--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2554

90 ปี น้าชาติ.. Tomorrow Never Dies !!?

ขอนำเสนอรายงานพิเศษอันเกี่ยว เนื่องมาจากการจัดงาน “90 ปี พลเอกชาติชาย รำลึก..เอกบุรุษ ชาติอาชาไนย Tomorrow Never Dies” ที่จัดขึ้นโดย “มูลนิธิพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ” ซึ่งเกิดขึ้นจาก ความร่วมมือของคีย์แมนหลักอย่าง “อาจารย์โต้ง-ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ” บุตรชาย และ “เสี่ยกล้วย-สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” ศิษย์ก้นกุฏิของ “น้าชาติ”

“สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” ประธานการจัดงานฯ

โดย “เสี่ยกล้วย” ถ่ายทอดถึงที่มา ที่ไปของการตั้งชื่องานว่า “Tomorrow Never Dies” ไว้ได้อย่างน่าสนใจและแหลมคมยิ่ง

“ที่มาที่ไปของชื่องาน Tomorrow Never Dies นั้นเป็นเพราะท่านชาติชายเป็น ส.ส.โคราชคนแรกที่มาจากการเลือกตั้ง และเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาภาคอีสานอย่างเอาจริงเอาจัง ท่านจึงเปรียบ เสมือนนายกฯ ของคนโคราช รวมไปถึงนายกฯ ของคนอีสาน ซึ่งท่านก็มีบ้านพักอยู่ทั้งในกรุงเทพฯ และเมืองโคราช”

“ด้วยความผูกพันที่ท่านชาติชาย มีต่อ คนอีสานและคนโคราช และด้วยความผูกพัน ที่คนโคราชและคนอีสานมีต่อท่าน ในทุกๆ ปีท่านจึงจะมีการเปิดบ้านพักในซอยสามยอด จ.นครราชสีมา ให้ชาวโคราชเข้ามาอวยพรวันคล้ายวันเกิดในวันที่ 5 เมษายน ของทุกๆ ปี”

“โดยในปีสุดท้ายก่อนท่านจะเสียชีวิต ก็มีการจัดงานวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 78 ปีของท่านเช่นเดิม ซึ่งในปีนั้นบังเอิญหนังเจมส์ บอนด์ ตอน Tomorrow Never Dies หรือชื่อไทย พยัคฆ์ร้ายไม่มีวันตาย มีโปรแกรมเข้า ฉายตรงกับช่วงนั้นพอดี ผมและผู้ร่วมจัดงาน จึงเอาคำว่า Tomorrow Never Dies มาใช้เป็นธีมงานในวันนั้น โดยมีการขึ้นตัวอักษร ดังกล่าวคู่ไปกับคัตเอาต์ฉากหลังที่เป็นรูปท่าน ชาติชายคาบซิการ์และนั่งอยู่บนมอเตอร์ไซค์ ฮาร์เล่ย์ เดวิสัน คันโปรดของท่าน”

“อย่างไรก็ดี ก่อนวันเกิดปีสุดท้ายของ ท่าน ท่านได้บอกกับผมและพี่กร (ทัพพะรังสี) ว่าท่านไม่สบาย พวกเราเลยมาคุยกันว่าจะจัดงานตามกำหนดการเดิมหรือไม่ ซึ่งท่านก็บอก ว่า ท่านมาถึงทุกวันนี้ได้เพราะความรักและน้ำใจของคนโคราชที่มีต่อท่าน ซึ่งท่านต้องชดใช้ให้คนโคราช ต่อให้ร่างกายจะเจ็บป่วยแค่ไหนท่านก็ต้องไป จนเป็นที่มาของประโยค ที่กินใจผมมากระทั่งทุกวันนี้ นั่นคือสิ่งที่ท่านพูดบนเวทีต่อหน้าคนโคราชว่า พรุ่งนี้ไม่มีวันตาย ผมจะอยู่กับคุณตลอดไป”

“อีกหนึ่งสิ่งที่ไม่มีวันตายเกี่ยวกับท่าน นั่นก็คือวิธีคิดวิสัยทัศน์ทั้งด้านเศรษฐกิจและด้านการเมืองที่ยังคงเป็นอมตะ อาทิ การผลักดันให้ประเทศไทยเป็นนิคส์ เป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย รวมไปถึงการผลักดันโครงการอีสานคือประตูสู่อินโดจีน พร้อมกับผลักดันนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า”

“และอีกหนึ่งโครงการที่ผมมองเห็นถึง วิสัยทัศน์อันก้าวไกลของท่าน คือการเปิดการ ค้ากับจีนเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ในช่วงที่จีนกำลังปิดประเทศ ส่งผลให้วันนี้ มีนักธุรกิจไทย เข้าไปลงทุนในประเทศมหาอำนาจอย่างจีน และนักธุรกิจจีนเข้ามาลงทุนในไทยเป็นจำนวน มาก ประสบความสำเร็จลุล่วงโดยดีหรือไม่ ความยิ่งใหญ่ของซีพีในจีนและในไทย ย่อมเป็นเครื่องการันตีวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของท่านชาติชายได้เป็นอย่างดี”

“ด้วยวิธีคิดทั้งด้านการเมืองและด้านเศรษฐกิจที่ยังคงเป็นอมตะกระทั่งทุกวันนี้ จึงกลายมาเป็นชื่องาน 90 ปี พลเอกชาติชาย รำลึก..เอกบุรุษ ชาติอาชาไนย Tomorrow Never Dies ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 6 พฤษภาคม 2554 เวลา 18.00-22.00 น. ณ ห้องบางกอก คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ เอ1 ชั้น 22, โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อเป็นการจัดหาทุนในการดำเนินการโครงการต่างๆ ที่ท่าน ชาติชายริเริ่ม และมูลนิธิพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ได้สืบสานมาอย่างต่อเนื่อง โดยในงานจะมีการประมูลของรักของห่วงของท่านชาติชายจำนวนมาก และจะมีแขกวีไอพีซึ่งเป็นบุคคลสำคัญที่คลุกคลีและเคยร่วมงานกับท่านชาติชาย มาถ่ายทอดถึงบางมุมที่ยังไม่เคยทราบเกี่ยวกับท่าน”

“ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ” ประธานมูลนิธิพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ

สำหรับกิจกรรมและที่มาที่ไปของมูลนิธิ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นั้น “อาจารย์โต้ง” ได้ขยายภาพไว้ได้น่าสนใจเช่นกัน


“มูลนิธิ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นองค์กรเอกชน (NGO) ที่มีนโยบายมุ่งมั่นทำประโยชน์ด้านมนุษยธรรม และสิ่งแวดล้อม โดยไม่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเมือง แนว ทางในการปฏิบัติงานโครงการต่างๆ จะเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนในท้องถิ่น รวมทั้งภาครัฐ และองค์กรภาคเอกชนอื่นๆ ซึ่งเป็นความร่วมมือในการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม มูลนิธิฯ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 21 ธันวาคม 2536 โดยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือการอุปการะครอบครัว ทหาร ตำรวจ ที่เสียชีวิต หรือทุพพลภาพ เนื่องจากการปฏิบัติ หน้าที่ การสงเคราะห์นักเรียนที่เรียนดีแต่ยากจน รวมทั้งให้ความช่วยเหลือด้านสังคมสงเคราะห์ แก่สาธารณชน และส่งเสริมกิจกรรมด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาตลอดระยะเวลา 18 ปี”

“สุทธิเกียรติ โสภณิก” ผู้อำนวยการมูลนิธิฯ

นอกจากนี้ “สุทธิเกียรติ โสภณิก” ผู้อำนวยการมูลนิธิฯ ได้เปิดเผยทิ้งท้ายถึงภารกิจหลักและผลงานที่ผ่านมาในการช่วยเหลือสังคมของมูลนิธิฯ ไว้พอสังเขปดังนี้

“ภารกิจ และการทำงานของมูลนิธิฯ ที่ผ่านมาว่า โครงการสำคัญที่มูลนิธิฯ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการสุนัขกู้ภัยแห่งชาติ ซึ่งเป็นระบบอาสาสมัครเปิด รับผู้ที่เป็นเจ้าของสุนัขและมีความสนใจและเต็มใจที่จะช่วยเหลือสังคมเข้ามาเป็นสมาชิก ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งสิ้นจำนวน 294 ราย และมีการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ให้กับ สมาชิก เช่น การอบรมปฐมพยาบาลเบื้องต้น การบริหารจัดการเรื่องภัยพิบัติ เพื่อช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยทางธรรมชาติ หรือภัยอื่นๆ โดยทำการค้นหาผู้ประสบภัยหรือให้การช่วยเหลือ เบื้องต้น เช่น แผ่นดินไหว โคลนถล่ม ตึกถล่ม ก็จะมีชุดสุนัขกู้ภัยซึ่งเป็นอาสาสมัครเข้าปฏิบัติการ ณ จุดที่เกิดเหตุอย่างทันเวลา”

“อีกทั้ง มูลนิธิฯ ยังจัดโครงการฝึกสุนัขเพื่อให้มีทักษะและคุณสมบัติในการค้นหายาเสพติด ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) การพัฒนาศักยภาพของสุนัขทางการแพทย์ เช่น การใช้สุนัขเพื่อตรวจหาโรคมะเร็ง โครงการผลิตขาเทียมโดยช่างผู้พิการ และโครงการวิจัยและอนุรักษ์พันธุ์ช้างป่าเพื่อพัฒนาชุมชนไปพร้อมๆ กับการอนุรักษ์ช้าง ไทยอย่างยั่งยืน เป็นต้น”

ทั้งหมดทั้งมวลที่ลำดับมาตั้งแต่ต้น เป็นเพียงแค่เสี้ยวหนึ่งที่ เอกบุรุษ ชายชาติ อาชาไนย อย่าง “พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ” สร้างคุณูปการทิ้งไว้ให้กับบ้านนี้เมืองนี้ และเป็นที่ประจักษ์ชัดผ่านคุณงามความดีแห่งตำนาน “Tomorrow Never Dies ฉบับการเมืองไทย

ที่มา.สยามธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2554

สัมภาษณ์พิเศษ สก็อต ธอมป์สัน (Scott Thompson) ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างประเทศ .

ศาสตราจารย์เกียรติคุณสก็อต ธอมป์สัน (Professor Emeritus W. Scott Thompson) เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความมั่นคง ที่เคยมีผลงานในรัฐบาลสหรัฐอเมริกามาแล้วมากมาย

ประวัติของ Scott Thompson

ศาสตราจารย์สก็อต ธอมป์สัน จบการศึกษาปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด (โดยได้ทุน Rhodes Scholar) สาขาที่เชี่ยวชาญคือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความมั่นคง การทหาร การแก้ปัญหาคอร์รัปชัน
ศาสตราจารย์สก็อต ธอมป์สัน เคยสอนวิชาการเมืองระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ และสอนด้านกฎหมายและการทูตที่วิทยาลัยเฟลทเชอร์ มหาวิทยาลัยทัฟท์ เคยเป็นที่ปรึกษาให้กระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ เขาเคยร่วมรัฐบาลเรแกน โดยดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (ระหว่างปี 1975-1976) และผู้ช่วยผู้อำนวยการของ US Information Agency ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการประชาสัมพันธ์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ (ปัจจุบันหน่วยงานยุบรวมกับหน่วยงานอื่นแล้ว เขาดำรงตำแหน่งระหว่างปี 1982-1984)

ผลงานภาคเอกชน ศ. สก็อต ธอมป์สัน เป็นประธานของบริษัทที่ปรึกษาระหว่างประเทศ Strategic Research Associates ในสายงานวิชาชีพ เขาเป็นสมาชิกของคลังสมองด้านนโยบายต่างประเทศที่มีชื่อเสียงคือ Council on Foreign Relations ของสหรัฐและ International Institute for Strategic Studies
ศาสตราจารย์สก็อต ธอมป์สัน มีความเชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นพิเศษ ในอดีตเคยได้รับตำแหน่ง SEATO Fellowship และเคยเป็นที่ปรึกษาให้กับประธานาธิบดีรามอสแห่งฟิลิปปินส์ กระทรวงการต่างประเทศของไทย และหน่วยงานภาครัฐบาลของอินโดนีเซีย สก็อต ธอมป์สัน กำลังจะมีผลงานหนังสือชีวประวัติของประธานาธิบดีรามอส ออกวางจำหน่ายในเร็วๆ นี้
อ่านประวัติอย่างละเอียดของ Scott Thompson

ในโอกาสที่สก็อต ธอมป์สัน มาเยือนประเทศไทยรอบล่าสุด SIU มีโอกาสเข้าสัมภาษณ์ในหัวข้อที่เกี่ยวกับอาเซียน สถานการณ์การเมืองไทย และนโยบายด้านการต่างประเทศของไทย

Prof. Emeritus W. Scott Thompson
Prof. Emeritus W. Scott Thompson

บทสัมภาษณ์ Scott Thompson

ถาม: ในฐานะที่คุณมีความเชี่ยวชาญเรื่องประเทศไทยไม่น้อย มีมุมมองอย่างไรต่อสถานการณ์ในประเทศไทย

ตอบ: กรุงเทพฯ เปลี่ยนจากเดิมไปมากจนผมหลงทาง มาประเทศไทยรอบนี้ผมกำลังพยายามเรียนรู้สถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพใหม่อีกครั้ง

ปัญหาที่แย่ที่สุดของประเทศไทยในรอบ 15 ปีหลังคือการกระจายรายได้ โดยค่า Gini coefficient (ดัชนีวัดการกระจายรายได้ของประเทศ) เพิ่มขึ้น 20%

ปรากฏการณ์นี้เป็นสิ่งที่พยากรณ์ได้ถ้าเศรษฐกิจของประเทศนั้นเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่โดยทั่วไปแล้ว ประเทศที่เผชิญปัญหาลักษณะนี้ จะมีแรงกดดันทางสังคมต่อความไม่เท่าเทียมของรายได้ให้กลับมาสู่ภาวะที่ไม่ตึงจนเกินไป เกิดเป็นวัฏจักรทางสังคม ซึ่งอธิบายได้ด้วยทฤษฎี Kondratiev cycle วัฎจักรแบบนี้เคยเกิดขึ้นกับสหรัฐอเมริกาเช่นกัน

คำถามที่สำคัญของประเทศไทยก็คือ ทำไมแรงกดดันทางสังคมที่จะทำให้รายได้กลับมาเท่าเทียมเกิดขึ้นช้ามาก เดิมทีประเทศไทยไม่ได้มีค่า Gini แย่ขนาดนี้ ปรากฎการณ์นี้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีมาแล้วเท่านั้น
ผมเพิ่งอ่านหนังสือเกี่ยวกับประเทศปากีสถาน ซึ่งมีค่า Gini ดีมาก แต่สาเหตุเกิดจากความบังเอิญ เพราะผู้นำชาติพันธ์ต่างๆ จำเป็นต้องกระจายความมั่งคั่งให้กับบริวารของพวกเขา เพื่อที่จะรักษาความเป็นผู้นำต่อไปได้

เพื่อนๆ ปัญญาชนของผมทุกคนที่อยู่ในเมืองไทย ต่อต้านการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง ถ้าพิจารณาจากสถานะทางสังคมของพวกเขา และผลประโยชน์ที่พวกเขาได้รับ ก็เป็นธรรมชาติที่จะเข้าข้างฝ่ายเสื้อเหลือง คนกลุ่มที่ผมหมายถึงนี้เป็นปัญญาชนระดับสูงสุดของไทย ซึ่งจบการศึกษาปริญญาเอกจากอ๊อกซฟอร์ด เคมบริดจ์ ฮาร์วาร์ด

ดังนั้นปัญญาชนกลุ่มที่จะเห็นด้วยกับเสื้อแดง จึงเป็นปัญญาชนรุ่นใหม่ที่ปรับความคิดได้ง่ายกว่า นี่เป็นเรื่องของคนแต่ละรุ่น

ถาม: สาเหตุของการกระจุกตัวของรายได้ เกิดจากสภาพทางภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) ของประเทศไทย ที่มีลักษณะรวมศูนย์อยู่ที่กรุงเทพหรือเปล่า

ตอบ: หนังสือที่อธิบายเรื่องนี้ไว้อย่างดีคือหนังสือของผาสุก พงษ์ไพจิตร ที่อธิบายว่าทำไมทุกอย่างในประเทศไทยถึงมารวมศูนย์อยู่ที่กรุงเทพ

ปัญหานี้เป็นปัญหาที่ทุกประเทศในอาเซียนต้องเผชิญ ทางออกหนึ่งที่เป็นไปได้อาจเป็นการสร้างศูนย์อำนาจใหม่ขึ้นมาแข่งกับกรุงเทพ ตัวอย่างที่น่าสนใจของการกระจายอำนาจในอาเซียนคืออินโดนีเซีย ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะสภาพภูมิศาสตร์ แต่ส่วนหนึ่งก็มาจากนโยบายของอินโดนีเซียเอง อินโดนีเซียมีเมืองคู่แข่งด้านศูนย์อำนาจอย่าง “ยอกยาการ์ตา” (Yogyakarta) ซึ่งยังมีสุลต่านปกครอง มาแข่งกับจาการ์ตา (Jakarta) ทำให้นักการเมืองที่ต้องการอำนาจปกครองประเทศต้องแบ่งทรัพยากรมาสนับสนุนยอกยาการ์ตาด้วย

ตัวอย่างการกระจายความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจคือ ธุรกิจขนาดเล็ก (SME) ทำลายพรมแดนระหว่างประเทศ และมองหาทรัพยากรจากต่างชาติ หรือที่ตั้งที่ตัวเองจะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน (competitive advantage) ได้มากที่สุด ซึ่งปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชาอาจใช้วิธีนี้ ในฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียเริ่มเกิดปรากฎการณ์ SME หันไปดำเนินธุรกิจที่เกาะอื่น และถ้าภาครัฐเปิดไฟเขียว ช่วยสนับสนุน ธุรกิจเหล่านี้จะออกไปเองโดยธรรมชาติ

ถาม: คุณค่อนข้างเชี่ยวชาญด้านอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ไม่ทราบว่ามีมุมมองต่อสภาพสังคมของสองประเทศนี้อย่างไรบ้าง

ตอบ:  เพื่อนชาวฟิลิปปินส์เคยบอกกับผมว่า อินโดนีเซียมีอุดมการณ์ด้านชาตินิยมที่เข้มแข็งกว่ามาก เหตุผลก็เพราะในปี 1927 ในการประชุมสภาของพรรคชาตินิยมอินโดนีเซีย ได้เลือกภาษาของชนเผ่าเล็กๆ ที่มีรากมาจากภาษาตระกูลมาเลย์ที่พูดกันในแถบนั้น (หมายถึงภาษา Riau ซึ่งภายหลังถูกเรียกว่า Bahasa Indonesia – รายละเอียดดูใน Wikipedia) เป็นภาษาประจำชาติ แทนที่จะเป็นภาษาชวาซึ่งเป็นภาษาที่มีคนพูดมากที่สุดในขณะนั้น

กรณีของฟิลิปปินส์นั้นกลับกัน สมัยสร้างชาติฟิลิปปินส์ในฐานะประเทศอิสระ ผู้นำในยุคนั้นเลือกภาษา ฟิลิปิโน (Filipino) ซึ่งพูดโดยชาวตากาล็อก ประชากรกลุ่มหลักของประเทศเป็นภาษาประจำชาติ ผลก็คือประชากรเผ่าอื่นที่อาศัยอยู่ตอนใต้ของเกาะลูซอน (เกาะหลักของฟิลิปปินส์) และเกาะอื่นๆ ไม่ยอมพูดภาษานี้ ทำให้คนในชาติไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

การตัดสินใจของอินโดนีเซียถือเป็นการตัดสินใจเชิงนโยบายที่ชาญฉลาด และมองผลประโยชน์ระยะยาวเป็นสำคัญ ตอนนี้นโยบายนี้เริ่มจะเห็นผล ผมอายุมากแล้ว สิ่งที่ผมเห็นมาคือผลเสียของนโยบายแต่ละอย่างที่จะแสดงออกมาในระยะยาวหลายสิบปี นโยบายที่ดีจะเป็น “ตัวคูณ” ให้ประเทศได้ประโยชน์มากขึ้น

ถาม: นโยบายของสหรัฐอเมริกาต่ออาเซียนในขณะนี้เป็นอย่างไร และในอนาคตสหรัฐควรวางตัวอย่างไร ควรจะเข้ามาในอาเซียนมากขึ้นเพื่อถ่วงดุลกับจีนหรือเปล่า?

ตอบ: คำตอบของคำถามหลังสุดคือ “ไม่” เพราะอเมริกาไม่สามารถเข้ามาเกี่ยวข้องกับอาเซียนเพื่อถ่วงดุลจีนได้

ส่วนคำตอบของคำถามแรกต้องย้อนกลับไปที่รากเหง้าของอาเซียน อาเซียนเป็นองค์กรที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อถ่วงดุลสหรัฐ ในกรณีที่สหรัฐจะต้องถอนตัวออกจากสงครามเวียดนาม ก่อนจะพัฒนาตัวมาเป็นองค์กรระหว่างประเทศอย่างแท้จริงในภายหลัง

ผมรู้สึกมหัศจรรย์มากที่อาเซียนมาได้ถึงขนาดนี้ ในการประชุม UN ครั้งหนึ่ง มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ UN เคยให้ความเห็นกับผมว่า อาเซียนเป็นกลุ่มประเทศที่ทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดีมากกลุ่มหนึ่ง เป็นรองก็แต่กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียเท่านั้น แต่นั่นก็เพราะสแกนดิเนเวียทำงานร่วมกันมานานมากแล้ว
ตอนนี้สหรัฐให้ความสำคัญกับอาเซียนมากขึ้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของเรา (หมายถึงฮิลลารี คลินตัน) มาเยือนอาเซียนหลายครั้ง และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศก็เข้ามามีบทบาทไม่น้อย

แต่ในภาพรวม นโยบายต่างประเทศของเราคือไม่ต้องการแข่งกับใคร โดยเฉพาะจีน ไม่ว่าภูมิภาคไหนในโลก ถ้าเลือกได้เราอยากจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนมากกว่า เพราะเราไม่ต้องการเผชิญหน้ากับจีน อาเซียนอาจอยู่ใกล้กับจีนมากกว่า แต่เรามาอยู่ในอาเซียนนานกว่าจีน ผู้บริหารและปัญญาชนของไทยยังไปศึกษาต่อในสหรัฐมากกว่าจีนมาก

บทบาทและความท้าทายสำคัญของอาเซียนคือจะทำอย่างไรต่อสถานการณ์ในพม่า อาเซียนจะเป็นคำตอบที่สำคัญต่อพม่า

ถาม: ช่วงหลังมีข่าวว่าสหรัฐกลับมาให้เงินสนับสนุนใต้โครงการ US AID กับประเทศไทยแล้ว จากที่ว่างเว้นไปนาน นี่เป็นสัญญาณว่าสหรัฐกำลังกลับมามีอิทธิพลในไทยหรือเปล่า

ตอบ: สหรัฐจ่ายเงินสนับสนุนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไทยผ่าน US AID ในยุค 1960-70s เพราะกังวลว่าประเทศไทยจะเป็น “โดมิโน” ตัวถัดไปในภูมิภาคนี้ นอกเหนือไปจากงบประมาณทางทหารที่สหรัฐช่วยสนับสนุนอยู่ในขณะนั้น

ตอนนั้นเศรษฐกิจไทยมีขนาดเพียงหมื่นล้านดอลลาร์ การให้เงินสนับสนุนหลักร้อยล้านดอลลาร์ถือว่าเป็นสัดส่วนที่เยอะพอตัว แต่ทุกวันนี้เศรษฐกิจไทยมีขนาดใหญ่กว่าสมัยนั้นหลายเท่า การให้เงินช่วยเหลือจึงมีสัดส่วนน้อยมาก เป็นเรื่องเชิงสัญลักษณ์เสียมากกว่า

สหรัฐเรียนรู้ว่าการให้เงินสนับสนุนผ่านภาคพลเรือน หลายครั้งมีประสิทธิภาพดีกว่าให้ผ่านกองทัพ อย่างไรก็ตามวิธีการเลือกผู้รับเงินบางครั้งก็ไม่มีหลักการตายตัวมากนัก ขึ้นกับบุคคลากรของรัฐบาลในสมัยนั้นรู้จักใครเสียเยอะ

ถาม: ถามแทนคนไทยหลายๆ คนว่า ทำไมสหรัฐถึงใส่ใจพม่ามากขนาดนี้

ตอบ: (คิดไปครู่ใหญ่) มันเหมือนกับว่าเราสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงขึ้นในพม่าได้ ถ้าเรากดดันรัฐบาลพม่ามากพอ

ถ้าให้เทียบ เราไม่สามารถกดดันรัฐบาลซาอุดีอาระเบียว่าปฏิบัติต่อผู้หญิงอย่างไม่เป็นธรรมได้ เพราะเป็นเรื่องศาสนาและวัฒนธรรมที่ตกทอดมานาน การกดดันลักษณะนี้ไม่เกิดในทางปฏิบัติ (practical)
แต่กรณีของพม่า เรารู้สึกว่าเป็นประเทศที่เราสามารถกดดันได้ แต่สุดท้ายเราก็พบว่าข้อสันนิษฐานของเราผิด

เหตุผลหนึ่งที่สหรัฐเห็นว่าสามารถกดดันพม่าได้ ก็เพราะชัยชนะในการเลือกตั้งของอองซานซูจี ในปี 1990 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกับชัยชนะของขบวนการมวลชนในฟิลิปปินส์ (ที่สามารถขับไล่ประธานาธิบดีรามอสในปี 1986) ทำให้เรารู้สึกว่า น่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะเดียวกัน เราน่าจะปลุกพม่าให้ตื่นขึ้นได้

บทเรียนสำคัญของเราคือเหล่านายพลในพม่าคือ พวกเขาไม่สนใจโลกภายนอกแม้แต่น้อย พวกเขามีแนวคิดในการบริหารพม่าของตัวเอง เราไม่สามารถคุยกับนายพลพม่าได้ เหล่านายพลของประเทศไทยก็ไม่เคยมีใครประสบความสำเร็จในการพูดคุยอย่างจริงใจกับนายพลของพม่า

ประธานาธิบดีรามอสของฟิลิปปินส์เคยเป็นนายทหารมาก่อน ตามหลักก็น่าจะเข้าใจทหารด้วยกัน แต่การไปเยือนพม่าของรามอสไม่ประสบความสำเร็จเลย เพราะนายทหารของพม่าไม่เปิดใจรับอะไรเลย
บางทีการแก้ปัญหาเรื่องพม่าอาจต้องเป็นเรื่องระยะยาวจริงๆ เพราะยังไงนายพลในรุ่นนี้ก็ย่อมแก่ตายไปสักวัน และรอคนรุ่นใหม่ขึ้นมาแทน

มีหนังสือด้านประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ของ Thomas Kuhn เล่มหนึ่งเขียนไว้ว่า สมัยก่อนคนเชื่อว่าโลกแบน ถึงแม้โคเปอร์นิคัสจะสามารถพิสูจน์ได้ว่าโลกกลม คนในสมัยนั้นก็ยังเชื่อว่าโลกแบนอยู่นั่นเอง ไม่มีใครเปลี่ยนใจ แต่เมื่อคนรุ่นนี้ตายไป คนรุ่นใหม่ที่ขึ้นมาแทนถึงค่อยเชื่อว่าโลกกลม

ถาม: สาขาที่คุณเชี่ยวชาญอีกด้านคือการต่อต้านการคอร์รัปชัน คุณมีประสบการณ์อย่างไรบ้าง

ตอบ: ข้อมูลข่าวสารเป็นเรื่องสำคัญมาก ในฟิลิปปินส์มีโครงการตรวจสอบนักการเมือง โดยเทียบจำนวนทรัพย์สินที่แจ้งต่อสาธารณะ ต่อทรัพย์สินจริงที่ปรากฏ เช่น แจ้งว่ามีทรัพย์สิน 20 ล้านบาท แต่ภาพถ่ายรถยนต์ในบ้านของนักการเมืองคนนี้พบว่ามีราคารวมกันเกิน 50 ล้านบาท ในฟิลิปปินส์ทำสำเร็จมาแล้ว
วิกิลีกส์เป็นอีกตัวอย่างที่น่าสนใจ ตอนนี้ถือว่าสายเกินไปแล้วที่รัฐบาลสหรัฐจะดำเนินการใดๆ กับข้อมูลที่รั่วออกมาในวิกิลีกส์ เมื่อคนรู้เรื่องเหล่านี้แล้ว เราไม่สามารถเรียกกลับคืนได้ ความรู้เป็นสิ่งถาวร สมมติว่าประเทศไหนสักแห่งสร้างระเบิดนิวเคลียร์ได้สำเร็จแล้ว เราจะไปเรียกคืนความรู้ในการสร้างนิวเคลียร์ก็คงเป็นไปไม่ได้

หลักการของการต่อต้านการคอร์รัปชันคือ เราไม่สามารถทำให้ทุกอย่างโปร่งใสได้ แต่ความท้าทายคือเราจะทำให้ข้อมูลโปร่งใสได้มากแค่ไหน

ข้อตกลงหลายๆ อย่างยังต้องทำในที่ลับ (backroom) แต่มันจะดีกว่าถ้าเราสามารถนำข้อตกลงเหล่านี้มาทำในที่แจ้ง (frontroom) ให้มากที่สุด เราต้องสร้าง front room ให้ใหญ่ๆ เท่าที่เป็นไปได้
สถานการณ์ด้านคอร์รัปชันของประเทศอาเซียน ในภาพรวมถือว่าดีกว่าในอดีตมาก ประธานาธิบดีอินโดนีเซียคนปัจจุบัน (หมายถึงซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน) มีความเป็นมืออาชีพ และที่สำคัญคือไม่รับเงินใต้โต๊ะ

ผมไม่ได้บอกว่าปัญหาคอร์รัปชันหายไปหมด พวกนี้ต้องใช้เวลา แต่ในอดีตคุณสามารถขนเงินสดเป็นกระเป๋าเข้าไปในทำเนียบประธานาธิบดีได้ ตอนนี้คุณทำไม่ได้แล้ว ในฟิลิปปินส์ อดีตประธานาธิบดีโจเซฟ เอสตราดา เคยขนเงินสดๆ จากคาสิโนเข้าไปทำเนียบ เพื่อจ่ายให้กับกลุ่มผลประโยชน์ที่เขาต้องการการสนับสนุน



 
 
 
ดร. พรชัย มงคลวนิช (ที่สองจากซ้าย) ถ่ายภาพร่วมกับ Scott Thompson และทีมงาน SIU

หมายเหตุ: SIU ขอขอบคุณ ดร. พรชัย มงคลวนิช อธิการบดี มหาวิทยาลัยสยาม และ อ. เอกชัย ไชยนุวัติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ที่เอื้อเฟื้อสถานที่ และอำนวยความสะดวกในการเข้าสัมภาษณ์ Prof. Scott Thompson ระหว่างที่เดินทางมาเยือนประเทศไทย

ที่มา.Siam Intelligence Unit
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////// 

ขายยาก

โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน)
เห็นอาการของวุฒิสภาตอนประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ หรือ "กฎหมายลูก" 3 ฉบับ ก็นึกว่าจะมีการยื้อการดึงเอาไว้ แต่สุดท้ายทั้ง 3 ฉบับก็ผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภาเรียบร้อย

รอส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาว่าจะมีบทบัญญัติขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากไม่มีปัญหานายกฯนำทูลเกล้าฯเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

หลังจากนั้นนายกฯคงจะทูลเกล้าฯพระราชกฤษฎีกายุบสภา รอการโปรดเกล้าฯต่อไป

ที่ถามกันมาตลอดว่า ตกลงจะมีเลือกตั้งหรือเปล่า เพราะเกิดสถานการณ์หวิวๆ ขึ้นหลายรอบหลายระลอกเหลือเกิน

ตอนนี้ก็ดูจะเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น

ถ้ามีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ก็จะเป็นการต่อสู้ระหว่าง 2 พรรคการเมืองคู่แค้น คือ ประชาธิปัตย์ กับเพื่อไทย เป็นมวยคู่เอก
นอกนั้นเป็นการต่อสู้ของพรรคอันดับรองๆ ลงไป ตั้งแต่ ภูมิใจไทย ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ชาติไทยพัฒนา ฯลฯ และอาจจะมีพรรคใหม่ๆ งอกขึ้นตามสถานการณ์อีก 2-3 พรรค

สำหรับพรรคใหญ่ 2 พรรค กว่าจะรอดมาถึงสังเวียนเลือกตั้งได้ อยู่ในสภาพสะบักสะบอม

พรรคประชาธิปัตย์ แม้จะเป็นแกนนำรัฐบาล แต่ผลงานที่ผ่านมายังอวดอ้างได้ไม่เต็มปาก

การแก้ไขปัญหาปากท้องยังไม่เข้าตา ทั้งน้ำมันปาล์ม สินค้าราคาแพง การช่วยเหลือน้ำท่วม ตั้งแต่ภาคกลาง อีสาน ไปจนถึงภาคใต้

กรรมการพยายามกดคะแนนให้แล้ว ยังร่อแร่

ส่วนพรรคเพื่อไทย ตอนแรกทำท่ามาแรง กี่โพลๆ คะแนนนำลิ่ว

พักเดียวงานเข้า เจอมรสุมเข้าไป 3-4 ลูกติดๆ ทำเอาระส่ำระสายไปเหมือนกัน

พรรคระดับนี้ต้องเสนอคนเป็นนายกฯ แต่ควานแล้วควานอีก ไม่มีใครเอา

ทั้งโดนบล็อคบ้าง "กลัว" บ้าง

ตอนนี้ไปดึงเอา พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก จากพรรคเพื่อแผ่นดินมา

เริ่มมีเสียงเรียก "นายกฯประชา" ยังไม่รู้ว่าสักพักจะเจออะไรอีก

สถานการณ์ของ 2 พรรคใหญ่เป็นแบบนี้ ทำให้พรรครองๆ ฝันถึง "ส้มหล่น" ได้เหมือนกัน

คำว่ารองๆ อาจฟังดูไม่สำคัญ แต่ที่จริงสำคัญเอาเรื่องอยู่

เพราะถ้า 2 พรรคใหญ่ ไม่ได้เสียงเกินครึ่ง ตั้งรัฐบาลพรรคเดียวไม่ได้ ก็จะต้องหันมาใช้บริการพรรคอันดับรองๆ เหล่านี้ ตั้ง "รัฐบาลผสม"แต่สำหรับพรรคใหญ่ รัฐบาลผสมเที่ยวนี้จะไม่ง่ายอีกแล้ว

ถ้าเพื่อไทยเข้าป้ายก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่ง ปชป.เข้าก็เป็นอีกปัญหา

นายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ น่าจะรู้ดีกว่าใครว่าพรรคร่วมรัฐบาลเขาบ่นว่ายังไง

ถ้าจะต้องร่วมงานกันอีก อาจจะเกิดเงื่อนไขเรื่องตัวนายกฯขึ้นมาให้ผู้จัดการรัฐบาลได้ปวดหัวเล่นอีกก็ได้

เลือกตั้งครั้งนี้ จึงต้องเตรียม "นโยบาย" ไว้ขาย ไว้โฆษณาหาเสียงให้มากๆ เข้าไว้

เพราะ "ตัวบุคคล" มีแนวโน้ม "ขายยาก"


//////////////////////////////////////////////////////////

วันพุธที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2554

กมธ.ตปท.มีมติ 8 ข้อกรณีไทย-เขมร จี้หยุดเหตุปะทะ นำสู่กรอบเจรจาทวิภาคี

มีการประชุมคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายต่อพงษ์ ไชยสาส์น ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน กมธ. มีวาระสำคัญคือการหารือกรณีเหตุปะทะระหว่างไทย-กัมพูชาบริเวณชายแดน ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าให้ข้อมูล อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก รองผู้ว่าราชการ จ.สุรินทร์ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กรมกิจการชายแดนทหาร กรมยุทธการทหาร กรมการข่าวทหารบก รองเลขาธิการสภาความมั่นคง

นายต่อพงศ์แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาศึกษาและได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ กมธ.จึงได้มีมติ ต่อสถานการณ์ 8 ข้อ

1.อยากให้สถานการณ์ทั้งสองประเทศอยู่ในกรอบการเจรจา อย่าได้บานปลายไปสู่การปะทะกัน โดยการเจรจาอยากให้อยู่ในวงการเจรจาของทวิภาคี

2.ยุติความรุนแรงและอย่าได้ยกระดับไปสู่การปะทะกัน

3.กมธ.ไม่เห็นด้วยที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะประกาศสงคราม เพราะสงครามไม่ได้เป็นการยุติปัญหา

4.กมธ.ไม่เห็นด้วยตามกระแสข่าวลือว่าจะประกาศกฎอัยการศึกมาถึงพื้นที่กรุงเทพฯ

5.ขอให้ทหารใช้ยุทธศาสตร์กองกำลังด้วยความระมัดระวังในการปฏิบัติการ ซึ่งขณะนี้ทหารฝ่ายตรงข้ามมีการใช้อาวุธในขีดความสามารถที่ขยายความรุนแรงทำลายล้างสูง ทหารโดยกองทัพจะต้องระมัดระวัง โดยเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ต้องเป็นทหารไม่ใช่พลเรือน ขณะนี้มีการละเมิดจากฝ่ายตรงข้าม ขอให้ประชาชนระมัดระวัง

6.กมธ.ไม่เห็นด้วยกับทุกฝ่ายไม่ว่า ฝ่ายการเมืองและฝ่ายปฎิบัติการ ที่จะยั่วยุให้เกิดความแตกแยก

7.ให้สื่อมวลชนระมัดระวังในการตั้งคำถามที่จะนำไปสู่การยั่วยุและความแตกแยก และ

8.ขอส่งความห่วงใยกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดต่างๆ จ.สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ โดย กมธ.จะมีมติเพิ่มเติมหลังจากลงพื้นที่จริง รวมถึงส่งความห่วงใยถึงทหารที่ปฏิบัติงานด้วย

"ที่ประชุมเห็นว่าฝ่ายตรงข้ามพยายามขยายผลเพื่อให้มีอำนาจต่อรองโดยใช้ทุกวิถีทางทำให้การเจรจากับไทยไปสู่รูปแบบพหุภาคี โดยเฉพาะขยายไปถึงยูเอ็นเอสซี ซึ่งฝ่ายตรงข้ามไม่ยอมเข้าสู่การเจรจาในกรอบทวิภาคี เพราะเขาจะมีอำนาจในการต่อรองเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงตัวประธาน ยูเอ็นเอสซี เป็นประเทศฝรั่งเศสซึ่งก็ทราบดีว่ามีความสัมพันธ์ที่ดีกับกัมพูชา ซึ่งการเป็นประธานก็สามารถชี้นำได้ ดังนั้น ไทยก็ควรจะหาพันธมิตรด้วย โดยเฉพาะประเทศจีนก็ไม่ต้องการเห็นความขัดแย้งในภูมิภาค" นายต่อพงษ์กล่าว

ที่มา.มติชนออนไลน์
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

จรัล ดิษฐาอภิชัย เปิดใจจากต่างแดน การเมืองไทยยังไม่มีใครรู้ตอนจบ !!?

จรัล ดิษฐาอภิชัย แกนนำเสื้อแดง

เปิดใจจากต่างแดน"จรัล ดิษฐาอภิชัย"การเมืองไทยยังไม่มีใครรู้ตอนจบ! ลั่นการต่อสู้ประชาธิปไตยรอบนี้ยากเย็น แสนเข็ญ และยาวนาน

No one knows the end คือคำตอบของ จรัล ดิษฐาอภิชัย เมื่อถามเขาว่าตอนจบของการเมืองไทยจะเป็นเช่นไร ในฐานะที่ จรัล คือหนึ่งในแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ซึ่งเขาขอไม่เปิดเผยชื่อเมืองที่พำนักอยู่

ชื่อของ จรัล ห่างหายไปจากหน้าหนังสือพิมพ์ตั้งแต่เขาเดินทางออกนอกประเทศอย่างเงียบๆ ภายหลังเหตุรุนแรงทางการเมืองจากการชุมนุมของ “กลุ่มคนเสื้อแดง” เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 โดยมีคดีพ่วงท้ายพร้อมหมายจับ 2 คดี คือคดีนำมวลชนบุกบ้านสี่เสาเทเวศร์สมัยที่ยังเป็นแกนนำ นปก.หรือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ และคดีชุมนุมมั่วสุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อครั้งที่เป็นแกนนำ นปช.เมื่อปีที่แล้ว

แต่เขายืนยันว่านั่นไม่ใช่เหตุผลที่ทำให้เขาไม่ยอมกลับเมืองไทย และไม่ได้เปลี่ยนแปลงความคิดของเขาในฐานะ “แกนนำคนเสื้อแดง” รวมถึงความเชื่อที่ว่าการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นกลางปีนี้จะไม่ทำให้บรรยากาศความสับสนอลหม่านในบ้านเมืองหมดไป และที่สำคัญยังไม่มีใครรู้ว่าความขัดแย้งในสังคมการเมืองไทยเที่ยวนี้จะจบลงเช่นไร!

“ผมไม่กลับเพราะผมไม่อยากมอบตัว การมอบตัวเหมือนกับเรายอมจำนน” จรัล บอก และว่า “ผมคงต้องรอดูก่อนว่าเลือกตั้งเสร็จแล้วสถานการณ์เป็นอย่างไร ถ้าประชาธิปัตย์กลับมาเป็นรัฐบาลอีก ผมก็คงอยู่ต่างประเทศต่อ แต่ถ้าพรรคเพื่อไทยได้เสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาล ผมก็อาจจะกลับไป”

ในฐานะอดีตคนเดือนตุลาฯ และแกนนำคนเสื้อแดงที่ต่อสู้กับอำนาจรัฐมาเกือบทั้งชีวิต จรัลประเมินสวนทางกับหลายคนในประเทศไทยและคนไทยในต่างประเทศที่เชื่อกันว่าการเลือกตั้งจะไม่เกิดขึ้น แต่จะมีทหารขับรถถังออกมาแทน

“ผมเชื่อว่าจะมีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ค่อนข้างแน่นอน เพราะเป็นยุทธศาสตร์ของฝ่ายปกครองที่จะครองอำนาจต่ออย่างนุ่มนวลที่สุด ถามว่าคุณจะรัฐประหารอีกหรือ จะซ้ำอีกหรือ ปีที่แล้วคุณก็เพิ่งปราบปรามคนเสื้อแดงไป ปีนี้คุณจะยึดอำนาจอีก ผมยังไม่ค่อยเชื่อว่าจะกล้าทำกันขนาดนั้น”

อย่างไรก็ดี แม้จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในความเห็นของจรัล แต่เขาก็มองข้ามช็อตไปว่า กระบวนการเลือกตั้งจะมีปัญหาใหญ่ตามมา 3 ประการ คือ

1.ถูกตั้งคำถามว่าการเลือกตั้งมีความเสรีและยุติธรรมหรือไม่ ซึ่งสามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าเลยว่าไม่น่าจะมี

2.ถ้าผลของการเลือกตั้งออกมาว่าพรรคเพื่อไทยได้เสียงมากที่สุดจะตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ ซึ่งคาดการณ์ได้ว่าหากไม่ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ก็ยากที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่หากได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งอย่างเด็ดขาดก็มีโอกาสตั้งได้

3.แม้พรรคเพื่อไทยจะจัดตั้งรัฐบาลได้ จะอยู่ได้นานหรือไม่ ซึ่งก็คาดการณ์ได้เช่นกันว่าคงอยู่ได้ไม่นาน เพราะจะมีแรงต่อต้านทุกรูปแบบตามมา

เขายังตั้งข้อสังเกตยิ้มๆ ว่า น่าแปลกที่มีแต่คนเสื้อแดงเท่านั้นที่คิดว่าจะมีการรัฐประหารในเร็ววันนี้ ขณะที่กลุ่มเสื้อเหลืองพยายามให้มีการรัฐประหาร เพราะมีข้อเรียกร้องให้ปิดเทอมทางการเมือง 2 ปี และล่าสุดคือให้ปิดประเทศ 5 ปี

“แต่ถึงวันนี้ผมก็ยังไม่ค่อยเชื่อว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นนั้นได้” เขาสรุป พร้อมขยายความต่อ “จริงๆ แล้วในกองทัพก็ไม่มีความเป็นเอกภาพ ผมเพิ่งสไกป์คุยกับทหารที่เป็นพรรคพวกกัน เขาบอกว่าตอนนี้ข่าวรัฐประหารซาลงแล้ว ที่สำคัญเขาจะทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ ทำไม เนื่องจากตอนนี้ทหารมีอำนาจเหนือรัฐบาลชุดนี้อยู่แล้ว”

ส่วนความเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงในต่างประเทศนั้น จรัลในฐานะที่เดินทางไปพบปะคนไทยในต่างแดนทั้งยุโรปและอเมริกา บอกว่า กระแสเสื้อแดงมีสูงมาก ขณะที่ฝ่ายเสื้อเหลือง ลองดูที่สะพานมัฆวานก็จะรู้ว่ากระแสเป็นอย่างไร แต่กระนั้นก็ไม่ได้ประมาทพลังของกลุ่มเสื้อเหลือง เนื่องจากถ้าไม่มีพลังคงถูกคุณสุเทพ กับ คุณเนวินจัดการไปนานแล้ว

อย่างไรก็ดี แม้ว่าในสายตาของจรัล กระแสของคนเสื้อแดงในระยะหลังมาแรงกว่าเสื้อเหลืองมากทั้งในและต่างประเทศ ทว่าการขยายแนวร่วมภายใต้ยุทธศาสตร์ “โลกล้อมไทย” ด้วยการดึงนานาชาติให้ร่วมกันกดดันรัฐบาลอภิสิทธิ์และกองทัพ ที่เขาใช้คอนเนคชั่นสมัยเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนอยู่ กลับเป็นเรื่องยากและเป็นประเด็นที่เขากังวล เพราะที่ผ่านมามีปัญหาในระดับโลกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงในลิเบีย หรือแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น ทำให้ประเด็นการเมืองไทยหลุดจากข่าวต่างประเทศไป

“คำถามที่คนสนใจมากที่สุดคือปัญหาการเมืองไทยจะจบลงอย่างไร ซึ่งผมก็ตอบตรงๆ ว่าไม่มีใครรู้... No one knows the end”

จรัล อธิบายเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤติอันหนักหนาสาหัสถึง 3 วิกฤติใหญ่พร้อมๆ กัน คือ 1.วิกฤติการเมืองว่าด้วยการสร้างประชาธิปไตย ซึ่งมีกลุ่มคนชั้นสูงและคนชั้นกลางจำนวนหนึ่งไม่เชื่อว่าประชาชนสามารถปกครองตนเองได้จริง 2.วิกฤติทางสังคมที่ผู้คนขัดแย้งแตกแยกกันลงลึกถึงระดับครอบครัว และ 3.วิกฤติความยุติธรรม ซึ่งคนเสื้อแดงใช้คำว่า “สองมาตรฐาน”

“ที่สำคัญเราไม่มีผู้ใหญ่ที่จะเป็นคนกลางเพื่อแก้ไขปัญหานี้ได้ เพราะผู้หลักผู้ใหญ่ที่เป็นกลางและได้รับการยอมรับจริงๆ ไม่มีอีกแล้วในประเทศไทย ฉะนั้นวิกฤติครั้งนี้จึงไม่มีทางออก”

แต่ถึงที่สุดแล้วทุกวิกฤติย่อมมีจุดจบเสมอ และจรัลก็เชื่อเช่นนั้น โดยเขาเห็นว่ามีเพียง 2 แนวทางที่จะนำพาประเทศออกจากวิกฤติเที่ยวนี้ คือ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะเด็ดขาด หรือไม่ก็เปิดการเจรจาปรองดองแห่งชาติ

“ผมเสนอ 3 ข้อเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือ 1.ต้องตั้งคณะกรรมการที่เป็นอิสระขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริงจากความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้น ซึ่งคณะกรรมการชุดของ ดร.คณิต ณ นคร ยังไม่เป็นกลางเพียงพอ2.ต้องนิรโทษกรรมให้กับทุกสี ทุกฝ่าย รวมทั้งทหาร แล้วเริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่ ไม่อย่างนั้นไม่มีทางจบ และ 3.ต้องเขียนรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นจริงๆ”

อย่างไรก็ตาม จรัลออกตัวว่า ข้อเสนอทั้ง 3 ข้อสำเร็จยาก เพราะแม้แต่คนเสื้อแดงด้วยกันก็ยังไม่เห็นด้วยกับเขาในบางข้อ โดยเฉพาะการนิรโทษกรรมทุกฝ่าย ฉะนั้นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยรอบนี้จึงยากเย็น แสนเข็ญ และยาวนาน

ส่วนข้อกล่าวหาที่สาดใส่คนเสื้อแดง ทั้งล้มเจ้าและต่อสู้เพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น จรัล ปฏิเสธที่จะอธิบายในรายละเอียด โดยเขาบอกเพียงว่า...ไม่ว่าใครจะมองอย่างไรก็ไม่มีผล เพราะขบวนการเสื้อแดงโตขึ้นทุกวัน ฉะนั้นด่าได้ด่าไป!

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2554

สื่อกัมพูชาระบุทหารไทยถล่มเป้าหมายพลเรือน-กราดยิงโบราณสถาน !!?

พนมเปญโพสต์เผยภาพบ้านเรือนประชาชนฝั่งกัมพูชาที่ได้รับความเสียหายจากเหตุปะทะกันระหว่างทหารไทย-กัมพูชารอบล่าสุด ด้านกลาโหมกัมพูชาระบุทหารไทยสาดกระสุนใส่ปราสาทตาเมือน ระหว่างพยามเข้ายึดพื้นที่ปราสาท ขณะที่ทหารกัมพูชาเผยทั้งสองฝ่ายยิงปืนใหญ่ตอบโต้กันเป็นพันนัดแล้ว


บ้านเรือนในอำเภอบ้านใต้อัมปืล หรือบ้านใต้มะขาม จังหวัดอุดรมีชัย ที่ได้รับความเสียหายจากกระสุนขนาด 155 มม. ที่ยิงมาจากฝั่งไทย (ที่มา: SOVAN PHILONG/Phnompenhpost)

เว็บไซต์พนมเปญโพสต์ รายงานเมื่อวานนี้ (25 เม.ย.) ว่า สถานการณ์สู้รบระหว่างทหารไทย - กัมพูชา ที่ชายแดนพื้นที่จังหวัดอุดรมีชัย โดยกองทัพกัมพูชา (RCAF) แถลงว่า การปะทะล่าสุดเมื่อวันที่ 24 เม.ย. ใกล้กับปราสาทตาเมือน มีการปะทะกันด้วยปืนเล็กก่อนที่จะเพิ่มขนาดเป็นการโจมตีกันด้วยปืนใหญ่ เสียงปืนใหญ่ได้ยินเข้าไปลึกถึง 20 กม. จากชายแดนที่อำเภอบ้านใต้อัมปืล (บ้านใต้มะขาม) จังหวัดอุดรมีชัย

พนมเปญโพสต์ยังอ้างถึงคำกล่าวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีไทย ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นว่า "มีเป้าหมายเฉพาะที่ตั้งทางทหารเท่านั้น" อย่างไรก็ตาม ที่บ้านกกมน ในอำเภอบ้านใต้อัมปืล ห่างจากชายแดน 21 กม. เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นกัมพูชารายงานว่ามีกระสุนปืนใหญ่ตกใส่ใกล้กับบ้านเรือนของประชาชนเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (23 เม.ย.)
ทั้งนี้มีบ้านหลังหนึ่งพังลงหลังถูกกระสุนปืนใหญ่ โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่าเป็นจรวด 2 ลูกขนาด 155 มม. จากฝั่งไทย

ซากจานดาวเทียมกองระเกะระกะอยู่ท่ามกลางซากปรักหักผังอื่นหน้าลานบ้านเมื่อเช้าวานนี้ (23 เม.ย.) ขณะที่ทหารกัมพูชาพยายามรวบรวมซากต่างๆ รวมทั้งเอาเศษกระสุนเงินมาแสดงต่อผู้สื่อข่าว ว่าเป็นหลักฐานจากการถูกโจมตีจากอีกฝั่ง

"เราไม่เคยประสบสงครามอย่างนี้มาก่อน และไม่เคยมีระเบิดมาลงบริเวณนี้มาก่อน" หัวหน้าหมู่บ้านกกมม นายอุน วี กล่าว อย่างไรก็ตามไม่มีชาวบ้านในพื้นที่ได้รับบาดเจ็บ "ที่ตรงนี้ไม่ควรมีการสู้รบ เพราะเป็นที่ชาวบ้าน และประชาชนไม่ได้มีอาวุธ
พนมเปญโพสต์ ยังรายงานคำแถลงของนายปณิธาน วัฒนายากร ปฏิบัติหน้าที่โฆษกสำนักนายกรัฐมนตรีของไทย ที่ระบุว่ามีพื้นที่ 7 แห่งซึ่งเป็นพื้นที่พลเรือนของไทย ถูกยิงด้วยกระสุนปืนใหญ่จากกัมพูชา และขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล
ส่วน รจ โสเพียพัน ทหารกัมพูชาที่ประจำการที่บ้านก็อกกโป อำเภอบ้านใต้อัมปืล รายงานว่า ทั้งสองฝ่ายยิงปืนใหญ่โต้กันมาแล้วเป็นพันลูก นับตั้งแต่เมื่อวันศุกร์ และช่วงเช้าวันอาทิตย์มีการยิงไปแล้วเกือบ 160 ลูก

นอกจากนี้ในแถลงการณ์ของกระทรวงกลาโหมกัมพูชาเมื่อวันอาทิตย์ยังระบุว่าระหว่างที่มีการปะทะกัน ทหารไทยได้ "กราดยิง" ใส่ปราสาทตาเมือนด้วย โดยเป็นพยายามของทหารไทยในการเข้ายึดพื้นที่ปราสาท

รจ โสเพียพัน กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อเย็นวันอาทิตย์ว่า ทั้งทหารไทยและกัมพูชายังคงประจำการอยู่รอบๆ ปราสาทตาเมือน และปราสาทตากระบือ (ปราสาทตาควาย) ซึ่งยังไม่มีฝ่ายใดสามารถควบคุมพื้นที่ดังกล่าว

ส่วนที่เมืองสำโรง ในจังหวัดอุดรมีชัย ห่างจากชายแดน 45 กม. มีผู้อพยพหลายสิบคนอยู่ภายนอกกองบัญชาการของทหารกัมพูชา เพื่อรอรับสิ่งของช่วยเหลือประกอบด้วย ข้าว เครื่องครัว และผ้าห่ม น้ำหนักรวม 20 กก. จากกาชาดกัมพูชา
นายทุน นอล นายอำเภอสำโรง จังหวัดอุดรมีชัย กล่าวว่า มีประชาชนอพยพออกจากชายแดนแล้วเกือบ 18,000 คน ด้านนายอุย ซัม อัด ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการภัยพิบัติ ของกาชาดกัมพูชา กล่าวว่ามีตัวเลขผู้อพยพโดยประมาณการ 9,867 ราย แต่น่าจะมีผู้อพยพมากกว่านี้อีก

ด้านโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรีของกล่าวว่ามีผู้อพยพแล้วกว่า 25,000 รายในฝั่งไทย
ที่ด้านนอกสำนักงานกองทัพกัมพูชาในเมืองสำโรง นางเพียบ อายุ 53 ปี กล่าวว่าเธอต้องหนีออกจากหมู่บ้านปอทิวง ในอำเภอบ้านใต้อัมปืล ห่างจากชายแดน 6 กม. เมื่อเช้าวานนี้ (23 เม.ย.) "ฉันมาถึงที่นี่ได้ไม่กี่ชั่วโมง จากนั้นก็มีการยิงกันอีก" เธอกล่าว "ระเบิดหลายลูกตกใกล้หมู่บ้านฉัน และเราอยู่ด้วยความหวาดผวา"

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก
"Many bombs landed ... we are living in fear", Phnompenhpost, Cheang Sokha and James O’Toole, ADDITIONAL REPORTING THOMAS MILLER Monday, 25 April 2011 15:02
http://www.phnompenhpost.com/index.php/2011042548689/National-news/qmany-bombs-landed-we-are-living-in-fearq.html
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ฮิลลารี คลินตัน..วอนไทย-เขมรหยุดยิง !!?

ชายแดนยังระอุ ไทย-กัมพูชา ปะทะทั้งคืน ทัพภาค 2 กร้าวไม่ต้องเจรจา “ฮิลลารี คลินตัน”วอนยุติการปะทะ

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ออกคำแถลง เรียกร้องไทยและกัมพูชา อดทนอดกลั้นและดำเนินการต่างๆเพื่อลดความตึงเครียดในทันทีหลังเกิดเหตุปะทะตามแนวชายแดนครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา โดยนางคลินตัน กล่าวว่าสหรัฐฯ ได้ประสานโดยตรงกับเจ้าหน้าที่ของไทยและกัมพูชาในความหวังยุติความรุนแรงครั้งนี้ที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายเสียชีวิตไปแล้ว 12 นาย ขณะที่ชาวบ้านอีกหลายหมื่นคนต้องอพยพออกจากถิ่นฐาน สหรัฐฯ ยังคงกังวลอย่างยิ่งต่อเหตุปะทะระหว่างกองกำลังความมั่นคงตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา

"เราขอเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายอดกลั้น ละเว้นพฤติกรรมยั่วยุใดๆและดำเนินการต่างๆเพื่อลดความตึงเครียดในทันที รวมถึงหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วย" เธอกล่าว "การสูญเสียชีวิต ไร้ถิ่นฐานของประชาชนและความเสียหายต่อทรัพย์สินต่างๆ เป็นสิ่งที่น่าเศร้าใจอย่างมาก"นางฮิลลารี กล่าวในถ้อยแถลงและว่า ยังสนับสนุนแนวทางคนกลางไกล่เกลี่ยโดยอินโดนีเซีย ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศแดนอิเหนา นาย มาร์ตี เนตาเลกาวา มีกำหนดเดินทางเยือนทั้งสองประเทศในวันที่ 25 เม.ย. ทว่าได้เลื่อนออกไป

ที่ผ่านมาได้มีเสียงปืนใหญ่ดังอีกครั้งที่ปราสาทตาควาย ต.บักได อ.พนมดงรัก โดยฝ่ายกัมพูชาได้ระดมยิงปืนใหญ่มาฝั่งไทย โดยกระสุนปืนใหญ่บางส่วน ได้พลัดตกในหมู่บ้านไทยนิยมพัฒนา หมู่ 17 ต.บักได ทำให้ชาวบ้านหลายร้อยหลังคาเรือนอพยพไปอยู่ ที่ศูนย์ผู้อพยพ ขณะเดียวกัน ชุดผสมทหารพรานชุด ร.2606 และทหารราบ ร.พัน 2341 ได้ระดมยิงปืนใหญ่ 155 มม.และปืน ค.120 ตอบโต้ เป็นระลอก ทำให้ จ.ส.อ.พิจิตร น้อยเจริญ สังกัดกองร้อยทหารราบที่ 2342 ฐานปฎิบัติการตามเมือนธม และ จ.ส.อ.ด่วง โครตรศรีกุล สังกัดร้อยทหารพรานจู่โจมที่ 960 ฐานปฎิบัติการตาเมือนธม เจ้าหน้าที่เร่งลำเลียงส่ง รพ.พนมดงรัก อย่างโกลาหล และจากเหตุปะทะดังกล่าว ได้ลุกลามไปถึงการปะทะกันที่ชายแดนแถบปราสาทตาเมือนธม ต.ตาเมียง อ.พนมดงรัก โดยทั้ง 2 ฝ่ายได้ระดมยิงถล่มใส่กันอย่างต่อเนื่อง และกำลังฝ่ายไทยได้ยกพลประชิดติดชายแดนมากขึ้น

อย่างไรก็ตามกระทั่งเวลา 21.30น. ทั้งสองฝ่ายยังคงเปิดฉากยิงปะทะกันอย่างต่อเนื่อง และเครื่องบินตรวจการณ์ของไทยตรวจพบการเคลื่อนกำลังของกัมพูชา โดยมีทั้งปืนใหญ่ เครื่องยิงระเบิดแบบBM 21 ถูกส่งประชิดทางด้านทิศตะวันตกของตัวปราสาทตาควาย รวมทั้งการระดมกำลังผสมระหว่างทหารณานและทหารกัมพูชา

ส่วนผลจากการปะทะกันของทหารทั้ง 2 ฝ่าย ที่ผ่านมามีทหารไทยเสียชีวิตรวม 5 ราย บาดเจ็บ 33 ราย แหล่งข่าวทางทหารระบุว่าในขณะนี้ทางทหารกัมพูชามีการเคลื่อนไหวอย่างต่อ เนื่อง โดยเฉพาะการระดมกำลังทหารราบและกำลังผสมทหารเวียดนามกัมพูชา พร้อมอาวุธหนัก รถถัง ปืนยิงจรวดแบบ BM21 เข้าเสริมตลอดแนวชายแดนด้านปราสาทตาควาย จนถึงจังหวัดศรีสะเกษ จ.บุรรีรัมย์ คาดว่าคงเตรียมการเปิดศึกครั้งใหญ่ขั้นเด็ดขาดเพื่อยึดปราสาททั้งสองให้ได้ ตามคำบัญชาการของพลโท ฮุนมาเน็ต ที่สั่งการก่อนหน้านี้

สำหรับทหารไทยเสียชีวิตไปแล้ว 5 นาย ประกอบด้วย จ.ส.อ.ประเวช หาราช สังกัด ทพ.2606 จ.ส.อ.วิทยะ สวนชูผล สังกัด ทพ.960 จ.ส.อ.บุญรัตน์ สุขจิตร สังกัด ทพ.2606 พลทหารสมคิด สมศรี ทหารพรานสังกัดกองร้อยทหารพรานจู่โจมที่ 2606 และ อส.ทพ.อารี คงนาคเพนา สังกัดกองร้อยทหารพรานที่ 961

ด้านนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศให้สัมภาษณ์ภายหลังเดินทางกลับจากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานการณ์การปะทะระหว่างทหารไทย-กัมพูชาที่จ.สุรินทร์ว่า ถึงแม้จะยิงปะทะกันก็ไม่เป็นไร เพราะกัมพูชายังไม่เลิกและไม่ยอมรับข้อเสนอของไทยที่ต้องการให้มีการเจรจา2ฝ่ายทุกระดับ ซึ่งที่ผ่านมาเวลามีการปะทะกันแล้วหลังจากนั้น2วันจะมีการเจรจา แต่การปะทะกันครั้งนี้ทางไทยยังไม่ได้รับการติดต่อจากกัมพูชา เมื่อเขาปฏิเสธที่จะติดต่อกับเราทุกระดับก็แสดงว่าเขาไม่ต้องการพูดกับเราแล้ว ดังนั้นไทยต้องทบทวนนโยบายต่างๆที่ดำเนินการร่วมกับกัมพูชา เนื่องจากขณะนี้ประชาชนตามแนวชายแดนกว่า800กม.ทางด้านจ.สุรินทร์และจ.บุรีรัมย์กว่า3หมื่นคนต้องเดือดร้อน

นายกษิต กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามในวันที่26 เม.ย. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรณ รมว.กลาโหมจะลงพื้นที่จ.สุรินทร์ หลังจากนั้นจะกลับมาทบทวนนโยบายระหว่างไทย-กัมพูชาทั้งหมดว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะเราต้องเอาชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นที่ตั้งและจะเอาศักดิ์ศรีของประเทศมาล้อเล่นไม่ได้ ที่ผ่านมาไทยพยายามไม่โยงเรื่องหนึ่งกับอีกเรื่องหนึ่ง เพราะปะทะกันทุกครั้ง2วันก็จบ แต่ครั้งนี้กัมพูชาจงใจรุกรานไทยก่อน ซึ่งเกินวิสัยที่จะเป็นมิตรได้เท่ากับทำตัวเป็นศัตรูแทนที่จะเป็นเพื่อนกัน รวมทั้งเรื่องนี้ต้องให้อาเซียนได้รับทราบด้วย

พ.อ.ประวิทย์ หูแห้ว โฆษกกองทัพภาคที่ 2 ให้สัมภาษณ์รายการเก็บตกจากเนชั่น ถึงสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ว่า เมื่อเวลา 03.20น. วันที่ 26 เม.ย.ได้มีการยิงปะทะกันขึ้นอีกระลอกและเสียงปืนได้สงบลงเมื่อเวลา 05.00น. ตามข่าวกัมพูชาพยายามจะยึดปราสาทตาเมือนธม และปราสาทตาควาย และมีทหารกัมพูชาบางส่วนใช้ปราสาทตาควายเป็นโล่กำบัง แต่จากการตรวจสอบในช่วงเช้าพบว่าไม่มีอยู่แล้ว เราพยายามควบคุมพื้นที่ให้ให้ได้มากที่สุด ขอยืนยันว่าทหารพยายามปกป้องอธิปไตย แต่เมื่อเจรจาแล้วไม่สามารถหาข้อยุติได้ เพราะขึ้นอยู่ที่ฮุนเซ็นคนเดียวจึงไม่จำเป็นต้องเจรจา

ที่มา.เดลินิวส์
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

สงครามชิงทำเนียบ ขมิ้นเจอปูน! “เพื่อไทย”จัดหนัก-ล้างตา ปชป.! เหลิม-ปลอดฯ-ประชา-ปาร์ตี้ลิสต์

ยังเป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวลสำหรับประชาชนส่วนใหญ่...กับคำถามซ้ำๆ ซากๆ ว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริงหรือไม่?
โดยเฉพาะกระแสข่าวลือเกี่ยวกับการ “ปฏิวัติ” ซึ่งต้องยอมรับว่ามีทั้งกลุ่มคนที่ต้องการให้มี และกลุ่มคนที่ไม่ต้องการให้มี...แต่สำหรับประชาชนทุกคน คงจะเลือกคำตอบอย่างหลัง คือ ไม่อยากให้มีการปฏิวัติ และต้องจัดการเลือกตั้งให้เกิดขึ้นเร็วที่สุด
หากมองสภาพการเมืองในปัจจุบันว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริงหรือไม่...เชื่อว่า “จำเป็นต้องมี”!!...เพราะหากผู้มีอำนาจยังคงซื้อเวลาต่อไป....อนาคตก็รังแต่จะสร้างปัญหาเพิ่มพูนกลายเป็น “ดินพอกหางหมู” มากยิ่งขึ้น

เพราะประชาชนจะไม่มีความศรัทธาต่อ “ระบอบการเมือง” ที่เล่นกันแบบ “ไม่แฟร์” และใช้อำนาจกดขี่อยู่ข้างเดียว...และวันหนึ่งเมื่อเกิดความอัดอั้นสุดขีด...การต่อต้านด้วยการจับอาวุธลุกขึ้นสู้ก็จะเกิดขึ้น...เหมือนเช่นที่กำลังเกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศทั่วโลก...ซึ่ง “ผู้มีอำนาจ” ถูกขับไล่ เพราะความต้องที่จะยึดโยง “ความสุข” ไว้กับกลุ่มคนเพียงกลุ่มหนึ่ง

สำหรับประเทศไทย...การเลือกตั้ง”จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด”!!...แม้ประชาชนจะรู้ตัวกันตั้งแต่เนิ่นๆ ว่า สิทธิ์และเสียงของตนอาจถูกผันไปเป็น “คะแนน” ของนักการเมืองและพรรคการเมืองที่ตนไม่ได้เลือก...แต่นั่นก็เป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายต้องช่วยและร่วมมือกันแก้ไข...ไม่ใช่ “นิ่งดูดาย” และปล่อยให้มันเกิดขึ้น โดยมานั่งน้ำตาเช็ดหัวเข่าภายหลัง
แว่วว่า...หลังจากที่อดีตนายกฯ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” โฟนอินมาวันแถลงบโยบาย
พรรคเพื่อไทยเมื่อวันเสาร์ที่ 23 ที่ผ่านมา และพรรคเพื่อไทยออกป้ายหาเสียงชุดใหม่ติดพรึ่บพรับไปทั่วกรุงเทพฯ
ไม่ทันข้ามคืนป้ายที่ท่านติดไว้ค่อยๆ หายไปที่ละอันสองอัน...ไม่เกิน 3 วันป้ายหายหมดเกลี้ยง
โดยไม่รู้ว่ามือดี หรือฝ่ายไหน มาช่วยเก็บและทำลายป้ายให้เสร็จสรรพ

ส่วนการแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างยุติธรรมที่สุด และมีการโกงกันน้อยที่สุดจะแก้กันอย่างไรนั้น เป็นเรื่องที่ภาคประชาชนจะต้องช่วยกัน!!

เริ่มต้นที่ “ประชาชน” ต้องจับมือกับ “สถาบันการเมือง” โดยเฉพาะบรรดา “กรรมการการเลือกตั้ง” ที่มีกฎหมายอยู่ในมือทั้งหลาย เพื่อเกาะติดในทุกมิติทั้งก่อนและหลังวันเลือกตั้ง...

อย่างแรก คือ การตัดทหารออกจากวงจรการเลือกตั้ง อย่าปล่อยให้ทหารเข้ามามีเอี่ยวนับคะแนน ต่อมา...ต้องมีการตรวจสอบให้ชัด! กกต. พิมพ์บัตรเลือกตั้งกี่ใบ? ที่ไหนบ้าง?

สุดท้าย...เฝ้าจับตาการเลือกตั้ง, เก็บหีบบัตรฯ, การขนส่ง ฯลฯ เอากันแบบเกาะติดเป็นตาสัปปะรด เพราะเชื่อเหลือเกินว่า...กลโกงแบบ “สร้างปาฏิหาริย์” เหมือนวันที่ 23 ธันวาคม 2550 คงจะไม่เกิดขึ้น! หรือถ้าจะเกิดขึ้นก็คงจะน้อยกว่าการเลือกตั้งครั้งนั้นอย่างแน่นอน

สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ถ้าเมืองไทย...มีโอกาสจะจัดการเลือกตั้งทั่วไปในห้วงปลายเดือน มิถุนายน.-ต้น กรกฎาคมจริง! คนไทยจะต้องออกมาใช้สิทธิกันอย่างท่วมท้น เพราะหากมีคนใช้สิทธิเกินร้อยละ 80 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 40 ล้านคน...การันตีได้ว่าโกงยังไง? ก็คงยากจะ “ชนะ”

เพราะหากพบคนมาใช้สิทธิได้ถึงร้อยละ 80 แล้วจู่ๆ ในหีบบัตรเลือกตั้ง...ดันมีบัตรเลือกตั้งเกินร้อยละ 100 สิ่งนี้...คงประจาน กกต. ยุคนี้ รวมถึง “อำนาจนอกระบบ” และ “มือที่มองไม่เห็น” ผู้คอยชักใยและกำหนดทิศทางในทางที่ผิดให้กับประเทศนี้
และเมื่อหันมามองการต่อสู้ของ “พรรคการเมือง” ประชาชนจะเห็นว่าคู่แข่งที่สำคัญก็ยังคงเป็นสองพรรคการเมืองใหญ่ คือ “พรรคเพื่อไทย” กับ “พรรคประชาธิปัตย์” ซึ่งต้องแข่งขันขับเคี่ยวกันอย่างเอาเป็นเอาตาย...โดยมี “บิ๊กพรรคร่วม” อย่าง “พรรคภูมิใจไทย” คอยสอดประสานรับกับ “ความน่าจะเป็น” ระหว่างสองพรรคการเมืองที่จะขึ้นมาจัดตั้งรัฐบาล

ทั้งนึ้ รายชื่อ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ “พรรคเพื่อไทย” รอบแรก จำนวน 140 คน ได้มีการประกาศออกมาเป็นที่แน่นอน โดยมีรายชื่อดังต่อไปนี้

พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา พล.อ.อ.สุเมธ โพธิ์มณี พล.อ.วัฒนา สรรพนิช พล.ท.มะ โพธิ์งาม พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ พล.ท.ทวนทอง อินทรทัต พล.ร.ท.โรช วิภัติภูมิประเทศ

พล.ต.อ.จำลอง เอี่ยมแจ้งพันธุ์ พล.ต.ท.ชัชจ์ กุลดิลก พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง พล.ต.ต.ไพบูลย์ เชิดมณี พล.ต.ต.เกษม รัตน
สุนทร นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ ดร.โอฬาร ไชยประวัติ นายปลอดประสพ สุรัสวดี นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช นายพายัพ ชินวัตร นายพิชัย นริพทะพันธ์ุ นายคณวัฒน์ วสิงสังวร

นายกมล บันไดเพชร นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ น.ส.สุณีย์ เหลืองวิจิตร นายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์ นายพงศกร อรรณนพพร นายสุชน ชาลีเครือ อดีตประธานวุฒิสภา นายพิเชษฐ สถิรชวาล นายพิทยา พุกกะมาน

ในส่วนรายชื่อในส่วนของแกนนำ นปช. และ “คนเสื้อแดง” อาทิ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายก่อแก้ว พิกุลทอง นายพายัพ ปั้นเกตุ นพ.เหวง โตจิราการ นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย นายวิสา คัญทัพ นายชนะศักดิ์ อัตถาวงศ์ ญาติ นายสุพร อัตถาวงศ์ นายอารี ไกรนรา นายพัศพงศ์ (ชูเกียรติ) พงศ์เรืองรอง นายวรวุฒิ วิชัยดิษฐ์ นายเพชรวรรต วัฒนพงศ์ศิริกุล แกนนำเสื้อแดง เชียงใหม่ 51

นายชินวัฒน์ หาบุญพาด นายพิชิต ชื่นบาน ทนายความของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายคารม ผลทพกลาง ทนายความคนเสื้อแดง นายศักดา นพสิทธิ์ อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ลูกสาว เสธ.แดง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล นอกจากนี้ได้มีชื่อนายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง ด้วย ขณะที่ยังไม่มีชื่อนายจตุพร พรหมพันธ์ แกนนำนปช.

ส่วนรายชื่อเครือญาติแกนนำนปช.และอดีต ส.ส. อาทิ นางเยาวนิตย์ เพียงเกษ ภริยา นายอดิศร เพียงเกษ นายวิเชียรชนินทร์ สินธุไพร ญาติ นายนิสิต สินธุไพร นางอุดมรัตน์ อาภรณ์รัตน์ ภริยา พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ นางรังสิมา เจริญศิริ ภริยา
นายศรีเมือง เจริญศิริ ศ.ดร.ธเนศร์ ศรีเมือง น.ส.ดวงรัตน์ โล่ห์สุนทร ลูกสาว นายไพโรจน์ โล่ห์สุนทร นายศักดา บูรณพงศ์ น้องชาย นพ.ประสงค์ บูรณพงศ์ นายวิสิทธิ์ ใสกระจ่าง น้องชาย ร.ท.กุเทพ ใสกระจ่าง นางวราภรณ์ ตั้งภากรณ์ ภริยา พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์

แต่สิ่งที่กำลังอยู่ในความสนใจของประชาชน...ไม่แพ้ประเด็นที่ว่าพรรคการเมืองใดจะได้ขึ้นมาเป็นรัฐบาล นั่นคือ นายกรัฐมนตรีคนต่อไปจะเป็นใคร?

เพราะถึงวันนี้ก็ยังไม่แน่ไม่นนอนว่า “ปาร์ตี้ลิสต์เบอร์หนึ่ง” ของพรรคเพื่อไทย...จะใช่ “ตัวเก็ง” ที่สื่อหลายสำนักเก็งกันไว้หรือไม่? ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการตัดสินใจครั้งสุดท้ายของหัวหน้าพรรคตัวจริงอย่าง “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” ว่าจะให้ใครขึ้นมาดำรงตำแหน่งเป็น “นายกรัฐมนตรี” หากเพื่อไทยได้รับชัยชนะกับการเลือกตั้งครั้งนี้

แต่เห็นได้ชัดประการหนึ่งว่า ผู้ที่จะขึ้นไปเป็น”ปาร์ตี้ลิสต์” หรือ”บัญชีรายชื่อ” ระดับหัวแถวล้วนแต่เป็น”สายเหยี่ยว” ที่เป็นนักสู้ และจัดอยู่ในประเภท “กลัวไม่เป็น” อย่าง พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ปลอดประสพ สุระสวดี พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา พล.อ.อ.สุเมธ โพธิ์มณี พล.อ.วัฒนา สรรพนิช พล.ท.มะ โพธิ์งาม พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ พล.ท.ทวนทอง อินทรทัต พล.ร.ท.โรช วิภัติภูมิประเทศ

ส่วนความเคลื่อนไหวในส่วน “พรรคประชาธิปัตย์” ก็ยังมีความไม่แน่ไม่นอนเช่นเดียวกันว่า...นายกรัฐมนตรี “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” จะมีโอกาสได้กลับขึ้นมาเป็น “นายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2” หรือไม่? เพราะต้องไม่ลืมว่า “นายกฯ อภิสิทธิ์” ยังมี “ชนักติดหลัง” กับการบริหารประเทศตลอดช่วงระยะ 2 ปีที่ผ่านมา

โดยเฉพาะคดีความสำคัญสำคัญของ “การสังหารประชาชนจำนวน 90 กว่า ศพ” ในเหตุสลายการชุมนุมเมื่อช่วงเดือน เม.ย. และ พ.ค. ปี 53...เรื่องดังกล่าว “รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์” ไม่สามารถ “พิสูจน์หลักฐาน” และให้คำตอบที่กระจ่างชัดต่องคนไทยและประชาคมโลก

ดังนั้น แคนดิเดตในประชาธิปัตย์คนอื่นๆ ที่จะขึ้นมาเป็น “หัวหน้าพรรค” และ “นายกรัฐมนตรี” ในลำดับต่อไป...แน่นอนว่า “พรรคประชาธิปัตย์” คงจะไม่หยิบเอา “กุมาร” ขึ้นมาทำหน้า “นอมินี” เพื่อบริหารประเทศนี้อีกครั้ง
เพราะการขาดความรู้ และประสบการณ์ของผู้ที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งเป็น “นายกรัฐมนตรี” ทำให้พรรคการเมืองเก่าแก่พรรคนี้ต้องพบกับปัญหาอย่างมากมาย...ดังนั้น ช่วงจังหวะต่อไปจึงเป็นโอกาสของบรรดา “ผู้อาวุโส” ทั้งหลาย...ที่รอเวลาออกมาแสดงฝีไม้ลายมือ

สุดท้ายการตัดสินใจก็คงอยู่ที่ผู้ใหญ่ในพรรคอย่าง “ชวน หลีกภัย” และ “บัญญัติ บรรทัดฐาน” ว่าจะเลือกใครขึ้นมาเพื่อสู้สึกชิงชัยตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกับ “ปาร์ตี้ลิสต์เบอร์หนึ่ง” ของพรรเพื่อไทย
อย่างไรตาม...การเมืองไทยวันนี้ประชาชนจำเป็นต้องใช้การพินิจพิเคราะห์ถึง “ต้นเหตุแห่งปัญหา” ด้วยสายตาอันกว้างไกล...อย่าไปเชื่อหรือไปฟังบุคคลอื่นให้มาก...เพราะ “การโฆษณาชวนเชื่อ” ยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ประชาชนตกอยู่ใน “ภวังค์”

แต่การเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่มีแล้วกับคำพูดของนักการเมืองที่ว่า “แพ้เพื่อชนะ” เพราะประชาชนจะต้องเป็น “ผู้ชนะ” เท่านั้น!
ในอดีตเราได้เห็นสภาพบ้านเมืองและชีวิตประชาชนเมื่อ “ประชาชนเป็นใหญ่” และปัจจุบันเราได้เห็นสภาพบ้านเมืองและชีวิตของผู้คน เมื่อถูกคนกลุ่มหนึ่งเอาปืนมาจี้ “ปล้นอำนาจ” แล้วทำตัวเป็นใหญ่เหนือประชาชนในแผ่นดิน
ประเทศไทย...จะไม่มีวันเหมือนเก่า และทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิม เพราะประชาชนคนไทยเกิดภาวะการณ์ตื่นรู้
อยากได้แบบไหน? ประชาชนต้องเลือกเอา!

ที่มา.บางกอกทูเดย์
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2554

ลืมหน้าที่

โดย.เหล็กใน

กําลังสนุกสนานอยู่กับการ 'ตบเท้า'

จู่ๆ ก็ 'งานเข้า' แบบไม่ทันตั้งตัว เมื่อเกิดเหตุการณ์ทหารไทยปะทะกับทหารกัมพูชา ตามแนวชายแดนบริเวณปราสาทตาควาย และปราสาทตาเมือนธม อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์

เป็นการปะทะระลอกล่าสุดนับตั้งแต่เกิดการสู้รบด้านชายแดน จ.ศรีสะเกษ ใกล้ปราสาทเขาพระวิหาร เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ตามข่าวว่าทหารสองฝ่ายยิงถล่มกันด้วยกระสุนปืนใหญ่นับร้อยนัด

นอกจากพื้นที่ จ.สุรินทร์ อันเป็นศูนย์กลางการปะทะ กระสุนปืนใหญ่จากฝ่ายกัมพูชายังปลิวมาตกในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งอยู่ติดกันอีกด้วย

ทำให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ต้องเร่งอพยพประชาชนหลายหมื่นคนออกจากพื้นที่ ให้พ้นจากรัศมีปืนใหญ่

เบื้องต้นผลจากการปะทะ 2 รอบเมื่อเช้าวันศุกร์ต่อเนื่องวันเสาร์ ทหารไทยพลีชีพแล้วอย่างน้อย 4 นาย และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก

ยังไม่มีใครรู้ว่าการปะทะหนนี้จะกินเวลากี่วัน

แต่ถ้ายุติเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น เพื่อไม่ให้ความสูญเสียของทั้งสองฝ่ายเพิ่มเติมมากไปกว่าที่เกิดขึ้นแล้ว

จากภาคอีสานย้ายลงมาที่ภาคใต้ ช่วงเวลาใกล้กันเกิดเหตุกลุ่มโจรใต้ลอบวางระเบิดถล่มรถปิกอัพทหาร ขณะออกลาดตระเวนในพื้นที่ อ.รามัน จ.ยะลา

ใช้อาวุธปืนสงครามกราดยิงซ้ำทำให้ทหารยศสิบเอก พลีชีพไป 1 นาย บาดเจ็บอีก 4 นาย

กรณีของสิบเอกภาคใต้ได้รับการนำเสนอเป็นข่าวแต่ไม่ใหญ่นัก อาจเพราะเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นรายวัน จนคนไทยไม่ว่าภาคไหนๆ ล้วนชาชิน

เพราะตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ไฟใต้ปะทุตั้งแต่ต้นปี 2547

8 ปีเต็มกับงบประมาณกว่า 1.45 แสนล้านบาท แต่สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น เกิดความรุนแรงสรุปรวมแล้วเกือบ 12,000 ครั้ง

มีผู้เสียชีวิตไปแล้วประมาณ 4,500 ราย

ในจำนวนนี้เป็นทหารราว 300 ราย ตำรวจในจำนวนใกล้เคียงกัน ส่วนที่เหลือเกือบ 4,000 ชีวิตเป็นของประชาชนในพื้นที่

ไม่มีใครรู้เช่นกันว่าตัวเลขสถิติความสูญเสียนี้จะจบลงตรงไหนและเมื่อไหร่

ในขณะที่ผู้รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหามัวเอาเวลาไปแสดงออกทางการเมือง

ละเลยหน้าที่แท้จริงของตนเอง

ที่มา.ข่าวสด
/////////////////////////////////////////////////////////////////

สื่อนอกรายงานเหตุ"ไทย-เขมร"ปะทะ

ผู้สื่อข่าวของ AFP ที่อยู่ทางฝั่งของกัมพูชา รายงานว่า ทหารไทยและทหารกัมพูชา ใช้อาวุธหนักปะทะกันอย่างดุเดือดเป็นวันที่ 3 เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ส่งผลให้ทหารสองฝ่ายเสียชีวิตมากกว่า 10 นายพลเรือนหลายพันคน ต้องอพยพหนีการสู้รบบริเวณชายแดนที่เริ่มมาตั้งแต่วันศุกร์ และทำลายการหยุดยิงที่ดำเนินมานาน 2 เดือน ซึ่งทางฝั่งไทยยืนยันว่า มีการยิงกระสุนปืนใหญ่เข้าใส่กัน และกัมพูชาเป็นฝ่ายเริ่มก่อน

นายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ ระบุว่า เพื่อนบ้านทั้งสองควรใช้ความอดกลั้นอย่างสูงสุดและเรียกร้องให้ต่างหันหน้าเข้าเจรจากันอย่างจริงจัง เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งเสียงปืนจากการปะทะกัน สามารถได้ยินไกลถึง 20 กิโลเมตร ทางฝั่งของกัมพูชา ขณะที่ผู้อพยพต่างหนีออกจากบ้านเรือน ไปอาศัยอยู่ตามโรงเรียนและวัดที่อยู่ห่างไกลจากพื้นที่ปะทะ

ฝ่ายกัมพูชายังคงอ้างว่า ไม่ได้เป็นฝ่ายเริ่มต้นก่อน และกล่าวหาฝ่ายไทยว่า พยายามจะล่วงล้ำเข้าไปในดินแดนของกัมพูชา และละเมิดหลักการของข้อตกลงร่วมกันที่ทำไว้ที่อินโดนีเซีย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่สองฝ่ายยอมรับให้อินโดนีเซียส่งผู้สังเกตการณ์เข้าไปยังพื้นที่พิพาทบริเวณแนวชายแดน แต่ผู้สังเกตุการณ์ยังไม่ได้เข้าไปทำหน้าที่ เนื่องจากไทยยังไม่ได้อนุญาตในขั้นตอนสุดท้าย

ทางการไทยได้อพยพชาวบ้าน 7,500 คน ออกจากพื้นที่เสี่ยง ส่วนกัมพูชาอพยพชาวบ้าน 200 ครอบครัว ด้านทหารกัมพูชา ระบุว่า การปะทะกันไม่ได้ลุกลามไปถึงปราสาทพระวิหาร ด้านนายมาร์ตี้ นาตาเลกาว่า รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งประเทศของเขาเป็นประธานหมุนเวียนของสมาคมอาเซียนในปีนี้ ได้เรียกร้องให้ทั้งฝ่ายยุติการเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน โดยกล่าวว่า เขาได้เรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี การใช้กำลังไม่ได้ตั้งอยู่บนความสัมพันธ์ระหว่างชาติสมาชิกสมาคมอาเซียน ขณะที่นักวิเคราะห์บางคน มองว่า เป็นการง่ายที่จะทำลายการสื่อสารระหว่างกันในช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์เขม็งเกรียว

ที่มา.เนชั่น
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

เสื้อแดงปรับยุทธศาสตร์เบี้ยแลกโคนรักษาองค์กรแดง

แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทยแจ้งว่า ไม่นานมานี้วอร์รูมคณะยุทธศาสตร์คนเสื้อแดง ได้หารือถึงคำปราศรัยเมื่อคืนวันที่10เม.ย.ของนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และแกนนำนปช.กรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นเหตุให้ นายทหารพระธรรมนูญไปแจ้งจับนายจตุพรกับพวก เช่นเดียวกับนายธาริต เพ็งดิษฐ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เตรียมที่จะยื่นถอนประกันตัวคนเสื้อแดง และล่าสุดก็มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจที่ต้องจับตาไม่น้อย เมื่อเขามอบหมายให้พ.ต.ท.ถวัล มั่งคั่ง หัวหน้าชุดปฏิบัติการที่ 1 คดีก่อการร้าย ส่งหนังสือถึงนายประกัน และทนายความของ นายพายัพ ปั้นเกตุ และนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ แกนนำ นปช. ที่ได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวนจากดีเอสไอ เพื่อแจ้งถอนประกันทั้ง 2 คน เนื่องจากทำผิดเงื่อนไขการประกันตัวในชั้นสอบสวนที่ห้ามไม่ให้เข้าร่วมชุมนุมกับบุคคล หรือกลุ่มบุคคลตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป อันมิชอบด้วยกฎหมาย และนัดให้นายพายัพ นายสุภรณ์ มาพบพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ในวันนี้ เพื่อนำตัวส่งอัยการ ซึ่งดีเอสไอ จะส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมสำนวนคดีก่อการร้ายต่อพนักงานอัยการ หากผู้ต้องหาทั้ง 2 คน ไม่มาพบพนักงานสอบสวนตามกำหนด จะถูกยึดเงินประกันจำนวน 6 แสนบาท และดีเอสไอ จะดำเนินการขอหมายจับต่อไป

แหล่งข่าวเผยว่า กรณีดังกล่าวมีความเป็นไปได้มากแกนนำทั้ง2คนอาจถูกฝากขัง ทำให้ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา แกนนำเสื้อแดงได้เร่งปรับกลยุทธ์เป็นการด่วน โดยลดท่าทีลง ทั้งการ ประกาศไม่ตอบโต้กรณีหมิ่นสถาบัน โดยจะใช้ช่องกฎหมายดำเนินการแทนหากมีการกล่าวอ้างมาทำให้แกนนำคนเสื้อแดงเสียหาย รวมทั้งประโคมข่าว ถอน-ยุบ-ยึด ซึ่งแกนนำคนเสื้อแดงหลายคนทราบดีว่า แกนนำคนเสื้อแดงบางคนจะถูกถอนประกันแน่นอน เช่นเดียวกับคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของนายจตุพร หากดำเนินไปตามกระบวนการยุติธรรมจริงๆ โอกาสที่นายจตุพร จะรอดพ้น เป็นไปได้น้อยมาก

‘ขณะนี้จึงมีการพูดคุยถึงทางเลือกสำรองเอาไว้เพื่อรักษาองค์กรแดงให้เดินต่อไป โดยใช้วิธี เบี้ยแลกโคน ยอมให้ นายสุภรณ์ นายพายัพ ถูกถอนประกัน เพื่อเป็นการส่งสัญญาณกลายๆว่ายอมรับในกระบวนการ และลดกระแสหมิ่นสถาบันลงฯ และที่คุยเป็นการภายในทั้ง2คน ก็ยินยอม เห็นด้วยกับยุทธศาสตร์ เบี้ยแลกโคน ส่วนตู่(นายจตุพร) ที่ถือเป็นกำลังหลักคนเสื้อแดง เหมือนจะรู้ตัว เห็นได้จากที่พูดว่า หากผิดจริงจะไม่อยู่เป็นภาระของเพื่อน ดังนั้นข้อเสนอหนึ่งที่มีการหยิบยกมาหารือคือ ถอยออกมา มีโอกาสเป็นไปได้มากที่จะถูกนำมาใช้ แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายจตุพร เช่นเดียวกับสัญญาณจากดูไบ ที่จะถามมาเป็นรอบสุดท้ายว่า พร้อมจะอยู่หรือไม่’ แหล่งข่าวเผยแหล่งข่าว

ที่มา.เนชั่น
///////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันอาทิตย์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2554

พิศลึก-แลคำ-รำลึก "คึกฤทธิ์" วิจารณ์-ต่อต้านประชาธิปัตย์ และคุณสมบัติ "อภิสิทธิ์"

20 เมษายน 2554 วาระ 100 ปีชาตกาล วันได้รับเกียรติจากยูเนสโก ยกย่องพลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็น "บุคคลสำคัญของโลก"

วาระที่ทั้งปัญญาชน นักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ และนักการเมืองไม่อาจไม่หวนรำลึกถึง "ม.ร.ว.คึกฤทธิ์"

ชื่อ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ปรากฏในสนามการเมืองอย่างจริงจัง ในวัย 33 ปี ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวหน้า ต่อด้วยการเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์

แม้ภาพของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์จะถูกมองเป็น "พวกประชาธิปัตย์" เพราะเป็น ผู้ก่อตั้งพรรค เป็นแกนนำพรรค และถูกเข้าใจว่าเป็นพวก "กษัตริย์นิยม" แต่สถานการณ์ทางการเมืองยุคจอมพล ป.ไม่เอื้อ ทำให้ "ม.ร.ว.คึกฤทธิ์" เป็นฝ่ายเดียวกับประชาธิปัตย์

แต่หลังรัฐประหาร 2494 "ม.ร.ว. คึกฤทธิ์" ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มความคิดสาย "กษัตริย์นิยม"

บทบาทการเมืองในสภาผู้แทนฯของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์นั้น ท่านสร้างวีรกรรม ตั้งแต่วัยหนุ่ม ช่วง 2491 ด้วยการอภิปรายโจมตี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้การนำของ "นายควง" ในที่ประชุมรัฐสภา เพราะสภาลงมติขึ้นเงินเดือนให้ตัวเอง คนละ 1,000 บาท

ในคราวนั้นเล่ากันว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ได้รับความนิยม-ยกย่องจากประชาชนเป็นจำนวนมาก บางคนถึงกับนำทองคำเปลวไปติดที่ตัวของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เลยทีเดียว

มีข้อวิเคราะห์ของสำนักข่าวต่างประเทศในเมืองไทยขณะนั้นวิเคราะห์ด้วยว่า "เขาต้องการจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งของเมืองไทย"

ผ่านช่วง 2492 ไม่นาน หลังจากนั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ก็ถูกโดดเดี่ยว-และต้องยุติบทบาททางการเมืองไประยะหนึ่ง เพราะถูก "บีบ" ให้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

เส้นทางการเมืองจากนั้น คึกฤทธิ์ปล่อยของ-สร้างฐานความรู้-ฐานการเมืองผ่านวรรณกรรมและคอลัมน์ส่วนตัวผ่านหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์จงใจประกาศวันก่อตั้งวันที่ 25 มิถุนายน 2493 ล้อกับวันการเปลี่ยน แปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475

หลังการเลือกตั้งทั่วไป 26 กุมภาพันธ์ 2500 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เขียนบทความในสยามรัฐว่า "...การต่อสู้นั้นต้องต่อสู้ด้วยอาวุธที่มีอยู่ไปก่อนคือปากกา เมื่อมีโอกาสที่จะต่อสู้ทางการเมืองได้ก็จะต่อสู้ต่อไปไม่ลดละ...ฉะนั้น ถ้าหากว่ามีการเลือกตั้งธรรมดาต่อไป ผมก็จะสมัคร..."

อ.สายชล สัตยานุรักษ์ วิเคราะห์ไว้ในหนังสือ "คึกฤทธิ์กับประดิษฐกรรมความเป็นไทย" ไว้ว่า ในครึ่งแรกของทศวรรษ 2510 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ "แสดงความปรารถนาที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งอย่างตรงไปตรงมาและโดยนัยยะ เพราะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของประเทศไทย"

พร้อมกันนั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์วิพากษ์ วิจารณ์พรรคประชาธิปัตย์อยู่เสมอ โดยหวังจะให้ประชาชนเห็นความอ่อนแอของพรรค และชี้ให้เห็นว่าประชาธิปัตย์ไม่ใช่ทางเลือกสำหรับคนไทย ทางเลือกที่ดีที่สุดคือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เอง ซึ่งพร้อมจะเป็นนายกรัฐมนตรี

ช่วง 2510-2514 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์วิจารณ์รัฐบาลทั้งเรื่องภาพพจน์ การทุจริต ความล้มเหลวในการแก้ปัญหาให้คนจน ไปจนถึงราคาข้าว และมีข้อเสนอเรื่อง "ราชประชาสมาศัย" ที่ถูกตีความไปไกล และนำไปสู่การแต่งตั้ง "นายกรัฐมนตรีพระราชทาน" และสมัชชาแห่งชาติขึ้นในปี 2516

ในทศวรรษนั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์วิจารณ์ประชาธิปัตย์ ในฐานะที่เป็นอุปสรรคในการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของตนเอง สารพัด อาทิ...

"พรรคประชาธิปัตย์นั้นไม่เป็นโล้เป็นพายเอาเสียเลย..."

หรือ "พรรคประชาธิปัตย์แก่กฎหมาย เสียจนน่ากลุ้มใจ จะกระดิกตัวอะไรก็กลัวผิดกฎหมายไปหมด"

"ตัวบุคคลในทีมประชาธิปัตย์ไม่ได้เรื่อง เพราะเป็นคนแก่ศีล แก่ธรรม แก่อุดมคติ แก่อุดมการณ์ จนมีแต่ลมปาก ไม่แน่ใจว่าจะทันต่อเหตุการณ์ หรือมีไหวพริบเชิงนักเลงพอที่จะต่อสู้ผู้ทุจริต หรือผู้ที่ประชาชนไม่ไว้ใจ เพื่อประโยชน์ของประชาชนได้จริงจัง"

ในบทความส่วนตัวของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ คอลัมน์ "สยามรัฐหน้า ๕" วันที่ 31 สิงหาคม 2514 ท่านเขียนถึงประชาธิปัตย์ว่า

"...ดูเรื่องราวและความแตกแยก วุ่นวายในประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นข่าวขึ้นบ่อย ๆ แล้ว พอจะสรุปได้ว่า

พรรคประชาธิปัตย์มีแต่หัวหน้าพรรค

แต่ไม่มีพรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีผู้นำ

เพราะพรรคประชาธิปัตย์คลั่งประชาธิปไตยจนขาดระเบียบ ถือเอา แต่เสียงข้างมากเป็นเกณฑ์

ไม่มีการวางแนว (direction)

ไม่มีการนำ (leadership)

เพราะเหตุนั้นจึงขาดการคิดริเริ่ม (innitiative)

แล้วก็ยกมือนับเสียงข้างมากกันในพรรค

พรรคประชาธิปัตย์ก็เลยเละเทะทุกที

ผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ถ้าหากพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล พรรค ประชาธิปัตย์จะมีเทวดากี่องค์..."

เมื่อถึงคราวที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรีในระบอบประชาธิปไตย มากกว่าหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่ยอมรับ "ประชาธิปไตยแบบไทย" ที่มีคำจำกัดความ 6 ข้อ คือ

1.บุคคลคณะหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ควบคุมกำลังทหารของประเทศ สามารถแต่งตั้งตนเองเป็นรัฐบาลปกครองประเทศได้

2.รัฐบาลที่ตั้งขึ้นด้วยวิธีการนี้คงจะเป็นรัฐบาลต่อไป ตราบใดที่ยังมีกำลังทหารสนับสนุนอยู่

3.การเลือกตั้งผู้แทนนั้นมีอยู่ในระบอบนี้ แต่ถึงแม้ประชาชนจะเลือกพรรคการเมืองใดเข้ามาเป็นเสียงข้างมากในรัฐสภา พรรคนั้นก็ไม่สามารถที่จะตั้งรัฐบาลได้ เพราะไม่มีกำลังทหารสนับสนุน

4.ประชาชนจึงไม่มีสิทธิอันแท้จริง ที่จะตั้งรัฐบาลของตนเองด้วยวิธีใด ๆ ทั้งสิ้น

5.ประชาชนจะเปลี่ยนรัฐบาลให้ถูกใจตนเองด้วยวิธีใด ๆ ก็ไม่ได้

6.พรรคการเมืองต่าง ๆ นั้นไม่เป็นทางเลือกให้แก่ประชาชนในอันที่จะเลือกเอารัฐบาลถูกใจตนเอง

เมื่อครั้งที่ "คุณชาย" เป็นนายกรัฐมนตรี ได้รับเชิญไปปราศรัยกับสมาชิกสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ท่านบอกว่า "กระผมไม่ใช่นายกรัฐมนตรีในอุดม การณ์"

แต่นายกรัฐมนตรีในอุดมการณ์ของ "ม.ร.ว.คึกฤทธิ์" นั้นบังเอิญคล้ายคุณสมบัติของ "อภิสิทธิ์" อาทิ

"ต้องเป็นคนหนุ่ม อายุสัก 45 ปี จะได้มีพลังกายเข้มแข็ง สู้งานได้ 18 ชั่วโมงต่อวัน ควรเป็นคนสายตาแหลม คม มีวิจารณญาณดี รู้จักวินิจฉัยสิ่ง ต่าง ๆ โดยตลอดอย่างทั่วถึงถ้วนทุก แง่มุม ทั้งในด้านที่ผลจะเกิดขึ้นภายในบ้านเมืองเอง และในความสัมพันธ์ระหว่างชาติ"

"ควรเป็นคนที่สามารถทำให้กลุ่มพลังผลักดันทุกกลุ่มพอใจได้ โดยสามารถเกลี้ยกล่อมบุคคลที่คิดจะมาจองล้างทางการเมืองให้หันมาเห็นดีเห็นชอบด้วยได้"

"ในเวลาเดียวกัน นายกรัฐมนตรีต้องเก่งกาจในศิลปะทางการเมือง ถึงขนาดเล่นกลเรียกคะแนนเสียงมาช่วยให้ร่างพระราชบัญญัติที่สำคัญ ๆ ผ่านสภา ไปได้"

"ควรเป็นคนมีพรสวรรค์ชั้นพิเศษ มีบุคลิกที่สามารถดึงดูดใจชาวไทยส่วนใหญ่ให้เกิดศรัทธาในตัวเขา ในวิจารณญาณ และในความสุจริตของเขา โดยปราศจากข้อกังขา"

"ควรเป็นคนที่เคยตระเวนไปทั่วโลก และอ่านมาก รู้มาก จะได้เรียนรู้ว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในสกลจักรวาล แล้วนำสิ่งนั้นมาปรับให้ใช้ได้ในประเทศของเรา"

"ควรมีชีวิตส่วนตัวที่สะอาด บริสุทธิ์ ไร้มลทิน และจุดอ่อนที่จะทำให้เพลี่ยงพล้ำได้ง่าย"

"และต้องเป็นคนที่รักชาติ บ้านเมือง เป็นผู้มีมนุษยธรรม และการุณยกรรมสูง มีความเข้าใจในทุกข์ยากของมนุษยชาติ"

ไม่ควรลืมว่า ทั้ง "ม.ร.ว.คึกฤทธิ์" และ "อภิสิทธิ์" จบการศึกษาจากสถาบันเดียวกัน สาขาเดียวกัน คือ Oxford Philosophy., Politics and Economics. (PPE)

ทรรศนะ-วิธีคิด และการเคลื่อนไหวทางการเมือง ผ่านการสร้าง "ญัตติสาธารณะ" ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์นั้น กลายเป็นแบบอย่าง ที่นักการเมือง- ราชนิกูลรุ่นหลังนำมาปรับใช้

อย่างน้อยก็มีคนอย่าง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้มีสถานะเป็น "หลานน้า" ที่สร้างเครือข่ายการเมือง แทรกตัว อยู่ในวงการ-สถาบันที่เกี่ยวข้องกับประดิษฐกรรม "ความเป็นไทย"

อย่างน้อยก็มีบางพรรคการเมือง ที่ถึงกับประกาศนโยบาย แสดงตัว "ปกป้องสถาบัน"

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////