--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ไม่จริง ไม่เชื่อ !!!??

เพิ่งได้ไปเห็นนครวัดนครธมเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ก่อนหน้านั้นได้แต่งะเง้อมองข้ามชายแดนไปยังฝั่งปอยเปตอยู่ 2-3 ครั้ง ยามที่ไปสัมมนาหรือทัศนศึกษาใกล้ๆ บริเวณนั้น แล้วไปเดินดู "ของปลอม ของปล่อย" แถวตลาดโรงเกลือ อรัญประเทศ
   
ครั้งแรกที่มาชายแดนระหว่างไทยกับเขมรก็คือตอนที่อายุ 10 ขวบ ซึ่งเป็นเวลาที่ผ่านมากว่า 40 ปี จำได้ว่าฝั่งตลาดปอยเปตที่อยู่ตรงข้ามมีแค่ตึกแถวไม่กี่หลัง แต่ที่สะดุดตาที่สุดก็คือป้ายไม้ขนาดเขื่องวาดเป็นภาพนครวัดมองเห็นได้แต่ไกลๆ คล้ายๆ จะเป็นการประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ไปเที่ยว จึงฝังใจมาตั้งแต่นั้นว่าจะต้องไปดูปราสาทเหล่านั้นให้ได้ ดังนั้นก่อนที่จะได้ไปเห็นจริงๆ ในคราวนี้จึงได้เตรียมศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับปราสาทหินและเมืองเสียมเรียบไว้อย่างมากมาย ซึ่งก็พบว่าเกือบทั้งหมดล้วนแต่พรรณนาถึงความ "อัศสะจอรอหัน" หรืออัศจรรย์ในการสร้างปราสาทเหล่านั้นว่า "ทำได้ยังไง"
   
หนังสือเล่มหนึ่งที่ "ต้องอ่าน" ก่อนไปเที่ยวเขมรเล่มหนึ่งก็คือ "ถกเขมร" เขียนโดยท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งท่านเขียนไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2495 ก่อนที่เขมรจะฟ้องไทยเรื่องปราสาทเขาพระหาร (โดยเจ้าสีหนุที่ขึ้นมาบริหารประเทศใน พ.ศ. 2498 แล้วก็ได้นำปราสาทเขาพระวิหารขึ้นฟ้องศาลโลกในปีนั้น แต่กว่าที่จะมาตัดสินก็ใน พ.ศ. 2505 แล้วก็ตัดสินให้เขมรได้ตัวปราสาทไป กระทั่งในต้นปีนี้เขมรได้ขอให้ศาลโลกตีความเพื่อจะเอาดินแดนรอบๆ ปราสาทไปดูแลด้วย ดังที่ได้มีการแถลงสู้กันเมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยจะมีคำตัดสินออกมาในสิ้นปีนี้) โดยการเดินทางเต็มไปด้วยความระหกระเหินและแย่มากๆ ทั้งการขอวีซ่า เครื่องบิน และถนนหนทางในเขมรยุคนั้น
   
อนึ่ง "ถกเขมร" ที่เป็นชื่อหนังสือที่หลายท่านอาจจะมีความเข้าใจว่าเป็นการ "ถกแถลง" เรื่องเขมร แต่ความจริงผู้เขียนต้องการแสดงถึงแฟชั่นโบราณอย่างหนึ่งของชายไทย คือการนุ่งผ้าขาวม้าแล้วรวบชายผ้าที่อยู่ข้างหน้าลอดไปใต้หว่างขาแล้วไปเหน็บไว้ที่ขอบเอวด้านหลัง คนโบราณเรียกว่า "นุ่งหยักรั้ง" หรือ "ถกเขมร" ซึ่งจะเห็นต้นขาที่คนโบราณใช้อวดลายสักต่างๆ
   
ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์กล่าวถึงประวัติศาสตร์ของเขมรว่า "ค่อนข้างเลอะเลือน" เพราะส่วนใหญ่แล้วถูกชาติต่างๆ ครอบครองมาตลอดประวัติศาสตร์นับเป็นพันๆ ปีนั้น คนเขมรเป็นเหมือน "ชาวพื้นเมือง" เป็นเจ้าของพื้นที่แต่ไม่มีอำนาจและสิทธิ์ขาดอะไรมากนัก เพราะมีชาติอื่นเป็นผู้ปกครอง แม้แต่ปราสาทหินต่างๆ ก็ถูก "ขอม" ซึ่งเป็นชาติมหาอำนาจจากทางใต้ที่เรียกว่าอาณาจักรศรีวิชัยมาบังคับให้สร้าง คนเขมรเป็นแค่ผู้ใช้แรงงานหรือคนงานในการก่อสร้างเท่านั้น
   
ท่านอาจารย์พูดถึงการสร้างปราสาทหินของเขมรว่า "เราได้เดินดูปราสาทนครวัดอยู่หลายรอบหลายตลบ...ยิ่งดูไปก็ยิ่งเห็นอัศจรรย์ในการก่อสร้าง...เมื่อปราสาทนั้นก่อเสร็จด้วยแรงคนนับหมื่นนับแสน...คิดดูแล้วก็เห็นว่าเกินกำลังดันทางศิลปะ เกินศรัทธาและเกินความฝันของมนุษย์...สิ่งเดียวที่ก่อกำเนิดและเร่งรัดการก่อสร้างนี้ไปจนสำเร็จเป็นรูปร่างขึ้นมาได้ก็คือ อำนาจ อำนาจที่เห็นแก่ตัวจนเคลิ้มฝันเห็นตัวเองเป็นเทวราชผู้ครองโลก...ถ้าหากว่าเหงื่อและน้ำตาตลอดจนชีวิตของมนุษย์ที่ถูกเกณฑ์เอามาสร้างนครวัดนี้สามารถตักตวงเอาไว้ได้ เหงื่อ น้ำตา และชีวิตนั้นก็คงจะท่วมท้นคูที่ล้อมรอบนครวัดนั้นอยู่..."
   
ครับ อ่านดูแล้วก็หดหู่ แต่ก็นำมาสู่ความคิดที่อยากจะเสริมความคิดเห็นของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์อยู่บางเรื่อง โดยเฉพาะในความคิดเห็นที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เชื่อว่า ปราสาทหินที่สำเร็จได้ทั้งปวงนี้ก็ด้วยพลังของ "อำนาจบังคับ" เพราะถ้าเราสังเกตงานฝีมือโดยเฉพาะการแกะสลักหินซึ่งก็คงต้องใช้ช่างที่เป็นคนเขมร ทั้งที่เป็นลวดลายต่างๆ และที่โดดเด่นที่สุดก็คือบรรดารูปแกะสลักนางอัปสรทั้งหลาย น่าจะต้องเป็นคนที่มีอารมณ์สุนทรีย์หรือมีความสุขความสบายอยู่บ้างจึงจะสามารถแสดงความงดงามทั้งหลายออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ
   
พลังที่สร้างความงดงามเยี่ยงนี้อาจจะเกิดจาก "แรงศรัทธา" หรือ "ความเชื่อ" อะไรที่รุนแรงหรือสูงส่งร่วมอยู่ด้วย เหตุผลก็คือ การบังคับกดขี่ผู้คนไม่น่าจะดำเนินอยู่ได้หลายร้อยปี (โดยนักโบราณคดีพบว่าการก่อสร้างปราสาททั้งหลายเริ่มขึ้นราวปลายพุทธศตวรรษที่ 13 ต่อเนื่องกันไปจนถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 เป็นเวลากว่า 500 ปี) โดยที่กษัตริย์ขอมน่าจะมี "กุศโลบาย" หรือใช้จิตวิทยามวลชนบางอย่างในการโน้มน้าวหรือ "โฆษณาชวนเชื่อ" ให้คนเขมรมาร่วมมือร่วมใจในการสร้างปราสาทหินอย่างเต็มใจ(ในระดับหนึ่ง)
   
โดยที่กษัตริย์ขอมซึ่งมีทั้งยุคที่นับถือฮินดูและยุคที่นับถือพุทธ อาจจะสร้างแรงศรัทธาว่า ใครที่มาร่วมสร้างจะได้ไปเกิดในสวรรค์(ตามแนวคิดฮินดู) หรือได้บุญสูงส่ง(ตามแนวคิดพุทธ) รวมทั้งอาจจะมีการให้อามิสสินจ้างหรือรางวัลหลอกล่อ อย่างเช่น ปลดปล่อยจากความเป็นทาส หรือให้ยศถาบรรดาศักดิ์(จริงบ้างหลอกบ้าง)เพื่อจูงใจ ซึ่งเหตุผลในข้อนี้ก็ยังมีตัวอย่างอยู่ในปัจจุบัน ในประเทศที่ล้าหลังทางการเมือง(คุ้นๆ บ้างไหม)ที่คนส่วนใหญ่ของประเทศยังถูกผู้มีอำนาจหลอกใช้อยู่เป็นประจำ
   
เรื่อง "แรงศรัทธา" หรือถ้าจะแปลความให้กระชับที่สุดก็คือ "พลังความเชื่อที่มั่นคงแข็งแรง" อย่างเช่น ความเคร่งครัดในการนับถือศาสนาของคนเคร่งศาสนา หรือความบ้าคลั่งของความเชื่อในบางลัทธิ สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ ทั้งที่เป็นการ "สร้างสรรค์" หรือการ "ทำลาย" ซึ่งในทางการเมืองของหลายๆ ประเทศก็ปรากฏมีให้เห็นเสมอมา
   
ระหว่างที่ค้นคว้าเรื่องเขมรนี้ ผู้เขียนก็ได้ไปอ่านหนังสือรวมเรื่องสั้นของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ เพื่ออ่านเรื่อง "เรื่องสั้นสมัยหิน" ที่เกี่ยวกับชีวิตรันทดของช่างหนุ่มที่แกะสลักนางอัปสร จึงได้ไปอ่าน(ซึ่งก็เคยอ่านมาหลายครั้งแล้ว)เรื่องสั้นอีกเรื่องหนึ่งชื่อว่า "ไม่เชื่อ ไม่จริง" เป็นเรื่องของพลังความเชื่อของชาย 2 คนที่ตายในอุบัติเหตุรถไฟตกรางที่ดอนเมือง ที่เมื่อตายไปแล้วก็ไปเจอยมบาล แต่ด้วยความที่ไม่เชื่อว่านรกจะดู "หน่อมแน้ม" คือไม่โหดร้ายทารุณอย่างที่เคยรู้มา จึงพากันตะโกนขึ้นว่า "ไม่เชื่อ ไม่จริง" ที่สุดนรกก็หายไป และชายทั้งสองก็ฟื้นมีชีวิตอีกครั้ง
   
ชายคนหนึ่งพูดขึ้นว่านี่คงจะเป็นด้วยพลังของ "ความไม่เชื่อ" ชายอีกคนหนึ่งจึงอยากพิสูจน์ ทั้งสองจึงพากันไปที่หน้าทำเนียบรัฐบาล แล้วตะโกนขึ้นด้วยเสียงดังที่สุดพร้อมๆ กันว่า "ไม่เชื่อโว้ย ไม่จริงโว้ย" ส่วนทำเนียบรัฐบาลจะพังหรือไม่นั้นคงจะต้องไปอ่านตอนจบของเรื่องนี้เอาเอง
   
หรือถ้าอยากจะพิสูจน์ด้วยตนเองก็พากันไปตะโกนดังๆ ให้เต็มท้องถนน ทุกๆ วัน

ที่มา.สยามรัฐ
////////////////////////////////////////////////////////

ดอกเบี้ยเสมอเงินเฟ้อ !!?

แย่ดีที่สุด

โอฬาร สุขเกษมการค้าส่งออกของไทยแย่อย่างต่อเนื่อง แถมตัวเลขรายงานการส่งออกผิดไป เพราะไปรายงานตัวเลขสูงเกินจริง ส่งออกพิกัดศุลกากร84733090000 ส่งออกจริง 12,803 ดอลลาร์สหรัฐฯ

แต่ออกตัวเลขส่งออกว่า มีมูลค่าประมาณ  1,289  ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเศษ ต้องมาปรับตัวเลขในภายหลัง และตัวเลขนี้เป็นต้นทางของการคำนวณอัตราการเติบโตเศรษฐกิจของไทยด้วย
   
ดูเหมือนว่านี่จะเป็นครั้งแรกที่กระทรวงพาณิชย์แจ้งตัวเลขผิดไป ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ก็ว่า ตัวเลขมาจากกรมศุลกากร กรมศุลกากรก็บอกว่า แจ้งไปแล้วว่ามีความคลาดเคลื่อน และแจ้งให้แก้ไข แต่กระทรวงพาณิชย์นำไปออกข่าวก่อน
   
ความเชื่อของเราเกี่ยวกับการส่งออกก็คือ ตลาดโลกหดตัวทำให้กระทบการส่งออกของไทย หรือเราได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 2554 หรือการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรวดเดียวเป็น 300 บาท/วัน และวันนี้ก็เชื่อว่า เพราะค่าเงินบาทแข็ง ซึ่งฟังๆ ดูสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเหตุผลที่กระทบต่อการส่งออกของไทย เพียงแต่ว่าเราลืมไปหรือเปล่าว่า แท้จริงแล้วการส่งออกของเราลดลงในขณะที่คู่แข่งของเราแย่งตลาดไทยไปได้ ซึ่งตรงนี้ก็ต้องให้นักวิเคราะห์ไปดูตัวเลขการเติบโตด้านการส่งออกของประเทศต่างๆ มาดูกัน ดูแล้วก็จะพอสรุปได้ว่า เราจะแก้ไขกันอย่างไร
   
ทุกวันนี้เท่าที่มีข้อมูลข่าวสารออกมาก็ชี้ให้เห็นว่า สินค้าบางรายการเราขายแข่งเขาไม่ได้ เพราะต้นทุนเราสูงกว่า อาทิ การส่งออกข้าวของไทย ราคาต้นทุนไทยตกประมาณ 800 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน เนื่องจากรัฐบาลรับจำนำข้าวในอัตราที่สูงมากๆ  แต่ราคาซื้อขายในตลาดโลกไล่กันมาที่ระดับ 420 – 600 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน ทำให้ปี 2555 ไทยขาดทุนจากการค้าข้าวไปแล้วกว่า 100,000 ล้านบาท ความจริงแล้วสินค้าอื่นๆ ของไทยอาจจะตกในชะตากรรมเดียวกันกับข้าวก็ได้
   
ซึ่งนั่นหมายถึงว่า ความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกของประเทศไทยลดลง และรัฐบาลยังไร้หนทางที่จะแก้ไข ซึ่งจากข้อมูลหลายต่อหลายสำนัก ต่างแสดงความห่วงใยเรื่องการส่งออกของไทย
   
เศรษฐกิจไทยเคยขับเคลื่อนด้วยหัวจักรในการส่งออก แต่เกือบ 2  ปีมานี้ ไทยต้องพึ่งพาด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และพึ่งพาด้านการบริโภคในประเทศ ซึ่งการพึ่งพาด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนั้น พึ่งไม่ได้มาก เพราะสัดส่วนจากการท่องเที่ยวเทียบกับจีดีพีของประเทศ มีเพียงไม่เกิน 4% ของจีดีพีเท่านั้น ส่วนใหญ่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก
   
ทุกวันนี้ รัฐตั้งมั่นการบริโภคภายในประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัว รัฐกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทยลดอัตราดอกเบี้ย และการประกาศครั้งล่าสุดของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ได้ลดอัตราดอกเบี้ยชี้นำจาก 2.75 % เหลือ 2.50% ซึ่งน้อยกว่าที่กระทรวงการคลังอยากจะเห็น ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์อยู่ที่ 1.3 – 3.5% (ขึ้นอยู่กับระยะเงินฝากและขึ้นอยู่กับธนาคารแห่งใด) เมื่อเอาไปเทียบกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้คาดว่าอยู่ที่ระดับ 2.5 – 2.8% ขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ของแต่ละสำนัก จะพบว่า เงินเฟ้อกับอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับเดียวกันแล้ว
   
การที่อัตราดอกเบี้ยกับอัตราเงินเฟ้อเท่ากัน ก็หมายถึงว่า มีเงินไปก็ไม่มีประโยชน์ และวันข้างหน้าอัตราดอกเบี้ยอาจติดลบเทียบกับเงินเฟ้อ เงินจึงถูกใช้จ่ายไปเป็นค่าเดินทางท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ ใช้จ่ายซื้อคอนโดมิเนียม ที่ดิน บ้านเดี่ยว หรืออะไรก็ได้ ที่คิดว่าซื้อเก็บไว้แ    ล้วอาจก่อมูลค่าเพิ่มได้
   
         สงสัยเราจะเดินตามรอยประเทศญี่ปุ่นเสียแล้ว !

ที่มา:หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
/////////////////////////////////////////////////////////////

เตือนภัย :โดมความร้อน คลุม กทม. ต้นเหตุฝนถล่มกรุง !!?

ตะลึง กทม.เจอปรากฏการณ์ ฮีต ไอ แลนด์ หรือ โดมความร้อนรุนแรง จู่โจมครั้งแรกในประเทศ สาเหตุจากความร้อนในเขตเมืองพุ่ง ราชเทวี สีลม สุขุมวิท ฯลฯ อาคารสูง คอนโดผุดแอร์เพียบ

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ที่ จ.แพร่ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เป็นประธานเปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำ จ.แพร่ และมอบอุปกรณ์ติดตามสถานการณ์น้ำอัตโนมัติ โดยมีนายรอยล จิตรดอน ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) (สสนก.) บรรยายสถานการณ์ ว่า สสนก.ได้พัฒนาระบบคลังข้อมูลน้ำ และภูมิอากาศแห่งชาติ เพื่อรวบรวมข้อมูลด้านทรัพยากรน้ำ และสภาพอากาศ ทั้งข้อมูลพื้นที่ สถิติ สถานการณ์น้ำปัจจุบัน การคาดการณ์ รวมทั้งงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกันให้เป็นระบบข้อมูลกลาง เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ทั้งในภาวะปกติ และภาวะวิกฤต  นอกจากนี้ยังได้พัฒนา ศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัดเพื่อให้หน่วยงานท้องถิ่นมีข้อมูลสำหรับติดตามสถานการณ์น้ำ เพื่อแจ้งเตือนภัยน้ำท่วม ทั้งยังสามารถเชื่อมโยงข้อมูลจากท้องถิ่น เข้าสู่คลังข้อมูลน้ำ และภูมิอากาศแห่งชาติ เพื่อให้ทุกหน่วยงานเตรียมพร้อมสำหรับปฏิบัติงานทุกสถานการณ์ โดยขณะนี้ สสนก.ได้ทำข้อมูลระดับจังหวัดแล้ว 51 จังหวัด และจะทำให้ครบทั้ง 76 จังหวัดภายในปี 2557 ที่สำคัญ สสนก.ยังสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำระดับจังหวัด นำร่องที่ จ.แพร่ และสุโขทัย เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาเรื่องน้ำมาตลอด
นายรอยลกล่าวว่า สำหรับสถานการณ์น้ำในปี 2556 ยังคงมีปริมาณฝนตั้งแต่เดือนมิถุนายน ถึงเดือนสิงหาคม จะมีปริมาณฝนสูงกว่าเกณฑ์ปกติ โดยฤดูฝนปีนี้จะมาเร็วโดยอิทธิพลของฝนจะเกิดจากอิทธิพลท้องถิ่น คือ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ กำลังแรง ลมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางค่อนข้างแรง ทำให้ปริมาณฝนมีมาก ซึ่งเวลานี้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเวลานี้เริ่มทำนาหว่านกันแล้ว ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน จะเกิดฝนที่ภาคกลาง ช่วงเวลาประมาณ 19.00 น. ต่อเนื่องไปถึงวันที่ 11-13 มิถุนายน โดยจะรุนแรงที่ จ.สุพรรณบุรี กาญจนบุรี และตราด ที่สำคัญในช่วงวันที่ 12-13 มิถุนายน จะเกิดฝนตกหนักพาดผ่านเป็นแนวยาว ตั้งแต่ภาคเหนือจนถึงภาคตะวันออก โดยเฉพาะที่ จ.ตราด ผ่าน จ.ลพบุรี จันทบุรี ไปจนถึง จ.ตราด ซึ่งฝนที่ตกพาดผ่านแนวเฉียงลักษณะดังกล่าว จะส่งผลดีต่อปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพล ที่ จ.ตาก แต่จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลาดเชิงเขาที่จะมีน้ำไหลหลาก อาจจะทำให้ดินถล่ม ดังนั้นต้องเฝ้าระวังในจุดนี้ด้วย
"ฝนที่ตกในช่วง 11-13 มิถุนายน เป็นฝนธรรมดา แต่มีความรุนแรงมากกว่าปกติ ส่วนพายุ ขณะนี้เริ่มก่อตัวแล้ว ถ้าดูจากประเทศสหรัฐอเมริกา ปีนี้ที่กำลังเจอกับพายุเฮอริเคน ถือว่าหนักกว่าปี 2554 โดยในปีดังกล่าวอเมริกาเจอพายุเฮอริเคนมากที่สุดในรอบ 50 ปี แต่ปี 2556 สหรัฐอเมริกาจะเจอพายุเฮอริเคนหนักกว่าปี 2554 อีก ไม่ต้องพูดถึงภาวะน้ำท่วมที่หนักที่สุดในรอบ 10 ปี เพราะฉะนั้น ประเทศไทยเจออุทกภัยปี 2554 จากพายุประมาณ 5 ลูก ในปี 2556 จึงไม่ควรประมาท เพราะว่าธรรมชาติมีการเปลี่ยนแปลงรุนแรงมาก ขณะนี้มีจังหวัดของประเทศไทยที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมถึง 40 จังหวัด เช่น นครสวรรค์ สุโขทัย พิจิตร เป็นต้น" นายรอยลกล่าว
นายรอยลกล่าวว่า ความผันแปรของธรรมชาติปีนี้ค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่กำลังเจอภาวะ ฮีต ไอ แลนด์ (Heat I land) หรือปรากฏการณ์โดมความร้อน ภาวะดังกล่าวเกิดจากลมตะวันตกเฉียงใต้พัดเอาความร้อนจากเขตเมือง ย่านราชเทวี สีลม สุขุมวิท ไปปะทะความชื้นฝั่งดอนเมือง ทำให้อุณหภูมิของดอนเมืองสูงขึ้นทันทีประมาณ 4-5 องศาเซลเซียส จาก 37 องศาเซลเซียส เป็น 42 องศาเซลเซียส ในวันที่ 3 มิถุนายน ส่งผลให้เกิดฝนตกหนัก และทำให้เครื่องบินลงไม่ได้หลายเที่ยวบิน ภาวะดังกล่าวนี้จะเกิดถี่มากขึ้นใน กทม.เนื่องจากภาวะโดมความร้อนที่สะสมมาตั้งแต่ปี 2554  ทั้งนี้ ภาวะโดมความร้อนมักจะเกิดในเมืองใหญ่ โดยที่ใน กทม.เวลานี้ มีการก่อสร้างอาคารชุดขนาดใหญ่ รวมทั้งคอนโดมิเนียมตั้งแต่ รัชดา ลีลม สุขุมวิท แต่ละแห่งมีหลายร้อยห้อง ทุกห้องมีเครื่องปรับอากาศทั้งหมด รวมแล้วหลายหมื่นเครื่อง โดยเครื่องปรับอากาศเหล่านี้ จะปล่อยความร้อนออกมานอกอาคารทั้งกลางวันและกลางคืน เมื่อรวมกับเครื่องปรับอากาศจากศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ทำให้ปริมาณความร้อนพุ่งขึ้นสูง ต่างกับเขตทวีวัฒนา และพื้นที่ฝั่งธนบุรี ที่มีอากาศเย็นลง เนื่องจากมีการก่อสร้างคอนโดมิเนียมหรือห้องชุดน้อย วิธีการแก้ไขทำได้คือ การปลูกต้นไม้ในเมืองให้มากเพื่อรักษาสมดุลของธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของพื้นที่บริเวณสนามบินสุวรรณภูมินั้นจะไม่ได้รับผลกระทบเหมือนพื้นที่ดอนเมือง เพราะสุวรรณภูมิได้รับผลกระทบจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดจากอ่าวไทยเท่านั้น แต่ดอนเมืองรับลมจากทุกทิศ
ด้านนายวรวัจน์กล่าวว่า จ.แพร่ เป็นพื้นที่ที่ทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้งซ้ำซาก การบริหารจัดการน้ำเป็นระบบจึงเป็นเรื่องสำคัญ ด้วยข้อมูลที่มีและการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่จะร่วมกันแก้ปัญหา ทั้งนี้ เวลานี้ทั่วประเทศมีข้อมูลพื้นฐาน เช่น เรื่องแผนที่จังหวัดอยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์สูงสุดสำหรับบริหารจัดการน้ำด้วยตัวเอง ซึ่งศูนย์บริหารจัดการน้ำจังหวัดที่ จ.แพร่นี้จะเป็นต้นแบบสำหรับให้พื้นที่จัดการน้ำด้วยตนเอง แทนที่จะให้ส่วนกลางเป็นผู้จัดการให้เหมือนที่ผ่านมา

ที่มา. มติชนรายวัน
///////////////////////////////////////////////////////////

ยุทธศาสตร์ เนื้อ นม ไข่ !!?

โดย.ณรงค์ ปานนอก

ยามโรคซ้ำกรรมซัด ราคาไข่ที่ทุกรัฐบาลไม่อยากพูดถึง ก็ดันย้อนมาเป็นหนามตำอกให้ฝ่ายรัฐบาลปวดหัวเล่นเสียยังงั้น

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ประสบกับราคาไข่แพงมาแล้ว 2 ช่วง และช่วงนี้ถือเป็น "รำวงรอบพิเศษ" ที่ราคาไข่วนมาแพงเพราะราคาต้นทุนสูงขึ้น บวกกับ "วงในไข่" ได้ใช้เกมเพิ่มราคาไข่ด้วยวิธีทุ่มเงินเก็บไข่ออกนอกระบบ เมื่อไข่ขาดตลาดก็ทำให้ราคาสูงขึ้นมาทันที

ไข่ไก่สูงกว่าราคาเดิมหน้าฟาร์มเพียงฟองละ 30 สตางค์ ดูแล้วไม่น่าเดือดร้อน แต่ฝ่ายค้านก็สร้างวาทกรรมที่ถนัดให้เห็นว่า ไข่ไก่แพงมากถึงฟองละ 5 บาท... เมื่อถึงปากผู้บริโภค ไข่สุกก็ขยับสูงถึงฟองละ 8-10 บาท

เข้าตำรา "ทีเอ็งเคยด่าว่ายุคข้าขายไข่ชั่งกิโล ตอนนี้ถึงทีข้า ข้าจะด่าเอ็งบ้างว่ายุคไข่ปูแพงโคตร" อะไรทำนองนั้น

ยุค "ไข่ชวน ไข่น้าชาติถูก" ยุค "ไข่แม้วแพง" มาถึงยุค "ไข่มาร์คชั่งกิโล" ยังพอทำเนา แต่มาถึงยุค "ไข่ปูโคตรแพง" นี่มันวาทกรรมตลกผิดเพศแปลงพันธุ์ทั้งที่เป็น "ปูตัวเมีย" ไปหรือเปล่า

เมื่อรู้ว่า "ไข่" เป็นตัวสะท้อนสถานภาพของรัฐบาลแต่ละยุค รัฐบาลก็ต้องมี "กึ๋น" ขจัดปัญหาให้ได้ ไม่งั้นก็จะตกเป็น "ขี้ปาก" ให้ใครเอาไปค่อนแคะได้ว่า "แม้แต่ไข่ ยังแก้ไม่ตก"

ผมไม่ได้ปลื้มกับสถานการณ์ไข่แพง จนไม่อาจสกัดราคาถึงขั้นหมดสิทธิ์กินไข่ราคาถูกได้อีกแล้ว แต่เชื่อว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์มีปัญญาเข้าไปจัดการ "กลไกราคาไข่" ให้ลดลงมาได้...ถ้าไม่ด้วยวิธี "ดัมพ์ปริมาณไข่" เข้าตลาดให้มากขึ้น ก็อาจเพิ่มปริมาณแม่ไก่ไข่นำเข้าให้มากขึ้น แล้วหาทางช่วยเกษตรกรโดยลดต้นทุนอาหารไก่ลง

ไอ้เรื่อง "ไข่ธงฟ้า" ราคาถูกนั่น มัน "ผักชีโรยหน้า" เป็นแค่ของเล่นเพื่อ ยืดเส้นยืดสายของรัฐมนตรีและข้าราชการกระทรวงพาณิชย์เพื่อหลบ "พายุน้ำลาย" บางฤดูกาลเท่านั้น

แต่สิ่งที่จะเสนอแนะให้เป็นจริงเป็นจัง และเป็นประโยชน์สูงสุดต่อสุขภาพประชากรทั้งปัจจุบันและอนาคตต่างหากเป็นเรื่องที่ควรนำไปเป็น "วาระอาหารหลักแห่งชาติ"

กรณีตัวอย่างที่เห็นชัดคือ ทำไมรัฐบาลตรึงราคาน้ำมันดีเซลให้อยู่ในระดับลิตรละไม่เกิน 30 บาทได้ยาวนาน ทั้งๆ ที่น้ำมันดีเซลหลายช่วงมีราคาสูงกว่าลิตรละ 30 บาท

ทำไมราคาก๊าซหุงต้ม หรือก๊าซ LPG เติมในรถยนต์จึงราคาถูกกว่าก๊าซ LPG นำเข้า ก็เพราะรัฐมีนโยบายแบกราคาก๊าซหุงต้มไม่ให้แพงจนไปกระทบราคาอาหาร โดยรวมต้องขยับราคาสูงขึ้นไปอีก โดยการเก็บกำไรจากการขายน้ำมันก๊าซโซฮอล์ ทุกชนิดไปเข้ากองทุน แล้วเอาเงินส่วนนั้นมาชดเชยส่วนต่างของราคาก๊าซนำเข้า ทำให้ก๊าซมีราคาต่ำกว่าราคาจริง

กับก๊าซหุงต้ม กับก๊าซในรถยนต์ รัฐบาลยังชดเชยให้ก๊าซราคาถูกได้

แล้วทำไมรัฐบาลจึงไม่คิดทำให้อาหารหลักของประชากรทั้งประเทศมีราคาตรึงให้นิ่งบ้าง

"ไข่" ไม่ใช่เป็นอาหารหลักอย่างเดียว แต่ผมกำลังมองว่า "เนื้อ นม และไข่" คืออาหารหลักของชาติที่ไม่ควรให้ขึ้นราคาตามกลไกตลาดที่ถูกครอบงำโดย "คนกลาง" ถ้าตราบใดที่รายได้ประชาชาติยังไม่มากพอ และแผ่นดินนี้ยังมีคนจนคนหาเช้ากินค่ำอีกหลายล้านคนทั้งในเมืองและชนบท

รัฐบาลสามารถตรึงราคาไข่ สมมติว่ายืนราคาฟองละ 2.50 บาท โดยไปอุดหนุนต้นทุนให้เกษตรกรเลี้ยงไก่ไข่อยู่ได้

รัฐบาลดูแลแม่ของลูกๆ ทั่วประเทศ ด้วยการผลิตนมวัวสด และนมผงเลี้ยงลูกออกสู่ตลาดในราคาที่ "แม่ทั้งแผ่นดิน" ไม่เดือดร้อนกระเสือกกระสนดิ้นรนหาเงินเพื่อซื้อนมให้ลูกอย่างยากลำบาก โดยรัฐอัดฉีดเงินอุดหนุนตั้งโรงงาน ผลิตนมผง หรือตรึงนมวัวสดให้นิ่งและราคาถูกเสียเอง

อีกทั้งอุดหนุนผลิตเนื้อสัตว์ ก็ต้องทำให้ราคาถูกในระดับที่ชาวบ้านซื้อหาอย่างไม่เดือดร้อน

เมื่อ "เนื้อ นม ไข่" ราคาตรึงนิ่งระยะยาว ผู้คนซื้อหาได้ราคาต่ำ เด็กและเยาวชนก็ได้รับการฟูมฟักจากพ่อแม่โดยไม่เดือดร้อน หากินได้เต็มที่ ก็จะทำให้สุขภาพร่างกายเด็กเติบโตมีโครงสร้างบึกบึนเจริญพันธุ์สูงกว่าคนยุคเก่า

ถ้ารัฐบาลทำอย่างนี้ได้ เหมือนกับอุดหนุนราคาก๊าซให้นิ่งให้นานที่สุด เพียง 10 ปีหน้า เราก็จะเห็นผลดีทางด้านร่างกายที่เติบใหญ่เป็น "พลเมืองไทยสายพันธุ์ใหม่" ไปอีกอย่างก้าวกระโดด

สัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลเวียดนามเพิ่งประกาศวิสัยทัศน์ชาติว่า จะสร้างมนุษย์ผู้หญิงรุ่นใหม่ให้สูงเกิน 157 ซม.ภายใน 17 ปีข้างหน้า แสดงว่าเวียดนาม ได้คิดสร้างเผ่าพันธุ์ตัวเองให้ใหญ่โตอย่างจริงจัง

ข้อเสนอของผม จึงไม่ใช่เรื่องเกินฝันและทำไม่ได้ แต่จะเป็นอีกยุทธศาสตร์ ชาติหนึ่งซึ่งน่าจะสอดรับกับสภาวะไข่แพง แล้วรู้จัก "พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสของชนชาติไทย" ได้อย่างถูกจังหวะมากกว่า

พรรคไหนรีบฉวยเอาไปเป็นนโยบายเร่งด่วน ประชาชนอาจนิยมอย่างรวดเร็วก็ได้..อย่าหาว่าไอ้รงค์เพ้อเจ้อก็แล้วกัน!

ทีมา.สยามธุรกิจ
----------------------------------------------------------------

วันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2556

น้ำงึม 2 : พลังเสริมไฟฟ้าไทย !!?

วันนี้สังคมไทยกำลังถกเถียงเรื่องการสร้างโรงไฟฟ้าจากถ่านหินในจังหวัดกระบี่ ว่า ควรสร้าง หรือ ไม่ควรสร้าง โดยในส่วนของภาครัฐต้องการนำร่องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่ม หลังจากพบว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าในประเทศปริ่มๆ จะไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ของคนทั้งชาติ พร้อมกันนี้พื้นที่ภาคใต้กำลังเผชิญกับสถานการณ์ไฟฟ้าไม่เพียงพอมาระยะหนึ่งแล้ว โดยปัจจุบันไปดึงไฟฟ้าจากภาคอื่นมาใช้แทน

การซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศนั้นดูเหมือนจะเป็นทางเลือกสำคัญในเวลานี้ โดยภาครัฐพุ่งเป้าหมายไปที่การซื้อไฟฟ้าพลังน้ำเป็นอันดับแรก เนื่องจากราคาถูกและไม่ก่อมลพิษทางอากาศและลดกระแสต่อต้านลงได้มาก โดยปัจจุบันไทยซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจาก สปป.ลาว มากเป็นอันดับ 1 ประมาณ 2,104 เมกะวัตต์ และในอนาคตอีก 20 ปี ความต้องการใช้ไฟฟ้าของไทยจะก้าวถึง 70,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันใช้อยู่ 26,121 เมกะวัตต์ ดังนั้น ไฟฟ้าปริมาณมากดังกล่าวจะต้องพึ่งพิงจาก สปป.ลาว อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจาก สปป.ลาว ยังมีกำลังผลิตไฟฟ้าพลังน้ำเหลืออีกกว่า 13,384 เมกะวัตต์ ที่ไทยสามารถพึ่งพาได้

สำหรับ สปป.ลาว มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำได้ทั้งสิ้นกว่า 2 หมื่นเมกะวัตต์ โดยดำเนินการผลิตไฟฟ้าแล้วกว่า 3,000 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างการศึกษาอีก 2,500 เมกะวัตต์ และยังมีศักยภาพเหลือรอพัฒนาขึ้นมาได้อีกกว่า 13,000 เมกะวัตต์ ซึ่งผลิตจากแม่น้ำ 8 สาย ได้แก่ น้ำทา น้ำอู น้ำงึม น้ำเงี๊ยบ น้ำเทิน เซดอง เซกอง และแม่น้ำโขง โดยปัจจุบันโครงการน้ำเทิน 2 ซึ่งประเทศฝรั่งเศสเป็นผู้พัฒนาโครงการ นับได้ว่าเป็นโครงการการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำที่มีปริมาณสูงสุด 1,075 เมกะวัตต์ รองลงมาได้แก่ น้ำงึม 2 โดยคนไทยเป็นผู้พัฒนาโครงการ มีกำลังการผลิต 615 เมกะวัตต์

ดังนั้น แม้โรงไฟฟ้าพลังน้ำจะอยู่ใน สปป.ลาว แต่ก็มีบริษัทคนไทยที่เข้าไปพัฒนาโครงการขึ้นมาเช่นกัน โดยเฉพาะโครงการสำคัญอย่างโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 ซึ่งบริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ ซีเคพี เป็นผู้พัฒนาโครงการขึ้นมา โดยซีเคพี เป็นบริษัทลงทุนด้านพลังงาน และเป็นที่รู้จักกันดีในนามของบริษัทลูกของ ช.การช่าง

นางสุภามาส ตรีวิศเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซีเค พาวเวอร์ จำกัด กล่าวว่า ซีเคพี มุ่งเน้นที่จะขยายธุรกิจการผลิตไฟฟ้าเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศไทย และภูมิภาคนี้ที่จะขยายตัวเพิ่มอีกมาก โดยในปัจจุบันบริษัทฯ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป.ลาว เป็นอันดับ 2 มีกำลังการผลิต 615 เมกะวัตต์ รองจากเขื่อนน้ำเทิน 2 ของฝรั่งเศสที่มีกำลังการผลิต 1,075 เมกะวัตต์ ซึ่งหากเขื่อนไซยะบุรี บนแม่น้ำโขง สร้างเสร็จในปี 2562 จะทำให้บริษัทฯ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 1,285 เมกะวัตต์ ก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของผู้ผลิตไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป.ลาว มีกำลังการผลิตรวม 1,900 เมกะวัตต์

โดยเขื่อนไซยะบุรีนี้ มีมูลค่าการก่อสร้างประมาณ 1.15 แสนล้านบาท ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 30% ได้รับสัมปทานการผลิตไฟฟ้าจาก สปป.ลาว 29 ปี มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 1,285 เมกะวัตต์ จำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 1,220 เมกะวัตต์ และ สปป.ลาวอีก 60 เมกะวัตต์ โดยได้เริ่มก่อสร้างในเดือน มี.ค.2555 ขณะนี้มีความคืบหน้าในการก่อสร้างประมาณ 13-14% ตรงตามแผนที่วางไว้

ส่วนโครงการในอนาคต มีโครงการสร้างเขื่อนน้ำบาก ซึ่งแม่น้ำบากเป็นแม่น้ำสายเล็กๆ ที่อยู่ท้ายเขื่อนน้ำงึม 2 มีมูลค่าการลงทุน 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งกำลังการผลิตทั้งหมด 160 เมกะวัตต์ จะขายให้กับรัฐบาล สปป.ลาว หรือประมาณ 730 ล้านหน่วย สร้างรายได้ให้กับบริษัทฯ ปีละกว่า 1 พันล้านบาท คาดว่าภายในปี 2556นี้ จะเจรจาสัญญาสัมปทาน สัญญาซื้อขายไฟฟ้า และจ้างผู้รับเหมาได้เสร็จภายในปี 2556 นี้ และจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2557

นอกจากธุรกิจการผลิตไฟฟ้าจากน้ำแล้ว บริษัทฯ ยังมีธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อีก 3 โครงการ ได้แก่ โครงการบางเขนชัย กำลังการผลิต 8 เมกะวัตต์ โครงการนครราชสีมาโซลาร์ 6 เมกะวัตต์ และโครงการเชียงรายโซลาร์ 8 เมกะวัตต์ รวมทั้งยังมีโครงการโรงไฟฟ้าบางปะอิน โคเจนเนอร์เรชั่น (BIC) โดยโครงการ BIC1 มีกำลังผลิตไฟฟ้า 117.5 มกะวัตต์ ขายไอน้ำ 19.6 ตันต่อชั่วโมง และ BIC2 มีกำลังการผลิต 120 เมกะวัตต์ ขายไอน้ำ 20 ตันต่อชั่วโมง ซึ่งจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 2017

สำหรับธุรกิจของบริษัทฯ มีความมั่นคงสูง เพราะประเทศไทย และประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ มีความต้องการใช้ไฟฟ้ามากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะประเทศไทยคาดว่าในอีก 40 ปีข้างหน้า ความต้องการไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นจาก 2.6 หมื่นเมกะวัตต์ เป็นกว่า 8 หมื่นเมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว โดยจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 1.4 พันเมกะวัตต์ และถ้ารวมกับโรงไฟฟ้าเก่าที่ต้องปลดออกจากระบบ ก็จะต้องสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มอีกกว่าปีละ 2 พันเมกะวัตต์  ดังนั้น ไทยไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หรือถ่านหิน ซึ่งจะก่อสร้างแต่ละโรงก็เป็นเรื่องยาก ทางออกที่ดีทางหนึ่งก็คือการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำและถ่านหินในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งบริษัทฯ ก็มีความพร้อมสูงมากในธุรกิจนี้

ส่วนกรณีกระแสต่อต้านโรงไฟฟ้าใน สปป.ลาวนั้น เห็นว่ามีความแตกต่างจากไทยมาก หรือเรียกได้ว่าคนใน สปป.ลาวแทบจะไม่มีการต่อต้านเลยก็ว่าได้ เนื่องจากการเมืองใน สปป.ลาวมีความมั่นคงสูง มีพรรคการเมืองบริหารเพียงพรรคเดียว จึงสามารถควบคุมประชาชนได้ง่ายกว่า และการสร้างโรงไฟฟ้าแต่ละครั้งผู้พัฒนาโครงการจะเดินทางไปพบกับชาวบ้านโดยมีตัวแทนของภาครัฐไปด้วยทุกครั้ง และที่สำคัญจะมีจดหมายจากทางการแจ้งให้ประชาชนทราบว่า จะสร้างโรงไฟฟ้าและเป็นโรงไฟฟ้าของรัฐบาล สปป.ลาว ดังนั้น ประชาชนจะไม่มีการต่อต้านแต่อย่างใด ดังนั้น ความรู้สึกและความเห็นในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าของ สปป.ลาว กับคนไทยจึงแตกต่างกันมาก ซึ่งเปรียบเทียบกันไม่ได้

การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำจากประเทศเพื่อนบ้านนับเป็นทางเลือกหนึ่งของไทย ที่จะเสริมสร้างปริมาณไฟฟ้าป้อนให้คนไทยใช้อย่างเพียงพอ และเป็นโรงไฟฟ้าที่สร้างปัญหามลพิษให้กับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด หากถามว่าทำไมไม่สร้างในไทยแทน คำตอบที่ได้คือ ไทยไม่มีพื้นที่น้ำขนาดใหญ่สร้างได้อีกแล้ว โดยปัจจุบันสร้างตามลุ่มแม่น้ำ 6 แห่งแล้ว เช่น เจ้าพระยา ชี-มูล แม่กลอง เพชรบุรี ตาปี และปัตตานี กำลังการผลิต 3,483 เมกะวัตต์ จึงต้องหันไปพึ่งพาต่างประเทศ แต่ต้องยอมรับว่า การพึ่งพาโรงไฟฟ้าจากต่างประเทศจะทำให้ไทยไม่มีเสถียรภาพด้านไฟฟ้าในระยะยาว หากมีปัญหาทะเลาะกับประเทศผู้ผลิตไฟฟ้า

ดังนั้น คงถึงเวลาที่คนไทยต้องร่วมกันหาทางออกให้กับไฟฟ้าไทยในปัจจุบัน ด้วยหลักเหตุและผลที่แท้จริง ซึ่งทั้งภาครัฐและประชาชนต้องเปิดใจรับฟังเหตุผลของกันและกัน เพื่อหาทางออกให้กับประเทศ และเพื่ออนาคตลูกหลานไทยได้มีไฟฟ้าใช้ต่อไปอย่างยั่งยืน.

ที่มา.ไทยโพสต์
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////

เตือนผู้จ่ายภาษีหลังอานแน่ : อดีตขุนคลังฉะบุญทรง น่าละอาย ปกปิดบัญชีเจ๊งจำนำข้าว !!?

รับภาระหนี้รัฐหัวละ4หมื่น
มาร์คย้ำขาดทุนเกิน2แสนล.
ยังคงเกิดเสียงวิจารณ์ออกมาอย่างอื้ออึง เกี่ยวกับตัวเลขการขาดทุนโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ภายหลังจาก?นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ไม่สามารถเคลียร์ข้อสงสัยเรื่องดังกล่าวให้ประชาชนได้รับทราบอย่างชัดเจนจากการแถลงชี้แจงเรื่องนี้เมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยทำได้เพียงแค่ยืนยันว่าตัวเลขขาดทุนไม่ได้มากถึง 2.5 แสนล้านบาท แต่กลับไม่ยอมเปิดเผยตัวเลขที่แท้จริง โดยอ้างเป็นความลับทางราชการ และต้องรอให้ขายข้าวให้ได้หมดก่อน จึงจะสามารถคำนวณตัวเลขที่ได้จริงออกมาได้
 
อดีตขุนคลังผิดหวังแจงจำนำข้าว
โดยเมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง ในรัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้ออกมาแสดงความคิดเห็นถึงเรื่องดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊กของตัวเองว่า รู้สึกผิดหวังกับการชี้แจงของกระทรวงพาณิชย์ โดยเฉพาะที่อ้างว่ายังคำนวณกำไรขาดทุนไม่ได้เพราะต้องรอให้ขายขายข้าวหมดก่อน จึงขอไม่ปิดบัญชี

จวกน่าละอายทำผิดหลักบัญชี
“เมื่อวานนี้ รัฐมนตรีพาณิชย์แถลงว่ายังไม่สามารถคำนวนกำไรขาดทุนจำนำข้าวได้ เพราะต้องรอให้ขายข้าวจนหมดเสียก่อน เฮ้อ!!! ฟังแล้วลมจับ สงสัยจะต้องรอไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานเสียแล้ว กระทรวงพาณิชย์มีหน้าที่กำกับดูแลนักบัญชีทั่วประเทศ แต่กลับไม่ปฏิบัติตามหลักการบัญชีเสียเอง เป็นที่น่าละอายมากนะครับ”

ถามเอกชนทำบ้างได้หรือไม่
นายธีระชัย กล่าวอีกว่า หากในอนาคตบริษัทธุรกิจเอกชนขอใช้หลักการนี้บ้าง จะได้หรือไม่ กรณีบริษัทซื้อสินค้ามาล๊อตใหญ่ ขายไปเพียงบางส่วน ที่เหลือยังค้างอยู่ในสต๊อก จะขออ้างว่า เนื่องจากยังมีสินค้าที่ขายไม่หมด ก็เลยขอยังไม่ปิดบัญชีประจำปี เหมือนกับที่กระทรวงพาณิชย์อ้างจะได้หรือไม่ แล้วกระทรวงการคลังจะเก็บภาษีประจำปีกันอย่างไร

ตบหน้าสอนหัดทำบัญชี
นายธีระชัย กล่าวต่อว่า บังเอิญเคยเรียนวิชาสอบบัญชีที่ประเทศอังกฤษ จึงขออธิบายหลักวิธีทางบัญชีเพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจ คือ ทุกองค์กร ต้องมีการปิดบัญชีเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ อาจจะเป็นทุกเดือน หรือทุกสามเดือน ทุกหกเดือน หรือทุกสิบสองเดือนก็ได้ แต่โดยทั่วไปต้องไม่เกินรอบสิบสองเดือน เช่น สมมติว่า ต้องการปิดบัญชี ณ วันที่ 31 มกราคม 2556 เพื่อให้ตรงกับของคณะกรรมการปิดบัญชี ก็ให้หาข้อมูลดังนี้

1.จนถึงวันที่ดังกล่าว รัฐบาลใช้เงินไปในการรับจำนำสะสมเป็นจำนวนเท่าใด ก็ตั้งไว้เป็นบรรทัดแรก 2.จนถึงวันที่ดังกล่าว รัฐบาลขายข้าวไปทั้งสิ้นได้เงินเท่าใด ก็ใส่เป็นบรรทัดที่สอง 3.ณ วันที่ดังกล่าว มีการตรวจนับสต๊อคโดยบุคคลที่เชื่อถือได้หรือยัง เขาพบว่ามีข้าวอยู่จริงเท่าใด ให้ใช้เฉพาะตัวเลขที่นับสต๊อคเหลืออยู่จริง

4.สต๊อคข้าวที่มีอยู่ ณ วันที่ดังกล่าว มีคุณสมบัติและสภาพเฉลี่ยอย่างไร ให้ตีตามราคาตลาดในวันนั้น โดยลดทอนราคาตลาดลงตามสภาพเฉลี่ย เป็นบรรทัดที่สาม และ 5.กำไรขาดทุน คือคำนวนโดยเอาบรรทัดแรก ลบด้วย บรรทัดที่สอง และ บรรทัดที่สาม เท่านั้นเอง ถ้าจะตั้งใจทำกันจริงๆ ก็ไม่ยากเย็นอะไรเลย

เตือนผู้เสียภาษีมีแต่พังกับพัง
“วันนี้มีผู้สื่อข่าวถามผมว่า กรณีนี้จะเป็นต้นเหตุให้รัฐบาลพังหรือไม่ ผมตอบว่าไม่ทราบ เพราะไม่ชำนาญด้านการเมือง แต่ผมอยากจะตอบในที่นี้ ถึงแม้ผมไม่ทราบว่ารัฐบาลจะพังหรือไม่ แต่ที่ผมทราบแน่ๆ ก็คือในฐานะประชาชนผู้เสียภาษี พวกเราพังกันหมดแล้วครับ”

รับภาระหนี้อ่วมคนละ4หมื่น
นายธีระชัย ย้ำว่า ถ้าใช้ตัวเลขขาดทุนแบบกลมๆ 2 แสนล้าน เฉลี่ยต่อคนสำหรับคนไทยทั้ง 67 ล้านคน โดยรวมทั้งลูกเด็กเล็กแดง จะเป็นเงินคนละเกือบ 3,000 บาท แต่หากใช้ตัวเลขบุคคลธรรดาที่เสียภาษีเงินได้ในแต่ละปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างกินเงินเดือนนั้น คงมีไม่ถึง 5 ล้านคน ถ้าใช้ตัวเลข 5 ล้านคนที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นตัวหาร ภาระจะตกถึงคนละ 40,000 หมื่นบาท

จี้คายบัญชีแจงตัวเลขออกมา
“หรือหากการขาดทุนบานออกไปเป็น 3 แสนล้านบาท ภาระก็จะเพิ่มเป็นคนละ 60,000 บาท ดังนั้นรัฐมนตรีคลังกับรัฐมนตรีพาณิชย์ร่วมกันสร้างภาระให้แก่ประชาชนมากขนาดนี้ ก็ควรจะปิดบัญชีให้เขาดูกันหน่อยซิครับ ประชาชนเขาจะได้รู้สึกว่ามันคุ้มค่ากับเลือดที่ไหลออกไปกันหน่อย” นายธีระชัย กล่าว

มาร์คย้ำตัวเลขเจ๊ง2แสนล้าน
วันเดียวกันที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน แถลงว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะต้องเร่งชี้แจงและแก้ไขปัญหาโครงการรับจำนำข้าวโดยเร่งด่วน เนื่องจากการรับจำนำที่ทำมา 3 ฤดูกาลมีการขาดทุนอย่างมหาศาล โดย นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง เคยออกมายอมรับว่า การรับจำนำข้าวนาปีฤดูกาลผลิต 2554/2555 ขาดทุน 42,963 ล้านบาท นาปรังฤดูการผลิต 2555 ขาดทุน 93,993 ล้านบาท และนาปีฤดูกาลผลิต 2555/2556 ขาดทุน 84,071 ล้านบาท รวมขาดทุน 220,976 ล้านบาท

ตอกหน้าอย่าไขสือปิดตัวเลข
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลพยายามบอกว่าตราบใดที่ยังขายข้าวไม่หมด ก็จะไม่มีทางทราบว่า สถานะเรื่องการขาดทุนของโครงการจำนำข้าวเป็นอย่างไร ถ้าใช้หลักคิดนี้ตราบเท่าที่โครงการจำนำข่าวยังดำเนินการต่อ จะไม่มีทางทราบว่า ขาดทุนเท่าไหร่ เพราะจะมีข้าวที่ขายออกไปและรับจำนำเข้ามาไม่จบไม่สิ้น

“เหมือนกับการซื้อของมา 100 บาท แล้วเอามาเก็บไว้ ขณะที่ราคาในตลาดขายที่ 80 บาท จะบอกว่าไม่ขาดทุน เพราะยังไม่ได้ขายแล้วซื้อเข้ามาเรื่อยๆ ในจำนวน 100 บาท จะมาสรุปว่า ยังไม่ขาดทุนเพราะยังขายไม่หมดไม่ได้ แต่ต้องคิดว่าราคาตลาดในขณะนั้นขาดทุน 20 บาทต่อการซื้อครั้งละ 100 บาท ยิ่งไปกว่านั้นของที่เก็บไว้ยังมีปัญหาเรื่องเสื่อมสภาพด้วย ก็ต้องประเมินเป็นช่วงๆ เพื่อปิดบัญชีว่ามูลค่าของเปลี่ยนแปลงอย่างไร ดังนั้นการที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีประมาณการว่าการขาดทุนอยู่ที่ 220,976 ล้านบาท จึงมีพื้นฐานหลักคิดที่ตรวจสอบได้ ไม่ใช่เรื่องที่ไม่สามารถสรุปตัวเลขได้เหมือนอย่างที่รัฐบาลอ้าง”

กางตัวเลขจับโกหกพณ.อ้างไม่เจ๊ง
ขณะที่จากการชี้แจงของ นายบุญทรง ที่ระบุว่า สามารถนำเงินที่ระบายข้าวไปคืน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) 1.2 แสนล้านบาท และประเมินมูลค่าข้าวในสต๊อคว่าอยู่ที่ 2.26 ล้านบาท รวมแล้วเงินยังหายไป 3.15 แสนล้านบาท จากวงเงินที่ถูกใช้ในโครงการรับจำนำข้าวทั้งหมด 6.6 แสนล้านบาท จึงไม่มีประเด็นที่รัฐบาลจะปฏิเสธว่าการขาดทุนในโครงการจำนำข้าวไม่ถึง 2.6 แสนล้านบาท เพราะตัวเลขของราชการยืนยันตรงกันว่าต้องขาดทุนในโครงการนี้ปีละกว่าสองแสนล้านบาท

ปชป.จี้“ปู-บุญทรง”รับผิดชอบ
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ความพยายามปกปิดตัวเลขการขาดทุนในครั้งนี้ จะไม่เป็นผลดีกับรัฐบาล เพราะเป็นพฤติกรรมที่เลวร้ายกว่าการแถลงตัวเลขจริง เนื่องจากสังคมจับตามองเรื่องนี้มากขึ้น การไม่เปิดเผยตัวเลขครั้งนี้ยิ่งทำให้สังคมสงสัย เข้าข่ายการปกปิดข้อมูล ทำให้ความน่าเชื่อถือของเครดิตรัฐบาลจะยิ่งลดลง

“อยากให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ที่แต่งตั้งให้ นายบุญทรง ดำเนินการ เรื่องนี้ต้องรับผิดชอบทางใดทางหนึ่ง และ นายบุญทรง ที่ไม่สามารถชี้แจงข้อมูลโครงการได้ ก็สมควรที่จะทบทวนการทำหน้าที่ตัวเองได้แล้ว” นพ.วรงค์ กล่าว

เย้ย“โต้ง”ไวท์ไลน์ปัดเดิมพันเก้าอี้
ส่วนกรณี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ปฏิเสธไม่เคยประกาศท้าเดิมพันตำแหน่ง หากโครงการรับจำนำข้าวขาดทุนเกิน 6 หมื่นล้านบาทนั้น นพ.วรงค์ กล่าวว่า เข้าใจว่า ตอนนี้กระแสสังคมบีบ นายกิตติรัตน์ มาก เพราะมีการเปิดเผยตัวเลขการขาดทุนจำนำข้าวที่สูง จึงทำให้มีแรงกดดันให้นายกิตติรัตน์รับผิดชอบ และเชื่อว่าเป็นการโกหกสีขาวหรือไวท์ไลน์อีกรอบของ นายกิตติรัตน์ เท่านั้น

รบ.หมดมุกจูงมือชาวนาช่วยป้อง
เช้าวันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้นำตัวแทนชาวนาจาก จ.กำแพงเพชร ชัยนาท อ่างทอง อยุธยา ลบบุรี พิษณุโลก สุพรรณบุรี มาเปิดเผยถึงชีวิตความเป็นอยู่ภายหลังรัฐบาลมีโครงการรับจำนำข้าว โดยแต่ละคนต่างยืนยันว่า โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้นและอยากให้มีโครงการรับจำนำข้าวอย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจของชาวนาทั้งประเทศ

พท.ปัด“ปู”ลอยตัวเหนือปัญหา
ส่วนที่พรรคเพื่อไทย นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นผู้นำประเทศ ไม่เคยลอยตัวหรือเลี่ยงความรับผิดชอบต่อปัญหาใดๆ โดยเฉพาะการติดตามการแก้ปัญหาโครงการรับจำนำข้าวของกระทรวงพาณิชย์ ทั้งนี้ในสมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เคยทำโครงการประกันราคาข้าว มีชาวนามาก่อม็อบประท้วงทุกฤดูกาลผลิต แต่ยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังไม่ได้มีการประท้วง อีกทั้งผลสำรวจของอีสานโพล ก็เผยว่าคนอีสานใน 20 จังหวัดพอใจการแก้ปัญหาราคาข้าวของรัฐบาลถึงร้อยละ 61

ป.ป.ช.ตั้ง2อนุฯไต่สวนบุญทรง
วันเดียวกันมีรายงานข่าวแจ้งว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ตั้งอนุกรรมการขึ้นมา 2 ชุด เพื่อไต่สวน นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ เกี่ยวกับการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวตามที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ และบุคคลอื่นร้องเรียนมา ซึ่งมีทั้งในภาพรวมและการให้ตรวจสอบการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) เพราะจากการตรวจสอบเอกสารที่ยื่นมานั้นพบว่า มีข้อมูลข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะตั้งอนุกรรมการไต่สวน นายบุญทรง ในเรื่องดังกล่าวได้ โดยมอบให้กรรมการ ป.ป.ช. 3 คน คือ นายวิชา มหาคุณ พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง และนายกล้านรงค์ จันทิก รับผิดชอบ

ที่มา.นสพ.แนวหน้า
/////////////////////////////////////////////////////

7 แสนล้านสู่ 1 ล้านล้าน โอกาสทองค้าชายแดน !!?

ในงานเสวนา "จาก 7 แสนล้านสู่ 1 ล้านล้าน โอกาสทองค้าชายแดน" มุมมองของภาคเอกชนและภาครัฐยังเห็นตรงกันว่า โอกาสการค้าชาย แดนนับวันมีแต่จะรุ่งโรจน์

ขนาดตั้งเป้าว่ามูลค่าการค้าปีนี้น่าจะทะลุ 1.2 ล้านล้านบาท เพิ่มจากปีที่ผ่านมาซึ่งทำได้ประมาณ 7-8 แสนล้านบาท

ในจำนวน 1.2 ล้านล้านบาท ส่วน ใหญ่ไทยเป็นฝ่ายส่งออกมากกว่าการ นำเข้า ทำให้ได้เปรียบดุลการค้า ยกเว้น พม่าซึ่งไทยต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติหลายหมื่นล้านบาทต่อปี

นิยม ไวยรัชพานิช รองประธาน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ กับประเทศเพื่อนบ้าน สะท้อนมุมมองว่า โอกาสที่การค้าไทยกับประเทศเพื่อน บ้านจะเติบโตนั้นมีอีกมาก เพราะทุกวันนี้ยังมีการค้าในระบบใต้ดิน คือค้า ขายกันโดยไม่ผ่านศุลกากรมากกว่า 5 แสนล้านบาทต่อปี ถ้าเอาตัวเลขเหล่านี้ขึ้นมาบนดินได้ มูลค่าการค้าจะพุ่งสูง ขึ้นอีกมหาศาล

"การขนส่งเป็นหัวใจสำคัญของการค้าชายแดน ถ้าเราสามารถขับรถจากไทยไปลาว-เวียดนาม-พม่า-กัมพูชา-มาเลเซีย ได้แบบม้วนเดียวจบ ไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายสินค้าระหว่างแดน จะช่วยให้การขนส่งผ่านแดนลื่นไหลดีกว่านี้ ซึ่งจะทำให้ยอดการค้าเพิ่มขึ้น รัฐบาลจึงต้องเร่งเจรจาทวิภาคีกับเพื่อนบ้านในประเด็นนี้ ไม่จำเป็นต้องรอปี 2558"

นายนิยม ยังกล่าวถึงการเปิดจุดผ่านแดนว่า ควรจะเปิดให้มากที่สุดเท่า ที่จะมากได้ เขาใช้คำว่า "เปิดให้พรุน" ได้ยิ่งดี อาจใช้พื้นที่ของเอกชนที่อยู่ตาม ชายแดนเป็นจุดผ่านแดนถาวรก็ได้ เพราะ การเป็นประชาคมอาเซียนในปี 58 ไม่ได้เป็นเฉพาะเรื่องของเศรษฐกิจ แต่อีก 2 เสาคือความมั่นคงและวัฒนธรรมก็ต้องเป็นเนื้อเดียวกันด้วย เมื่อความมั่นคงบูรณาการร่วมกันได้ การเปิดด่านก็เป็นเรื่องง่าย

"พม่าที่เคยยึกๆ ยักๆ กับระบบการค้าชายแดน วันนี้เขาก็แสดงความ พร้อมเดินหน้าเต็มที่ สินค้า 15 ราย การ ที่เคยห้ามนำเข้าก็นำเข้าได้คือ ผงชูรส น้ำหวาน เครื่องดื่ม ขนมปังกรอบ หมาก ฝรั่ง ขนมเค้ก ขนมเวเฟอร์ อาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เหล้า เบียร์ บุหรี่ ผลิตภัณฑ์ พลาสติก ผลไม้สด หลังจากที่ประกาศ ห้ามนำเข้ามานานกว่า 10 ปี ในอนาคตสินค้าอีกหลายพันรายการที่มีเงื่อนไขก็จะเปิดเสรี 100%"

ขณะที่นายสุรัตน์ จันทองปาน ผู้จัดการการขนส่งสินค้าผ่านแดน บริษัท KWE- Kintetsu World Express (Thailand) มองว่า ประเทศไทยคือศูนย์ กลางที่ไม่อาจปฏิเสธได้ แม้กลุ่มทุนข้าม ชาติหลายรายจะเข้าไปลงทุนตรงในพม่า และลาว แต่อีกจำนวนมากก็เลือกที่จะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตใหญ่เชื่อมต่อกับกลุ่มอินโดจีน โดยเฉพาะกลุ่มทุนญี่ปุ่น ที่ใช้ไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์เจาะเออีซี

"นักธุรกิจพวกนี้จมูกไว เขาเตรียมตัวมานานแล้ว หลายบริษัทที่ผมรู้จักเข้าไปวางฐานในพม่าไว้ตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว ผมเข้าไปพม่าตั้งแต่โรงแรม ราคาคืนละ 2 พันบาท วันนี้ราคาขยับ ขึ้นมา 6 พันบาทแล้วเพราะฉะนั้นการค้าชายแดนเป็นเทรนด์ใหม่ที่นักธุรกิจมองข้ามไม่ได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะค้าขายอะไร"

มุมมองของ 2 นักธุรกิจที่เห็นคล้ายๆ กันคือ เป้า 1 ล้านล้านบาทไม่น่าจะยากมาก ถ้าจะให้ดีควรทำได้ 2 ล้านล้านบาทภายใน 3 ปีนับจากนี้

ด้านปานจิตต์ พิศวง ผู้อำนวยการ สำนักความร่วมมือการค้าและการลงทุน กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวง พาณิชย์ให้ข้อคิดว่าโอกาสจะมากหรือน้อยอยู่ที่ตัวนักลงทุนเอง เพราะรัฐบาลได้ดำเนินการลดขั้นตอนอุปสรรคให้แล้ว แม้กระทั่งการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่อย่างท่าเรือน้ำลึกทวาย

ที่มา.สยามธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////////////////////////

โปรเจกต์ทวาย..ยังไม่นิ่ง !!?

ดังที่ เคยเกริ่น มาแล้วว่าโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ประเทศพม่า ไม่ได้เป็นความหวังแค่คนพม่า แต่ยังเป็นความหวังของคนทั้งอาเซียน ทุกคนล้วนอยากให้โครงการนี้บรรลุเป้าหมาย

นัยหนึ่งเพื่อตอกย้ำการเปิดเสรีของพม่าอย่างเต็มตัว

นัยหนึ่งเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้ข้อตกลงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะใช้ท่าเรือแห่งนี้เป็นแหล่ง ขนถ่ายสินค้า

แต่โครงการนี้ก็เต็มไปด้วยปัญหาอุปสรรคนานัปการ เริ่มตั้งแต่เม็ดเงินลงทุนที่ต้องใช้จำนวนมหาศาล มากกว่า 1.2 แสนล้านบาท เม็ดเงินจำนวนมากมายขนาดนี้ ผู้สร้างต้องเป็นบริษัทระดับโลก จึงไม่แปลกที่รัฐบาลพม่าจะไฟเขียวให้ บริษัท อิตา เลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เข้าไปรับสัมปทาน บริหารพื้นที่ประมาณ 2 แสนไร่ ภายใต้สัญญาเช่า ที่ดินระยะเวลา 75 ปี คิดค่าสัมปทาน 3 หมื่นล้านบาท

บริษัท อิตาเลียนไทยตั้งบริษัทลูก คือ บริษัท ทวาย ดีเวล้อปเมนท์ จำกัด ทุนจดทะเบียน 100 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทย 3 พันล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงการ บริษัท ดังกล่าวถือหุ้นโดยกลุ่มอิตาเลียนไทย 75% อีก 25% ถือโดยกลุ่มบริษัท แม็กซ์ เมียนมาร์ ซึ่งเป็นบริษัทท้องถิ่นพม่า

ทว่า! ในเวลาต่อมากลุ่มบริษัท แม็กซ์ เมียนมาร์ ก็ประกาศถอนตัว เนื่องจากการอพยพคนออกนอกพื้นที่ ไม่เป็นไปตามแผน ชาวบ้านรับเงินแล้วไม่ยอมย้ายออก ต่อรองขอเพิ่มค่า เวนคืนอีก ส่งผลให้เม็ดเงินที่จะต้องจ่ายชดเชยไร่ละ 5 แสนจ๊าต พุ่งขึ้นไป เกิน 2 ล้านจ๊าตต่อไร่

นั่นยังไม่น่าหนักใจเท่ากับ แม้จะเพิ่มค่าเวนคืนให้ตามที่เรียกร้อง บางครอบครัวก็ยังไม่ยอมย้ายออก

ในที่สุดรัฐบาลไทยต้องโดดเข้า ไปอุ้ม เพื่อให้โครงการนี้เดินหน้าได้ โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และพลเอกเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีของสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า เดินทางลงพื้นที่โครงการเพื่อรับทราบความคืบหน้า พร้อมส่งเทียบเชิญรัฐบาล ญี่ปุ่นมาร่วมลงทุนด้วย

กลายเป็นโครงการ 3 ประสาน

ซึ่งเมื่อวันที่ 25 พ.ค.56 ที่ผ่านมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จัดรายการ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์ พบประชาชน" ยิงสัญญาณตรงมาจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ตน ได้ถือโอกาสระหว่างการเข้าร่วมประชุม นานาชาติ "The Future of Asia" ครั้งที่ 19 กรุงโตเกียว เชิญชวนให้ญี่ปุ่น มาลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ในไทย 2 ล้านล้านบาท พร้อมทั้งเชิญชวนให้ลงทุนต่อยอดในเขตเศรษฐกิจพิเศษท่าเรือน้ำลึกทวาย ภายหลังที่ญี่ปุ่น เคยให้ความร่วมมือลงทุนในโครงการท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ที่ผ่านมา โดย ได้หารือกับนายชินโซ อาเบะ นายกฯ ของ ญี่ปุ่น ถึงการสานต่อการค้าการลงทุน การ ส่งออกสินค้าในแผนกอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย

หากญี่ปุ่นโอเค ก็จะมีการจดทะเบียน จัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ หรือ  Special Purpose Vehiclie : SPV) เพื่อบริหารจัดการโครงการร่วมทุน พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษนิคมฯทวายในพม่าต่อไป

มองจากมุมดังกล่าวย่อมไม่มีเหตุ ผลที่ญี่ปุ่นจะปฏิเสธการเข้าร่วมโครงการ ทวายโปรเจกต์ เพราะญี่ปุ่นเป็นนักลง ทุนอันดับ 1 ในประเทศไทย ย่อมได้รับอานิสงส์จากการสร้างท่าเรือน้ำลึกทวาย อย่างแน่นอน

แต่กระแสข่าวจากแหล่งข่าวที่แนบแน่นกับกลุ่มทุนญี่ปุ่นกระซิบว่า ถึงนาทีนี้ญี่ปุ่นยังไม่ตัดสินใจว่าจะ "เยส" หรือ "โน"

เนื่องจากก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นได้สิทธิ์จากรัฐบาลพม่าให้บริหารท่าเรือน้ำลึกใน พม่าอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากท่าเรือ น้ำลึกทวาย นั่นหมายความว่าญี่ปุ่นต้องใช้งบประมาณจำนวนมากไปในการบริหารท่าเรือดังกล่าว จึงอาจเป็น ไปได้ที่ญี่ปุ่นอาจจะไม่ตกลงร่วมบริหาร ท่าเรือน้ำลึกทวาย

ในขณะที่แหล่งข่าวอีกแห่งกลับมองว่า โครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย เป็นโครงการที่รัฐบาลญี่ปุ่นยากจะปฏิเสธ

เพราะอย่างที่กล่าวแล้วว่า ญี่ปุ่น เป็นนักลงทุนรายใหญ่ในไทย ส่งสินค้า ไปขายต่างประเทศมากมาย การได้บริหารท่าเรือน้ำลึกย่อมก่อประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมกับสินค้าของญี่ปุ่น

และหากญี่ปุ่นปฏิเสธ! จีนก็พร้อม จะโดดแทนทันที

คิดว่าญี่ปุ่นคงจะไม่กล้า..โน!

ที่มา.สยามธุรกิจ
/////////////////////////////////

สงครามไม่จบ ปรองดองไม่เกิด !!?

บางท่านที่คิดว่า....ปรองดองกันแล้วจะเกิดความสมานฉันท์..แต่ละฝ่ายจะกลับมารักกันและจรรโลงประเทศและสังคมให้เจริญเติบโตก้าวหน้า

น่าจะฝันเพ้อและวาดหวังมากเกินไป

เพราะตราบเท่าที่..อำนาจยังเป็นสุดปรารถนาของ..บุคคลชั้นนำในสังคมไทย..และเป็นการก้าวเข้ามาสู่โภคทรัพย์ของผู้ถืออาวุธรุ่นแล้วรุ่นเล่า..

การแย่งชิงก็ยังจะดำเนินต่อไป..เฉกเช่นที่เป็นมาแล้ว..ตลอดอายุประวัติศาสตร์ของชาติ..

อำนาจใหม่จะหลั่งไหลเข้าแทนที่อำนาจเก่า...ชนะเป็นพระเอาแพ้เป็นผู้ร้าย..ความดีความเลวไม่ใช่เครื่องชี้วัด..แต่มันชี้ชัดกันที่ฝ่ายชนะกับฝ่ายแพ้..

ผู้ยิ่งใหญ่ในกองทัพ..แย่งอำนาจมาจาก..อำนาจเก่าโบร่ำโบราณ.. ครอบครองอำนาจต่อเนื่องยาวนาน...พวกเขากลับมาต่อสู้ซึ่งกันและกันเพื่อแย่งชิงอำนาจที่ได้มา

บางครั้งบางคนในพวกเขากลับไปสมานฉันท์กับอำนาจก่อนเก่า..เพื่อให้ได้ชัยชนะ..

บางครั้งอำนาจก่อนเก่า..ใช้พวกเขาเพื่อเสริมสร้างพลังอำนาจ

ตราบจนคำว่าประชาธิปไตย...ที่พวกเขาชอบแอบอ้าง..กลับกลายขึ้นมาเป็นเรื่องจริง...และสะสมพลังสร้างอำนาจเผชิญหน้าขึ้นมาท้าทายอำนาจ ในมือของผู้ถืออาวุธ

สงครามแย่งอำนาจจึงเพิ่มความซับซ้อนยิ่งขึ้น กว้างขวางกว่าเก่า.. กรุงเทพฯ ไม่ใช่ประเทศไทยอีกต่อไป..การเมืองไม่ใช่เรื่องของคนกลุ่มเดียว

อำนาจเริ่มกระจัดกระจายออกไป..ปุถุชนคนธรรมดาเข้ามาสู่เกมชิงอำนาจง่ายขึ้นและมากขึ้นทุกวัน.. และยิ่งเมื่ออำนาจคือธุรกิจ..

การต่อสู้เพื่อมีอำนาจกับการต่อสู้เพื่อรักษามันไว้..จึงรุนแรงขึ้น..ในท้องถิ่นผู้แสวงหาอำนาจต่างบาดเจ็บล้มตายกันมากขึ้นในแทบจะทุกพื้นที่

ในท่ามกลางการต่อสู้เช่นนี้....กติกา...จึงสำคัญที่สุด...หากกติกาไม่เป็นธรรม..สงครามก็ยังไม่เลิกรา..ในท่ามกลางการต่อสู้แบบนี้...ไม่มีวันที่การปรองดองจะเกิดขึ้นมาได้

โดย.พญาไม้,บางกอกทูเดย์
///////////////////////////////////////////

วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2556

โพลล์ ชี้ ชิมิ - จุงเบย ศัพท์แผลงฮิตโดนใจวัยโจ๋ !!??



สำนักวิจัยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม เปิดเผยผลการสำรวจการใช้คำศัพท์แผลงที่กำลังระบาดใช้กันอย่างกว้างขวางในกลุ่มเยาวชนไทย และเป็นที่กังวลว่าจะส่งผลต่อการหลักการใช้ภาษาไทยในอนาคต เช่นคำศัพท์แผลงคำว่า ชิมิ บ่องตง จุ๊บุ จุ๊บุ ฯลฯ กับเยาวชนไทยอายุระหว่าง 15-25 ปี การศึกษาตั้งแต่ภาคบังคับถึงสูงกว่าปริญญาตรี ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,065 คน พบว่า 89% ทราบความหมายของคำศัพท์แผลงที่ใช้คำศัพท์แผลงมากที่สุดคือคำว่า “ชิมิ” ซึ่งใช้ในความหมายว่า “ใช่ไหม” ส่วนในรอบสามเดือนกลุ่มเยาวชนไทยในกรุงเทพมหานครใช้คำศัพท์แผลง คำว่า “จุงเบย” ซึ่งในความหมายว่า “จังเลย” 72.68% รองลงมาคือคำศัพท์แผลงคำว่า “บ่องตง” “มะรุ” “ช่ะ” “มะเปง” และ“ชิมิ”

สำหรับคำศัพท์แผลงคำอื่น ๆ ที่เยาวชนไทยมักใช้ เช่น เมพขิง ๆ ,ฟิน,งานเข้า,เกรียน,คีบัป,คิขุ,ซุย,อิอิ,งานงอก และแอ๊บแบ๊ว อีก 51.17 % ส่วนเยาวชนไทยที่ไม่เคยใช้คำศัพท์แผลงเลยมี 12.95% ที่มาของคำศัพท์แผลงต่าง ๆ ดังกล่าว เยาวชนไทยกล่าวว่าที่มาของคำศัพท์แผลงที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุด คือบนอินเตอร์เน็ตและเครือข่ายสังคมออนไลน์ 51.35 % พบว่าเข้าถึงและผ่านหู/ผ่านตาจากละคร/ภาพยนตร์ระดับต่ำเพียง 4.85 %

สำนักวิจัยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยามยังพบอีกว่าเยาวชนไทยใช้คำศัพท์แผลง เพราะต้องการลดความเครียดในการสนทนาและสร้างอารมณ์ขัน คิดเป็นร้อยละ 73.68 และ 70.01 ตามลำดับ กลุ่มตัวอย่างมากกว่าร้อยละ 90 ใช้คำศัพท์แผลงกับเพื่อนๆ และ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 57.09 เห็นว่าราชบัณฑิตยสถานควรจัดทำพจนานุกรมเพื่อรวบรวมคำศัพท์แผลงต่างๆ ที่กลุ่มวัยรุ่นใช้ในปัจจุบันไว้เป็นการเฉพาะ

 ที่มา.นสพ.แนวหน้า
-----------------------------------------------

โพลล์ 10 เรื่องที่ทำให้ รัฐบาลปู. สั่นคลอน แก้ รธน.- กู้เงิน - สินค้าแพง !!?

สถานการณ์ทางการเมืองที่ร้อนแรงอยู่ในขณะนี้ ต่างเป็นที่จับตามองของหลายฝ่าย โดยเฉพาะการบริหารบ้านเมืองของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล

ที่มีผลต่อเสถียรภาพ ความมั่นคงและความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล  เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชน    ทั่วประเทศ จำนวน 1,336 คน  ระหว่างวันที่ 3-7 มิถุนายน 2556  สรุปผลดังนี้

เมื่อถามว่า ประชาชนคิดว่าสถานการณ์ทางการเมืองโดยเฉพาะ “ความมั่นคง” ของรัฐบาล ณ วันนี้ เป็นอย่างไร?

อันดับ 1    ไม่ค่อยมั่นคง    35.57%เพราะ  มีการประท้วง การเคลื่อนไหวของประชาชนบ่อยมากขึ้น สื่อ นักวิชาการและนักการเมืองวิพากษ์วิจารณ์ถึงการบริหารงานของรัฐบาลที่บกพร่อง การทุจริตคอรัปชั่น ฯลฯ

อันดับ 2    ค่อนข้างมั่นคง    33.65%เพราะ  รัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์และแก้ไขปัญหาต่างๆได้ ยังไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น ฯลฯ

อันดับ 3    ไม่มั่นคง    20.20%เพราะ  การแก้ปัญหาต่างๆของรัฐบาลยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร  โดยเฉพาะเรื่องความเป็นอยู่ของประชาชน  โครงการจำนำข้าว ปัญหาไฟใต้ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล ฯลฯ

อันดับ 4    มั่นคงดี    10.58%เพราะ  รัฐบาลยังคงมีเสียงข้างมาก  มีหลายโครงการที่ได้ทำตามนโยบายที่วางไว้ ประชาชนยังคงสนับสนุนและให้ความไว้วางใจอยู่ ฯลฯ

เมื่อถามว่า  ประชาชนคิดว่าเรื่องใด? ที่มีผลทำให้ “ความมั่นคงของรัฐบาล สั่นคลอน”

เรื่องที่ทำให้ “รัฐบาล” สั่นคลอน  
1    การแก้ไขรัฐธรรมนูญ    81.35%  
2    การกู้เงินของรัฐบาล    80.16%  
3    พรบ.ปรองดอง    74.21%  
4    สินค้าแพง /รายได้ไม่พอจ่าย    67.06%  
5    โครงการรับจำนำข้าว    59.52%  
6    ปัญหาไฟใต้    55.56%
6    ม็อบประท้วง หน้ากากขาว หน้ากากแดง    55.56%
8    ความไม่ปลอดภัยในชีวิตฯ ระเบิดหน้ารามคำแหง    50.40%
9    ยาเสพติด    46.43%
10    โครงการแก้ปัญหาน้ำ    40.87%


เมื่อถามว่า ประชาชนคิดว่า “รัฐบาล” ควรทำอย่างไร? จึงจะมั่นคง
อันดับ 1    ให้ความสำคัญในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ของแพงให้ดีขึ้น    42.59%

อันดับ 2    แก้ปัญหาไฟใต้ให้สำเร็จเพื่อความมั่นคงของประเทศชาติและเสถียรภาพของรัฐบาล    20.99%

อันดับ 3    บริหารประเทศด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต  /ไม่ทุจริตคอรัปชั่น ไม่เห็นแก่พวกพ้อง    19.14%

อันดับ 4    นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีต้องปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลังความสามารถและมีศักยภาพ    10.50%

อันดับ 5    ควรปรับนโยบายการทำงานให้เหมาะสมและพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าในทุกๆด้าน     6.78%

ที่มา.นสพ.ฐานเศรษฐกิจ
----------------------------------------------------------

กูรู-นักวิชาการแนะรัฐปรับโครงสร้างพลังงาน !!?

กูรูพลังงาน-นักวิชาการ แนะรัฐปรับโครงสร้างพลังงานทั้งระบบให้สะท้อนต้นทุนแท้จริง

นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวว่า สถานการณ์พลังงานของไทยในปัจจุบันมีความเสี่ยงต่อการขาดแคลน และความมั่นคงทางพลังงาน เนื่องจากเป็นประเทศผู้นำเข้าพลังงาน และมีแนวโน้มการนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ทรัพยากรในประเทศมีอย่างจำกัด โดยก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะหมดไปภายใน 15 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้ต้นทุนด้านพลังงานของประเทศจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าการขยายตัวรายได้ของประเทศ ดังนั้นจึงขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเร่งปรับโครงสร้างทางพลังงาน

"การเปลี่ยนเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้านั้นใช้ระยะเวลาในการทดแทนกว่า 7 ปี ซึ่งหากไม่สามารถดำเนินการได้ทันจะทำให้เราต้องนำเข้าไฟฟ้าจากต่างประเทศทำให้มีรายจ่ายที่สูง และมีความเสี่ยงด้านการพึ่งพาด้านพลังงาน" นายมนูญ กล่าว

นอกจากนี้ยังเสนอให้ปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบ โดยเฉพาะราคาแอลพีจี เนื่องจากราคาปัจจุบันกระตุ้นให้มีการใช้แอลพีจีที่สูงขึ้นทำให้เสี่ยงต่อการพึ่งพาเชื้อเพลิงชนิดเดียวมากเกินไป ส่วนการเก็บภาษีสรรพามิตน้ำมันดีเซลนั้นเห็นควรที่จะต้องปรับเพิ่มเพื่อให้ราคาพลังงานเป็นไปตามความจริง ขณะเดียวกัน ต้องส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนอย่างจริงจัง

นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) กล่าวว่า ธุรกิจพลังงานในประเทศไทยมีการผูกขาดมาตั้งแต่ต้น ทำให้ตลาดไม่มีการแข่งขันอย่างเสรี เนื่องจากการกำหนดราคาจะขึ้นอยู่กระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

ขณะเดียวกัน เอกชนที่ทำธุรกิจด้านพลังงานก็ใช้หลักการต้นทุนบวกกำไร ทำให้ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องประหยัดต้นทุน เพราะสามารถผลักภาระต้นทุนไปสู่ผู้บริโภคได้ โดยจะเห็นได้จากราคาขายก๊าซธรรมชาติที่ไม่มีความเท่าเทียม เพราะภาคปิโตรเคมีจะจ่ายเงินสนับสนุนเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพียงกิโลกรัมละ 1 บาท ส่วนภาคครัวเรือนจ่าย 1.43 บาท ขณะที่ภาคขนส่งต้องส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ กิโลกรัมละ 4.47 บาท และภาคอุตสาหกรรมต้องแบกรับภาระถึงกิโลกรัมละ 12.12 บาท ดังนั้นควรแก้ไขการผูกขาดด้วยการแยกธุรกิจท่อก๊าซกับธุรกิจอื่นออกจากกันและเป็นอิสระ

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
---------------------------------------------