--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2556

จีน ปรับนโยบายเศรษฐกิจ !!??

โดย วีระพงษ์ รามางกูร

ขณะนี้อาจจะกล่าวได้ว่าเศรษฐกิจของโลกยังอยู่ในช่วงเศรษฐกิจขาลง มีเพียงสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่อาจจะเรียกว่าพอทรงตัวอยู่ได้เพราะการผลิตพลังงานขึ้นใช้เองได้ นอกนั้นไม่ว่าจะเป็นยุโรป จีน อินเดีย และภูมิภาคอื่นต่างประสบกับปัญหาเศรษฐกิจกำลังจะชะลอตัวทั้งสิ้น รวมทั้งประเทศไทยของเราด้วย

สหรัฐนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือนำเข้าจากญี่ปุ่น แต่เมื่อญี่ปุ่นเปลี่ยนนโยบาย

ค่าเงินเยนเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐลดลงกว่าร้อยละ 20 ระบบเศรษฐกิจญี่ปุ่นสนองตอบต่อการลดค่าเงินดีเกินกว่าที่คาด ญี่ปุ่นสามารถกลับไปเป็นผู้ส่งออกไปตลาดสหรัฐอเมริกามากกว่าจีนเป็นครั้งแรกในรอบหลาย ๆ ปี จีนต้องถอยลงมาเป็นอันดับสองในการเป็นผู้ส่งสินค้าเข้าไปในสหรัฐอเมริกา

ประเทศอื่น ๆ จึงทยอยลดค่าเงินเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ของตนลงตามญี่ปุ่น เพื่อพยุงการส่งออกของตน แต่จีนกลับทำตรงกันข้าม จีนไม่ยอมลดค่าเงินหยวนของตนเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ ทำให้

ค่าเงินหยวนของจีนแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยน เงินยูโร และเงินตราสกุลอื่น ๆ ในภูมิภาคอย่างมาก

ด้วยเหตุนี้มูลค่าการส่งออกของจีนจึงชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด นักเศรษฐศาสตร์ที่ติดตามนโยบายเศรษฐกิจของจีนต่างตั้งข้อสังเกตและแสดงความสงสัยกันไปทั่ว

การที่จีนไม่ยอมลดค่าเงิน เหริน หมิน ปี้ หรือเงินหยวนของตนลง แสดงว่าจีนกำลังเปลี่ยนนโยบายภายในอย่างขนานใหญ่

เนื่องจากจีนได้สะสมทุนสำรองระหว่างประเทศไว้มากเป็นจำนวนกว่า 3.3 ล้านล้านดอลลาร์ มากกว่าทุนสำรองของญี่ปุ่นซึ่งเคยเป็นประเทศที่มีทุนสำรองมากที่สุดในโลกถึงกว่า 3 เท่า จีนคงจะคิดว่าตนมีทุนสำรองมากเกินระดับที่เหมาะสมไปแล้วก็ได้ ตามตำราเศรษฐศาสตร์ ทุนสำรองที่มากเกินระดับที่เหมาะสมทำให้เสียโอกาสในการยกระดับความอยู่ดีกินดีของประชาชน (Optimal Reserve)

ดังนั้น การจะดำเนินนโยบายเงินอ่อนผลักดันการส่งออกต่อไป ไม่น่าจะเป็นนโยบายที่ดีที่สุด ประกอบกับจีนถูกโจมตีเรื่องช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย หรือการกระจายรายได้ที่ไม่ทั่วถึง ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจของโลกอยู่ในช่วงขาลง ขณะเดียวกัน ค่าจ้างแรงงานของจีนก็สูงขึ้น เพราะจีนเริ่มขาดแคลนแรงงาน

ผู้นำจีนชุดใหม่จึงเปลี่ยนนโยบาย สนับสนุนการบริโภคภายในและยกระดับคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่ยังมีรายได้ต่ำภายในประเทศ โดยการตรึงค่าเงินของตนให้สูงกว่าประเทศอื่น ๆ อันจะเป็นการทำให้อุตสาหกรรมจีนสามารถซื้อวัตถุดิบ เช่น น้ำมัน ถ่านหิน แร่เหล็ก ทองแดง ได้ถูกลงในราคาเงินหยวน เมื่อจีนไม่เร่งในการแข่งขันใน

การส่งออก หันมาผลิตเพื่อใช้ในประเทศเป็นหลัก ลดการนำเข้าสินค้าขั้นปฐมต่าง ๆ ลง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ขั้นปฐมในตลาดโลก ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ถ่านหิน แร่ธาตุต่าง ๆ จึงมีราคาถูกลง ประเทศที่ถูกกระทบมากที่สุดน่าจะเป็นออสเตรเลีย ทำให้คนจีนสามารถบริโภคสินค้าในราคาที่ถูกลง

ในขณะเดียวกัน จีนปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินอย่างรุนแรง โดยการลดสินเชื่อของธนาคารทั่วประเทศ เพื่อลดการใช้จ่ายที่เกินตัวของรัฐบาลท้องถิ่นลง

ขณะนี้รัฐบาลท้องถิ่นกู้เงินจากระบบธนาคารสูงถึง 3 ล้านล้านหยวน ส่วนมากเอามาลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ลงทุนสร้างโรงงาน สร้างถนนหนทาง และอื่น ๆ จนเกินตัว สินค้าที่บริษัทหรือรัฐบาลท้องถิ่นลงทุนต่าง ๆ หรือสินค้านำเข้ามีปริมาณล้นตลาดทั้งตลาดภายในและภายนอก

ประเทศจีนกำลังเป็นประเทศขาดแคลนแรงงาน หน่วยงานต่าง ๆ ประกาศรับพนักงาน แต่มีคนมาสมัครไม่เต็มตามจำนวนที่ต้องการรับ จากนโยบายมีบุตร 1 คนทำให้มีคนในวัยทำงานในสัดส่วนที่น้อยลง คนสูงอายุมีสัดส่วนที่สูงขึ้น

การประกาศลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน เป็นการชะลอการขาดแคลนแรงงาน และการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

การที่จีนประกาศลดอัตราการขยายตัว จากที่เคยประกาศไว้ว่าจะขยายตัวร้อยละ 7.5 มาเป็นร้อยละ 6.3 อาจจะเป็นการปรับความสมดุลทางเศรษฐกิจระหว่างการ

ขยายตัวทางเศรษฐกิจ มาเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ จากที่มูลค่าสินค้าส่งออกขยายตัวในอัตราเลข 2 หลักนานกว่า 2 ทศวรรษ มาเป็นการ

ส่งออกลดลงถึงร้อยละ 3.1 ถือว่าเป็นการลดลงของการส่งออกเป็นประวัติการณ์ของจีน จีนจะไม่ยอมเป็นหัวรถจักรของเศรษฐกิจของโลกกระนั้นหรือ จีนกำลังคิดอะไรอยู่

เป็นไปได้ว่านโยบายของจีนเป็นไปตามกระแสของโลก ประกาศชะลอตัวลง ลดอัตราการขยายตัวของการส่งออก หันมาใช้ทรัพยากรทางการเงินของตน ปรับเงินเดือนข้าราชการ ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ ลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน สนับสนุนการบริโภคภายในประเทศ ปรับปรุงโครงสร้างการเงินสินเชื่อเสียใหม่ ไม่ให้เกิดฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ชะลอการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการเพื่อไม่ให้สินค้าล้นตลาด ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั้งในประเทศจีนและทั่วโลก ตามทฤษฎีของจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ เพราะทฤษฎีเศรษฐกิจมหภาคของจีนเป็นไปตามทฤษฎีของเคนส์บวกกับทฤษฎีของคาร์ล มาร์กซ์ มาโดยตลอด

การที่ญี่ปุ่นลดค่าเงินลง เพิ่มการส่งออก สนับสนุนการท่องเที่ยวของชาวต่างประเทศในญี่ปุ่น จีนยืนค่าเงินของตัวเองไว้ กดการส่งออก เพิ่มการนำเข้า สนับสนุนการบริโภคในประเทศ ส่งเสริมการลงทุนนอกประเทศ ยุโรปยังแย่ต่อไป สหรัฐเริ่มทรงตัวได้ ล้วนมีผลต่อเศรษฐกิจของโลกอย่างมหาศาล หรือว่าจีนยอมพักเหนื่อย เลี้ยงญี่ปุ่น ยุโรป และอเมริกาให้ฟื้นตัว เพื่อเศรษฐกิจของโลกจะได้ไม่

แย่ไปกว่านี้ เป็นเรื่องที่น่าคิดว่าเราจะต้องวางตัวอย่างไร ควรจะวางนโยบายของเราอย่างไร เพื่อให้อยู่รอดปลอดภัยจากการเปลี่ยนนโยบายของยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจของโลกในคราวนี้ จะปรับเปลี่ยนตัวเองสำหรับโอกาสที่จะมาถึงอย่างไร

ถ้ามีโอกาสพบผู้ใหญ่ของจีนจะลองถามเขาดู

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////////////////////////

พาณิชย์เตรียมเปิดประมูลมันสำปะหลัง 2.8 แสนตัน !!??

พาณิชย์เตรียมเปิดประมูลมันสำปะหลังจำนวน 2.8 แสนตัน คาดสัปดาห์หน้าจะประกาศร่างทีโออาร์ ส่วนภาคเอกชนมีสิทธิ์เข้าตรวจสต๊อกและคุณภาพมันสำปะหลังได้เต็มที่

นายนิวัฒน์ธำรงค์ บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายมันสำปะหลัง ว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายมันสำปะหลังครั้งนี้ ได้เชิญนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมรับฟังแนวทางการใช้พืชเศรษฐกิจเพื่อนำมาใช้เป็นพลังงานทดแทน ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้มีการประกาศร่างหลักเกณฑ์การเปิดประมูลสำปะหลัง (ทีโออาร์) เพื่อให้ภาคเอกชนที่สนใจเข้ายื่นซองเพื่อเสนอาคาในการประมูลมันสำปะะหลังที่เหลืออยู่ในสต๊อกรัฐบาลโดยเฉพาะมันเส้นจำนวน 2 แสนตัน โดยจะประกาศประมูลเป็นการทั่วไป

ทั้งนี้ คาดว่าทางกรมการค้าต่างประเทศจะสามารถประกาศร่างทีโออาร์ได้ในวันที่ 5 สิงหาคมนี้ และให้เวลาภาคเอนที่สนใจสามารถตรวจสอบสต๊อกมันสำปะหลังของรัฐบาลได้ในโกดังต่างๆภายใน 10 วัน ก่อนที่จะเสนอยื่นซองประมูลในอีก 2 สัปดาห์ข้าวหน้า โดยการประมูล 2 แสนตันนั้น เป็นการประมูลเพื่อการส่งออกเท่านั้น นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้อนุมัติให้นำมันเส้นค้างสต๊อกของปี 51/52 ที่มีจำนวน 1.2 แสนตัน ที่เกิดจากกรณีมีปัญหาจากการฟ้องร้องว่าการรับจำนำที่ผ่านมา เกิดปัญหาทรุจริตช่วงการรับจำนำในช่วงนั้น แต่หลังจากที่ศาลพิจารณาตัดสินแล้ว หลังสิ้นสุดคดีความมีปริมาณมันสำปะหลังเหลือ 8 หมื่นตัน ซึ่งที่ประชุมจึงได้อนุมัติให้มันเส้นจำนวนมดังกล่าว นำออกมาประมูลในคราวเดียวกันด้วย โดยจะเป็นการเปิดประมูลเป็นการทั่วไป เพื่อนำมันเส้นไปใช้เกี่ยวกับอาหารสัตว์ ซึ่งรวมการประมูลครั้งนี้ทั้งเพื่อการส่งออกแะใช้ในประเทศ รวมทั้งสิ้น 2.8 แสนตัน และเชื่อว่าราคาประมูลก็น่าจะได้ราคาที่เท่าเป้าไว้

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงพลังงานจัดตั้งคณะทำงานเพื่อไปวิเคราะห์และศึกษารายละเอียดการรับจำนำมันสำปะหลัง รวมทั้งประเมิน กำหนดแผนการรับจำนำมันสำปะหลังในฤดูกาลหน้า เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เกิดความชัดเจน โดยคาดว่าปริมาณการรับจำนำในฤดูกาลหน้าไม่ต่ำกว่าปีที่ผ่านมา โดยผลผลิตมันสำปะหลังคาดอยู่ที่ 28 ล้านตัน โดยเป็นการส่งออก 18 ล้านตัน และใช้ในประเทศ 10 ล้านตัน ดังนั้นเชื่อว่าจะสามารถเปิดรับจำนำได้ในปริมาณ 10 ล้านตัน แต่ยังไม่สามารถบอกตัวเลขราคารับจำนำมันสำปะหลังได้ เพราะต้องให้คณะทำงานไปพิจารณารายละเอียดให้้เสร็จโดยเร็ว

ที่มา.ทีนิวส์
///////////////////////////////////////////////////////

วันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2556

สธ.เฝ้าระวังสุขภาพ 5 ปี น้ำมันรั่วเกาะเสม็ด !!

โดย : ดวงกมล สจิรวัฒนากุล

อย่านำปลาทะเลหรือสัตว์ทะเลที่ตายและถูกคลื่นซัดเข้าฝั่งมารับประทาน ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสดิน สัตว์น้ำ ที่มีการปนเปื้อน"นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์

นอกจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ต้องเร่งแก้ไขเพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากเรือบรรทุกน้ำมันรั่ว 50,000 ลิตร บริเวณอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จังหวัดระยองแล้ว ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยในพื้นที่ต่างรู้สึกกังวล ทั้งสารปนเปื้อนจากกลิ่นคราบน้ำมันที่ติดอยู่ตามชายหาด การปนเปื้อนในน้ำทะเล และอาหารทะเลที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว

ซึ่งจากข้อมูลกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า น้ำมันดิบ ประกอบด้วย สารเคมีหลายชนิดที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ได้แก่ ละอองน้ำมัน (oil fumes) ฝุ่นละออง (particulate matter from controlled burns) สารอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile Organic Compounds, VOCs) สารโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไอโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons, PAHs) และ โลหะหนัก (Heavy Metals) เช่น สารปรอท (Mercury) สารหนู (Arsenic) และ สารตะกั่ว (Lead) 

ด้วยเหตุนี้กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ดำเนินมาตรการในการเฝ้าระวัง โดยได้มอบหมายให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยอง และสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ร่วมประเมินผลกระทบและวางแผนการดำเนินงานในการเฝ้าระวังสุขภาพประชาชนในพื้นที่ทั้งระยะเร่งด่วนและในระยะยาว

เบื้องต้นได้มีการจัดจุดตั้งรับที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) เกาะเสม็ด เพื่อดูแลสุขภาพประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้หากประเมินพบว่ามีผลกระทบที่เป็นวงกว้าง อาจพิจารณาจัดเป็นหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ออกให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึง

นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงการลงพื้นที่เกาะเสม็ดเพื่อติดตามผลกระทบด้านสุขภาพอนามัยที่ผ่านมาว่า ในการวางแผนดูแลสุขภาพประชาชนจากผลกระทบของน้ำมันดิบรั่วในทะเล แบ่งเป็น 2 ระยะ โดยในระยะเร่งด่วน กระทรวงสาธารณสุขวางระบบไว้ 4 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.การเฝ้าระวังผลกระทบเฉียบพลันจากน้ำมันดิบ โดยตั้งจุดตรวจคัดกรองและเก็บปัสสาวะของผู้ปฏิบัติงานกู้ภัยในการตักน้ำมันและกำจัดคราบน้ำมันภายหลังเลิกงานแล้ว

ซึ่งมีทั้งพนักงานของบริษัท ปตท. อาสาสมัคร ทหารเรือและประชาชนทั่วไปที่อาศัยในพื้นที่ เพื่อตรวจหาสารทีที มิวโคนิค แอซิด (t-t muconic Acid) ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของสารเบนซีน ซึ่งเป็นสารที่อยู่ในน้ำมันดิบและเข้าสู่ร่างกายจากการสูดดม หากสะสมในร่างกายเป็นเวลานาน อาจก่อให้เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้ โดยมีเจ้าหน้าที่จากศูนย์อาชีวอนามัย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยอง สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมือง โรงพยาบาลมาบตาพุด โรงพยาบาลระยอง ร่วมดำเนินการ โดยได้เก็บตรวจจำนวน 300 คน ส่งตรวจวิเคราะห์ที่โรงพยาบาลระยอง โดยค่าปกติสารนี้ในปัสสาวะต้องมีไม่เกิน 500 ไมโครกรัมต่อกรัมครีเอตินีน

2.ตั้งหน่วยปฐมพยาบาลที่อ่าวพร้าว ดูแลรักษาอาการป่วย โดยทีมจากโรงพยาบาลระยอง ร่วมกับหน่วยพยาบาลของบริษัท ปตท.ตลอด 24 ชั่วโมง 3.ตั้งจุดดูแลรักษาผู้ป่วยที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเกาะเสม็ด

และ 4.การเฝ้าระวังคุณภาพน้ำทะเล และอาหารทะเล เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยประชาชนผู้บริโภค โดยทางศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ชลบุรี ได้เก็บตัวอย่างกุ้ง หอยแมลงภู่ ปู ปลา ในพื้นที่ที่เกิดเหตุน้ำมันรั่ว รวมทั้งน้ำทะเลเพื่อมาตรวจวิเคราะห์เป็นข้อมูลพื้นฐาน เนื่องจากในช่วง 1-2 วันนี้ คาดว่าผลกระทบจะยังไม่เกิด และอีก 15 วัน จะเก็บมาตรวจซ้ำ เพื่อวิเคราะห์ความแตกต่างหรือสิ่งผิดปกติ เพื่อติดตามการปนเปื้อนโลหะหนัก รวมทั้งสารพาห์ซึ่งเป็นตัวก่อมะเร็งได้

ด้าน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า จากการติดตามผลกระทบต่อสุขภาพ ขณะนี้มีรายงานผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเกาะเสม็ด ระหว่างวันที่ 30-31 กรกฎาคม จำนวน 102 ราย ส่วนใหญ่มีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ซึ่งมาจากการสูดกลิ่นของน้ำมันดิบเข้าไป

อย่างไรก็ตามปัญหาที่น่าห่วงจากการสอบถามผู้ที่ไปดำเนินทำลายคราบน้ำมันและเก็บปัสสาวะส่งตรวจพบว่า ส่วนหนึ่งไม่ได้ใช้อุปกรณ์ป้องกันการสูด จึงต้องมีการติดตามตรวจสุขภาพอย่างต่อเนื่อง

โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ประชุมด้านการแพทย์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและวางแผนจัดระบบโดยให้โรงพยาบาลระยองดูแลอาสาสมัคร อสม. ในกลุ่มทหารเรือได้ประสานโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ติดตาม ส่วนพนักงานบริษัทได้ประสานให้บริษัทติดตาม

"กระทรวงสาธารณสุขล่าสุดได้เก็บปัสสาวะผู้ปฏิบัติงานและประชาชนที่สัมผัสคราบน้ำมันดิบจำนวน 604 รายแล้ว เพื่อดำเนินการส่งตรวจเฝ้าระวังและมอบให้โรงพยาบาลระยองซึ่งเป็นศูนย์อาชีวเวชศาสตร์ของกระทรวงเป็นศูนย์ข้อมูลและเป็นศูนย์กลางในการติดตามดูแลผู้สัมผัสสารกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง 2-5 ปี"ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าว และว่า นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขยังได้วางแผนติดตามสุขภาพประชาชน โดยร่วมมือกับกรมประมง กรมควบคุมมลพิษ เพื่อร่วมติดตามประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยเฉพาะจากห่วงโซ่อาหาร

จึงขอแนะนำให้ประชาชนอย่านำปลาทะเลหรือสัตว์ทะเลที่ตายและถูกคลื่นซัดขึ้นมาที่ชายหาดมารับประทาน หลีกเลี่ยงการสัมผัสดิน สัตว์น้ำ หรือวัสดุต่างๆ ที่มีการปนเปื้อน เช่น ลงเล่นน้ำ เล่นกีฬาทางน้ำ หากสัมผัสคราบน้ำมัน ควรรีบล้างด้วยสบู่และน้ำสะอาดทันที สำหรับการเข้าไปอยู่อาศัยหรือท่องเที่ยวในบริเวณอ่าวพร้าว ควรงดเว้นจนกว่าการเก็บกวาดคราบน้ำมันจะเสร็จสิ้น 

ขณะที่ รศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี และรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี ได้แสดงความคิดเห็นต่อกรณีเหตุการณ์น้ำมันรั่วในครั้งนี้ว่า คิดว่ากรณีน้ำมันรั่วที่อ่าวพร้าว เกาะเสม็ด ในแง่สุขภาพต่อคนคงมีไม่มากและยังไม่น่าเป็นห่วง ซึ่งปัญหาขณะนี้น่าจะอยู่ที่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศวิทยามากกว่า ทั้งสภาพแวดล้อม สัตว์ทะเล

และเท่าที่ติดตามสถานการณ์ปัญหาน้ำมันรั่วในต่างประเทศ แม้แต่อ่าวเม็กซิโก ประเทศอเมริกาก็เป็นในในทางเดียวกันที่ผลกระทบต่อสุขภาพมีไม่มาก และที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามาตรการของกระทรวงสาธารณสุขจึงเน้นเฝ้าระวังเฉพาะคนงานหรือประชาชนที่ลงไปสัมผัสและกำจัดน้ำมันดิบเท่านั้น ถือเป็นแนวทางที่ถูกต้อง

ทั้งนี้ ในตัวน้ำมันดิบแม้จะมีสารไฮโดคาร์บอน ซึ่งสารชนิดนี้ไม่ถือว่าเป็นอันตรายมากนัก ส่วนการปนเปื้อนโลหะหนักนั้น เนื่องจากน้ำมันดิบที่ขนถ่ายมาแต่ละที่จะมีความแตกต่างกัน จึงไม่มีใครบอกได้ถึงผลกระทบจากการปนเปื้อนนี้ ซึ่งในแง่สุขภาพคงต้องมีมาตรการเฝ้าระวังระยะยาวเท่านั้น โดยกระทรวงสาธารณสุขก็ได้มีการดำเนินการเช่นกัน

"ในแง่สุขภาพขณะนี้ประชาชนไม่ต้องตื่นตระหนก แต่ที่น่าเป็นห่วงน่าจะเป็นเรื่องของระบบนิเวศวิทยามากกว่า และเมื่อเปรียบเทียบกับการปนเปื้อนน้ำมันตามท่าเรือหรือตามลำคลองบางแห่งก็มีการปนเปื้อนน้ำมันในน้ำเช่นกัน เพียงแต่กรณีที่เกาะเสม็ดอาจมีมากกว่า"หัวหน้าศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี กล่าว

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////////////////////

มาตรการ : สื่ออนาจารบนหลักเสรีภาพ !!??

เปิดดูมาตรการสงครามกับสื่ออนาจารของแคเมอรอน: ควรเอามาใช้หรือไม่?

เกิดเรื่องร้อนแรงในบอร์ดกสทช. ช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ด้วยว่ามีสมาชิกบอร์ดฝั่งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงท่านหนึ่ง ให้ความเห็นเป็นการส่วนตัวว่าเป็นห่วงเนื้อหาของซีรี่ส์ชื่อดังที่ฉายทางเคเบิลอยู่ในขณะนี้ว่า มีเนื้อหาล่อแหลมไม่เหมาะสม พร้อมถึงการเปรยว่ากรณีเช่นนี้อาจใช้อำนาจของกสทช. เข้าไปควบคุมเนื้อหา

ความเห็นส่วนตัวนี้เองที่สร้างเสียงแตกในบอร์ด จนทำให้มีเสียงวิจารณ์ว่าหากบอร์ดฝั่งกิจการกระจายเสียงใช้อำนาจควบคุมเนื้อหาทางโทรทัศน์และวิทยุแล้ว ท้ายที่สุดผู้บริโภคจะหันไปพึ่งช่องทางโทรคมนาคมด้วยอินเตอร์เน็ต ที่มีความเสรีกว่าเสียแทน

แต่ทันใด ความเชื่อที่ว่าอินเตอร์เน็ตเป็นโลกการสื่อสารที่เสรีสุดขีดนั้นก็ต้องถูกสั่นคลอน เมื่อนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร เดวิด แคเมอรอน ประกาศผลักดันมาตรการควบคุมสื่ออนาจารบนอินเตอร์เน็ต ซึ่งหากทำสำเร็จแล้ว ก็จะถือว่าเป็นชาติตะวันตกเจ้าแรก ที่ออกมาตรการลักษณะนี้



photo from http://megawestgarth.blogspot.com/

“ในฐานะของนักการเมือง ในฐานะของการเป็นพ่อคนหนึ่ง ผมคิดว่าถึงเวลาต้องดำเนินการแล้ว นี่เป็นเรื่องของการที่ว่าเราจะปกปักษ์รักษาเยาวชน และความเยาว์วัย ของพวกเขาได้อย่างไร” คาเมรอนกล่าวปาฐกถา ก่อนนำเสนอมาตรการดังนี้
1. คำค้นหาที่เกี่ยวโยงกับภาพอนาจารเด็ก จะถูกบล็อก
2. ภาพอนาจารที่รุนแรงสุดโต่ง หรือมีลักษณะจำลองการข่มขืน จะผิดกฎหมาย
3. อินเตอร์เน็ตในบ้านทุกหลัง จะถูกตั้งค่าบล็อกเว็บไซต์อนาจารเป็นค่าเริ่มต้น หากต้องการเลิกบล็อก ผู้ใช้งานต้องทำเรื่องขอไปยังผู้ให้บริการเป็นรายกรณีไป

นี่เป็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ โดยเฉพาะสำหรับประเทศไทยที่กำลังวางรากฐานระบบการสื่อสารทั้งในแง่โทรคมนาคม และการกระจายเสียงในรูปแบบใหม่ การใช้มาตรการควบคุมเนื้อหาเป็นทางเลือกที่ต้องถูกยกมาถามทางถามความเห็นอยู่ไม่วันใดก็วันหนึ่ง และมันก็ชวนแตกแยกได้ในทุกครั้งที่ถูกหยิบยกขึ้นมา เช่นนี้แล้วในแง่ปรัชญา จะให้คำตอบอะไรได้บ้าง และจะให้ความเห็นอย่างไรกับมาตรการทั้ง 3 ข้อของคาเมรอน?
บล็อกภาพอนาจารเด็ก

มันเป็นหนังเก่าที่ฉายซ้ำชั่วกัลปาวสาน ฝั่งหนึ่งอ้างว่าการแทรกแซงของรัฐเพื่อปกปักษ์รักษาคุณค่าที่เชิดชูของพลเมืองเป็นเรื่องจำเป็น การควบคุมเนื้อหาการแสดงออกของสื่อจึงสามารถทำได้ ส่วนอีกฝั่งก็ไม่เชื่อถือเรื่องคุณค่าพลเมือง เพราะเชื่อว่าคนแต่ละคนเลือกเองได้ว่าอะไรดีที่สุดสำหรับชีวิตตนเอง ดังนั้นรัฐไม่ควรเข้าแทรกแซงการแสดงออกหรือทางเลือกการเสพสื่อของใคร ยกเว้นว่าใครเกิดใช้เสรีภาพนั้นไปขัดขวางทางเลือกของคนอื่น

แต่เดี๋ยวก่อน??! เรื่องภาพอนาจารเด็กนี้ อาจเป็นเพียงไม่กี่เรื่องที่ทั้งสองฝ่ายจับมือร้องเพลงสามัคคีชุมนุมกันได้ เพราะหลักการใช้เสรีภาพแบบคลาสสิคนั้น มีเงื่อนไขสำคัญอยู่ที่วุฒิภาวะ นั่นคือ หากมีวุฒิภาวะแล้ว เราจึงจะเชื่อได้ว่าบุคคลคนนั้นสามารถเลือกสิ่งที่เหมาะสมกับชีวิตของตัวเองได้จริง

แต่หากยังไม่มีวุฒิภาวะ รัฐยังต้องคอยดูแลอยู่ และภาพอนาจารเด็กก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้ที่ยังไม่มีวุฒิภาวะ เด็กอาจยังไม่รอบรู้เพียงพอถึงผลกระทบหากภาพหรือคลิปของตัวเองถูกเผยแพร่ออกไปในวงกว้าง

ดังนั้น การบล็อกคำค้นภาพอนาจารเด็กเป็นเพียงการเสริมประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายให้หนักแน่นจนถึงต้นตอ ไม่ใช่เรื่องการนำเสนอประเด็นใหม่แต่อย่างใด
ตั้งค่าบล็อกเว็บไซต์อนาจารเป็นค่าเริ่มต้น

สื่ออนาจารกับพื้นที่สาธารณะไม่ใช่ของที่ไปด้วยกันได้ เรามักไม่ให้โฆษณาคอลเลคชั่นหนัง AV ใหม่ล่าสุดปะปกหราอยู่ในบิลบอร์ดกลางใจเมืองกันได้ง่ายๆ ซึ่งนี่เป็นเรื่องแปลกสำหรับผู้ที่เชื่อในหลักการเสรีภาพ เพราะถ้าการใช้สิทธิแสดงออกนั้นไม่ได้ไปขัดขวางการใช้สิทธิของผู้อื่นอย่างร้ายแรง คือไม่มีใครจะได้รับอันตรายทางกายหรือทางใจใดๆ แบบชัดแจ้ง สาเหตุใดจึงทำไม่ได้

เหตุการณ์จำลองนี้เปิดเผยให้เห็นว่ามีอีกหลักการสำคัญเกี่ยวกับการแสดงออกซ่อนอยู่ คือหลักการหลีกเลี่ยงการแสดงออกที่กระทบความรู้สึกต่อผู้อื่นอย่างร้ายแรง ด้วยการเลือกใช้มาตรการที่มีประสิทธิภาพที่สุด และมีผลกระทบน้อยที่สุด

เราจะพบว่าผู้คนในท้องถนนมีความหลากหลาย และเราก็ไม่มีทางรู้แน่ชัดได้ว่าใครจะโอเคหรือไม่โอเคกับการแสดงออกในเรื่องเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ใครที่ไม่โอเคมากๆ ถึงขนาดยินยอมจะเสียเงินเสียทองฟ้องร้องเอาความกับผู้เผยแพร่ให้จนได้ เมื่อเรายังไม่มีเทคโนโลยีราคาถูกที่ตรวจจับสมองคนดู เลือกสื่อสารแต่กับเฉพาะคนที่โอเคแล้ว ก็ต้องจำใจเลือกมาตรการที่มีประสิทธิภาพที่สุดในขณะนี้คือ ไม่ให้มีสื่ออนาจารในที่สาธารณะ แต่ให้หลบไปในสถานที่เฉพาะทางแทน

กลับมาดูมาตรการอินเตอร์เน็ตบ้าง เราจะเห็นว่าแคเมอรอน เหมือนจะสับสนกับสถานะทางอินเตอร์เน็ตพอสมควร จริงอยู่ที่ว่าสิ่งใดที่อยู่บนเว็บไซต์ ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ แต่การจะเข้าถึงได้นั้น ต้องมีขั้นตอน มีความตั้งใจจะเข้าถึงอย่างแท้จริงเท่านั้น จึงจะเข้ารับชม รับโหลดได้ อินเตอร์เน็ตจึงมีลักษณะ on-demand ต่างจากการวางภาพในที่สาธารณะ หรือบนจอโทรทัศน์ที่ผู้ไม่ได้ตั้งใจจะดู อาจเผลอดูโดยไม่ตั้งใจได้

ดังนั้น มาตรการตั้งค่าบล็อกอินเตอร์เน็ตนั้น ล้นเกินกว่าจะมีประสิทธิภาพได้ (เพราะคนที่ไม่คิดจะดู ก็ไม่ตั้งใจจะเข้าไปดูอยู่แล้ว และผู้ที่คิดจะดูไม่ว่าเขาจะมีวุฒิภาวะหรือไม่ เขาก็ย่อมหาทางขออนุมัติแก้บล็อกได้ในท้ายที่สุดอยู่แล้ว) ทั้งยังสร้างภาระกับผู้ใช้งาน และผู้ให้บริการมากเกินไป จึงเป็นมาตรการที่ไม่เหมาะสม



Kate Winslet by Titanic from Altfg.com
ทำให้ภาพอนาจารที่รุนแรงสุดโต่งผิดกฎหมาย

สตรีนิยมบางกลุ่ม แม้จะผูกพันกับเสรีนิยม แต่กลับเห็นว่าเราควรแบนสื่ออนาจารที่มีลักษณะกดขี่ผู้หญิง ใช้ความรุนแรง ทรมาน ใช้เป็นเครื่องมือบำเรอความสุข ฯลฯ นักสตรีนิยมเหล่านี้ไม่ได้ต่อต้านเพียงเพราะภาพเหล่านี้มันกระทบความรู้สึก แต่ต่อต้านด้วยข้อหาที่ร้ายแรงกว่านั้นคือ การขัดขวางสิทธิพลเมือง ในเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศ การไม่เลือกปฎิบัติ การหยุดใช้ความรุนแรงต่อสตรี

สื่ออนาจารที่มีภาพรุนแรงเหล่านี้ บิดเบือนเสียงของสตรี เช่น ทำให้คำว่า “ไม่” กลับกลายเป็นเสียงของการชี้ชวน ทำให้การบอกกล่าวเล่าเรื่องความรุนแรงในครัวเรือน กลายเป็นเรื่องตลกโปกฮาในสังคม ฯลฯ

ฟากฝั่งที่เสรีนิยมบางกลุ่มอาจมองว่านี่คือกระบวนการที่อันตรายในทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสตรีนิยมกลุ่มนี้หันไปจับมือกับกลุ่มขวาจัด แต่ท้ายที่สุดกลุ่มเหล่านี้ก็ยังหาอะไรมาคัดง้างอย่างตรงประเด็นกับข้ออ้างของสตรีนิยมกลุ่มนี้ได้ ซึ่งนี่ทำให้เราต้องตั้งเครื่องหมายคำถามไว้ท้ายมาตรการนี้ เพราะคำตอบสุดท้ายยังไม่ชัดเจน

แต่ข้อสังเกตของข้ออ้างนี้คือ สตรีนิยมกลุ่มนี้ละเลยธรรมชาติของสื่ออนาจารกลุ่มนี้ที่มักวางไว้ในจุดที่ลึกของเว็บไซต์ หรือวางไว้ในเว็บไซต์เฉพาะทาง นั่นคือ หากไม่ตั้งใจไปดูก็จะไม่เห็น ดังนั้น ความแพร่หลายย่อมมีน้อยมาก เมื่อเทียบกับหนังอนาจารแบบปรกติ ไม่กดขี่

และประเด็นที่สองคือ สตรีนิยมกลุ่มนี้ละเลยการมีอยู่ของหนังอนาจารที่มีความรุนแรงในทางกลับกัน คือผู้หญิงใช้ความรุนแรงกับผู้ชายซึ่งแสดงให้เห็นว่าแม้แต่ในสื่ออนาจารก็มีการต่อสู้ ต่อรองพื้นที่ความหมายของเพศสภาพกันเองในแบบของวงการนี้ ไม่จำเป็นเลยที่ต้องยืมมือของรัฐเข้ามาร่วมต่อสู้ด้วย

สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่จากข้อถกเถียงเรื่องการควบคุมเนื้อหาโดยเฉพาะกับเหตุการณ์นโยบายของแคเมอรอนนี้ ไม่ว่าผลลัพธ์ท้ายที่สุดจะออกมาเป็นอย่างไร แต่ท้ายที่สุดแล้ว เราทุกคนจะได้รับประโยชน์จากการได้รู้ว่าการถกเถียงในเรื่องนี้ ปัจจุบันมีมากกว่าแค่เรื่องอนุรักษ์ หรือเสรี เพราะแม้ผู้ที่เชื่อในความเสรี ก็อาจค้านเสรีภาพในบางอย่างได้ และข้ออ้างที่ดูเหมือนจะถูกต้องในสายตาเรา บางครั้งก็ยังต้องใช้ความพยายามมากกว่าปรกติในการสนับสนุนก็เป็นได้

ที่มา.Siam Intelligence Unit
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ปัญหาแผ่นดิน !!??

โดย.พญาไม้ทูเดย์,บางกอกทูเดย์

เป็นรัฐบาลมานานเกือบจะสองปีแล้ว..แต่ปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ก็คือปัญหาความไม่สามัคคีปรองดองของคนในชาติ..

คำว่า..คนในชาติ..ก็คือมวลมหาประชาชนทั้งสิ้นทั้งมวล..ไม่ใช่อ้ายอีไม่กี่คนที่เกาะกลุ่มรวมตัวกันสร้างปัญหาให้กับชาติสร้างเรื่องราวอุบาทว์ให้กับแผ่นดินกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
คำว่า..คนในชาติ..คือพี่น้องประชาชนคนไทยที่เดินทางไปคูหาเลือกตั้ง..แล้วกาบัตรเลือกคนเลือกพรรคให้มาเป็นรัฐบาลและฝ่ายค้าน..

เขาเหล่านั้นคือท่านทั้งหลาย..ที่เป็นตัวจริงเสียงจริงของประชาชนชาวไทย..ไม่ใช่รากษกจกเปรตที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่กับการสร้างเรื่องราวร้าวฉานให้กับแผ่นดินไทย

ท่านทั้งหลายไม่ว่าจะใส่เสื้อสีไหน..ท่านก็คือประชาชนพลเมืองของประเทศไทย..ที่ใส่ใจในปัญหาของแผ่นดิน..และออกมาคัดค้านหรือสนับสนุนไปตามเหตุผลและความเชื่อส่วนตน..

แต่เพราะรากษกการเมืองทั้งหลาย ไปชักจูงให้เกิดการทำผิดกฏหมาย..กลายเป็นผู้ต้องหามีโทษปรับโทษจำ..

โทษเช่นว่า..ไม่ใช่เกิดจากกมลสันดาน..แต่เป็นพฤติกรรมของคนที่รักในชาติในแผ่นดิน..รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง..จึงมีหน้าที่ที่จะต้อง..คืนอิสระภาพให้กับท่านเหล่านั้น..

และเพราะท่านเหล่านั้น..รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจึงได้เกิดขึ้นมา..ประชาธิปไตยที่สว่างไสวอยู่ในบัดนี้เวลานี้..เพราะการเสียสละของพวกท่านเหล่านั้น..หลายๆ ท่านอุทิศชีวิตเพื่อสิ่งนี้..
รัฐสภารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง..ต้องทำในสิ่งที่ต้องทำ..ต้องกล้าที่จะทำในสิ่งที่ต้องกล้า..ไม่ว่ามันจะต้องเผชิญหน้ากับอะไร..

เพราะในที่สุดของที่สุดแล้ว..ประชาชนจะเป็นผู้สร้างปรากฏการณ์..เดียรฉานจะไม่มีวันคงทนคงอยู่..
สนธิ ลิ้มทองกุล..ยังว่าไว้ว่า.."ประชาธิปัตย์เป็นคนเอาเชือกมาผูกคอพวกเรา แต่เป็นพรรคเพื่อไทยที่พยายมจะเอาเชือกออกจากคอเรา"

////////////////////////////////////////////////////////////////////////

เสียงสะท้อนชาวระยอง PTTGC ปิดข้อมูล !!??


น้ำมันรั่ว,คราบน้ำมัน,เกาะเสม็ด,พีทีทีจีซี,ปตท.

แม้จะมีการเก็บคราบน้ำมันดิบที่อ่าวพร้าวได้หมด ใน 1-2 สัปดาห์ แต่ผลกระทบต่ออาชีพประมง กลุ่มชาวประมงเรือเล็กพื้นบ้าน จะกระทบไปอีกเป็นปี

คราบน้ำมันดิบสีดำ บริเวณหาดทรายจำนวนมาก ค่อยๆ ถูกเก็บกู้ขึ้นมา หลังสถานการณ์ท่อขนถ่ายน้ำมันดิบขนาด 16 นิ้ว ของ บริษัท ปตท. โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ พีทีทีจีซี รั่วกลางทะเลเมื่อเช้าของวันเสาร์ที่ 27 ก.ค. ส่งผลให้น้ำมันดิบไหลทะลักออกสู่ทะเลประมาณ 50 - 70 ตัน แพร่กระจายบนผิวน้ำเป็นบริเวณกว้าง แม้ว่าตลอด 6 วันที่ผ่านมา ปตท.จะระดมกำลังเจ้าหน้าที่จากไออาร์พีซี และได้รับความช่วยเหลือจากทหารเรือ นำพลทหารเรือกว่า 200 ราย มาช่วยเก็บกู้คราบน้ำมันดิบที่ลอยเข้ามายังอ่าวพร้าว

ทว่าเสียงสะท้อนจากคนระยอง โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ยังกังขาและต้องการคำตอบจากผู้บริหารพีทีทีจีซี ว่าเหตุใดการออกมาให้ข่าวในช่วงแรกหลังเกิดเหตุ จึงออกมาระบุว่าน้ำมันดิบที่รั่วออกมามีจำนวนไม่มาก และสามารถควบคุมสถานการณ์ได้

"ช่วงแรกหลังเกิดเหตุท่อน้ำมันรั่ว สื่อหลายสำนักโทรเข้ามาสอบถามสถานการณ์จำนวนมาก เพราะหากน้ำมันดิบลอยเข้ามาสู่เกาะเสม็ด ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงก็คือธุรกิจท่องเที่ยว ผมจึงตอบสื่อไปว่ามันรั่วไม่เยอะ เพราะทาง ปตท.เขาบอกว่าไม่เยอะ สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ไม่ต้องเป็นห่วง แต่ที่ไหนได้เพียงชั่วข้ามคืน คราบน้ำมันจำนวนมากลอยเข้ามายังอ่าวพร้าว ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะเสม็ด กระทบผู้ประกอบและธุรกิจท่องเที่ยวอย่างหนัก" นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดระยอง ลำดับเหตุการณ์ท่อน้ำมันดิบรั่วกลางทะเล ระหว่างการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชนจังหวัดระยอง(กกร.)

"เป็นที่ชัดเจนว่าเกิดความเสียหายค่อนข้างแรง จริงๆ แล้วเราอยากได้ความจริง แม้เหตุการณ์จะเกิดขึ้นไปแล้ว ไม่สามารถกลับมาแก้ไขได้ แต่ว่าตั้งแต่เกิดเหตุทำไมผู้บริหาร ปตท. ไม่ออกมาแจ้งให้กับผู้ประกอบการรู้เรื่องก่อน ให้ได้ทราบข้อมูลเบื้องต้นก่อน เพื่อที่จะได้หาลู่ทาง หาทางหนีทีไล่ รวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที ที่สำคัญคือตัวผมเองจะได้ตอบคำถามสื่อได้อย่างถูกต้อง"

นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดระยอง ประเมินว่า ผลจากคราบน้ำมันดิบลอยมาอ่าวพร้าว แม้จะเป็นเพียงแค่พื้นที่หนึ่ง เพียง 6% ของเกาะเสม็ดทั้งหมด แต่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวถือว่าได้รับผลกระทบหนักมาก เพราะขณะนี้ภาพที่แพร่กระจายออกไป ดูเหมือนว่าเกาะเสม็ดได้รับความเสียหายทั้งเกาะ การท่องเที่ยวพังหมด จากเดิมที่ทางสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว ประเมินไว้ว่ารายได้จากการท่องเที่ยวในปีนี้ ของจังหวัดระยองน่าจะสูงถึง 2 หมื่นล้านบาท แต่ขณะนี้ยอดจองห้องพักชะงัก แถมนักท่องเที่ยวแบบวันเดย์ทริปก็ไม่เดินทางเข้ามา ดังนั้นรายได้จึงตกฮวบ ซึ่งผลกระทบในครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการโรงแรม รีสอร์ทที่พัก เท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงไปถึง ธุรกิจขนส่ง ธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวด้วย เรียกได้ว่ากระเทือนไปทั้งระบบ

ขณะที่ นางอนุชิดา ชินศิรประภา ประธานหอการค้าจังหวัดระยอง บอกว่า หลังผลกระทบกับภาคธุรกิจการค้าและการท่องเที่ยว เริ่มเห็นภาพชัดเจน ทางหอการค้าจังหวัดระยองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงอยากเรียกร้องให้ทางผู้บริหาร ปตท.ให้ข้อมูลตามข้อเท็จจริง จากนี้เราอยากทราบระยะเวลาที่แน่นอนในการเก็บคราบน้ำมัน รวมถึงระยะเวลาในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ซึ่งตรงนี้เชื่อมโยงไปถึงบทบาทของทางผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ดังนั้นผลการประชุมคณะกรรมการรวมภาคเอกชน จะถูกรวบรวมและจัดทำเป็นหนังสือส่งถึงยังผู้ว่าราชการจังหวัดระยองโดยเร็วที่สุด

"ข้อเสนอเฉพาะหน้าเพื่อกู้คืนภาพลักษณ์เกาะเสม็ด เราต้องการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เป็นผู้ประสานไปยังผู้บริหาร ปตท. สอบถามเกี่ยวกับระยะเวลาในการเก็บกู้คราบน้ำมันที่บริเวณอ่าวพร้าว ว่าจะต้องใช้เวลาทั้งหมดนานขนาดไหน และเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการอีกกว่า 90% ที่ไม่โดนคราบน้ำมันน้อยที่สุด"

ทั้งนี้ การปิดรีสอร์ทที่ตั้งอยู่บริเวณอ่าวพร้าวอย่างน้อย 1 เดือน ซึ่งมีอยู่ 4 แห่ง ดำเนินการโดยผู้ประกอบการ 2 ราย และทำการประชาสัมพันธ์ออกไปว่ารีสอร์ทที่เหลือยังพร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยว เนื่องจากผลกระทบไม่ได้ครอบคลุมวงกว้างอย่างที่หลายคนตกใจ แต่ทาง ปตท.ก็ต้องชัดเจนในเรื่องของการชดเชยผู้ประกอบการด้วยเช่นกัน ซึ่งตรงนี้ต้องเป็นหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดระยองเป็นคนประสานงาน

ด้าน นายจัตุรัส เอี่ยมวรนิรันดร์ นายกสมาคมประมงเรือเล็กพื้นบ้านระยอง บอกว่า มั่นใจว่าหลังเกิดเหตุท่อน้ำมันดิบรั่วกลางทะเล ทาง ปตท.จงใจบิดเบือนข้อมูล เพราะกระแสข่าวที่ออกมา มีการระบุว่าปริมาณน้ำมันดิบที่รั่วออกมา มีเพียงแค่ 5 หมื่นลิตร แต่ก่อนหน้านั้นได้รับรายงานจากสมาชิกชาวประมงเรือเล็ก ที่ออกเดินเรือจับสัตว์น้ำใกล้กับบริเวณที่เกิดเหตุ ว่าพบคราบน้ำมันจำนวนมากลอยอยู่กลางทะเล และประเมินกันว่าปริมาณน้ำมันที่ลอยอยู่นั้น น่าจะมากถึง 1 แสนลิตร โดยระยะเวลาที่สมาชิกชาวประมง โทรมาแจ้งเหตุประมาณ 06.00 น. ของเช้าวันที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมา แต่ทาง ปตท.กลับเพิ่งออกมาให้ข้อมูลตอน 06.20 น. ช้ากว่าที่เพื่อนสมาชิกพบเห็นถึง 20 นาที

เขาบอกว่า จริงๆ แล้วเหตุการณ์ท่อส่งน้ำมันรั่วกลางทะเล บริเวณจังหวัดระยอง เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อประมาณ 7-8 ปี ที่ผ่านมา แต่ว่าเหตุการณ์ในครั้งนั้น ปริมาณน้ำมันที่รั่วออกมาน้อยกว่าครั้งนี้มาก และก็มีการใช้สารเคมีโปรย เพื่อให้น้ำมันเกาะตัวกันจมลงก้นทะเลเช่นกัน ซึ่งหากถามว่ากระทบกับชาวประมงเรือเล็กพื้นบ้านหรือไม่ ตอบได้เลยว่ากระทบการจับสัตว์น้ำ ช่วงนั้นหากปู ปลาหมึก และปลา ได้น้อยมาก การชดเชยเยียวยา ให้ค่าชดเชยแบบเป็นกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ กลุ่มหนึ่งมีประมาณ 10 กว่าคน ค่าชดเชยที่ได้รับกลุ่มละหมื่นกว่าบาท เฉลี่ยแล้วแบ่งกันได้คนละ 1,000 บาท เท่านั้น ถือว่าน้อยมาก

"แม้จะมีการเก็บคราบน้ำมันดิบที่อ่าวพร้าวได้หมด ในระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ แต่ผลกระทบต่ออาชีพประมง กลุ่มชาวประมงเรือเล็กพื้นบ้าน จะกระทบไปอีกเป็นปี เพราะการใช้สารเคมีโปรยให้คราบน้ำมันจมลง แน่นอนว่าจะไปทับแนวปะการัง ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ ทั้ง ปู กั้ง หอย กุ้ง และปลาประจำถิ่นตายหมด ขณะที่ปลาอื่นๆ ก็จะไม่ว่ายเข้ามาในบริเวณที่คราบน้ำมันหลุดลอยไป การออกเดินเรือแต่ละครั้งจึงต้องออกไกลกว่าเดิม ค่าน้ำมันก็สูงขึ้นตามไปด้วย แต่จับสัตว์ทะเลมาขายได้น้อยลง"

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
///////////////////////////////////////////////////////////////

วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

คราบน้ำมัน-น้ำท่วม-ข้าวเน่า เราเป็นเหยื่อของ คนโกหก !!??

เมื่อวันที่ 25 ก.ค.2556 ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาสั่งให้กรมชลประทาน ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่เกษตรกร รวม 24 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 8,261,211 บาท เนื่องจากจงใจหรือประมาทเลินเล่อในการบริหารจัดการน้ำ  กรณีเปิดประตูระบายน้ำคลองพระยาบรรลือ คลองพระพิมล คลองมหาสวัสดิ์ และคลองอื่นๆ ที่อยู่ทางทิศเหนือของ ต.บางระกำ อ.บางเลน จ.นครปฐม พร้อมๆ กัน  เมื่อคราวน้ำท่วมปลายปี 2549 จนทำให้น้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้านเสียหาย

ทั้งนี้ คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากนายชนะพล การดำริห์ และพวกรวม 24 คน ซึ่งเป็นเกษตรกรปลูกพืชสวนและเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ ต.บางระกำ ยื่นฟ้องกรมชลประทานต่อศาลปกครองกลาง กรณีที่ยอมเปิดประตูระบายน้ำคลองพระยาบรรลือ คลองพระพิมล คลองมหาสวัสดิ์ ตามที่ถูกชาวบ้านที่อยู่ด้านเหนือ อ.บางเลน ประกอบด้วยพื้นที่ จ.นนทบุรี ปทุมธานี กดดัน เพื่อระบายน้ำที่ท่วมขัง

โดยศาลปกครองเห็นว่า กรมชลประทานมีหน้าที่บริหารจัดการน้ำของประเทศ ซึ่งในเดือนพฤศจิกายน 2549 เกิดน้ำท่วมใหญ่ กรมชลประทานอ้างมีแนวทางปฏิบัติในการระบายน้ำทั้งหมด 8 ขั้นตอน แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ากลับไม่ได้ใช้แนวทางปฏิบัติดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเมื่อมีน้ำปริมาณมหาศาลค้างอยู่ด้านเหนือ ต.บางระกำ นานถึง 2-3 เดือน กรมชลประทานควรเร่งระบายน้ำ ด้วยการเปิดประตูระบายน้ำตามแผนการระบายน้ำอย่างเหมาะสม  พร้อมใช้เครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ ขุดลอกคูคลองในเขตรับผิดชอบ บริหารจัดการน้ำไปยังด้านที่มีอุปกรณ์ที่มีเครื่องมือทันสมัยในการระบายน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ด้านตะวันออก คือแม่น้ำบางปะกง

แต่กลับระบายน้ำลงมาด้านตะวันออก ซึ่งไม่มีอุปกรณ์ทันสมัยด้วยปริมาณน้ำที่ใกล้เคียงกันหรือมากกว่าทิศตะวันตก อีกทั้งยังพบว่า ไม่มีการแจ้งเตือนประชาชนผู้อยู่อาศัยในเส้นทางน้ำไหลผ่าน เช่น ใน ต.บางเลน ให้เฝ้าระวังและเตรียมแผนรองรับน้ำไหลบ่าอย่างเหมาะสม และเมื่อไม่สามารถบริหารจัดการน้ำค้างทุ่งได้ เพราะถูกกดดันจากผู้ได้รับความเดือดร้อนจากภาวะน้ำท่วม จึงเปิดประตูระบายน้ำทั้งหมดในคราวเดียวกัน เป็นเหตุให้น้ำไหลบ่าเข้าที่ดินทำกินของผู้ถูกฟ้องทั้ง 24 คน ภายใน 2 วัน ท่วมขังอยู่นาน 60 วัน ซึ่งพื้นที่สวนที่อาศัยของผู้ฟ้องคดีทั้งหมด ไม่เคยประสบภาวะน้ำท่วม แม้แต่ปี 2538 ที่มีเหตุน้ำท่วมใหญ่

ประกอบกับพบว่า กรมชลประทานไม่เคยมีหนังสือแจ้งเตือนภัยไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ให้ระวังภัยน้ำท่วมอันเนื่องมาจากการปล่อยน้ำจากเขื่อนต่างๆ จึงฟังได้ว่ากรมชลประทานกระทำการโดยประมาท ปราศจากความระมัดระวัง ทั้งที่เป็นหน่วยงานทางปกครองที่มีความรู้ในการบริหารจัดการน้ำโดยตรงของประเทศ กลับไม่ใช้ความเป็นมืออาชีพบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้แรงน้ำมหาศาล พังทลายคันดินของผู้ถูกฟ้องทั้งหมด เข้าท่วมพื้นที่ทำกินได้รับความเสียหายจริง ถือเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ถูกฟ้องทั้งหมดตามนัยมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงเป็นเหตุให้ต้องรับผิดชอบผลแห่งการกระทำละเมิด โดยต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีตามความเสียหายจริง พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ของเงินต้นของแต่ละคน  นับแต่วันที่ 10 พ.ย. 2549 อันเป็นวันทำละเมิดเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้ชำระให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนี้นอกจากศาลจะให้คู่กรณียื่นคำชี้แจงและรายละเอียดความเสียหายของผลผลิตทางการเกษตรแล้ว  ศาลยังแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับราคาสินค้าและผลผลิตของพืช และสัตว์ในแต่ละชนิด จากแหล่งต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่จะนำมาคิดคำนวณความเสียหายที่ผู้ถูกฟ้องคดีควรได้รับการชดใช้ อีกทั้งคำสั่งในการให้กรมชลประทานชดใช้ค่าเสียหายก็มีการระบุรายละเอียดความเสียหายในแต่ละรายการอย่างชัดเจน

เช่น ผู้ถูกฟ้องที่ 13 น.ส.พรวิสา เปาวะสันต์ ปลูกตะไคร้บนเนื้อที่ 1 ไร่ ค่าเสียหาย 1 หมื่นบาท พิเคราะห์ถ้อยคำน.ส.พรวิสาในชั้นไต่สวนเปรียบเทียบกับเอกสารท้ายฟ้องและข้อมูลจากเว็บไซต์พบว่า ตะไคร้ให้ผลผลิต 2 ตันต่อไร่ มีรายได้ทั้งหมด 15,000-20,000 บาทต่อไร่ จึงกำหนดให้ตามคำขอเป็นเงิน 10,000 บาท แต่เนื่องจากได้รับเงินช่วยเหลือตามมติคณะรัฐมนตรีไปแล้วบางส่วน จึงให้หักเงินช่วยเหลือออกจากค่าเสียหาย คงเหลือ 7,521 บาท ส่วนคำขอค่าป้องกันน้ำท่วมจำนวน 4,500 บาท ศาลไม่รับเนื่องจากยื่นขอเมื่อพ้นระยะเวลาฟ้อง อย่างไรก็ตาม วงเงินความเสียหายที่ศาลมีคำสั่งให้กรมชลประทานชดใช้ให้ผู้ถูกฟ้องทั้ง 24 คนนั้น ยอดต่ำสุดอยู่ที่ 7,521 บาท สูงสุดอยู่ที่ 1,949,580 บาท รวมเป็นเงินที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 24 คนจะได้รับ 8,261,211 บาท

เราได้เรียนรู้อะไรบ้างจากคดีนี้

1.) รัฐหรือหน่วยงานของรัฐไม่มีสิทธิ“โกหก”ประชาชน ไม่มีสิทธิอ้างหรือกระทำการที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยไม่แจ้งเตือนตามขั้นตอนการปฏิบัติ การฟ้องร้องของประชาชนกลุ่มนี้ นับเป็นแบบอย่างที่ดี ที่ช่วยปกป้องวิถีชีวิตและการทำมาหากินของตัวเองจากความสะเพร่าของหน่วยงานรัฐ

2.) กรณีเทียบเคียงกัน ที่ไม่ทราบว่ามีการฟ้องร้องหรือไม่ คือ นิคมอุตสาหกรรมนวนคร  ที่ตอนเช้า โฆษก ศปภ.ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ประกาศว่าน้ำไม่ท่วม  โรงงานจึงเปิดทำการปกติ คนงานก็ไปทำงานปกติ ปรากฏว่าตกบ่าย มีประกาศให้ “อพยพ” และหลังจากนั้นไม่นาน น้ำก็ถาโถมเข้าท่วม ชนิดโรงงานขนย้ายอะไรแทบไม่ได้เลย  คนงานเอาชีวิตรอดออกมาได้ ไม่เหยียบกันตายก็บุญโขแล้ว  บางคนแทบไม่มีโอกาสวกกลับไปบ้าน เพื่อเก็บข้าวของให้พ้นจากการถูกน้ำท่วม

3.) ใช่...รัฐบาลไม่ได้ทำให้น้ำท่วมใหญ่ในปีนั้น แต่รัฐบาลไม่มีการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ ซ้ำร้าย ให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ความเสียหายที่ไม่ควรเกิดก็เกิด เช่น นิคมอุตสาหกรรมนวนคร หากรัฐให้ข้อมูลที่แม่นยำว่า การจัดการป้องกันน้ำของตนไม่อาจรับประกันได้ว่า น้ำจะเข้าท่วมหรือไม่  โรงงานทั้งหลายคงปิดทำการ ขนย้ายเครื่องจักรหรืออุปกรณ์สำคัญให้พ้นน้ำ  คนงานคงมีเวลาปกป้องบ้านและทรัพย์สินมากกว่านี้  แต่เพราะคำเตือนของรัฐที่นำมาซึ่งความเชื่อมั่น แต่พลัน “ความฉิบหาย”ก็มาเยือน  สุดท้าย รัฐก็ลอยนวล  ด้วยการเอาเงินภาษีไปอุดปาก โดยเรียกมันว่า “ค่าเยียวยาและฟื้นฟู”  แต่ไม่มีใครเอาผิดในทางกฎหมายเลย

4.)ข้อมูลปรากฏชัดว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์อั้นน้ำในเขื่อนไว้ เพื่อให้ชาวนาใต้เขื่อนได้เก็บเกี่ยวข้าว เพื่อเข้า “จำนำ”กับรัฐ อยากให้โครงการรับจำนำข้าวเป็น“นางเอก”ของท้องเรื่องในปีแรกที่มาเป็นรัฐบาล สุดท้าย ความฉิบหายจากน้ำที่อั้นไว้ โครงการรับจำนำข้าวที่เธอเลือกก่อนเร่งระบายน้ำ ช่วยอะไรได้ไหม? นอกจากช่วยไม่ได้แล้ว ยังนำความฉิบหายสู่ตลาดค้าข้าวของไทย และเงินงบประมาณแผ่นดินก้อนมหาศาล โดยที่“ชาวนา”ซึ่งถูกอ้าง ได้แค่“เศษเงิน”ที่ถมลงไปในโครงการ

5.) แทนการยอมรับ กลับจัดตั้ง “ขบวนการตอแหล” ปล่อยข่าวและให้คนเสื้อแดงแก้กรรมว่า“รัฐบาลเก่ากักน้ำไว้กลั่นแกล้ง” ซึ่งน่าประหลาดที่คนไทยจำนวนไม่น้อย ก็ยอมรับข้อมูลตอแหลๆ นี้โดยไม่ต้องคิด

6.) เช่นเดียวกับเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ผู้ร้องต่อศาลปกครอง กรณีโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท โดยระบุว่า ที่ผ่านมาได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครอง พร้อมกับที่ทางรัฐบาลยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองไป โดยขอให้ศาลวินิจฉัยคำขอท้ายฟ้องให้ครบถ้วน โดยเฉพาะการขอให้ยกเลิกหรือเพิกถอนแผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาททั้งหมดว่า สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดจันทบุรีและนครราชสีมานั้น นับเป็นบทเรียนราคาแพงอีกชิ้นหนึ่งของประเทศ ซึ่งเหตุการณ์น้ำท่วมดังกล่าวส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต และประชาชนได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก วันนี้หากโครงการนี้ยิ่งเดินช้ามากเท่าไหร่ ประชาชนและประเทศชาติก็จะยิ่งเดือดร้อนมากเท่านั้น ไม่มีเหตุผลที่ดีเลยหากโครงการนี้จะต้องล้มลง

“น้ำท่วมปี 2554 ยังไม่เข็ด ยังจะนอนขวางลำ ไม่ให้รัฐบาลมาแก้ไข ประเทศไม่เดินหน้า ประชาชนลอยคออยู่กลางน้ำ แต่คนพวกนี้ กลับแหกปากตะโกน ไล่ไม่ให้รัฐบาลเข้ามาบริหารจัดการ ทั้งที่รัฐบาลพยายามเสนอมาตรการในการบริหารจัดการ ตนรู้สึกเสียใจที่ประเทศนี้มีสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนที่ควรจะเป็นผู้ใกล้ชิด เข้าใจธรรมชาติ รวมถึงรับรู้ปัญหาภัยพิบัติต่างๆ ทำไมยังมองไม่ออกถึงวิธีการแก้ไข โครงการนี้รัฐบาลจัดมาเพื่อป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ ป้องกันประเทศ มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำทุกรูปแบบ แต่พวกนี้ออกมาเป็นตัวตั้งตัวตีที่จะล้มโครงการผ่านศาลปกครอง ซึ่งเหมือนเป็นผู้ที่ทำให้เขื่อนแตกเสียเอง” นายอนุสรณ์ กล่าว

7.) ถามนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาดหน่อยว่า  เนื้อหาในแผนบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลส่วนไหน ที่เป็นโครงการป้องกันน้ำท่วมจังหวัดจันทบุรีกับนครราชสีมาเอาไว้เป็นการเฉพาะบ้าง แจกแจงให้ดูหน่อยสิ  ไม่ใช่คอยแต่จะตวัดลิ้นเลียตะปิ้งปูโดยไม่ดู “ความจริง” ว่าสิ่งที่คุณศรีสุวรรณไปร้องต่อศาลนั้น เพียงเพื่อให้รัฐบาลทำงานตาม”ขั้นตอนและกฎเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ”  แค่ชนะเลือกตั้งมา ก็ถือว่า“ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ” กันแล้วหรือ รัฐธรรมนูญกำหนดว่า ให้แถลงผลงานทุกๆ ปี นางยิ่งลักษณ์ไม่ปฏิบัติ  ไม่เห็นอนุสรณ์ทวงแทนประชาชนสักที  นี่ก็เหมือนกัน รัฐธรรมนูญกำหนดว่า โครงการของรัฐที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และหลักแหล่งชุมชนของประชาชน  ให้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อน จึงจะทำได้

ถามว่า การที่คุณศรีสุวรรณขอให้ศาลช่วยชี้ เพื่อปกป้องขั้นตอนตามบทบัญญัตินี้ อันเป็นการปกป้องประชาชน ผิดตรงไหน  และยากตรงไหนที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะปฏิบัติตาม  อย่าตอแหลอ้างว่าจะล่าช้าเลย  เพราะตั้งแต่ได้รับอนุมัติจากศาลให้ดำเนินการกู้เงิน 350,000 บาทได้ ก็ไม่เห็นจะกู้กัน ไม่เห็นจะทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ตลอดปี 2555 ที่ผ่านมา  ดังนั้น ถ้าจะโทษ ก็โทษตัวเองดีกว่า ลดความหนาของหน้าลงมา พูดกันเฉพาะความจริงในหลักการที่ถูกต้องเถอะ

8.)เช่นเดียวกับคราบน้ำมันดิบที่ถาโถมเข้าปกคลุมอ้าวพร้าว เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น รอง กก.ผจก.ใหญ่ บมจ. PTT โกลบอลเคมีคอล ให้สัมภาษณ์ว่า "ผมขอเรียนข่าวดีครับ เรากำจัดน้ำมันเสร็จสิ้นแล้ว ตอนนี้ท้องทะเลกลับมาใสเหมือนเดิมแล้วครับ"  เป็นภาพที่ฟ้องถึง “การโกหก” อย่างน่ารังเกียจ

9.) ขณะที่ นายสมศักย์ ภูรีศรีศักดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ก็มีความเห็นว่า "เรื่องท่อน้ำมันรั่ว เหมือนสื่อจะห่วงมากเกินไป เป็นเรื่องนิดเดียว  ผลกระทบกับการท่องเที่ยวก็ไม่น่าจะมาก"

10.) กรณีน้ำท่วม หากรัฐบาลให้ข้อมูลที่ตรงไปตรงมา ประชาชนเขาจะได้หาหนทางรักษาชีวิตและทรัพย์สินของเขาได้ทันท่วงที ไม่ต้องมีความเสียหายถึงขั้นหมดเนื้อหมดตัวกันไปหลายราย  เช่นเดียวกับเรื่องน้ำมันดิบนี้  หากให้ข้อมูลกันอย่างจริงจัง เปิดเผย ทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะได้ลุกขึ้นป้องกันความเสียหายและช่วยกันรุมแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว ความเสียหายคงไม่มากเท่านี้

11.) รัฐบาลที่สนุกกับการพูดคำสวยๆ อย่าง“นิติรัฐ-นิติธรรม” เอกชนที่ชอบอ้าง “ธรรมาภิบาล” แต่กลับมีสันดานโกหกตอแหล อย่างรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และ บมจ. PTT โกลบอลเคมีคอล สังคมควรลุกขึ้นแสดงความรังเกียจ เอาโทษ และเรียกร้องความรับผิดชอบให้จงหนัก

12.) เรื่องสำคัญที่ต้องขยายผลจากคำพิพากษาคดีข้างต้น คือ การไม่ระบายน้ำไปทางทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีระบบการระบายน้ำที่ดีกว่าเลย เป็นเพราะอะไร? ไปติดที่ดิน บ้าน คอนโดมิเนียม หรือโครงการของนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ไปสุมหัวกัน ว.5 ที่ชั้น 7 โฟร์ซีซั่นใช่หรือไม่  และแผนบริหารจัดการน้ำที่จะใช้เงินถึง 350,000 ล้านบาท ก็ยังปกป้องฝั่งตะวันออกนั้นอยู่ใช่หรือไม่  ทั้งๆ ฝั่งตะวันออกนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านเคยทรงให้ใช้เป็นแนวระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพมาก่อนมิใช่หรือ

เราจะอยู่กันยังไง ในประเทศที่ “คำโกหก” เป็นใหญ่และถูกผลิตขึ้นมาปกปิดความระยำตำบอนกันอย่างต่อเนื่อง

ข้าวเน่าเอาไปแจกประชาชนที่พังงากับกระบี่ ก็เงียบหายไป ไม่เห็นผลการไต่สวนหรือเอาผิดใครเลย  ข้าวปนเปื้อนสารพิษหรือไม่ ก็จบลงอย่างง่ายดายที่นายกฯ กินข้าวโชว์ 2-3 คำ น้ำมันดิบทะลักทำลายสิ่งแวดล้อมระยอง ทะเลไทยและสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อ ปตท.ซึ่งร่ำรวยมหาศาล กลับมิได้แสดงเทคโนโลยี ผู้เชี่ยวชาญ หรือศักยภาพในการจัดการกับปัญหา ต้องใช้ทหารเรือ กระดาษซับมัน และถังตักน้ำมันเข้าแก้  แล้วเงินที่กอบโกยไป เอาไปไหนหมด

พอเสียทีเถิดครับ ที่ผู้มีเงินและอำนาจมีสันดานโกหก  พอเสียทีเถิดครับกับความอดทนของคนไทย  ลุกขึ้นฉีกอก พวกสันดานโกหกกันได้แล้ว!

ที่มา.นสพ.แนวหน้า
/////////////////////////////////////////////////////////////

โค้งสุดท้าย โยกย้ายนายทหาร !!??

โค้งสุดท้ายโยกย้ายนายทหาร ระบุกฎหมายเขียนล็อคเอาไว้ให้กระทำกันเป็นการภายใน เฉพาะในหมู่นายทหารระดับสูง ฝ่ายการเมืองเข้ายุ่งไม่ได้

ประเทศไทยนั้นมีหลายอย่างที่เป็นที่สุด เช่น มีนายทหารระดับนายพลติดอันดับมากที่สุดในโลก บัญชีแต่งตั้งโยกย้ายวาระประจำปี มีชื่อนายพลจากทุกเหล่าทัพถึง 400-500 คน เยอะขนาดนี้ยังมีนายทหารดีๆ ต้องเกษียณแค่ยศ "พันเอก" หรือ "พันเอกพิเศษ" อีกเพียบ เพราะติดปัญหา"คอขวด"

ถือเป็น "ที่สุด" ที่ไม่ค่อยน่าภูมิใจสักเท่าไร เพราะน่าจะสะท้อนปัญหาเรื่องโครงสร้างและการบริหารจัดการมากกว่า
รัฐมนตรีกลาโหมคนก่อนหน้า คือ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต พยายามวางแนวทางแก้ไขปัญหานี้ แต่ก็อยู่บนเก้าอี้ได้ไม่นานพอ...

นอกจากนายทหารระดับนายพลมีเยอะติดอันดับโลกแล้ว การแต่งตั้งโยกย้ายยังมีกฎหมายเขียนล็อคเอาไว้ให้กระทำกันเป็นการภายใน เฉพาะในหมู่นายทหารระดับสูง ฝ่ายการเมืองเข้าไปยุ่งไม่ได้อีกต่างหาก

กฎหมายที่้ว่านั้นคือ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 ที่กำหนดให้มี คณะกรรมการพิจารณาปรับย้ายนายทหารระดับนายพล หรือ "บอร์ดกลาโหม" ซึ่งประกอบด้วยผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ขณะที่รัฐมนตรีว่าการ กับรัฐมนตรีช่วยว่าการ แม้จะร่วมเป็นกรรมการ แต่ก็เป็นเสียงข้างน้อย

หลักการคือมองว่าฝ่ายการเมืองไม่น่าไว้วางใจ ไม่รู้เรื่องทหาร ก็เลยสร้างกำแพงเอาไว้พิจารณาแต่งตั้งกันเอง ซึ่งก็ไม่ผิด ทว่าตำแหน่งระดับหัว คือผู้บัญชาการเหล่าทัพต่างๆ น่าจะให้สิทธิฝ่ายการเมืองแต่งตั้งเองหรือไม่ เพื่อจะได้ทำงานสอดประสานเข้าขากัน มิฉะนั้นฝ่ายการเมืองก็ไม่มีอำนาจอะไรในกองทัพเลย ทั้งๆ ที่เป็นผู้กำหนดนโยบาย ต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภาและประชาชน

ที่ผ่านมามีความพยายามแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมฯ หลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ ล่าสุดเพิ่งมีร่างใหม่ส่งให้คณะกรรมาธิการการทหาร (กมธ.ทหาร) สภาผู้แทนราษฎร พิจารณา แต่ยังไม่รู้ว่าจะไปได้สักกี่น้ำ...

ขณะที่ฝ่ายทหารก็พยายามขัดขวางการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ โดยเน้นขวางในแง่ข้อมูลวิชาการ มีการตั้งทีมเสาะหาข่าวสารจากทั่วโลกว่าประเทศไหนมีกฎหมายห้ามฝ่ายการเมืองจุ้นโผโยกย้ายแบบประเทศไทยบ้าง ปรากฏว่าต้องหน้าแตก เพราะแทบทั้งโลกโดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว มีแต่ฝ่ายการเมืองเท่านั้นที่มีอำนาจเต็มตั้งผู้นำเหล่าทัพ

เมื่อกฎหมายยังไม่ถูกแก้ แม้จะมีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีกลาโหมใหม่เป็น นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็ตาม ก็ยังต้องปฏิบัติตามกฎหมายเดิมไปก่อน ซึ่งความคืบหน้าการแต่งตั้งโยกย้ายขณะนี้อยู่ในห้วง "เหล่าใครเหล่ามัน" คือแต่ละเหล่าทัพพิจารณากันเอง

เหลียวไปดูตำแหน่งสำคัญ คือ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กับ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ประเมินจากสถานการณ์ล่าสุด โดยเฉพาะเสียงคนแดนไกลใน "คลิปถั่งเช่า" ก็น่าจะพอสรุปได้ว่าทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ยังนั่งนิ่งอยู่ที่เก่า ฉะนั้นเป้าจึงฉายจับไปที่ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) กับปลัดกระทรวงกลาโหม (ปลัด กห.) ที่จะเกษียณอายุราชการทั้งคู่

ในส่วนของ ผบ.ทร.นั้น พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ได้วางทายาทเป็นเพื่อนนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 13 (ตท.13) พรึ่บใน 5 เสือ ทร. แต่ปัญหาคือคนในคลิปเสียงถั่งเช่าอาจไม่เอา ตท.13 ใน 5 เสือ หนำซ้ำยังเป็นคนที่ "บิ๊กหรุ่น" ไม่ค่อยชอบใจ ก็ต้องรอวัดใจว่าคนจากแดนไกลจะล้วงมือเข้าไปเคาะเองเลยหรือไม่

อีกเก้าอี้คือปลัดกระทรวงกลาโหม แม้สังคมภายนอกจะไม่ค่อยสน แต่ในทางการทหารและงานความมั่นคงแล้ว ต้องบอกว่าเป็นหัวหน้าฝ่ายเสนาธิการ (เสธ.) ของรัฐมนตรีกลาโหม หรือที่ฝรั่งเรียก Chief of staff เลยทีเดียว โดยปลัด กห.ต้องทำงานใกล้ชิดกับรัฐมนตรี ในทางปฏิบัติรัฐมนตรีจึงน่าจะมีสิทธิเลือกเอง แต่ที่ผ่านมากลับกลายเป็นตำแหน่งรองรับคนที่เหล่าทัพส่งมา (อย่างไม่ค่อยเต็มใจ) โดยเฉพาะพวกที่เหลืออายุราชการอีกแค่ 1 ปี เข้าตำรารุ่นของตัวจะผงาดขึ้นเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพ แต่ติดขัดมีรุ่นพี่มานั่งขวาง ก็เลยเตะโด่งมาวางไว้ที่ปลัด กห.เสียหมดเรื่องหมดราว กลายเป็นตำแหน่งสำหรับแก้ปัญหากำลังพลไป

หลายปีที่ผ่านมา ปลัด กห.จึงอยู่กันแค่คนละ 1 ปี นับเฉพาะ 2 คนหลังสุด คือ พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ กับ พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน ก็ล้วนได้นั่งเก้าอี้คนละ 1 ปีทั้งสิ้น แค่เรียนรู้งานก็ผ่านไป 3 เดือน 6 เดือนแล้ว พอถึง 6 เดือนสุดท้ายก็ต้องเดินสายอำลา สรุปว่าเจ้าตัวได้ตำแหน่ง แต่หน่วยงานไม่ได้อะไร เป็นแค่เก้าอี้รอเกษียณ มีทริปไปต่างประเทศ เล่นกอล์ฟ ดูงานไปตามเรื่อง

กลายเป็นเหล่าทัพส่งคนมาคุมกลาโหม ไม่ใช่กลาโหมทำหน้าที่คุมเหล่าทัพ!

สภาพที่เห็นและเป็นอยู่ทำให้ลูกหม้อในสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมขวัญเสีย เพราะทำงานแทบตายก็ไม่ได้ขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของหน่วยงาน แต่กลายเป็นการนำเก้าอี้ไปใช้แก้ปัญหาการเมืองภายในกองทัพเสียมากกว่า

ทั้งๆ ที่กระทรวงกลาโหมเป็นหน่วยงานระดับยุทธศาสตร์ เพราะเป็นผู้วางยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงของประเทศในภาพรวมและโยงไปถึงทั้ง 3 เหล่าทัพ โดยเฉพาะในห้วงก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งทหารไทยต้องเตรียมความพร้อมอีกมาก จึงจำเป็นต้องใช้นายทหารที่เป็นนักบริหาร มีความเป็นมืออาชีพ ไม่ใช่มุ่งเอาคนที่พลาดหวังจากเหล่าทัพหรือรอเกษียณมาดำรงตำแหน่ง

ทั้งนี้ เมื่อไล่ดูตัวบุคคล ในระนาบรองปลัด กห.ที่มีลุ้นขึ้นเป็นปลัด ได้แก่ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก (ตท.14) เกษียณอายุราชการปี 2559 อดีตเจ้ากรมกิจการชายแดนทหาร และปัจจุบันยังเป็นแกนนำหลักในคณะพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นเพื่อดับไฟใต้ด้วย

รองปลัด กห.อีกคนคือ พล.อ.มล.ประสบชัย เกษมสันต์ (ตท.13) ซึ่งรับผิดชอบหน้างานสำคัญหลายด้าน และยังมีแรงผลักดันจากภายนอกแวดวงทหารไปที่ "คนแดนไกล" ด้วย

ส่วน "คนนอก" ที่อาจถูกส่งมาตามสูตร ก็คือ พล.อ.จิระเดช โมกขะสมิต (ตท.13) ผู้ช่วย ผบ.ทบ. ทั้งนี้ สองคนหลังจะเกษียณอายุราชการปี 2557 โดยเฉพาะ พล.อ.จิระเดช หากอยู่กองทัพบกต่อ ก็เท่ากับหมดหวังไปสู่ดวงดาว

งานนี้ต้องจับตารัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่หมาดๆ อย่าง นายกฯยิ่งลักษณ์ ว่าจะแสดงภาวะผู้นำคัดเลือกปลัด กห.ให้เหมาะสมกับงาน หรือจะปล่อยให้ย่ำรอยเดิมไปตามยถากรรม!

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////////////////////

65 ปีความสัมพันธ์ไทย - พม่า !!?


รายงานพิเศษ / 65 ปีความสัมพันธ์ไทย - พม่า

นับตั้งแต่ไทยและเมียนมาร์สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2491 หลังพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษ ทั้งสองประเทศก็มีความร่วมมือ และความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาโดยตลอด ซึ่งในปีนี้ครบรอบปีที่ 65 พอดี
     
"นายดำรง ใคร่ครวญ" อธิบดีกรมเอเชีย ตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ไทย และพม่า เป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ร่วมกันมายาวนาน ประชาชนมีความใกล้ชิดกันทั้งในด้านวัฒนธรรมและศาสนา สำหรับในยุคใหม่นี้ พม่าก็มีความสำคัญกับไทยทั้งในด้านความมั่นคง ปลอดภัย และการอยู่ดีกินดีของคนไทย เป็นตลาดที่สำคัญ เป็นฐานการผลิต อีกทั้งร้อยละ 30 ของก๊าซธรรมชาติที่ใช้อยู่ในประเทศไทยก็มาจากเมียนมาร์ ขณะเดียวกันรัฐบาลทั้งสองประเทศก็ร่วมมือกันในโครงการใหญ่อย่าง "โครงการทวาย" และยังมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างผู้นำทั้งในภาครัฐ และกองทัพมาโดยตลอด
     
สำหรับโอกาสพิเศษครบรอบ 65 ปีความสัมพันธ์ไทย - พม่า ในปีนี้ ก็ได้เริ่มมีการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองมาแล้วตั้งแต่ช่วงต้นปี โดยในช่วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ นครยางกุ้ง ได้จัดนิทรรศกาลผ้าสองแผ่นดิน โดยรวบรวมมรดกทางวัฒนธรรมของ 2 ชาติมาจัดแสดงร่วมกัน
     
ในส่วนของกิจกรรมที่จะมีขึ้นที่ประเทศไทยนั้น ทางกระทรวงการต่างประเทศจะจัดให้มีขึ้นในวันที่ 14 สิงหาคมนี้ ซึ่งจะเป็นงานเลี้ยงรับรองโดยเชิญรัฐมนตรีต่างประเทศของไทย และพม่าเข้าร่วม รวมทั้งคณะทูตานุทูต และแขกผู้มีเกียรติจากทุกแวดวง ซึ่งในงานดังกล่าวสถานเอกอัครราชทูตพม่าประจำประเทศไทย จะนำเอามรดกทางวัฒนธรรมของเมียนมาร์อย่างอาหารมาร่วมในงานด้วย เช่นเดียวกับผ้าโบราณซึ่งทั้ง 2 ชาติจะนำมาจัดแสดงร่วมกันอีกครั้ง สำหรับผ้าไทยนั้นจะได้รับการอนุเคราะห์จาก อ.เผ่าทอง ทองเจือ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องผ้าไทย มาแสดงผลงานร่วมกับดีไซเนอร์ของเมียนมาร์
   
ไฮไลต์ที่น่าสนใจในงานที่จะเกิดขึ้นคือ "หนังสือภาพถ่ายที่ระลึก" ที่จัดทำขึ้นโดย "กลุ่มสหภาพ ชุมชนคนถ่ายภาพ" (Foto United) ซึ่งรวบรวมเอาผลงานภาพถ่ายของช่างภาพอาสาที่เข้าไปถ่ายภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเมียนมาร์ในหลายๆ เมือง ไม่ว่าจะเป็น ย่างกุ้ง ทวาย พะโค มัณฑเลย์ เชียงตุง และเนปิดอว์ มาให้คนไทยที่ไม่มีโอกาสได้ไปเยือนได้สัมผัสกัน
     
"อ.จิรนันท์ พิตรปรีชา" กล่าวว่า ภาพถ่ายเหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงความเป็นมิตรของชาวพม่า ที่คนไทยหลายๆ คนอาจจะคาดไม่ถึง เนื่องจากถูกปลูกฝังกับความคิดเดิมๆ ที่เห็นประเทศเพื่อนบ้านเป็นศัตรู โดยเฉพาะเมียนมาร์ที่มีแอกทางประวัติศาสตร์ร่วมกันมายาวนาน
     
สำหรับประโยชน์ต่างๆ ของภาพถ่ายเหล่านี้นั้น อ.จิรนันท์ กล่าวว่า จะช่วยเป็นเครื่องมือให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะคนไทยไม่ค่อยจะรู้นักเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่ในพม่า ตื่นตัวเรียนรู้ภาษาไทย แต่คนไทยกลับสนใจภาษาพม่าน้อยมาก ดังนั้น ภาพถ่ายก็จะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการลดอุปสรรคในด้านภาษา
     
ด้าน "อ.ธีรภาพ โลหิตกุล" ผู้ซึ่งมีประสบการณ์เดินทางไปเยือนพม่าบ่อยครั้ง ยืนยันว่า จากที่ประสบมา คนพม่ามองคนไทยค่อนข้างเป็นมิตร ไม่นับรวมเรื่องคนที่นั่นชื่นชมสินค้าไทยอย่างมาก ไม่เคยเห็นแม้หางตาที่มองลงมาที่คนไทยด้วยความเป็นศัตรูเลย
     
อีกเรื่องหนึ่งที่พม่า เหมือนกับสังคมไทยก็คือ "พุทธศาสนา"  ซึ่งชาวพม่ายังคงผูกพันอยู่กับพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง และถือเป็นสิ่งเชื่อมโยง 2 ชาติไว้ด้วยกัน เช่น ในโอกาสฉลองครบรอบ 15 ปี สะพานมิตรภาพไทย - พม่า ข้ามแม่น้ำเมย ที่ อ.แม่สอด และเมียววดี ก็ได้มีการนิมนต์พระสงฆ์จากฝั่งไทย และพม่า ฝ่ายละ 99 รูป ขึ้นมาทำบุญร่วมกันบนสะพาน นี่เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าประชาชนสองชาติผูกพันกันอย่างลึกซึ้ง หากแต่สิ่งที่ยังทำให้คนบางคนตั้งแง่กับพม่านั้นก็คือ "มิติทางประวัติศาสตร์" ที่เป็นเพียงมายาคติ และเป็นเรื่องที่จบไปแล้วเท่านั้น
     
อ.ธีรภาพ ยังได้น้อมเอาตัวอย่างที่ดีจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งเสด็จฯ เยือนพม่า เมื่อปี พ.ศ. 2503 โดยได้ทรงปฏิบัติตตามธรรมเนียมของประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างดี ในการเสด็จฯ สักการะพระมหาธาตุชะเวดากอง ก็มิได้ทรงสวมรองพระพระบาท และถุงเท้า เช่นเดียวกับที่ชาวพม่าปฏิบัติ ในครั้งนั้นได้ทรงมีพระราชดำรัสไว้ว่า
     
"ประเทศทั้งสองได้เรียนรู้แล้วว่าจะต้องเรียนรู้ข้อพิพาทที่เคยมีมีมาในอดีต และส่งเสริมไมตรีจิตมิตรภาพที่มีอยู่ในปัจจุบันเพื่อให้เกิดคุณประโยชน์ยิ่งๆ ขึ้น ด้วยกันทั้งสองฝ่ายในอนาคต ขอให้ทั้งสองประเทศนี้ได้แสดงให้ปรากฏแก่สายตาประชาโลกว่าเป็นเพื่อนบ้านที่ประเสริฐ ตั้งอยู่ด้วยกันโดยสันติเป็นมิตร ประกอบกิจอันเป็นประโยชน์ซึ่งกันและกัน"
     
และอีกตอนในการกล่าวอำลาประธานาธิบดีพม่า เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2503 ความตอนหนึ่งดังนี้
     
ข้าพเจ้ารู้สึกปลื้มใจเป็นอย่างยิ่งเมื่อได้เห็นประชาชนชาวพม่าแสดงไมตรีจิตต่อเราทุกหนแห่ง ข้าพเจ้าเห็นการแสดงน้ำใจที่ดีเช่นนี้ ย่อมเป็นนิมิตหมายว่าชาวพม่าและชาวไทย ต่างมีความเห็นใจซึ่งกันและกัน ไม่เป็นอมิตรคิดร้ายต่อกัน ไม่โลภอยากได้สิ่งใดโดยไม่ชอบธรรม และจะต่อสู้ซึ่งเสรีภาพต่างก็รักและหวงแหนเช่นกัน"
     
สำหรับตราสัญลักษณ์เนื่องในโอกาสครบรอบ 65 ปี ความสัมพันธ์ไทย-พม่า ในครั้งนี้ ได้รับการออกแบบขึ้นเป็นพิเศษ จากผู้เชี่ยวชาญของกรมศิลปากร เป็นรูปพระมหาเจดีย์ชเวดากอง และพระปรางค์วัดอรุณฯ สัญลักษณ์ของทั้งสองประเทศเคียงคู่กัน มีดวงจันทร์อยู่ตรงกลาง แสดงถึงความเป็นอยู่คู่ฟ้าเดียวกัน บนพื้นหลังสีน้ำเงินที่แสดงความหนักแน่นมั่นคงของความสัมพันธ์ และยังมีผืนธงชาติไทยและพม่า เชื่อมร้อยต่อกัน ประดับดอกไม้ประจำชาติของทั้ง 2 ประเทศ คือ ดอกราชพฤกษ์ ของไทย และดอกประดู่ของพม่า เพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์ที่จะผลิบานต่อไปในอนาคตด้วย

ที่มา.สยามรัฐ
///////////////////////////////////////////////////////////////

ลงทุนในกัมพูชา ต้องรู้ลึกรู้จริง !!??

ด้วยว่าประชาชนชาวกัมพูชา "เป็นผู้มีจิตใจเมตตา อัธยาศัยดีต่อมิตรประเทศอื่นๆ" จนมีคำกล่าวแบบหยิกแกมหยอกว่า "ชาวกัมพูชาเป็นคนใจดี มีแผ่นดินก็ยกให้ชาติอื่นไปครอง" พร้อมกับแบมือแล้วกำมือ (การแบมือกำมือ เป็นความหมายว่า แผ่นดินที่เคย กว้างใหญ่ของกัมพูชานั้น เคยกว้างใหญ่ แบบแบมือ ปัจจุบันเหลือแผ่นดินแค่กำมือและเมืองหลักๆ ก็ยังเป็นแผ่นดิน ที่ต่างชาติถือครองได้ถึง 99 ปี)

ประชาชนบางรุ่นพูดว่า "เราจำได้ดีว่าช่วงที่เขมรแดงปกครอง เป็นเวลา แห่งความทุกข์ถึง 3 ปี 8 เดือน 20 วันเป็นยังไง" เมื่อผ่านคืนวันแห่งความโหดร้ายของสงครามมาได้ ในบางเรื่องแม้จะไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลก็ต้องปล่อยเลย ตามเลย ไม่คัดค้าน เพื่อนำพาประเทศกัมพูชาไปสู่อนาคต ซึ่งปัจจุบันกัมพูชาก็เจริญขึ้นตามลำดับ

และเป้าหมายสำคัญที่สุดตอนนี้คือ การก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซีอย่างเข้มแข็ง

"สยามธุรกิจ" จึงพาไปฟังมุมมองของ 3 นักลงทุนในกัมพูชาที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมานานปี เขาคิดและมอง "กัมพูชา" อย่างไร

เริ่มต้นที่ กง เม่ง เจ้าของบริษัททรานสปอร์ต เซอร์วิส จำกัด ซึ่งเป็นคนกัมพูชา ทำธุรกิจรถแท็กซี่เส้นทางปอยเปต-เสียมเรียบ ผลประกอบการถือว่าไปได้ดี กระทั่งสามารถเก็บหอมรอมริบขยายไปทำธุรกิจร้านอาหารบาร์บีคิวในเมืองเสียมเรียบ ชื่อร้าน เม่ง บาร์บีคิว

เขาบอกว่าสาเหตุที่เปิดร้านบาร์บีคิวเพราะมองเห็นโอกาส เนื่องจากปัจจุบันร้านอาหารปิ้งย่างในเมืองเสียมเรียบมีไม่เกิน 5 ร้าน จุดขายของเม่ง บาร์บีคิว นอกจากเนื้อหมูและเนื้อไก่แล้ว ยังมีเนื้อจระเข้ปิ้งย่างด้วย ที่น่าแปลกใจก็คือเนื้อจระเข้ที่ร้านนี้ราคาถูกกว่าเนื้อหมู เพราะเนื้อจระเข้มีมากมายในทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ของกัมพูชา ซี่งครอบคลุมพื้นที่ถึง 6 จังหวัด ชาวบ้านรอบๆ โตนเลสาบ และนักลงทุนหลายชาติต่างมาลงทุนเลี้ยงจระเข้เป็นล่ำเป็นสัน ทั้งบริโภคภายในประเทศและส่งออก ปัจจุบันการส่งออกจระเข้จากกัมพูชา มียอดสูงสุดในเอเชียใต้

กลยุทธ์หรือจุดขายของ กง เม่ง คือ ดี ถูก ประหยัด คุ้ม โดยพยายามทำต้นทุน การผลิตให้ต่ำ วัตถุดิบดี อย่างเนื้อไก่เขานำเข้าจากฝั่งไทย โดยสั่งซื้อกับ "สหฟาร์ม" ส่วนวัตถุดิบหลายอย่างที่ผลิตได้ภายในประเทศ ก็สั่งในประเทศ สำหรับค่าเช่าพื้นที่เปิดร้านอาหารในเมืองเสียมเรียบ ประมาณ 20,000-25,000 บาทต่อเดือน

เราถามเขาว่าลงทุนในกัมพูชายากไหม กง เม่ง ตอบว่า ไม่ยากถ้าเข้า ใจธุรกิจที่ทำ แต่สาเหตุที่มาลงทุนแล้วล้มเหลวนั้น เกิดจากความไม่รู้จักเพื่อนบ้าน ไม่ศึกษาตลาดก่อนการลงทุน คนที่ลงทุนแล้วเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เพราะ รู้จักปรับตัวเขากับสังคม วัฒนธรรมพื้นที่ ยิ่งเป็นนักลงทุนชาวต่างชาติ รัฐบาลกัมพูชาจะให้การสนับสนุนเป็นพิเศษ

คราวนี้มาฟังมุมมองของนักลงทุนไทยที่เข้าไปลงทุนในกัมพูชาอย่าง พูนศักดิ์ อุดมเลิศลักษณ์ ประธานกรรมการ บริษัท อินโด ไชน่า เอ็กซ์พลอเรอร์ เขาเล่าว่าเป็นกลุ่มคนไทยกลุ่มแรกๆ ที่เข้าไปลง ทุนทำธุรกิจท่องเที่ยวในกัมพูชา เนื่องจาก กัมพูชามีสิ่งที่ประเทศอื่นไม่มีนั่นคือ นครวัด-นครธม ซึ่งถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก แค่ทำทัวร์ชมปราสาทดังกล่าวก็มีเม็ดเงินหลั่งไหลเข้าประเทศอย่างมากมาย

"สิ่งที่น่าทึ่งที่สุดคือไกด์กัมพูชาเก่งมาก พูดได้อย่างน้อย 3 ภาษา บาง คนไม่ได้จบปริญญาโท ปริญญาเอก แต่ฝึกภาษาจากวัด" พูนศักดิ์ กล่าว

พูนศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลกัมพูชาบริหารจัดการสถานที่ท่องเที่ยวอย่างเข้มงวด เช่น การเที่ยวชมโบราณสถาน จะมีกฎเกณฑ์ว่าหากเข้าชมตัวปราสาทในแต่ละแห่ง ต้องไปถ่ายรูปติดบัตรเข้าชมปราสาท ในราคา 1 วัน 20 ดอลลาร์สหรัฐ หากชมหลายวันราคาก็เพิ่มตามจำนวนวันหรือจะซื้อแบบเหมาจ่ายสัปดาห์ละ 60 ดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุที่ต้องถ่ายรูปติดบัตรก็เพื่อแก้ปัญหาไม่ให้นักท่องเที่ยวนำบัตรมาเวียนกันใช้ และหากจะถ่ายรูปตัวปราสาทก็ต้องไปจ่ายค่ากล้องในกรณีถ่ายวิดีโอ ถ่ายแม็กกาซีน เป็นต้น

แม้จะมีกฎเกณฑ์เข้มงวด แต่การท่องเที่ยวของกัมพูชาก็คึกคัก หากเป็น ช่วงไฮซีซั่น โรงแรมระดับ 3 ดาว 5 ดาว เก็ตเฮาส์ จะเต็มหมด ซึ่งนักท่องเที่ยว ที่เข้ามามากอันดับหนึ่งคือจีน รองลงมาคือเวียดนาม เกาหลี ญี่ปุ่น ไทย

นักลงทุนไทยอีกรายที่เข้าไปลงทุนในกัมพูชาคือ อัด แสงชัย ที่ปรึกษาด้านการลงทุน บริษัท ไลฟ์ แอด เสียมเรียบ กรุ๊ป จำกัด โดยธุรกิจที่เขาลงทุนน่าสนใจมากคือธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์ด้านวัฒนธรรม คล้ายกับทิฟฟานี่โชว์ในเมืองไทย

เขาบอกว่าเพิ่งลงทุนเมื่อต้นปีนี้เอง ควักกระเป๋าไปแล้วกว่า 100 ล้านบาท เป้าหมายคือ เป็นฮอลล์ที่ทันสมัยและใหญ่ที่สุดในเมืองเสียมเรียบ แม้เขาคาดหวังว่าจะคืนทุนภายใน 2 ปี แต่ก็ต้องดูว่าเป็นไปได้หรือไม่ เพราะค่าใช้จ่ายสำหรับธุรกิจนี้ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในช่วงโลว์ซีซั่นต้องอัดฉีดเงินโปรโมชั่นเพิ่มอีกอย่างน้อยเดือนละ 3 ล้านบาท เก็บค่าเข้าชม 40-45 ดอลลาร์สหรัฐ

เขายังมองไกลไปถึงปี 58 เมื่อเป็น เออีซีว่าหากระบบลอจิสติกส์เชื่อมโยงเติมเต็มซึ่งกันและกันในแต่ละประเทศเขาสนใจ เข้าไปลงทุนในประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตลาดที่ธุรกิจประเภทนี้จะเติบโตได้

นั่นคือ 3 มุมมองของนักธุรกิจระดับแนวหน้าในกัมพูชา ใครที่สนใจจะเข้าไปลงทุนโอกาสยังเปิดกว้าง เพียง แต่ต้องศึกษาทิศทางให้ชัดเจน!!

ที่มา.สยามธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เฟดถอน QE ดอกเบี้ยกระตุกแน่ ลูกหนี้เตรียมพร้อมหรือยัง !!??

โดย วิไล อักขระสมชพ

เสียงสะท้อนก้องมาจากหลายทิศทางของคนในแวดวงการเงิน โดยเฉพาะนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ต่างหวั่นไหวกับอารมณ์ตลาดที่แปรปรวน

เพียงเพราะ นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกมาคอมเมนต์หลังประชุมว่า เฟดอาจจะทำการลดปริมาณเงินในการทำ QE ลงในเดือนกันยายนนี้ เมื่อเห็นตัวเลขสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐดีขึ้น เท่านี้ก็ทำให้ตลาดแตกตื่น

ยิ่งประเทศไทยด้วยแล้ว ค่าเงินบาทที่เคยแข็งโป๊กอยู่ 28 บาทกว่า ๆ /ดอลลาร์ ก็อ่อนยวบลงมาอยู่ 30-31 บาท/ดอลลาร์ ส่วน "ตลาดหุ้นที่เคยโป่งพองด้วยดัชนีที่เฉียด 1,600 จุด ก็ยุบลงมาต่ำกว่า 1,400 จุดให้เห็น เงินต่างชาติไหลออกทั้งหุ้นและพันธบัตรที่ถืออยู่รวมนับแสนล้านบาท ราคาทองคำในไทยดำดิ่งลงต่ำเหลือบาทละ17,000-18,000 บาท หลังราคาทองในโลกหลุดลงต่ำ 1,200 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์

ว่ากันว่า คอมเมนต์ของนายเบอร์นันเก้ เป็นการทดสอบอารมณ์ของตลาด หรือทำ Stress Test เพราะหลังจากนั้นไม่นาน นายเบอร์นันเก้ก็ออกมาบอกว่า ตัวเลขการ

ฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่ชัดเจนเพียงพอจะให้ลดการทำ QE เท่านั้นเอง

นักลงทุนก็เฮกลับมาลงทุนต่อ ด้วยอารมณ์นักลงทุนแบบกล้า ๆ กลัว ๆ

แต่ประเทศไทยนั้นไม่ได้มีแค่ปัจจัยต่างประเทศที่เราควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ เพราะยังมีอีกปัจจัยในประเทศที่สำคัญคือ การเมือง ที่จะมีการเปิดสภาในต้นเดือนสิงหาคมนี้ แม้จะเพิ่งปรับ ครม. หลังสะดุดจำนำข้าว โครงการบริหารจัดการ

น้ำ 3 แสนกว่าล้านก็สะดุด ตามด้วย พ.ร.บ.กู้เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านก็หงายเงิบ ลงทุนก็เกิดไม่ได้ ถ้าจะทำประชานิยม เงินก็เริ่มร่อยหรอ

จากนี้ไปคงเหลือแต่ภาคเอกชนและประชาชนที่ต้องช่วยเหลือตัวเอง ใครมีหนี้เยอะก็อาการหนัก !!!

เพราะถ้าเฟดลดทำ QE จริงในปีนี้แล้วเงินไหลออก จะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย แบงก์ชาติต้องมีคำตอบในใจอยู่แล้ว เพราะนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ลั่นว่า ในระยะสั้น ๆ เห็นเงินลงทุน

ไหลออกกลับไปหาสกุลดอลลาร์แน่ และดอกเบี้ยกระตุก แต่สภาพคล่องในประเทศก็ล้นมากอยู่ ซึ่งก็ต้องทำหน้าที่รักษาสมดุลในระบบให้ได้ ส่วนฐานะการเงินของสถาบันการเงินโดยเฉพาะแบงก์พาณิชย์ยังดีอยู่ มีการตรวจสอบไม่ให้ทำ Open Position FX มากเกินไป โดยเฉพาะลูกค้าของแบงก์ ตอนนี้ใครมีหนี้ต่างประเทศโดยเฉพาะสกุลดอลลาร์ มีเสี่ยงต้องจ่ายหนี้ราคาสูงขึ้น

ดังนั้นต้องบริหารความเสี่ยงให้ดี อย่าชะล่าใจ

ถ้าคาดหวังว่า ธปท.จะทำอะไรบ้างนั้น "ประสาร" มั่นใจว่า เตรียมเครื่องมือพร้อมรับมือให้มากที่สุด หลังจากที่คลังได้ให้อำนาจในการออกมาตรการแล้ว ก็ต้องเลือกใช้ส่วนผสมของมาตรการต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้เงินไหลกลับ แต่ประเทศไทยก็ไม่ได้แย่ เพราะเศรษฐกิจไทยยังดี ปีนี้ยังโตได้ 4.2% ไม่ได้ต่ำเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจเพื่อนบ้านในภูมิภาคเรา ฐานะทุนสำรองยังแกร่ง ดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัดแม้ขาดดุลบ้าง แต่ก็ไม่เปราะบาง ซึ่งประมาทไม่ได้

ครึ่งปีหลังสถานการณ์โลกยังผันผวนอยู่ ไม่ได้หายไปทั้งสหรัฐ วิกฤตยุโรป ญี่ปุ่น แม้แต่จีนยังชะลอการโตทางเศรษฐกิจ ภาพที่ไม่เด่นชัดนี้ ตลาดการเงินที่จด ๆ จ้อง ๆ ฟังข่าวสารที่เข้ามากระทบอารมณ์ความรู้สึกคนได้ง่าย ความผันผวนจึงยังแรงอยู่

เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับคลื่นลมปะทะ (Headwind) แรง ถ้ากระแทกครั้ง 2 ครั้งก็พอรับไหว แต่กระแทกบ่อย ๆ

ไม่ดีแน่ บางครั้งเจอแรงส่ง (Tailwind) ให้เกิดสถานการณ์ไม่คาดคิดเร็วขึ้น ดังนั้นจะทำอะไรก็ต้องมีกันชนเผื่อหนี (Margin of Safety) ไว้บ้าง

ส่วนนโยบายการเงิน "ประสาร" ออกตัวว่า ทำได้ข้อจำกัดภายใต้สถานการณ์นี้ เป็นเพียงกันชนลดแรงกระแทกตรงเข้าเศรษฐกิจ เพื่อให้ทุกคนมีเวลาปรับตัว แต่ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง ก็ต้องเข้มแข็งด้วย แต่ปัญหาขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากแรงงานไหลออกจากภาคอุตสาหกรรมกลับเข้าภาคเกษตรถึง 7 แสนคน เพราะส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายค้ำจุนสินค้าเกษตร ซึ่งไม่ได้เป็นการเคลื่อนย้ายไป

สู่แรงงานที่มีประสิทธิภาพสูงในภาคการผลิตเลย กลายเป็นเกิดภาวะ Mismatch แรงงานอีก สะท้อนภาคการผลิต

(Productivity) ที่ยังไม่ได้เพิ่มประสิทธิภาพกันมากนัก เพราะอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ผูกกับห่วงโซ่การผลิตของโลก (Supply Chain) ซึ่งมูลค่าสินค้าต่ำ ด้านเจ้าของธุรกิจก็ไม่ได้ให้ความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อให้สินค้ามีมูลค่าสูงขึ้น ทั้งรัฐก็สนับสนุนการทำวิจัย หรือ R&D ระดับต่ำมาก แต่ละปีให้งบฯเพียง 3% กว่าของจีดีพี

ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ประเทศไทยยากจะหลุดจากการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ทุกวันนี้มาเลเซียก้าวแซงหน้าไทย ข้างหน้าไทยก็วิ่งตามไไม่ทัน ข้างหลังเพื่อนบ้านเริ่มวิ่งไล่หลังมา

วันนี้ถึงเวลาที่ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะรัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตัวผู้ประกอบการเอกชนตระหนักถึงปัญหานี้ และนั่งคิดนับถอยหลังไปอีก 2 ปีข้างหน้า เปิดเออีซีแล้วตัวเองจะอยู่ตรงไหนรอด ถ้าปรับตัวตอนนิ้ก็ยังไม่สาย

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ทฤษฎี VS ภาคปฏิบัติ

โดย ธำรงชัย เอกอมรวงศ์ นักลงทุนผู้เชี่ยวชาญการลงทุนแบบเทคนิค

เมื่อคนในยุคโบราณแหงนหน้าขึ้น และสังเกตว่าดวงอาทิตย์และดวงดาวที่อยู่บนท้องฟ้าเคลื่อนที่ในรูปแบบเฉพาะ และหากนำการเคลื่อนที่ดังกล่าวมาคำนวณ จะช่วยให้สามารถคาดการณ์การเคลื่อนที่ในอนาคตได้ และ "ดาราศาสตร์" จึงเกิดขึ้น ทำให้เราตั้งสมมติฐานได้ว่า ทฤษฎีจำนวนหนึ่งเกิดขึ้นจาก "การสังเกต" นั่นเอง

ในโลกของการลงทุนก็เช่นกัน เมื่อ "ชาร์ลส เฮนรี่ ดาว" เป็น บ.ก.หนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal สังเกตว่าราคาหุ้นเคลื่อนที่ในรูปแบบเฉพาะ และหากนำมาแสดงในรูป Chart แทนที่แสดงในรูปตาราง (Table) อย่างในอดีต เขาสามารถตีความ "พฤติกรรมราคาหุ้น" ได้ และ Technical Analysis ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น

เมื่อเวลาผ่านไป ทฤษฎีได้รับการปรับปรุง แต่ข้อสังเกตที่เป็นแก่นก็ยังคงอยู่ อาจด้วยเหตุผลว่าแก่นทฤษฎี (Core Theory) ดีและไม่ต้องปรับเปลี่ยน

หรือเพราะไม่มีใครกล้าที่จะท้าทายมัน เพราะข้อสังเกตใด ๆ ที่ท้าทายหลักทฤษฎีเดิม ๆ หรือ Conventional Wisdom นั้นถือเป็นการเสียมารยาทมาก

แต่การยึดมั่นถือมั่นในทฤษฎีเดิม ๆ โดยเลือกที่จะเพิกเฉยข้อสังเกตนั้น ถือเป็นเรื่องที่อันตรายมาก !

โดยเฉพาะในแวดวงการเงินการลงทุน ในสารบบของทุนนิยมนั้น "ทุน" ถูกทำให้เคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา โดยเคลื่อนจากสินทรัพย์ที่ผลตอบแทนต่ำไปที่ผลตอบแทนสูง หรือจากที่เสี่ยงสูงไปเสี่ยงต่ำ เป็นต้น

ถ้าจับจังหวะการเคลื่อนที่ของทุนได้ โอกาสในการทำกำไรก็เกิดขึ้นได้ไม่ยาก สังเกตดี ๆ การเคลื่อนที่ของกระแสทุนไม่ต่างจากกระแสน้ำ ไม่ใช่วันนี้ต่างชาติเห็นตลาดหุ้นไทยดีเข้ามาซื้อ อีกวันมองไม่ดีแล้วชักทุนออกทั้งหมด ในภาพใหญ่เราจะเห็น "ทิศทางของทุน" เสมอ และมันมักจะไม่สับขาหลอก

หนึ่งในทฤษฎีการเงิน (Established Financial Theory) มีข้อสังเกตว่า เวลาเงินไหลออกจากตลาดทุน (Equity Market) ก็มักจะไหลไปที่ตราสารหนี้ (Debt/Bond Market) ประมาณว่า ผลตอบแทนของหุ้นที่ปรับความเสี่ยงแล้ว (Risk Adjusted Rreturn) อาจต่ำหรือเริ่มไม่คุ้ม เอาทุนไปพักในตราสารหนี้ก่อน

ข้อสังเกตที่เกิดขึ้นคือ เมื่อหุ้นลง ราคาพันธบัตรก็จะขึ้น (ผลตอบแทนพันธบัตร หรือ Bond Yield ต่ำลง) วิ่งสวนทางกัน แต่ในตลาดพันธบัตรนั้นเขาไม่ได้ดูที่ราคา (Bond Face Value) แต่ดูที่ Bond Yield หรืออัตราผลตอบแทนของพันธบัตร ถ้าอัตราผลตอบแทนสูงขึ้น มูลค่าของพันธบัตรก็จะลดลง

ในแง่ทฤษฎีนี้ก็ใช้ได้มาตลอด ถึงขนาด Hedge Fund ระดับโลก อาทิ Bridgewater All Weather Fund ที่มีขนาดกว่า 7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ก็ใช้หลักการดังกล่าวนี้ เรียกว่า "Risk Parity" ซึ่งควรช่วยพยุงผลตอบแทนของกองทุนฯได้ แม้ว่าหุ้นหรือพันธบัตรถูกเทขาย แต่ไม่ใช่ถูกเทขายพร้อมกัน และนั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้น ! เมื่อทาง FED ได้ส่งสัญญาณว่าจะเริ่มลดความช่วยเหลือทางการเงินผ่านมาตรการ QE และทำให้หุ้นทั่วโลกร่วงอย่างรุนแรงในระยะเวลาสั้น ๆ รวมไปถึงพันธบัตร Treasury Bond อายุ 10 ปี ส่งผลให้ Bond Yield ดีดขึ้น 1% ซึ่งถือว่าสูงมาก ไปทำจุดสูงสุดที่ระดับ 1.62%

พันธบัตรถูกขายอย่างหนัก และทำให้ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มูลค่าในตลาดพันธบัตรได้หายไปเยอะที่สุดตั้งแต่มีการเก็บประวัติมา

ความผิดปกติดังกล่าวทำให้ Bridgewater All Weather Fund ขาดทุน 6% ในเดือนมิถุนายนเพียงเดือนเดียว และขาดทุน 8% ตั้งแต่ต้นปี ทั้งที่ ๆ สร้างผลตอบแทนได้ 14.7% ในปีที่แล้ว อย่างไรก็ดี กองทุนฯดังกล่าวยังสามารถสร้างผลตอบแทนได้ 34% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แม้จะเจอกับภาวะขาดทุนล่าสุด

เรื่องนี้บอกเราว่า ต่อจากนี้เราต้องสังเกตพฤติกรรมตลาดมากขึ้น ทฤษฎีการเงินเดิม ๆ ที่ใช้ได้ในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมาเริ่มถูกความเป็นจริงท้าทาย และด้วยมาตรการทางการเงินที่เข้าไปแทรกแซงภาวะตลาดที่ช่วงที่ผ่านมา ไม่แน่ว่าอาจไม่ใช่เพียงหลักความสัมพันธ์ระหว่างตลาดหุ้น-ตลาดพันธบัตรเท่านั้นที่จะถูกบิดเบือน เกมการเงินในตลาดโลกได้ถูกเปลี่ยนไปแล้ว

นักลงทุนจะอยู่รอดและสร้างความมั่งคั่งในตลาดได้อย่างแท้จริง ควรรู้และเข้าใจ "กลไก" การทำงานของตลาดอย่างดีเยี่ยม แต่ก็ต้องยืดหยุ่นมากพอที่จะปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและรุนแรงขึ้นนับต่อจากนี้

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////