมไทย"

"ดร.ชัยวัฒน์" จึงสังเคราะห์ความคิดที่ตกผลึกจากงานวิจัยผ่านหน้ากระดาษ แม้เขาไม่เข้าร่วมวงสภาปฏิรูปการเมือง แต่เขาได้วางวิธีพูดคุยแบบสันติวิธีอย่างน่าสนใจ

- สภาปฏิรูปการเมืองช่วยให้เกิดความปรองดองได้ไหม

ไม่ทราบว่านายกฯอยากเห็นอนาคตของสภาปฏิรูปการเมืองเป็นอะไร เท่าที่ฟังบอกว่าจะให้ใครต่อใครเข้ามา มีอะไรจะได้แลกเปลี่ยนกัน แต่การพยายามให้มีทุกฝ่ายในสังคมที่แยกขั้ว นั่นไม่ใช่เรื่องง่าย แล้วเราเริ่มเห็นว่าคนจำนวนหนึ่งเข้ามา แต่คนอีกจำนวนหนึ่งไม่ยอมเข้ามา เรื่องสำคัญไม่ใช่คนที่มา แต่เป็นคนที่ไม่ยอมมา ว่าจะทำอย่างไรถึงจะมีสะพานสร้างไปสู่คนเหล่านั้น เพราะถ้าไม่มีมุมมองจากคนเหล่านั้น มันก็จะเป็นที่ประชุมของคนที่มีความเห็นคล้ายกัน

- วิธีที่จะนำคนที่ไม่ยอมมา เปลี่ยนใจมาเข้าร่วมสภาปฏิรูปได้ต้องทำอย่างไร

มันเริ่มได้หลายวิธี วิธีหนึ่งคือ ทำอย่างไรถึงมองปัญหาจากมุมของเขา ในการศึกษาวิจัยด้านความขัดแย้งจะอธิบายเสมอว่า สิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องทำ คือ มองเรื่อง ๆ เดียวกัน แต่อย่ามองในมุมมองของตัว ต้องมองมุมของอีกฝ่าย เราก็จะเห็นว่าเรื่องนี้ทำไมถึงสำคัญขนาดนี้กับเขา ทำไมเขาถึงรู้สึกว่าจะเป็นจะตาย

- คิดว่านายกฯมองจากมุมมองของฝ่ายตรงข้ามไหม

ถ้าคิดจากมุมของรัฐบาล คิดว่ารัฐบาลคงหาวิธี และวิธีที่รัฐบาลอยากทำ คือ อยากใช้วิธีที่ไม่อยากให้มีฝ่ายใดเสีย บัวไม่ช้ำ น้ำไม่ขุ่น สามารถเชิญฝ่ายต่าง ๆ เข้ามาพูดคุยกันได้ก็เข้ามาก่อน ส่วนจะคุยได้ผลไหมก็อีกเรื่องหนึ่ง วิธีนี้ก็เป็นวิธีหนึ่งที่เขาคิดออก ไปเชิญคนสำคัญของชาติบ้านเมืองเข้ามา ไม่ว่าคุณบรรหาร (ศิลปอาชา) พล.อ.ชวลิต (ยงใจยุทธ) คุณอุทัย (พิมพ์ใจชน) คนเหล่านั้นเขาเห็นดีเห็นงามด้วยก็มา

- การเชิญบุคคลที่มีชื่อเสียงร่วมเป็นคณะกรรมการ สามารถช่วยทำให้ปรองดองเกิดขึ้นไหม

ท่านเหล่านี้คงมีความเห็นอะไรของท่านอยู่ แต่ช่วยได้จริงไหม...มันตอบยาก คือแน่นอนคนต้องมองว่านี่เป็นวิธีการทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยและรัฐบาล แต่เชื่อในที่สุดว่าคุยกันดีกว่าตีกัน แต่มันต้องมีวิธีการคุยเหมือนกัน บางเรื่องสำคัญ ๆ ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะพูดในที่สาธารณะ

- ปัญหาความขัดแย้งขณะนี้ ควรคุยในที่ลับหรือที่แจ้งจะเหมาะสมที่สุด

ควรจะใช้ทั้งสองอย่าง แต่ควรดูเป็นเรื่อง ๆ ไป ว่าอะไรควรนั่งคุยกันบนโต๊ะกาแฟตอนเช้าที่ไม่มีนักข่าวอยู่ เหตุผลคือความขัดแย้งบางเรื่องไม่ใช่แค่ประเด็นของเรื่อง สมมติญาติพี่น้องทะเลาะกันเรื่องมรดก บางทีนำเรื่องไปถึงศาล นำเรื่องไปลงหนังสือพิมพ์ พอเป็นอย่างนั้นสิ่งที่เสียหายไปไม่ใช่ใครจะได้ หรือใครจะชนะ แต่คือความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ที่ต้องซ่อม ซึ่งมันไม่ได้ซ่อมในที่สาธารณะ มันอาจจะค่อย ๆ ซ่อมในที่รโหฐาน หลังจากนั้นค่อยมาที่สาธารณะ แล้วจับมือกัน ถ่ายรูปกัน จริง ๆ ในการเจรจาระหว่างประเทศและเจรจาความเมืองมันมีเวทีต้องคุยกันก่อน มีคณะทำงานละเอียดรอบคอบ พอสุดท้ายค่อยบอกว่าเราตกลง เราจะเจรจากันแบบนี้นะ มันแบบนี้ทั้งนั้น

- ถ้าโฟกัสตัวคู่ขัดแย้งอย่างคุณทักษิณ ชินวัตร และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่ปรากฏผ่านคลิปเสียงคล้ายนักการเมือง คิดว่าความขัดแย้งจะจบไหม

เรากำลังอธิบายว่าความขัดแย้งนี้เป็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำ เป็นความขัดแย้งของคุณทักษิณกับคุณเปรม แต่ถ้าไม่ใช่ล่ะ คือผมมองว่าความขัดแย้งของบุคคลมันสัมพันธ์อยู่กับความขัดแย้งแบบอื่น ๆ ซึ่งฝังอยู่ในโครงสร้าง การดีกันในระดับบุคคลช่วยไหม...ช่วย แต่ทำให้ความขัดแย้งในโครงสร้างหายไปไหม...ไม่

- 6-7 ปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งไม่ใช่เฉพาะกลุ่ม แต่เป็นความขัดแย้งลึกถึงโครงสร้าง

จึงไม่เห็นด้วยว่าทั้งหมดเป็นปัญหาของคุณทักษิณ หรือของคุณอภิสิทธิ์ ผมเห็นว่าคุณทักษิณหรือคุณอภิสิทธิ์อยู่ในบริบททางสังคมการเมือง และบริบททางสังคมการเมืองมีพลังสังคมการเมืองหลายอย่าง เช่น พลังเศรษฐกิจ พลังวัฒนธรรม ซึ่งเวลานี้สังคมกำลังเปลี่ยน และคนแต่ละคนอาจเป็นตัวแทนของพลัง 2 อย่างซึ่งต่างกัน พวกนั้นจำเป็นต้องหาวิธีอยู่กับมันให้ได้ ว่าเรากำลังอยู่ในสังคมที่เปลี่ยนแปลง

- ความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันมีอะไรบ้าง 

โจทย์ของนักวิจัยสันติภาพที่น่าสนใจ คือ อารมณ์ในสังคมไทย ซึ่งน่าสนใจ 2 อัน คือ อารมณ์ขัน กับความเกลียดชัง ซึ่งอารมณ์ขันเป็นพลังทางการเมืองได้จากกลุ่มบางกลุ่มที่ใช้อารมณ์ขันเป็นเครื่องมือ มีการใช้ในต่างประเทศ เช่น เซอร์เบีย ที่ต่อสู้กับเผด็จการสันติวิธีผ่านอารมณ์ขัน ส่วนด้านที่เป็นปัญหาคือความเกลียดชังที่เป็นปัญหาใหญ่ อาจนำไปสู่ความรุนแรงได้ง่ายที่สุด

- หลังจากวิจัยความขัดแย้งในปัจจุบัน อะไรที่เป็นอุปสรรคขัดขวางความปรองดองมากที่สุด

การปรองดองที่เป็นภาพใหญ่มันยาก โดยเฉพาะการปรองดองที่เกิดหลังจากความรุนแรงไปแล้วมันเลยยิ่งยาก สังคมไทยตั้งแต่ปี 2549 ถึงปัจจุบัน มันเกิดเหตุสำคัญ 2 อย่าง คือ การยึดอำนาจ 19 กันยา มันทำให้สังคมฉีกออกจากกัน ผลของมันทำให้ความมั่นใจในสังคมการเมืองไทยมันแยกออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกยังเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งเป็นเรื่องสำคัญ อีกฝ่ายหนึ่งไม่...การยอมรับการรัฐประหารคือการสูญเสียศรัทธาที่มีต่อระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งเป็นฐาน แต่นั่นยังพอพูดกันได้อยู่บ้างในบางเรื่อง

แต่พอถึงการชุมนุมปี 2553 เกิดความรุนแรงบนท้องถนน ต่อสู้กัน นำไปสู่การเผาพื้นที่บางพื้นที่ มีผู้เสียชีวิต 90 คน บาดเจ็บ 1,700 คน พอทำอย่างนี้จึงทำให้ความปรองดองมันยาก รอยแผลแบบนี้มันจัดการลำบาก รอยแผลแบบนี้มันมีผู้เสียหายที่จะอยากเห็นความจริง อยากได้ความยุติธรรม แต่ทั้งความจริงและความยุติธรรมซึ่งเป็นเงื่อนไขของการปรองดองมันมีต้นทุนต่อการปรองดองสูง คือโจทย์อันหนึ่งที่เรากำลังเจออยู่ในสังคมไทย

- จะแก้โจทย์ที่ยากได้อย่างไร

คงต้องไปดูตัวอย่างจากที่ต่าง ๆ บางเรื่องเชื่อว่าความจริงรักษาได้ทุกอย่าง บางทีเขาก็คิดว่าการลืมสำคัญ แม้กระทั่งตัวอย่างของประเทศแอฟริกาใต้ที่มักเอ่ยถึงเสมอ คือ คณะกรรมการสัจจะและการปรองดอง คนที่เป็นคนทำเรื่องนี้มี 2-3 คน คือ เนลสัน เมนเดลล่า, เดสมอนด์ ตูตู, เอฟ ดับบลิว เดอ เคลิร์ก ซึ่งเมลเดลล่าบอกว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้บางเรื่องมันต้องลืมบ้าง ผมตอบไม่ได้ว่าต้องทำอะไร แต่บอกเพียงว่ามีเงื่อนไขพวกนี้อยู่ เวลาเราคิดเรื่องปรองดองมันไม่ได้ไป Track เดียว

- แต่เมื่อศาลอาญาชี้ว่าคดี 6 ศพวัดปทุมวนาราม เป็นการถูกยิงจากเจ้าหน้าที่ ฝ่ายคนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทยเรียกร้องความรับผิดชอบจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ แต่อีกฝ่ายก็บอกว่าเรื่องทั้งหมดมีคุณทักษิณและคนเสื้อแดงเป็นต้นเหตุ อย่างนี้จะหันหน้ามาแล้วลืมกันได้อย่างไร 

โจทย์ใหญ่ของสังคมไทยมันเลยกลายเป็นว่าเราจะอยู่กับความจริงที่เกี่ยวข้องกับตัวเราเองอย่างไร แต่ความจริงที่มีอยู่ในสังคมไทยมี 2 ชั้นซ้อนอยู่เสมอ 1.ความจริงของเรื่องที่เราพูดถึง คือ ใครเป็นคนยิงที่วัดปทุมฯ อันนี้เป็นข้อเท็จจริง แต่ 2.สังคมไทยเวลาที่มีความรุนแรงเกิดขึ้น คนผิดชี้ตัวได้ว่าใครคนยิงคนสั่ง แต่สังคมไทยทั้งหมดได้ทำเพียงพอหรือเปล่าที่จะทำไม่ให้ความรุนแรงนั้นเกิดขึ้น ถ้าคำตอบคือ ทุกคนยังไม่ได้ทำอย่างเพียงพอที่จะป้องกันไม่ให้ความรุนแรงเกิดขึ้น เราเองก็คงต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วยในความรุนแรงที่เกิดขึ้น ไม่ใช่คนพวกนั้นเท่านั้น

เหมือนกับบอกว่า ในที่สุดมีคนยิง แต่ก่อนคนยิงจะเหนี่ยวไกก็มีผู้บังคับบัญชา ก่อนมีผู้บังคับบัญชาต้องมีการสั่ง ก่อนมีการสั่งต้องมีกระบวนการบางอย่าง ก่อนมีกระบวนการบางอย่างต้องมีการสร้างความเกลียดชัง ถ้าพูดอย่างนี้เราอาจเห็นมากขึ้นไหมว่า ไม่ใช่ฝั่งนู้นที่ผิดคนเดียว เราก็มีส่วนผิดด้วยแม้จะอยู่ไกลก็ตาม

- เราจะจัดสมดุลระหว่างผู้ที่เป็นเหยื่อ กับผู้ที่สั่งการตามกฎหมายอย่างไรให้ไปด้วยกันได้

วิธีคิดของผม ปืนทุกกระบอกเวลามันยิงมีเหยื่อ 2 ด้าน ด้านหนึ่งอยู่ที่ด้ามปืน อีกด้านหนึ่งอยู่ที่ปลายกระบอกปืน คนเรามักจะเห็นเหยื่อที่ปลายกระบอกปืน แต่เรามักไม่เห็นว่าคนที่ยิงเป็นเหยื่อเหมือนกัน ใครก็ตามที่เหนี่ยวไกในปี 2553 คนเหล่านั้นผมคิดว่าเขาก็ถูกหล่อหลอมมาว่า

อีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ร้าย ทำร้ายบ้านเมือง ในแง่นั้นเขาจึงเป็นเหยื่อ ดังนั้น หนึ่งในที่วิจัยจึงมุ่งไปที่ความเกลียดชังมาจากไหน กลไกอะไรที่ทำ ของพวกนี้ต่างหากที่สังคมไทยต้องเข้าใจ

- ทุกวันนี้วาทกรรมการสร้างความเกลียดชังก็ยังมีจากพรรคการเมือง 2 พรรค แม้ด้านหนึ่งรัฐบาลประกาศปรองดอง แต่ด้านหนึ่งก็ยังสร้างความเกลียดชังตลอดเวลา

คือเขาอาจทำไปโดยยังไม่ได้เห็นชัดเจนว่าความเกลียดชังมีประสิทธิภาพ การผลิตอารมณ์มันจึงส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการเมือง ฉะนั้น คนที่รู้ดีที่สุดในเรื่องนี้คือพวกนักการเมือง เพราะสิ่งที่เขาขับขี่มันไม่ใช่เรื่องเหตุผล เรื่องที่เป็นรูปธรรมเท่านั้น แต่เป็นเรื่องอารมณ์ของผู้คน

- ถ้าเตือนนักการเมืองในฐานะที่เป็นผู้สร้างวาทกรรมการเกลียดชังได้จะบอกว่าอะไร

ก็จะตอบว่าความเกลียดชังมันเป็นยาพิษ เพราะยาพิษนี้ออกฤทธิ์ช้า เวลามันออกฤทธิ์มันรักษาลำบาก เพราะความเกลียดชังบางอย่างพอลงไปลึกแล้วมันก่อรูปเป็นอคติ แล้วเราก็มองโลกเป็นอีกแบบหนึ่ง โลกที่เรามองเห็นมันอันตรายต่ออนาคต มันทำร้ายอดีต และมันแย่งชิงปัจจุบันไปจากเรา

- ความปรองดองจะเกิดขึ้นอีกนานไหม

ตอบไม่ได้ มันยาก (หัวเราะ)

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////////////////

นักวิชาการอสังหาฯชี้ 6 เดือน หลังตลาดหดตัว !!??

นักวิชาการด้านอสังหาฯ ชี้ ตลาดครึ่งปีหลัง 2556 ชะลอตัว เหตุครึ่งปีแรกมีการพัฒนาคอนโดมิเนียมมากจนเกินโอเวอร์ซัพพลาย เชื่อผู้ประกอบการแข่งขันรุนแรง คาดสิ้นปีนี้มีซัพพลายเกิดใหม่ทั้งแนวราบ-แนวสูงรวมกันกว่า 200,000 ยูนิต
   
นายมานพ พงศทัต ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงแนวโน้มและทิศทางตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 ว่า มีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากในช่วงครึ่งแรกของปีนี้มีการลงทุนพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมเป็นจำนวนมากส่งผลให้เกิดภาวะโอเวอร์ซัพพลายในตลาด ทั้งในพื้นที่กลางเมือง และจังหวัดหัวเมืองท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต โดยตัวแปรสำคัญที่จะส่งผลตลาดอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัว คือ ปัญหาการเมือง การเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน การหดตัวของจีดีพีในประเทศ และผลกระทบจากการพิจารณายกเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ (QE 3)
   
ปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทำให้เกิดการชะลอการตัดสินใจซื้อออกไปก่อน ขณะเดียวกันในส่วนของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เองก็จะชะลอแผนการขยายการลงทุนออกไป และหันมาเร่งระบายสต็อกในมือออกไป เพื่อป้องกันปัญหาต้นทุนดอกเบี้ยที่จะตามมาภายหลัง ในปีนี้คาดว่าจะมีซัพพลายใหม่ทั้งแนวราบและแนวสูงเข้าสู่ตลาดทั่วประเทศประมาณ 200,000 ยูนิต  โดยกระจายอยู่ใน กทม.และปริมณฑล ประมาณ 120,000 ยูนิต ส่วนที่เหลือกระจายอยู่ในหัวเมืองต่างจังหวัด ทั้งนี้คาดว่าซัพพลายสะสมที่ตกค้างในตลาดและซัพพลายเกิดใหม่ในปีนี้จะต้องใช้ระยะเวลาในการระบายออกนานกว่า 1-2 ปี” นายมานพ กล่าว

ส่วนของกลุ่มผู้บริโภค แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ 1.กลุ่มผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง ยังมีการขยายตัวขยายตัวที่ระดับ7-8% หรือมีการซื้อเพื่ออยู่ประมาณ 70,000-80,000 ยูนิต, 2.กลุ่มผู้ซื้อเพื่อการลงทุน มีการขยายตัวสูงมากขึ้น เพื่อรองรับการขยายตัวของดีมานด์ห้องเช่าในอนาคต ซึ่งมีลูกค้าหลักเป็นคนทำงานรุ่นใหม่ และกลุ่มลูกค้าต่างชาติ และ 3.กลุ่มผู้ซื้อเพื่อเก็งกำไร ซึ่งจะลดลงอย่างมากเนื่องจากซัพพลายในตลาดยังค้างสต็อกอยู่จำนวนมาก.

ที่มา.ไทยโพสต์
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

กรณี : เปปทีน !!??

เนื่องจากมีสมาชิกแพทยสภาจำนวนมากมายังแพทยสภา เกี่ยวกับโฆษณาเครื่องดื่มบำรุงสมองผลิตภัณฑ์ภายใต้ชื่อ เปปทีน ผ่านทางสื่อวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ในโครงการเตรียมสมองพร้อมสอบ PEPTIEN GENIUS (PEPTIEN GENIUS GENERATION) และอีกหลายโครงการโดยมีการกล่าวถึงความต้องการของผู้ที่จะเข้าเรียนและแพทย์เฉพาะทางสาขาต่างๆ ซึ่งเป็นที่สนใจของสังคม ซึ่งแพทยสภา อำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 มาตรา 7(6) กำหนดให้เป็นตัวแทนผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมในประเทศไทย จึงได้ทำหนังสือปรึกษาหารือกับเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ว่าการโฆษณาผลิตภัณฑ์ดังกล่าว อาจมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของวิชาชีพแพทย์ เพื่อหาแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม และป้องกันปัญหาที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อประชาชน

ซึ่งต่อมาสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทยในพระอุปถัมภ์ฯ ได้ยื่นหนังสือถึงประธานกรรมการ บริษัทโอสถสภา จำกัด (คุณรัตน์ โอสถานุเคราะห์) ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มดังกล่าว จากการที่มีนิสิตนักศึกษาแพทย์รับหน้าที่เป็นตัวแทนโฆษณาให้แก่ผลิตภัณฑ์เปปทีนผ่านสื่อต่างๆ ก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่เหมาะสมต่อนิสิตนักศึกษาแพทย์ไทย และต่อสถาบันแพทย์ในสังกัดของนิสิตนักศึกษาดังกล่าว ซึ่งขัดต่อจรรยาบรรณนิสิตนักศึกษาแพทย์ไทย ในหมวดข้อพึงปฏิบัติของนิสิตนักศึกษาแพทย์โดยทั่วไป ข้อที่ 1.6 ว่า “ละเว้นการรับผลประโยชน์หรือสิ่งตอบแทนใดๆ ที่มีความเกี่ยวข้องหรืออาจมีผลกระทบที่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียหรือนำไปสู่ความไม่เหมาะสมต่อความเป็นนิสิตนักศึกษาแพทย์ องค์กรนิสิตนักศึกษาแพทย์ สถาบันแพทย์ และต่อวิชาชีพเวชกรรมหรือจรรยาบรรณแพทย์” โดยขอให้งดเว้นการนำนิสิตนักศึกษาแพทย์ไปเป็นพรีเซ็นเตอร์โฆษณาเครื่องดื่มดังกล่าว

ต่อมาเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ทำหนังสือถึงบริษัท โอสถสภาฯ เพื่อขอความร่วมมือให้งดแพร่ภาพการโฆษณาเครื่องดื่ม “เปปทีน”  โดยระบุว่า โฆษณาดังกล่าวอาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อผู้บริโภคได้ ทาง สคบ. จึงได้หารือเรื่องดังกล่าวร่วมกันแพทยสภาและสำนักงาน อย. โดยพบประเด็นการโฆษณาที่อาจจะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด คือ

1.การโฆษณาเกี่ยวกับสรรพคุณของเครื่องดื่มที่มีผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานสมอง เช่น ทำให้สมองปลอดโปร่ง ช่วยจัดระบบความจำ เติมความรู้ที่ขาด รวมทั้งการสื่อให้เข้าใจว่าเมื่อดื่มแล้วจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ เช่น คณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์

2.การโฆษณาที่สื่อให้เข้าใจว่าเมื่อเข้าร่วมโครงการเตรียมสมองพร้อมสอบจะสอบติดทั่วประเทศ

3.ความเหมาะสมของการนำนักศึกษาที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ มาโฆษณา โดยไม่ได้รับอนุญาตจากมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง

4.การสื่อให้เข้าใจว่าหากเข้าร่วมโครงการเตรียมสมองพร้อมสอบจะทำให้ได้เป็นแพทย์เกี่ยวกับสมองหรือแพทย์เกี่ยวกับตา ซึ่งการสอบเข้ามหาวิทยาลัยดังกล่าวเป็นเพียงสอบเข้าเรียนต่อในระดับปริญญาตรีเท่านั้น การที่จะเป็นแพทย์ซึ่งเชี่ยวชาญเกี่ยวกับสมองหรือตา หรืออื่นๆ จะต้องเรียนต่อโดยสอบเข้าเฉพาะด้านที่สูงกว่าปริญญาตรี และการเข้ามหาวิทยาลัยตามปกติ

ต่อมา บริษัท โอสถสภา จำกัด ได้ออกข่าวประชาสัมพันธ์ระบุว่านายประธาน ไชยประสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท โอสถสภาฯ ระบุว่า บริษัทยินดีให้ความร่วมมือและระงับแพร่ภาพการโฆษณาเครื่องดื่ม “เปปทีน” ที่มีนิสิตนักศึกษาแพทย์อยู่ในโฆษณาในประเด็นดังกล่าว รวมทั้งประเด็นอื่นๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อผู้บริโภคแล้วนั้น ในนามของแพทยสภาขอขอบคุณ บริษัท โอสถสภา จำกัด ที่ได้ถอนโฆษณาเครื่องดื่มเปปทีนออกจากสื่อโฆษณาต่างๆ เพื่อเป็นการแสดงเจตนาของบริษัท

ในขณะนี้แพทยสภาได้ตั้งอนุกรรมการคุ้มครองประชาชนจากการประกอบวิชาชีพเวชกรรม การเสริมสวยและการโฆษณา โดยมอบให้เลขาธิการแพทยสภาเป็นประธาน โดยมีหน้าที่เตือนประชาชน ให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประชาชน ให้ข้อสังเกตและทางเลือกแก่ประชาชน ตลอดจนควบคุมการประกอบวิชาชีพที่มีความเสี่ยงไม่น่าเชื่อถือ ส่งเสริมการประกอบวิชาชีพให้มีมาตรฐานเพิ่มขึ้น โดยผ่านการประชุม สัมมนา ประชาสัมพันธ์ ออกประกาศ ข้อบังคับของแพทยสภา เห็นเนื้องานแล้วเหนื่อยแน่คงต้องมีองค์ประกอบของอนุกรรมการที่เหมาะสม ต้องมีดุลพินิจที่แม่นยำมากและไม่ขัดต่อกฎหมาย ไม่จำกัดสิทธิโดยไม่จำเป็น ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองประชาชน ผมยินดีรับงานนี้ครับ

ด้วยความปรารถนาดีจาก

นายแพทย์สัมพันธ์ คมฤทธิ์

เลขาธิการแพทยสภา

ที่มา.นสพ.แนวหน้า
//////////////////////////////////////////////////////////////

วันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2556

Fed ถอนมาตรการ QE สำคัญต่อเศรษฐกิจอาเซียน อย่างไร!!??

คอลัมน์ มายาการเงิน โดย สันติธาร เสถียรไทย

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้รับเกียรติจากสำนักงานข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) ให้ไปบรรยายในงานเอ็กซ์โปสำหรับผู้จัดการกองทุนที่จัดในกรุงเทพฯ หัวข้อเรื่อง "อาเซียนจะสามารถพึ่งพากำลังเศรษฐกิจภายในประเทศของตัวเองไปนานแค่ไหน" หรือ "Riding on Domestic Demand : How far can ASEAN go ?" ผมจึงอยากนำส่วนหนึ่งของเรื่องที่ถกกันวันนั้นมาคุยกันที่นี่ครับ

หลังจากพายุการขายกระหน่ำโดยนักลงทุนต่างชาติในตลาดเอเชีย ที่ทำให้ทั้งหุ้น พันธบัตร และเงินตราติดลบตัวแดงค่อย ๆ แผ่วลง คนในแวดวงการเงินอยากจะมองว่านั่นเป็น ฝันร้าย ที่เมื่อผ่านไปแล้ว ทุกอย่างจะกลับคืนสู่สภาพปกติอีกครั้ง

เราทุกคนคงอยากจะคิดว่าทั้งหมดเป็นเพียงฝันร้ายที่ผ่านไปแล้ว และนักลงทุนต่างชาตินั้นตื่นตูมเกินไปกับ ความเสี่ยง ที่ธนาคารกลางของอเมริกา หรือ Fed จะถอนมาตรการ Quantitative Easing (QE) หรือแม้แต่ขึ้นดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้

แต่ผมว่าสิ่งที่เราควรจะถามตัวเองมากกว่า คือ สภาวะ "ปกติ" ของตลาดการเงินโลกจะเป็น "เหมือนเดิม" ที่เราคุ้นเคยหรือเปล่า

ที่ผ่านมาสภาวะ "เงินง่าย" (Easy Money) ที่เกิดขึ้นจากนโยบาย QE กับสภาวะดอกเบี้ยต่ำในเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่นี้ ทำให้ใคร ๆ ก็อยากลงทุนในเอเชีย โดยเฉพาะอาเซียน ส่งผลทำให้การระดมทุนทั้งภาครัฐและเอกชนนั้นง่ายมาก จะ IPO หุ้นอะไรมา นักลงทุนก็อยากซื้อ จะออกพันธบัตรมาเท่าไร นักลงทุนต่างชาติก็พร้อมซื้อโดยไม่ขอดอกเบี้ยสูงด้วย จนพันธบัตรรัฐบาลของมาเลเซียที่ออกมาทั้งหมดใน 5 ปีที่ผ่านมาถูกซื้อโดยนักลงทุนต่างชาติทั้งหมด

ส่งผลให้สัดส่วนของพันธบัตรรัฐบาลที่ต่างชาติเป็นเจ้าของสูงขึ้นถึง 49% (จากประมาณ 10% เมื่อ 5 ปีที่แล้ว) ประเทศไทยเราเองก็ไม่เบา เพราะสัดส่วนที่ว่านี้เพิ่มขึ้นจาก 2%-3% มาเป็นเกือบ 20% (เฉพาะพันธบัตรรัฐบาล ไม่รวมตราสารของ ธปท.)

ตอนนี้นักลงทุนทั่วโลกเรียกว่า ได้เห็น "หนังตัวอย่าง" ไปแล้ว ว่าเมื่อวันที่สภาพเงินง่ายนั้นจบลง และมาถึงผลกระทบต่อตลาดการเงินนั้นน่ากลัวแค่ไหน ?

คงไม่แปลก หากต่อจากนี้ไปเราจะเห็นนักลงทุนต่างชาติระมัดระวังมากขึ้นในการลงทุน เงินที่เคยเข้ามาง่ายอาจไม่ง่ายดังก่อน หรืออาจเข้ามาช้า แต่ออกไปเร็วกว่าเดิม ทำให้ตลาดและค่าเงินมีความผันผวนมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

จุดจบของ QE แปลว่าอะไรสำหรับเศรษฐกิจอาเซียน

คำถามทางเศรษฐกิจที่สำคัญก็คือ ที่ผ่านมา QE ได้ช่วยการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจต่าง ๆ ในอาเซียนอย่างไรบ้าง ? คำตอบสั้น ๆ คือ สภาวะเงินง่าย (Easy Money) นั้น ทำให้เศรษฐกิจต่าง ๆ นั้น "เติบโตอย่างขาดความสมดุลได้ง่ายขึ้น"

โดยผ่านสองช่องทาง ได้แก่...

ช่องทางแรก QE ทำให้ประเทศต่าง ๆ หาเงินมาไฟแนนซ์ สภาวะขาดดุลต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น

ตัวอย่าง การที่เงินทุนไหลเวียนเข้ามาเอเชียในปริมาณมากในสองสามปีที่ผ่านมา ทำให้ประเทศที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account Deficit) อยู่นั้น หาเงินมาชดเชยและอุดการขาดดุลได้โดยง่าย ไม่ต้องผจญกับแรงกดดันทางลบต่ออัตราแลกเปลี่ยนที่มักจะเกิดขึ้นในประเทศเหล่านี้ เช่นเดียวที่เคยเกิดขึ้นกับประเทศไทยก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง

แต่ในสองเดือนนี้สถานการณ์นั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน เมื่อนักลงทุนตื่นตูมว่า QE จะหมดไป ประเทศที่มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างอินเดียและอินโดนีเซียนั้นไม่สามารถหาเงินตราต่างประเทศมาอุดรอยรั่วได้ง่ายเหมือนก่อนเพราะต่างชาติเทขายทั้งหุ้นและพันธบัตรรัฐบาล สร้างแรงกดดันต่อค่าเงินรูปีและรูเปียห์ จนธนาคารกลางต้องช่วยแทรกแซงโดยใช้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศไปหลายพันล้าน เพื่อไม่ให้สถานการณ์บานปลาย

ช่องทางที่สอง QE กดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศต่าง ๆ ในเอเชียให้ต่ำกว่าปกติ

รัฐบาลของหลายประเทศยังมีความเชื่อว่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างอเมริกากับในประเทศของตนนั้นเป็นปัจจัยสำคัญในการดูดเงินต่างประเทศเข้ามา ทำให้ค่าเงินแข็ง ส่งผลทำให้ผู้ส่งออกต้องเดือดร้อน และเงินที่เข้ามาอาจทำให้มีเม็ดเงินล้นตลาด เกิดสภาวะฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้น ไม่ว่าความเชื่อจะถูกหรือไม่ก็ตาม แนวคิดที่ค่อนข้างจะแพร่หลายนี้ได้ทำให้ธนาคารกลางหลายประเทศในเอเชียต้องกดดอกเบี้ยนโยบายไว้ให้ต่ำกว่าปกติและจะทำเช่นนี้แม้เศรษฐกิจและสินเชื่อจะโตได้ดีอยู่ และแม้นโยบายการคลังได้ทำหน้าที่ "เหยียบคันเร่ง" ทางเศรษฐกิจอยู่แล้วก็ตาม ในกลุ่มประเทศอาเซียนนั้น ที่จริงแล้วไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่เรียกว่าทุกประเทศ ยกเว้นมาเลเซีย ต่างมีการดำเนินนโยบายการเงินไปในแนวทางที่ว่านี้

ฟองสบู่กับหนี้ที่ถูก "ผลิตในประเทศ" (Home Made)

ที่เหมือนเป็นการประชดกันก็คือ มันกลายเป็นว่าการที่รัฐบาลของประเทศในเอเชียทั้งหลายนั้นมัวแต่ห่วงว่าเงินจากต่างประเทศจะไหลเข้ามามากจนเกินไปจนทำให้เกิดสภาวะฟองสบู่ในรูปแบบที่คล้ายกับเมื่อตอนวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง นี่เองที่กลับทำให้เกิด "สภาวะเงินง่ายในประเทศ" ที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะฟองสบู่และการก่อหนี้เกินตัวของภาคครัวเรือนและธุรกิจ เพราะเมื่อดอกเบี้ยยังคงต่ำอยู่นาน คนมีเงินก็อยากหาที่ลงทุนที่ให้ดอกเบี้ยสูงโดยพร้อมจะรับความเสี่ยง ในขณะที่คนขาดเงินก็กู้ได้สบายใจในอัตราดอกเบี้ยถูก โดยอาจลืมไปว่าสภาวะเงินง่ายไม่ได้อยู่กับเราตลอดไป เรียกได้ว่าปัญหาหนี้และฟองสบู่นั้นไม่ได้ถูกนำเข้า (Import) มาจากนอกประเทศ แต่เป็นการผลิตเองในประเทศ (Home Made)

ผลลัพธ์คือ สินเชื่อโตเร็วกว่า GDP อย่างต่อเนื่องเกือบจะทุกประเทศในอาเซียน ที่น่าเป็นห่วงคือ เงินและสินเชื่อเหล่านี้
ไม่ได้ไปสู่ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง ที่สร้างรายได้กำลังผลิตอย่างยั่งยืนให้ประเทศทั้งหมด แต่มักจะหลุดเข้าไปในภาคอสังหาฯเพื่อการเก็งกำไร หรือนำไปใช้ไฟแนนซ์การใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย จึงไม่แปลกเลยที่บางครั้งเราจะเห็นสินเชื่อยังโตได้ดี แม้ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงนั้นเริ่มชะลอตัวลงเรื่อย ๆ ซึ่งยิ่งทำให้น่าเป็นห่วง เพราะรายได้ของผู้กู้นั้นอาจลดลงในยามที่ภาระหนี้นั้นสูงกว่าเดิม

ขณะนี้เราเห็นมาเลเซียมีหนี้ภาคครัวเรือนสูงถึง 80% ของ GDP จนธนาคารกลางเขาเพิ่งออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อปรามการกู้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ประเทศไทยเองก็มีหนี้ครัวเรือนที่โตอย่างก้าวกระโดดมาในสองสามปีที่ผ่านมา จนมาอยู่ที่ระดับประมาณ 80% ของ GDP เช่นกัน

อาเซียนต้องระวังตัวอย่างไร เมื่อเราเริ่มนับถอยหลังไปสู่วันสุดท้ายของ QE

แม้จะบอกว่าน่าห่วง แต่จริง ๆ แล้วเศรษฐกิจทุกประเทศในอาเซียนนับว่ายังอยู่ห่างจาก "ความเสี่ยง" ที่จะเกิด "วิกฤตเศรษฐกิจ" อยู่พอสมควร ไม่ว่าจะดูจากอัตราส่วนกองทุนสำรองเงินตราต่อหนี้เงินสกุลต่างประเทศ สถานะเงินทุนของภาคธนาคารหรือการคลังก็อยู่ในเกณฑ์สอบผ่านกันหมด (อาจจะผ่านแบบคะแนนไม่ดีกันบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับน่าห่วง)

ที่สำคัญคือ ไม่ใช่ว่าพอคิดว่าวิกฤตยังไม่เกิด แล้วพากันนิ่งนอนใจ เราต้องไม่ลืมว่าการไม่เกิดวิกฤตไม่ได้แปลว่าเศรษฐกิจจะไปได้ดี ไม่มีปัญหา

จากการที่ผมมีโอกาสพูดคุย และให้คำปรึกษาแลกเปลี่ยนกับนักลงทุนต่างประเทศที่ลงทุนในเอเชีย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของผม สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้คือ นักลงทุนต่างประเทศต่อจากนี้คงให้ความสำคัญต่อความสมดุลทางเศรษฐกิจมหภาค และความเสถียรภาพทางการเงิน (Macroeconomic Balance and Financial Stability) มากกว่าแต่ก่อน

โดยคงจะดูปัจจัยชี้วัดความมั่นคงทางเศรษฐกิจที่กว้างขึ้นไปกว่าแค่อัตราเงินเฟ้อ รวมไปถึงอัตราการเจริญเติบโตและอัตราส่วนหนี้ของภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ต่อ GDP ทิศทางของบัญชีเดินสะพัด ภาระหนี้การคลังทั้งทางตรงและทางอ้อม พฤติกรรมการปล่อยกู้และจัดทุนสำรองของธนาคาร เป็นต้น ซึ่งแปลว่าต่อไปนี้คงไม่ง่ายนักที่รัฐบาลจะดึงดูดนักลงทุนมีคุณภาพเข้ามาด้วยการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นให้ตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP growth) ดูดีในระยะสั้น

ดังนั้น บทเรียนที่สำคัญของรัฐบาลในอาเซียน คือ ต้องพยายามต่อต้านความต้องการที่จะหยิบนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมหภาคมาอัดฉีดเหยียบคันเร่งเพิ่ม เพียงเพื่อให้ตัวเลขดูดีในระยะสั้น นโยบายเศรษฐกิจมหภาคต้องหันมาเน้นทำหน้าดูแล "เสถียรภาพ" และ "สมดุล" ทางเศรษฐกิจ แม้อัตราการเจริญเติบโตจะชะลอตัวลงบ้าง และในระยะสั้นตลาดหุ้นอาจไม่หวือหวาเหมือนตอนต้นปีนี้ก็ตาม

ทั้งนี้ เราต้องดู อินเดีย กับ อินโดนีเซียที่กำลังต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อพยุง "ค่าเงิน" ในยามที่การขยายตัวของเศรษฐกิจนั้นกำลังชะลอตัวลงอย่างมากอยู่แล้ว เป็นเครื่องเตือนใจว่า แม้ทั้งสองประเทศจะไม่ล้มหนักถึงขั้นวิกฤต แต่การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่เน้นเหยียบคันเร่งมากเกินไปบนถนนที่ถูก "หล่อลื่นด้วย QE" จนลืมการรักษาสมดุลการทรงตัวนั้นอาจทำให้เจ็บตัวหนักได้

และทั้งหมดนี้เกิดในยามที่ QE ยังไม่ได้ หมดไปด้วยซ้ำ ถ้าประเทศในอาเซียนไม่หันมาสนใจเรื่องความสมดุลทางเศรษฐกิจมหภาคเหล่านี้ จนถึงวันที่ QE หมดไปจริง ๆ หรือแย่กว่านั้นคือวันที่ Fed ขึ้นดอกเบี้ย ทำให้ดอกเบี้ยระยะสั้นและระยะยาวของโลกนั้นปรับตัวสูงขึ้น

ลองนึกดูครับว่าเศรษฐกิจเหล่านี้จะล้มหนักแค่ไหน

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////////////////

เกม 2 ขา เพื่อไทย อุ้มพ.ร.บ.นิรโทษกรรม กระชับพื้นที่ ประชาธิปัตย์ !!??

แม้จะผ่านยกแรกไปแล้วกับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดจากการชุมนุมทางการเมือง พ.ศ.... ฉบับของ นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากทั้งพรรคประชาธิปัตย์และมวลชนหลายกลุ่มจนมีการรวมตัวชุมนุมเพื่อต่อต้าน

สถานการณ์การเมืองที่เต็มไปด้วยความอ่อนไหวและสุ่มเสี่ยงจะเกิดการเผชิญหน้าในขณะนี้ ทำให้การก้าวย่างของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยต้องระมัดระวังทุกฝีก้าว ยุทธศาสตร์ที่แกนนำเพื่อไทยวางไว้ จึงจำเป็นต้องรับมือแบบ "คู่ขนาน" ทั้งศึกในและศึกนอก หลังจากประกาศเดินหน้าพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ จนถึงวาระ 3 ซึ่งจะกลายเป็นจุดเสี่ยงให้ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลลุกฮือมารวมกันต่อต้านครั้งใหญ่อีกระลอกหนึ่ง ไม่นับมือที่สามที่คอยเติมเชื้อไฟให้สถานการณ์เพิ่มความรุนแรงขึ้นจนบานปลายไปสู่การเผชิญหน้า

ทั้งนี้ ไพ่ใบสำคัญที่รัฐบาลหยิบมาใช้ก็คือ การตั้ง "เวทีปฏิรูปการเมือง" เพื่อหวังถอดสลักระเบิดเวลาจากกลุ่มต่อต้านต่างๆ โดยทาบทามบุคคลสำคัญทางการเมืองให้เข้าร่วมและกระชับพื้นที่ประชาธิปัตย์

ล่าสุด นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เร่งผลักดันผ่านสากล โดยทาบทาม นายโทนี แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ และ นายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ซึ่งได้รับยืนยันจากนายกฯว่าทั้งคู่ตอบรับเทียบเชิญร่วมสร้างความปรองดองในประเทศไทยแล้ว

ขณะเดียวกัน ทีมยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยทั้ง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค เห็นตรงกันว่าเวทีปฏิรูปการเมือง จะเป็นทางออกและลดกระแสร้อนแรงตลอดจนความขัดแย้งทางการเมืองที่รอวันปะทุได้ หลังจากทุกฝ่ายตอบรับแล้ว

หากทุกอย่างราบรื่น ทุกฝ่ายยินยอม ไม่แน่ว่าอาจเห็นชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ร่วมด้วยก็เป็นได้

ส่วนเกมในสภา พรรคเพื่อไทยยังยืนยุทธศาสตร์ "รัฐบาลไม่เกี่ยว" โดยเฉพาะนายกฯยิ่งลักษณ์ ถูกกันออกจากเกมนี้ให้อยู่ในจุด "เซฟโซน" ปล่อยให้การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯเป็นเรื่องของสภา เพื่อไม่ให้ตกเป็นเป้าโจมตีของพรรคประชาธิปัตย์ หลังออกมาชูประเด็นข้อกล่าวหาว่ามีวาระซ่อนเร้นเพื่อช่วยพี่ชาย คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเข้าข่ายการขัดกันของผลประโยชน์ส่วนตัวกับผลประโยชน์ส่วนรวม หรือ conflict of interests

ประเด็นนี้ยิ่งชัดเจนมากขึ้นเมื่อเปิดดูรายชื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ 35 คน มี นิพนธ์ ฮะกีมี รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา นายวิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ อธิบดีกรมบังคับคดี และ "บิ๊กบัง" พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร เมื่อ19 ก.ย.2549 เข้าไปนั่งในโควต้ารัฐบาล แถมยังวางตัว "บิ๊กบัง" เป็นประธานคณะกรรมาธิการฯเองด้วย เพื่อให้เกิดภาพความปรองดอง

และบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ตามยุทธศาสตร์ 2 ขาของพรรคเพื่อไทยในการซื้อใจมวลชนคนเสื้อแดงให้เป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กในการปกป้องรัฐบาลต่อไป ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็เผื่อช่องทางสำหรับให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับบ้านแบบเท่ๆ พร้อมบีบพื้นที่ทางการเมืองของฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาธิปัตย์ไปในตัว!

มท.1แจงดึง"แบลร์-โคฟี่"หวังเรียกเชื่อมั่น

สำหรับข่าวความเคลื่อนไหวทางการเมืองตลอดวานนี้ (10 ส.ค.) นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงแนวคิดการเชิญ นายโทนี แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ และ นายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการยูเอ็น เข้าร่วมเวทีปฏิรูปประเทศไทย ว่า ถือเป็นประโยชน์และเป็นวิสัยทัศน์ที่เปิดกว้างของนายกรัฐมนตรี เพราะจะสร้างความเชื่อมั่นได้เป็นอย่างดี เนื่องจากการคุยภายในประเทศอย่างเดียวไม่ให้ประเทศอื่นมีส่วนร่วมด้วยเลยคงไม่มีใครเชื่อมั่น พวกที่พูดว่าเป็นการชักศึกเข้าบ้าน ถือเป็นพวกผีที่กลัวความจริง กลัวโลกที่กำลังก้าวหน้าไป จึงพยายามฉุดรั้งไม่ให้ประเทศเดินไปข้างหน้า

นายจารุพงศ์ แสดงความเชื่อมั่นว่า เวทีนี้จะมีความเป็นรูปธรรม เพราะก่อนหน้านี้กระทรวงมหาดไทยได้จัดเวทีสานเสวนาหาทางออกประเทศไทย 108 เวทีขึ้นมา เพื่อหาทางทำให้ประเทศสงบสุข โดยเวทีดังกล่าวได้นำแนวทางที่สถาบันพระปกเกล้า คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) และคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับของ พล.อ.สนธิ ได้ทำการศึกษามาก่อนหน้านี้ มาเป็นหัวข้อในการพูดคุย

ทั้งนี้ การศึกษาของทั้ง 3 สถาบันมีความเห็นตรงกันว่า ประเทศไทยจะสงบได้ต้องมีการพูดคุยเจรจากัน และควรถามประชาชน จึงได้จัดเวที 108 เวทีขึ้นมา โดยรับฟังความเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วน ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 116,000 คน และได้บทสรุปออกมาว่าอยากเห็นบ้านเมืองปรองดองกัน อยากเห็นความสงบในบ้านเมือง ให้หันหน้าเข้ามาคุยกัน นายกฯจึงมองว่าเมื่อประชาชนได้คุยกันแล้ว ก็ควรเชิญพรรคการเมืองมาคุยกันด้วย และเชิญบุคคลสำคัญในต่างประเทศเข้ามาร่วม นี่คือความพยายามของรัฐบาลที่จะทำให้บ้านเมืองนี้สงบอย่างเป็นรูปธรรม

ปชป.ถล่มแค่ปาหี่-เผย "โคฟี่" เคยมาไทยแล้ว

ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธาน ส.ส.กรุงเทพมหานคร (กทม.) ของพรรค กล่าวเรื่องเดียวกันว่า เป็นความพยายามของรัฐบาลที่ต้องการสร้างความชอบธรรม โดยนำต่างชาติมาเล่นปาหี่ให้เกิดความเกี่ยวโยงไปสู่สภาปฏิรูปการเมือง ทั้งๆ ที่รัฐบาลควรมีความจริงใจโดยไม่มีความจำเป็นต้องให้ผู้นำต่างชาติเหล่านี้มาร่วม เพราะบางคนก็เคยเดินทางมาประเทศไทยแล้ว ทั้งยังได้เคยพูดถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในประเทศไทยไว้ ฉะนั้นถึงจะมาอีกครั้งก็คงพูดเหมือนเดิม

มีรายงานว่า รัฐบาลได้เชิญ นายแบลร์ นายอันนัน และ นายมาร์ตติ อาห์ติซารี อดีตประธานาธิบดีประเทศฟินแลนด์ ซึ่งมีผลงานโดดเด่นในเรื่องกระบวนการสร้างสันติภาพ เข้าร่วมเวที Uniting for the future: Learning from each other's experiences ในวันที่ 2 ก.ย.นี้

ชี้"พิชัย"ร่วมวงปฏิรูปเป็นเรื่องส่วนตัว

ส่วนกรณีที่ นายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตอบรับเข้าร่วมเวทีปฏิรูปประเทศไทย และยังเคยวิพากษ์วิจารณ์พรรคประชาธิปัตย์ว่าชอบสร้างเงื่อนไขนั้น นายองอาจ กล่าวว่า เป็นเรื่องส่วนตัวของนายพิชัยในการเข้าร่วมเวทีดังกล่าว ขอยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เป็นฝ่ายสร้างเงื่อนไขใดๆ รัฐบาลต่างหากที่สร้างเงื่อนไข มีพฤติกรรมอำพราง หมกเม็ดดันกฎหมายนิรโทษกรรม อย่างไรก็ตาม การที่นายพิชัยออกมาพูดเช่นนี้ไม่ได้เป็นการดิสเครดิตพรรคประชาธิปัตย์ และมั่นใจว่านายพิชัยยังเป็นเลือดแท้ของพรรคเหมือนกับสมาชิกพรรคทุกคนที่อาจมีความเห็นแตกต่างกันได้

นายองอาจ ยังกล่าวตำหนินายกรัฐมนตรีที่ไม่ให้ความสำคัญกับสภา เพราะไม่เข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎรวาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯเลย ทั้งๆ ที่เคยกล่าวไว้เองว่าความปรองดองจะเริ่มต้นที่รัฐสภา

กปท.หวั่นถกนิรโทษวาระ2มีสอดไส้

ที่สวนลุมพินี นายไทกร พลสุวรรณ แกนนำกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) กล่าวว่า ที่ประชุมแกนนำ กปท.ได้แสดงความกังวลต่อการแปรญัตติวาระ 2 ของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เพราะอาจมีการสอดไส้ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กับพวกได้ประโยชน์ จึงขอเรียกร้องรัฐบาลเปิดโอกาสให้มีตัวแทนประชาชนและสื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังการประชุมของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯด้วย

ส่วนการเชิญนายโทนี แบลร์ และนายโคฟี อันนัน มาร่วมเวทีปฏิรูปประเทศนั้น นายไทกร กล่าวว่า เป็นการดึงต่างประเทศเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของไทย อีกทั้งบุคคลทั้งสองก็ไม่ได้รับรู้ปัญหาความขัดแย้งในประเทศไทยที่แท้จริงว่าเป็นอย่างไรและมากแค่ไหนด้วย

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันเสาร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2556

จับตา : ข้าวแกง ลักไก่โขกราคา รับวัตถุดิบพุ่ง !!??

จับตาอาหาร "จานด่วน" พาเหรดขึ้นราคาทั้งประเทศ หลังราคาวัตถุดิบปรุงอาหารขยับขึ้นกันถ้วนหน้า เผยเนื้อหมูจ่อขึ้นราคาแตะกิโลกรัมละ 70 บาท ขณะที่ "ร้านข้าวแกง" ย่านสีลมได้ขยับขึ้นราคาก่อนก๊าซหุงต้มปรับโครงสร้างราคาวันที่ 1 กันยายน นี้

ทีมข่าว "สยามธุรกิจ" ได้สำรวจร้านอาหารจานด่วนและร้านข้าวแกงในเขตกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดพบว่า ย่านสีลมได้มีการปรับราคาข้าวแกงกันแล้ว แต่ได้ปรับเทคนิคการขึ้นราคาสำหรับกับข้าวไปถุงและใส่ถ้วยกลับบ้าน โดยได้ปรับจากถุงละ 35 บาท ปรับขึ้นเป็น 40 บาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับขึ้นก่อนที่จะมีการขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ในวันที่ 1 กันยายน นี้

ดังนั้น จึงน่าจับตาราคาอาหารจานด่วนในตลาดที่อาจจะฉวยปรับขึ้นราคา ซึ่งปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์กำหนดราคาแนะนำอาหาร 10 เมนูยอดนิยม ไม่เกินจานละ 30-35 บาท เนื่องจากวัตถุดิบที่ใช้ปรุงอาหารได้ปรับสูงขึ้น นอกจากนี้ พิษน้ำท่วมในหลายพื้นที่จังหวัด ส่งผลให้พืชผักบางชนิดและอาหารสดในตลาดสดมีราคาแพงขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาผักหลายชนิดที่จังหวัดบุรีรัมย์ได้ปรับราคาสูงขึ้น อาทิ ผักคะน้า จากเดิมราคากิโลกรัมละ 45 บาท ปรับขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 50 บาท ต้นหอม เดิมกิโลกรัมละ 30 บาท ปรับขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 35 บาท ผักชี เดิมกิโลกรัมละ 85 บาท เพิ่มเป็นกิโลกรัมละ 90 บาท

ส่วนราคาเนื้อสุกรชำแหละ อยู่ในราคากิโลกรัมละ 135 บาท ยกเว้นหมูตัดแต่ง ราคากิโลกรัมละ 140 บาท ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ประกอบการไม่สามารถปรับขึ้นราคาสินค้าที่สูงเกินกว่านี้ได้ เพราะว่าผู้บริโภคจะหันไปบริโภคเนื้อสัตว์อย่างอื่น เช่น ไก่ และปลา

ด้าน นายสุทธิศักดิ์ พรหมบุตร การค้าภายในจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า ได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกสุ่มตรวจราคาพืชผัก และอาหารสดในตลาดสดอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันพ่อค้าแม่ค้าฉวยโอกาสเอาเปรียบผู้บริโภค หากตรวจพบพ่อค้าแม่ค้ารายใดฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาสินค้าแพงเกินความเป็นจริง ก็จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากไม่ปิดป้ายแสดงราคาจะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท

"หากประชาชนรายใดถูกเอารัดเอาเปรียบสามารถร้องเรียนได้ที่สำนักงานการค้าภายในจังหวัดฯ พาณิชย์จังหวัดฯ และสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค หรือ ร้องเรียนผ่านสายด่วนแม่บ้าน 1569 เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้เข้าไปตรวจสอบและดำเนินการเอาผิดกับพ่อค้าแม่ค้าดังกล่าว"

ขณะที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ที่กรุงเทพฯ ก็ได้สำรวจราคาสินค้าเกษตรในตลาดสดย่านกรุงเทพฯ พบว่า ราคาขายปลีกหมูเนื้อแดงปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่กิโลกรัมละ 135-140 บาท เพิ่มขึ้นจากช่วงสัปดาห์ก่อนที่หมูเนื้อแดงเฉลี่ยอยู่กิโลกรัมละ 130-135 บาท ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นหลังจากที่ราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มขยับราคาขึ้นมาอีกกก.ละ 2-3 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ราคาหมูหน้าฟาร์มได้ปรับราคาขึ้นมาอยู่ที่กิโลกรัมละ 67-69 บาท เพิ่มขึ้น 2-3 บาท จากเดิมที่ราคาหมูหน้าฟาร์มอยู่ที่กิโลกรัมละ 65 บาท ซึ่งเป็นผลจากปริมาณหมูในตลาดลดน้อยลง จากการที่เกษตรกรลดการเลี้ยงหมูตั้งแต่กลางปีที่แล้ว จากภาวะการขาดทุน ประกอบการเกิดภาวะโรคในหมู ซึ่งหากปริมาณหมูลดลงมาก ก็อาจต้องปรับราคาหมูเป็นหน้าฟาร์ม ขึ้นมาอีก จะทำให้หมูเป็นหน้าฟาร์มทะลุเกินกิโลกรัมละ 70 บาทขึ้นไป ส่งผลให้ราคาขายปลีกหมูหน้าเขียงต้องปรับราคาตามไปด้วย

นอกจากนี้ ราคาสินค้าในกลุ่มวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต อาหารปรุงสำเร็จเริ่มปรับตัวสูงขึ้น เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ อาจส่งผลให้ต้นทุนการผลิตอาหารจานเดียวปรับตัวเพิ่มขึ้น

ที่มา.สยามธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////////////////

วันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2556

การรถไฟ ในยุค รศ.ดร.บุญสม เลิศหิรัญวงค์..

หลังจากร่วมเป็นกรรมการของการรถไฟแห่งประเทศไทยมานาน เมื่อถึงคราวที่องค์กรต้องยกเครื่องครั้งใหญ่ รศ.ดร.บุญสม เลิศหิรัญวงศ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้รับความวางใจจากนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

รศ.ดร.บุญสม เลิศหิรัญวงศ์รศ.ดร.บุญสม เลิศหิรัญวงศ์ ให้นั่งตำแหน่งประธานคณะกรรมการ(บอร์ด)การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) แทนนางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ อดีตประธานบอร์ดที่ลาออกเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา  เพื่อเปิดโอกาสให้ได้เข้าไปกำกับดูแลการพัฒนาหน่วยงานการรถไฟฯ ตลอดจนการผลักดันโครงการต่างๆที่กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างการเร่งรัดงบประมาณภายใต้แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่งพ.ศ.2556-2563 หรือโครงการตามพ.ร.ก.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ซึ่ง รศ.ดร.บุญสมได้ให้สัมภาษณ์ ถึงนโยบายและแนวทางการบริหารจัดการในฐานะประธานบอร์ดร.ฟ.ท.ไว้อย่างน่าสนใจหลายประเด็นดังนี้

มีแนวทางการบริหารแตกต่างจากบอร์ดชุดอื่นหรือไม่
   
ระยะเวลาประมาณ 7 เดือนที่ได้เข้ามารับตำแหน่งกรรมการบอร์ดและประธานคณะอนุกรรมการทรัพย์สินร.ฟ.ท.ผมได้เรียนรู้หลายเรื่อง ทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน โดยเฉพาะจุดแข็งด้านความรู้ความสามารถของบุคลากรและจุดอ่อนด้านภาพลักษณ์การให้บริการ แต่ก็น่าชมเชยเรื่องการเดินรถ การซ่อมบำรุงภายใต้ข้อจำกัดมากมายทั้งในเรื่องงบประมาณและสภาพของอุปกรณ์ที่ผ่านการใช้งานมาเป็นเวลานานมาก นี่ยังไม่พูดถึงเรื่องการพัฒนาที่ดินที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 5 เพื่อนำไปพัฒนาการรถไฟฯของประเทศไทย  แต่ทั้งนี้ยังมีความจริงหนึ่งที่ต้องพูดถึง หากนับถึงปัจจุบันนี้ก็ล่วงเข้าสู่ 115 ปี ยิ่งดูเหมือนว่าจะได้รับการยอมรับน้อยลงจากประชาชนผู้ใช้บริการส่งผลให้หลายคนต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้บริการรถไฟไปสู่ระบบอื่นๆ
   
"ผมเชื่อมั่นในศักยภาพของบุคลากรทุกฝ่าย โดยจะไม่เน้นการบริหารจัดการบนแผ่นกระดาษ แต่จะให้ความสำคัญในการเร่งเปลี่ยนภาพลักษณ์โดยเร็วด้วยการเร่งสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้การเดินทางด้วยรถไฟกันมากขึ้น ควบคู่กับการพัฒนาเชิงพาณิชย์โดยเฉพาะการพัฒนาที่ดินเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายที่สูญเสียไป พร้อมกับการส่งเสริมการเดินทางด้วยรถไฟอย่างปลอดภัย ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพิ่มศักยภาพความรู้ความสามารถของบุคลากรควบคู่กับการหล่อหลอมจิตใจเป็นหนึ่งเดียวกัน ตลอดจนการพัฒนาทางด้านกายภาพสถานี ปรับปรุงสภาพรถ ความแข็งแรงของรางและหมอนในแนวเส้นทางและสถานีต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ชนชั้นกลาง-ชนชั้นล่างได้ใช้บริการอย่างทั่วถึง อย่างมั่นใจมากขึ้น ผ่านระบบรถไฟทางคู่เส้นทางต่างๆ อีกทั้งเพื่อเป็นทางเลือกใหม่ในการเดินทางให้กับชนชั้นสูงผ่านระบบรถไฟฟ้าที่การรถไฟฯรับผิดชอบอีกหลายเส้นทาง เช่นเดียวกับการให้ความสำคัญเรื่องวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงาน จึงเตรียมบรรจุเงื่อนไขการก่อสร้างที่พักให้กับพนักงานไว้ในทีโออาร์การพัฒนาที่ดินแปลงต่างๆอีกด้วย"

นโยบายการพัฒนาที่ดินแปลงใหญ่กำหนดไว้อย่างไร
   
นโยบายที่ดีหลายข้อยังคงเดินหน้าต่อไปหากโครงการไหนมีความพร้อมจะนำออกประมูลหารายได้หล่อเลี้ยงร.ฟ.ท. จะเร่งรัดโดยจะเร่งผลักดันไปพร้อมกับการพัฒนาโครงการอื่นๆให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วทั้งที่ดินแปลงมักกะสัน สถานีแม่น้ำ หรือพื้นที่กิโลเมตรที่ 11 ย่านพหลโยธิน เช่นเดียวกับที่ดินตามสถานีต่างๆในโครงการรถไฟทางคู่ที่อยู่ระหว่างการเตรียมเปิดประมูลปลายปีนี้และในปี 2557 โดยเฉพาะหัวเมืองสำคัญๆทั่วทุกภาค
   
พร้อมกันนี้ยังจะดึงงานวิจัยที่ตอบสนองความต้องการประชาชนออกมาดำเนินการพร้อมกับเค้นเอาความรู้ความสามารถของบุคลากรให้แสดงออกให้ตอบโจทย์ไปในทิศทางเดียวกัน จัดลำดับความสำคัญของการพัฒนาอย่างตรงตามเป้าหมาย

อะไรคืองานเร่งด่วนที่ต้องทุ่มเทให้เกิดผล
   
ปัจจุบันฝ่ายบริหารและปฏิบัติการมีผู้ว่าการการรถไฟฯเป็นผู้นำที่เข้มแข็งอยู่แล้ว ส่วนฝ่ายนโยบายอย่างบอร์ดถือเป็นความปรารถนา ความตั้งใจให้รถไฟเป็นทางเลือกที่ 1 ในการเดินทางของประชาชน แต่จะทำอะไรก่อน-หลังเท่านั้นเอง โครงการใหม่ตามแผนเดินหน้าให้ต่อเนื่อง ปัจจุบันควรเร่งฟื้นภาพลักษณ์เป็นลำดับแรกให้เป็นที่ยอมรับโดยเร็ว
   
ส่วนการพัฒนาบุคลากรให้ทุกคนสร้างความภาคภูมิใจในองค์กร  ทำงานอย่างทุ่มเท ดังนั้นสิ่งที่ปฏิบัติลงไปจึงต้องเกิดเป็นรูปธรรมได้จริง เช่น งานการบริหารจัดการทรัพย์สิน-ที่ดินทำเลต่างๆที่สามารถนำไปพัฒนาหารายได้
   
เช่นเดียวกับฝ่ายการเดินรถ และฝ่ายซ่อมบำรุงเพราะหากเทียบกับต่างประเทศแล้วการรถไฟฯของไทยสามารถทำได้ดีกว่าหลายเท่า ศักยภาพของบุคลากรไทยดีกว่าเนื่องจากถูกจำกัดให้อยู่สถานการณ์ที่ต้องพยายามเอาตัวรอดมานานภายใต้ข้อจำกัดอุปกรณ์และงบประมาณ นี่แหละคือจุดแข็งที่จะถูกนำไปขับเคลื่อนองค์กรการรถไฟฯให้กลับมาเป็นที่ยอมรับของประชาชนผู้ใช้บริการ"
   
ก็ต้องตามไปดูผลงานการทำงานของ รศ.ดร.บุญสม ในฐานะประธานบอร์ด ร.ฟ.ท.ที่ถือว่าจัดคนได้เหมาะสมกับภารกิจจะสามารถขับเคลื่อน ร.ฟ.ท.ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กระทรวงคมนาคมต้องการอยากจะให้เป็นไปหรือไม่

ที่มา.นสพ.ฐานเศรษฐกิจ
////////////////////////////////////////////////////////////////////

รบ.เร่งดัน พรบ.คุ้มครองข้อมูลบุคคล !!??

วราเทพ.เร่งผลักดัน พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ...หวังแก้ปัญหาละเมิดนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ทางธุรกิจ

นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าภายหลังจากได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้เป็นประธานกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ตนจะเร่งเดินหน้าผลักดันการออกกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. .... ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยในขณะนี้อยู่ระหว่างรอการพิจารณาของรัฐสภาตามขั้นตอน อย่างไรก็ตามตนจะพยายามผลักดันให้รัฐสภามีการหยิบยก ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ขึ้นมาพิจารณาเป็นการเร่งด่วนเพื่อให้กฎหมายฉบับนี้สามารถคุ้มครองสิทธิข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนทุกคน

นายวราเทพก ล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2554 ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่าข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนที่รัฐบาลมีอยู่ เช่น ประวัติส่วนตัว ประวัติการศึกษา ประวัติสุขภาพ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ฯลฯห หน่วยงานราชการจะสามารถเปิดเผยได้ก็ต่อเมื่อมีการยินยอมจากผู้นั้นเป็นลายลักษณ์อักษรซึ่งช่วยปกป้องสิทธิของประชาชนในการปกปิดข้อมูลส่วนตัวที่ไม่ต้องการเปิดเผยได้ส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ตามขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปกปิดข้อมูลส่วนบุคคลในส่วนที่เอกชนมีอยู่เป็นการเฉพาะ ดังนั้นจึงเกิดปัญหาการละเมิด เช่น เอาข้อมูลเช่นที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ และข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ ไปใช้ในทางธุรกิจและสร้างความรำคาญและสร้างความเสียหายให้กับประชาชนได้

"เชื่อว่าทุกคนก็ต้องเคยเจอว่าอยู่ๆมีโทรศัพท์ เข้ามามาเสนอขายประกัน บัตรเครดิต หรือเสนอขายสินค้าอื่นๆ โดยที่เราไม่เคยให้เบอร์โทรศัพท์กับผู้นั้น หรือบริษัทนั้นๆ ซึ่งหากมีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในส่วนที่บังคับใช้กับเอกชนหากมีคนที่โทรเข้ามาหรือติดต่อเข้ามาด้วยวิธีการต่างๆ เราสามารถใช้กระบวนการทางกฎหมายในการสอบถามว่าเขาเอาข้อมูลมาจากไหน สอบถามถึงต้นตอแล้วให้เอกชนที่เอาข้อมูลของเราไปเผยแผร่รับผิดชอบในความเสียหายหรือลบข้อมูลในส่วนนี้ออกจากฐานระบบได้ ซึ่งเชื่อว่าเอกชนจะให้ความร่วมมือในเรื่องนี้เพราะเรื่องนี้เป็นการปกป้องสิทธิและข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า ซึ่งหากเอกชนทำได้ก็จะส่งผลดีต่อธุรกิจในแง่ของความเชื่อถือที่ลูกค้าจะมีต้อบริษัทนั้นๆ" นายวราเทพกล่าว

นายวราเทพ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2554 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2540 พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ช่วยสร้างบรรยากาศการติดต่อระหว่างประชาชนและหน่วยงานข้าราชการได้ดีขึ้นเป็นลำดับและทำให้ข้อมูลราชการที่สำคัญอย่างเช่นการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเป็นข้อมูลที่หน่วยราชการมีหน้าที่ต้องเผยแพร่ให้ประชาชนรับรู้ด้วยความโปร่งใส ซึ่งช่วยลดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นลงไปได้ส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ตามตนได้ให้นโยบายกับคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารว่าให้รอบครอบระมัดระวังในการเปิดเผยข้อมูลของรัฐ เนื่องจากอาจถูกผู้ไม่หวังดีกับภาครัฐเอาข้อมูลไปใช้ในทางที่ผิดจนสร้างความเสียหายกับประเทศได้

"รัฐบาลมีความตั้งใจแน่วแน่ในการปราบปรามและป้องกันการทุจริตของรัฐบาลซึ่งการเปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารจะเป็นกลไกอย่างหนึ่งในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นตามที่รัฐบาลประกาศเจตนารมณ์ในการต่อต้านการทุจริตไว้ 3 ประการ โดยอยู่ระหว่างดำเนินการให้เป็นรูปธรรม ได้แก่ 1.การเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง และสร้างความเท่าเทียมในทางปฏิบัติให้กับเอกชนผู้เข้าประมูลงานของรัฐทุกราย 2.การเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมสังเกตการณ์การจัดซื้อจัดจ้าง โดยอยู่ระหว่างจัดตั้งคณะกรรมการร่วมที่มีตัวแทนจากทุกฝ่ายเข้ามาร่วมสังเกตการณ์การจัดซื้อจัดจ้าง โดยรูปแบบคล้ายกับคณะกรรมการร่วมที่รัฐวิสาหกิจได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้แล้ว และ3.การตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ"

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////////////////////

บทเรียน:คราบน้ำมัน กลางทะเลระยอง อุตสาหกรรมภายใต้กระแสสีเขียว !!??

ปัญหาคราบน้ำมันจากกรณีข้อต่อท่อส่งน้ำมันรั่วกลางทะเล จ.ระยอง ส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลต่อผลกระทบของระบบนิเวศน์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ที่ผ่านมาศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อม จากความร่วมมือระหว่าง สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยกับ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สนับสนุนงบเบื้องต้น 2 ล้านบาทให้กับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ลงพื้นที่สำรวจ และเก็บตัวอย่าง เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม อาทิ คุณภาพน้ำทะเล ตะกอนดิน สิ่งมีชีวิตในทะเล เช่น กุ้ง หอย ปะการัง เป็นต้น เพื่อให้เป็นข้อมูลกลาง เป็นที่เชื่อถือของทุกฝ่าย สำหรับนำไปประเมินความเสียหายจริง และเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการเปรียบเทียบหากเกิดเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันในอนาคต

ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ในฐานะคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลในทะเล ระบุว่า กรณีน้ำมันรั่วไหลกว่า 5 หมื่นลิตร ของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือพีทีทีจีซี ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ขณะนี้หลายฝ่ายควบคุมสถานการณ์และเร่งขจัดคราบน้ำมันรั่วไหลบริเวณอ่าวพร้าว เกาะเสม็ดให้แล้วเสร็จ แต่ปัญหานี้ คือ ยังไม่มีข้อมูลความเสียหายของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในทางวิชาการที่ทุกฝ่ายยอมรับ รวมทั้งการใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมันยังไม่มีการพิสูจน์ว่า จะทำอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลและระบบนิเวศ และมีสารตกค้างในธรรมชาติจริงหรือไม่ จำเป็นต้องเก็บตัวอย่าง เพื่อสำรวจและติดตามผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ทะเลอย่างเร่งด่วน และต้องมาจากองค์กรที่เป็นกลาง เพื่อให้ทุกภาคส่วนเชื่อถือ

"เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบในวงกว้าง จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกสถาบันการศึกษาเข้ามาทำการวิจัย เพื่อความรวดเร็วทันต่อสถานการณ์ และมีกระบวนการวิจัยที่โปร่งใส ชัดเจน ข้อมูลที่ทุกฝ่ายยอมรับ นำไปใช้ประโยชน์ทั้งการเรียกร้องความเสียหายจากผู้ได้รับผลกระทบ และใช้ในการตรวจสอบสำหรับหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบประเมินและจ่ายค่าเสียหาย ใช้เทียบเคียงกับผลของการวิเคราะห์ของภาครัฐได้"

ขณะนี้มี 3 มหาวิทยาลัยยื่นข้อเสนอทำการสำรวจมาแล้ว ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และบูรพา เพื่อสำรวจในเรื่องสารเคมีในตะกอนดินจากการกำจัดคราบน้ำมัน และผลต่อปะการัง เป็นต้น ขณะนี้ยังรับข้อเสนออยู่ เพียงแต่มีเงื่อนไขว่า งานวิจัยดังกล่าวจะต้องสำรวจและเก็บตัวอย่างให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน

บทเรียนรับมือภาวะฉุกเฉิน

ดร.ขวัญฤดี กล่าวต่อว่า กรณีการรั่วไหลน้ำมันครั้งนี้เป็นบทเรียนสำคัญที่จะทำให้ทุกภาคส่วนต้องปรับกระบวนการรับมือกับภาวะฉุกเฉินใหม่

"ต้นเหตุและปัญหาที่ขยายในวงกว้างมาจากคลื่นลมทะเล การหย่อนยานเรื่องการซักซ้อม ความชะล่าใจของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการซ้อมแผนอุบัติภัย ที่ระบุว่ามีการซักซ้อมต่อเนื่อง แต่กลับไม่สามารถเรียกมาแก้ไขปัญหาได้"

การเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะเป็นอีกปัญหาของเหตุการณ์ครั้งนี้ เนื่องจากเอกชนมุ่งแต่แก้ปัญหาหน้างาน ไม่ให้ความสำคัญกับการสื่อสารในภาพรวม ประกอบกับไม่มีการตั้งศูนย์กลางเผยแพร่ข้อมูลตั้งแต่ต้น ทำให้ข่าวสารมาจากทุกทิศทาง สร้างความสับสน ส่งผลให้การโฟกัสแก้ปัญหาของสังคมไม่ถูกจุด เช่น กระแสใช้เส้นผมไปขจัดคราบน้ำมัน ซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง และยังทำให้เกิดขยะ เป็นต้น

ส่วนกรณีที่มีผลกระทบไปถึงความศรัทธาของปตท.ในภาพรวมเป็นอีกปัญหาหนึ่ง จากการที่นำเหตุการณ์หนึ่งมาตัดสินองค์กรในภาพรวมโดยไม่แยกแยะ ซึ่งสิ่งที่สังคมต้องเรียกร้องต่อปตท.คือ ให้เร่งแก้ปัญหาคราบน้ำมัน และกู้ภาพลักษณ์ของเกาะเสม็ดในฐานะผู้ทำให้เกิดความเสียหายต่อการท่องเที่ยวของเกาะ

ส่วนปัญหาความไม่วางใจต่อกันระหว่างรัฐและเอกชน กับประชาชนนั้น ถือเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากมาบตาพุดมีปัญหามลภาวะหลายครั้ง ดังนั้นความชัดเจนของข้อมูล และเปิดเผยต่อสาธารณะ เป็นเรื่องจำเป็นมากในกรณีแบบนี้ แต่จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบมาก่อนที่จะเกิดเหตุ ส่วนเอกชน สิ่งที่ต้องทำอย่างจริงจัง คือ การตรวจสอบและซ่อมบำรุงสม่ำเสมอ แม้ยังไม่หมดอายุการใช้งาน

"พื้นที่ที่มีอุตสาหกรรมหนาแน่น มาตรฐานการปล่อยมวลสารต้องเข้มข้น เพราะความสามารถของธรรมชาติในการฟอกตัวต่ำกว่าพื้นที่อื่นที่มีโรงงานอุตสาหกรรมเบาบางกว่า"

นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้าไปตรวจสอบและให้ความรู้กับอุตสาหกรรมขนาดกลางและเล็ก หรือเอสเอ็มอี ที่กฎหมาย และรัฐควบคุมไม่ทั่วถึง เช่น โรงงานที่อยู่ตามห้องแถวต่างๆ โรงงานบัดกรีเหล็ก เป็นต้น

ล่าสุดมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ร่วมกับหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และ บริษัท ดาว เคมิคอล ประเทศไทย จำกัด ให้ความรู้ในเรื่องนี้ภายใต้งานสัมมนา "วิจัยขับเคลื่อน การเปลี่ยนแปลงสังคม สู่การจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน" ในวันที่ 9 ส.ค.นี้ 2556 เวลา 09.30- 12.30 น. ณ รร.แลนด์มาร์ค กรุงเทพฯ

โดยมีหัวข้อต่างๆที่น่าสนใจ อาทิ "Trends & Challenges of ASEAN Business toward AEC 2015" เป็นการแลกเปลี่ยนแนวทางที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอด และเสริมสร้างศักยภาพของภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจ และ ภาคส่วนอื่นๆ รวมถึงทิศทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน และกระแสสีเขียว กุญแจสำคัญต่อภาคธุรกิจในปัจจุบันและอนาคต โดยนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ อาทิ องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID), คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) , Asian Development Bank Institute (ADBI) เป็นต้น

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2556

การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต กับความรับผิดทางอาญา !!

โดย.ณรงค์ ใจหาญ

การที่ประชาชนแสดงความคิดเห็นติชม ต่อเหตุการณ์หรือพฤติการณ์ของคนในสังคมไม่ว่าจะเป็นบุคคลสาธารณะหรือเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ย่อมเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นอยู่เสมอในทุกสังคม ทั้งนี้เพราะเป็นสิทธิพื้นฐานที่บุคคลมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยอิสระ เว้นแต่การแสดงความคิดเห็นนั้นจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความวุ่นวายในนสังคม หรือการก้าวล่วงต่อสิทธิส่วนตัวของผู้อื่นจนเกินสมควร ประเทศที่ถือหลักสิทธิมนุษยชนและหลักประชาธิปไตยจึงให้อิสระแก่ประชาชนที่จะแสดงออกซึ่งความคิดเห็น โดยไม่ถือว่าเป็นความผิดทางอาญา
 
 กฎหมายไทยมีหลักการในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน หากพิจารณาประมวลกฎหมายอาญา ในความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งเป็นความผิดที่คุ้มครองชื่อเสียงของคนที่จะไม่ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังจากการใส่ความ (นินทาว่าร้าย) จากคนอื่น ไม่ว่าจะโดยการพูดหรือการโฆษณา แต่การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อติชม หรือเพราะตนเองมีส่วนได้เสียในเรื่องนั้น ก็สามารถแสดงความคิดเห็นหรือข้อเท็จจริงได้โดยไม่ถือว่าเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท แต่การแสดงความคิดเห็นหรือข้อเท็จจริงนั้น ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง หลักวิชาและความเป็นกลางในการแสดงความคิดเห็น (ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329)
 
 ในทำนองเดียวกัน ความผิดที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ หรือการก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ซึ่งมีความประสงค์ที่จะรักษาอำนาจอธิปไตยของรัฐ หรือเป็นการรักษาความสงบเรียบร้อยแก่บ้านเมือง หากมีการยุยงให้ทหารหรือตำรวจก่อการกำเริบ หรือยุยงให้ประชาชนก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองหรือฝ่าฝืนต่อกฎหมายบ้านเมืองหรือละเมิดต่อกฎหมาย ถือว่าเป็นการใช้สิทธิที่เกินขอบเขตและเป็นความผิดอาญา เพราะการที่ประชาชนจะแสดงความคิดเห็นนั้นจะต้องอยู่ภายในกรอบที่ไม่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต จึงถือเป็นเหตุที่ผู้กระทำมีอำนาจกระทำได้ของประชาชนทุกคนที่จะใช้สิทธิภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ โดยเจ้าหน้าที่รัฐไม่อาจดำเนินคดีอาญาแก่ผู้นั้นได้แม้ว่าการแสดงความคิดเห็นนั้น จะทำให้ผู้มีอำนาจรัฐหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเสียประโยชน์ที่หวังไว้ก็ตาม เพราะการกระทำดังกล่าวถือเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต
 
 ปัญหาจึงเกิดขึ้นว่า หากเป็นการแสดงความคิดเห็นที่ไม่สุจริต ได้แก่การบิดเบือนข้อเท็จจริงให้ประชาชนหลงผิด หรือนำหลักการทางวิชาการมาบิดเบือนเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อ โดยตั้งใจและขาดความรับผิดชอบในทางวิชาการ หรือตั้งใจกระทำการใดๆ เพื่อทำให้ประชาชนตื่นตระหนกเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง จะมีความผิดอย่างไร กรณีนี้ ประมวลกฎหมายอาญา มีฐานความผิดที่ลงโทษไว้หลายฐาน ดังนี้

      1. ในกรณีที่เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยไม่สุจริต และเป็นการนินทาว่าร้ายคนอื่น กรณีนี้ถือว่าเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326

     2. ในกรณีที่เป็นการแสดงความคิดเห็นและยุยงให้ประชาชนกระด้างกระเดื่องต่อกฎหมายหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย เช่นการแสดงไฮปาร์ก ยุยงโดยบิดเบือนข้อเท็จจริงต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเกลียดผู้บริหารประเทศ โดยปราศจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริง กรณีนี้ถือว่า เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ซึ่งถือว่าเป็นความผิดที่มุ่งคุ้มครองสถาบันนิติบัญญัติ และความมั่นคงของรัฐมิให้ได้รับอันตรายจากการใช้สิทธิไม่สุจริต

     3.ในกรณีที่มีการแสดงความคิดเห็นและยั่วยุให้มีการปิดถนน หรือปิดบริการสาธารณะหรือทำลายทรัพย์สินของทางราชการ ซึ่งเกินกว่าสิทธิในการเรียกร้องความเป็นธรรมหรือขอความช่วยเหลือจากรัฐตามหลักในกฎหมายรัฐธรรมนูญเรื่องการชุมนุมหรือการเรียกร้องความเป็นธรรม กรณีดังกล่าวถือเป็นการกระทำความผิดฐานก่อการร้ายตามมาตรา 135/1
 
     4.ในกรณีที่มีการแสดงความคิดเห็นในการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้มีการก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองโดยไม่มีเหตุที่ควรกระทำ กรณีนี้ถือว่าเป็นการชุมชุมโดยปราศจากอำนาจตามกฎหมายและเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดการยั่วยุดังกล่าวจึงเป็นการแสดงออกด้วยวาจาที่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215
 
     จากหลักกฎหมายและข้อยกเว้นความรับผิดข้างต้น การที่ประชาชน สื่อมวลชนแสดงความคิดเห็นไม่ว่าจะโดยวาจาหรือการประชาสัมพันธ์ทางสื่อมวลชน หรือด้วยการโฆษณาทางอื่น และก่อให้เกิดผลในการที่จะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียงหรือก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองหรือก่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในสังคมนั้น หากเป็นการใช้สิทธิสุจริต เป็นการกระทำโดยความหวังดี ไม่ได้มีการบิดเบือนข้อเท็จจริงให้ประชาชนหลงผิด ซึ่งเป็นการใช้เสรีภาพตามกรอบของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่คุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นแล้ว ย่อมไม่เป็นความผิดและไม่มีเหตุใดๆ ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ จะห้ามการกระทำนั้นได้ แต่ถ้าเกินขอบเขตของเสรีภาพหรือเป็นการบิดเบือนความจริง บิดเบือนหลักวิชาการ แอบอ้างหลักการของประชาธิปไตยเพื่อประโยชน์ของตนหรือพวกพ้องแล้ว จะถือว่าเป็นการกระทำเกินกว่าเสรีภาพให้ทำได้ กฎหมายจะกำหนดความรับผิดทางอาญาไว้ตามฐานที่กล่าวไว้ข้างต้น

ที่มา.สยามรัฐ
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////

อุตสาหกรรมโรจนะสบช่อง ลุย ทวายโปรเจกต์ !!?

แม้ว่าโครงการ "ทวายโปรเจกต์" ในพม่าจะได้ข้อสรุปถึงรูปแบบการระดมทุน ด้วยการจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle : SPV) ทำหน้าที่เป็นโฮลดิ้ง คอมปะนี โดย เป็นการถือหุ้นร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทยและพม่า และจัดตั้งนิติ บุคคลย่อย (Special Purpose Companies : SPCs) ขึ้น อีก 7 บริษัท เพื่อให้ภาคเอกชนที่สนใจเข้าลงทุนในแต่ละสาขา ได้แก่ ท่าเรือ ถนน ผลิตไฟฟ้า ผลิตน้ำและบำบัดน้ำเสีย นิคมอุตสาหกรรม สื่อสารโทรคมนาคม และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์..

โดยเฉพาะการสร้างนิคมอุตสาหกรรม ที่ถือเป็นหัวใจของโครงการ รองรับ อุตสาหกรรมต่างๆ ที่จะเข้าไปลงทุน ซึ่งยังไม่มีเจ้าของนิคมอุตสาหกรรมไทยรายใดตัดสินใจเดินหน้า

บางรายถึงขั้นปฏิเสธ เพราะมองว่าความเสี่ยงสูง

ยกตัวอย่าง นายสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการ บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) ซึ่งให้ความเห็นว่า ถึงแม้ว่ารัฐบาลไทยและพม่าจะได้ข้อสรุปร่วมกันในการผลักดันโครงการทวาย แต่ถึงยังไงโครงการนี้ยังมีความเสี่ยงสูงในการขับเคลื่อน เนื่อง จากปัญหาความขัดแย้งภายในของพม่าที่มีชนกลุ่มน้อยหลายชาติพันธุ์ ขณะที่กฎหมายการลงทุนก็ยังไม่นิ่ง เปลี่ยน แปลงได้ตลอดเวลา

ประกอบกับโครงการนี้เป็นโครงการที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงมากกว่าแสนล้านบาท ถ้าตัดสินใจลงทุนแล้วมีการเปลี่ยนแปลงในภายหลังจะเกิดความเสียหายมหาศาล

หันไปมองด้านกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม อมตะ แม้จะมีความสนใจในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ทางธุรกิจว่าจะเข้าไปลงทุนในรูปแบบไหน

โดย นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ยอมรับว่ามีความสนใจที่จะเข้า ไปลงทุนในทวาย เนื่องจากอยู่ในธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ เบื้องต้นมีการพูดคุยกับคณะกรรมการของอมตะฯ แล้ว ทุกคนเห็นด้วยกับการเดินหน้าโครงการนี้

แต่หนึ่งรายที่วันนี้ตัดสินใจแล้วคือส่วนอุตสาหกรรมโรจนะ

โดยทำสัญญาร่วมทุนกับอิตาเลียน ไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ก่อตั้งบริษัทพัฒนานิคมอุตสาหกรรมทวาย ครอบคลุมพื้นที่ 127,000 ไร่ ตั้งเป้ารองรับการลงทุนในอาเซียนที่กำลังขยายตัว

ซึ่งนายจิระพงษ์ วินิชบุตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท สวนอุตสาหกรรม โรจนะ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัท เล็งเห็นถึงโอกาสการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงได้ตกลงทำสัญญาร่วมทุนกับบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ในการก่อตั้งบริษัทเพื่อดำเนินการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมทวาย ประเทศพม่า ครอบคลุมพื้นที่ 127,000 ไร่

โดยจะมีการทยอยพัฒนาเป็นขั้นตอนในแต่ละเฟส ซึ่งมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ประกอบด้วย อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ยางพารา เฟอร์นิเจอร์ทั้งจากไม้และยางพารา พลาสติก วัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง เครื่องหนัง และอาหารทะเล

"การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนทำให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเกิดความคล่องตัวมากขึ้น เราจึงต้องมีการพัฒนาเพื่อรองรับความเปลี่ยน แปลงและความต้องการของนักลงทุน โดยให้ความสำคัญในการเชื่อมโยงการลงทุนไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพ ซึ่งพม่าถือเป็นประเทศที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมากจากนักลงทุน โดยเฉพาะในส่วนของพื้นที่ทวายซึ่งเป็นประตูสำคัญในการเชื่อมต่อระบบลอจิสติกส์ไปยังประเทศแถบตะวันตกได้อย่างรวดเร็ว สำหรับโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมทวาย คาดว่าจะเริ่มดำเนินการและทำการตลาดได้ภายในสิ้นปี 2556 โดยผู้ซื้อจะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ประมาณ ต้นปี 2557" นายจิระพงษ์ กล่าว

นายอู เย เมียน ประธานคณะกรรมการดำเนินงานโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย กล่าวว่า แผนดังกล่าวซึ่งมีระยะเวลาในการดำเนินงานเฟสละ 5 ปี แบ่งเป็น 3 เฟส คือ โครงการ เฟสแรกจะเน้นอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า เครื่องหนัง อาหาร ยางพารา อุตสาหกรรม ที่ใช้ผลิตผลเกษตรเป็นพื้นฐานและเฟอร์นิเจอร์ มีกำหนดแล้วเสร็จภายใน 5 ปี บน พื้นที่ราว 6,025 ไร่ โครงการ เฟสสอง 5 ปีเช่นเดียวกัน บนพื้นที่ 5,000 ไร่ ประกอบด้วย โรงงานเหล็ก ปุ๋ย โรงกลั่นน้ำมัน และโรงงานผลิตรถยนต์ โครงการระยะที่สาม 10 ปี ประกอบด้วยโรงงานผลิตพลาสติก เคมีภัณฑ์ และโรงกลั่นน้ำมันดิบ

"ธุรกิจที่ดำเนินงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายจะต้องไม่สร้างมลภาวะ ต่อสิ่งแวดล้อมและไม่ส่งผลกระทบต่อสังคม โดยเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายถือเป็นโครงการแรกของประเทศ ที่เน้นในเรื่องนี้และเราพร้อมจะเดินหน้าเต็มที่" นายอู กล่าว

ที่มา.สยามธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////////