--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

มาลาลา ยูซัฟไฟ เด็กหญิง วัย 16 ปี ผู้เด็ดเดี่ยว !!??

คํากล่าวสุนทรพจน์ที่เปี่ยมไปด้วยความเด็ดเดี่ยว มุ่งมั่นและทรงพลังยิ่งของมาลาลา ยูซัฟไซ เด็กหญิงชาวปากีสถาน วัยเพียง 16 ปี บนเวทีสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่ได้รับการลุกขึ้นยืนปรบมือให้พร้อมกันเสียงดังกึกก้องจากผู้เข้าร่วมฟังการกล่าวสุนทรพจน์ดังกล่าว นั่นย่อมสะท้อนให้เห็นว่าเด็กหญิงตัวเล็กๆ ผู้นี้ได้รับการยอมรับชื่นชมจากผู้คนบนเวทีโลกเยี่ยงไร

สุนทรพจน์ของมาลาลาในวันนั้นเน้นย้ำให้เห็นจุดยืนในแนวทางของเธอที่จะใช้การศึกษาเป็นอาวุธในการทำสงครามต่อสู้กับการไม่รู้หนังสือและความรุนแรงจากการก่อการร้ายที่เคยมุ่งหมายเอาชีวิตของเธอมาแล้ว

"ผู้ก่อการร้ายคิดว่าพวกเขาจะเปลี่ยนเป้าหมายและความมุ่งมาดปรารถนาของฉันได้ แต่ไม่มีอะไรในชีวิตฉันที่เปลี่ยนไปยกเว้นความอ่อนแอ ความหวาดกลัว และความสิ้นหวังที่ดับดิ้นไป แต่ความเข้มแข็ง พละกำลังและความกล้าหาญกลับก่อเกิดขึ้นมาแทน"

มาลาลากล่าวถึงเหตุการณ์ในวันนั้นเมื่อปีที่แล้ววันที่เธอถูกมือปืนทาลิบันยิงโจมตีบนรถนักเรียนขณะเธอกำลังจะกลับบ้านในหุบเขาสวาทเขตปกครองที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถานติดกับพรมแดนอัฟกานิสถานที่เป็นฐานที่มั่นของกลุ่มติดอาวุธทาลิบัน

กระสุนนัดหนึ่งเจาะฝังเข้าที่ศีรษะของมาลาลาอาการของเธอสาหัสเป็นตายเท่ากันร่างของเธอถูกส่งไปผ่าตัดเอากระสุนออกที่โรงพยาบาลทหารปากีสถานในเบื้องต้น

ก่อนที่เธอจะถูกส่งตัวไปเข้ารับการผ่าตัดอีกหลายครั้งที่โรงพยาบาลในอังกฤษและพักฟื้นอยู่ที่นั่นจนอาการดีขึ้น



สาเหตุที่ทำให้มาลาลาตกเป็นเป้าสังหารของกลุ่มทาลิบันถูกระบุว่าเป็นเพราะการลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวของมาลาลาในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิทางการศึกษาให้แก่เด็กผู้หญิงในปากีสถานที่ถูกลิดรอนย่ำยีนั่นเป็นการท้าทายกลุ่มติดอาวุธทาลิบันที่มีอิทธิพลควบคุมอยู่ในพื้นที่นั้นซึ่งไม่ต้องการให้เด็กผู้หญิงได้มีการศึกษาจึงได้ใช้กำลังโจมตีทำลายโรงเรียนหญิงล้วนหลายแห่งในพื้นที่ดังกล่าว

ทำให้มาลาลาต้องลุกขึ้นมาต่อสู้โดยผ่านงานเขียนที่เป็นบันทึกชีวิตประจำวันของเธอเกี่ยวกับ"ชีวิตภายใต้อิทธิพลครอบงำของกลุ่มทาลิบัน"โดยมีสำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษเป็นผู้นำออกเผยแพร่เป็นภาษาอุรดูในช่วงตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมีนาคมปี 2552

นั่นทำให้โลกได้ตระหนักรับรู้ถึงการต่อสู้อันยิ่งใหญ่ของเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ อย่างมาลาลา และทำให้เธออยู่ในความสนใจของโลกนับแต่นั้น

"หนังสือและปากกาเป็นอาวุธที่ทรงพลานุภาพที่สุดของเรา เด็กหนึ่งคน ครูหนึ่งคน หนังสือเล่มหนึ่งและปากกาด้ามหนึ่งสามารถเปลี่ยนโลกได้ การศึกษาเป็นหนทางเดียวที่จะแก้ปัญหา" นั่นเป็นอีกถ้อยความในสุนทรพจน์ของมาลาลาที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการที่จะใช้การศึกษาเป็นอาวุธในการแก้ปัญหาต่างๆแทนที่จะใช้ความรุนแรง

ซึ่งรวมถึงการติดอาวุธทางการศึกษาให้แก่ลูกหลานของกลุ่มทาลิบันกลุ่มผู้ก่อการร้ายและกลุ่มหัวรุนแรงต่างๆ ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย

เสียงเรียกร้องของมาลาลาได้รับการขานรับเป็นอย่างดีจากยูเอ็นที่ถือเอาฤกษ์วันที่12กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดครบอายุ 16 ปีของมาลาลาพอดี ประกาศให้เป็น "วันมาลาลา" หรือวันเพื่อการศึกษาของเด็กทั่วโลก

โดยตั้งเป้าหมายให้เด็กทุกคนในโลกทั้งหญิงและชายได้เข้าถึงการศึกษาอย่างทั่วถึงภายในปี2558ทั้งนี้ จากข้อมูลในปัจจุบันที่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) และองค์การพิทักษ์เด็กที่เผยแพร่ก่อนหน้านี้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาด้านการศึกษาของเด็กทั่วโลกว่า มีเด็กมากถึง 95 เปอร์เซ็นต์จากจำนวนเด็ก 28.5 ล้านคนทั่วโลกที่ไม่ได้รับการศึกษาในภาคบังคับคือระดับประถมศึกษา โดยอยู่ในครอบครัวที่มีรายได้ต่ำถึงต่ำปานกลางในประเทศต่างๆ

ในจำนวนนี้ 44 เปอร์เซ็นต์อยู่ในภูมิภาคซับ-ซาฮารา ทวีปแอฟริกา, 19 เปอร์เซ็นต์อยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันตก และอีก 14 เปอร์เซ็นต์อยู่ในประเทศอาหรับ

เป็นที่น่าคิดว่าการเคลื่อนไหวต่อสู้อย่างหาญกล้าของมาลาลาได้รับเสียงชื่นชมยกย่องจากคนทั่วโลกจนถึงขั้นมีชื่อของเธออยู่ในรายนามที่จะได้รับการพิจารณาให้ได้รับรางวัลโนเบล

แต่ในดินแดนมาตุภูมิของมาลาลาเองกลับแสดงปฏิกิริยาได้อย่างน่าผิดหวังโดยมีชาวปากีสถานเพียงกลุ่มเล็กๆที่ชื่นชมกับความกล้าหาญของเธอที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องสิทธิให้กับเด็กและสตรีในปากีสถาน

แต่คนส่วนใหญ่กลับตั้งข้อกังขาในตัวเธอบ้างกล่าวหาว่าการกล่าวสุนทรพจน์ของมาลาลาบนเวทียูเอ็นเป็นการแสดงละครแค่ฉากหนึ่ง

ขณะที่ยังมีกลุ่มคนที่ไพล่คิดไปถึงขั้นว่ามาลาลาอาจเป็นเจ้าหน้าที่ซีไอเอที่สหรัฐอเมริกาใช้เป็นเครื่องมือมาทำลายประเทศชาติและยังมีการตั้งทฤษฎีสมคบคิดสุดเหลือเชื่อเกี่ยวกับตัวมาลาลาไปต่างๆนานา

เช่นว่าการที่เธอถูกยิงโจมตีเป็นการจัดฉากเพื่อที่ตัวเธอเองจะได้พาสปอร์ตอังกฤษเพื่อจะได้หนีออกไปจากปากีสถาน

แต่เชื่อว่าไม่ว่าท่าทีของคนในชาติจะเป็นอย่างไรหรือเธอจะต้องเผชิญกับอุปสรรคหนักหนาแค่ไหนคงจะไม่สามารถสั่นคลอนเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ผู้มีหัวใจอันแข็งแกร่งผู้นี้ที่จะกลับไปต่อสู้เพื่อให้เด็กๆ ได้เข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันถ้วนทั่วทุกคนได้

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////////////////////////

4ปี กับภารกิจฟื้นเชื่อมั่น กบข. !!??

เปิดใจ โสภาวดี เลิศมนัสชัย เลขาธิการ กบข. 4 ปี กับภารกิจปรับภาพลักษณ์-ผลักดันองค์กรให้มีความโปร่งใสเข้าใจสมาชิก

โสภาวดี เลิศมนัสชัย เลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ซึ่งกำลังจะหมดวาระงานในช่วงเดือนธ.ค.2556 เปิดใจกับ "กรุงเทพธุรกิจ" หลังครบวาระ 4 ปี ว่า ภารกิจเร่งด่วนที่สุด ที่ตั้งเป้าไว้หลังการตัดสินใจเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการกบข.เมื่อปี 2553 อย่างแรกคือ ปรับภาพลักษณ์ กบข.ให้เป็นองค์กรแห่งธรรมาภิบาล ที่สมาชิกมีความเชื่อมั่นและไว้วางใจรวมถึงสังคมทั่วไป มอง กบข. เป็นองค์กรต้นแบบแห่งธรรมาภิบาล

แนวทางการทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น โสภาวดี กล่าวว่า จะต้องทำงานโดยแยกเป็นภารกิจภายในและภารกิจภายนอก

ในส่วนภารกิจภายในได้มีการประกาศนโยบายชัดเจน ว่าพนักงานและผู้บริหารทุกคนต้องยึดหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด ผู้บริหารและพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนห้ามซื้อขายหุ้นโดยเด็ดขาด การดำเนินงานใดๆ ต่อไปนี้ต้องยึดแนวนโยบายที่ชัดเจนว่า ผลประโยชน์สมาชิกต้องมาก่อน

ขณะเดียวกันการตัดสินใจการลงทุนใดๆ ต้องมีการศึกษาให้รอบคอบ วิเคราะห์โอกาส และความเสี่ยงให้ดี พร้อมทั้งปรับแผนการลงทุนให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ต่างๆ อยู่เสมอ

นอกจากนี้ ต้องหาช่องทางการลงทุนในสินทรัพย์ใหม่ๆ ให้มากขึ้นเพื่อกระจายความเสี่ยง รักษาสมดุลของเป้าหมาย ผลตอบแทนระยะยาวกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เพื่อสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงในระยะยาวให้กับสมาชิก

ในส่วนภารกิจภายนอกนั้น จะส่งเสริมการนำหลักการเป็นองค์กรแห่งธรรมาภิบาลที่ดี เข้ามาอยู่ในกระบวนการทำงานและบริหารกิจการ โดยจะยึดหลักในธรรมาภิบาล จรรยาบรรณและหลักปฏิบัติ ที่เกี่ยวข้องทั้งตัวองค์กรและพนักงานในทุกระดับชั้น รวมทั้งการแสดงออกซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐานทั้งในฐานะนักลงทุนสถาบันหลักของประเทศ และในฐานะผู้ถือหุ้นในบริษัทที่กบข.ร่วมลงทุน เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักลงทุน การดำเนินการโดยยึดหลักการดังกล่าวข้างต้น จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดธรรมาภิบาลในบริษัทจดทะเบียนต่างๆ

"อย่างแรกตอนที่เริ่มมาทำงานที่ กบข. คือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับสมาชิกของ กบข.ทุกคน เนื่องจากภาพลักษณ์ที่ผ่านมาของ กบข.ดูจะไม่ดีเท่าไรในสายตาของสมาชิก เราต้องเร่งดึงความไว้ใจจากสมาชิกคืน โดยการสั่งห้ามพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน ห้ามซื้อขายหุ้น และวางเป้าเป็นองค์กรแห่งธรรมาภิบาล เพราะการที่เราจะสร้างให้กบข.เป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่มีความน่าเชื่อถือ เราต้องสร้างความน่าเชื่อถือและความโปร่งใสจากตัวพนักงานก่อน"

ในวันนี้ สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนมากที่สุด คือภาพลักษณ์ของกบข.ที่โปร่งใส ใส่ใจเงินออมของสมาชิกมากขึ้น โดยได้ปรับแผนการลงทุนของกบข.จากแผนเดิมที่มีอยู่และใช้มานาน มาเป็นแผนการลงทุนตามทางเลือกของแต่ละบุคคล ตามความต้องการและตามความเสี่ยงของแต่ละบุคคล

โสภาวดี บอกว่า ในปีแรกที่เริ่มทำงาน นอกจากจะปรับแผนเพื่อล้างภาพลักษณ์เดิมๆ แล้ว ได้มีการปรับโครงสร้างผู้เก็บรักษาทรัพย์สินในประเทศและต่างประเทศใหม่ รวมถึงการปรับโครงสร้างการลงทุนต่างประเทศโดยจ้างผู้จัดการลงทุนต่างประเทศได้โดยตรงแทนการซื้อหน่วยลงทุน พร้อมเดินหน้าแผนการลงทุน 4 แผนตามความต้องการของสมาชิก ซึ่งแต่ละคนคาดหวังผลตอบแทนแตกต่างกัน ขึ้นกับความเสี่ยงของแต่ละคนที่สามารถยอมรับได้

ขณะที่ปี 2554 กบข.ได้ลดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงลงจาก 19% เหลือ 16% เพิ่มการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ และเริ่มใช้แผนจัดสรรเงินลงทุนระยะยาวตั้งแต่ปี 2554 - 2556 ส่วนในปี 2555 กบข.ได้ริเริ่มแผนการลงทุนล่าสุด คือ แผนสมดุลตามอายุ บริหารเงินทุนและปรับลดความเสี่ยงโดยอัตโนมัติจนสมาชิกเกษียณอายุ เป็นรูปแบบของการลงทุนที่เน้นความเพียงพอของการออม เพื่อใช้จ่ายหลังเกษียณอายุเป็นหลัก โดยมีระดับผลตอบแทนและความเสี่ยงผันแปรไปตามอายุ เพื่อให้เกิดความสมดุลของระยะเวลาการลงทุน ตลอดช่วงอายุของสมาชิก

"แผนแต่ละแผนเราคัดสรรมา เพื่อเป็นทางเลือกให้กับสมาชิก แล้วแต่ว่าแต่ละคนจะรับความเสี่ยงได้แบบไหน และต้องการผลตอบแทนสูงเท่าใด แม้ว่าในปัจจุบันสมาชิกยังเลือกการลงทุนแบบเดิมอยู่ แต่เชื่อว่าในอนาคตก็จะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งคงต้องฝากเรื่องนี้ให้เลขาธิการกบข.คนใหม่ เดินหน้าต่อด้วย เพราะถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีกับสมาชิก"

ส่วนการสรรหาเลขาธิการกบข.คนใหม่นั้น เชื่อว่าจะเริ่มกระบวนการสรรหาเร็วๆนี้ เพราะตอนนี้เริ่มมีการตั้งคณะกรรมการสรรหาแล้ว ซึ่งส่วนตัวต้องการให้การสรรหาเสร็จสิ้นก่อนสิ้นปีนี้ที่จะหมดวาระ เพราะอยากมีเวลาในการมอบหมายงานให้กับเลขาธิการคนใหม่ ไม่อยากเว้นเป็นภาวะสุญญากาศในการทำงาน

"ใจพี่อยากให้มีการสรรหาเร็วๆ ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มตั้งกรรมการสรรหาแล้ว อยากให้กระบวนการสรรหาแล้วเสร็จก่อนสิ้นปี เพราะพี่อยากมีเวลาส่งมอบงาน อยากบอก อยากเล่าการทำงานที่ผ่านมา ให้คนใหม่ได้สานต่อ ไม่อยากให้มาเป็นสุญญากาศ แล้วให้พี่มานั่งรักษาการแล้วก็ไป ไม่ได้มอบหมายงานอะไรเลย"

โสภาวดี ให้ความเห็นว่า เลขาธิการกบข. คนใหม่ ควรเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ เข้าใจด้านการเงินการลงทุน และควรเป็นบุคคลที่อยู่ในแวดวงการเงินการลงทุน เพราะกบข.ต้องบริหารเงินของสมาชิก หากผู้บริหารไม่เข้าใจในเรื่องนี้เลย ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน ประกอบกับควรเป็นผู้ที่สนใจที่จะทำงานที่ท้าทาย เป็นที่ยอมรับของสังคม ซื่อสัตย์ สุจริต และไม่มีประวัติด่างพร้อย

"คนที่จะมาเป็นเลขาธิการกบข.ต้องไม่มีประวัติด่างพร้อย ต้องเป็นคนที่ซื่อสัตย์ สุจริต เป็นที่ยอมรับของสังคม พี่อยากให้คนใหม่สานต่องานต่างๆ ที่เราวางไว้ อาจจะมีการปรับการเปลี่ยนแปลงบ้างก็เป็นอำนาจหน้าที่ของเขาที่จะทำได้ แต่ก็อยากฝากให้ดูแผนงานที่เราวางไว้ด้วย" โสภาวดีกล่าวปิดท้าย

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ฮิตเลอร์ ที่ไม่เกี่ยวกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย !!??

โดย : นิธิ เอียวศรีวงศ์

ประกาศไว้ก่อนเลยครับว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับจุฬาฯ เพราะจุฬาฯ ได้รับสารภาพไปแล้วว่าตัวรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และไร้เดียงสา หากจะเกี่ยวข้องบ้างก็คงเป็นองค์กรต่างๆ ที่ชอบประเมินอันดับมหาวิทยาลัย เพราะจุฬาฯ ถูกประเมินเป็นมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ แห่งหนึ่งของไทย

มันจึงเจ็บปวดมากหน่อย

ผมเพียงแต่ไม่อยากเห็นสังคมไทยเดือดเนื้อร้อนใจกับการประท้วงของสมาคมยิวในสหรัฐเกี่ยวกับฮิตเลอร์มากเกินไปเพราะผมคิดว่าฮิตเลอร์กลายเป็นบุคคลที่ถูกบังคับลืมอย่างไร้เหตุผล และในระยะยาวอาจเป็นอันตรายต่อสังคมที่ลืมเขาเสียด้วย

ผู้สำเร็จการศึกษาระดับสูงจากเยอรมนีบอกผมว่าในเยอรมนีเองก็มีกฎหมายอาญาห้ามแสดงสัญลักษณ์นาซีหรือยกย่องสรรเสริญฮิตเลอร์ (ห้ามอะไรบ้างผมอาจจำผิด เอาเป็นว่าห้ามในสิ่งที่ผมไม่เห็นว่าน่าจะห้าม) เป็นกฎหมายอาญาก็หมายความว่าใครฝ่าฝืนทำก็จะมีโทษ

แล้วก็มีสมาคมยิวในสหรัฐ ที่คอยประท้วงคนทั้งโลก ถ้าใครเอ่ยเรื่องฮิตเลอร์ หรือแสดงเครื่องหมายสวัสดิกะ

ในกรณีเยอรมนีนั้นผมพอจะเข้าใจได้ หลังสงคราม เยอรมนีต้องแสดงให้คนอื่น โดยเฉพาะเพื่อนบ้านที่ตัวเคยไปรุกรานไว้มั่นใจว่า เยอรมนีจะไม่หวนคืนกลับไปเป็นอาณาจักรไรซ์ใหม่อีกแล้ว ส่วนกรณีสมาคมยิวในสหรัฐ ก็คงมีเหตุผลอะไรในสังคมยิวอเมริกันที่ทำให้เขาต้องกระตือรือร้นคอยขัดขวางความทรงจำของคนอื่นเกี่ยวกับฮิตเลอร์

ในเมืองไทยนั้นเสรีภาพการแสดงออกถูกขัดขวางมากและบ่อยเสียจน ผมไม่อยากเห็นการเพิ่มประเด็นห้ามโน่นห้ามนี่เข้าไปอีก แค่นี้ก็ถึงคอหอยแล้วนะครับ

ผมไม่ปฏิเสธว่า ฮิตเลอร์เป็นคนไม่ดี อย่างเดียวกับพระเทวทัตก็เป็นคนไม่ดี นายพลปิโนเชต์ก็ไม่ดี โรเบสปิแอร์ก็ไม่ดี นโปเลียนก็ไม่ดี แต่เอ๊ะเดี๋ยวก่อน หากไม่มีกฎหมายและศาสนาบังคับไว้ จะว่าคนเหล่านี้ไม่ดี คงมีคนเถียงอยู่ไม่น้อย ไม่ได้เถียงว่าเขาดีนะครับ แต่เถียงว่าในท่ามกลางสิ่งไม่ดีที่เขาทำไว้นั้น บางเรื่องเป็นรากฐานของรัฐชาติในปัจจุบัน บางเรื่องเป็นประโยชน์แก่คนส่วนใหญ่ โดยผู้ทำเองไม่ได้ตั้งใจ

ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ มีเหตุผลบางอย่างในประวัติศาสตร์ที่ทำให้สิ่งไม่ดีที่เขาทำนั้น เป็นผลรวมจากเงื่อนไขอื่นๆ อีกหลายอย่างมากกว่าการตัดสินใจทำของเขาคนเดียว ผมขอยกตัวอย่างนโปเลียนซึ่งเที่ยวรุกรานไปทั่วยุโรป จนทำให้เกิดยุคแห่งสงครามนองเลือดที่น่าเศร้ายุคหนึ่งในประวัติศาสตร์ยุโรป แต่ความเป็นศัตรูระหว่างมหาอำนาจอื่นในยุโรปต่อการปฏิวัติฝรั่งเศส นโปเลียนไม่ได้ก่อขึ้น จะมีหรือไม่มีนโปเลียน ประเทศราชาธิปไตยต่างๆ (ไม่รวมอังกฤษ แต่รวมอังกฤษ) ก็พยายามทำสงครามโค่นล้มฝรั่งเศสที่ปฏิวัติลงให้ได้

ยิ่งกว่านี้ ผู้นำฝรั่งเศสหลังปฏิวัติ ไม่ว่าจะเป็นโปเลียนหรือใครก็ตาม ย่อมรู้สึกเหมือนกันว่าฝรั่งเศสได้ค้นพบระบอบปกครองที่ยุติความอยุติธรรมลงได้อย่างสิ้นเชิง ซึ่งประเทศอื่นน่าจะนำไปใช้ นี่คิดแบบบริสุทธิ์ใจนะครับ คนที่คิดว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นเครื่องมืออย่างดีในการขยายอำนาจของฝรั่งเศส หรือแม้แต่ขยายอำนาจของตนเอง ก็มีอีกแยะ และน่าจะแยะกว่าพวกที่คิดเชิงอุดมการณ์บริสุทธิ์ด้วยซ้ำ

นโปเลียนก็อาจเป็นหนึ่งในคนที่คิดอย่างนั้นแต่แม้ไม่มีนโปเลียน โบนาปาร์ต ก็คงมีใครอีกสักคนที่พบว่า ประชาธิปไตยของรัฐชาติทำให้สามารถเกณฑ์ทัพได้จากมวลชน สร้างกองทัพประจำการแบบใหม่ที่มีฐานจากมวลชนขึ้นมา ถึงรบไม่เก่งเท่านโปเลียนก็คงปราบกองทัพโบราณของปรัสเซียและออสเตรียลงได้ไม่ยาก และก็อาจเผลอใจว่าจะปราบรัสเซียได้เหมือนนโปเลียนด้วย

ผมเล่าเรื่องนี้เพื่อชวนตั้งคำถามว่า ความดี-ความชั่วของบุคคลในประวัติศาสตร์นั้น เป็นผลผลิตของบุคคลผู้นั้น หรือของประวัติศาสตร์กันแน่

ตอบแบบไทยๆ คือไม่เอากับข้างไหนฝ่ายเดียว แต่ขอเลือกเส้นกลางๆ ไว้ก่อนก็คือ เป็นทั้งสองอย่าง ประวัติศาสตร์ก็มีส่วนผลิตความชั่วนั้นขึ้นมา เท่าๆ กับคนเลวก็ผลิตขึ้นมาด้วย เพียงเท่านี้ฮิตเลอร์ก็รับผิดชอบต่อการกระทำของเขาเพียงครึ่งเดียวแล้ว (ครึ่งนี่แบ่งกันแบบง่ายๆ นะครับ อาจเกินครึ่งหรือน้อยกว่าครึ่งก็ว่ากันไปเป็นเรื่องๆ)

ด้วยเหตุดังนั้นผมจึงอยากชวนตั้งคำถามต่อไปว่าหากฮิตเลอร์เกิดใหม่ จะสามารถทำให้เยอรมนีในปัจจุบันสถาปนาอาณาจักรไรซ์ขึ้นมาใหม่ได้หรือไม่ ผมคิดว่าไม่ได้ เพราะขาดเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ-สังคม-การเมืองบางอย่าง ที่ทำให้คนเยอรมันพร้อมจะกลายเป็นมวลชนเซื่องๆ ของฮิตเลอร์ หรือยิ่งไปกว่านั้น หากฮิตเลอร์เกิดเป็นคนอังกฤษ, ฝรั่งเศส, อเมริกัน, ไทย, จีน ฯลฯ จะสามารถเปลี่ยนรัฐเหล่านั้นไปสู่เผด็จการเบ็ดเสร็จได้สมบูรณ์อย่างที่ทำในเยอรมนีช่วงนั้นได้หรือไม่ ผมคิดว่าก็ไม่ได้อีก ด้วยเหตุผลเดียวกัน

ฮิตเลอร์เป็นคนชั่วแน่ แต่ไม่มีประโยชน์ที่จะเข้าใจอดีตเพียงการตัดสินคนในประวัติศาสตร์ว่าดีหรือชั่ว เพราะไม่ทำให้เราเข้าใจได้ถ่องแท้เลยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วนั้น เกิดขึ้นได้ภายใต้เงื่อนไขทางสังคม, วัฒนธรรม, เศรษฐกิจ และการเมืองอย่างไร ได้แต่นั่งท่องจำรายชื่อคนดีคนชั่วไว้ฉลองกัน กลายเป็นพิธีกรรมของชาดกแห่งชาติ

ถ้ามองฮิตเลอร์ในฐานะปรากฏการณ์ เขาพัฒนาระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จได้สมบูรณ์แบบ ยิ่งกว่ามุสโสลินีในอิตาลี และยิ่งกว่าสตาลินในโซเวียตเสียอีก เผด็จการเบ็ดเสร็จเป็นปรากฏการณ์ซึ่งเกิดขึ้นหลังประมาณทศวรรษ 1930 เป็นระบอบและเป็นสังคมที่ไม่มีใครรู้จักมาก่อน เพราะเผด็จการเบ็ดเสร็จไม่ได้เพียงแต่ยึดอำนาจรัฐไว้เฉยๆ หากเป็นระบอบที่พยายามจะเปลี่ยนทั้งธรรมชาติของรัฐและคนในรัฐ ด้วยการทำให้มวลชนยินยอมพร้อมใจอย่างเต็มที่ (ด้วยการปลุกระดมอย่างเข้มข้นบวกกับการทำให้กลัว... ที่น่าสนใจคือไม่ใช่กลัวอำนาจรัฐนะครับ แต่กลัวเพื่อนไม่คบ กลัวเพื่อนบ้านรายงาน กลัวถูกออกจากงาน ฯลฯ กลัวตัวเองแหละครับ)

เผด็จการเบ็ดเสร็จตายจากเราไปเรียบร้อยแล้ว หรือยังอยู่ใกล้ๆ ตัวเรานี่เอง ถ้าดูจากความพยายามหรือความผันผวนในหลายประเทศทั่วโลก ก็จำเป็นต้องกล่าวว่า มันยังไม่ได้ไปไหนไกล หลายเงื่อนไขที่เกิดขึ้นแม้ในเมืองไทยเราเอง ก็อาจนำไปสู่เผด็จการเบ็ดเสร็จหรือเงาของมันได้ อย่างเช่นเมื่อคุณพงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง พูดว่า แผ่นดินนี้เป็นของพ่อ ใครไม่รักพ่อก็ออกไปจากแผ่นดินนี้ ผู้คนปรบมือกันเกรียว สื่อกระแสหลักรายงาน โดยไม่มีใครวิพากษ์วิจารณ์แสดงความเห็นเป็นอื่น ถ้าทุกคนเห็นด้วยกับคุณพงษ์พัฒน์อย่างนั้นจริง ก็ไม่เป็นไรหรอกครับ แต่ผมไม่เชื่อว่าคนพร้อมเพรียงกันเห็นด้วยเช่นนั้น เพียงแต่ว่าส่วนใหญ่ของคนที่ไม่เห็นด้วยกลัวตัวเองเกินกว่าจะเปล่งเสียงอะไรได้ บรรยากาศของการทำให้ผู้คนกลัวตัวเองจะกลายเป็น "อื่น" ในสังคมนี่แหละครับ เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดเผด็จการเบ็ดเสร็จหรือเงาของมันได้ดี

และด้วยเหตุดังนั้น ฮิตเลอร์และนาซีจึงเป็นสิ่งที่ควรใส่ใจ ควรศึกษา เพื่อธำรงรักษาสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของมนุษย์เอาไว้ จะใส่ใจศึกษาได้ก็ต้องไม่ตกอยู่ใต้กระบวนการบังคับลืม การแสดงภาพฮิตเลอร์และนาซีอย่าง "รู้เท่าไม่ถึงการณ์และไร้เดียงสา" ที่นักเรียนไทยตั้งแต่ระดับมัธยมถึงมหาวิทยาลัยกระทำนั้น คือผลของกระบวนการบังคับลืมไม่ใช่หรือ

ยิวและยิปซีคือเหยื่อ ปัญหาคือเหยื่อของใคร? เรามักคิดว่าเป็นเหยื่อของนาซี แต่ที่จริงแล้วก่อนจะตกเป็นเหยื่อของนาซี พวกเขาตกเป็นเหยื่อของสังคมเยอรมันก่อน กล่าวคือในท่ามกลางความอับจนในทุกหนทาง ไม่ว่าเงินเฟ้อจนเงินกลายเป็นเศษกระดาษ, ความไร้อำนาจของรัฐชาติ, ความวุ่นวายปั่นป่วนที่เกิดขึ้นแทบทุกวันในสังคม ฯลฯ คนเยอรมันหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง จะเหลือความเชื่อมั่นตนเองได้อย่างไร นอกจากสร้างแพะขึ้นมารับบาป ยิวเป็นแพะที่เหมาะเจาะที่สุด ดังนั้นทฤษฎีเชื้อชาติอภิชนและเชื้อชาติมลทินของนาซีจึงฟังขึ้น และเป็นฐานให้แก่การขจัดยิวให้หมดไปจากสังคม จะขจัดอย่างไร ผู้คนก็พร้อมจะหลับตาเสีย ขอให้ขจัดออกไปเท่านั้น

อย่างที่คนชั้นกลางในกรุงเทพฯ หลับตาให้แก่การสังหารหมู่คนเสื้อแดงกลางเมือง และพร้อมจะรับทฤษฎีคนชุดดำทันที หรือหลับตาให้แก่ความอยุติธรรมที่ชาวมลายูมุสลิมได้รับจากเจ้าหน้าที่บ้านเมือง หรือปลาบปลื้มกับการฆ่าตัดตอนผู้ค้ายาเสพติด

ทั้งโลกเราเวลานี้ มีคนที่ถูกผลักให้เป็นแพะอยู่เต็มไปหมด หากเราอยากขจัดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จริง เราต้องไม่ลืมฮิตเลอร์และนาซี เพราะฮิตเลอร์และนาซีบอกให้เรารู้ว่า ความไร้ระเบียบที่กินเวลานานๆ นั้นเป็นอันตรายในตัวของมันเอง เพราะมันเปลี่ยนให้เรากลายเป็นคนฆ่าแพะ

อนึ่ง "ล้างเผ่าพันธุ์" (ethnic cleansing) ในโลกปัจจุบันอาจผิดฝาผิดตัว ในโลกทุกวันนี้มีการฆ่าล้างผลาญคนต่างศาสนา แม้เป็นเผ่าพันธุ์เดียวกัน ต่างความเห็นทางการเมือง ต่างรัฐ ต่างค่าย ฯลฯ อย่างเปิดเผยเสียยิ่งกว่าค่ายกักกันที่แอบสร้างอยู่ตามราวป่าของนาซีเสียอีก

เพื่อจะโค่นซัดดัม กองเรือที่หกของสหรัฐส่งเครื่องบิน จรวด และปืนใหญ่ถล่มอิรักเหมือนพลุในงานฉลองวันชาติ แต่เป็นพลุที่จุดตลอด 24 ชั่วโมงเป็นเวลาหลายวัน มีเหยื่อพลเรือน "เด็ก ผู้หญิง คนชรา และชายฉกรรจ์ที่เป็นผู้ประกันขนมปังให้ครอบครัว" เป็นแสนที่ถูกล้างผลาญ แน่นอนสหรัฐไม่ได้มีเจตนา "ล้างเผ่าพันธุ์" แต่มันมีอะไรต่างกันหรือ เช่นเดียวกับการตอบโต้การก่อการร้ายด้วยการทำอย่างเดียวกันกับเลบานอนและปาเลสไตน์ โดยไม่อาจหาเป้า "ทางทหาร" ที่แน่นอนชัดเจนได้ จึงต้องปูพรมไว้ก่อน มันมีอะไรต่างกันกับการฆ่า "ล้างเผ่าพันธุ์" โดยสาระหรือ

ผมไม่ปฏิเสธว่า การก่อการร้ายเช่นถล่มตึกทำลายชีวิตคนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่เป็นพัน หรือระเบิดพลีชีพเพียงเพื่อให้ "ฝ่ายเขา" ต้องตายเกลื่อนคือการฆ่าล้างผลาญอย่างหนึ่ง

ยิ่งกว่านี้ผมไม่มีเจตนาจะบอกว่า เพราะอิสราเอลฆ่าล้างผลาญชาวอาหรับในปาเลสไตน์และเลบานอน เราจึงควรยกย่องฮิตเลอร์ที่เคยฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ตรงกันข้ามเลย เราต้องพยายามทำความเข้าใจการกระทำของฮิตเลอร์ให้ดี เพื่อที่ว่าเราจะพบหนทางยุติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือการฆ่าล้างผลาญที่ไม่จำเป็นนี้ลงให้ได้ ไม่ว่าจะกระทำโดยชาวเยอรมัน, อเมริกัน, อาหรับ, ยิว หรือทหารไทย

โดยไม่มีเจตนาจะปกป้อง "ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์และไร้เดียงสา" แต่ผมอยากพูดว่า กระบวนการบังคับลืมฮิตเลอร์และนาซีต่างหากที่ทำให้เรายิ่งอยู่ไกลจากเป้าหมายยุติการฆ่าล้างผลาญให้หมดไปโดยสิ้นเชิง

ที่มา.มติชนออนไลน์
/////////////////////////////////////////////////////

คาดญี่ปุ่นเข้าร่วมเซ็น 3 ฝ่ายกับไทย-พม่า ในโครงการทวาย ก.ย.นี้ !!??

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่าในเดือน ก.ย.นี้ จะมีการลงนามในกรอบความร่วมมือในการจัดตั้งบริษัท ทวาย เอส อี แซด ดีเวลล๊อปเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) ที่ร่วมมือกัน 3 ฝ่าย คือรัฐบาลไทย รัฐบาลเมียนมาร์ และรัฐบาลญี่ปุ่น โดยจะมีการเจรจา 3 ฝ่ายในเดือนส.ค.นี้ กันก่อน ทั้งนี้ทางญี่ปุ่นได้หารือแบบ 2 ฝ่าย ทั้งกับพม่า และไทยแล้ว

จากที่ฝ่ายรัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่าได้ลงนาม Shareholders Agreement ฝ่ายละ 50% ลงทุนฝ่ายละ 6 ล้านบาทหรือทุน 12 ล้านบาทของบริษัท ทวาย เอส อี แซด ดีเวลล๊อปเม้นท์ จำกัด เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา นอกจากนี้ พม่ามีแผนนำ บริษัท SPVในตลาดหุ้นไทย

นอกจากนี้ จะมีการจัดตั้ง SPV 2 จดทะเบียนในเมียนมาร์ ซึ่งมีหน้าที่ลงทุน ขณะที่ SPV1 ที่จดทะเบียนในไทย ทำหน้าที่ประสานงาน ให้การสนับสนุนการบริหารจัดการโครงการทวายในภาพรวม รวมทั้งให้คำปรึกษาเชิญชวนและคัดเลือกผู้ลงทุนเข้ามาพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และเป็นผู้ถือหุ้นใน SPV2 ซึ่งจะเป็นผู้เข้าลงทุน ใน SPC จำนวน 7 แห่ง ที่จะลงทุนกิจกรรมธุรกิจ ทั้งนี้บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนท์(ITD)จะเข้ามาลงทุนหลัก ซึ่งรอให้ บริษัททวาย เอส อี แซด ดีเวลล๊อปเม้นท์ จำกัด (DSEZ) ให้สัมปทานใหม่ โดยคาดว่าระยะเวลาใกล้เคียงที่ ITD เคยได้รับสัมปทาน ประมาณ 75-90 ปี ในโครงการทวาย

"พม่าพูดว่าโครงการทวาย มีความสำคัญเท่าเทียมโครงการติวาลา...พม่าไม่เชื่อว่า ITD จะทำโครงการทวายไปได้ ITD ก็ยอมลดบทบาท ให้รัฐบาลไทย ดำเนินการระดับรัฐต่อรัฐ เพื่อให้โครงการเดินหน้าได้เร็ว และพม่าจะมีการเลือกตั้งใหญ่ในปี 58 ก็อยากเห็นโครงการทวายเป็นรูปเป็นร่าง"นายอาคม กล่าว

ทั้งนี้ SPC ทั้ง 7 แห่ง จะแบ่งลงทุนคือ ธุรกิจไฟฟ้า, น้ำประปา, ถนน, นิคมอุตสาหกรรมและTownship, ท่าเรือ, รถไฟ และ โทรคมนาคม โครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษตั้งอยู่เขตตะนาวศรี ประเทศเมียนมาร์มีพื้นที่ 204 ตร.กม. หรือ 124,500 ไร่ คิดเป็น 2.5 เท่าของพื้นที่อุตสาหกรรมในระยอง โครงการนี้จะเป็นประตูเศรษฐกิจ และเป็นจุดแข็งในการเชื่อมโยงเมืองเศรษฐกิจในภูมิภาค กลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง(GMS) บนระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

คอนเฟิร์ม : โครงการทวาย ไม่เป็นหมัน !!?

โครงการนี้เป็นโครงการระดับประเทศ เป็นการคุยกันระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล ไม่มีทางเปลี่ยนแปลงง่ายๆ...

จากกรณีที่หลายฝ่ายแสดงความกังวลถึงผลกระทบความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเมียนมาร์ หลังจากมีการเผยแพร่ คลิปลับที่มีเนื้อหาพาดพิงถึงข้าราชการระดับสูงและฝ่ายบริหารบางคนของเมียน มาร์ กับโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทวาย จนถึงขั้นคาดการณ์ว่า รัฐบาลเมียน มาร์อาจถอดไทยออกจากสัมปทานโครงการดังกล่าว แล้วมอบให้รัฐบาลญี่ปุ่นเข้ามาดำเนินการแทน

โดยก่อนหน้านี้นายจุลพงษ์ โนนศรีชัย ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ได้ออกมายืนยันว่า "โครงการทวาย ทั้งฝ่ายไทยและเมียนมาร์ต่างก็ได้รับผลประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ดังนั้น การพัฒนาร่วมกันยังคงต้องดำเนินการต่อไป เช่นเดียว กับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศก็เป็นไปด้วยดี ไม่มีเรื่องอะไรต้องกังวล"

"สยามธุรกิจ" สอบถามไปยังนายนิยม ไวยรัชพานิช ประธานคณะกรรมการ การค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน หอ การค้าไทย ซึ่งติดตามโครงการนี้อย่างใกล้ชิดก็ยืนยันว่า..ไร้ปัญหา ไม่มีทางที่โครงการท่าเรือน้ำลึกทวายจะถูกพับเก็บอย่างแน่นอน

"โครงการนี้เป็นโครงการระดับประเทศ เป็นการคุยกันระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล ไม่มีทางเปลี่ยนแปลงง่ายๆ เพราะเมียนมาร์ก็หวังจะให้ทวายสร้างเสร็จเฟสแรกทันปี 2558 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ" นายนิยม กล่าว

นายนิยมกล่าวต่อไปว่า ล่าสุด ตนได้ ให้คำปรึกษากับกลุ่มผู้ดำเนินการก่อสร้าง ไปว่า ให้เร่งดำเนินการทำถนนลาดยางจาก ตำบลพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรีไปยังท่าเรือทวาย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนเข้าไปตั้งโรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเบา เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอและรองเท้าที่พร้อมจะเข้าไปวันนี้พรุ่งนี้ ถ้าระบบสาธารณูปโภคพร้อมสรรพ แต่เมื่อถนนยังไม่แล้วเสร็จเขาก็ไม่กล้าเข้าไป

"ตอนนี้สิ่งที่นักลงทุนต้องการอย่างมากคือแรงงานราคาถูก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นอย่างอุตสาหกรรมสิ่งทอและรองเท้า ซึ่งไม่ต้องการแรงงานมีฝีมือ แต่ต้อง การ แรงงานราคาถูก งานแบบนี้คนเมียน มาร์สามารถทำได้เลย ค่าแรงวันละ 70-100 บาท"

นายนิยมยังกล่าวอีกว่า ส่วนที่เป็นห่วงว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะไม่กล้าร่วมลงทุนใน โครงการทวายกับรัฐบาลไทยก็ลืมไปได้เลย เพราะญี่ปุ่นมีธุรกิจในเมืองไทยมากมาย ซึ่งท่าเรือน้ำลึกทวายเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าที่สำคัญ เป็นไปไม่ได้ที่ญี่ปุ่นจะปฏิเสธ ในการร่วมลงทุน ซึ่งถ้าญี่ปุ่นไม่เอา จีนก็พร้อมจะเข้ามาเสียบทันที

นายนิยม ยังกล่าวถึงโครงการท่าเรือ น้ำลึกทิลาวาที่ญี่ปุ่นได้รับสิทธิบริหารในเมียนมาร์ว่า เมื่อเทียบกับท่าเรือน้ำลึกทวายยังห่างกันมาก ท่าเรือทิลาวามีลักษณะคล้ายกับท่าเรือคลองเตย ไม่สามารถรับเรือบรรทุกขนาดใหญ่มากๆได้ เพราะฉะนั้นการขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ ยังไงก็ต้องใช้ทวาย ญี่ปุ่นจึงสนใจเมื่อไทย เสนอแผนการลงทุนร่วมกัน

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายเซอิจิ ทานากะ กรรมการบริษัทและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซุยแอนด์คัมปนี จำกัด ประเทศญี่ปุ่น พร้อมด้วยนายชิเกะคะสุ ซะโต เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำ ประเทศไทย และนายวีรศักดิ์ โฆสิตไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ก็ได้เข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม โดยทางรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซุยแอนด์คัมปนี ได้กล่าวถึงความมั่นใจของบริษัทในการดำเนินธุรกิจและการลงทุนในประเทศไทย และต้องการรายงานความคืบหน้าในโครงการร่วมลงทุนกับบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ในการนำผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิมมาใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตสารตั้งต้นสำหรับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ส่งออกไปยังบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นและทั่วโลก ซึ่งคาดว่าการร่วมลงทุนดังกล่าวจะสำเร็จภายในปี 2015

ซึ่งนายกรัฐมนตรีของไทย ได้ย้ำความชัดเจนแก่ภาคเอกชนญี่ปุ่น ในการพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย ซึ่งบริษัทญี่ปุ่นจะได้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือทวายและแหลมฉบัง นั่นหมายความว่าโครงการทวายยังเดินหน้าต่อไปโดยไม่สะดุด

ที่มา.สยามธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////////////

วสันต์. บนบัลลังก์ศาล 694 วัน และภาระกิจ ปธ.คนใหม่ !!??

เพียงแค่ 694 วัน "วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์" ก็ต้องลุกจากเก้าอี้-ถอดหัวโขนประธานศาลรัฐธรรมนูญ

เพียงแค่ 5 ปี 2 เดือน หรือ 1,886 วัน "วสันต์" ต้องลาออกจากการเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่เขายังมีวาระเหลืออีก 3 ปี 10 เดือน

"วสันต์" ให้เหตุผลการลาออกจากทั้ง 2 ตำแหน่งว่า ตัวเขาเสร็จสิ้นภารกิจอย่างที่ตั้งใจไว้แล้ว และรักษาสัญญาว่าจะอยู่ในตำแหน่งประธานแค่ 2 ปี

"ที่จริงแล้วผมจะลาออกตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา แต่เห็นว่าในขณะนั้นมีกลุ่มเสื้อแดงมาชุมนุมที่หน้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีการโจมตีการทำงานของคณะตุลาการฯ ไม่อยากให้เป็นประเด็นทางการเมือง จึงเลื่อนการส่งหนังสือลาออกมาเป็นวันที่ 1 ส.ค.เพราะเป็นเวลาที่เหมาะสม อีกทั้งก็เสร็จสิ้นภารกิจที่ตั้งใจไว้"

ขณะที่ "พิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์" หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ แถลงย้ำอีกครั้งว่า การลาออกของวสันต์ เป็นความประสงค์ส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมือง

หากย้อนไปวันที่ "วสันต์" รับหัวโขนประธานศาลรัฐธรรมนูญต่อจาก "ชัช ชลวร" ตัวเขาเคยประกาศ 4 ภารกิจ ที่จะทำในตำแหน่งประมุขศาลรัฐธรรมนูญ ทุกอย่างล้วนเป็นงาน "เชิงรุก"

1.การเร่งรัดดำเนินคดีในความรับผิดชอบ ซึ่งมีอยู่ 60 เรื่อง โดยตั้งเป้าว่าภายในปี 2554 จะรีบพิจารณาคดีที่ตกค้างมาตั้งแต่ปี 2552 ให้แล้วเสร็จ ซึ่งจะทำให้ยอดคดีค้างเหลือในศาลรัฐธรรมนูญเหลือน้อยกว่า 40 เรื่อง ขณะที่ในปี 2555 ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะทำคดีในส่วนของปี 2553 และ 2554 ให้แล้วเสร็จ

2.การดำเนินการทำกฎและระเบียบว่าด้วยการจัดทำคดี ทั้งในส่วนการรับเรื่อง ลงระบบ พิจารณา จัดประเภทคดี รวมถึงวิธีการทำธุรการทั้งในและนอกเวลาราชการ เพื่ออำนวยความสะดวก และไม่เกิดข้อโต้แย้งภายหลัง

3.การสร้างความสามัคคีในองค์กร

4.เผยแพร่ความรู้ให้กับประชาชน การจัดระบบข้อมูลเพื่อเผยแพร่กับสื่อมวลชน และเผยแพร่ข้อมูลในทุกเรื่องที่ไม่เป็นการชี้นำ

แต่การทำงาน "เชิงรุก" แบบไม่มีเบรก ของศาลรัฐธรรมนูญในยุคที่มี "วสันต์" เป็นประมุข กลับเป็นจุดเปราะบางให้ศาลรัฐธรรมนูญถูกโจมตีจากโจทก์การเมือง "พรรคเพื่อไทย"

หากไม่นับการยุบพรรคพลังประชาชนในปลายปี 2551 จนต้องเปลี่ยนหัวใหม่เป็นพรรคเพื่อไทย ในยุค "ชัช ชลวร" เป็นประธาน รวมทั้งตัดสินไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ กรณีใช้เงินบริจาคผิดประเภทในปี 2553

คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มี "วสันต์" นั่งเป็นประมุข ฝังความแค้นให้กับพรรคเพื่อไทยมาตลอด ทั้งการให้ "จตุพร พรหมพันธุ์" พ้นจากการเป็น ส.ส.เนื่องจากไม่ได้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งในขณะที่ยังถูกคุมขังอยู่ในคุก

ไล่ตั้งแต่การเบรกการลงมติการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ในวาระที่ 3 โดยแนะนำให้ไปทำประชามติถามประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจที่แท้จริงก่อน

ล่าสุดรับคำร้องกรณีที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ว.สายสรรหายื่นร้อง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว.จำนวน 312 เข้าข่ายทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา

จนฝ่ายนิติบัญญัติที่นำโดย ส.ส.พรรคเพื่อไทยต้องออกแถลงการณ์ไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาล ขณะเดียวกัน นักวิชาการนิติศาสตร์หลายรายยังกลายเป็นแนวร่วมมุมกลับ มองว่าศาลรัฐธรรมนูญในยุค "วสันต์" กำลังเล่นการเมือง ส่วนสหภาพรัฐสภาโลก หรือ IPU มองว่าศาลรัฐธรรมนูญกำลังกระทำปฏิวัติ

แม้ที่ผ่านมา คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ก่อให้เกิดคำวิจารณ์เชิงลบทางการเมือง จะมาจากมติเสียงข้างมาก แต่ชื่อของ "วสันต์" ก็ไม่อาจพ้นบ่วงข้อกล่าวหา-คำครหาว่า "ไม่เป็นกลาง" หรือ "2 มาตรฐาน" ได้

ทั้งที่ตัวเขาย้ำกับสาธารณะมาตลอดว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ 2 มาตรฐาน

"เมื่อเป็นองค์กรตุลาการเป็นศาล สิ่งสำคัญ ต้องมีหลักปฏิบัติเคารพเสียงข้างมาก เพื่อหลีกเลี่ยงที่จะถูกกล่าวหาว่าสองมาตรฐาน...สองมาตรฐานเป็นคำพูดที่เกร่อมาก คนที่พูดยังไม่เข้าใจว่าสองมาตรฐานแปลว่าอะไร เพราะแต่ละเรื่องข้อเท็จจริงในคดีไม่เหมือนกัน ทำให้ศาลลงโทษในลักษณะไม่เหมือนกัน บางเรื่องเกิดมาเคยตัดสินเรื่องแรก จะเป็นสองมาตรฐานได้อย่างไร นี่คือความไม่รู้เรื่อง เรื่องสองมาตรฐาน แต่พูดแล้วโก้ดี"

"การจะเข้าเกณฑ์สองมาตรฐานได้ ต้องเป็นเรื่องเหมือนกัน เช่น พรรคนี้ถูกยุบ แต่อีกพรรคไม่ถูกยุบ แต่ที่ไม่ยุบ เพราะคนละกฎหมาย คนละเนื้อหา เช่น พรรคประชาธิปัตย์ถูกร้องว่าใช้เงินผิดประเภท เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง ไม่ใช่รัฐธรรมนูญ ข้อหาคนละอย่าง กฎหมายคนละเล่ม คนละเรื่อง คำที่พูดว่าสองมาตรฐาน บางทีก็พูดไปโดยไม่เข้าใจ"

เป็น "วิบากกรรม" 694 วันของ "วสันต์" บนบัลลังก์ประมุข

ดังนั้น ภารกิจลบคำครหา 2 มาตรฐาน รวมถึงเสียงวิจารณ์ว่าการเข้าไป "ล้วงลูก"-"ก้าวก่าย" ฝ่ายนิติบัญญัติจึงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่จะมาแบกรับหัวโขน "ประธานศาลรัฐธรรมนูญ" ต่อจาก "วสันต์"

ตามธรรมเนียมปฏิบัติ ตุลาการที่จะมาดำรงตำแหน่งประมุขได้จะต้องมาจากสายตุลาการ ดังนั้นชื่อที่ปรากฏอยู่ในโผเข้ามารับตำแหน่งในวันข้างหน้า ที่เข้าเกณฑ์อาวุโสมากที่สุดคือนายจรูญ อินทจาร (สายศาลปกครอง) นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี (สายศาลปกครอง) นายนุรักษ์ มาประณีต (สายศาลฎีกา) ตามลำดับ

โดยเผือกร้อนที่ยิ่งกว่าร้อน รอโยนใส่มือประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ คือการวินิจฉัยกรณี ส.ส.และ ส.ว.จำนวน 312 ยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เข้าช่ายขัดมาตรา 68 หรือไม่

หาก "จรูญ" ได้เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ อุณหภูมิความขัดแย้งระหว่างฝ่ายตุลาการกับฝ่ายนิติบัญญัติอาจเบาบางลง เพราะในคำวินิจฉัยส่วนตัวเมื่อครั้งวินิจฉัยกรณีมาตรา 68 รอบแรก "จรูญ" เขียนความเห็นไว้ว่า สามารถแก้ไขทั้งฉบับได้ หากมีการทำประชามติก่อนที่พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย

หาก "อุดมศักดิ์" ได้เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ อุณหภูมิความขัดแย้งระหว่างฝ่ายตุลาการกับฝ่ายนิติบัญญัติอาจเบาบางยิ่งกว่า เพราะเขียนความเห็นไว้ว่า "ศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจพิจารณาวินิจฉัยประเด็นนี้ได้"

แต่ถ้า "นุรักษ์" ขึ้นเป็นประธาน แน่นอนความขัดแย้งอาจปะทุขึ้นอีกรอบ พรรคเพื่อไทยไม่อาจนิ่งเฉยได้

เนื่องจากในคำวินิจฉัยส่วนตัวของ "นุรักษ์" นั้นระบุว่า "ไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ เพราะขัดมาตรา 68 วรรค 1 เพราะเป็นการกระทำที่มีผลให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญนี้ที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"

นับจากวันที่ 1 ส.ค.ที่ใบลาออกของ "วสันต์" มีผลในทางปฏิบัติ กระบวนการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสาขานิติศาสตร์แทนคนใหม่ภายใน 30 วัน จากนั้นจะส่งชื่อให้วุฒิสภาเห็นชอบ ก่อนที่ประธานวุฒิสภาจะนำชื่อตุลาการคนใหม่ขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้ง

เมื่อได้ตุลาการครบองค์คณะ 9 คนแล้ว จะมีการเรียกประชุมเพื่อเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ โดยมี "จรูญ" ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพราะอาวุโสสูงสุด

จึงต้องจับตาอย่างระทึกว่า ประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ที่จะมารับเผือกร้อนเป็นใคร

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////////////////////

ฟิทช์-มูดี้ส์ เก็บข้อมูล ธปท.ยันสถาบันการเงินไทยแข็งแรง !!??

พร้อมรับมือเศรษฐกิจจีนชะลอ-เฟดลดขนาดคิวอี

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับคณะผู้บริหารบริษัทจัดอันดับ ฟิทช์ เรทติ้งส์ วานนี้ (17 ก.ค.) ว่า มีความเห็นตรงกันกับทาง ฟิทช์ เรทติ้งส์ ว่า การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันของไทยถือเป็นอีกส่วนที่ช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้ ซึ่งทางรัฐบาลจะเข้าไปดูแลข้าราชการในส่วนปฏิบัติงานในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นด้วยเพื่อให้แรงจูงใจในการคอร์รัปชันลดลง

เมื่อเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา ฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้ปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของไทย เป็น"A-" จากระดับ "BBB+" ซึ่งสะท้อนถึงเศรษฐกิจไทยที่มีความยืดหยุ่น รวมถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่ขยายตัว และการปรับเครดิตเป็นปัจจัยหนึ่งทำให้เงินทุนไหลเข้า จนส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาท

นายกิตติรัตน์ กล่าวอีกว่าได้ชี้แจงกับ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ว่า การพัฒนาประเทศช่วงหนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมาของรัฐบาลและแนวทางที่ประเทศไทยจะเดินหน้าปรับสมดุลเศรษฐกิจมีอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะการวางแผนเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท โดยรัฐบาลไม่ได้ตั้งใจลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตแบบระยะสั้น แต่ต้องการทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่องระยะยาว เหมือนกับช่วงที่ลงทุนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก หรือ อีสเทิร์นซีบอร์ด และท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเมื่อลงทุนเสร็จได้ช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)

"ทิศทางเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่มีแนวคิดไปอัดฉีด ใครก็ตามที่ออกมาเรียกร้องให้ หรืออยากให้รัฐบาลอัดฉีดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ขอให้เชื่อว่ารัฐบาลจะไม่ทำเช่นนั้น และส่วนที่ดีมากช่วยนำรายได้เข้าประเทศคือการท่องเที่ยว ถือเป็นส่วนสำคัญมาปรับสมดุลเศรษฐกิจของประเทศ และในส่วนรัฐบาลก็จะทำงานเต็มที่รวมถึงพยายามเร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อนำไปประกอบกับการลงทุนของภาคเอกชนซึ่งเป็นอีกส่วนที่สำคัญ"นายกิตติรัตน์ กล่าว

ด้าน นางฤชุกร สิริโยธิน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมา ทาง มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐ ได้เดินทางมาพบ ธปท. เพื่อสอบถามและขอข้อมูลของธนาคารพาณิชย์ในไทย ซึ่งไม่ได้หยิบยกประเด็นอะไรขึ้นมาเป็นพิเศษ และเข้าใจว่า มูดี้ส์ เตรียมจะออกรายงานเกี่ยวกับฐานะของสถาบันการเงินไทยในเร็วๆ นี้

ก่อนหน้านี้ มูดี้ส์ เข้าพบ นายกิตติรัตน์ โดยสอบถามข้อมูลด้านเศรษฐกิจของประเทศและแนวนโยบายของรัฐบาล

ทั้งนี้ เมื่อเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา มูดี้ส์ ยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลสกุลเงินบาทและสกุลเงินตราต่างประเทศของประเทศไทย (Local and foreign government bonds) อยู่ที่ระดับ Baa1 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความแข็งแกร่งทางการเงินของรัฐบาลที่อยู่ในระดับสูง ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจและโครงสร้างที่อยู่ในระดับปานกลาง และความอ่อนไหวต่อความเสี่ยงจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดที่อยู่ในระดับต่ำ

"ปกติเขาจะออกรายงานปีละ 2 ครั้ง คือ ช่วงเดือนมี.ค. จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับประเทศ ส่วนของแบงก์จะออกช่วงเดือนส.ค. หรือเดือนก.ย. ซึ่งเขาก็มาพบเราเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ส่วนคำถามที่ถาม ก็แล้วแต่ขึ้นกับสถานการณ์ในช่วงนั้น อย่างตอนที่เราเจอน้ำท่วม เขาก็ถามว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวหรือไม่ เอ็นพีแอลเป็นอย่างไร ส่วนช่วงนี้เขาไม่น่าจะห่วงอะไรเป็นพิเศษ เพราะคำถามก็เป็นคำถามทั่วๆ ไป" นางฤชุกรกล่าว

ส่วนกรณีที่ มูดี้ส์ ออกมาแสดงความเป็นห่วงเรื่องสินทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ในกลุ่มประเทศเอเชีย รวมถึงการปรับลดแนวโน้ม 3 ธนาคารพาณิชย์ของสิงคโปร์นั้น นางฤชุกร กล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์ของสิงคโปร์มีโครงสร้างแตกต่างกับธนาคารพาณิชย์ไทย เพราะว่า ธนาคารพาณิชย์ไทย มีรายได้หลักจากภายในประเทศ แต่ธนาคารพาณิชย์ของสิงคโปร์ ค่อนข้างเปิดกว้าง

นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ไทย ยังมีระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง รวมทั้งยังมีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญในระดับที่สูงมาก ในส่วนของ ธปท. เองก็ไม่ได้มีความเป็นห่วงในเรื่องพวกนี้แต่อย่างใด รวมทั้งที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ ก็มีการทำแบบทดสอบภาวะวิกฤติ (Stress test) อยู่เป็นระยะๆ

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

คณะราษฎร เผด็จการในคราบประชาธิปไตย !!??

ต้อนรับคุณผู้ชมเข้ามาในช่วงเวลาของรายการเจาะข่าวร้อน ล้วงข่าวลึกประจำวันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม 2556 นับว่าเป็นที่พูดถึงมาโดยตลอดสำหรับจุดยืนในการพิทักษ์และปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ของสำนักข่าวทีนิวส์ โดยเฉพาะการนำเสนอข้อมูลที่มีความมั่นคง และยืนหยัดต่อกรกับด้วยหลักการและสติปัญหา กับกลุ่มบุคคลที่มีอุดมการณ์ตรงกันข้าม ที่พยายามโค่นล้มเปลี่ยนแปลง สถาบันพระมหากษัตริย์

แม้กับกรณีของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ขณะนี้ถูกซ่อนเร้นอยู่ในร่างพรบ.นิรโทษกรรมฉบับญาติผู้สูญเสีย ตามความมุ่งหวังของบุคคลบางกลุ่ม ที่มีเจตนาร้ายต่อสถาบัน แล้วใช้ความสูญเสียของเครือญาติผู้ชุมนุมเมื่อปี 2553 มาเป็นเครื่องมือในการบรรลุเป้าหมายในการช่วยเหลือผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

การต่อสู้ของสำนักข่าวทีนิวส์กับขบวนการล้มเจ้าและกลุ่มบุคคลที่มีประสงค์ร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกกล่าวหาเรื่อยมาว่าเป็นขบวนการล่าแม่มด เพราะฉะนั้นในโอกาสนี้ทางสำนักข่าวทีนิวส์จึงเห็นสมควรว่าจะได้นำเสนอหลักการที่เป็นทั้งความเข้าใจและความแน่วแน่ต่ออุดมการณ์ในการนำเสนอข่าว ให้กับคุณผู้ชมได้ทำความเข้าใจ

โดยจะขอยกตัวอย่างจากกรณีการนำเสนอประโยคข้อความของคณะบุคคล ทำการสื่อสารว่า

“ประเทศนี้เป็นของราษฎรทั้งหลาย ไม่ใช่เป็นของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง”

ประโยคข้างต้นที่เป็นปรากฏอยู่ในส่วนหนึ่งของประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ที่ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475

ภายหลังจากทำการปฏิวัติ เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ที่มีเนื้อหาโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างรุนแรง เนื้อหาดังกล่าวปรากฏอยู่ใน ประกาศคณะราษฎร  ฉบับที่  1 ย่อหน้าที่ 4 เพื่อทำการดิสเครดิตและโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อใช้เป็นเหตุผลความจำเป็นหนึ่งของการปฏิวัติ โดยระบุว่าราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า  ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร  ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง  บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้ช่วยกันกู้ให้ประเทศเป็นอิสรภาพพ้นมือจากข้าศึก  พวกเจ้ามีแต่ชุบมือเปิบและกวาดทรัพย์สมบัติเข้าไว้ตั้งหลายร้อยล้าน  เงินเหล่านี้เอามาจากไหน?  ก็เอามาจากราษฎรเพราะวิธีทำนาบนหลังคนนั้นเอง  บ้านเมืองกำลังอัตคัดฝืดเคือง  ชาวนาและพ่อแม่ทหารต้องทิ้งนา  เพราะทำนาไม่ได้ผล  รัฐบาลไม่บำรุง  รัฐบาลไล่คนงานออกอย่างเกลื่อนกลาด  นักเรียนที่เรียนสำเร็จแล้วและทหารที่ปลดกองหนุนแล้วก็ไม่มีงานทำ  จะต้องอดอยากไปตามยถากรรม  เหล่านี้เป็นผลของกษัตริย์เหนือกฎหมาย  บีบคั้นข้าราชการชั้นผู้น้อย  นายสิบ  และเสมียน  เมื่อให้ออกจากงานแล้วก็ไม่ให้เบี้ยบำนาญ  ความจริงควรเอาเงินที่พวกเจ้ากวาดรวบรวมไว้มาจัดบำรุงบ้านเมืองให้คนมีงานทำ  จึงจะสมควรที่สนองคุณราษฎรซึ่งได้เสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้ร่ำรวยมานาน  แต่พวกเจ้าก็หาได้ทำอย่างใดไม่  คงสูบเลือดกันเรื่อยไป  เงินเหลือเท่าไหร่ก็เอาไปฝากต่างประเทศ  คอยเตรียมหนีเมื่อบ้านเมืองทรุดโทรม  ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก  การเหล่านี้ย่อมชั่วร้าย

ในขณะเดียวกันทางคณะราษฎรยังได้ระบุถึงภารกิจภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเอาไว้อย่างสวยงามในการทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม แต่จะเป็นไปตามนั้นหรือไม่ เราก็จะได้มาพิสูจน์กัน

๑.จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย  เช่นเอกราชในทางการเมือง  ในทางศาล  ในทางเศรษฐกิจ  ฯลฯ  ของประเทศไว้ให้มั่นคง

๒.จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ  ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
               
๓.ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ  โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ  จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ   ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
               
๔.จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน  ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้
               
๕.จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ  มีความเป็นอิสระ  เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก  ๔  ประการดังกล่าวข้างต้น
               
๖.จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร              

เหตุการณ์วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475  คณะผู้ก่อการเข้ายึดอำนาจการปกครองที่กรุงเทพมหานคร  และจับกุมพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่  เช่น  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้า ฯ  กรมพระนครสวรรค์วรพินิต  ผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยาดำรงราชานุภาพอภิรัฐมนตรี  เป็นตัวประกัน

ส่วนบริเวณลานหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม  พระยาพหลพลพยุหเสนา  หัวหน้าคณะผู้ก่อการได้อ่านประกาศยึดอำนาจการปกครอง  ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี  ประทับอยู่ที่พระราชวังไกลกังวล  อำเภอหัวหิน  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2475  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยอมารับการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฏร  เพราะทรงเห็นแก่ความสงบเรียบร้อยของราษฎรและไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อ  รวมทั้งพระองค์ก็ทรงมีพระราชดำริที่เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว      

ในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475  คณะราษฎรได้เข้าเฝ้า ฯ  และนำร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม  พุทธศักราช 2475  ขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวาย  เพื่อให้ลงพระปรมาภิไธย  ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเติมคำว่า  "ชั่วคราว"  ต่อท้ายรัฐธรรมนูญ  นับเป็นการเริ่มต้นระบอบรัฐธรรมนูญของไทย  ต่อมาในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475  ได้มีพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม  พระราชวังดุสิต

ทั้งนี้สมาชิกคณะราษฎรประกอบด้วยราษฎร ข้าราชการ ทหาร และพลเรือน จำนวน 115 คน

หัวหน้าคณะราษฎร

ประกอบไปด้วย 4 ทหารเสือก็คือ
พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)
พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน)
พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ)
พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น)
รวมไปถึงนายทหารหนุ่มที่ชื่อ หลวงพิบูลสงคราม
ส่วนคณะราษฎร สายพลเรือน นำโดย
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือน

การเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เกิดขึ้นด้วยความเรียบร้อยนั้น ไม่ใช่การเพราะความสามารถของคณะราษฎรที่สามารถควบคุมอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จ หรือวางแผนเตรียมการมาอย่างรอบคอบ หรือเป็นเพราะคณะฝ่ายเจ้าไร้ซึ่งอำนาจใดๆ

แต่เป็นเพราะสายพระเนตรที่ยาวไกลและทรงเข้าใจดีถึงสถานการณ์ในขณะนั้นของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าหากทรงตัดสินใจสู้เพื่อรักษาอำนาจกับคณะราษฎร ซึ่งไม่มีใครทราบว่าฝ่ายไหนจะชนะ เนื่องจากฝ่ายเจ้าที่บริหารประเทศมาอย่างยาวนานย่อมมีการจัดสรรกำลังพลที่จงรักภักดีและพร้อมที่จะต่อสู้เช่นเดียวกัน

แต่ทว่าเพราะพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงไม่ปราถนาให้เกิดการต่อสู้ ที่จะแลกมาด้วยการบาดเจ็บล้มตายของไพร่พล จึงทรงตัดสินพระหัย ให้คณะราษฎรยึดอำนาจด้วยความเรียบร้อย ซึ่งถือเป็นความเสียสละของพระองค์ท่าน ด้วยการคำนึงถึงชีวิตของประชาชนเป็นสำคัญ

๒๔  มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ หลังจากคณะราษฎรได้ทำการยึดอำนาจเปลี่ยนระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบรัฐธรรมนูญ ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับอยู่ ณ พระตำหนักไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทรงตัดสินพระทัยที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยสงบ ดังความตามพระราชหัตถเลขา ต้นฉบับเป็นภาษาอังกฤษ ที่ทรงเขียนในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๗๕ ไม่ลงวันที่ พระราชทานพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งได้แปลเป็นภาษาไทยในหนังสือเรื่อง เกิดวังปารุสก์ เล่ม ๒ ความดังนี้

“ ฉันรู้สึกเสียดายอย่างยิ่งที่เขามิได้คิดจะถอด (depose) ฉัน และฉันยังเสียใจอยู่จนบัดนี้ ความรู้สึกขั้นแรกก็คือจะลาออก (abdicate) ทันที แต่สมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯ แนะนำว่าไม่ควรทำ เพราะถ้าทำเช่นนั้นอาจมีการรบกันจนนองเลือดทั้งยุ่งยากต่างๆ จนอาจมีฝรั่งเข้ามายุ่งและชาติเราอาจเสียอิสรภาพได้...”

ถ้าเราจะรบโดยใช้ทหารหัวเมืองหรือ นั่นเป็นของแน่ที่เราอาจทำได้  แต่ฉันไม่ยินยอมเลยแม้แต่ชั่วขณะเดียว เพราะเจ้านายในกรุงเทพฯอาจจะถูกฆ่าหมด ฉันรู้สึกว่าฉันจะนั่งอยู่บนราชบัลลังก์ที่เปื้อนโลหิตไม่ได้... สมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯแนะนำตลอดเวลาให้ยินยอมกลับกรุงเทพฯ และ ช่วยคณะราษฎรจัดตั้งการปกครองโดยมีกษัตริย์และรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็เป็นของที่ฉันเคยอยากจะทำมานานแล้ว แต่ว่าฉันเสียขวัญ

ในที่สุดมีทางจะทำได้ ๒ ทางคือ จะหนี หรือ จะกลับกรุงเทพฯ ฉันยอมรับว่าฉันตัดสินใจไม่ได้ทันทีว่าจะทำอย่างไรดี เราเพิ่งได้ยินคำแถลงการณ์ทางวิทยุกระจายเสียงอันรุนแรง ดูราวกับจะไปทางบอลเชวิค  ถ้าเช่นนั้นการที่จะกลับไปให้เขาตัดหัวดูออกจะไร้ประโยชน์ เป็นการเสียสละอันไม่มีใครได้ประโยชน์อะไรเลย แต่นั่นแหละ คำแถลงการณ์นั้นอาจเป็นถ้อยคำของผู้ที่ออกจะคิดสั้นและรุนแรงรวดเร็วจัดคนหนึ่ง และไม่ใช่นโยบายจริงของคณะ ฉันเลยตกลงใจเสี่ยงโดยให้ผู้หญิงเขาเลือก คือสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี และหญิงอาภา พระมารดา ตกลงเลือกให้กลับอย่างแน่วแน่และฉันเห็นว่าทั้งสองควรจะได้รับเกียรติอย่างเต็มที่ ในการตกลงใจอย่างกล้าหาญเด็ดเดี่ยวเช่นนั้น เพราะในเวลานั้นเราอาจจะกลับไปสู่ความตายก็ได้ ผู้หญิงเขาเลือกเอาความตายดีกว่าการเสียศักดิ์  เท่านั้นก็พอแล้วสำหรับฉัน (and that was enough for me) ”

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ที่กลุ่มคนบางกลุ่มพยายามหยิบยกมาสดุดีวีรกรรมของคณะราษฎร ในลักษณะที่เป็นคุณูประการ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นระบอบประชาธิปไตย แต่กลับไม่ได้ทำความเข้าใจถึงความเสียสละของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

และที่คนกลุ่มนี้ พยายามปิดกั้นข้อมูลเรื่องการเสียสละและการยึดมั่นต่อประโยชน์ของประชาชนของรัชกาลที่ 7 ในขณะที่ เมื่ออำนาจถูกเปลี่ยนถ่ายมาอยู่ในมือของคณะราษฎรแล้ว คณะราษฎรก็ใช้อำนาจที่ได้รับมาอย่างบ้าคลั่งเกิดการแก่งแย่งอำนาจจนสร้างความเสียหายและสูญเสียให้กับประเทศชาติอย่างมหาศาล

หาได้เป็นไปตามข้ออ้างตามประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ที่โจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำที่รุนแรง เพื่อใช้เป็นข้ออ้างและโฆษณาชวนเชื่อว่าภายหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว คณะราษฎรจะบรรดารทุกสิ่งทุกอย่างให้เกิดความชอบธรรม

ยิ่งไปกว่านั้นการบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวพ.ศ.2475ของคณะราษฎร ก็ไม่ต่างไปจากการโยกอำนาจจากพระมหากษัตริย์มาอยู่ในมือของคณะราษฎร ที่ส่วนใหญ่เป็นทหารเสียเอง ดังสาระสำคัญที่ระบุเอาไว้ว่า

คณะกรรมการราษฎร มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของสภา. ทั้งนี้ ให้เสนาบดีกระทรวงต่างๆ รับผิดชอบต่อ คณะกรรมการราษฎร. คณะกรรมการราษฎร จะมีประธาน 1 คน และมีกรรมการอีก 14 คน ทั้งนี้ ให้สภา เลือกสมาชิกในสภา เพื่อมาทำหน้าที่ประธารกรรมการราษฎร และให้ประธานกรรมการ เลือกกรรมการราษฎร อีก 14 คน

ในขณะที่การคัดเลือก พระยามโนปกรณนิติธาดา เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย แต่ทว่าโดยข้อเท็จจริงอำนาจก็ยังคงอยู่ที่ฝ่ายของทัพโดยคณะราษฎร ก็ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามแย่งชิงอำนาจกันเองของบุคคลในคณะราษฎรอย่างน่าเศร้า

พระยามโนปกรณนิติธาดา จบการศึกษาวิชากฎหมายระดับเนติบัณฑิต จากประเทศอังกฤษ เป็นข้าราชการตุลาการผู้ที่ได้ชื่อว่ามือสะอาด ไม่เคยมีเรื่องด่างพร้อยมาตลอดชีวิตการรับราชการ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ท่านได้รับเลือกจากคณะราษฎรโดยนายปรีดี พนมยงค์ ให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดแรกที่มีด้วยกันทั้งหมด 70 คน ที่มาจากการแต่งตั้ง และได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศ ด้วยหวังว่าท่านจะเป็นคนกลางประสานความเข้าใจระหว่างกลุ่มผู้นิยมการปกครองแบบเก่า และกลุ่มผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง

ระหว่างการบริหารประเทศของพระยามโนปกรณนิติธาดา นายปรีดี พนมยงค์ ที่เปรียบดังมันสมองของคณะราษฎรและผู้มีความคิดก้าวหน้าเกี่ยวกับประชาธิปไตยมากที่สุด ได้เสนอสมุดปกเหลือง

หลังจากมีกรณีเรื่อง "สมุดปกเหลือง" ซึ่ง เป็น เค้าโครงเศรษฐกิจที่มีการปฏิรูปที่ดินและรัฐสวัสดิการแก่ประชาชน ของนายปรีดี พนมยงค์ ประกาศออกมาเมือ 15 มีนาคม พ.ศ. 2476

แต่ทว่าสมุดปกเหลืองนี้ถูกนำไปใช้เป็นข้อกล่าวหาว่านายปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์ และทำให้เกิดความแตกแยกในรัฐบาลอย่างรุนแรง รัฐบาลจึงกำหนดให้ปิดสภา งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา และเป็นที่มาของการรัฐประหารครั้งแรกในประเทศไทย

พระยามโนปกรณ ฯ ที่ไม่เห็นชอบด้วยกับเค้าโครงเศรษฐกิจฉบับนี้ ประกอบกับได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกคณะราษฎรกลุ่มทหารที่นำโดย พระยาทรงสุรเดช จึงได้ใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีปิดสภา พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา รวมทั้งได้เนรเทศนายปรีดี พนมยงค์ ให้กลับไปยังประเทศฝรั่งเศส และออกพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์เป็นฉบับแรกด้วย ซึ่งเรียกกันว่าท่านกระทำรัฐประหารด้วยการใช้ "ปากกาด้ามเดียว" ท่ามกลางความไม่พอใจของกลุ่มคณะราษฎรที่สนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์

เหตุการณ์ความขัดแย้งเหล่านี้ ได้บานปลายนำไปสู่การรัฐประหารในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2476 ที่ พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎรได้รัฐประหารคณะรัฐบาล และเนรเทศพระยามโนปกรณ ฯ ไปยังปีนังด้วยรถไฟ พร้อมกับเรียกตัวนายปรีดีกลับมาจากฝรั่งเศส ซึ่งพระยามโนปกรณนิติธาดาก็ได้ใช้ชีวิตในบั้นปลายอยู่ที่ปีนัง ตราบจนถึงแก่อสัญกรรม

สาระข้อเท็จจริงที่ทำให้สุมดปกเหลืองของนายปรีดีถูกต่อต้านจากคณะราษฎรอย่างหนักก็เป็นเพราะแนวคิดการกระจายอำนาจและผลประโยชน์ไปให้ถึงประชาชนอย่างแท้จริง แต่ก็เป็นผู้กุมอำนาจอย่างคณะราษฎรที่ต้องการรักษาอำนาจเอาไว้ และทำการต่อต้านพร้อมกับสร้างข้อหาคอมมิวนิสต์ให้กับนายปรีดี

สาระสำคัญของเนื้อหาในเค้าโครงเศรษฐกิจ คือ เริ่มแรกจะมีคำชี้แจ้งว่าในการพิจารณาหรืออ่านเค้าโครงเศรษฐกิจนี้ ควรวางใจเป็นกลาง ไม่นึกถึงประโยชน์ส่วนตน และควรขจัดทิฐิมานะออก และในส่วนเนื้อหาจะแบ่งออกเป็น 11 หมวด ปรีดี พนมยงค์ได้ร่างเค้าโครงเศรษฐกิจ โดยต้องการให้บรรลุหลักข้อ 3 ของประกาศคณะราษฎร หลักซึ่งเกี่ยวแก่เศรษฐกิจของประเทศมีความว่า “จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก” และได้ชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เกิดขึ้นนี้รัฐบาลทำได้ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย โดยเค้าโครงเศรษฐกิจมีลักษณะเป็นแบบสหกรณ์เต็มรูปแบบแต่ไม่ทำลายกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของเอกชน โดยให้รัฐซื้อที่ดินจากเจ้าของเดิมด้วยพันธบัตร มีดอกเบี้ยประจำปี นายปรีดียังได้วางหลักการประกันสังคม คือให้การประกันแก่ราษฎรตั้งแต่เกิดจนตายว่า เมื่อราษฎรผู้ใดไม่สามารถทำงาน หรือทำงานไม่ได้เพราะเจ็บป่วยหรือชราหรืออ่อนอายุ ก็จะได้รับความอุปการะเลี้ยงดูจากรัฐบาล ซึ่งระบุไว้อย่างชัดเจนในหมวดที่ 3 แห่งเค้าโครงการเศรษฐกิจในชื่อร่าง พ.ร.บ.“ว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร” นอกจากนี้ยังได้เสนอให้มีการตั้งธนาคารแห่งชาติ และออกสลากกินแบ่งเพื่อระดมทุนให้แก่รัฐบาล

นี่เป็นแค่เพียงจุดเริ่มต้นและตัวอย่างของการบริหารอำนาจ ที่ปากฎการแก่งแย่งชิงดีกันในหมู่ของคณะราษฎร จนนำมาสู่การทำรัฐประหารกันเอง ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะติดตามมาด้วยการแย่งชิงอำนาจ และการรัฐประหารเป็นว่าเล่น หาได้เป็นไปตามเส้นทางประชาธิปไตย ตามประกาศของคณะราษฎรได้โฆษณาชวนเชื่อเอาไว้

โดยรายละเอียดของการแย่งชิงอำนาจของคณะราษฎร สำนักข่าวทีนิวส์จะได้นำเสนอให้คุณผู้ชมได้รับทราบในลำดับต่อไป

แต่ทั้งนี้ก็มีข้อควรที่ทุกฝ่ายทั้งในอดีตและปัจจุบันจะได้ทำการพิจารณาก็คือการสละราชสมบัติในวันที่ ๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียงปีเศษ  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและทรงมีเหตุผลในการตัดสินพระทัยตามความในพระราชหัตถเลขา ดังนี้

เมื่อพระยาพหลพลพยุหะเสนากับพวกได้ทำการยึดอำนาจการปกครองโดยใช้กำลังทหาร ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ แล้ว  ได้มีหนังสือมาอัญเชิญข้าพเจ้าให้ดำรงอยู่ในตำแหน่งพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ข้าพเจ้าได้รับคำเชิญนั้น เพราะเข้าใจว่าพระยาพหลฯและพวกจะสถาปนารัฐธรรมนูญตามแบบอย่างประเทศทั้งหลาย ซึ่งใช้การปกครองตามหลักนั้น เพื่อให้ประชาราษฎรได้มีสิทธิที่จะออกเสียง ในวิธีดำเนินการปกครองประเทศและนโยบายต่างๆอันจะเป็นผลได้เสียแก่ประชาชนทั่วไป
ข้าพเจ้ามีความเลื่อมใสในวิธีการเช่นนั้นอยู่แล้วและกำลังดำริจะจัดการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศสยามให้เป็นไปตามรูปนั้น  โดยมิให้มีการกระทบกระเทือนอันร้ายแรง  เมื่อมามีเหตุรุนแรงขึ้นเสียแล้ว และเมื่อผู้ก่อการรุนแรงนั้นอ้างว่ามีความประสงค์จะสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นเท่านั้น ก็เป็นอันไม่ผิดกับหลักการที่ข้าพเจ้ามีความประสงค์อยู่เหมือนกัน ข้าพเจ้าจึงเห็นควรโน้มตามความประสงค์ของผู้ก่อการยึดอำนาจนั้นได้ เพื่อหวังความสงบราบคาบในประเทศ

ข้าพเจ้าได้พยายามช่วยเหลือในการที่จะรักษาความสงบราบคาบ เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงอันสำคัญนั้นเป็นไปโดยราบรื่นที่สุดที่จะเป็นได้  แต่ความพยายามของข้าพเจ้าไร้ผล โดยเหตุที่ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง  หาได้กระทำให้บังเกิดมีความเสรีภาพในการเมืองอย่างบริบูรณ์ขึ้นไม่  และมิได้ฟังความคิดเห็นของราษฎรโดยแท้จริง

และจากรัฐธรรมนูญทั้ง ๒ ฉบับ จะพึงเห็นได้ว่า  อำนาจที่จะดำเนินนโยบายต่างๆนั้น จะตกอยู่แก่คณะผู้ก่อการและผู้ที่สนับสนุนเป็นพวกพ้องเท่านั้น มิได้ตกอยู่แก่ผู้แทนซึ่งราษฎรเป็นผู้เลือก เช่น ในฉบับชั่วคราว แสดงให้เห็นว่าถ้าผู้ใดไม่ได้รับความเห็นชอบของผู้ก่อการ  จะไม่ให้เป็นผู้แทนราษฎรเลย ฉบับถาวรได้มีการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นตามคำร้องขอของข้าพเจ้า แต่ก็ยังให้มีสมาชิกซึ่งตนเลือกเองเข้ากำกับอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรถึงครึ่ง ๑

การที่ข้าพเจ้าได้ยินยอมให้มีสมาชิก ๒ ประเภท ก็โดยหวังว่าสมาชิกประเภทที่ ๒ ซึ่งข้าพเจ้าตั้งนั้น  จะเลือกจากบุคคลที่รอบรู้การงาน และชำนาญในวิธีดำเนินการปกครองประเทศโดยทั่วไป ไม่จำกัดว่าเป็นพวกใดคณะใด เพื่อจะได้ช่วยเหลือนำทางให้แก่สมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งขึ้นมา แต่ครั้นเมื่อถึงเวลาที่จะตั้งสมาชิกประเภทที่ ๒ ขึ้น  ข้าพเจ้าหาได้มีโอกาสแนะนำในการเลือกเลย และคณะรัฐบาลก็เลือกเอาแต่เฉพาะผู้ที่เป็นพวกของตนเกือบทั้งนั้น มิได้คำนึงถึงความชำนาญ

นอกจากนี้คณะผู้ก่อการบางส่วนได้มีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงโครงการเศรษฐกิจของประเทศอย่างใหญ่หลวง  จึงเกิดแตกร้าวกันขึ้นเองในคณะผู้ก่อการและพวกพ้อง  จนต้องมีการปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราโดยคำแนะนำของคณะรัฐบาลซึ่งถือตำแหน่งอยู่ในเวลานั้น  ทั้งนี้เป็นเหตุให้มีการปั่นป่วนในการเมือง ต่อมาพระยาพหลฯกับพวกก็กลับเข้าทำการยึดอำนาจโดยกำลังทหารเป็นครั้งที่ ๒  และแต่นั้นมาความหวังที่จะให้การเปลี่ยนแปลงต่างๆเป็นไปโดยราบรื่นก็ลดน้อยลง

เนื่องจากเหตุที่คณะผู้ก่อการ มิได้กระทำให้มีเสรีภาพในการเมืองอันแท้จริง และประชาชนไม่ได้โอกาสออกเสียงก่อนที่จะดำเนินนโยบายอันสำคัญต่างๆ  จึงเป็นเหตุให้มีการกบฏขึ้นถึงกับต้องต่อสู้ฆ่าฟันกันเองระหว่างคนไทย   เมื่อข้าพเจ้าได้ร้องขอให้เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญเสียให้เข้ารูปประชาธิปไตยอันแท้จริงเพื่อให้เป็นที่พอใจแก่ประชาชน  คณะรัฐบาลและพวกซึ่งกุมอำนาจอยู่บริบูรณ์ในเวลานี้ ก็ไม่ยินยอม ข้าพเจ้าได้ร้องขอให้ราษฎรได้มีโอกาสออกเสียง ก่อนที่จะเปลี่ยนหลักการและนโยบายอันสำคัญมีผลได้เสียแก่พลเมือง  รัฐบาลก็ไม่ยินยอม  และแม้แต่การประชุมในสภาผู้แทนราษฎรในเรื่องสำคัญ เช่น เรื่องคำร้องขอต่างๆของข้าพเจ้า สมาชิกก็มิได้มีโอกาสพิจารณาเรื่องโดยถ่องแท้และละเอียดลออเสียก่อน  เพราะถูกเร่งรัดให้ลงมติอย่างรีบด่วนภายในวาระประชุมเดียว

นอกจากนี้รัฐบาลได้ออกกฎหมายใช้วิธีปราบปรามบุคคล ซึ่งถูกหาว่าทำความผิดทางการเมืองในทางที่ผิดยุติธรรมของโลก  คือไม่ให้โอกาสต่อสู้คดีในศาล มีการชำระโดยคณะกรรมการอย่างลับไม่เปิดเผย  ซึ่งเป็นวิธีการที่ข้าพเจ้าไม่เคยใช้ ในเมื่ออำนาจอันสิทธิขาดยังอยู่ในมือของข้าพเจ้าเอง และข้าพเจ้าได้ร้องขอให้เลิกใช้วิธีนี้ รัฐบาลก็ไม่ยอม.

ข้าพเจ้าเห็นว่าคณะรัฐบาลและพวกพ้อง ใช้วิธีการปกครองซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักการของเสรีภาพในตัวบุคคล และหลักความยุติธรรมตามความเข้าใจและยึดถือของข้าพเจ้า  ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะยินยอมให้ผู้ใด คณะใด ใช้วิธีการปกครองอย่างนั้นในนามของข้าพเจ้าต่อไปได้ทรงฉายกับพระราชบิดา คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิม ให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และ โดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร

บัดนี้ข้าพเจ้าเห็นว่าความประสงค์ของข้าพเจ้า  ที่จะให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียงในนโยบายของประเทศไทยโดยแท้จริง ไม่เป็นผลสำเร็จ และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่าบัดนี้เป็นอันหมดหนทางที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือ หรือ ให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติ และออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์แต่บัดนี้เป็นต้นไป  ข้าพเจ้าขอสละสิทธิของข้าพเจ้าทั้งปวงซึ่งเป็นของ ข้าพเจ้าอยู่ในฐานะที่เป็นพระมหากษัตริย์ แต่ข้าพเจ้าสงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งปวงอันเป็นของข้าพเจ้าแต่เดิมมา ก่อนที่ข้าพเจ้าได้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์พระบรมราชานุสาวรีประทับที่หน้าอาคารรัฐสภา

ข้าพเจ้าไม่มีประสงค์ที่จะบ่งนามผู้หนึ่งผู้ใดให้เป็นผู้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์ต่อไป ตามที่ข้าพเจ้ามีสิทธิจะทำได้ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ อนึ่ง ข้าพเจ้าไม่มีความประสงค์ที่จะให้ผู้ใดก่อการไม่สงบขึ้นในประเทศเพื่อประโยชน์ของข้าพเจ้า ถ้าหากมีใครอ้างใช้นามของข้าพเจ้า พึงเข้าใจว่ามิได้เป็นไปโดยความยินยอมเห็นชอบหรือความสนับสนุนของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้ามีความเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ไม่สามารถจะยังประโยชน์ให้แก่ประชาชนและประเทศชาติของข้าพเจ้าต่อไปได้ตามความตั้งใจและความหวังซึ่งรับสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ยังได้แต่ตั้งสัตยอธิษฐานขอให้ประเทศสยามจงได้ประสบความเจริญ และขอประชาชนชาวสยามจงได้มีความสุขสบาย.

ประชาธิปก.ปร.
วันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๗
เวลา ๑๓ นาฬิกา ๔๕ นาที

และในตอนต่อไปสำนักข่าวทีนิวส์จะได้นำเสนอให้คุณผู้ชมได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจจากพระมหากษัตริย์มาอยู่ที่กลุ่มของคณะราษฎร ที่มีการใช้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จไม่ต่างไปจากเผด็จการ มิหนำซ้ำยังเกิดการรัฐประหารหลายต่อหลายครั้ง

และที่สำคัญตลอดระยะเวลา 24 ปีที่อยู่ในอำนาจ คณะราษฎรได้สร้างประโยชน์ให้กับประเทศตามที่ประกาศเอาไว้ หรือได้ใช้อำนาจสนองต่อผลประโยชน์ของพรรคพวกตัวเองเท่านั้น

ที่มา.ทีนิวส์
/////////////////////////////////////////////////////

วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เปลี่ยนเมืองเชียงของ ให้เป็นเมืองเศรษฐกิจชายแดนของไทย !!??

โดย ชัยพงษ์ สำเนียง
สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ ม.เชียงใหม่
ชื่อบทความเดิม “การค้ากับการเปลี่ยนเมืองชายแดน: กรณีอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย”

1.ประเทศไทยได้มีการเปิดด่านและประกาศเปิดเป็นจุดผ่านแดนถาวรในเมืองชายแดนตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2532 เป็นต้นมา ทำให้การค้าขายชายแดนเกิดการขยายตัวมากขึ้น

ในส่วนของอำเภอเชียงของได้มีการขยายพื้นที่ค้าขายมาทางทิศเหนือ ทำให้มีการก่อสร้างบ้านเรือนเพื่อทำการค้าขายเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการทำถนนลาดยางเพื่อความสะดวกต่อการขนส่ง ปริมาณการค้าซึ่งส่วนใหญ่ยังคงเป็นการค้ากับประเทศลาว ขณะที่ประเทศลาวมีการกระจายสินค้าไปยังแขวงและเมืองต่าง ๆ เช่น หลวงน้ำทา ปากแบง หลวงพระบาง ห้วยทราย โดยใช้เส้นทางการขนส่งทางแม่น้ำโขงเป็นหลักในการขนส่งสินค้า

นอกจากการขนส่งทางเรือแล้ว ในปี พ.ศ. 2543 ได้เริ่มมีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกเพื่อรองรับเรือสินค้าขนาดใหญ่จากประเทศจีนพร้อมกับดำเนินการขุดลอกและระเบิดเกาะแก่งต่าง ๆ ในแม่น้ำโขงเพื่อให้เรือขนส่งขนาด 150 ตัน สามารถเดินทางมาถึงท่าเรือเชียงของได้ตลอดทั้งปี แต่ได้ถูกคัดค้านจากกลุ่มชาวบ้านในอำเภอเชียงของรวมถึงประชาชนและนักวิชาการต่าง ๆ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อม ทำให้ต้องชะลอโครงการระเบิดเกาะแก่งดังกล่าวออกไป ขณะที่ท่าเรือน้ำลึกยังคงดำเนินการก่อสร้างอยู่

การค้าชายแดนของอำเภอเชียงของมีพัฒนาการเริ่มต้นจากการค้าขายระหว่างคนไทยและคนลาวตามแนวชายแดนมาตั้งแต่เริ่มมีการก่อตั้งเป็นชุมชน มีลักษณะของรูปแบบการค้าแบ่งได้ 3 ช่วง ได้แก่
ช่วงแรก ก่อนเปิดเป็นจุดผ่านแดนถาวร (ก่อน พ.ศ. 2532) ในช่วงนี้จะเป็นการค้าในลักษณะแบบดั้งเดิมที่ส่วนใหญ่ใช้สิ่งของมาแลกเปลี่ยนซื้อขายกันเนื่องจากระบบเงินตรายังไม่เป็นที่แพร่หลาย
ช่วงที่สอง หลังเปิดเป็นด่านถาวร ถึงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกเชียงของ (พ.ศ. 2532-2545) มีการใช้เงินตราและมีการติดต่อค้าขายสินค้าต่าง ๆ มากขึ้นแต่ยังไม่กระจายสู่ประเทศอื่นมากนัก

ช่วงที่สาม หลังเปิดท่าเรือน้ำลึกเชียงของ ถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2546-2555) (เปรมประชา 2550) แต่ละช่วงของการค้ามีลักษณะหรือผลที่เกิดขึ้นแตกต่างกันไป ในช่วงนี้มีการเตรียมความพร้อมและการแก้ไขปัญหาด้านการค้าที่ชัดเจนมากขึ้น มีการก่อสร้างท่าเรือทำให้เรือสินค้าเข้ามามากขึ้น มูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้น สินค้ามีความหลากหลายจากประเทศต่าง ๆ การส่งออกและนำเข้าสินค้าประเภทต่าง ๆ บางส่วนมีความผันแปรตามปัจจัยของสังคมโลก

กลุ่มผู้ค้าสำคัญในการค้าชายแดนของอำเภอเชียงของมีทั้งผู้ค้ารายย่อยและผู้ค้ารายใหญ่ที่เป็นคนท้องถิ่นและต่างจังหวัด การติดต่อค้าขายมีทั้งในระบบและนอกระบบโดยอาศัยการขนส่งทางเรือที่มีทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กเป็นหลักในการข้ามพรมแดน และใช้การขนส่งทางบกในการกระจายสินค้าไปยังเมืองต่าง ๆ
การค้าในช่วงระยะนี้ได้เริ่มส่งผลกระทบเชิงลบกับชุมชนและเมืองในด้านต่าง ๆ เช่น ปัญหาการจราจร เนื่องจากปริมาณรถที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ใช้ในการขนส่งสินค้าขณะที่ขนาดและสภาพการรับน้ำหนักของถนนไม่สามารถขยายและก่อสร้างได้ เพราะการปลูกสร้างบ้านเรือนของประชาชนที่ชิดติดแนวถนน
ปัญหามลภาวะทางอากาศ ที่มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กเพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากการจารจรและการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ปัญหาการใช้น้ำในแม่น้ำโขงเพื่อการอุปโภคบริโภค เพราะท่าเรือถูกสร้างขึ้นบริเวณต้นน้ำเหนือเมือง และปัญหาโรคติดต่อจากภายนอก เพราะมีการติดต่อค้าขายกับประชาชนในหลายพื้นที่

ภายหลังมีการปรับปรุงถนนเชียงราย – เชียงของ โดยรัฐบาลลาวได้ประกาศให้เมืองห้วยทรายแขวงบ่อแก้วเป็นด่านสากลเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2537 ทำให้เมืองเชียงของและเมืองห้วยทรายได้ทวีความสำคัญต่อการค้าชายแดน มีการนำเรือเฟอร์รี่เข้ามาให้บริการขนส่งเคลื่อนย้ายบริเวณท่าเรือบั๊ค เพื่อรองรับการค้าที่ขยายตัว



ตลาดน้ำ ปากแม่น้ำโขง ภาพจาก wikipedia

การค้าเริ่มมีลักษณะที่เป็นทางการ มีการเปิดเครดิตให้กับคู่ค้าแต่ยังคงชำระเงินโดยเงินสดเป็นหลัก ประเภทของสินค้าที่ยังคงมีการซื้อขาย คือ สินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพและเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น น้ำมัน สินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องจักรวัสดุก่อสร้าง ฯลฯ

สาเหตุที่การค้าชายแดนส่วนใหญ่เป็นการค้ากับประเทศลาว เนื่องจากสินค้าจากประเทศจีนจะซื้อขายกันบริเวณท่าเรือเชียงแสนมากกว่า เพราะมีบริเวณใกล้กัน ขณะที่ด่านเชียงของอยู่ไกลกว่าและมีเกาะแก่งในช่วงของการเดินทางมามากมาย เรือใหญ่ไม่สามารถเดินทางมาได้สะดวก รวมถึงยังไม่มีท่าเรือน้ำลึกเพื่อรองรับ

2.ในส่วนการสร้างท่าเรือน้ำลึกเชียงของเป็นท่าเทียบเรือขนาดกว้าง 24 เมตร ยาว 180 เมตร ด้านหน้าติดแม่น้ำโขง ด้านหลังติดถนนซึ่งเชื่อมระหว่างอำเภอเชียงแสน และอำเภอเชียงของ เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2546 (ปีงบประมาณ 2547) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2546 โดยมุ่งเน้นประสิทธิภาพการให้บริการนำเข้า – ส่งออกสินค้าและส่งเสริมการค้าชายแดนระหว่าง 4 ประเทศ ตามข้อตกลง 4 ฝ่าย ประกอบด้วย สาธารณรัฐประชาชนจีน สหภาพพม่า สาธารณรัฐประชาชนลาว และประเทศไทย

ภายหลังการเปิดใช้พบว่ามีปริมาณเรือสินค้าและการเข้าออกของรถขนส่งสินค้าที่มาใช้บริการมีมากขึ้นทุกปี ส่งผลให้ปริมาณการจัดเก็บอากรขาเข้าและค่าธรรมเนียมของท่าเรือเชียงของเพิ่มขึ้นตาม รวมถึงมูลค่าสินค้านำเข้าและส่งออกจากท่าเรือเชียงของโดยภาพรวมมีปริมาณเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม การเดินเรือจากประเทศต่าง ๆ เพื่อมาติดต่อค้าขายที่ท่าเรือเชียงของยังคงติดปัญหาเรื่องของการเดินเรือขนาดใหญ่โดยเฉพาะเรือจากประเทศจีน เนื่องจากโครงการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขง บริเวณแก่งคอนผีหลวง ตำบลริมโขง ได้รับการคัดค้านจากชาวบ้านรวมถึงประชาชนและนักวิชาการต่าง ๆ ทำให้เรือขนาดใหญ่ไม่สามารถเดินทางมาท่าเรือเชียงของได้ จะเดินทางได้ในเฉพาะฤดูน้ำหลากเท่านั้น ส่วนเรือขนาด 60 ตันยังคงสามารถเดินทางได้แต่ต้องอาศัยความชำนาญในการขับเรือ

หากเป็นหน้าแล้งจะมีเรือขนาด 30 ตันเท่านั้น ท่าเรือน้ำลึกที่เชียงของจึงค้าขายไม่คึกคักเหมือนที่ท่าเรือเชียงแสนส่งผลทำให้ท่าเรือไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ แต่ถือเป็นการพัฒนาศักยภาพของการขนส่งสินค้าขนาดใหญ่และปริมาณมากได้อย่างรวดเร็ว สะดวกและมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

โดยเรือขนาด 60 ตัน จะเดินทางขนส่งสินค้าตามเส้นทาง หลวงน้ำทา-เชียงแสน-ห้วยทราบ-เชียงของ-ปากแบง-หลวงพระบาง ส่วนการขนถ่ายสินค้าขนาดเล็กและปริมาณน้อย ยังคงใช้บริการเรือหางยาวเล็กข้ามฝาก หากเป็นสินค้าปริมาณมาก ๆ ที่จะส่งไปเมืองห้วยทรายยังคงใช้เรือเฟอร์รี่ในการบรรทุกรถยนต์ไปส่ง (เปรมประชา 2550 : 51-54)

การค้าชายแดนเริ่มมีการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรมมากขึ้น มีการสร้างถนนทางขนานเลียบแม่น้ำโขงเพื่อลดความแออัดของถนนสายกลาง การเจริญเติบโตทางการค้าของเชียงของในช่วงนี้พัฒนาอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะเมื่อมีแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองเชียงของเพื่อเป็นเมืองเศรษฐกิจพิเศษชายแดน

การก่อสร้างสะพานเชื่อมเส้นทาง R3E การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมการเกษตร และศูนย์กระจายสินค้า เพื่อทำให้อำเภอเชียงของกลายเป็นจุดศูนย์กลางการค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งของภาคเหนือ มีการเข้ามาลงทุนของคนต่างพื้นที่มากขึ้น

ในอนาคตหลังจากมีการก่อสร้างสะพานทางตอนล่างของตำบลเวียง มีแนวโน้มจะขยายตัวไปทางทิศใต้ บริเวณหมู่บ้านสถานซึ่งคาดว่าจะเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรม ทำให้เริ่มมีการเก็งกำไรที่ดินจากนายทุนบางราย เศรษฐกิจในภาพรวมของอำเภอเชียงของจะได้รับประโยชน์มากขึ้นแม้ว่าสะพานจะไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับบริเวณชุมชนในปัจจุบัน แต่พื้นที่ทางตอนล่างของชุมชนยังสามารถบุกเบิกและพัฒนาได้อีกมาก

ธุรกิจที่อาจจะได้รับผลกระทบหลังจากการสร้างสะพานคือ เรือเฟอร์รี่ เพราะการขนส่งสินค้าจะใช้เส้นทางบกมากกว่าเนื่องจากมีความปลอดภัย ขณะที่การขนส่งทางเรือยังไม่มีการประกันความเสียหายสินค้าหากเรือประสบอุบัติเหตุ ส่วนเรือหางยาวข้ามฝากนั้นคงจะไม่มีผลกระทบมากในช่วงแรกเนื่องจากบริเวณที่คาดว่าจะสร้างสะพานยังไม่มีชุมชน และอยู่ไกลจากแหล่งชุมชนพื้นที่ทางเศรษฐกิจ (เปรมประชา 2550 : 56)

การสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) บริเวณบ้านปากอิงเหนือ ต.เวียง อ.เชียงของ ห่างจากตัวเมือง 5 กิโลเมตร ทางตอนใต้ มีวงเงินก่อสร้างรวม 1,487 ล้านบาท โดยไทยและจีนรับผิดชอบค่าก่อสร้างฝ่ายละครึ่ง โดยโครงการได้เริ่มก่อสร้างแล้วเมื่อ มิถุนายน 2553 และมีกำหนดแล้วเสร็จเดือนธันวาคม 2555 ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนงานดินและตอกเสาเข็มแล้ว

โดยมีความก้าวหน้าของงานร้อยละ 12 เร็วกว่าแผนก่อสร้างเล็กน้อยโดยเฉพาะในส่วนงานก่อสร้างฝั่งไทย และอยู่ระหว่างการปรับปรุงขยายถนนเป็น 4 ช่องจราจรระยะทาง 30 กิโลเมตรแรกจากอำเภอเชียงของมายังจังหวัดเชียงราย

ในส่วนของ สปป.ลาว ก็สร้างแล้วเสร็จเพียงร้อยละ 5 ซึ่งล่าช้ากว่ากำหนด เนื่องจากยังไม่ได้รับงบประมาณในส่วนของจีน ทำให้กำหนดการแล้วเสร็จของสะพานอาจล่าช้าไปถึงประมาณปี 2557-2558 จะทำให้การค้าระหว่างไทยและลาวสะดวกขึ้น และเพิ่มปริมาณการค้าจะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลโดยใช้แสนทาง R3A

ส่วนการค้าทางเรือผ่านด่านเชียงแสนก็จะลดความสำคัญลงอย่างมาก เพราะการค้าทางบกมีความสะดวก มีต้นทุนที่น้อยกว่า และสามารถขนส่งได้ทั้งปี ไม่ต้องวิตกต่อปริมาณน้ำ และไม่สามารถขนส่งในช่วงฤดูแล้งได้



สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 อ.เชียงของ จ.เชียงราย เชื่อมสู่ เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ประเทศลาว ภาพจากสปริงนิวส์

การสร้างสะพานจะทำให้การค้าและการลงทุนบริเวณพื้นที่เชียงของ – บ่อแก้วเพิ่มมากขึ้น เพราะมีนโยบายและการพัฒนาในด้านต่าง ๆ มากขึ้น มีการก่อสร้างถนนตามเส้นทาง R3E และสะพานข้ามแม่น้ำโขงที่อำเภอเชียงของและแขวงบ่อแก้ว มีการพัฒนาเมืองเชียงของตามยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ภาคเหนือตอนบนระยะ 10 ปี (2542-2551) และการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจเชียงราย-เชียงใหม่-ลำพูน รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายและสิทธิพิเศษต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนของรัฐบาลลาว (เปรมประชา 2550 : 88)

3.เมืองเชียงของกลายเป็นเมืองเศรษฐกิจชายแดนได้ทำให้ที่ดินในเขตอำเภอเชียงของสูงขึ้นเป็นอย่างมาก เช่น การสะท้อนของลุงเสรี บริบูรณ์ (สัมภาษณ์วันที่ 12 ริมน้ำโขง อ.เชียงของ) ที่เล่าว่า “…เชียงของเปลี่ยนไปจากอดีตเยอะ เพราะมีคนนอกพื้นที่เข้ามาซื้อที่ดินในเชียงของตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534-2535 ยุค พล.อ. ชาติชาย ชุณหวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีนายทุนนอกพื้นที่ (กรุงเทพฯ ภาคกลาง) เข้ามาซื้อที่ดินเก็บไว้เพื่อเก็งกำไร ทำให้ที่ดินในเชียงของราคาสูงมาก เช่น เมื่อ 20 ปีที่แล้ว (พ.ศ.2534-2535) ราคาที่ดินไร่ละ 200,000 บาทถือว่าแพงมากแล้ว

ในปัจจุบัน (ปี พ.ศ.2555) ราคาไร่ละ 10,000,000 บาท จากราคาที่ดินที่สูงขึ้นทำให้ชาวบ้านจำนวนมากขายที่ดินของตน และได้กลายเป็นแรงงานรับจ้างจำนวนมาก”

การเปิดด่านถาวร ได้ก่อให้เกิดกิจกรรมใหม่ในพื้นที่ และไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการพัฒนาก็นำมาซึ่งปัญหาในหลายด้านที่ต้องมีการแก้ไข และปรับปรุงเพื่อหาจุดสมดุลระหว่างการพัฒนากับการรักษาคุณค่าของชุมชน

ในส่วนของปัญหาของการค้าชายแดนส่วนใหญ่ในอำเภอเชียงของ คือ
ปัญหาด้านกายภาพที่ประเทศลาวขาดความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้ไม่สามารถส่งของสดที่มีระยะเวลาจำกัดได้ รวมถึงไม่สามารถขนส่งในปริมาณมากๆ ได้
การขนส่งทางเรือมีความเสี่ยงสูง ท่าเรือและจำนวนเรือยังขาดความเหมาะสม
การชำระเงินที่อาจก่อให้เกิดหนี้สูญ
ความสะดวกในการติดต่อผ่านธนาคาร กฎระเบียบต่าง ๆ ของประเทศลาวที่ยังขาดความชัดเจน ความเข้าใจในระเบียบทางการค้า
การค้านอกระบบ เป็นการค้าหนีภาษี เนื่องด้วยพื้นที่ติดต่อกว้างขวาง ยากแก่การควบคุม
อำนาจในการซื้อของคนลาวที่มีน้อย เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศลาวยังกระจายอย่างกว้างขวาง

เศรษฐกิจไทยที่โตกว่าลาวเป็นแรงดึงดูดให้คนลาวเข้ามาในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น และยากแก่การควบคุม

ความเติบโตของการค้าชายแดนทำให้เชียงของเปลี่ยนไปจากอดีต ส่งผลต่อราคาที่ดิน วิถีชีวิตผู้คน ฯลฯ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดจากทั้งปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอก ถ้าเรายังไม่มีแผนในการจัดการพื้นที่ และปฏิบัติอย่างจริงจัง เชียงของก็อาจสูญเสียอัตลักษณ์ของตนอย่างไม่อาจหวนคืน

ที่มา.Siam Intelligence Unit
////////////////////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด หมอเลี๊ยบ กรณีแก้สัญญา สัปทานดาวเทียม เอื้อชินแซท !!?

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช. ) มีมติ 6: 2 ระบุนายแพทย์ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีความผิด หลังอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (ฉบับที่ 5) เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ต้องถือในบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) จากไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยมิชอบ จึงมีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

นายไกรสร  พรสุธี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 นายไชยยันต์  พึ่งเกียรติไพโรจน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ(ปัจจุบันเป็นปลัดกระทรวงไอซีที)  ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3  ยังมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตาม พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 อีกด้วย

หลังจากนี้ ป.ป.ช. จะส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาโทษทางวินัยกับผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตร 92 และไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องผู้ถูกกล่าวหา ที่ 1, ที่ 2 และที่ 3 ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมือง

นายไชยยันต์  พึ่งเกียรติไพโรจน์  ปลัดกระทรวงไอซีที ในฐานะผู้ถูกกล่าวหาที่3 เปิดเผยกับ  “ประชาชาติธุรกิจ” ยืนยันว่าไม่เคยทุจริต หลังจากนี้จะต่อสู้ตามกระบวนการศาลต่อไป

 ด้านแหล่งข่าวภายในกระทรวงไอซีที เปิดเผยว่า กระบวนการภายในกระทรวงหลังจากนี้จะต้องรอให้ทาง ป.ป.ช. ส่งหนังสือแจ้งมติอย่างเป็นทางการเพื่อให้กระทรวงรับทราบ  จากนั้นกระทรวงจะนำเข้าคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) ของกระทรวง ซึ่งมีรัฐมนตรีไอซีทีเป็นประธาน เพื่อประชุมพิจารณากำหนดมาตรการลงโทษทางวินัยต่อไป

“ปกติจะมีมาตรฐานการกำหนดโทษอยู่ว่า แต่ละความผิดต้องรับโทษในรูปแบบใดบ้าง  แต่ อ.ก.พ. จะพิจารณาเหตุผลประกอบด้วยว่า เป็นการกระทำผิดโดยจงใจหรือประมาท และมีเหตุลดหย่อนโทษเฉพาะตัวหรือไม่ อาทิ รับราชการมานาน เคยได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ระดับใดมาบ้าง  ซึ่งโดยปกติกระบวนการทั้งหมดกว่าจะได้ข้อยุติก็อย่างน้อย 30 วัน  ถึงจะทราบว่าปลัดไชยยันต์จะยังได้ทำหน้าที่ต่อไปหรือไม่ แต่ในระหว่างที่ยังไม่ได้ข้อสรุปจาก อ.ก.พ. ก็ยังเป็นปลัดกระทรวงอยู่  ส่วนการลงโทษจะอยู่ในระดับใดคงไม่สามารถบอกได้ เพราะตั้งแต่ตั้งกระทรวงไม่เคยมีกรณี ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดมาแบบนี้เลย”

ส่วนกรณีอดีตปลัดไกรสร  พรสุธี ซึ่งได้ลาออกจากราชการไปตั้งแต่ มี.ค. 2550 นั้น คงต้องดูอีกครั้งว่าฐานความผิดจะครอบคลุมการลงโทษทางวินัยได้แค่ไหน  เพราะปกติหากเกษียณอายุราชการไปแล้ว 180 วัน บางฐานความผิดไม่มีผลกระทบไปถึงบำเหน็จบำนาญที่ได้รับไปแล้ว แต่ในกรณีที่ลาออกจากราชการคงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงอื่นๆ ด้วย

สำหรับปลัดกระทรวงไอซีทีคนปัจจุบัน นายไชยยันต์  พึ่งเกียรติไพโรจน์  ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักกิจการอวกาศ ตั้งแต่ 1 เม.ย. 2547 ถึง 28 ธ.ค. 2553  ก่อนที่จะเป็นรองปลัดกระทรวงไอซีทีเมื่อ 29 มิ.ย. 2555 และขึ้นเป็นปลัดกระทรวง 1 ต.ค. 2555  มีกำหนดจะเกษียณอายุราชการในอีก 6 ปีข้างหน้า

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////////////////////

วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ยุทธการ ต้าโจว !!???

จะเข้าใจความรู้สึกเคียดแค้นและชิงชังรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างเข้ากระดูกดำจากบางภาคบางฝ่ายในแวดวงการเมืองได้

จำเป็นต้องย้อนไปยังยุค "ต้าโจว"

นอกเหนือจากจะอาศัยอุปกรณ์จากหนังสือเรื่อง "จักรพรรดินีโหด" อัน กิติมา อมรทัต แปลจากต้นฉบับของ หลิน ยู่ถัง แล้ว

น่าจะต้องอ่านชุด "ตี๋เหรินเจี๋ย นักสืบคู่บังลังก์"

เป็นงานเขียนของ เฉียนเยี่ยนซิว และเป็นงานแปลอย่างมีคุณภาพยอดเยี่ยมของ เรืองชัย รักศรีอักษร

คนชื่อ "เรืองชัย" มักแฝง "ทีเด็ด" เสมอ

ไม่ว่าจะเป็น เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ อดีตบรรณาธิการ "มติชนสุดสัปดาห์" และบรรณาธิการอำนวยการ "ศิลปวัฒนธรรม"

ไม่ว่า เรืองชัย รักศรีอักษร ผู้ฝึกวิทยายุทธ์จาก "จงหยวน"

เรื่องราวในยุค "ต้าโจว" สะท้อนความเคียดแค้น ชิงชังต่อบูเช็คเทียนฮ่องเต้ เรื่องราวทั้งหมดจึงแวดล้อมและแสดงความพยายามในการโค่นล้มและทำลาย

ทำลาย "ต้าโจว"

ทั้งๆ ที่บูเช็คเทียนเคยเป็นสนมของพระเจ้าถังไท่จงฮ่องเต้ และเคยเป็นมเหสีของพระเจ้าถังเกาจงฮ่องเต้

แล้วเหตุใดจึงมีคนไม่ชอบ มีคนเคียดแค้น อาฆาต

คำตอบอยู่ที่ 1 บูเช็คเทียนไต่ทะยานจากการเป็นฮองเฮาไปสู่ไทเฮา และที่สุด สถาปนาตนเองขึ้นเป็นฮ่องเต้

เป็นฮ่องเต้ "หญิง" คนแรกและคนเดียว

ขณะเดียวกัน คำตอบ 1 อยู่ที่บูเช็คเทียนฮ่องเต้ไม่เพียงมีความสามารถในการยึดอำนาจ หากยังมีความยอดเยี่ยมในการรักษาอำนาจให้อยู่ยั้งยืนยง

การรักษาอำนาจต้องอาศัยความเฉียบขาด เหี้ยมหาญ

ปรากฏว่า อำนาจที่ถูกทำลายคืออำนาจของคนตระกูลหลี่อันเป็นรากฐานแห่งราชวงศ์ถัง คนของตระกูลหลี่จึงเคียดแค้น ชิงชังและอาฆาตมาดร้ายต่อบูเช็คเทียนอย่างล้ำลึก

ไม่ยอมอยู่ร่วมฟ้า ร่วมแผ่นดิน

การก่อกบฏหลายครั้งมาจากคนตระกูลหลี่ การก่อการร้าย ลอบสังหาร บ่อนทำลายมาจากขบวนการของคนตระกูลหลี่และบริษัทบริวาร แม้กระทั่งขบวนการเส่อหลิงอัน เป็นองค์กรลับใต้ดินก็มาจากฝีมือของคนตระกูลหลี่

ล้ม "ต้าโจว" ชู "ต้าถัง"

ขอให้หยิบหนังสือ "ตี๋เหรินเจี๋ย นักสืบคู่บัลลังก์" เล่ม 2 ตอนว่าด้วยเงาปริศนาที่ชายแดน จะทำให้เข้าใจเงื่อนงำบางเงื่อนงำทางการเมือง ทางการทหาร

เป้าหมาย 1 ทางการเมือง คือ ปล่อยข่าวทำลาย

เป้าหมาย 1 ทางการทหาร คือ การสมคบกับชนเผ่าน้อยทูเจี๋ย ชนเผ่าน้อยชี่ตัน อาศัยกำลังเหล่านี้ก่อกวนทางชายแดน

ประสานกำลังต่างชาติ เข้ากับกำลังภายใน

อย่าได้แปลกใจหากปฏิบัติการในประเทศไทยยุคโค่นล้มและทำลายรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

อาศัย NGO เกาหลีเล่นงาน "เค วอ-ต้ม"

อาศัยการร่วมมือกับพ่อค้า ตลาดข้าวโลก วิพากษ์โจมตีโครงการจำนำข้าวอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะผ่านสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ไม่ว่าจะผ่านสำนักข่าวรอยเตอร์ ไม่ว่าจะผ่านนิตยสารชั้นนำอย่างไทม์แห่งสหรัฐ

ในที่สุด ปล่อยข่าวอ้าง USFDA อย่างไร้ความเป็นจริง

ในที่สุด อาศัยภาพ "คนดี" เจ้าของผลิตภัณฑ์ "ข้าวคุณธรรม" เล่นงานธุรกิจข้าวถุงไทยว่าอาจตายได้ภายใน 5 นาที

ต้องการโค่น "ยิ่งลักษณ์" ทำลาย "ข้าวไทย"

แปลกอย่างประหลาดยิ่งในท่าทีอันเปี่ยมด้วยเมตตาธรรมของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

มิได้ตระหนักในการสมคบของบางส่วนในประเทศกับนานาชาติ มิได้ตระหนักในยุทธวิธีอันชั่วร้ายเพื่อยุทธศาสตร์ใหญ่ในการทำลายทางการเมือง

ทั้งๆ ที่ปลายหอกกำลังทิ่มแทงมา

ที่มา.มติชน
//////////////////////////////////////////////////////////

ตั้งรับเศรษฐกิจขาลงครึ่งปีหลัง !!???

ก้าวสู่ช่วงครึ่งปีหลังไม่ทันไร ปัจจัยลบด้านเศรษฐกิจทั้งภายในและนอกประเทศก็เริ่มส่อเค้าว่าจะเป็นไปในทิศทางที่หลายฝ่ายวิเคราะห์คาดการณ์ สัญญาณอันตรายจากความสุ่มเสี่ยงผันผวนของค่าเงิน ตลาดหุ้น ราคาทองคำปรากฏชัดเจนเรื่อย ๆ

ขณะที่วิกฤตส่งออก กำลังซื้อผู้บริโภคชะลอตัวลง สวนทางกับภาระหนี้ภาคครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้น กลายเป็นมรสุมลูกใหญ่ ผลกระทบเกิดขึ้นกับกลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรม คนระดับกลางไปจนถึงรากหญ้า น่าห่วงไม่แพ้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ถูกโหมกระพือให้ร้อนแรงขึ้นเรื่อย ๆ

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจประจำเดือน พ.ค. 2556 ที่ผ่านมาว่า การใช้จ่ายและการผลิตทั้งระบบชะลอตัวลง ทั้งดัชนีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน

โดยในส่วนของการลงทุนภาคเอกชน เดือน พ.ค.หดตัวลง 1.7% เช่นเดียวกับดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรที่หดตัว 0.3% มูลค่าส่งออกหดตัว 1.2% มูลค่าการนำเข้าหดตัว 4.8%

แม้แต่ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและการใช้จ่ายภาครัฐก็อยู่ในภาวะหดตัวลงด้วย

สศช.ประเมินว่าปัจจัยลบทั้งหมดนี้จะส่งผลทำให้เศรษฐกิจโดยรวมช่วงไตรมาส 2 ชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาสแรก มีแต่ภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง เป็นความหวังท่ามกลางวิกฤตรอบด้าน

แม้รัฐบาลเตรียมตั้งรับโดยนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมเชิงปฏิบัติการ หรือ Work Shop เมื่อ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจ และหารือถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาสินค้าราคาแพง พร้อมกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐซึ่งหลายหน่วยงานยังใช้จ่ายงบประมาณต่ำกว่าเป้า ก็ไม่อาจคาดหมายได้ว่าจะสามารถขันนอต ผลักดันมาตรการกระตุ้นไปสู่การปฏิบัติได้มากน้อยแค่ไหน

จะหวังพึ่งการใช้จ่ายงบฯบางส่วนของโครงการเมกะโปรเจ็กต์น้ำ 3.5 แสนล้านบาท และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทก็คงยาก เพราะแม้แผนเดิมจะเริ่มเดินหน้าภายในปีนี้ แต่เจอกระแสต่อต้านและปัญหาข้อกฎหมาย ก็อาจล่าช้าออกไป

นอกจากการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่รัฐบาลควรเร่งทำควบคู่กันไปด้วย คือการนำกรอบการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจรวม 22 มาตรการ ซึ่งจัดทำโดย สศช.และได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2556 มาเป็นโรดแมปแก้ปัญหา แทนที่จะปล่อยให้อยู่ในแผ่นกระดาษหรือถูกเก็บไว้ในลิ้นชัก เพราะอย่างน้อยก็น่าจะช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับเศรษฐกิจไทย

ขณะเดียวกันต้องรับฟังเสียงสะท้อนและข้อเรียกร้องของภาคเอกชนที่ต้องการให้รัฐบาลเตรียมรับมือเศรษฐกิจขาลง บริหารจัดการความเสี่ยงอย่างรวดเร็วทันการ โดยเฉพาะการดูแลภาคการผลิตและการค้า บริการซึ่งเป็นภาคการผลิตที่แท้จริง เพื่อลดผลกระทบจากวิกฤตที่เกิดขึ้นทั่วโลก พร้อมทบทวนนโยบายประชานิยม ลดภาระหนี้สาธารณะ หันมาเน้นเสริมสร้างความมั่นคงแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจในระยะยาวแทน

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////////